ThaiPublica > เกาะกระแส > เก็บตกวิถีชีวิต “แรงงานต่างด้าว” ฟันเฟืองที่ขาดไม่ได้ของไทย

เก็บตกวิถีชีวิต “แรงงานต่างด้าว” ฟันเฟืองที่ขาดไม่ได้ของไทย

11 มีนาคม 2024


“แรงงานต่าวด้าว” หรือ “แรงงานข้ามชาติ” หนึ่งในฟันเฟืองสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย จากประชากรแรงงานต่างด้าวกว่า 3.4 ล้านคนโดยเฉพาะจากกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานทักษะต่ำที่อยู่ในสายงานก่อสร้าง ค้าขาย และภาคบริการ ตั้งแต่คนงานก่อสร้าง แม่บ้าน พนักงานเสิร์ฟ ขายของ รวมถึงอาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่ทั้งนี้แรงงานเวียดนามถือเป็นส่วนน้อยกว่าชาติอื่นๆ

อาชีพเหล่านี้ แรงงานไทยส่วนใหญ่จะไม่ทำ จากการพูดคุยกับกลุ่มแรงงานต่างด้าว หากขยัน อดทน ไม่เกี่ยงงาน รายได้โดยรวม ไม่ได้น้อยหน้าคนไทยที่เพิ่งจบปริญญาตรีโดยทั่วไปที่สตาร์ทที่ 18,000 บาท/เดือน

จากข้อมูลจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ระบุว่า ตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2547 ประเทศไทยพึ่งพาแรงงานต่างชาติมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นงานที่คนไทยไม่ค่อยนิยมทำ ได้แก่ แรงงานหนัก กรรมกร กลุ่มทำงานที่ต้องพบกับความสกปรก กลุ่มงานที่มีความเสี่ยง ตลอดจนกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กที่มักจะใช้แรงงานต่างด้าวแทบทั้งหมด

เมื่อเทียบข้อมูลจำนวนของแรงงานต่างด้าว ณ เดือนมกราคมย้อนหลัง 7 ปี จะเห็นว่าตัวเลขดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เว้นแต่ช่วงปีที่เกิดโควิด-19 อย่างรุนแรง ซึ่งทำให้แรงงานต่างด้าวต้องกลับประเทศ ดังนี้ ปี 2567 มีแรงงานต่างด้าวทั้งสิ้น 3,415,774 คน ปี 2566 จำนวน 3,310,090 คน ปี 2565 จำนวน 2,352,062 คน ปี 2564 จำนวน 2,181,344 คน ปี 2563 จำนวน 3,002,817 คน ปี 2562 จำนวน 3,288,079 คน ปี 2561 จำนวน 2,149,328 คน ปี 2560 จำนวน 1,470,325 คน

ทั้งนี้ ในปี 2567 ประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าวทั้งสิ้น 3,415,774 คน อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ 800,027 คน ปริมณฑล 984,452 คน ภาคกลาง 799,963 คน ภาคเหนือ 308,604 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 71,655 คน และภาคใต้ 451,073 คน

ขณะเดียวกัน ค่าแรงของแรงงานในประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในประเทศกลุ่มที่สอง เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ส่วนประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม จัดอยู่ในประเทศกลุ่มที่ 3 ซึ่งมีค่าแรงขั้นต่ำในระดับที่น้อยกว่าประเทศไทย

สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงาน จำแนกประเภทแรงงานต่างด้าวไว้ 7 ประเภท ตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560แก้ไขเพิ่มเติม และพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับ 2) พ.ศ. 2561 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

  • คนต่างด้าวตลอดชีพ คือคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร และทำงานตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 322 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515
  • คนต่างด้าวทั่วไป ตามมาตรา 59 ซึ่งได้รับอนุญาตเป็นการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง มิใช่ได้รับอนุญาตในฐานะนักท่องเที่ยว หรือผู้เดินทางผ่าน
  • คนต่างด้าว ประเภทนำเข้าตาม MOU ตามมาตรา 59 ซึ่งรัฐบาลไทยจะทำข้อตกลงกับประเทศต่างๆ ได้แก่ เมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม ตลอดจนรัฐบาลประเทศคู่ภาคี
  • คนต่างด้าว ประเภทส่งเสริมการลงทุน จากกฎหมายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520, พ.ร.บ.นิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522, พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ฯลฯ โดยอาชีพส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับนักลงทุน ช่างฝีมือ และผู้ชำนาญการ
  • คนต่างด้าว ประเภทชนกลุ่มน้อย คือคนต่างด้าวที่อยู่ในกระบวนการพิสูจน์สถานะยื่นขอใบอนุญาตทำงานจากกระทรวงมหาดไทย
  • คนต่างด้าว ตามมาตรา 64 คือ คนต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่เข้ามาทำงานบริเวณชายแดนในลักษณะไป-กลับ ในพื้นที่ความตกลงว่าด้วยการสัญจรข้ามแดน
  • คนต่างด้าว ตามมาตรา 63/2 คือ คนต่างด้าวกลุ่มประเทศ CLMV ที่ได้รับอนุญาตทำงานชั่วคราว ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 และมติ ครม. วันที่ 3 ตุลาคม 2566

