ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > “สฤณี อาชวานันทกุล” ชี้ ‘วาทกรรมโลกสวย-ระบอบอุปถัมภ์ทุนผูกขาด’ ฉุดรั้งการพัฒนาอย่างยั่งยืน

“สฤณี อาชวานันทกุล” ชี้ ‘วาทกรรมโลกสวย-ระบอบอุปถัมภ์ทุนผูกขาด’ ฉุดรั้งการพัฒนาอย่างยั่งยืน

17 มีนาคม 2024


เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2567 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานแสดงปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 19 เรื่อง “ถอดรหัสวาทกรรม ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ บนทางแพร่งสู่เศรษฐกิจประชาธิปไตย” โดย นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด ณ ห้องประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด

วันนี้คงไม่มีใครปฏิเสธว่า แนวคิดเรื่อง “การพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ sustainable development ได้กลายเป็นแนวทางการพัฒนากระแสหลัก ถูกอ้างอิงในแผนยุทธศาสตร์ แผนแม่บท แผนกลยุทธ์ มีอิทธิพลต่อโลกทัศน์ของเทคโนแครต หน่วยงานราชการ และบริษัทเอกชนทุกระดับ รวมถึงไทย กว่า 3 ทศวรรษหลังจากที่ sustainable ได้รับการนิยามอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี ค.ศ. 1987 ว่า หมายถึง การพัฒนาที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของคนรุ่นเรา โดยไม่ลิดรอนความสามารถของคนรุ่นหลังในการตอบสนองต่อความต้องการของพวกเขา

อย่างไรก็ดี แม้ว่าแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนจะกลายเป็นกระแสหลัก ก็มิได้หมายความว่าเรากำลังมุ่งหน้าสู่สังคมที่ยั่งยืนโดยอัตโนมัติ

จึงอยากเสนอว่า สถานการณ์การพัฒนาที่ผ่านมาของไทยยังไม่ยั่งยืน และในรอบหลายปีที่ผ่านมากลับเลวร้ายลงในทุกมิติ เพราะการกระจุกตัวของอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองใน “ระบอบอุปถัมภ์ทุนผูกขาด” ที่ตอกย้ำและซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำและความอยุติธรรมทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งที่ความยุติธรรมใน 3 มิตินี้ เป็นหัวใจที่ขาดไม่ได้ของการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

การพัฒนาที่(ยังไม่)ยั่งยืน มองจากเป้าหมาย SDGs

วาทกรรม การพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่อาจสร้างสังคมในความฝัน จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ของอาจารย์ป๋วยได้ เมื่อดูจากสถานการณ์จริงของการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย จากมุมมองของ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) 17 ข้อ ที่รัฐบาลคณะรัฐประหาร พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปลงนามร่วมกับประเทศในเดือนกันยายน 2015 โดยมีการแบ่งเป้าหมายการพัฒนาการออกเป็น 3 ระดับ คือ ดี (สีเขียว) ปานกลาง (สีเหลือง) และ แย่ (สีแดง) จากคะแนนเต็ม 100 หรือดีที่สุด สะท้อนว่าประเทศได้บรรลุความยั่งยืนในหัวข้อนั้น ๆ แล้ว สถานะของประเทศไทย ในรายงานฉบับปี 2023 ชี้ว่า ระดับการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทยอยู่อันดับที่ 43 จาก 166 ประเทศทั่วโลก ได้คะแนนรวม 74.7 จาก 100 คะแนน

มองอย่างผิวเผิน นับว่าไม่เลวร้าย อยู่อันดับที่ 3 ของเอเชีย รองจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ และอันดับที่ 1 ของอาเซียน แต่คำถามก็คือ ตัวชี้วัดเหล่านี้รวมกันบอกว่าเรากำลังมุ่งหน้าสู่ความยั่งยืนจริงหรือไม่

ทั้งนี้ เป้าหมายที่ SD Report จัดให้ไทยอยู่ระดับสีแดง แปลว่าสถานะการพัฒนายังอยู่ห่างไกลมาก มี 5 เป้าหมาย คือ การขจัดความหิวโหย สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ทรัพยากรทางทะเล ระบบนิเวศบนบก สังคมที่สงบสุข ความยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง

ส่วนเป้าหมายที่ไทยอยู่ระดับสีส้ม คือ ดีกว่าสีแดงเล็กน้อย มี 10 เป้าหมาย ได้แก่ ความเท่าเทียมทางเพศ น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน เป็นต้น และ เมื่อดูรายละเอียดระดับตัวชี้วัดต่างๆ ในเป้าหมายย่อย สถานะของไทยหลายข้อน่าจะเห็นตรงกันไม่ยากว่า สะท้อนปัญหาหรือสะท้อนการพัฒนาที่ยังไม่ยั่งยืน เช่น

