ThaiPublica > คอลัมน์ > หนีเข้าเมือง–ทุจริต–โควิด 19 : กับบทบาทของ Auditor ภาครัฐ

หนีเข้าเมือง–ทุจริต–โควิด 19 : กับบทบาทของ Auditor ภาครัฐ

17 มกราคม 2021


ว่าที่ร้อยเอกปิติคุณ นิลถนอม

ปีใหม่ที่ผ่านมาหลายท่านคงได้วางแผนเดินทางกลับภูมิลำเนา ท่องเที่ยวในจังหวัดต่างๆ บ้างก็เตรียมงานสังสรรค์หรือแม้แต่เตรียมตัวสวดมนต์ข้ามปีที่วัดใกล้บ้านเหมือนที่เราทำกันมาทุกๆ ปี แต่เมื่อลมหนาวของสิ้นปีมาถึงพวกเราต้องกลับมาตั้งการ์ดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างแข็งขันอีกคราวหนึ่ง แม้ว่าหลายเดือนที่ผ่านมาแนวโน้มของการแพร่ระบาดนั้นลดลงมากเรียกได้ว่า “เอาอยู่” รวมถึงสภาพเศรษฐกิจการค้าการขายก็เริ่มกลับมามีชีวิตชีวาบ้างแล้ว

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในรอบนี้ ไม่ว่าจะเรียกการแพร่ระบาดรอบใหม่หรือรอบสองก็แล้วแต่ ประเด็นหนึ่งที่คนกล่าวถึงในวงกว้างและตั้งคำถามก็คือเจ้าหน้าที่รัฐมีการปล่อยปละละเลยให้มีการหลบหนีเข้าเมืองจนทำให้มีการนำเชื้อโควิด-19 มาแพร่ระบาดหรือไม่ ทั้งๆ ที่ไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศมาหลายเดือนแล้ว

ภาพข่าวเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2563 ระบุว่า แรงงานชาวเมียนมาจำนวน 25 คน หนีเข้าประเทศทางช่องทางธรรมชาติ ในเขตพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ที่มาภาพ : https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_5519168

ความตื่นตระหนกเริ่มตั้งแต่เมื่อปลายปีก่อน หลังจากสื่อมวลชนรายงานว่ามีคนหลบหนีเข้าเมืองโดยช่องทางธรรมชาติและอาจนำโควิด-19 เข้ามาแพร่ระบาดอีกครั้งหนึ่ง มีทั้งข่าว 4 คนไทยลักลอบเข้าเมืองทางฝั่งอำเภอแม่สอดเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตรวจโรคและการกักตัว 14 วันตามมาตรการภาครัฐ แล้วมา “โป๊ะแตก” เพราะไปเช็กอินตามสถานที่ต่างๆ ใน Facebook ของตนจนถูกจับกุม รวมถึงเมื่อหลังปีใหม่ที่ผ่านมาก็มีข้อเท็จจริงปรากฏว่าพบผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายที่เขตดอนเมืองจำนวน 18 คน และต่อมาตรวจพบว่ามีเชื้อโควิดรวม 7 คน

ในประเด็นการหลบหนีเข้าเมืองกับการทุจริตของเจ้าหน้าที่นั้น ประสบการณ์ที่ผ่านมาในอดีตของหลายประเทศก็ประสบพบเจอเหตุการณ์ในทำนองเดียวกัน คือ การทุจริตของเจ้าหน้าที่เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ส่งผลให้มีการเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และทำให้เกิดปัญหาตามมาในประเทศ เช่น กรณีของประเทศมาเลเซียที่เคยปรากฏข่าวเมื่อปี 2560 ว่าเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองระดับสูงถูกจับกุมหลังพบว่าร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งจากการสอบสวนพบว่าได้พัวพันกับกรณีทุจริตรับสินบนจากชาวต่างชาติเป็นเงินสูงถึงราว 27.9 ล้านริงกิต คิดเป็นเงินไทยประมาณ 270 ล้านบาท เพื่อแลกกับการอนุมัติให้แรงงานต่างชาติเข้าประเทศได้

