ThaiPublica > เกาะกระแส > “พลเอก วิชิต ยาทิพย์” สวมบท Personal Contact เชื่อมสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา-เมียนมา ชูธงสมาคมมิตรภาพดูแลแบบพี่น้อง

“พลเอก วิชิต ยาทิพย์” สวมบท Personal Contact เชื่อมสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา-เมียนมา ชูธงสมาคมมิตรภาพดูแลแบบพี่น้อง

1 มีนาคม 2018


พลเอก วิชิต ยาทิพย์ นายกสมาคมมิตรภาพไทย-กัมพูชา

“พลเอก วิชิต ยาทิพย์” อดีตรองผู้บัญชาการทหารบก ที่แม้วันนี้จะเกษียณราชการไปแล้ว แต่ก็ยังคงมีบทบาทและคอนเนกชันที่สำคัญในการประสานงานด้านต่างๆ ให้ประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านกลุ่ม CLMV โดยเฉพาะกัมพูชาและเมียนมา ซึ่งเมื่อ 2 ปีที่แล้วหลังหมดวาระจากการเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พลเอก วิชิต ได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงการต่างประเทศให้เป็นนายกสมาคมมิตรภาพไทย-กัมพูชา นอกจากนี้ยังเป็นนายกสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-เมียนมาคนปัจจุบันอีกด้วย

พลเอก วิชิต รู้จักประเทศกัมพูชาเป็นอย่างดี ตั้งแต่เป็นนายทหารยศร้อยโททำงานอยู่ที่โครงการ 315 รักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ผ่านเหตุการณ์ร้อนหนาวที่เกี่ยวข้องกับประเทศนี้มามากมาย มีความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ดีกับกัมพูชา สนิทสนมกับผู้นำประเทศทั้งสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรี พลเอก เตีย บัญ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของกัมพูชา เช่นเดียวกับที่พลเอก วิชิต รู้จักประเทศเมียนมาดีเช่นกัน ตั้งแต่สมัยพลเอก ขิ่น ยุ้นต์ พลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย หรือแม้แต่ผู้นำชนกลุ่มน้อย ก็รู้จักคบค้าสมาคมกันมายาวนานตั้งแต่รุ่นนายพล โบ เมียะ ทุกวันนี้ก็ยังไปมาหาสู่ติดต่อกันอยู่

ปัจจุบัน พลเอก วิชิต ในวัย 71 ปี สวมบท Personal Contact เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชา ให้แน่นแฟ้นในทุกมิติ ทั้งด้านการเมือง การทหาร เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม รวมทั้งมีบทบาทเดียวกันในการเชื่อมวัฒนธรรม การค้า การลงทุนในประเทศไทยและเมียนมาอีกด้วย

“Personal Contact” เชื่อมไทย-กัมพูชา ทุกมิติ

พลเอก วิชิต เล่าให้ฟังในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าว่า รู้จักกับกัมพูชาน่าจะสักประมาณ 40 ปีแล้ว ทำงานมาตั้งแต่สมัยช่วงเขมรแดงเข้ายึดกรุงพนมเปญวันที่ 18 เมษายน 2518 ซึ่งเป็นวันที่กองทัพเขมรแดงกรีฑาทัพเข้ามายึดกรุงพนมเปญ ขับไล่ผู้คนมาที่ชายแดนหมด

ขณะนั้นพลเอก วิชิต มียศร้อยโท เป็นนายทหารมาทำงานอยู่ที่โครงการ 315 ทำงานเกี่ยวกับด้านกัมพูชา ก็มีหน้าที่ไปดูแลและรับผู้อพยพจากชายแดนเข้ามาอยู่ที่เขาอีด่าง เริ่มต้นทำงานที่เกี่ยวกับกัมพูชาปี 2518 หลังจากนั้นก็ทำงานอยู่ในส่วนโครงการ 315 มาโดยตลอด

“ในช่วงนั้น ท่านนายกฯ ฮุน เซน ยังไม่ได้เป็นอะไร แต่เริ่มรู้จักท่านเตีย บัญ ก่อน หลังจากเขมรแดงอยู่ 3 ปีก็ถอนกำลังออกไป กองกำลังเวียดนามมาปราบเขมรแดง ผมก็มีความสัมพันธ์ที่ดี”

พลเอก วิชิต กล่าวว่า ในยุคที่ลัทธิคอมมิวนิสต์กำลังระบาดไปทั่วอินโดจีนหลายประเทศ และก่อความวิตกว่าจะเกิดทฤษฎีโดมิโนว่า หากเวียดนามเป็นคอมมิวนิสต์ ก็จะมีผลให้กัมพูชาเป็นคอมมิวนิสต์ เมื่อกัมพูชาเป็นแล้วก็จะส่งผลให้ลาวเป็นคอมมิวนิสต์ด้วย และไทยต้องเป็นคอมมิวนิสต์แน่นอน แต่ประเทศไทยกลับรอดพ้นจากความเป็นคอมมิวนิสต์ และสามารถรักษาความเป็นเอกราชไว้ได้ ด้วยความสามารถของผู้ใหญ่ในบ้านเมือง