    -เด็กวัยไม่ถึง 5 ปี ที่มีภาวะเตี้ยแคระแกร็น มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ และผอมแห้ง ยังมีสัดส่วนร้อยละ 13, 7 และ 7 ตามลำดับ และถ้ารวมอัตราเด็กวัยนี้ที่มีภาวะอ้วน ตัวเลขอยู่ที่ร้อยละ 11 รวมกันคิดเป็นจำนวนเด็กกว่า 9 แสนคน
    -อัตราการตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนน 32.2 คนต่อประชากร 1 แสนคน สูงที่สุดในอาเซียนและสูงเป็นอันดับที่ 5 ของโลก
    -สัดส่วนของน้ำเสียครัวเรือนและอุตสาหกรรมที่ได้รับการบำบัดอย่างปลอดภัย มีเพียงร้อยละ 25 ของน้ำเสียทั้งหมด แหล่งน้ำคุณภาพดีมีเพียงร้อยละ 36 ของแหล่งน้ำทั้งหมดที่ได้รับการติดตาม ที่ไม่ได้รับการติดตามอาจจะแย่กว่านี้อีก
    -สัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนต่อการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย อยู่ที่ร้อยละ 15 ในจำนวนนี้ราวกึ่งหนึ่งเป็นพลังงานชีวมวล ขณะที่พลังงานแสงอาทิตย์และลมรวมกัน มีสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 4
    -การคุ้มครองสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานที่มีประสิทธิผล อันดับข้อนี้ของไทยในดัชนีนิติธรรม (Rule of Law Index) จัดทำโดย World Justice Project ลดลงอย่างต่อเนื่องกว่า 30 อันดับ จากอันดับที่ 72 ในโลก (ทั้งหมด 142 ประเทศ) ในปี 2015 มาอยู่ที่อันดับ 101 ในปี 2022
    -เหยื่อของการใช้แรงงานทาสสมัยใหม่ (นิยามรวมทั้งแรงงานบังคับและการถูกบังคับแต่งงาน) มีประมาณ 4 แสนคนทั่วประเทศ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติ หรือ 5.7 คนต่อประชากร 1,000 คน ซึ่งสูงเป็นอันดับที่ 14 ของเอเชีย
    -ความเหลื่อมล้ำระดับสูง คนที่รวยสุด 10% มีรายได้เกินครึ่งหนึ่งของรายได้คนทั้งประเทศ และถือครองทรัพย์สินราว 3 ใน 4 ของทรัพย์สินทั้งประเทศ
    -ความเข้มข้นของฝุ่นพิษ PM2.5 ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศราว 18.1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สูงกว่าค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกแนะนำกว่า 3 เท่า (ค่ามาตรฐานแนะนำอยู่ที่ระดับไม่เกิน 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และหลายเมืองมีสภาพอากาศเลวร้ายจนติด 10 อันดับแย่สุดของโลกอยู่เนืองๆ
    -ดัชนีการจัดการไนโตรเจนที่ยั่งยืน (Sustainable Nitrogen Management Index: SNMI) วัดประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนและผลผลิตสูงสุด เป็นตัวชี้วัดความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมของภาคการเกษตร ค่า SNMI ของไทยลดลงอย่างต่อเนื่องในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2022 อยู่ที่ 33.1 จาก 100 เป็นอันดับที่ 117 จาก 180 ประเทศทั่วโลก
    -ปัญหาขยะ จากปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมด 25 ล้านตัน ได้รับการกำจัดอย่างถูกต้องเพียงร้อยละ 37 ส่วนที่เหลือถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้องร้อยละ 31 ถูกนำกลับมาใช้ใหม่ประโยชน์ใหม่ร้อยละ 32 ส่วนการนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-waste พุ่งสูงขึ้น 15 เท่าในระยะเวลา 5 ปี เป็น 43.5 ล้านกิโลกรัม ในปี 2021
    -ระบบนิเวศทางทะเล ดัชนีสุขภาพทะเล (Ocean Health Index) อยู่ที่ 66 จาก 100 คะแนน อยู่ในกลุ่มประเทศที่คะแนนต่ำสุด 1 ใน 4 ของโลก โดยได้อันดับ 174 จาก 220 ประเทศและหมู่เกาะทั่วโลก ในดัชนีตัวนี้องค์ประกอบที่วิกฤตที่สุดคือ การเป็นแหล่งอาหารจากทะเล ได้คะแนนเพียง 37 จาก 100 อาทิ สัตว์น้ำที่จับได้ร้อยละ 46 มาจากการทำประมงเกินขนาด
    -ระบบนิเวศบนบกที่แสดงผ่านดัชนีบัญชีชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม (Red List Index) มีทิศทางแย่ลงอย่างต่อเนื่องตลอด 30 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 0.76 ในปี 2023
    -ดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index) แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงในรอบทศวรรษที่ผ่านมา จาก 35 เต็ม 100 คะแนน ในปี 2013 เป็น 36 คะแนน ในปี 2023 อยู่อันดับที่ 101 จาก 180 ประเทศทั่วโลก และคนไทยราว 1 ใน 4 แจ้งว่าจ่ายสินบนเจ้าหน้าที่รัฐในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ในปี 2020

ปัญหาความไม่ยั่งยืนเหล่านี้ไม่เพียงคุกคามอนาคตของลูกหลาน ตามนิยามการพัฒนาที่ยั่งยืนเท่านั้น แต่ยังส่งผลเสียต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ คำถามที่สำคัญไม่แพ้กันคือ เป้าหมาย SDGs ถูกผลิตในวาทกรรมการพัฒนาที่ยั่งยืน แบบใด วาทกรรมนั้นจะช่วยแก้ปัญหาความไม่ยั่งยืนที่รากสาเหตุได้หรือไม่

นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด

ตัวชี้วัดกับการละเลยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ชาร์ลส์ กู๊ดฮาร์ต (Charles Goodhart) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ เคยกล่าววาทะอันโด่งดังว่า “เมื่อตัวชี้วัดกลายเป็น เป้าหมาย มันก็เลิกเป็นตัวชี้วัดที่ดี” และอยากเสริมว่า ปัญหาจะแย่กว่านั้นอีก ถ้าเราไม่กำหนดรากปัญหาจริงๆ เป็นเป้าหมายตั้งแต่ต้น ตัวชี้วัดสามารถมีอิทธิพลและมีอำนาจเหนือความรู้สึกนึกคิด ตลอดจนถึงทิศทางการกำหนดนโยบาย เพราะตัวชี้วัดทำให้เรารู้สึกว่า ต้องหาทางทำให้ดีขึ้นตามตัวชี้วัดนั้นๆ จนหลงลืมหรือละเลยเป้าหมายที่แท้จริง อันเป็นที่มาของการหาตัวชี้วัดขึ้นมาสะท้อนตั้งแต่แรก และเมื่อมีตัวชี้วัดแล้ว ก็มักไม่ตั้งคำถามถึงที่มาของตัวชี้วัดนั้นๆ ว่า ถูกคิดขึ้นภายใต้อุดมการณ์แบบใด เมื่อไม่ตั้งคำถาม ก็จะทำตามบงการของตัวชี้วัดไปอย่างเรื่อย ๆ ในทางที่อาจก่อผลเสียมากกว่าผลดี เช่น คิดหาวิธีหลอกตัวชี้วัด คือ ทำให้ตัวเลขออกมาดีกว่าเดิม โดยที่สถานการณ์จริงไม่เปลี่ยนแปลง หรือแม้แต่แย่ลง

จึงอยากชวนดูข้อจำกัดบางแง่มุมของตัวชี้วัดในเป้าหมาย SDGs เมื่อเทียบกับสถานการณ์จริงของความยั่งยืนในสังคมไทย เพราะข้อจำกัดเหล่านี้ช่วยบ่งชี้ได้ว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนตามกรอบ SDGs ดำเนินอยู่ภายใต้วาทกรรมแบบใด

โดยขอเสนอ 3 ประเด็น คือ

1. เรื่องที่ดีแล้ว ไม่ได้แปลว่าดีพอ

ในเป้าหมาย SDGs 17 ข้อ มี 2 ข้อที่ SD Report จัดให้ไทยได้สีเขียว หรือไทยบรรลุเป้าความยั่งยืนแล้ว นั่นคือเป้าหมาย การขจัดความยากจน และการศึกษาที่มีคุณภาพ ทว่าในความเป็นจริง สถานะสีเขียว ช่วยไทยได้น้อยมากเกี่ยวกับเส้นทางที่ควรเดิน เนื่องจากเกณฑ์การประเมินเป้าหมายขจัดความยากจน ใช้เส้นความยากจนนานาชาติ (international poverty line) ของธนาคารโลก ที่ 2.15 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อวัน หรือ 70 บาทต่อวัน หรือประมาณ 2,100 บาทต่อเดือน ซึ่งไทยไม่ได้เข้าข่ายประเทศยากจนมานานมากแล้ว และถูกจัดให้เป็นประเทศกำลังพัฒนาระดับสูง