แต่หากกล่าวถึงแรงงานต่างด้าว CLMV ส่วนใหญ่จะถูกจัดอยู่ในประเภทแรงงานที่นำเข้าตาม MOU ตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับ 2) พ.ศ. 2561 มาตรา 59 มีจำนวนทั้งสิ้น 585,640 คน โดย 10 อันดับกิจการที่มีแรงงานประกอบอาชีพมากที่สุด ตามลำดับคือ (1) ก่อสร้าง 119,231 คน (2) กิจการต่อเนื่องการเกษตร 85,604 คน (3) อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม 60,636 คน (4) งานบริการ 52,948 คน (5) ปศุสัตว์ 34,180 คน (6) กิจการต่อเนื่องปศุสัตว์ 31,523 คน (7) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 30,455 คน (8) อุตสาหกรรมพลาสติก 28,238 คน (9) อุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป 27,096 คน (10) อุตสาหกรรมโลหะ 20,845 คน (11) งานบ้าน 20,037 คน และ (12) ค้าส่ง ค้าปลีกและแผงลอยในตลาด 18,990 คน

ส่วนแรงงานต่างด้าว CLMV กลุ่มที่มีจำนวนลดหลั่นกันมา คือ แรงงานที่เข้ามาแบบไป-กลับ ตามพระราชกำหนดการบริหรจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับ 2) พ.ศ. 2561 มาตรา 64 ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 37,025 คน โดย 5 อันดับกิจการที่แรงงานประกอบอาชีพมากที่สุดตามลำดับคือ (1) เกษตรและปศุสัตว์ 20,998 คน (2) งานบริการ 4,016 คน (3) อุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป 3,249 คน (4) ก่อสร้าง 2,774 คน และ (5) กิจการต่อเนื่องการเกษตร 2,031 คน

อย่างไรก็ตาม แรงงานต่างด้าวบางกลุ่มเข้ามาทำงานในประเทศไทยโดยที่ไม่มีกฎหมายรองรับ สังเกตได้จากการไม่มีใบอนุญาตทำงานและการเข้าประเทศผ่านทางชายแดนและอาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย ทำให้แรงงานแบบผิดกฎหมายเลือกที่จะประกอบอาชีพจำพวกค้าขาย และกลุ่มที่ใช้แรงงานเป็นหลัก ขณะเดียวกัน นายจ้างก็จะใช้วิธีการจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายวัน และไม่มีสวัสดิการต่อแรงงานกลุ่มนี้

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ได้พูดคุยกับแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยเพื่อเป็นตัวอย่างของวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ในประเทศไทยในมิติต่างๆ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงบริบทของแรงงานต่างด้าว ที่ต้องดิ้นรน เสาะแสวงหาเพื่อความเป็นอยู่ที่ดี ในฐานะประชากรกลุ่มหนึ่งที่ภาครัฐไม่ควรมองข้าม เพราะพวกเขาเป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แล้วชีวิตจริงๆ ของพวกเขาเป็นอย่างไร มีรายได้มากน้อยแค่ไหน ตามไปดูกัน

เซน ป้องลำพัน แรงงานชาวลาว

‘เซน’ ส่งเงินกลับลาว 10,000 บาท/เดือน เลี้ยงทั้งครอบครัว

‘เซน ป้องลำพัน’ กับใบหน้าขาวใสตามแบบฉบับเด็กหนุ่ม คำพูดฉะฉานคล่องแคล่วเชิญชวนแขกให้รับประทานอาหาร ณ ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ณ ตลาดจ๊อดแฟร์ ลาดพร้าว กรุงเทพฯ ดูผิวเผินไม่ต่างจากนักศึกษาไทยที่ทำงานพาร์ทไทม์หลังเลิกเรียน

แต่เมื่อได้พูดคุยจึงรู้ว่า เซนเป็นคนลาว อายุ 20 ปี ย้ายมาประเทศไทยตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2566 และตลอด 9 เดือนที่ทำงานในไทย เขาแทบจะไม่หยุดทำงาน หรือพยายามหยุดให้น้อยที่สุด เพื่อให้มีรายได้มากที่สุด

เซนบอกว่ามีบัตรพนักงานถูกต้องตามกฎหมาย ได้เงินค่าแรง 450 บาทต่อวัน หรือประมาณ 3,150 บาทต่อสัปดาห์ ในหนึ่งเดือนเขาจะมีรายได้ราว 13,500 – 13,950 บาทต่อเดือน

แม้เขาจะบอกว่าไม่ใช่ช้างเท้าหน้าของบ้าน แต่บางเดือนก็ส่งเงินกลับบ้าน 10,000 บาท สูงกว่ารายรับของบ้านซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 4 คน คือ พ่อ แม่ และน้องสาวอีก 2 คน โดยเซนบอกว่า บ้านมีอาชีพเป็นเกษตรกรปลูกมันสำปะหลัง มีรายได้หลักพันบาทต่อเดือนเท่านั้น เคยมีรายได้สูงสุดประมาณ 8,300 บาทต่อเดือน หรือประมาณ 100,000 บาทต่อปี ขณะที่ตัวเขาเพียงคนเดียวมีรายได้สูงกว่าครอบครัวเกษตรกรที่ลาว

เหตุผลที่เข้ามาประเทศไทยคือ “เงิน” ที่เพื่อนบ้านบอกกันปากต่อปากว่า “ประเทศไทยเงินดี” และ “ลาวธุรกิจไม่ดี” ดังนั้น หลังจากเรียนจบ ม.7 จึงข้ามชายแดนมาไทยและตรงมายังกรุงเทพฯ