“เราต้องยกย่องผู้ใหญ่ในสมัยนั้น คือสมัยป๋าเปรม (พลเอก เปรม ติณสูลานนท์) สมัยพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ หรือผู้นำสมัยก่อนตั้งแต่ท่านเกรียงศักดิ์ (พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์) มาเลย เราก็รักษาเอาตัวรอดมาได้ทุกวันนี้ รักษาชายแดนเราไว้ได้ตลอด ก็ใช้บทบาทของสมาคมฯ เข้ามาจัดการ”

พลเอก วิชิต เล่าถึงสมาคมมิตรภาพไทย-กัมพูชาว่า ก่อตั้งขึ้นโดยอยู่ภายใต้ร่มกระทรวงต่างประเทศ แต่กระทรวงก็ไม่ได้กำหนดภารกิจชัดเจนว่าควรจะทำอะไร การก่อตั้งสมาคมฯ ช่วงแรกมีนายเตช บุนนาค อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ เป็นนายกสมาคม ต่อมาคือนายปกศักดิ์ นิลอุบล อดีตเอกอัครราชทูต หลังจากนั้นก็ว่างเว้นมานานจนกระทั่งพลเอก วิชิต ได้รับการแต่งตั้ง

กระทรวงต่างประเทศมีความมุ่งหมายหลักคือต้องการให้สมาคมฯ ได้ทำงานแทนกระทรวงในบางเรื่องที่กระทรวงดำเนินการไม่ได้เต็มที่ ให้สมาคมฯ เป็น track 2 แทนกระทรวงอย่างไม่เป็นทางการ แต่สามารถนำเรื่องที่เป็นทางการมาหารือหรือพูดคุยกันได้ แล้วสมาคมฯ ไปรายงานผลต่อกระทรวงว่าแต่ละฝ่ายมีความเห็นอย่างไร ซึ่งกระทรวงฯ ก็จะเสนอต่อรัฐมนตรีที่รับผิดชอบให้พิจารณาต่อไป สมาคมฯ จึงสามารถดำเนินการได้ทุกเรื่อง ทั้งในประเด็นที่กระทรวงต้องการให้ทำ และประเด็นที่สมาคมฯ มีแนวคิดขึ้นมาเอง เพียงแต่รายงานกระทรวงให้รับทราบเท่านั้น

“กระทรวงก็อยากให้เราเป็น track 2 หมายความว่า มีส่วนที่เป็น track 1 คือ bilateral กระทรวงต่อกระทรวงติดต่อกัน กระทรวงต่างประเทศไทยติดต่อกับกระทรวงต่างประเทศกัมพูชา สถานทูตไทยในกัมพูชาติดต่อสถานทูตกัมพูชาในไทย เป็นเรื่อง bilateral ระหว่างกระทรวง แต่บางเรื่องบางราว ในบางสถานการณ์ เช่น เกิดเหตุการณ์รุนแรงกันหรือทะเลาะเบาะแว้งกัน ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดก็ตาม เช่น เขาพระวิหาร กรณีเผาสถานทูต บางครั้งกระทรวงก็พูดจากันไม่รู้เรื่องแล้ว พูดไปก็เสียหายกัน ก็จะใช้สมาคมฯ เป็น track 2 ดำเนินการ”

“ได้ผลเยอะ เพราะบางเรื่องบางราว ถ้าให้คนของกระทรวงไปก็พูดจากันลำบาก เพราะอาจจะติดข้อกฎหมายหรือเรื่องอะไรต่างๆ แต่เรามีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับกัมพูชามานาน”

พลเอก วิชิต กล่าวว่า ช่วงแรกๆ สมาคมฯ จะมุ่งเน้นไปในด้านวัฒนธรรม แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ทั้งวัฒนธรรมไทยวัฒนธรรมกัมพูชา แลกเปลี่ยนกัน ซึ่งกัมพูชาได้ส่งราชบัณฑิตของกัมพูชามาแลกเปลี่ยนกฎหมายกันบ้าง ก็ไปได้ระยะหนึ่ง แต่ช่วงที่ได้เข้ามารับตำแหน่งเป็นนายกสมาคม กิจกรรมด้านเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมาก เป็นผลจากความสัมพันธ์ที่ดี

พลเอก วิชิต บอกว่า เป้าหมายของสมาคมฯ ทุกวันนี้ก็คือเชื่อมความสัมพันธ์ไทยกับกัมพูชาในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง การทหาร เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม

“ก่อนหน้านี้ไม่นานผมทำเรื่องเศรษฐกิจ เราจัดงาน Business Matching นำนักธุรกิจไทยไปขายสินค้าที่พนมเปญหลายครั้ง ขายสินค้าที่เสียมราฐ ที่นครวัด นครธม ก็หลายครั้ง ขายดีมาก แล้วก็เชิญนักธุรกิจจากกัมพูชามา เชิญท่านนายกฯ ฮุน เซน มาปาฐกถาที่กรุงเทพฯ เป็นภาพที่ประทับใจมาก ท่านมาพูดให้นักธุรกิจไทยฟัง ท่านเชื้อเชิญนักธุรกิจไทย ท่านลงทุนมาพูดเองเลย ผมก็เอานักธุรกิจดังๆ ไปพบท่าน 20 กว่าคน ท่านก็บอกว่ายินดีต้อนรับเสมอ ท่านเปิดใจในเรื่องเศรษฐกิจ”