ส่วนเป้าหมาย การศึกษาที่มีคุณภาพ สถานะสีเขียว คงทำให้หลายคนประหลาดใจเมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการศึกษาไทยด้อยคุณภาพลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่กระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณสูงสุด ถึงร้อยละ 10 ของงบประมาณทั้งประเทศ แต่คำตอบก็อยู่ในตัวชี้วัดที่ใช้เช่นกัน ข้อนี้รายงาน SD Report ประเมินจากตัวชี้วัดหลัก 4 ตัว ได้แก่ การศึกษาเด็กปฐมวัย อัตราการจบการศึกษาระดับประถม อัตราการจบการศึกษาระดับมัธยมต้น และอัตราการรู้หนังสือ ทั้งหมดของไทยอยู่ในระดับค่อนข้างสูง ที่บอกได้เพียงผลสัมฤทธิ์ขั้นพื้นฐานของการศึกษา ซึ่งมีความหมายค่อนข้างน้อยสำหรับประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง (upper middle income country) อย่างไทยที่บรรลุผลสัมฤทธิ์ขั้นพื้นฐานเหล่านี้มานานแล้ว วันนี้ประเทศไทยต้องการคุณภาพการศึกษาระดับสูงกว่านั้น อีกทั้งตัวชี้วัดเหล่านี้ก็ไม่อาจบอกสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ที่เป็นปัจจัยสำคัญอันดับต้นๆ ของการสร้างเศรษฐกิจที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (inclusive economy)

ฉะนั้น สถานะสีเขียวทั้งสองข้อมีความหมายน้อยมากสำหรับสถานะการพัฒนาของไทยในปัจจุบัน ซึ่งความท้าทายไม่ได้อยู่ที่การเปลี่ยนผ่านจากประเทศยากจนมาเป็นประเทศรายได้ปานกลาง แต่อยู่ที่การเปลี่ยนผ่านจากประเทศรายได้ปานกลางที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมาก เป็นประเทศรายได้สูง ความเหลื่อมล้ำต่ำ ที่กระจายความเจริญอย่างทั่วถึง

2. เรื่องที่ ‘แย่’ หลายเรื่อง ‘แย่กว่าตัวชี้วัด’

สถานการณ์จริงตามเป้าหมาย SDGs บางข้อแย่กว่าที่คิดเนื่องด้วยข้อจำกัดทางเทคนิคของตัวชี้วัดเอง หรือบางกรณีเกิดจากการที่ตัวชี้วัด ไม่ครอบคลุมสถานการณ์ที่แท้จริง กรณีข้อจำกัดทางเทคนิคสำหรับไทย เช่น เป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำ ขณะที่เป้าหมาย สังคมที่สงบสุข ความยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง กเป็นตัวอย่างตัวชี้วัดที่ไม่ครอบคลุมสถานการณ์ที่แท้จริง

โดยประเด็นความเหลื่อมล้ำ ตัวชี้วัดที่ใช้ คือ ค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค หรือสัมประสิทธิ์จีนี (Gini coefficient) ในไทยจัดทำโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตามมาตรฐานของธนาคารโลก โดยถ้านิยามระดับความเหลื่อมล้ำตามค่าสัมประสิทธิ์จีนี จะพบว่า ไทยมีแนวโน้มลดลงในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา จาก 0.49 ในปี 2009 เป็น 0.43 ในปี 2022 แต่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเพียรชี้มานานแล้วว่า ข้อมูลที่สภาพัฒน์ฯ ใช้ มาจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (Socio-economic Survey: SES) ซึ่งไม่สะท้อนฐานะการเงินที่แท้จริงของคนรวย โดยเฉพาะคนรวยสุด 1% จึงทำให้ความเหลื่อมล้ำตามค่าสัมประสิทธิ์จีนีต่ำกว่าความเป็นจริง โดยสถาบันอนาคตไทยศึกษาได้ตั้งข้อสังเกตตั้งแต่ปี 2014 ว่า ข้อมูลจากนิตยสาร Forbes ที่รวบรวมข้อมูลมูลค่าทรัพย์สินของ 50 มหาเศรษฐีไทย เมื่อนำมูลค่าทรัพย์สินที่หักลบหนี้สินออกไปแล้วของ 50 มหาเศรษฐีไทยมาเฉลี่ยจะพบว่ามีมูลค่าสูงถึง 5.2 หมื่นล้านบาท รวยกว่าครอบครัวที่รวยที่สุดที่ได้จากการสำรวจถึง 250 เท่า เพราะที่สำรวจมาครอบครัวที่รวยที่สุดมีทรัพย์สินแค่ 200 ล้านบาท และมีรายได้ 7 ล้านบาทต่อเดือน ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่แท้จริงของไทยจึงน่าจะสูงกว่าตัวเลขที่สภาพัฒน์ฯ รายงานหลายเท่าตัว

อีกประเด็นที่ตัวชี้วัดในเป้าหมาย SDGs ไม่ครอบคลุมสถานการณ์ที่แท้จริง คือ สังคมที่สงบสุข ความยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง ตัวชี้วัดในข้อนี้มีอาทิ เหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ สัดส่วนผู้ต้องขังในเรือนจำที่ศาลยังไม่พิพากษา มูลค่าการไหลเข้าออกของเงินที่ผิดกฎหมาย สัดส่วนของคนที่บอกว่าจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา จํานวนคดีเกี่ยวกับการฆาตกรรม การลักพาตัว การอุ้มหาย การควบคุมตัวโดยพลการ ซึ่งมีประโยชน์ แต่ไม่สะท้อนขนาดของปัญหาที่แท้จริงของกระบวนการยุติธรรมไทยวันนี้

ปัญหากระบวนยุติธรรมไทย กล่าวรวบรัดที่สุดควรใช้คำว่า นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม ตามชื่อปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ที่เสนอว่าว่า ประเทศไทยไม่เคยมีหลักนิติธรรมตามหลักสากล

ทว่าหลักนิติธรรมในสังคมไทยโดยแท้จริงแล้วเป็นเพียงเสื้อคลุมของนิติศาสตร์ไทย เท่านั้นเอง เป็นการทำรูปลักษณ์ระบอบอำนาจนิยมให้น่าเชื่อถือด้วยกฎหมายและธรรมะเท่านั้น

