ThaiPublica > เกาะกระแส > ‘ผาสุก พงษ์ไพจิตร’ ชี้ที่ดินเป็นของรัฐมากกว่าครึ่ง กำกับดูแลซับซ้อน แนะใช้หลักประชาธรรม ‘ธรรมเป็นอำนาจ ไม่ใช่อำนาจเป็นธรรม’

‘ผาสุก พงษ์ไพจิตร’ ชี้ที่ดินเป็นของรัฐมากกว่าครึ่ง กำกับดูแลซับซ้อน แนะใช้หลักประชาธรรม ‘ธรรมเป็นอำนาจ ไม่ใช่อำนาจเป็นธรรม’

14 มีนาคม 2024


เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2567 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานแสดงปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 19 เรื่อง “ศาสตร์-ศิลป์ของการกำกับดูแลที่ดินและสันติประชาธรรม” โดย ศาสตราจารย์ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ณ ป้องประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ศาสตราจารย์ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร

ศาสตราจารย์ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร เริ่มปาฐกถาว่า ปัจจุบันการศึกษาเรื่องที่ดินดูตกยุค ล้าสมัย โดยเฉพาะหลายทศวรรษที่ผ่านมา เราส่วนหนึ่งเข้าใจและเห็นภาพเดียวกันว่า รัฐไทยเอาใจใส่และวางนโยบายเกี่ยวกับที่ดินไว้อย่างครอบคลุม พร้อมกับประสบความสำเร็จในการมอบที่อยู่ที่กิน การขยายพื้นที่เกษตรกรรม พัฒนาเทคโนโลยี ออกกฎหมายและระเบียบใหม่ในการกำกับดูแลที่ดินอย่างต่อเนื่อง แต่จากการศึกษาเรื่อง “ระบบระบบกำกับดูแลที่ดินเพื่อการพัฒนา : ทางเลือกเพื่อการใช้ที่ดิน และนโยบายที่ดินในรอบ 20 ปีข้างหน้า” ซึ่งได้รับรางวัลผลงานวิจัย จากสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้สรุปงานชิ้นนี้จัดเป็นหนังสือ ระบบกำกับดูแลที่ดินไทยต้องปฏิรูป ทำให้อาจารย์และคณะทำงานพบกับความซับซ้อนในการกำกับดูแลที่ดิน หรือ Land Governance ของไทย ที่โดยทั่วไปมักคิดว่าเป็นที่อยู่ดีกินดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เป็นอู่ข้าวอู่น้ำและรังนอน ที่ดูเหมือนจะเพียงพอแล้ว

แต่ในความเป็นจริงยังมีปัญหาที่ซับซ้อนและลุ่มลึกหลากมิติ และจะยิ่งเขม็งเกลียวขึ้นเรื่อย ๆ ในบริบทของทุนและปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลกสมัยใหม่ ปัญหาใหม่ ๆ ที่ยังรวมถึงการกระจายรายได้ การกระจายทรัพย์สินที่เหลื่อมล้ำมากขึ้น

ที่สำคัญที่สุด คือ นำความขัดแย้งเรื่องที่ดินและคดีความจำนวนมหาศาลมาสู่สังคมไทย โดยปี 2557- 2562 หน่วยงานรัฐฟ้องร้องประชาชนในขั้นศาลว่าบุกรุกที่ดินประเภทที่รัฐนิยามว่าเป็น ‘ป่า’ กว่า 5 หมื่นคดี ไม่รวมกรณีพิพาทระหว่างประชาชนด้วย

ที่น่าตกใจคือ ความขัดแย้งเหล่านี้ตามมาด้วยความรุนแรง และการอุ้มหาย แม้จะมีความพยายามสร้างระเบียบและหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการกำกับดูแลที่ดิน แต่เมื่อมองลึกลงไปในระบบกลับเห็นปัญหาซับซ้อนมากมายและพัวพันกันอยู่ กรณีพิพาทเรื่องที่ดินระหว่างรัฐและชาวบ้านที่มีจำนวนมาก เป็นอาการของปัญหาที่เห็นได้ชัดเจน บ้างเป็นคดีความชั้นศาลที่ยืดเยื้อ บ้างเป็นความรุนแรง

