ThaiPublica > คอลัมน์ > Now and Then : จากงานเพลง The Beatles ถึงการต้านโกงด้วยพลัง AI

Now and Then : จากงานเพลง The Beatles ถึงการต้านโกงด้วยพลัง AI

5 มีนาคม 2024


ปิติคุณ นิลถนอม

เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมามีเรื่องน่าตื่นเต้นในวงการเพลงโลกไม่น้อย หลังจากที่มีการปล่อยเพลง “Now and Then” ของคณะ 4 เต่าทองหรือ The Beatles แห่งเมืองลิเวอร์พูลออกมา ทำให้บรรดาแฟนนานุแฟน หรือ Beatlemania ทั่วโลก กระชุ่มกระชวยหัวใจ เพราะอันที่จริงวงดนตรีที่ยิ่งใหญ่วงนี้ได้แยกกันไปตั้งแต่ ค.ศ. 1970 และสมาชิกในวงก็เสียชีวิตไปแล้วถึง 2 คน ทั้ง จอห์น เลนนอน ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตที่นิวยอร์กเมื่อปี ค.ศ. 1980 และ จอร์จ แฮริสัน ที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดเมื่อปี ค.ศ. 2001

อาจกล่าวได้ว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้เพลงนี้คลอดออกมาจนได้นับจากวันที่จอห์นผู้วายชนม์ได้แต่งและอัดเสียงร้องกับเปียโนไว้อย่างหยาบๆ ที่บ้านของเขาในนิวยอร์กช่วงปลายทศวรรษที่ 70 ก่อนที่จะเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1980

ก่อนหน้านี้ได้มีความพยายามที่จะ “แกะ” เพลงนี้ให้ได้ โดยเรื่องราวเริ่มต้นจากในปี ค.ศ. 1994 หลังจากมีการเสนอชื่อจอห์นเข้าสู่หอเกียรติยศหรือ Rock and Roll Hall of Fame โยโกะ โอโนะ ภรรยาหม้ายของจอร์น ได้นำเทปคาสเซ็ทที่จอห์นได้บันทึก demo ไว้ให้แก่พอล ซึ่งสมาชิกที่เหลืออยู่ในขณะนั้นทั้ง 3 คนได้แกะเสียงร้องและบันทึกเสียงดนตรีของตน ก่อนจะทำการ overdub คือกระบวนการเพิ่มเสียงใหม่เข้าไปในการบันทึกเสียงเดิมซ้อนเข้าไป แล้วเรียบเรียงจนออกมาเป็นผลงานอย่าง “Free as a Bird” ที่ออกมาในปี ค.ศ. 1995 และถูกผนวกรวมอยู่ในอัลบั้มไตรภาคของวงชื่อ Anthology 1 และ “Real love” ที่ครั้งหนึ่งเคยออกมาเป็นเพลงประกอบสารคดีชื่อ Imagine: John Lennon ในปี ค.ศ. 1988 โดยเพลงนี้ถูกเรียบเรียงใหม่โดยสมาชิกที่เหลือ ในปี ค.ศ. 1996 อยู่ในชุด Anthology 2

ในบรรดาเพลงที่จอห์นได้บันทึกไว้มีเพลงหนึ่งที่มีเสียงสัญญาณรบกวนที่เรียกว่า mains hum หรือ electric hum ซึ่งจริงๆแล้วเพลง Real Love ก็มีปัญหาเช่นนี้แต่ไม่หนักหนาสาหัสเท่า ในขณะที่นั่งทำเพลงกันอยู่นั้นจอร์จถึงกับสบถออกมาว่าคุณภาพเสียงที่อัดมามันห่วยแตกจริงๆ ทั้งสามคนจึงถอดใจ แล้วก็แขวนเพลงนี้ไว้เพราะจนปัญญาที่จะทำต่อ

อย่างไรก็ตามเมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไป มีเทคโนโลยีใหม่เข้ามา สมาชิกที่ยังมีชีวิตอยู่เพียง 2 คนคือ พอล แม็กคาร์ตนีย์ และ ริงโก สตาร์ ได้มีไฟที่จะทำเพลงนี้ต่อด้วยการสนับสนุนของปีเตอร์ แจ็คสัน ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Lord of the Rings ที่ได้มาคลุกคลีอยู่กับงานของ เดอะ บีเทิลส์ ตั้งแต่การเข้ามารับหน้าที่ทำสารคดีของวงเรื่อง Get Back ที่ออกฉายปี ค.ศ. 2021

เพลง “Now and Then” นี้จะไม่มีวันเกิดขึ้นได้หากไม่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ปีเตอร์นำมาใช้อย่าง AI ที่เรียกว่า Machine Assisted Learning หรือ MAL โดยชื่อเรียกอย่างย่อนี้เป็นการเรียกขานตามชื่อของอดีตผู้จัดการทัวร์ของวงชื่อ Mal Evan