ตัวชี้วัดในเป้าหมายว่าด้วยความยุติธรรม บอกไม่ได้ถึงอัปลักษณะของนิติธรรมแบบไทยๆ บอกไม่ได้ถึงผลกระทบของกระแสตุลาการภิวัตน์ต่อสถาบันต่างๆ ในระบอบประชาธิปไตย และให้คำตอบกับเราไม่ได้ว่า กระบวนการยุติธรรมไทยมี 3 ระบอบที่เป็นเอกเทศจากกันใช่หรือไม่

3. สถานการณ์บางเรื่องไม่ดีขึ้นจริง แค่ตัวชี้วัดถูกดึงออก

เป้าหมาย SDGs บางข้อมีประโยชน์น้อยลงในการบอกสถานการณ์ของตัวอย่างที่ดีคือ การรับมือกับภาวะโลกรวน (climate change) ที่ดีขึ้นจากสีแดง เป็นสีส้ม เพราะมีการดึงเอาตัวชี้วัดเกี่ยวกับผลกระทบจากภัยพิบัติที่เกิดจากภาวะโลกรวนที่ไทยมีค่าแย่ที่สุดตัวหนึ่งออก เหลือเพียงตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับก๊าซเรือนกระจก ทำให้สถานะของไทยข้อนี้ขยับขึ้น แต่ความเป็นจริงภาวะโลกรวนไม่ใช่ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจ และการเติบโตของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายจากน้ำท่วม ที่ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมสูงสุด 10 ประเทศในโลก ภัยแล้งและพายุ ที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต

งานวิจัยหลายชิ้นสรุปตรงกันว่า พืชเศรษฐกิจหลักของไทยสุ่มเสี่ยงที่จะมีผลผลิตน้อยลงจากภาวะโลกรวน ไม่ว่าจะเป็น ข้าว ผลผลิตลดลงร้อยละ 10-13 อ้อย ลดลงร้อยละ 25-35 และมันสำปะหลัง ลดลงร้อยละ 15-21 หากไม่มีการปรับตัวต่อภาวะโลกรวน ในปี 2021 สวิส รี (Swiss Re) บริษัทประกันภัยระดับโลก ประเมินความเสี่ยงของการสูญเสียผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) จากภาวะโลกรวนสำหรับ 48 ประเทศ พบว่าไทยสุ่มเสี่ยงจะสูญเสีย GDP 19.5% สูงเป็นอันดับที่ 4 รองจากมาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ถ้าอุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส และสูญเสีย GDP 43.6% ถ้าอุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่มขึ้น 3.2 องศาเซลเซียส ภายในปี 2048

วันนี้ไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 0.86 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก ต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มระดับการอนุรักษ์ระบบนิเวศบนบกและในทะเล แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือการปรับตัวรับมือกับภาวะโลกรวน เพราะไทยเป็นประเทศเปราะบางในระดับต้น ๆ ของโลก เพื่อลดขีดความรุนแรงของผลกระทบที่จะเกิดในหลายมิติ โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรรายย่อยที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ถ้าไทยไม่สนใจที่จะปรับตัว ความเหลื่อมทางเศรษฐกิจและสังคมที่สูงมากอยู่แล้วยิ่งถ่างกว้างมากกว่าเดิม

การพัฒนาอย่างยั่งยืน ‘วาทกรรมโลกสวย’

ตัวอย่างข้อจำกัดของตัวชี้วัดการพัฒนาอย่างยั่งในที่ยึดตัวชี้วัดตามเป้า SDGs เป็นสรณะ ไม่ว่าจะเป็น 1. เรื่องที่ดีแล้ว ไม่ได้แปลว่าดีพอ 2. เรื่องที่ แย่ หลายเรื่อง แย่กว่าตัวชี้วัด 3. สถานการณ์บางเรื่องไม่ดีขึ้นจริง แค่ตัวชี้วัดถูกดึงออก ทำให้เห็นว่า ถ้ายอมให้ตัวชี้วัดเหล่านี้มีอำนาจเหนือการตัดสินใจ ก็อาจพลาดปัญหาเชิงโครงสร้างหลายประการที่ฉุดรั้งการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง จะเห็นเป้าหมาย SDGs โดยรวม ตั้งอยู่บนวาทกรรมการพัฒนาที่ยั่งยืนแบบอนุรักษนิยม คือเชื่อว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนกว่าเดิมสามารถเกิดได้ด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจและสถาบันดั้งเดิม (status quo) ตั้งแต่ระดับโลกจนถึงระดับประเทศและท้องถิ่น และเชื่อว่าคุณค่าของการเติบโตทางเศรษฐกิจสามารถไปด้วยกันได้กับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมในทุกกรณี โดยไม่จำเป็นต้องมีการแลกได้แลกเสียระหว่างคุณค่าสองด้านนี้

การเดินหน้าสู่ความยั่งยืนกว่าเดิมเพียงแต่ต้องอาศัยเจตจำนงทางการเมืองที่แรงกล้ากว่าเดิมของผู้มีอำนาจทางการเมือง และแรงจูงใจทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนกว่าเดิมสำหรับผู้เล่นทางเศรษฐกิจ โดยไม่จำเป็นต้องแตะโครงสร้างอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจใด ๆ โดยคาดหวังให้นวัตกรรมและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นกลไกหลักที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ และช่วยปลดล็อกการเติบโตทางเศรษฐกิจ (decouple) ออกจากการทำลายสิ่งแวดล้อม

ตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนของวาทกรรมแบบอนุรักษ์นิยม คือ เป้าหมายย่อย 10.1 ในเป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำ ที่ระบุว่า อัตราการเติบโตของการใช้จ่ายในครัวเรือนหรือรายได้ต่อหัว ในกลุ่มประชากรร้อยละ 40 ที่มีรายได้ต่ำสุด ซึ่งต่อให้เราบรรลุเป้าหมายย่อยข้อนี้ได้จริง สามารถเพิ่มอัตราการเติบโตของรายได้คนที่จนสุด 40% ได้ ความเหลื่อมล้ำซึ่งเป็นเป้าหมายใหญ่อาจแย่ลงก็ได้ ถ้ารายได้ของคนรวยสุด 10% เติบโตเร็วกว่ารายได้ของคนจน ฉะนั้นวิธีลดความเหลื่อมล้ำที่น่าจะตอบโจทย์มากกว่าก็คือ ข้อเสนอของฝ่ายก้าวหน้าว่าต้องมีการปฏิรูประบบภาษี เก็บภาษีทรัพย์สินทุกชนิดอย่างเป็นธรรมและในอัตราก้าวหน้า เพิ่มอัตราภาษีที่เก็บจากมหาเศรษฐี และลดการรั่วไหลของภาษี เพื่อนำมาใช้จ่ายในมาตรการกระจายรายได้และเพิ่มความเข้มแข็งของตาข่ายทางสังคมในระบบสวัสดิการ ขณะที่การปฏิรูปเชิงโครงสร้างเหล่านี้ล้วนไม่ถูกพูดถึงในเป้าหมาย SDGs แต่อย่างใด