เหตุใดคดีความจึงมากมายเช่นนี้ ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ต้องหวนกลับไปดูอดีตเพื่อทำความเข้าใจ ที่มาของความขัดแย้ง

ในอดีตไทยมีประชากรน้อย พื้นที่ป่าปกคลุมมีมาก แต่หลังสงครามโลก โดยเฉพาะหลังปี 2500 ประชากรเพิ่มอัตราสูง และรัฐส่งเสริมการพัฒนาทุกรูปแบบ การใช้ที่ดินจึงขยายตัวอย่างรวดเร็ว ประชาชนจับจองที่ดินเพื่อหาเลี้ยงชีพ รัฐบาลส่งเสริมให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก ส่งเสริมนักลงทุนสร้างโรงงานผลิตสินค้า เกษตรแปรรูป รัฐบาลขยายการจดทะเบียนที่ดินได้มาก โดยเฉพาะบริเวณนาข้าวภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ในที่ไกลปืนเที่ยง การจดทะเบียนที่ดินเอกชนยังลักลั่น หลายครอบครัวสูญเสียที่ดินที่จับจองมา ทางกลับกัน ครอบครัวที่มีอิทธิพลและอำนาจ สามารถชักจูงข้าราชการที่เกี่ยวข้องออกเอกสารสิทธิให้ ยิ่งรัฐไทยไม่สามารถขจัดคอร์รัปชันได้ การถือครองที่ดินก็ยิ่งมีความเหลื่อมล้ำสูง

ปลายทศวรรษที่ 2520 สัดส่วนพื้นที่ป่าลดลงมาก นำไปสู่ข้อวิตกเรื่องป่าหดหาย รัฐบาล ตั้งเป้ากำหนดพื้นที่ป่าร้อยละ 40 ของทั้งหมด และเป็นฝ่ายกำหนดว่าพื้นที่ใดเป็นป่าอุทธยาน ป่าสงวน และป่าอนุรักษ์ประเภทต่าง ๆ แม้ผู้คนจำนวนมากจะเข้าไปหาของป่า ใช้สอย หรืออยู่อาศัยทำมาหากินในพื้นที่ดังกล่าวมาก่อนแล้ว ในหลายกรณีก็ปักหลักมานาน จนมีการสร้างวัด สร้างโรงเรียน สมัยสงครามเย็น มีภัยคอมมิวนิสต์ ทำให้ที่ดินป่าเข้าไปเกี่ยวโยงกับความมั่นคง

ฝ่ายกองทัพจึงเพิ่มบทบาทด้านนโยบายที่ดิน และใช้แนวคิดป่าต้องปลอดคน ส่งผลให้ความเชื่อที่ว่า ‘คนอยู่ป่า ทำลายป่า’ มีความซับซ้อนขึ้นและกลายเป็นประเด็นทางการเมือง มีเรื่องเกิดขึ้นบ่อยครั้ง

เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐและฝ่ายกองทัพมีปฏิบัติการเคลื่อนย้ายชาวบ้านออกจากที่อยู่ที่กินในป่า และอาจใช้กำลังตัดฟันรื้อถอนพืชผลและสิ่งปลูกสร้างที่ประชาชนสร้างไว้ บ้างถึงขั้นเผาที่อยู่อาศัยของพวกเขาโดยพลการ

ที่มา 2 แนวคิดรัฐไทย ผลักความขัดแย้งเรื่องที่ดินรุนแรงขึ้น

มีนักการเมืองถามข้าพเจ้าว่า แนวคิดที่ว่า “ป่าต้องปลอดคนและป่าต้องมีสัดส่วนร้อยละ 40” ของที่ดินทั้งประเทศ มีที่มาอย่างไร เพราะที่มาของกระแสแนวคิดเหล่านี้ จะทำให้เข้าใจว่า เหตุใดรัฐไทยและฝ่ายความมั่นคงจึงสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวอย่างลึกซึ้งแนบแน่น