หากบอกว่าเซนมาตายเอาดาบหน้าก็ไม่ผิดนัก เพราะข้อมูลแค่ประโยคที่ว่า “ประเทศไทยเงินดี” เขาจึงถามเพื่อนต่อว่าต้องทำอะไร และเพื่อนก็แนะนำเป็นพนักงานร้านอาหาร เซนเลยโทรติดต่อร้านอาหารต่างๆ ก่อนจะมาลงเอยเป็นงานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

ถามว่าทำงานแต่ละวันเป็นอย่างไร เซนตอบว่า “งานไม่เหนื่อย งานไม่หนัก…ออกจากห้อง 14.30 น. มาจัดของเช็ดโต๊ะ พักทานข้าว พอ 16.30 น. เปิดร้าน ประมาณสี่ทุ่มครึ่งได้พักรอบหนึ่ง แล้วเลิกงานเที่ยงคืนตีหนึ่ง”

รายได้ประมาณ 13,000 บาทต่อเดือนอาจนับว่าไม่สูงเมื่อเทียบกับค่าครองชีพในเมืองกรุงเทพฯ ทว่าสำหรับเซน เงินจำนวนดังกล่าว “พอใช้” เพราะไม่ต้องจ่ายค่าที่อยู่อาศัยเอง นายจ้างหาหอพักแถวใกล้ที่ทำงานซอยพหลโยธิน 24 ให้พนักงานภายในร้านอยู่รวมกัน 6-7 คน โดยเขากวาดมือวาดขนาดห้อง เมื่อประเมินแล้ว ห้องที่เขาอยู่น่าจะมีขนาดประมาณ 40 ตารางเมตร โดยค่าใช้จ่ายประจำเดือนมีแค่ค่าน้ำ-ไฟ ที่สำคัญ ทุกคนในห้องเป็นเพื่อนกันหมด จึงออกมาทำงานพร้อมกัน และกลับห้องพร้อมกัน

ย้อนกลับไปราว 9 เดือนก่อน ตลาดจ๊อดแฟร์เนืองแน่นไปด้วยนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ แต่ในปี 2567 นักท่องเที่ยวหายไปกว่า 80% ด้วยปัจจัยหลายอย่าง เห็นได้จากร้านค้าจำนวนมากทยอยปิดตัวลง แต่เซนบอกว่าไม่ได้มองเรื่องความมั่นคงและความเป็นอยู่ค่อนข้างดี และถ้ามีงานที่รายได้สูงกว่าก็จะพิจารณาเป็นทางเลือก

เมื่อถามว่าจะอยู่ไทยอีกนานไหม เซนตอบว่า มีแผนอยู่ให้ครบ 2 ปี จนกว่าใบอนุญาตทำงานจะหมดอายุ ส่วนจะต่ออายุใบอนุญาตทำงานหรือไม่ ต้องรอดูสถานการณ์ในอนาคต

สาวเมียนมากับสังคมคนต่างด้าว

ระยะทางกว่า 40 กิโลเมตร ที่หญิงแรงงานชาวเมียนมาวัยเลข 4 ต้องเดินทางไปทำงานจากพระราม 2 ถึงมหาชัย พร้อมกับมอเตอร์ไซค์คันเก่าคู่ใจ นี่คือกิจวัตรของชาวเมียนมาคนหนึ่งที่อาศัยในประเทศไทย

เธอขอไม่เปิดเผยชื่อ และไม่ให้ถ่ายรูป แต่เธอก็ยื่นพาสปอร์ตให้ดูว่า เธอเข้าประเทศอย่างถูกกฎหมาย แต่ด้วยท่าทีระแวงคนแปลกหน้า ประกอบกับการพูดแบบถามคำตอบคำ จึงอาจมีข้อสังเกตว่า การมีพาสปอร์ตไม่ได้การันตีว่าแรงงานต่างด้างจะเข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

แม้จะพูดภาษาไทยได้ไม่ฉะฉาน หรือฟังไม่ออกในบางประโยคและบางคำ เช่น ทำไมถึงมาทำงานประเทศไทย งานของคุณคืออะไร อยากอยู่ไทยกี่ปี ฯลฯ รวมถึงเธอไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ แต่เธอก็พยายามตอบและใช้ Google Translate จากภาษาบ้านเกิดเป็นภาษาไทย

เธอเล่าว่า ตนมีอาชีพเป็นช่างเย็บผ้าในโรงงานแห่งหนึ่งที่มหาชัย ค่าแรง 363 บาทต่อวัน ทำงานตั้งแต่เวลา 8.50-17.00 น. โดยทำงานทุกวันไม่มีวันหยุด ส่วนการเดินทางเธอขับมอเตอร์ไซค์เดินทางจากหอพักย่านพระราม 2 มุ่งหน้าสู่มหาชัย

ในช่วงโควิด-19 คนเมียนมาจำนวนมากไม่มีงานทำ เธอจึงตัดสินใจในปี 2565 หลังจากที่โควิด-19 เริ่มเบาลง และเดินทางมาไทย พร้อมกับกลุ่มเพื่อนชาวเมียนมาที่ตั้งใจมาลงหลักปักฐานที่ไทย

เธอบอกว่าย่านหอพักที่พักอาศัยอยู่เต็มไปด้วยแรงงานต่างด้าว ทั้งเมียนมา ลาว และกัมพูชา กล่าวคือชุมชนคนต่างด้าวที่เช่าหอพักร่วมกัน ขณะที่เธอเลือกที่จะอยู่เพียงคนเดียว ทำให้ต้องจ่ายค่าเช่าเดือนละเกือบ 4,000 บาท แต่เธอก็มีสังคมเพื่อนที่ทำงาน และชุมชนใกล้หอพัก