นักวิชาการฝ่ายซ้ายหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า วาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกตามกรอบ SDGs ไม่พุ่งเป้าไปยังรากปัญหาทางการเมือง สังคม หรือเศรษฐกิจ ไม่ทำความเข้าใจกับรากปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่เรื้อรัง ด้วยแว่นของเศรษฐศาสตร์การเมือง โดยเสนอว่า วิธีแก้ปัญหาแบบเสรีนิยมใหม่เท่านั้นที่เป็นไปได้ รองรับสนับสนุนอำนาจเดิมและกีดกันทางเลือกอื่น

นอกจากนี้ วาระการพัฒนานี้ตั้งอยู่บนฐานคิดโลกสวย ที่มองมนุษยชาติว่าเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ทุกประเทศสามารถเดินหน้าสู่ความยั่งยืนไปพร้อมกัน ทั้งที่โลกเต็มไปด้วยความขัดแย้งและความไม่เท่าเทียมของอำนาจต่อรอง กลยุทธ์ความยั่งยืนของประเทศหนึ่งอาจฉุดรั้งการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศอื่นก็ได้ เช่น การส่งออกขยะในประเทศพัฒนาแล้วไปกำจัดในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งทำอย่างเป็นล่ำเป็นสันมาหลายปี เป็นต้น

อย่างไรก็ดี เป้าหมาย SDGs เปิดพื้นที่อยู่บ้างให้กับวาทกรรมฝ่ายก้าวหน้าที่เรียกร้องการปฏิรูปเชิงโครงสร้างและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจ โดยเมื่อดูรายละเอียดของเป้าหมาย SDGs 17 ข้อ เป้าหมายย่อย 169 ข้อ และตัวชี้วัด 231 ตัว พบว่าเป้าหมายย่อยจำนวน 17 ข้อ หรือราวร้อยละ 10 พูดถึง เสมอภาค (equitable) เท่าเทียม (equal) เป็นธรรม (fair) และยุติธรรม (just) เช่น เป้าหมายย่อย 4.5 ขจัดความเหลี่อมล้ำทางเพศด้านการศึกษา และสร้างหลักประกันว่ากลุ่มที่เปราะบางซึ่งรวมถึงผู้พิการ ชนพื้นเมือง และเด็ก เข้าถึงการศึกษาและการฝึกอาชีพทุกระดับอย่าง เท่าเทียม เป้าหมายย่อย 10.3 สร้างหลักประกันถึงโอกาสที่เท่าเทียและลดความไม่เสมอภาค เป็นต้น

แต่น่าสังเกตว่า เป้าหมายย่อยที่พุ่งเป้าไปที่ลดความไม่เท่าเทียม หรือเพิ่มความเสมอภาค ไม่มีข้อใดเป็นเป้าหมายหลักในแผนพัฒนาของรัฐไทย ไม่ว่าจะเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 หรือแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

จึงตั้งข้อสังเกตว่า รัฐไทยดูจะสมาทานวาทกรรม การพัฒนาที่ยั่งยืนแบบอนุรักษนิยม มากกว่าเป้าหมาย SDGs เสียอีก ซึ่งเป็นความย้อนแย้งอย่างยิ่ง เพราะนิยามการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ การพัฒนาที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของคนรุ่นเรา โดยไม่ลิดรอนความสามารถของคนรุ่นหลังในการตอบสนองต่อความต้องการของพวกเขา ความยุติธรรมเป็นหัวใจที่ขาดไม่ได้ ของการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

“แต่รัฐไทยไม่เคยเหลียวแลสิ่งเหล่านี้ มิหนำซ้ำยังปล่อยให้สถานการณ์เลวร้ายลงอย่างมากตั้งแต่รัฐประหาร 2014 เป็นต้นมา ด้วยการสนับสนุนอุ้มชูระบอบที่ขอเรียกว่า”ระบอบอุปถัมภ์ทุนผูกขาด”

นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด

ระบอบอุปถัมภ์ทุนผูกขาด ฉุดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ไทยไม่มีวันบรรลุเป้าหมาการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง หรือแม้แต่คืบหน้าในสาระสำคัญได้ หากเรายังไม่เผชิญหน้าและรับมือกับความอยุติธรรม ความไม่เป็นธรรมและความรุนแรงเชิงโครงสร้างทั้งหลายที่ยังฝังลึกในนโยบายรัฐและการดำเนินธุรกิจของกลุ่มทุนบางกลุ่ม

และเห็นด้วยกับอาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ และ วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร ที่เสนอว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สร้างระบอบประยุทธ์ ที่ไม่ได้หมายถึงตัวบุคคล แต่เป็นการออกแบบรัฐธรรมนูญที่ฝังกลไกสืบทอดอำนาจให้กับกองทัพและชนชั้นนำ และสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับกลุ่มทุนจำนวนมาก ในระบอบนี้ กลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่มีเส้นสายเชื่อมโยงกับกลุ่มอำนาจ ได้เข้าถึงกระบวนการกำหนดนโยบาย ทรัพยากร และสถานะที่สามารถครอบงำระบบเศรษฐกิจไทย และกีดกันไม่ให้กลุ่มทุนรายย่อยและผู้ประกอบการอิสระ สามารถแข่งขันในระบบอย่างเท่าเทียมกันได้ จึงไม่น่าแปลกใจที่จะไม่เห็นมาตรการลดการผูกขาดหรือส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมตลอดหลายปีที่ผ่านมา มิหนำซ้ำสถานการณ์กลับเลวร้ายลง เมื่อองค์กรอิสระหลายองค์กรรวมถึงสถาบันตุลาการ ถูกตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าเป็น “อิสระ” จริงหรือไม่