ที่มาของ 2 กระแสแนวคิด กรมป่าไม้และรัฐไทยในอดีต ผสมผสานแนวคิดต่าง ๆ ที่รับมาจากตะวันตก เช่น แนวคิดดั้งเดิมของเยอรมันที่มองมนุษย์เป็นศัตรูของป่า แต่ในทางปฏิบัติกลับยอมให้มีการทำไม้หรือปลูกฝิ่นได้เมื่อรัฐได้ประโยชน์ ต่อมาในสมัยพัฒนา พ.ศ. 2500 รับแนวคิดปกป้องป่าดงพงไพร ปลอดผู้คน จากชนชั้นกลางในสหรัฐที่ประสงค์จะมีอุทยานแห่งชาติเพื่อการพักผ่อน และหลบลี้มลภาวะในเมืองใหญ่ นอกจากนี้ยังมีแนวคิดจากตะวันตกอีกกระแสที่เห็นว่า เราควรอนุรักษ์ป่าให้คงสภาพเดิม โดยห้ามไม่ให้มนุษย์เข้าไปยุ่งเกี่ยวเด็ดขาด จะเข้าไปได้ก็ต้องเพื่อการศึกษาเท่านั้น โดยมีข้อแม้ว่าต้องห่มคลุมร่างกายไม่ให้สิ่งแปลกปลอมจากภายนอกปะปนเข้าไป

แต่วิธีคิดท้ายสุดนี้พบในไม่กี่ประเทศ และยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันได้ต่อไป เช่น หากรัฐจะเก็บป่าไว้เพื่อการศึกษาจริง ๆก็อาจจัดเขตป่าออกไปเป็นการเฉพาะ

สำหรับแนวคิดที่เห็นว่าป่าควรมีพื้นที่ร้อยละ 40 ของทั้งประเทศนั้น เป็นแนวคิดที่กรมป่าไม้ได้มากจากนาย จี เอ็น ดันฮอฟ ผู้เชี่ยวชาญป่าไม้ชาวเนเธอร์แลนด์ ตั้งแต่ปี 2495 โดยสัดส่วนนี้เป็นข้อเสนอจากมิติความหลากหลายทางชีวภาพในระดับสากล เป็นข้อเสนอแนะแบบคร่าว ๆ ให้ทั่วโลกธำรงผืนป่าไว้ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 40 ของแต่ละภูมิประเทศ

มีการอภิปรายเรื่องนี้ในเวลาต่อมา ผู้ไม่เห็นด้วย ได้ถามหาหลักฐานสนับสนุนถึงสาเหตุการคงสัดส่วนป่าไม้ไว้เท่ากันทุกแห่ง และเหตุใดสัดส่วนป่าไม้ขั้นต่ำสุดต้องกำหนดไว้ที่ร้อยละ 40 ทั้งยังมองว่า การอนุรักษ์ป่าไม้ให้ได้ผลในโลกปัจจุบันอาจจะต้องมีความยืดหยุ่นและปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับความจำเป็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจของแต่ละแห่งมากกว่า ในกรณีของไทยมีการโยงประเด็นนี้เข้ากับการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอ แต่ก็น่าคิดว่า ประเทศที่มีทะเลทรายเป็นส่วนมากอย่างอิสราเอล ก็มีวิธีหาน้ำใช้ได้โดยไม่จำเป็นต้องจำกัดพื้นที่ป่าขั้นต่ำไว้ที่ร้อยละ 40