สังเกตได้ว่า ย่านพระราม 2 ช่วงเชื่อมต่อกับทางออกสมุทรสาคร ร้านค้าต่างๆ จะมีภาษาเมียนมาถึง 50% แต่ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ ตู้เอทีเอ็มของธนาคารต่างๆ ล้วนมีภาษาที่ 3 อย่างภาษาเมียนมาแทบทุกตู้ นอกจากนั้น ในร้านโชห่วยก็มีแป้งทานาคาขายอย่างเป็นกิจลักษณะ

เธอบอกว่าช่วงเย็นของทุกวัน เพื่อนๆ ทั้งชายหญิงก็จะมานั่งดื่มสังสรรค์กันเป็นประจำ บ้างนั่งกันที่หน้าบ้าน บ้างนั่งที่โต๊ะหินอ่อนข้างทาง และเมื่อมองไปบนโต๊ะ ก็มีทั้งเหล้าขาว บุหรี่ ยาดอง หรือขยับขึ้นไปหน่อยเป็นเบียร์ยี่ห้อที่คนไทยนิยม

อย่างไรก็ตาม ในย่านนี้ยังมีคนไทยอาศัยอยู่ด้วย โดยกลุ่มที่พักอาศัยร่วมกับแรงงานต่างด้าวมักจะเป็นแรงงานทักษะต่ำที่สูงอายุ หลายคนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป และส่วนน้อยเป็นแม่บ้าน

ตลอดการให้สัมภาษณ์เธอมีท่าทีระแวงอย่างเห็นได้ชัด และก่อนจากกันเธอขอเวลาโทรศัพท์สักครู่หนึ่งและพูดเป็นภาษาเมียนมา หลังพูดเสร็จเธอยื่นโทรศัพท์ส่งให้เราคุย เมื่อมองหน้าจอเห็นชื่อเป็นภาษาเมียนมา แล้วปลายสายถามเป็นสำเนียงไทย “สวัสดีครับ มีอะไรหรือเปล่าครับ” แต่เมื่อแจ้งจุดประสงค์ และบอกว่าไม่เปิดเผยชื่อในกรณีนี้ ปลายทางตอบมาว่า “ครับ ไม่มีปัญหา คุยกับเจ้าตัวต่อได้เลย”

ญ่า แรงงานชาวกัมพูชา

เรื่องของญ่า “หญิงสาวกัมพูชา” ที่ทุกวันคือวันทำงาน

ญ่า ชาวกัมพูชา วัย 32 ปี อาชีพรับจ้างทั่วไป “ขายของ-เก็บร้าน-ล้างจาน” ที่ตลาดแถวรามอินทรา กม.9 ยอมทำงานหนัก แลกรายได้อย่างต่ำ 1,000 บาทต่อวัน เฉลี่ย 3 หมื่นบาทต่อเดือน

ญ่าเกิดที่จังหวัดเสียบเรียบ ประเทศกัมพูชา เดินทางเข้ามาทำงานเข้ามาประเทศไทยนานกว่า 10 ปี

อาจจะด้วยอัธยาศัย ใบหน้าที่ยิ้มแย้ม และเป็นคนขยัน สู้งาน ทำให้ “ญ่า” ได้รับความไว้วางใจจากแม่ค้าในตลาด ที่จ้างงานเธอมากกว่า 10 ร้าน ทำให้เธอมีรายได้ประมาณ 1,000-1,200 บาทต่อวัน

เธอบอกว่าต้องขยันทำงานหนักตอนที่ยังมีแรง เพราะมีค่าใช้จ่ายที่ต้องรับผิดชอบ โดยต้องส่งเงินไปให้ลูกสาวเรียนหนังสือ ดูแลพ่อแม่ และเก็บบางส่วนเพื่อใช้จ่ายเป็นค่าทำวีซ่า พาสปอร์ต และใบอนุญาตทำงานในแต่ละปี

“หนูต้องทำงานเยอะเพราะมีค่าใช้จ่ายเยอะมาก บางส่วนก็เหลือเก็บไว้บ้าง บางส่วนหนูก็เก็บส่งให้พ่อแม่ใช้ ซื้อที่ดิน ทำบ้านที่กัมพูชาเอาไว้ด้วยเผื่อต้องกลับไปใช้ชีวิตตอนแก่”

ญ่าบอกว่า เธอไม่มีไม่มีแผนจะกลับไปทำงานที่กัมพูชาแล้ว จะทำงานที่ประเทศไทยจนกว่าจะไม่มีใครจ้าง หรือหมดแรงทำงาน ค่อยกลับไปใช้ชีวิตตอนแก่เฒ่าที่บ้านเกิด

“ตอนนี้หนูยังทำงานได้ แข็งแรง ใครจ้างอะไรก็ทำหมด คนที่จ้างหนูเขาไม่ผิดหวังเลย เพราะเขาเรียกเมื่อไหร่หนูมาทำงานทันทีไม่มีวันหยุด ทำงานเก็บเงินไว้ใช้ตอนที่ไม่มีแรงทำงาน เพราะหนูคิดว่าถ้าหนูไม่มีแรงทำงาน ต่อให้แม่ค้าเขาชอบหนูยังไง ถ้าทำงานให้ไม่ได้เขาคงไม่จ้าง”