สำหรับด้านการเมือง พลเอก วิชิต กล่าวว่า ไม่ต้องกังวล เนื่องจากประสานงานได้ตลอดอยู่แล้ว หากมีปัญหาทางการเมือง ส่วนการทหารก็ประสานกันดีอยู่แล้ว มีบางเรื่องบางราวก็ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ให้ดีขึ้น

ทางด้านวัฒนธรรม พลเอก วิชิต ได้นำทีมฟุตบอลสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ไปลงสนามที่พนมเปญ 2 ครั้งเมื่อ 2 ปีที่แล้ว และในปีนี้ก็กำลังจะไปอีก นอกจากนี้ยังได้นำมวย Thai Fight ไปชกที่พนมเปญ ได้รับการตอบรับอย่างดี เป็นความประสงค์ของนายกสมาคมทั้ง 2 ฝ่าย ที่ต้องการให้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน

“ทั้งหมดนี้ต้องพูดว่าอาจจะเป็น personal contact ที่เรามีอยู่ ก็เลยช่วยเราได้หลายเรื่องเหมือนกัน เพราะ personal contact ใน CLMV มีความจำเป็นมาก ถ้าเราไม่มี personal contact ก็จะไปเริ่มต้นเรื่องต่างๆ ลำบาก เพราะเขาไว้วางใจเรา”

พลเอก วิชิต พูดพร้อมกับหัวเราะว่า “ผมอยู่กับทีมท่านนายกฯ ฮุน เซน เกือบ 40 ปี ก็ยาวนานพอสมควร มีเรื่องราวอีกเยอะแยะ อีกหน่อยว่าจะเขียนเป็นหนังสือสักเล่ม”

สัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ดีทุกระดับ

พลเอก วิชิต ยังบอกว่า ทุกวันนี้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชาเป็นไปด้วยดีในทุกระดับ “ในระดับราชวงศ์ สมเด็จพระเทพฯ เสด็จไปกัมพูชาเพื่อพระราชทานความช่วยเหลือกัมพูชาที่กำปงเฌอเตียล เมื่อ 16-17 ปีที่แล้ว เป็นสายพระเนตรอันยาวไกลของพระองค์ท่าน ท่านให้เบ็ดไปตกปลา ท่านจะไม่ให้ปลา คือสร้างโรงเรียน สร้างการศึกษาให้เด็กกัมพูชา”

สมเด็จพระเทพฯ ทรงสร้างโรงเรียนแรกที่กำปงเฌอเตียล ชื่อ “วิทยาลัยกำปงเฌอเตียล” อยู่ที่จังหวัดจังหวัดกำปงธม สร้างมาแล้วประมาณ 16-17 ปี ปัจจุบันมีนักเรียนจบมาหลายพันคนแล้ว นักเรียนที่จบมัธยมจากที่นี่ ได้รับพระราชทานทุนให้มาเรียนต่อที่เมืองไทย ซึ่งเด็กที่สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก ด้วยทุนพระราชทาน มีจำนวนทั้งหมดประมาณ 1,900 คนแล้ว เพราะเด็กกัมพูชาสนใจการศึกษามาก

การที่มีเด็กสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอกแบบนี้ สำหรับกัมพูชาถือว่าเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มากและมีความพอใจเป็นอย่างมาก เด็กที่เรียนจบไปก็มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับเด็กไทย รู้ขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยอย่างดี จบมีงานทำหมด เพราะรู้ภาษา ทั้งภาษาไทย ภาษาเขมร ภาษาอังกฤษ โดยหนึ่งในนั้นเมื่อจบปริญญาเอกจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็กลับไปรับตำแหน่งผู้อำนวยการที่วิทยาลัยกำปงเฌอเตียล

ปัจจุบันเด็กกัมพูชาที่จบจากเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัขอนแก่น มหาวิทยาลับูรพา หรือมหาวิทยาลัยราชภัฏต่างๆ ประมาณ 20 แห่ง ถวายงานสมเด็จพระเทพฯ เนื่องจากมีความสำนึกว่าได้รับพระมหากรุณาธิคุณ

“นี่คือบทบาทการศึกษาของพระองค์ท่าน อยากให้เทิดทูนพระองค์ท่าน และขณะนี้กัมพูชาก็ขอพระราชทานต่ออีก ท่านก็ไปสร้างที่กำปงสปือ คือ “วิทยาลัยเทคโนโลยีกำปงสปือ” อยู่ใกล้กับกรุงพนมเปญ เพราะท่านเล็งเห็นว่าเด็กจบแล้วจะได้มีงานทำ เริ่มเปิดในปีที่แล้ว เป็นเรื่องการศึกษาที่พระองค์ท่านทำ สมาคมฯ เราก็ช่วยสนับสนุนมาโดยตลอด ถวายงานท่านมาตลอด”

ในระดับผู้นำรัฐบาล พลเอก วิชิต กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับนายกฯ ฮุน เซน ก็ไปมาหาสู่กัน พบปะกันตามเวทีประชุมไหนก็พูดคุยกันได้ และยกโทรศัพท์หากันได้ ขณะที่ในระดับรัฐมนตรี พลเอก เตีย บัญ รัฐมนตรีกลาโหมกัมพูชากับพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีกลาโหมไทย ก็สนิทสนมกัน รัฐมนตรีมหาดไทยก็สนิทสนมกัน เรียกว่าในระดับรัฐบาล ทุกรัฐบาลสนิทกัน