อิทธิพลของ 2 แนวคิดนี้ปรากฏในพ.ร.บ.ป่าไม้ไทย 2484 ที่นิยามว่าป่า คือที่ดินที่ยังไม่มีบุคคลใดได้มาตามกฎหมายที่ดิน คือ ไม่ได้นิยามป่าตามสภาพภูมิศาสตร์ และนิยามด้วยอำนาจรัฐที่จะกำหนดว่าใครจะเป็นเจ้าของที่ดิน และใครจะกำกับควบคุมที่ดิน โดยนักวิชาการไทยส่วนหนึ่งเห็นว่า นิยามเช่นนี้เป็นการนิยามป่าการเมือง สะท้อนภาวะที่รัฐไทยมีอำนาจในช่วงสมัยใหม่และประโยชน์ในการควบคุมที่ดินทั้งประเทศ ครั้นตกมาสมัยสงครามเย็น การประกาศพื้นที่ป่าให้เป็นอุทยานแห่งชาติที่ปลอดคนก็เชื่อมโยงกับการป้องกันไม่ให้มีคอมมิวนิสต์เข้าไปหลบซ่อนอยู่ในป่า หรือใช้พื้นที่ป่าเป็นหลักฐาน กระทำการก่อการร้ายเพื่อทำลายชาติได้

ทว่า ป่าการเมืองเช่นนี้ก็ได้กีดกันผู้คนและชุมชนในป่าออกไป ทั้งยังผลักพวกเขาเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายบ้านเมือง การจัดการทรัพยากรธรรมชาติของไทยจึงเป็นระบบผูกขาดเสมอมา ประชาชนไม่มีโอกาสเข้าถึงและมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย ไม่อาจมีการปรึกษาหารือกันในการดำเนินงานได้อย่างแท้จริง

ที่ดินเป็นของรัฐมากกว่าครึ่ง การกำกับดูแลซับซ้อน

ปัจจุบันที่ดินรัฐมีมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ แม้ทศวรรษ 2560 ที่ดินเอกชนในความดูแลของกรมที่ดินจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 40 แต่ภาครัฐยังกำหนดการกำกับควบคุมที่ดินที่เหลืออีกร้อยละ 60 อีกทั้งระบบการกำกับที่ดินไทยที่ผ่านมาขาดเอกภาพ กลายเป็นการกำกับที่ดินรัฐ ที่ดินเอกชน และที่ดินกึ่งรัฐกึ่งเอกชน เช่น ที่สปก. แต่ละส่วนมีกฎหมาย กฎเกณฑ์ และโครงสร้างบริหารจัดการเฉพาะ ที่แยกออกจากกัน มีหลายหน่วยงานกำกับแต่ละส่วน เป็นพหุระบบที่ซับซ้อน สร้างความสับสนและไร้ประสิทธิภาพ ไม่เอื้ออำนวยต่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน

ขณะเดียวกันก็มีปัญหาทับซ้อนระหว่างที่รัฐกับที่รัฐด้วยกัน รวมถึงที่รัฐกับที่ซึ่งประชาชนเข้าใช้หรือครอบครองมาเนิ่นนาน ตามสิทธิธรรมชาติความเป็นมนุษย์หรือสิทธิตามประเพณี แต่ก็ใช่ว่ารัฐไทยไม่ตระหนักการทับซ้อนนี้ ปลายทศวรรษ 2550 รัฐบาลมีโครงการใช้เทคโนโลยีใหม่ของจีพีเอส และข้อมูลการถือครองที่ดินประเภทต่าง ๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มุ่งจัดทำแผนที่ให้เป็นหนึ่งเดียว หรือโครงการ One Map เพื่อแสดงว่าพื้นที่ทุกตารางวาของไทยอยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานใดอย่างชัดเจน และเพื่อแก้ปัญหาการทับซ้อนของที่ดินที่กล่าวมา แต่โครงการยังไม่เสร็จสมบูรณ์

เบื้องต้นผลรวมพื้นที่ของที่ดินแต่ละประเภทรวมกันได้ถึง 465 ล้านไร่ มากกว่าพื้นที่ทั้งหมดของไทยที่มีประมาณ 320 ล้านไร่ หมายความว่าขณะนี้พื้นที่มากกว่า 1 ใน 3 ของไทยทับซ้อนกันอยู่ นอกจากแนวเขตที่ดินประเภทต่าง ๆ ไม่ชัดเจนแล้ว ปัญหายังพอกพูนขึ้นด้วยการถือครองที่ดินด้วยรูปแบบตัวแทนอำพราง นำมาซึ่งการโต้แย้งสิทธิระหว่างภาครัฐและประชาชนที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