ในปี 2024 ระบอบนี้ยังคงเจริญงอกงาม รวมถึงหน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันที่สำคัญในโครงสร้างเศรษฐกิจไทย เช่น คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในปี 2018 คสช. แต่งตั้งกรรมการทั้งคณะ 7 คน ซึ่งต้นปี 2024 บุคคลเหล่านี้ 5 จาก 7 คน ยังคงเป็นกรรมการ กกพ. คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) 7 คน ที่มีความพยายามอย่างยาวนานที่จะแก้ไขให้เป็นอิสระมากขึ้น โดยชุดปัจจุบันมาจากการแต่งตั้งของหัวหน้า คสช. ในฐานะนายกรัฐมนตรี ในจำนวนนี้เกินกึ่งหนึ่งคือ 4 คน ได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2023 ก่อนเปลี่ยนรัฐบาล และมีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี จะเห็นว่าหลายปีที่ผ่านมา การทำงานของหน่วยงานกำกับดูแลเหล่านี้ สะท้อนความเกรงใจกลุ่มทุน มากกว่าประชาชนหรือประโยชน์สาธารณะ การตัดสินหลายกรณีนอกจากจะส่งผลให้ผู้ครองตลาดมีอำนาจเหนือตลาดมากกว่าเดิม กีดกันการแข่งขันมากกว่าเดิมแล้ว ยังทำให้น่าสงสัยว่าอาจถูกยึดกุม (regulatory capture) โดยกลุ่มทุนที่เกี่ยวข้องไปแล้วด้วยซ้ำ

จึงอยากขนานนามระบอบประยุทธ์ หลังการเลือกตั้ง 2023 ว่า ระบอบอุปถัมภ์ทุนผูกขาด และตราบใดที่ระบอบนี้ยังดำรงอยู่ ไทยจะไม่มีวันเบนเข็มเข้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ได้อย่างแท้จริง และยังส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยรวม ในยุคที่ความยั่งยืนเป็นปัจจัยหนึ่งในความสามารถทางการแข่งขัน ตัวอย่างเช่น

  • นโยบาย Net Zero
  • สำหรับไทยประกาศเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ว่า จะมุ่งสู่ Net Zero ในปี 2065 ล่าช้ากว่าส่วนใหญ่ถึง 15 ปี และประกาศจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 30 ภายในปี 2030 ภายใต้การคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจเกินจริง ทำให้ตั้งเป้าการลดก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าปริมาณที่ควรลดจริงๆ และบั่นทอนแรงจูงใจของภาคธุรกิจ ทำให้โครงการ Climate Action Tracker ประเมินเป้าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศ (Unconditional NDC) ที่ไทยยื่น ว่าไม่เพียงพออย่างร้ายแรง (critically insufficient)

    นอกจากเป้าหมาย Net Zero ที่ล่าช้ากว่าโลก บทบาทของภาคการใช้ที่ดินและป่าไม้ (Land use, Land Use Change, and Forestry: LULUCF) ที่ฟังเผินๆ ดูดี แต่สุ่มเสี่ยงจะผลิตซ้ำความรุนแรงเชิงโครงสร้างและความอยุติธรรมทางสังคม โดยเฉพาะสิทธิการอยู่กับป่าและการใช้ที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์และชาวบ้านผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของไทย ปี 2021 คาดการณ์ว่า ศักยภาพการดูดซับก๊าซเรือนกระจกในภาคการใช้ประโยชน์ของที่ดินและป่าไม้ของไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่า ภายในปี 2037 ตัวเลขนี้มาจากเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่สีเขียวเป็นร้อยละ 55 ภายในปี 2037 จากร้อยละ 32 ในปัจจุบัน ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หมายความว่าไทยจะต้องเพิ่มพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่สีเขียวกว่า 70 ล้านไร่

    หากเดินหน้าเพิ่มพื้นที่ป่าด้วยมาตรการแบบเดียวกับในอดีต อย่างทวงคืนผืนป่า ที่สร้างความเดือดร้อน สร้างความขัดแย้งรุนแรงระหว่างรัฐกับชาวบ้าน ส่งผลให้เกิดคดีความมากถึง 46,000 คดี และชาวบ้านหลายร้อยคนต้องสูญเสียที่ดินทำกิน ผลลัพธ์ก็อาจสอดคล้องกับเป้า Net Zero เพราะได้ชื่อว่าเพิ่มพื้นที่ป่า แต่กลับถอยห่างจากการพัฒนาที่ยั่งยืนมากกว่าเดิม เพราะสถานการณ์ความยุติธรรมเลวร้ายลง โดยเฉพาะถ้ามองจากมุมความยุติธรรมด้านภูมิอากาศ (climate justice) คือ คนที่มีส่วนสร้างภาวะโลกรวนน้อยที่สุดกลับต้องเป็นผู้แบกรับภาระมากที่สุดในแง่ผลกระทบต่อการดำรงชีพ

    ถ้ารัฐไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง นอกจากจะต้องปรับเป้าหมาย Net Zero ให้สอดคล้องกับประชาคมโลกและเลิกใช้มาตรการที่ซ้ำเติมความอยุติธรรมแล้ว นโยบายต่างๆ ที่ต้องให้ความสำคัญกับการทยอยยกเลิกกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า กิจกรรมคาร์บอนสูง ไม่แพ้มาตรการส่งเสริมกิจกรรมคาร์บอนต่ำที่มีมากมายแต่ไม่เพียงพอ มีแต่การลดคาร์บอนโดยสมัครใจก็จะสุ่มเสี่ยงต่อการ ฟอกเขียว (greenwash) มากกว่าเดิม โดยเฉพาะกลุ่มทุนที่ทำแผน Net Zero ด้วยการระดมซื้อคาร์บอนเครดิตปริมาณมหาศาลมาชดเชย โดยซื้อจากโครงการที่ไม่น่าเชื่อถือ ป่าไม้ไม่ได้เพิ่มจริง รวมทั้งไม่มีอะไรรับประกันว่าตลาดคาร์บอนจะยุติธรรมสำหรับตลาดชุมชนที่ดูแลรักษาป่า เห็นข้อมูลจากสัญญาคาร์บอนเครดิตระหว่างชุมชนกับบริษัทแห่งหนึ่ง พบว่าบริษัทได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์จากการขายคาร์บอนเครดิตถึง 70% ชุมชนได้เพียง 20% และหน่วยงานรัฐได้ที่เหลือ 10% ตรงข้ามกับธรรมเนียมปฏิบัติที่ดีในต่างประเทศ

    ฉะนั้น เป้าหมายและนโยบาย Net Zero ของรัฐไทยในระบอบอุปถัมภ์ทุนผูกขาดยังเน้นการประวิงเวลาให้กับกลุ่มทุนพลังงานฟอสซิล ปล่อยให้เกิดการแบ่งผลประโยชน์จากตลาดคาร์บอนอย่างไม่เป็นธรรม และเปิดช่องให้ความรุนแรงเชิงโครงสร้างดำเนินต่อไป โดยเฉพาะการลิดรอนสิทธิชุมชนในการจัดการป่า