ส่วนสมาคมฯ ก็มีกิจกรรมตลอด บางเรื่องบางราวมีความยากความง่าย บางเรื่องก็ง่าย เพียงยกโทรศัพท์คุยทีเดียวก็เสร็จเรื่อง แต่บางเรื่องก็ต้องไปเจรจา อย่างไรก็ตามเรื่องที่มีปัญหาจะไม่มีการพูดถึง เช่น ปัญหาเขตแดน ปัญหาเขาพระวิหาร ฝ่ายไทยจะไม่พูดเรื่องพวกนี้ กัมพูชาก็ไม่อยากพูด แต่ก็มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไปมาหาสู่กัน

การประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2560 สมาคมมิตรภาพไทย-กัมพูชา
ที่มาภาพ:
https://www.facebook.com/ThailandCambodiaFriendshipAssociation

กัมพูชาการเมืองมั่นคง – ศก. โต 7%

จากที่เห็นกัมพูชามา 40 ปี พลเอก วิชิต กล่าวว่า จากสมัยก่อนมาถึงวันนี้ กัมพูชาเปลี่ยนแปลงไปมากและพัฒนาไปมาก จากประเทศที่เกือบจะล่มสลาย แทบไม่น่าจะเป็นประเทศต่อไปได้ กลับค่อยๆ สร้างชาติบ้านเมืองขึ้นมาได้

“เขาเปลี่ยนไปเยอะ สมัยนั้นไม่มีอะไร ประชาชนหลังเขมรแดงเข้ายึดครอง ช่วงนั้นเขมรหรือกัมพูชาทุกข์ยากมาก แทบจะไม่น่าเป็นประเทศต่อไปได้ เพราะเกือบล่มสลาย แต่ก็เป็นความฉลาดของผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นท่านนายกฯ ฮุน เซน ก็ดี ท่านเตีย บัญ ก็ดี ท่านเฮง สัมริน ก็ดึงกลุ่มเวียดนามหรือกลุ่มรักชาติทั้งหลายมาขับไล่เขมรแดงออกไป แล้วก็เป็นห้วงจังหวะที่สงครามพรรคคอมมิวนิสต์ยุติลง ทางจีนเขาลดความรุนแรงทางด้านนี้ลง กองกำลังเขมรแดงก็ต้องสลายตัวไป”

“ในช่วงนั้นความเป็นอยู่ของกัมพูชาก็แสนสาหัส เขาต้องต่อสู้ภายหลังสงครามใหม่ๆ ประมาณปี 2520-2521 ต้องต่อสู้สร้างชาติขึ้นมา ก็ต้องยกย่องท่านายกฯ ฮุน เซน กับคณะทำงานของท่าน ต่อสู้เพื่อประเทศชาติ ค่อยๆ ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา เอาชาติบ้านเมืองรอดมาได้”

ทุกวันนี้เหตุการณ์เปลี่ยนไป กัมพูชาหลังสงครามดีขึ้นมา เป็นประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง มีการจัดตั้งรัฐบาลที่มีแนวทางชัดเจน เป็นประชาธิปไตยไม่ว่าจะมากหรือน้อย และมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขเหมือนกับประเทศไทย นับว่าก้าวมาถึงสู่จุดสูงสุดพอสมควร

พลเอก วิชิต บอกว่า วันนี้กัมพูชาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่พัฒนาดีมาก ขณะนี้เศรษฐกิจเจริญเติบโตประมาณ 7% ติดต่อกัน 6-7 ปีแล้ว เพราะมีความมั่นคงทางการเมือง เป็นการเมืองที่มาจากพรรคเดียว พรรคของนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ซึ่งทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีมาร่วม 30 ปีแล้ว รัฐมนตรีทุกคนไม่มีการปรับเปลี่ยน พลเอก เตีย บัญ ยังเป็นรัฐมนตรีกลาโหม สมเด็จกลาโหม ซอร์ เค็ง ยังเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมหาดไทย กัมพูชาไม่เคยเปลี่ยนรัฐบาลเลย

ด้านวัฒนธรรม กัมพูชารักษาวัฒนธรรมได้ดีมาก ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมด้านศิลปะ ดนตรี ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ วัฒนธรรมทุกอย่างยังครบถ้วน ทั้ง มวยขแมร์ โขน เป็นต้น

ในแง่เศรษฐกิจ กัมพูชาเปิดรับการพัฒนามาหลายปีแล้ว และพัฒนามาตามลำดับเพราะมีการเมืองที่แน่นอน เพราะฉะนั้น เศรษฐกิจขยายตัวมาอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาประเทศก็ค่อยเป็นค่อยไป จนขณะนี้ถือว่ากัมพูชาก้าวกระโดดพอสมควร

“ถ้าเข้าไปในกัมพูชาวันนี้จะเห็นการพัฒนาที่ก้าวกระโดด โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เกิดขึ้นมาก เศรษฐกิจเจริญเติบโตขึ้นสูง มีนักลงทุนเข้ามามาก ไม่ว่าจะเป็นจีน มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลี ความสำคัญคือ การเมืองเขาไม่เปลี่ยนแปลง คนที่มาติดต่อด้วยก็พอใจ มาลงทุนแล้วง่าย ไม่ต้องเปลี่ยนรัฐมนตรีบ่อยๆ ด้วยความมั่นคงทางการเมือง เศรษฐกิจก็พัฒนามามาก คนที่จะมาลงทุนเชื่อมั่นว่ามั่นคง และการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในเดือนกรกฎาคมนี้ ทำนายได้เลยว่าเขาคงจะต้องกลับมาเป็นรัฐบาลอีก เพราะฉะนั้น เมื่อรัฐบาลมั่นคง นักลงทุนก็ลงทุน”