ด้วยความขยันและชอบทำงานของ “ญ่า” จะเห็นจากตารางชีวิตที่เธอเล่า ซึ่งเวลาส่วนใหญ่เป็นเวลาทำงาน มีเวลานอนเพียง 4-5 ชั่วโมงเธอแบ่งเวลาการทำงานวันจันทร์-ศุกร์ ตื่นนอนตอนประมาณ 05.00 น. ออกจากห้องเช่าไม่ไกลจากตลาดที่ทำงาน สามารถเดินมาทำงานได้ ไม่มีค่าใช้จ่ายเรื่องการเดินทาง

เริ่มงานแรกเริ่มตอน 06.00 น. ด้วยการรับจ้างเป็นแม่ค้าขายน้ำที่ร้านกาแฟ บริเวณสถานีรถไฟฟ้าสายสีชมพู ซึ่งเธอสามารถชงกาแฟสดได้ทุกเมนู ตั้งแต่อเมริกาโน่ เอสเปรสโซ่ เมนูปั่นทุกชนิด น้ำหวาน โกโก้ ชาเย็น กระทั่งกาแฟโบราณ

“งานร้านกาแฟหนูทำแค่จันทร์ถึงศุกร์ เพราะเจ้าของร้านบอกว่าวันเสาร์อาทิตย์ไม่ค่อยมีคน หนูทำงานร้านน้ำตั้งแต่ 6 โมงเช้าไปถึง 10 โมงเช้า เขาให้ค่าจ้าง 200 บาทต่อวัน”

เสร็จจากรับจ้าง ร้านกาแฟ เธอเริ่มทำงานร้านที่สอง คือ “ร้านขายข้าวสวย-ข้าวเหนียว” เวลา 11.00-19.00 น.ซึ่งนายจ้างไว้ใจให้เธอทำงานทั้งหมด ตั้งแต่หุงข้าวสวย ข้าวเหนียว จนแพ็กใส่ถุงขาย มีค่าจ้าง 300 บาทต่อวัน

หลังจากขายข้าวเธอจะเริ่มรับงานที่ 3 ซึ่งคืองานเก็บ กวาด ล้าง ให้รานค้าต่างๆ ในตลาด ประมาณ 8-10 ร้าน เริ่มตั้งแต่เก็บล้าง ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านข้าวขาหมู ร้านยำ ร้านขายข้าวแกง ร้านก๋วยจั๊บญวน ร้านอาหารตามสั่ง โดยแต่ละร้านจะให้ค่าจ้างประมาณ 150-200 บาท

“พอเสร็จร้านข้าวหนูก็เริ่มเก็บของ และช่วยล้างจานให้แม่ค้าในตลาด ประมาณเกือบ 10 ร้าน บางวันอาจจะไม่ถึง จะทยอยเก็บและล้างไปจนถึงเที่ยงคืน หรือบางวันมีจาน ชาม จำนวนมาก อาจจะใช้เวลาถึงเกือบตีหนึ่ง หลังจากนั้นจัดแบ่งจาน ชาม เป็นร้านๆ พอตอนเช้าแม่ค้าแต่ละร้านเขาสามารถมาหยิบไปใช้ได้เลย ก่อนที่จะกลับบ้านอาบน้ำนอน ตื่นเช้าก็ทำใหม่”

เธอบอกว่าไม่ได้รู้สึกเหนื่อยเลยในการทำงาน แม้ว่าจะทำแบบนี้ทุกวันและมีเวลานอนน้อยในวันจันทร์-ศุกร์ แต่ก็ชดเชยและนอนตื่นสายได้ในวันเสาร์-อาทิตย์ เพราะร้านกาแฟไม่ได้จ้าง ทำให้เริ่มงานร้านขายข้าวและร้านค้าในช่วงเสาร์อาทิตย์ก็เปิดน้อย แม้รายได้จะลดลงแต่ก็ได้เวลาพักผ่อนมาแทน

ญ่าบอกว่าที่ตลาดมิ่งมิตร ส่วนใหญ่จะมีคนงานที่เป็นชาวกัมพูชา ลาว เมียนมา หลายคน ทำงานมานานจนเป็นเจ้าของร้านเอง มีทั้งเจ้าของแผงขายผัก ขายส้มตำ เช่น พี่สาวของเธอแต่งงานกับคนไทยเปิดร้ายขายส้มตำ และขายของชำ แต่เธอไม่อยากเปิดร้านเอง

“ถ้าหนูอยากจะเป็นเจ้าของร้านเองก็คงได้ แต่ไม่อยากเสี่ยงต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทุกวัน บางวันขายได้ บางวันขายไม่ได้ ขณะที่รับจ้างทั่วไปที่ตลาด รายได้ชัดเจนแน่นอนกว่า อย่างน้อย 1,000 บาท โดยที่ไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงขาดทุนจากการขายไม่ได้ เพียงแค่ทำงานหนักกว่าคนอื่นหน่อย ซึ่งไม่ได้มีปัญหาอะไร”

ญ่าบอกว่าเธอดีใจที่แม่ค้าในตลาดชอบเธอ และยังจ้างทำงาน ซึ่งเธอจะไม่ทำให้ผิดหวังเลย ทำงานไม่เคยหยุด ถ้าถูกเรียกใช้ก็พร้อมมาทันที และเธอมีความสุขกับการทำงานนี้และจะทำไปเรื่อยๆ จนไม่มีใครจ้างทำงาน