  • การเปลี่ยนผ่านพลังงาน
  • ในเมื่อภาคพลังงานปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึงร้อยละ 69 ของทั้งประเทศ การเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ จึงไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยปราศจากการเปลี่ยนผ่านพลังงานจากการผลิตและใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก ไปยังพลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก ซึ่งยากจะเกิดขึ้นอย่างจริงจังและทันท่วงที ถ้าปราศจากแผนการปลดระวาง (phaseout) การผลิตพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีกรอบเวลาชัดเจน การประกาศยกเลิกการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลโดยรัฐ และการประกาศใช้กลไกราคาคาร์บอน (carbon pricing) ภาคบังคับ แต่ก็ยังไม่พอ เพราะการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำย่อมมีคนได้และคนเสียมากมาย การคำนึงถึงความยุติธรรม จึงเป็นหัวใจที่ขาดไม่ได้หากจะเปลี่ยนผ่านภาคพลังงานตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยต้องหาวิธีกระจายประโยชน์และต้นทุนที่เกิดขึ้นอย่างยุติธรรมและเท่าเทียมให้ได้มากที่สุด ไม่ใช่ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ ทำให้กลุ่มเปราะบางเดือดร้อนมากขึ้น หรือส่งเสริมโครงการที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ แต่เพิ่มปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมด้านอื่นให้เลวร้ายกว่าเดิม และจนถึงวันนี้ยังไม่เห็นทิศทางนโยบายของหลักที่คำนึงถึงหลักการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยุติธรรม และมีแนวโน้มตอกย้ำความอยุติธรรมทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้ดำรงอยู่ต่อไปด้วย

    ตัวอย่างความอยุติธรรมทางเศรษฐกิจจากการคาดการณ์ความต้องการพลังงานที่สูงเกินจริงในระบบการวางแผนพลังงานที่ยังรับประกันผลตอบแทนให้ผู้ประกอบการล่วงหน้าหลายสิบปี โดยมีการประเมินว่า ผู้ใช้ไฟฟ้ามีการแบกรับค่าไฟฟ้าที่ไม่เหมาะสมมากกว่า 3.3 แสนล้านบาท จากการลงทุนผลิตไฟฟ้าเกินตลอด 2 ทศวรรษ ที่รองรับอำนาจเหนือตลาดของธุรกิจให้ดำรงอยู่ไปอีกยาวนาน และส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้บริโภค ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจทุกขนาด คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ 2 ปีที่ผ่านมา ได้เห็นภาคเอกชน เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ออกมาส่งเสียงเรียกร้องโดยตรง และใช้คำว่า อยากให้รัฐบาลปรับโครงสร้างพลังงาน สิ่งที่รัฐต้องทำ คือ เร่งปฏิรูปการวางแผนพลังงาน เปิดเสรีตลาดไฟฟ้าสำหรับผู้ประกอบการทุกขนาด และกระจายอำนาจในการจัดการพลังงานให้กับชุมชน

    นอกจากนี้ ตัวอย่างความอยุติธรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อม จากการเดินหน้าสนับสนุนโครงการพลังงานที่อ้างว่าเป็นพลังงานทดแทนที่สะอาด เพียงเพราะปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าโครงการที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ความเป็นจริง มีความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยไร้มาตรการกำกับดูแลที่เหมาะสม เช่น โรงไฟฟ้าที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิง (Refused-derived Fuel: RDF) ซึ่งก่อมลพิษหลายชนิดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม อาทิ สารก่อมะเร็งไดออกซิน ปัจจุบันสามารถตั้งอยู่ใจกลางชุมชนได้ เพราะคำสั่ง คสช. ปี 2016 ยกเว้นกฎหมายผังเมืองไม่ให้บังคับแก่กิจการโรงงานไฟฟ้าและกิจการเกี่ยวกับขยะมูลฝอย รวมถึงประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปี 2015 ที่แก้ไขให้โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิงทุกขนาดไม่ต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้ใช้ประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice: CoP) แทน ซึ่งเป็นกลไกที่อ่อนกว่ามาก

    ทำให้ 9 ปีที่ผ่านมามีชาวบ้านออกมารวมตัวคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะไม่ต่ำกว่า 50 โครงการทั่วประเทศ นอกจากโรงไฟฟ้าขยะแล้ว โครงการที่ได้ชื่อว่าพลังงานหมุนเวียน เช่น โครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ในแม่น้ำโขง ในลาว ที่ขายไฟฟ้าส่วนใหญ่ให้ไทยในภาวะที่ผลิตไฟฟ้าเกินความต้องการ ก็เสี่ยงสูงมากในการสร้างผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม รัฐยังเดินหน้าส่งเสริมโครงการลักษณะนี้ และไม่รับฟังข้อกังวลอย่างรอบด้านก่อนอนุมัติโครงการ

    ตัวอย่างเหล่านี้สะท้อนว่า ลำพังการมุ่งเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าจะเป็นการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยุติธรรม ตรงกันข้าม รัฐในระบอบอุปถัมภ์ทุนผูกขาดสามารถเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนหน้าเดิมมีอำนาจเหนือตลาดต่อไป ทั้งพลังงานฟอสซิลและพลังงานหมุนเวียน ด้วยการไม่ปฏิรูประบบการวางแผนพลังงาน กีดกันการแข่งขันและชะลอการเปิดเสรีตลาดไฟฟ้าออกไปให้นานที่สุด รวมถึงยังปล่อยปละละเลยการกำกับดูแลโครงการที่มีความเสี่ยงต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมสูงมาก ภายใต้คำว่าพลังงานสะอาด หรือพลังงานทดแทน

  • ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน
  • อย่างไรก็ตาม หนทางหนึ่งที่เราจะลดความอยุติธรรมในการพัฒนา เพื่อมุ่งหน้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง คือการเพิ่มระดับความรับผิดของภาคธุรกิจ (accountability) โดยเฉพาะกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบสูงมาก โดยเฉพาะเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นในขอบเขตการทำธุรกิจ ปัจจุบัน มีมาตรฐานสากลค่อนข้างใหม่ที่น่าจะช่วยเราได้ไม่มากก็น้อย คือ หลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGPs) ประกาศใช้ปี ค.ศ. 2011 ระบุว่า บริษัทมีหน้าที่เคารพสิทธิมนุษยชนและต้องมีบทบาทในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งในสถานประกอบการของตัวเองและในห่วงโซ่อุปทานของบริษัทด้วย ถือเป็นหลักการชี้แนะโดยสมัครใจ ไม่มีผลตามกฎหมาย แปลว่าบริษัทจะทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ และบริษัททุกแห่งก็สามารถประกาศว่าเคารพหลักการชุดนี้ได้ แม้อาจมีส่วนละเมิดสิทธิมนุษยชนมากมายในทางปฏิบัติ นักสิทธิมนุษยชนจำนวนมากจึงรณรงค์เรียกร้องให้รัฐออกกฎหมายบังคับให้ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ต้องทำตามหลักการชี้แนะ UNGPs โดยเฉพาะการต้องตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (HRDD) มีบทบาทในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และรายงานความคืบหน้าทุกปี