แต่ประชาชนได้สร้างขบวนการต่อสู้ มายาวนาน และมีพลังชัดขึ้น คือ กรณีที่ท้องถิ่นเริ่มเข้ามามีส่วนในการกำหนดทิศทางการใช้ที่ดินสปก. ที่เดิมขาดความเป็นประชาธิปไตยและความโปร่งใส เช่น ที่จ.ศรีสะเกษ และจ.กาฬสินธ์ จนสามารถพัฒนาระบบการจัดการข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน สามารถคัดง้างต่อผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้นจากการอนุญาตให้กิจการเหมืองแร่อุตสาหกรรมและพลังงานขนาดใหญ่เข้ามาใช้พื้นที่ที่ดินสปก.ที่ติดกับพื้นที่ชุมชนได้

และได้เห็นความพยายามของชุมชนในการใช้ทุนทรัพยากรในพื้นถิ่น ทุนมนุษย์ ทุนวัฒนธรรม ที่ต่างกันไปในแต่ละแห่งมาสร้างกติกาและขับเคลื่อนวิถีคนอยู่กับป่าได้อย่างประสบความสำเร็จ ในกรณี แม่แจ่มโมเดล จ.เชียงใหม่ และน่านแซนด์บ็อค จ.น่าน ที่ต่างมีการใช้ทุนของชุมชน และมีแนวทางในการขับเคลื่อนต่างกัน แต่มุ่งสู่การแก้ปัญหาที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม แม้สิ่งที่ทำได้ขณะนี้จะอยู่ในขั้นสิทธิในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่า ไม่รวมสิทธิในการจัดการ การกีดกัน และการถ่ายโอน ที่ยังอยู่ในสภาพที่ต้องต่อรองกับภาครัฐต่อไป

นอกจากนี้ยังมีความยุ่งยากอีกมากในอนาคต หนึ่งในนั้น คือการจัดระเบียบที่ดินเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐได้รับการสนับสนุนจากนายทุนชาติ นายทุนท้องถิ่น และนายทุนข้ามชาติ ทำให้ประชาชนถูกกีดกันออกจากที่ดิน และถูกผลักให้เผชิญปัญหาความมั่นคงด้านอาหาร ปัญหาระบบนิเวศน์ และการละเมิดสิทธิของชุมชนที่หนักขึ้นเรื่อย ๆ

ในอีกมิติหนึ่ง การกำกับดูแลที่ดินและผืนป่า อย่างมีประสิทธิภาพ ก็มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในบริบทวิกฤติโลกร้อนและมลภาวะ ที่เข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ เพราะผืนป่ามีศักยภาพสำคัญในฐานะแหล่งดูดซับคาร์บอนของโลก ขณะเดียวกัน ผืนป่าเกิดไฟป่าชุกขึ้น ลำพังกำลังเจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่เพียงพอจะจัดการได้อย่างทันการณ์ ขณะที่ปัจจุบัน คนในเมืองสนใจป่ามากขึ้น โดยเชื่อมโยงไปถึงปัญหาสภาวะโลกร้อน และฝุ่น PM 2.5 ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน

งานวิจัยใหม่ ๆ ได้ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาไฟป่าจะมากขึ้นเรื่อย ๆ จากความร้อนที่แล้งเพิ่มขึ้นตามปรากฎการณ์เอลนีโญที่ยาวนานและผันแปรสูง ส่งผลให้พืชพันธ์หลากชนิดล้มตาย กลายเป็นที่แล้งหรือทุ่งหญ้า หรือเกิดพืชพันธุ์ใหม่ที่ทนแล้งได้เข้าทดแทน ซึ่งจะนำไปสู่การสูญพันธ์ของสัตว์ป่าที่พึ่งผลหมากรากไม้ก่อนหน้านี้ การดูแลป้องกันไฟป่า จึงเป็นเรื่องใหญ่ ที่คนอาศัยในป่าน่าจะช่วยดูแลป้องกันได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐอีกแรงหนึ่ง เรื่องนี้สอดคล้องกับการวิจัยศึกษาเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ภาพถ่ายทางอากาศทางดาวเทียม ที่แสดงว่า คนที่อยู่ในป่า กับป่าชุมชน ของชาวบ้าน รักษาป่าปกคลุมได้ดีกว่าอนุรักษ์ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้ ๆ กัน

