ThaiPublica > เกาะกระแส > มหาวิทยาลัยกลายเป็นกับดักสร้างหนี้ให้ปัญญาชนสหรัฐฯ

มหาวิทยาลัยกลายเป็นกับดักสร้างหนี้ให้ปัญญาชนสหรัฐฯ

1 ตุลาคม 2018


รายงานโดย สุนิสา กาญจนกุล

ขบวนประท้วงเรื่องหนี้เงินกู้เพื่อการศึกษาในแอชแลนด์ รัฐออริกอน
ที่มาภาพ: https://qz.com/1367412/1-5-trillion-of-us-student-loan-debt-has-transformed-the-american-dream/

กลางปี 2007 วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ก่อตัวขึ้นในสหรัฐฯ โดยเกิดจากปัญหาการบริหารจัดการสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ผิดพลาดและกำกับดูแลกลุ่มธุรกิจวาณิชธนกิจ (investment banking) ไม่รัดกุม จนทำให้หลายบริษัทใหญ่ในสหรัฐฯ ล้มคว่ำถึงขั้นปิดกิจการ และลุกลามส่งผลกระทบไปทั่วโลก นับว่าเป็นภัยการเงินที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ทศวรรษ 1930 เป็นต้นมา และเห็นผลร้ายชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2008

แม้วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์จะผ่านมานานนับสิบปี แต่ผลกระทบจากวิกฤติครั้งนั้นกลับส่งผลต่อเนื่อง ทำให้ภัยเงียบทางการเงินชนิดอื่นก่อตัวขึ้นช้าๆ สั่งสมจนกลายเป็นปัญหาที่หลายฝ่ายเล็งเห็นว่าอาจกลายเป็นวิกฤติการเงินครั้งใหม่ของสหรัฐฯ ได้ นั่นก็คือหนี้เงินกู้เพื่อการศึกษาของปัญญาชนอเมริกัน

ค่าเรียนแพงแต่กู้ง่าย

โดยเฉลี่ยแล้ว ค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาระดับปริญญาของชาวอเมริกันต่อปีคือ 3 หมื่นเหรียญ ซึ่งสูงกว่าประเทศกำลังพัฒนาราวสองเท่า ทำให้หลายคนจำเป็นต้องพึ่งพาเงินกู้เพื่อการศึกษา และเมื่อเรียนจบแล้ว ชาวอเมริกันเหล่านี้ต้องชำระหนี้การศึกษาราวๆ 10 ปี

แม้เงินกู้เพื่อการศึกษาจะเป็นเงินกู้ก้อนใหญ่ แต่บาร์แมค แนสซิเรียน ผู้อำนวยการด้านสื่อสารสัมพันธ์ของสมาคมวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยรัฐของอเมริกา ให้ความเห็นว่า การกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษานั้นทำได้ง่ายมาก และมีความคล้ายคลึงกับเรื่องที่เกิดขึ้นกับตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ อย่างน่าเป็นห่วง

ตกงานจึงเรียนต่อ

วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ก่อให้เกิดผลกระทบทางลบกับสภาพเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาหลายอย่าง จีดีพีของสหรัฐฯ หดตัวลง มีการเลิกจ้างกว่า 2.6 ล้านตำแหน่งในปี 2008 อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจนถึง 7.2 % ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน

ภาวะว่างงานทำให้หลายคนตัดสินใจเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นหรือไปเรียนสาขาอื่นเพิ่มเติม ด้วยความหวังว่าจะช่วยให้มีโอกาสได้งานที่ดีกว่าเก่าเมื่อกลับเข้าสู่แวดวงการทำงาน แต่หนี้สินจากการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษากลับกลายเป็นภาระต่อเนื่องที่ส่งผลร้ายโดยตรงให้คนกลุ่มนี้ และส่งผลกระทบถึงสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หนี้เงินกู้เพื่อการศึกษาในสหรัฐฯ ไต่ระดับขึ้นทุกปี จนปัจจุบันมีมูลค่ารวมถึง 1.53 ล้านล้านเหรียญโดยประมาณ
ที่มาภาพ: https://www.forbes.com/sites/niallmccarthy/2018/08/27/how-u-s-education-has-become-a-debt-sentence-infographic/#69a4ed6b4900