กัมพูชาในปัจจุบันได้รับการช่วยเหลือจากนานาประเทศค่อนข้างมาก โดยเฉพาะจีนที่ให้การสนับสนุนรัฐบาลกัมพูชาหลายด้านด้วยกัน เช่น รถไฟความเร็วสูง รวมไปถึงการจัดโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) เพื่อก่อสร้างสนามบิน นอกเหนือจากความช่วยเหลือด้านการขนส่ง”

พลเอก วิชิต ยังเล่าว่า ทุกวันนี้พฤติกรรมการบริโภคของคนรุ่นใหม่ของกัมพูชา ก็เปลี่ยนแปลงไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเดินทางมาไทยได้ง่าย ทำให้คนกัมพูชาได้เห็นว่าไทยมีอะไร รวมทั้งมาช้อปปิ้งที่ศูนย์การค้าในไทย ตลอดจนยังชอบอาหารเหมือนกับที่คนไทย ร้านอาหารไทยที่เข้าไปเปิดในพนมเปญก็มีคนกัมพูชาเข้ามารับประทานจำนวนมาก

“ตอนนี้เริ่มมีคอมมูนิตี้มอลล์เกิดขึ้นในกัมพูชาแล้ว ศูนย์การค้าก็มีอิออนของญี่ปุ่นมาลงทุน อิออนแห่งที่ 1 คนเต็ม อิออนแห่งที่ 2 กำลังจะเปิด มาเลเซียมาเปิดเต็มหมด”

ไทยยังไม่สายที่จะเข้าลงทุน

พลเอก วิชิต มองว่า หากนักลงทุนไทยจะเข้าไปลงทุนในกัมพูชาวันนี้ ตัดสินใจเข้าไปได้เลย ถือว่ายังไม่สายเกินไป เพราะกัมพูชามีความมั่นคงทางการเมืองมากพอ อยู่ที่นักลงทุนไทยจะเข้าไปหรือไม่

“ขณะนี้ก็มีนักลงทุนไทยเข้าไปเยอะนะ แต่เราก็เสียโอกาสไปเมื่อ 10-20 ปีที่แล้ว เราควรจะเป็นประเทศแรกๆ ที่เข้าไปลงทุนในกัมพูชาในช่วงนั้น เขามีความต้องการสูงที่จะให้ประเทศไทยเข้าไปลงทุนเพราะแผ่นดินติดกัน นักธุรกิจไทยมีความใกล้ชิดกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ไม่ค่อยกล้าไปลงทุนกับเขา เกรงว่าเขาจะไม่มั่นคง ไม่เชื่อมั่น ก็ไม่ยอมไป ช่วงนั้นไทยมุ่งไปลงทุนในยุโรปบ้าง ลงทุนในอเมริกาบ้าง ลงทุนในรัสเซียบ้าง ลงทุนในแอฟริกาใต้บ้าง ก็หลงทางกันไปเยอะ”

พลเอก วิชิต กล่าวว่า ในกลุ่มประเทศ CLMV นักธุรกิจใหญ่ๆ ของไทยควรจะเข้าไป แต่เสียโอกาสไปให้เกือบทุกประเทศ เพราะไม่ได้เข้าไปลงทุน ขณะที่ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เข้าไปจำนวนมาก เพราะมีความมั่นใจ

“เข้าไปตอนนี้ยังไม่สาย จะเข้าตอนนี้ก็ได้ ขณะนี้เขาเปิดให้ประเทศไทยเข้าไปลงทุนทุกเรื่อง ผมเคยเชิญท่านนายกฯ ฮุน เซน มาพูดที่ประเทศไทยเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ท่านบอกว่าประเทศท่านมีวัตถุดิบเยอะ มีทรัพยากรธรรมชาติเยอะ มีแรงงานเยอะ แต่ขาดเทคโนโลยี ขาดกำลังคน ขาดคนที่เป็นผู้นำของธุรกิจ ถ้าเรามีนักธุรกิจใหญ่ไปลงทุนก็จะเก็บเกี่ยวได้ ท่านชวนขนาดนั้นก็ยังไม่ค่อยมีใครไป”

พลเอก วิชิต กล่าวอีกว่า การเข้าไปลงทุนในกัมพูชาของนักธุรกิจไทยในวันนี้ถือว่าไม่ช้าไป แต่เสียโอกาสไปมาก อีกทั้งต้นทุนก็สูงขึ้น เพราะราคาที่ดินต่อเฮกตาร์ปรับเพิ่มขึ้น 10-20 เท่า

พลเอก วิชิต กล่าวว่า ได้รับคำถามจากนักธุรกิจไทยเสมอว่า ควรลงทุนอะไรดีในกัมพูชา ซึ่งก็ได้ให้คำตอบไปว่า ลงทุนในสิ่งที่ถนัด เพราะความต้องการของกัมพูชามีหลากหลาย ทั้งการบริโภคอุปโภค Consumer Products หรือโครงสร้างพื้นฐาน