    ที่ผ่านมาหลายประเทศก็ทยอยออกกฎหมายนี้ตามเสียงเรียกร้องแล้ว อาทิ เยอรมนี นอร์เวย์ ฝรั่งเศส และออสเตรเลีย โดยบังคับใช้กับบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศตัวเอง แต่ที่กำลังถูกจับตา คือ สหภาพยุโรปกำลังเตรียมออกกฎหมายการตรวจสอบด้านความยั่งยืนอย่างรอบด้าน (Corporate Sustainability Due Diligence Directive: CS3D) ที่ไม่ได้บังคับใช้กับบริษัทขนาดใหญ่ในสหภาพยุโรป แต่รวมถึงบริษัทขนาดใหญ่ทั่วโลก ที่มีพนักงานมากกว่า 500 คน และมีรายได้รวมทั่วโลกมากกว่า 150 ล้านเหรียญยูโร

    บางคนอาจจะมองว่า กติกาเหล่านี้เป็นเพียงการกีดกันทางการค้า หรือการล่าอาณานิคมรูปแบบใหม่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือกระแสการเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจหยุดยั้งได้ ในยุคที่ผู้บริโภคทั่วโลกจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เข้าถึงอินเทอร์เน็ต และส่งเสียงเรียกร้องให้รัฐออกกฎหมายบังคับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อ ของภาคธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น และพร้อมคว่ำบาตรบริษัทที่มองว่าไม่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

    สำหรับ ประเทศไทยก็ต้องปรับตัวไม่ช้าก็เร็ว เพราะบริษัทไทยจำนวนมากค้าขายกับประเทศพัฒนาแล้ว รวมถึงธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี จำนวนมากก็อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของบริษัทเหล่านี้ ปัจจุบันไม่มีกฎหมายบังคับใช้เรื่องเหล่านี้ แต่มีพัฒนาการบางอย่างที่นำไปต่อยอดได้ เช่น รัฐบาลที่ผ่านมา มีแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน หรือ NAP ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 (ปี 2023-2027) แต่ยังมีข้อจำกัดและอุปสรรคในการใช้จริงอยู่มาก เนื่องจากมีสถานะเป็นเพียงมติคณะรัฐมนตรี ไม่ใช่กฎหมายที่มีผลบังคับใช้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตัวชี้วัดหลายตัวก็ยังอยู่เพียงระดับกิจกรรมหรือผลผลิตของกิจกรรม มากกว่าผลลัพธ์ปลายทาง (outcome) ที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายทางสังคมที่อยากเห็น

    ตัวชี้วัดบางตัวยังสุ่มเสี่ยงที่จะบิดเบือนแรงจูงใจในทางที่เกิดจริยวิบัติ (moral hazard) และไม่สะท้อนความคืบหน้าของการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง

    อย่างไรก็ตาม แผน NAP นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการผลักดันความรับผิดชอบของธุรกิจให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ในยุคที่การเคารพสิทธิมนุษยชนเริ่มถูกยอมรับว่าเป็นค่านิยมหลักหรือจรรยาบรรณสากลในการดำเนินธุรกิจ แต่ก็ไม่ต่างจากตัวอย่างเรื่องนโยบาย Net Zero กับพลังงานที่ยากที่จะเกิดได้อย่างแท้จริงในยุคระบอบอุปถัมภ์ทุนผูกขาดที่รัฐเกรงใจกลุ่มทุน และการละเมิดสิทธิมนุษยชนจำนวนไม่น้อยเกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทานของกลุ่มทุน และการฟ้องปิดปากหลายคดีดำเนินการโดยกลุ่มทุน

    ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ หนทางการพัฒนาที่ยั่งยืน

    การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นแนวคิดที่มีประโยชน์ แต่วาทกรรมการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ไม่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจ ไม่ใส่ใจมากพอกับความอยุติธรรมทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ฝังลึกและรุนแรงมากขึ้นในสังคมไทยยุคอุปถัมภ์ทุนผูกขาด ถึงเวลาแล้วที่จะทลายเผด็จการเสียงข้างน้อยของอภิสิทธิ์ชน ทลายระบอบอุปถัมภ์ทุนผูกขาด เพื่อออกเดินบนเส้นทางสู่ระบอบเศรษฐกิจประชาธิปไตย สร้างเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากของประชาชน มากกว่าพยุงความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีส่วนน้อย ให้ประชาชนมีอำนาจจัดการทรัพยากรในชุมชนตัวเอง มีเสรีภาพและโอกาสอย่างเท่าเทียมที่จะค้าขายในสนามแข่งขันที่เป็นธรรม รวมถึงมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการกำหนดนโยบายของรัฐ พร้อมไปกับการร่วมประเมินผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมจากนโยบายและมาตรการต่างๆ ตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน

    มีแต่เศรษฐกิจประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะช่วยให้เราออกเดินบนเส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง วิธีนี้ยังจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของประเทศด้วย เพราะกลุ่มทุนผูกขาดที่เคยชินกับการตักตวงค่าเช่าทางเศรษฐกิจ ย่อมไร้แรงจูงใจที่จะลงทุนเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของตนเอง อมาตยา เซน (Amartya Sen) ได้เสนอว่า

    “เราสามารถตัดสินความก้าวหน้าได้จากการลดระดับความทุกข์ยากของผู้คน มากกว่าการหนุนเสริมให้ผู้ที่มั่งมีอยู่แล้วมั่งคั่งมากกว่าเดิม”

    ในเมื่อหัวใจของการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ ความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ ความยุติธรรมทางสังคม และความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม การกระทำใดๆ ที่พุ่งเป้าไปที่การลดความอยุติธรรมในมิติเหล่านี้ ก็เท่ากับเป็นการเพิ่มระดับความยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มระดับการพัฒนาที่ยั่งยืนในสังคมไทยไปด้วย แลเป็นการพัฒนาเพื่อประโยชน์ของทุกคน ทั้งคนรุ่นเราและคนรุ่นหลัง ดังประโยคปิดท้ายข้อเขียนอมตะ “ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์

    ดูวิดิโอเพิ่มเติม https://www.facebook.com/ECONTUofficial/videos/1804894190015039