น้อยหน่าจากย่างกุ้งกับชีวิตที่ต้องต่อสู้เพื่อพ่อแม่และลูก

น้อยหน่า หรือยามิน จากเมืองเล็กๆ ริมขอบของกรุงย่างกุ้ง เมียนมา เข้ามาทำงานในไทยได้สิบปีแล้ว ปัจจุบันทำหน้าที่เป็นพนักงานแคชเชียร์ที่สถานีบริการน้ำมันแห่งหนึ่งย่านรัชดา ซึ่งการพูดคุยกับน้อยหน่าได้รับอนุญาตจากผู้จัดการสถานีบริการน้ำมันแล้ว

น้อยหน่าเริ่มต้นงานขายแรงงานในไทยด้วยการเป็นพนักงานล้างรถย่านบางนา ในช่วงที่ไทยเริ่มใช้ค่าแรงขั้นต่ำที่ 300 บาทต่อวัน จึงมีรายได้ 9,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเพียงพอให้เธอส่งเงินกลับไปช่วยเหลือทางบ้านที่ยังมีพ่อ แม่ พี่น้อง เพราะช่วงนั้นหากทำงานในเมียนมาเธอจะได้ค่าแรงงานราว 100,000 จั๊ตหรือประมาณ 2,000 กว่าบาทต่อเดือน

น้อยหน่าซึ่งเรียนจบชั้น ม.6 ในเมียนมาบอกว่าช่วงแรกพูดภาษาไทยไม่ได้เลย แต่ผ่านไประยะหนึ่งมีสามีเป็นคนไทย สามีสอนให้พูดไทย โดยใช้ภาษาอังกฤษมาเทียบเคียง และจากการใช้ชีวิตร่วมกับสามีคนไทย 3 ปี น้อยหน่าก็รู้เรื่องภาษาไทย จนปัจจุบันเธอพูดภาษาไทยได้ดีแม้มีสำเนียงเมียนมาบ้าง แต่ก็ไม่สามารถอ่านหรือเขียนภาษาไทยได้

หลังทำงานล้างรถได้ 3 ปีและเช่าบ้านอยู่กับพี่สาวซึ่งเข้ามาทำงานในไทยด้วย น้อยหน่าย้ายมาทำงานกับบริษัทค้าข้าว ทำหน้าที่ตวงข้าวใส่กระสอบ ซึ่งแต่ละวันจำไม่ได้ว่ามีจำนวนกี่กระสอบ เริ่มงานตั้งแต่เช้าข้าวหมดเมื่อไรก็เลิกงาน แต่การที่ปริมาณงานขึ้นอยู่กับปริมาณข้าวที่เข้าบริษัท ทำให้รายได้แต่ละเดือนไม่แน่นอน แต่โชคดีที่ไม่ต้องเช่าบ้าน เพราะบริษัทมีที่พักให้คนงาน และชีวิตก็ไม่แน่นอนเพราะสามีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ พี่สะใภ้ซึ่งทำงานที่สถานีบริการน้ำมันแห่งหนึ่งย่านรัชดาจึงชักชวนมาทำงานด้วยกัน น้อยหน่าจึงต้องให้ลูกสาวอยู่กับปู่ย่าคนไทย

ชีวิตการทำงานที่สถานีบริการน้ำมัน น้อยหน่ารับผิดชอบย่างหมูปิ้งขายด้วยค่าแรง 325 บาทต่อวัน แต่ทำได้ปีหนึ่งเธอก็กลับเมียนมาไปดูแลพ่อแม่ และต้องติดอยู่ที่เมียนมาเมื่อโควิดระบาดปลายปี 2563 มีการปิดประเทศปิดพรมแดน เธอไม่สามารถเดินทางกลับไทยมาได้ ประจวบกับเกิดเหตุการณ์รัฐประหารในเมียนมา

น้อยหน่าเล่าว่า หลังเหตุการณ์รัฐประหาร มีการประท้วงสถานการณ์เศรษฐกิจไม่ดี เกิดการขาดแคลนสินค้า ธุรกิจหลายแห่งปิดกิจการ ชีวิตจึงค่อนข้างขัดสนเพราะครอบครัวมีอาชีพรับจ้างขายแรงงานทุกคน ทั้งพ่อแม่ พี่น้องอีก 5 คน มีงานอะไรเข้ามาก็รับทำทุกอย่าง เพราะที่บ้านไม่มีที่ดินทำกิน เมื่อสถานการณ์โควิดดีขึ้น มีการเปิดประเทศ น้อยหน่าจึงกลับเข้าไทยอีกครั้งผ่านด่านแม่สอด จังหวัดตาก ในปีที่แล้ว

“พ่อแม่หนูอายุเยอะแล้ว ทำอะไรไม่ได้มาก หนูทำอะไรได้ก็ทำ ขายของบ้าง รับจ้างบ้าง ช่วงนั้นลำบากมาก ของแพง ไม่มีของด้วย ข้าวไม่พอกิน หนูขายของด้วย แต่คนไม่มีเงินซื้อเลยเจ๊งหมด บางช่วงหนูไปเป็นพนักงาน KFC ที่พม่า” น้อยหน่าเล่าให้ฟัง