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนั้นจะเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐปล่อยปละละเลย หรือรู้เห็นเป็นใจกับการลักลอบเข้าเมืองดังกล่าวหรือไม่ ต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่จะพิสูจน์ ได้แต่หวังเป็นอย่างยิ่งว่ากระบวนการยุติธรรมจะรวดเร็ว และหากมีการกระทำผิด ไม่ว่าจะเป็นผู้ใด จะต้องมีการลงโทษอย่างเด็ดขาด ขออย่าได้เป็นกรณี “มวยล้มต้มคนดู” เลย

นอกเหนือจากความคาดหวังให้มีการแก้ไขปัญหา โดยฝ่ายปกครองหรือฝ่ายบริหารเอง รวมถึงเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ที่ทำหน้าที่ป้องกันและปราบปราม ตลอดจนการดำเนินการทางวินัย แพ่ง และอาญากับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหากพบกรณีทุจริตแล้ว ในส่วนของ Auditor ภาครัฐ ที่ทำหน้าที่อยู่ในองค์กรตรวจเงินแผ่นดินซึ่งเป็นองค์กรอิสระปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายอื่น ก็เข้ามาตรวจสอบหน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับการเข้าเมืองในการบริหารการเงิน การจัดซื้อจัดจ้าง ว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่

และที่สำคัญคือการตรวจสอบว่าการดำเนินโครงการต่างๆ ในหน้าที่เกี่ยวกับการเข้าเมืองนั้นมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล เสมอภาค ตลอดจนดูจุดอ่อนในการควบคุมภายใน และความเสี่ยงต่างๆ เพื่อเสนอแนะและให้คำปรึกษาให้การดำเนินการเป็นไปอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพต่อไปด้วย

ในช่วงที่ผ่านมามีองค์การตรวจเงินแผ่นดินหลายประเทศได้ทำการตรวจสอบหน่วยงานตรวจคนเข้าเมือง เช่น Auditor ภาครัฐของอังกฤษ จากหน่วยงานที่มีชื่อว่า National Audit Office (NAO) ได้ทำการตรวจสอบสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองหรือ Immigration Enforcement (IE) สังกัดกระทรวงมหาดไทย หรือ Home Office โดยได้เผยแพร่ผลการตรวจสอบเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2020 ระบุว่าแม้ IE จะมีความเปลี่ยนแปลงที่ดีอย่างมีนัยยะสำคัญในการบังคับใช้กฎหมาย แต่การตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะลดจำนวนบุคคลที่อยู่ในประเทศอย่างผิดกฎหมายลง ตลอดจนอันตรายที่เกิดจากบุคคลเหล่านั้น IE กลับไม่สามารถที่จะแสดงให้เห็นได้ว่าปัจจุบันมีบุคคลที่อยู่ในประเทศอังกฤษแบบผิดกฎหมายจำนวนเท่าไร ทั้งนี้ตัวเลขที่ IE มีนั้นเป็นตัวเลขที่บันทึกไว้ตั้งแต่ปี 2005 ที่มีจำนวน 430,000 คน ซึ่งหน่วยงานอื่นประมาณการไว้ว่าอาจมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา

National Audit Office ทำหน้าที่เป็น Watchdog ให้กับรัฐสภาอังกฤษ ที่มาภาพ : https://www.nao.org.uk/

นอกจากนี้ IE ยังไม่สามารถระบุได้อีกว่านิยามคำว่าก่อให้เกิดอันตรายโดยคนเข้าเมืองผิดกฎหมายนั้นคือแค่ไหนเพียงใด นอกจากนี้ข้อมูลที่ IE เก็บก็ไม่สามารถสะท้อนถึงผลกระทบเชิงบวกที่หน่วยงานสร้างให้กับสังคมได้