ศาสตราจารย์ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร

ศาสตร์ – ศิลป์ และสันติประชาธรรม

การกำกับดูแลที่ดินอันซับซ้อน ละเอียดอ่อน ผสานหลากมิติ ทั้งภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง ความใฝ่ฝันของผู้คน และสิทธิทางธรรมชาติแห่งความเป็นมนุษย์ เป็นทั้งศาสตร์ และศิลป์ ไม่อาจละเลยให้น้ำหนักด้านใดได้ เหตุที่เป็นศาสตร์ เพราะที่ดินเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติ เป็นทรัพย์เศรษฐกิจของชาติที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ อากาศ และสิ่งแวดล้อม จึงต้องการความรู้ ข้อมูล และเทคนิคต่าง ๆ ส่วนเหตุที่เป็นศิลป์ เพราะมีมนุษย์อาศัยและใช้ชีวิตอยู่ในนั้น ที่ดินคือหลักประกันขั้นพื้นฐานที่สุดว่าจะมีที่พักพิงคุ้มภัย มีบ้านให้เติบใหญ่ และมีทรัพยากรให้หากิน เป็นความมั่นคงอย่างแรกที่มนุษย์พึงมี และจะนำไปสู่ความสามารถที่จะใช้ชีวิตอย่างมั่นคงในด้านอื่น ๆ และบอกเอกลักษณ์ของกลุ่มชนที่มีอยู่หลากหลาย ที่เปรียบกันว่า ที่ดินหรือบ้านเกิดเป็นอู่ข้าว อู่น้ำ รังนอน การศึกษาเรื่องที่ดินจึงเป็นเรื่องสำคัญ

ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ เป็นนักเศรษฐศาสตร์มนุษย์นิยม แม้จะเชี่ยวชาญด้านเทคนิคในสายงาน จนกล่าวว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์ชั้นยอด คลุกคลีกับความรู้ ข้อมูล แต่ทราบดีว่า ดร.ป๋วย ไม่เชื่อบทบาทของตลาดอย่างเต็มที่ตามแนวทางกระแสหลักอย่างสุดโต่ง แต่กลับมองว่า เศรษฐกิจเป็นระบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกัน แนวคิด ดร.ป๋วย นิยามเป็นคำสั้น ๆ แต่ความหมายลึกซึ้งและทรงพลังว่า สันติประชาธรรม ที่มีแก่นสาร 2 ประการ หนึ่ง สิทธิและเสรีภาพของคนที่จำกัดตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนภายใต้ขอบเขตที่ไม่ทำลายเสรีภาพและสิทธิของผู้อื่น และสอง การมีส่วนร่วมกำหนดโชคชะตาที่เราอยู่ร่วมอาศัย ไม่ว่าจะมีฐานะ เพศสภาพ หรือกำเนิดมาอย่างไร

แนวคิดสันติประชาธรรมนี้ สำแดงความเชื่อมั่น และให้ความสำคัญต่ออำนาจของประชาชน การมีส่วนร่วม หลักการสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่จะมีบทบาทในการเมืองเต็มที่ ด้วยการเกื้อกูลช่วยเหลือกันแบบสันติ ภายใต้กรอบประชาธิปไตย อันเป็นรากฐานสังคมยุติธรรม โดยไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