กลับมาคราวนี้ น้อยหน่ายังได้ทำหน้าที่เดิมคือ ขายหมูปิ้งด้วยค่าแรง 355 บาทต่อวัน ต่อมาร้านสะดวกซื้อในสถานีบริการน้ำมันขาดพนักงานแคชเชียร์ น้อยหน่าจึงถูกย้ายมาทำหน้าที่พนักงานแคชเชียร์ และบริษัทปรับค่าแรงขึ้นอีก 10 บาทเป็น 365 บาทต่อวัน ซึ่งน้อยหน่าบอกว่าก็ถือว่าพอได้ เพราะเธอมีเงินพอที่จะส่งให้ทางบ้านเดือนละ 3,500 บาท เนื่องจากพี่ๆ น้องๆ ทำงานในพม่าได้ค่าแรงน้อย พ่อแม่ก็อายุกว่า 70 ปีแล้ว

“เมื่อก่อนหนูส่งเงินให้พ่อแม่เดือนละ 2,000 บาทบ้าง 3,000 บาทบ้าง มีเยอะก็ส่งเยอะ”

น้อยหน่าบอกว่า เธอและสามีคนที่สอง ซึ่งเป็นชาวเมียนมาและทำหน้าที่เป็นเด็กเติมน้ำมันที่สถานีบริการน้ำมันเดียวกัน ประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะมีภาระเลี้ยงดูครอบครัวด้วยกันทั้งคู่ น้อยหน่าและสามีมีลูกด้วยกัน 1 คน แต่ต้องฝากพ่อแม่สามีเลี้ยงดูที่เมียนมา โดยสามีเป็นฝ่ายส่งเงินกลับไปให้ครอบครัวฝั่งสามี เธอก็ต้องส่งเงินกลับให้ครอบครัวของเธอ โดยการส่งเงินนั้นใช้บริการนายหน้าฝั่งแม่สอด ไม่ผ่านระบบธนาคาร โดยนายหน้าคิดค่าธรรมเนียม 10-20 บาทต่อทุก 1,000 บาท นายหน้าจะทำหน้าที่ถอนเงินออกจากธนาคารเมียนมาในฝั่งเมียนมาและโอนเงินไปให้ครอบครัว

“ในไทยมีหนูกับพี่สาวหนึ่งคน ทำงานในไทย แต่เค้าก็ลำบากกันหมด มีหนูคนเดียวที่ส่งเงินให้พ่อแม่ใช้ หนูต้องเก็บเงิน ตอนนี้เรียกว่า เงินเดือนหนูกับแฟน เงินเดือนของคนหนึ่งใช้ส่งกลับบ้าน ส่วนของอีกคนหนึ่งใช้สำหรับกินอยู่สองคน หนูไม่ซื้ออะไรเลย เก็บตังไว้ให้ที่บ้าน หนูเอาข้าวมาจากบ้าน ถ้าทำงานกะเช้า หนูก็กินข้าวจากที่บ้าน แล้วเอาข้าวใส่ห่อมาให้แฟน ถ้าหนูทำกะบ่าย หนูก็กินข้าวมาจากบ้านและไม่ซื้ออะไรกินทั้งวันจนกว่าเลิกงานสามทุ่ม แล้วกลับไปทำกับข้าวกินที่บ้าน แต่เงินเดือนที่เหลือก็พออยู่ได้ อาหารสดข้าวสารหนูก็ซื้อที่ร้านใกล้ห้องเช่า ถูกกว่าห้างอีก”

นอกจากค่าวีซ่าและใบอนุญาตทำงานในไทยรวมไม่ต่ำกว่า 7,000 บาทในแต่ละครั้งแล้ว ในแต่ละเดือนน้อยหน่าและสามีมีค่าใช้จ่ายค่าเช่าห้องที่เป็นห้องไม้แบ่งเช่าขนาดเล็กราว 1,600 บาทรวมค่าน้ำค่าไฟแล้วประมาณ 2,000 กว่าบาท และเพื่อประหยัดค่าไฟจึงซื้อเตาแก๊สมาไว้สำหรับทำอาหาร แต่ยังดีที่บริษัทมีค่าเช่าบ้านให้พนักงานทุกคนคนละ 500 บาทต่อเดือน ส่วนเครื่องแบบนั้นพนักงานจ่ายครึ่งหนึ่งบริษัทออกให้ครึ่งหนึ่ง และบางโอกาสพิเศษ เช่น ตรุษจีน บริษัทมีให้เงินพิเศษบ้าง แต่ไม่มากนัก น้อยหน่าไม่ได้ใช้จ่ายอะไรมากในแต่ละเดือน และไม่ได้จ่ายเงินให้ปู่ย่าสำหรับค่าเลี้ยงดูลูกสาวคนโต ยกเว้นค่ารถลูกไปโรงเรียน 1,000 บาท แต่ก็จะมีค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งเมื่อลูกโรงเรียนปิดแล้วมาพักด้วยกัน

น้อยหน่าปิดท้ายว่า “หนูก็อยากกลับพม่า เพราะไม่มีคนดูแลพ่อแม่ แต่ถ้าหนูไม่ทำงานพ่อแม่หนูก็ลำบาก หนูก็พยายามเก็บเงินอยู่ การเดินทางกลับบ้านสะดวก เข้าทางแม่สอด แต่อยู่เมืองไทยดีกว่า ทำงานได้ ชีวิตที่พม่ายังทำงานได้เงินเดือนไม่มาก เราสู้เพื่อพ่อแม่เพื่อลูก”