ตัวอย่างอีกกรณีหนึ่งเป็นของประเทศสหรัฐอเมริกาที่คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสภาคองเกรสได้มีหนังสือส่งให้ U.S. Government Accountability Office หรือ GAO ทำการตรวจสอบสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หรือ U.S. Customs and Border Protection (CBP) หลังจากที่มีกรณีการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยคณะกรรมาธิการมีข้อกังวลว่า CBP จะรับมือกับมาตรการจำกัดการเดินทางเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ รวมถึงมีมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดในสถานกักกันผู้เข้าเมืองที่ผิดกฎหมายหรือไม่

ห้องตรวจสุขภาพภายในสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (CBP) บริเวณชายแดน ที่มาภาพ : https://www.gao.gov/products/GAO-20-536

ทั้งนี้ก่อนหน้านั้นไม่นาน GAO ได้ทำการตรวจสอบสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองอยู่ก่อนแล้ว โดยได้รายงานไปยังสภาคองเกรส และต่อมามีสมาชิกวุฒิสภาได้นำไปขยายผลเพื่อติดตามการปรับปรุงการทำงานของ CBP ผลการตรวจสอบดังกล่าวได้เผยแพร่เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2020 มีสาระสำคัญคือ

ด่านพรมแดนด้านตะวันตกเฉียงใต้ของ CBP ไม่ได้มีการปฏิบัติตามข้อแนะนำด้านสุขอนามัยรวมถึงการตรวจสุขภาพ โดยเฉพาะการตรวจโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจของผู้เข้าเมืองที่ออกโดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค หรือ Centers for Disease Control and Prevention (CDC) ทำให้คณะกรรมาธิการ มีข้อกังวลอย่างยิ่งและรีบกำชับให้ CBP ปรับปรุงการทำงานโดยเฉพาะในวิกฤติการณ์โควิดครั้งนี้

แนวปฏิบัติที่ออกโดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ที่กำหนดให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (CBP) ต้องทำ เช่น การจัดให้มีหน้ากากอนามัย/เจลล้างมือ ฯลฯ แต่ไม่ได้มีการปฏิบัติตาม ที่มาภาพ : https://www.gao.gov/products/GAO-20-536

ทั้งนี้หากสำนักงาน CBP ไม่กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนไว้ในแผนการดำเนินงาน รวมถึงแนวทางการแก้ไข ก็จะถือว่า CBP ยังไม่อยู่ในสถานะที่จะปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลสุขอนามัยของผู้ผ่านแดนได้อย่างเพียงพอ

ในส่วนของประเทศไทย มีข้อเท็จจริงปรากฎว่าตั้งแต่ปี 2544 ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง (กบร.) ขึ้นเพื่อแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวแบบบูรณาการ แต่ยังคงมีการลักลอบทำงานในประเทศอยู่ ทำให้รัฐยังคงต้องเสียงบประมาณในการสกัดกั้น จับกุม และส่งกลับแรงงานต่างด้าว รวมถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลคนต่างด้าวที่ไม่มีบัตรประกันสุขภาพ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) โดยสำนักตรวจสอบการดำเนินงานที่ 2 ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้ทำการตรวจสอบการดำเนินงาน (Performance Audit) การควบคุมการทำงานของคนต่างด้าวใน 8 จังหวัดชายแดนทั่วประเทศ และได้เผยแพร่ผลการตรวจสอบเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2559 โดยในผลการตรวจสอบดังกล่าวระบุว่ามีข้อตรวจพบสำคัญคือ

  • การควบคุมแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองยังไม่ทั่วถึง แรงงานต่างด้าวทำงานโดยไม่ขออนุญาตยังมีเป็นจำนวนมาก มีที่มารายงานตัวกับกรมการปกครอง แต่ลักลอบทำงานโดยไม่ยื่นขออนุญาตกับกรมการจัดหางาน ถึง 208,379 คน ส่วนที่มารายงานตัวแต่ไม่ได้ถ่ายรูปพิมพ์ลายนิ้วมือนั้นยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามีจำนวนเท่าใด
  • แรงงานต่างด้าวที่มีใบอนุญาตทำงานแล้วมีการหลบหนีออกจากพื้นที่ที่กำหนดโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งจากการสัมภาษณ์พบว่า สถานประกอบการร้อยละ 64.29 ระบุว่ามีแรงงานต่างด้าวหลบหนีจากสถานประกอบการของตน
  • การสกัดกั้นคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองตามแนวชายแดนยังไม่สามารถสกัดกั้นได้ทั้งหมด การปราบปรามรวมถึงการดำเนินคดีกับนายจ้าง ผู้นําพา และผู้ให้ที่พักพิงแก่แรงงานต่างด้าวยังไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ขาดฐานข้อมูลเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองที่ครบถ้วนสมบูรณ์ ทำให้ไม่ทราบจำนวนแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองที่แท้จริง