ชนชั้นกลางและชนชั้นแรงงานได้รับผลกระทบสูงสุด

ในปี 2006 หนี้สินเพื่อการศึกษาของสหรัฐฯ มีมูลค่ารวมเพียง 480 พันล้านเหรียญ แต่ผ่านมาเพียงสิบปีเศษ มูลค่าหนี้กลับทะยานสูงขึ้นเป็น 1.53 ล้านล้านเหรียญ สูงกว่าหนี้บัตรเครดิตและหนี้กู้ยืมเพื่อซื้อรถยนต์ กลายเป็นหนี้ที่มูลค่าสูงอันดับสองรองจากหนี้กู้ยืมเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านล้านเหรียญในปี 2022

ผู้ที่เป็นหนี้การศึกษามักมาจากครอบครัวชนชั้นแรงงานและชนชั้นกลางที่จำเป็นต้องกู้ยืมเงินเนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาแพงขึ้นเกือบ 400% ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ความเชื่อที่ว่าการศึกษาคือเครื่องมือที่จะไต่เต้าสู่อนาคตที่รุ่งโรจน์กว่าเดิมจึงอาจจะไม่เป็นความจริงอีกต่อไป เพราะต้องแบกหนี้สินก้อนใหญ่ติดตัวไปอีก 10 กว่าปี หากต้องการเรียนจบปริญญา

ชาวมิลเลนเนียล (ผู้ที่เกิดในช่วง ค.ศ. 1980-1996) คือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด ผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่าคนกลุ่มนี้มีเงินออมน้อยลงหรือไม่มีเลย โดยเฉลี่ยแล้ว คนอเมริกันมักแบ่งรายได้ราว 10% เข้าบัญชีเงินออมเพื่อการเกษียณ แต่ผู้มีหนี้การศึกษาจะเก็บออมได้ไม่ถึง 5% บางคนถึงกับต้องระงับการเก็บออมเพื่อการเกษียณไปก่อน เป็นผลให้ชีวิตหลังเกษียณของคนกลุ่มนี้มีความน่าเป็นห่วงไม่น้อย

หนี้การศึกษายังทำให้โอกาสที่จะมีบ้านเป็นของตัวเองของคนกลุ่มนี้ลดน้อยลงมาก รายงานของสมาคมนายหน้าค้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติระบุว่าประชากรอเมริกันราว 45 ล้านคน มีหนี้สินจากการศึกษา และราว 1 ใน 5 มีหนี้การศึกษาสูงถึง 1 แสนเหรียญหรือมากกว่านั้น โดย 83% ของผู้ที่มีอายุระหว่าง 22-35 ปี กล่าวโทษว่าหนี้สินการศึกษาทำให้ตนไม่สามารถซื้อบ้านได้ ไม่เพียงเท่านั้น ราว 16% เปิดเผยว่าพวกเขาจำเป็นต้องพักเรื่องการขยายครอบครัวไว้ก่อน เนื่องจากการมีลูกย่อมทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก

อัตราผิดนัดชำระหนี้พุ่ง

ลูกหนี้การศึกษาจำนวนมากมีปัญหาเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ ทำให้ต้องเสียค่าปรับ ถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยสูงขึ้น และความน่าเชื่อถือด้านการเงินเสียหาย อัตราการผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้กลุ่มนี้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ระหว่างปี 2003 และ ปี 2011 คาดการณ์กันว่าเมื่อถึงปี 2023 จำนวนผู้กู้ยืมที่ผิดนัดชำระหนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 40%

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐบาลเองก็เล็งเห็นถึงปัญหาเรื่องเงินกู้ทางการศึกษามานานแล้ว และมีความพยายามที่จะออกมาตรการช่วยเหลือปัญญาชนกลุ่มนี้ โดยในปี 2007 รัฐสภาสหรัฐฯ ตัดสินใจช่วยปัดเป่าความทุกข์ของผู้มีหนี้การศึกษาด้วยการเปิดโครงการนิรโทษกรรมเงินกู้ให้แก่ผู้ทำงานเพื่อสาธารณะ (Public Service Loan Forgiveness Program)