ไอร์นทำงานไม่มีวัดหยุด 5 ปียังไม่ได้กลับเมียนมา

“ไอร์” สาวเมียนมา มาทำงานเมืองไทยตั้งแต่อายุ 16 ปี วันนี้ ไอร์บอกว่าทำงานอาชีพรับจ้างทำความสะอาดบ้านมาเกือบ 20 ปี จากการตามญาติๆ ที่ชวนมาทำอาชีพนี้ ช่วงแรกๆ ที่มาทำงานบ้าน อยู่ประจำได้เงินเดือน 2,500 บาท/เดือน มีที่พักพร้อมอาหาร ทำอยู่ได้ 3 ปีก็ลาออก เพราะในช่วงที่ทำงานประจำก็เริ่มรู้จักคนเมียนมาด้วยกันเพิ่มขึ้นและคนไทยที่ต้องการหาคนทำความสะอาดบ้าน มีการแนะนำให้ออกมารับจ้างทำความสะอาดบ้านแบบอิสระ โดยมีลูกค้าประจำที่ต้องการทำความสะอาดบ้านสัปดาห์ละครั้ง

ในระหว่างนั้นก็แต่งงานกับหนุ่มเมียนมา โดยกลับไปแต่งที่เมียนมา ซึ่งสามีทำงานโรงงานแถวบางบ่อ มีลูกด้วยกัน 2 คน ก็ส่งไปให้พ่อแม่สามีเลี้ยง

ไอร์บอกว่าต้องอดทน ขยัน ทำงานทุกวันไม่มีวันหยุด จะได้หยุดก็ต่อเมื่อลูกค้ามีธุระหรือขอเลื่อนการทำความสะอาด นั่นหมายถึงรายได้ของไอร์ที่หายไป ในหนึ่งวันไอร์จะทำความสะอาดบ้าน ทั้งปัด กวาด เช็ด ถู ล้างห้องน้ำ รดน้ำต้นไม้ และอื่นๆ แล้วแต่ความต้องการของเจ้าของบ้าน ไอร์ทำงานบ้านต่อหลังใช้เวลา 4 ชั่วโมง ก่อนช่วงโควิดระบาดคิดราคา 300 บาท/หลัง วันหนึ่งทำได้ 2 หลัง (เช้า-บ่าย)

แต่หลังจากโควิดมีการปรับราคาจาก 300 บาท เป็น 400 บาท ดังนั้น ไอร์จะมีรายได้ 800 บาทต่อวัน หากทำงาน 30 วัน มีรายได้ 24,000 บาทต่อเดือน

ในหมู่บ้านที่ไอร์ทำงาน มีชาวเมียนคนอื่นๆมารับจ้างทำความสะอาดตามบ้านเช่นกัน และบางส่วนก็อยู่ประจำ เย็นๆจะมีการจับกลุ่มพูดคุยเมื่อเลิกงาน แต่สำหรับไอร์บอกว่าไม่ค่อยได้ไปคลุกคลี เพราะเลิกงานก็มืดแล้ว เหนื่อยและต้องกลับไปทำอาหาร

ไอร์ถีบจักรยานมาทำงานพร้อมหมวกใบใหญ่ 8.00 น. ไอร์มาถึงบ้านที่ต้องทำงาน เริ่มปัดกวาดเช็ดถูทันที ไอร์บอกว่ากินข้าวมาจากห้องพัก ตอนกลางวันถีบจักรยานกลับไปกินข้าวที่ห้องพักอีกครั้ง 13.00 น. แล้วมาทำงานต่อ โดยไอร์พักอยู่ใกล้ๆ หมู่บ้านที่มารับจ้างทำความสะอาด ซึ่งมีลูกค้าประจำเต็มทั้งสัปดาห์

ไอร์นทำอาหารกินเอง บอกว่า “ของแพงทุกอย่างเลย”

ไอร์บอกว่า “ไม่ได้กลับบ้านมา 5 ปีแล้ว เพราะต้องทำงาน ไม่มีวันหยุด ตอนนี้ลูกโตสามารถดูแลตัวเองได้ เมษายนนี้ตั้งใจจะกลับไปหาลูก”

ในแต่ละเดือนไอร์ส่งเงินกลับบ้านให้ญาติคนที่เคยเลี้ยงไอร์มาตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งมี 3 คน คนละ 1,000 บาท (รวม 3,000 บาท) ลูก 2 คนกว่า 6,000 บาท ส่งให้พ่อแม่สามี 2,500 บาท รวมส่งเงินกลับเมียนมาเดือนละประมาณ 12,000 บาท ที่เหลือเป็นค่าเช่าห้องพัก ค่าอาหารและอื่นๆ พร้อมบอกว่าจะต้องเก็บเงินเพื่อเตรียมสำหรับค่าทำบัตรแรงงานคนต่างด้าวประมาณ 28,000 บาทต่อครั้ง”

ไอร์นบอกว่า “อยู่เมืองไทยดี แต่ไม่ใช่บ้านเรา ก็อยากกลับบ้าน แต่การเมืองไม่ดี เลยยังไม่อยากกลับไปอยู่เมียนมา”

เหล่านี้คือวิถีแรงงานต่างด้าวที่ส่วนใหญ่ต้องแบกภาระส่งเงินกลับบ้านเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว ภาระที่พวกเขาต้องสวมหัวใจนักสู้ เงินทุกบาทมีค่า นี่คือตัวอย่างของ ‘คุณค่า’ ที่ควรให้ ‘ค่า’ ไม่ใช่การด้อยค่า สำหรับมนุษย์ด้วยกัน