5 ข้อเสนอแนะปฏิรูปการกำกับดูแลที่ดินไทย

เราไม่อาจหักด้ามพร้าด้วยเข่า ไม่อาจแก้ปัญหาใดได้โดยไม่ให้ความสำคัญกับสันติวิธี และความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่อาจมอบที่ดิน อู่ข้าว อู่น้ำ หรือรังนอน ให้ใครได้ หากเราไม่มองคนให้เป็นคน ศาสตร์และศิลป์ในการกำกับดูแลที่ดินไทย ปัญหาที่ทับถม และข้อท้าทายใหม่ ๆ ชี้ว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องปฏิรูประบบกำกับดูแลที่ดินไทยขนานใหญ่ โดยงานวิจัยที่ทำร่วมกับคณะทำงาน ขอเสนอแนวทางหลักเป็นโครงการระยะยาว ดังนี้

1.ส่งเสริมการกระจายอำนาจและความมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ เมื่อแต่ละท้องถิ่นมีสภาพภูมิศาสตร์ อิทธิพลในพื้นที่ และปัญหาที่แตกต่างกัน การตัดสินใจเปลี่ยนแปลงประโยชน์การใช้ที่ดิน รวมถึงการแก้กฎหมาย แก้ปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกทำลายที่ดินรัฐ และการรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ควรต้องเปิดโอกาสให้องค์กรระดับภูมิภาค จังหวัด และประชาชนในพื้นที่นั้นได้มีส่วนร่วมในการกำหนดและดำเนินนโยบายทุกขั้นตอนอย่างแท้จริง มีการรับฟังความเห็นจากประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีกระบวนการเจรจาต่อรองที่โปร่งใส เป็นธรรม ปลอดจากการชี้นำของผู้มีอำนาจ มีอิทธิพลในพื้นที่ และยึดหลักความโปร่งใส โดยอาจให้สถาบันการศึกษา หรือองค์กรพัฒนาเอกชนในท้องถิ่นเข้ามาช่วยเหลือในด้านการจัดระบบข้อมูลและสำรวจความเห็น แทนการรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง

2.ปรับการกำกับดูแลที่ดินให้เป็นระบบเดียวที่เรียบง่าย แม้กฎหมายที่ดินจะผ่านการแก้ไขมาหลายครั้ง แต่ก็อาจล้าสมัย ซับซ้อน มีขั้นตอนที่ยากจะเข้าใจ และมีหน่วยงานกำกับหลักที่ทับซ้อนกัน เมื่อเกิดปัญหา แทนที่จะแก้กฎหมายอย่างเป็นระบบ รัฐกลับใช้วิธีแก้ปัญหาทีละจุด ใช้คณะรัฐมนตรี โดยไม่แก้กฎหมายที่เป็นปัญหา หรือใช้อำนาจพิเศษ เช่น มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งยังมองไม่เห็นคนที่มีชีวิตไหลเวียนอยู่ในนั้น ยิ่งไปกว่านั้น ระบบการกำกับดูแลที่ดำเนินการทับซ้อนขนานกันไป ยิ่งกลับสร้างความสับสน เปิดช่องให้คอรัปชั่น และความอยุติธรรมตามมา กฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับที่ดินควรปรับปรุงให้เป็นระบบเดียวกัน และทันการณ์ ไม่ว่าจะเป็นระบบกฎหมายที่ดิน ประมวลกฎหมายที่ดิน กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวเนื่องกันให้เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน และสอดคล้องกัน รวมทั้งต้องปรับโครงสร้างองค์กรที่ดูแลที่ดินให้ชัดเจนขึ้น โดยมีองค์กรกลาง อาจจะเป็นกรมที่ดินเป็นหน่วยงานหลัก และจัดทำโครงการระยะยาวที่มีเป้าหมายชัดเจน