โดยปีเตอร์และทีมงานได้ใช้ MAL จัดการกับเทปคาสเซ็ตที่บันทึกเดโมไว้ ด้วยวิธีการแยกเสียงร้องของจอห์นออกเสียงรบกวน จากนั้นจึงนำเสียงของจอห์นไปรวมกับเสียงกีตาร์ของจอร์จที่เคยบันทึกไว้ รวมถึงเสียงเบสและกลองของพอลและริงโก้ และเสียงเครื่องสายจากทีมนักดนตรีที่มาช่วยเสริม ทั้งนี้พอลได้แต่งเนื้อร้องบางส่วนขึ้นมาเพื่อความสมบูรณ์ด้วย จนผลงานเพลงชิ้นนี้ประสบความสำเร็จ ในฐานะที่เป็นเพลงสุดท้ายของวง

ที่มาภาพ: https://www.upworthy.com/the-beatles-last-song-now-and-then

การใช้ MAL มาช่วยมีข้อดีหลายประการ ประการแรก ช่วยให้สามารถแยกเสียงร้องออกจากเสียงดนตรีได้อย่างแม่นยำ ซึ่งยากที่จะทำได้ด้วยวิธีการแบบเดิมๆ ประการที่สอง ช่วยให้สามารถแยกเสียงร้องออกมาเป็นไฟล์แยกต่างหาก ซึ่งทำให้สามารถนำไปใช้ในภายหลังได้ง่ายขึ้น เช่น ใช้ในการร้องคัฟเวอร์หรือใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานเพลงใหม่ๆ

แต่ก็มีข้อจำกัดบางประการเช่นกัน เช่น อาจไม่แม่นยำเสมอไป โดยเฉพาะหากเสียงร้องและเสียงดนตรีมีความซับซ้อน

นอกจากนี้ปีเตอร์ยังกำกับมิวสิควีดีโอเพลงนี้ด้วย ในขณะที่เขียนบทความนี้มียอดวิวแล้วประมาณ 35 ล้านวิว ในมิวสิควีดีโอนี้ปีเตอร์ได้นำฟุตเทจภาพเก่าต่างๆในอดีตที่สมาชิกอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตามาประกอบกับภาพของพอลและริงโก้ในยุคปัจจุบัน เสมือนว่าทั้ง4คนได้บรรเลงเพลงนี้ร่วมกันอย่างลงตัว และด้วยเนื้อเพลงและสไตล์ที่มีกลิ่นอายของ Phychedelic Rock จึงทำให้ผู้ฟังคิดถึงช่วงปลายทศวรรษที่ 60 ประหนึ่งบทเพลงดังกล่าวทำหน้าที่เป็น “ไทม์แมชชีน” พาผู้ฟังกลับไปสู่อดีต จนมีแฟนตัวยงวัย 70 ปีรายหนึ่งได้แสดงความคิดเห็นใต้คลิปยูทูปช่องเดอะบีเทิลส์ว่า “ผมฟังแล้วจู่ๆ น้ำตาก็ไหลออกมา เพราะเดอะ บีทเทิลคือโลกในวัยเด็กของผม การฟังเพลงนี้ผ่านมิวสิควีดีโอที่จอห์น พอล จอร์จ และริงโก้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน ทำให้หวนนึกถึงวันวานที่มีความสุข ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างรวมถึงคนที่ผมรักได้ถูกกาลเวลาพรากไปหมดแล้วในอีก 40 ปีถัดมา มันจึงมีค่าต่อผมมาก”

ที่มาภาพ : https://abcnews.go.com/GMA/Culture/beatles-final-song-now-then-music-video-watch/story?id=104603955

การกลับมาของเดอะบีเทิลส์ในครั้งนี้ นับเป็นเหตุการณ์สำคัญในวงการดนตรี เป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยีที่มาช่วยมนุษย์สรรสร้างผลงานเพลงที่เป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ แสดงให้เห็นถึงพลังของดนตรีในการข้ามกาลเวลาและเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน

ในวันที่เขียนบทความนี้ใกล้ถึงวันที่ 8 ธันวาคมซึ่งเป็นวันครบรอบการจากไปของจอห์นครบ 43 ปี โดยในปีนี้คงจะมีความพิเศษเพราะกระแสของเพลงใหม่ที่พึ่งออกมา การรำลึกถึงจอห์นซึ่งปกติจะจัดทุกปีที่ Strawberry Fields ในเซ็นทรัลพาร์คที่เมืองนิวยอร์กคงจะเป็นปีที่พิเศษอีกปีนึง

นอกเหนือจากวันที่ 8 ธันวาคมแล้ววันถัดมาคือวันที่ 9 ธันวาคมก็จะเป็นวันต่อต้านการคอรัปชันสากล ซึ่งเป็นวันสำคัญของชาวโลกอีกวันหนึ่งที่ทุกชาติจะแสดงเจตจำนงร่วมกันว่าการทุจริตเป็นสิ่งที่บั่นทอนความก้าวหน้าของประเทศรวมถึงเป็นอุปสรรคสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ปีนี้มีความพิเศษอีกประการคือเป็นปีที่อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต หรือ UNCAC มีอายุครบ 20 ปีเต็ม ซึ่งถือเป็นอนุสัญญาฉบับแรกและฉบับเดียวที่อุทิศให้กับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน

ที่มาภาพ : https://www.unodc.org/unodc/en/anticorruptionday/campaign.html

เมื่อพูดถึงการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแล้ว ในระยะหลังก็มีความพยายามที่จะนำ AI อย่าง machine learning มาใช้ประโยชน์เฉกเช่นเดียวกันกับวงการดนตรีเหมือนกัน โดยเฉพาะการใช้เสริมสร้างความโปร่งใสและต่อต้านการทุจริต ตั้งแต่การโกงการสอบ การไม่สุจริตในการเขียนวิทยานิพนธ์หรืองานวิจัย การปลอมเอกสาร แม้กระทั่งคนโกงในการแข่งขันวิ่งมาราธอน และที่สำคัญผู้ที่ฉ้อฉลในการใช้จ่ายเงินงบประมาณที่มาจากภาษีประชาชน ซึ่งในประเด็นหลังนี้มีวิธีการในหลายลักษณะ อาทิ

  • ฝึกให้ machine learning ระบุรูปแบบในข้อมูลทางการเงินที่อาจบ่งบอกถึงการทุจริต เช่น ธุรกรรมที่ผิดปกติ หรือเกิดขึ้นในเวลาที่ผิดปกติ เพื่อแจ้งเตือนให้เข้าตรวจสอบและป้องปรามการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นได้
  • ใช้ตรวจจับความผิดปกติในข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง เช่น ใช้เพื่อระบุสัญญาที่ให้กับบริษัทที่ไม่มีคุณสมบัติ บริษัทที่เสนอราคาสูงเกินจริง หรือที่ไม่ผ่านกระบวนแข่งขันอย่างโปร่งใส หรือมีพฤติการณ์ฮั้วกัน
  • ใช้เพื่อตรวจสอบกิจกรรมออนไลน์ของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่นติดตามโพสต์โซเชียลมีเดียที่ส่อไปในทางไม่โปร่งใส
  • ทั้งนี้ในหลายๆประเทศได้นำ AI ไปพัฒนางานตรวจสอบทุจริต เช่น

  • ในประเทศจีน องค์กรตรวจเงินแผ่นดินจีน (CNAO) ได้นำ AI มาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลการใช้จ่ายของผู้มีสิทธิได้รับสวัสดิการสังคม ช่วยให้สามารถระบุผู้ทุจริตได้ง่ายขึ้น และมีการนำมาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และการตรวจสอบแบบ real-time ซึ่งหากมีสิ่งผิดปกติก็จะแจ้งเตือนทันที
  • ในขณะที่บราซิล โดยศาลบัญชีแห่งบราซิล (TCU) ได้สร้าง AI ชื่อว่า ALICE, ADELE, MONICA, และ SOFIA มาใช้ในองค์กรเพื่อจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล Big Data และประเมินความเสี่ยงด้านการทุจริตในภาครัฐ โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้าง
  • ส่วนในประเทศไทยนั้น ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา สตง. ได้ร่วมมือกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) เพื่อทำโครงการนำร่องที่มีชื่อว่า “Artificial Intelligence for Performance Audit” หรือ AI for PA เพื่อนำ AI มาช่วยวิเคราะห์และสืบค้นข้อมูลจากฐานข้อมูลงานตรวจสอบการดำเนินงาน (Performance Audit)
  • ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาทุกประเทศทั่วโลกต่างต่อสู้กับการทุจริตอยู่เสมอและร่วมมือกันในการจัดการปัญหาดังกล่าวที่ฝังรากลึกคู่กับสังคมมนุษย์มายาวนาน อย่างไรก็ตามปัญหาดังกล่าวก็ยังไม่หมดไปแต่ AI จะเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มาพลิกโฉมโลกนี้ในทุกๆวงการ ไม่ใช่แค่เฉพาะแวดวงดนตรี แต่รวมถึงจะเป็นเครื่องมือต่อต้านการทุจริตอันจะเป็นการสร้างต้นทุนให้กับผู้ที่คิดจะทำผิด อย่างน้อยสุดการที่ AI สามารถตรวจเช็คข้อมูลจำนวนมากและเชิงลึกโดยไม่เหน็ดไม่เหนื่อย ไม่หลับไม่นอน หากพิจารณาในมุมนี้แล้วคงจะทำให้พวกที่คิดไม่ชอบหนาวๆร้อนๆไม่มากก็น้อย

    ข้อมูลประกอบการเขียน

    https://www.youtube.com/watch?app=desktop&v=Opxhh9Oh3rg
    https://abcnews.go.com/GMA/Culture/beatles-final-song-now-then-music-video-watch/story?id=104603955
    https://www.upworthy.com/the-beatles-last-song-now-and-then
    https://www.unodc.org/unodc/en/anticorruptionday/campaign.html