สตง. จึงได้เสนอแนะให้มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการสํารวจและจัดทำฐานข้อมูลแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองทั้งหมดทั่วประเทศ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน และตรงกับความเป็นจริงที่สุด เพื่อให้รัฐสามารถนำไปประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายและมาตรการในการแก้ไขปัญหาการควบคุมแรงงานต่างด้าวทั้งระบบได้ดียิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังเสนอแนะให้เร่งรัดพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวให้ครบถ้วน ในระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้แรงงานต่างด้าวเข้าสู่ระบบโดยถูกกฎหมาย รวมถึงพิจารณาปรับปรุงการผ่านแดนโดยใช้บัตรผ่านแดน (Border Pass) เพื่อป้องกันคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองให้รัดกุมมากขึ้น ตลอดจนให้มีการดำเนินการทางกฎหมายกับแรงงานต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่ขออนุญาตทำงาน นายจ้าง ผู้นำพาเข้าประเทศรวมถึงผู้ให้ที่พักพิงแก่แรงงานต่างด้าวดังกล่าวด้วย เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง

จากประสบการณ์ของ Auditor ภาครัฐในประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และไทย ข้างต้น จะเห็นได้ว่ามีความคล้ายคลึงกันคือ ต่างมีความพยายามที่จะสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนผู้เป็นเจ้าของเงินงบประมาณผ่านการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ ในฐานะ Watchdog ที่มีความเป็นอิสระ โดยต่างก็มีข้อเสนอแนะ (Constructive Recommendations) ต่อภาครัฐเพื่อให้ปรับปรุงการทำงานด้านการควบคุมการเข้าเมืองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และมีการติดตามอย่างใกล้ชิดว่าภาครัฐปฏิบัติตามข้อเสนอแนะหรือไม่เพียงใด เพื่อเป็นอีกแรงหนึ่งในการระงับยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในวิกฤติการณ์ครั้งนี้

แรงงานต่างชาติมีความสำคัญในการพัฒนาชาติไทยให้ก้าวไปข้างหน้า พยานหลักฐานสำคัญที่เราเห็นอยู่รอบตัวคืองานก่อสร้างต่างๆ เช่น อาคารส่วนราชการ ห้างสรรพสินค้าชื่อดัง ตึกระฟ้าที่เห็นกันอยู่ดาดดื่นก็ล้วนสร้างด้วยน้ำพักน้ำแรงของเขาเหล่านั้น ความเข้าใจ และวิเคราะห์กันตามเนื้อผ้าอย่างมีสติ ว่าใครเป็นผู้ละเมิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นผู้หลบหนีเอง เจ้าหน้าที่รัฐ หรือนายหน้าที่หาประโยชน์เป็นกรณีๆ ไป โดยไม่ “เหมารวม” หรือ “ยกเข่ง” และไม่ใช้อารมณ์หรืออคติส่วนตัว น่าจะนำไปสู่การมองเห็นปัญหาที่ตรงจุดที่สุด

ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการรักษาระยะห่าง การล้างมือ และการสวมหน้ากาก รวมถึงการทำงานอย่างหนักของทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนจะทำให้สถานการณ์เช่นนี้คลี่คลายลงในไม่ช้า พวกเราต้องก้าวผ่านการแพร่ระบาดรอบนี้ไปด้วยกันเหมือนที่เราเคยทำได้มาแล้ว เป็นกำลังใจให้ทุกๆ ท่านครับ