3.ลดการถือครองที่ดินโดยรัฐที่มากเกินความจำเป็น ขณะที่ประชาชนจำนวนมากไร้ที่ทำกิน ภาครัฐกลับถือครองที่ดินถึงร้อยละ 60 ของที่ดินทั้งหมดในประเทศไทย การแจกแจงที่ดินประเภทต่าง ๆ ก็ยังเป็นปัญหา ปัจจุบันมีหน่วยงานรัฐหลายแห่งที่ครอบครองที่ราชพัสดุเป็นล้าน ๆ ไร่ แต่ถูกทิ้งร้างและไม่ได้ใช้ประโยชน์ รัฐต้องเร่งปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ หรือ โครงการ One Map ให้เสร็จโดยเร็วและโปร่งใส เพื่อให้ได้แนวเขตที่ดินแต่ละประเภทที่ชัดเจน ไม่ทับซ้อนกัน ทั้งกรณีที่ดินของรัฐกับที่ดินของรัฐ และกรณีที่ดินของรัฐกับที่ดินของเอกชน ตามด้วยการสร้างกลไกเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ที่ดินเหล่านี้ได้ โดยในทางกฎหมายยังให้ที่ดินนั้นเป็นของรัฐาด้วยรูปแบบที่สอดคล้องกับความประสงค์ ความจำเป็นของประชาชน ให้ความสำคัญกับคนไปพร้อมกับทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การจัดให้มีป่าชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์อย่างเหมาะสม การจัดการในรูปแบบโฉนดชุมชนตามแนวทางของภาคประชาชน เร่งรัดการรับรองสิทธิในที่ดินสปก. ให้ผู้มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขเพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินได้อย่างมั่นคง ไม่เกิดความเหลื่อมล้ำ

4.ป่าไม่จำเป็นต้องปลอดคน การรักษาทำนุบำรุงที่ดินป่ายิ่งสำคัญและยุ่งยากมากขึ้นในบริบทวิกฤตโลกร้อน งานวิจัยชี้ว่า การที่ชุมชนอยู่ร่วมกับป่าสามารถรักษาป่าได้ดี จึงควรส่งเสริมความร่วมมือกันระหว่างชุมชน ป่า กับภาครัฐ ในการขยายพื่นที่อนุรักษ์ ยกเลิกความคิดว่า ป่าต้องปลอดคน ซึ่งเป็นแนวคิดที่ล้าสมัยแล้ว และยังถกเถียงกันได้ ประสบการณ์ของหลายประเทศและความสำเร็จจากหลายพื้นที่ป่าชุมชนในไทย ก็ชี้ให้เห็นถึงแนวทางการแก้ปัญหาที่มีหลากหลายรูปแบบ สอดคล้องกับมนุษยนิยมและวิถีอนุรักษ์ เกื้อหนุนสิทธิตามธรรมชาติ และสิทธิทางประวัติศาสตร์ของชุมชน

5.เมืองต้องไม่กินคน ความเป็นเมืองจะขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกขณะ ปัญหาที่เกี่ยวเนื่องจะทับทวี และเลวร้างลงในวิกฤตโลกร้อน จึงจำเป็นต้องปรับปรุงการกำกับดูแลและวางผังเมืองเพื่อสังคมโดยรวมให้มีประสิทธิภาพ โดยต้องปรับสมดุลระหว่างการหากำไรของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ และเป้าหมายของสังคม คือการมีที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน รวมทั้งการเก็บภาษีที่ดินเพื่อบรรลุเป้าหมายของสังคมโดยรวม

ดังที่ดร.ป๋วย ได้เคยเสนอและยืนยันไว้ตลอดชีวิตของท่านว่า หลักประชาธรรม คือ ธรรมเป็นอำนาจ ไม่ใช่อำนาจเป็นธรรม คงจะดียิ่งหากใช้หลักคิดที่มองเห็น คน ตระหนักในการใช้ศาสตร์และศิลป์ ดังแนวคิด สันติประชาธรรม ของดร.ป๋วย เป็นธงนำไปสู่การกำกับดูแลที่ดินที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ด้วยการให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจ เพิ่มความมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงการสร้างประชาธิปไตยที่แข็งแรงเพื่อประชาชนทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น

ดูวิดิโอย้อนหลังได้ที่นี่ https://www.facebook.com/ECONTUofficial/videos/1804894190015039