เงื่อนไขของโครงการดูเรียบง่ายและตรงไปตรงมา ผู้กู้ยืมที่มีสิทธิ์ได้รับการนิรโทษกรรมจะต้องผ่อนชำระหนี้ตรงตามกำหนดเวลาจนครบ 120 งวด และต้องเป็นบุคลากรแบบเต็มเวลาของหน่วยงานรัฐบาลหรือองค์กรไม่แสวงผลกำไรตามข้อกำหนดของ Federal Student Aid (หน่วยงานดูแลเรื่องเงินกู้ด้านการศึกษาของรัฐบาลสหรัฐฯ) โดยเมื่อผ่อนชำระครบตามกำหนดแล้ว หนี้ส่วนที่เหลือจะได้รับการนิรโทษกรรม คาดกันว่าโครงการนี้จะช่วยบรรเทาทุกข์ของเหล่าปัญญาชนที่มีภาระหนี้สินได้เป็นจำนวนมาก

แต่เมื่อเวลาผ่านไปนับทศวรรษ ผลลัพธ์ของโครงการกลับไม่เป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากขั้นตอนและกฎเกณฑ์ที่ไม่ชัดเจนกลายเป็นอุปสรรคขัดขวาง จนกระทั่งโครงการนิรโทษกรรมเงินกู้ฯ ถูกมองว่าเป็นเรื่องเล่าในตำนานมากกว่าจะเป็นเรื่องจริง เนื่องจากจำนวนผู้ที่ฝ่าฟันจนมาถึงปลายทางได้ในรุ่นแรก ดูเหมือนจะมีเพียงหลักร้อยจากจำนวนผู้สมัครเข้าร่วมโครงการหมื่นกว่าราย

ออกกฎหมายใหม่เพื่อป้องกัน

ความล้มเหลวของโครงการนิรโทษกรรมเงินกู้ฯ และปัญหาการผิดชำระหนี้เงินกู้เพื่อการศึกษาที่ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ทำให้รัฐบาลไม่สามารถนิ่งนอนใจและต้องเร่งหามาตรการอื่นเพื่อรับมือ

เร็วๆ นี้ รัฐสภาสหรัฐฯ จึงเตรียมลงมติเรื่องกฎหมายฉบับใหม่ที่บังคับให้ผู้เป็นหนี้เงินกู้ทางการศึกษาทุกรายต้องเข้ารับคำปรึกษาด้านการเงินเป็นประจำทุกปี โดยอาจจะนัดหมายเข้าพบเป็นรายบุคคลหรือปรึกษาผ่านระบบออนไลน์ก็ได้ เพื่อเป็นการประเมินสถานภาพทางการเงินของผู้กู้อย่างสม่ำเสมอและหาทางแก้ไขก่อนที่ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้จะเกิดขึ้น

ทั้งนี้ คอนสแตนติน ยานเนลิส ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการเงินของ Booth School of Business มหาวิทยาลัยชิคาโก ให้ความเห็นว่า ปัญหาหนี้สินจากการศึกษาอาจไม่ส่งผลกระทบแบบเฉียบพลันต่อสถาบันการเงินและธนาคารเหมือนวิกฤติซับไพรม์ อีกทั้งเป็นความเสียหายที่ซึมลึกและส่งผลในระดับบุคคลมากกว่า แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าวิกฤติการเงินครั้งนี้จะไม่ส่งผลต่อเศรษฐกิจมหภาคและการเติบโตของสหรัฐฯ ในอนาคต

แหล่งข้อมูล:
https://www.forbes.com/sites/niallmccarthy/2018/08/27/how-u-s-education-has-become-a-debt-sentence-infographic/#69a4ed6b4900

https://www.thinkadvisor.com/2018/03/27/the-financial-crisis-isnt-over-for-students/?slreturn=20180829231906

https://www.washingtonpost.com/opinions/americans-are-drowning-in-student-loan-debt-the-us-should-forgive-all-of-it/2018/06/19/82565218-7314-11e8-9780-b1dd6a09b549_story.html?noredirect=on&utm_term=.d321d9221f59

https://www.cnbc.com/2018/09/21/the-student-loan-bubble.html

https://qz.com/1367412/1-5-trillion-of-us-student-loan-debt-has-transformed-the-american-dream/