“วันนี้คนมักจะถามคำถามผมว่า ผม ดิฉัน หรือบริษัทของดิฉัน ควรจะไปทำอะไรดี คำตอบของผมก็คือ ทำอะไรก็ได้ที่คุณถนัด ไม่ใช่ทำธุรกิจซื้อขายรถยนต์อยู่ แต่จะไปทำถนน ไปลงทุน Infrastructure คุณไปทำก็ทำไม่สำเร็จ เพราะไม่ใช่อาชีพของคุณ คุณทำไฟแนนซ์อยู่ แต่คุณบอกจะไปขายอาหาร ก็ไม่ใช่ ก็เอาเรื่องที่คุณถนัด เพียงแต่อาจจะมีต้นทุนสูงขึ้น โดยเฉพาะในกรุงพนมเปญ แต่นอกเมืองต้นทุนจะถูกลง”

ขณะนี้นักธุรกิจไทยที่เข้าไปเปิดร้านอาหาร ได้แก่ เอสแอนด์พี แบล็คแคนยอน ซึ่งกำลังขยายสาขาได้ 2-3 แห่ง ส่วนกาแฟอเมซอนมี 30-40 สาขาแล้ว คนเข้าร้านแน่น

ตรงไปตรงมา ยกระดับเป็นสัญญากับรัฐบาล

พลเอก วิชิต กล่าวว่า สิ่งที่อยากฝากนักธุรกิจที่จะไปลงทุนในกัมพูชา คือ แม้จะรู้จักนักลงทุนท้องถิ่นในลักษณะบุคคลต่อบุคคลอย่างดี แต่ควรจะยกระดับให้เป็นสัญญากับรัฐบาลกัมพูชา เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นภายหลัง จากความไม่ตรงไปตรงมาของทั้งสองฝ่าย เช่น ฝ่ายไทยอาจจะคิดเอาเปรียบ ไม่ยอมเสียภาษีเต็มที่ หรือส่งของไปไม่จ่ายภาษีเขา อย่างนี้จะมีปัญหา หรือนักธุรกิจไทยมีความมั่นใจในนักธุรกิจท้องถิ่น ส่งสินค้าให้ไปจำหน่ายหรือลงทุนร่วม ซื้อที่ดินร่วม แต่ไม่ได้ยกระดับไปในระดับรัฐมนตรีหรือระดับกระทรวง หากมีปัญหา ก็เกิดความเสียหาย

“ผมอยากจะบอกว่าถ้าไปติดต่อกันแล้ว ให้ติดต่อกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไปเลย อย่างน้อยให้ยกระดับเป็นการเซ็นสัญญาระหว่างรัฐมนตรีต่อรัฐมนตรีหน่อยก็จะดี”

“ถ้าเราคบเขาแบบตรงไปตรงมา ยกระดับขึ้นมาสูง ก็ไปได้ดี ปัจจุบันต้องชม เอสซีจี หรือ ปตท. ที่ทำอย่างตรงไปตรงมา เอสซีจีมีโรงงานปูนซีเมนต์ที่กำปอต ปตท. ตั้งปั๊มน้ำมันไปรอบพนมเปญ ร้านกาแฟอเมซอนคนกัมพูชาติดเป็นอันดับต้นๆ ร้านอาหารของคนไทยก็เป็นร้านอาหารยอดนิยมของคนกัมพูชา เพราะเรามีความจริงใจ เรานำอาหารของดี ของสด ไปทำให้สะอาด เพราะคนกัมพูชาก็มีพฤติกรรมชอบบริโภคอาหารที่สะอาด ถ้าเราทำในสิ่งที่ดีๆ เขาก็ยินดีรับเราเต็มๆ”

ไทย-เมียนมา วัฒนธรรมนำเศรษฐกิจ

ทางด้านเมียนมา พลเอก วิชิต กล่าวว่า มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นเช่นเดียวกับกัมพูชา เนื่องจากได้มีโอกาสทำงานร่วมกับเมียนมาตั้งแต่มียศเป็นร้อยโท ในขณะที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ จึงมี personal contact กับเมียนมา

“ผมโชคดีที่ทำงานอยู่กับท่านพลเอก ชวลิต ตั้งแต่ผมเป็นร้อยโท ผมก็ได้สัมผัสกับประเทศพวกนี้มาใกล้ๆ เคียงกัน ผมรู้จักเมียนมามาตั้งแต่สมัยท่านขิ่น ยุ้นต์ ท่านตาน ฉ่วย ก็คบกับท่านมานานพอสมควรทีเดียว ไปมาหาสู่ก็ยังติดต่อกันอยู่ ซึ่ง personal contact ในเมียนมาก็มีความสำคัญเหมือนในกัมพูชา”

“วันนี้จะต้องเพิ่มเข้าไปอีกว่าเราจะต้องมี personal contact กับชนกลุ่มน้อยด้วย ไม่ว่าจะเป็นกะเหรี่ยงหรือกลุ่มอื่นๆ ซึ่งผมก็ติดต่อกับเขาอยู่ตลอด ตอนนี้รุ่นลูกแล้ว ท่านพลเอก โบ เมียะ เสียชีวิตลง ก็เหลือลูกแล้ว รุ่นลูกรุ่นหลานแล้ว ก็ยังติดต่อเขาอยู่”

สำหรับสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-เมียนมา พลเอก วิชิต ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกสมาคมเล่าว่า สมาคมมีบทบาทในลักษณะคล้ายกับสมาคมมิตรภาพไทย-กัมพูชา เพียงแต่ไม่ได้ขึ้นกับกระทรวงการต่างประเทศ

สมาคมวัฒนธรรมเศรษฐกิจไทย-เมียนมา ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2544 ปีนี้นับเป็นปีที่ 16 แล้ว เดิมตั้งขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม มีพลเอก พัฒน์ อัคนิบุตร เป็นนายกสมาคม พลเอก สนั่น ขจรกล่ำ เป็นเลขาธิการ ช่วงนั้นมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกัน ต่อมาขยายเป็นการค้าการลงทุน มีการติดต่อกันมานาน ในช่วงหลังที่พลเอก วิชิต มารับหน้าที่ ได้ติดต่อประสานงานกับฝ่ายเมียนมาหลายครั้ง มีการจัด Business Matching ให้กับนักธุรกิจไทยที่ต้องการจะไปลงทุนทำธุรกิจในเมียนมา นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) กับสมาคมนักธุรกิจไทยในเมียนมา เพื่อช่วยประสานงานในนามสมาคม

สมาคมนักธุรกิจไทยในเมียนมา เกิดจากการรวมตัวของธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนในเมียนมา เช่น เอสซีจี ปตท. ธนาคาร และธุรกิจไทยอื่นที่อยู่ในเมียนมา

พลเอก วิชิต กล่าวว่า สมาคมวัฒนธรรมเศรษฐกิจไทย-เมียนมา ยังมีมีสาขาที่ในประเทศถึง 21 จังหวัดทั่วภูมิภาค เพื่อให้การประสานงานการเข้าไปทำธุรกิจในเมียนมาราบรื่นขึ้น โดยมีสาขาตั้งแต่สาขาแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย กาญจนบุรี ราชบุรี พังงา ภูเก็ต มุกดาหาร นครพนม ขอนแก่น ฯลฯ ซึ่งจะเห็นได้ว่าหลายจังหวัดไม่ติดชายแดนหรือไม่เกี่ยวกับเมียนมาเลย แต่นักธุรกิจจังหวัดเหล่านี้ต้องการไปลงทุนในเมียนมา จึงขอจัดตั้งขึ้นเป็นสาขาย่อย ซึ่งมีการดำเนินงานอย่างเข้มแข็ง

ยกตัวอย่างเช่น ในเดือนกุมภาพันธ์ได้นำเกษตรกรจากเมืองมะริดประมาณ 50 คน มาอบรมเรื่องการเกษตรโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อให้นำความรู้กลับไปพัฒนาการเกษตร และในเดือนมีนาคมจะมีการเพิ่มการอบรมให้อีก เป็นการอบรมการใช้ปุ๋ยธรรมชาติ ซึ่งผู้บริหารเมืองมะริดมีความพอใจมาก

“เราต้องให้เขาก่อน หลักการของประเทศพวกนี้คือ เราต้องเป็นผู้ให้เขาก่อน หลักการของสมาคมฯ ก็คือเป็นผู้ให้ก่อน เราไม่มีแสวงกำไร ไม่มีผลประโยชน์อะไร มีแต่การให้ถึงทำได้ยาวนาน”

พลเอก วิชิต กล่าวว่า กิจกรรมของสมาคมในแต่ละจังหวัดไม่เหมือนกัน แต่ละพื้นที่ก็ไม่เหมือนกัน เช่น มะริดเน้นที่ไปการประมง การเกษตร และต้องการให้นักธุรกิจไทยไปลงทุนห้องเย็น ซึ่งเป็นเรื่องที่ไทยควรพิจารณา เพราะบางครั้งหน่วยงานไทยในระดับกระทรวงหรือรัฐบาลคิดช้า ไทยก็จะเสียโอกาสให้กับนักลงทุนจากประเทศอื่นที่มองเห็นโอกาสนี้ โดยเฉพาะจีน

ปัจจุบันปลาที่จับมาได้ทั้งหมดจะมาขึ้นฝั่งที่มะริด แล้วส่งมาที่มหาชัยในไทย ซึ่งเรือประมงมหาชัยไม่สามารถออกจับปลาได้ เพราะไม่มีแรงงาน ต้องซื้อปลาจากมะริด

“เมียนมาต้องการให้ไทยเข้าไปลงทุนทำห้องเย็นที่มะริด ผมก็กำลังจะหาคนไปลงทุนทำห้องเย็น เพราะถ้าเราไม่ไปทำที่มะริด ตอนนี้คนที่จ่อเข้ามาคือจีน จีนจะมาซื้อปลาทั้งหมดที่มะริด อีกหน่อยสมุทรสาครก็จะหาปลากินไม่ได้ นี่คือความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อธุรกิจภาพรวม”

รัฐบาลต้องสนับสนุนนักธุรกิจไทย

พลเอก วิชิต เสริมว่า ประเทศเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นกัมพูชาหรือเมียนมา ต้องการให้ประเทศไทยไปลงทุน แต่ไทยรีรอกัน อย่างไรก็ตาม ส่วนหนึ่งรัฐบาลเองก็ต้องให้การสนับสนุนนักธุรกิจด้วย ยกตัวอย่างจีนที่ได้เปรียบนักลงทุนไทย เพราะรัฐบาลให้การสนับสนุน นักลงทุนจีนต้องการไปลงทุนที่ไหนรัฐบาลตามาสนับสนุน เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่รัฐบาลตามนักลงทุนมาด้วย โดยให้เอกอัครราชทูตทำหน้าที่นำนักธุรกิจไปคารวะและพบปะกับผู้หลักผู้ใหญ่ในกัมพูชา พร้อมกับการสนับสนุนด้านการเงินอีกด้วย

“สำหรับไทยทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ปล่อยให้นักธุรกิจไปลุยกันเอง เมื่อได้งานมาก็แสงดความชื่นชม แต่รัฐบาลไม่ค่อยให้การสนับสนุน ผมต้องชื่นชมนักธุรกิจไทย เขาต่อสู้มาด้วยตัวของเขา กว่าจะได้มาไม่ใช่ง่าย พอได้มาแล้วก็มาบอกรัฐบาล รัฐบาลก็บอกว่าดี คุณไปลงทุน แต่ตอนเริ่มต้นรัฐบาลไม่ค่อยช่วยอะไรเขาเลย เขาต้องปากกัดตีนถีบ”

พลเอก วิชิต กล่าวว่า สมาคมฯ ช่วยได้ไม่มากนัก เพราะการสนับสนุนนักธุรกิจเป็นเรื่องของรัฐบาลที่ต้องดูแลนักธุรกิจ อย่าไปมองว่านักธุรกิจมาอิงรัฐบาล นักธุรกิจเกาหลีใต้เองรัฐบาลก็เข้ามาช่วย แม้แต่ระดับโลก สหรัฐฯ ก็ให้การสนับสนุนนักธุรกิจ รัฐบาลไทยก็ควรจะดูแลนักธุรกิจที่จะเข้าไปลงทุนในประเทศเหล่านี้ด้วย แต่ขณะนี้สถานทูตช่วยได้มาก

ยุคไร้พรมแดน ลงทุน CLM ได้ทุกด้าน

พลเอก วิชิต กล่าวว่า ต้องการให้นักลงทุนไทยไปลงทุนใน CLMV ให้มากขึ้น เนื่องจากยังมีโอกาสทางธุรกิจอีกมากในทุกภาค มีปัจจัยเกื้อหนุน และนักธุรกิจไทยก็มีความสามารถของในหลายด้าน ที่จะตอบสนองความต้องการได้อย่างดี โดยมุ่งไปที่ 3 ประเทศ คือ กัมพูชา ลาว และเมียนมาก่อนก็ได้ เพราะเวียดนามมีระดับการพัฒนาที่ก้าวหน้าไปอีกระดับ

“ผมอยากให้ภาคเอกชนหันไปลงทุนเยอะๆ ขณะนี้วันนี้โลกไร้พรมแดนหมดแล้ว แล้วในกลุ่ม CLMV เราตัด V ไปอันหนึ่งก็ได้ เพราะเวียดนามเขาไปอีกระดับหนึ่งแล้ว แต่กัมพูชา ลาว เมียนมา สามประเทศนี้มีลักษณะคล้ายกัน ที่นักลงทุนไทยยังมีโอกาสอีกมาก”

ประการแรก ทั้งสามประเทศมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ ประการที่สอง แรงงานยังมีค่าจ้างต่ำยังพอจ้างได้ ประการที่สาม ยังมีความต้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอีกมาก เช่น การผลิตไฟฟ้าในลาว ที่มีแหล่งน้ำที่จะสร้างพลังงานได้จำนวนมาก ส่วนกัมพูชาก็กำลังจะสร้างเขื่อน และเมียนมาก็มีหลายเขื่อนเหมือนกัน ฉะนั้นโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไทยไปทำได้หมด ทั้งถนน ทางรถไฟ

นอกจากนี้ยังมีโอกาสในการลงทุนภาคเกษตร ภาคเกษตรของเมียนมามีผลผลิตที่ดีมาก หากไทยไม่ซื้อผลผลิตทางการเกษตรจากเมียนมา ก็จะเสียโอกาสให้กับเวียดนามที่แสดงความสนใจอยู่ เพื่อนำไปส่งออกต่อ

แม้ทั้งสามประเทศน่าลงทุน แต่ละประเทศมีข้อได้เปรียบที่แตกต่างกัน โดยพลเอก วิชิต กล่าวว่า หากมองในแง่อัตราแลกเปลี่ยน กัมพูชาจะได้เปรียบ เนื่องจากไม่มีข้อจำกัดเรื่องสกุลเงินที่นำเข้าไปลงทุน สามารถนำเงินดอลลาร์ไปลงทุนได้โดยไม่ต้องแลกเป็นเงินเรียล และเมื่อส่งกลับกำไรก็ใช้เงินดอลลาร์ ไม่ต้องแลกเป็นเงินเรียลเช่นกัน ขณะที่การลงทุนในเมียนมาที่ใช้เงินจ๊าด นักลงทุนต้องแลกเงินดอลลาร์เป็นเงินจ๊าดก่อน การลงทุนในลาวก็ต้องแลกเป็นเงินกับก่อนที่จะลงทุนได้ ทำให้มีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เงินท้องถิ่นอาจมีความผันผวนและอาจมีตลาดมืด

สำหรับประเด็นแรงงานไม่แตกต่างกันนัก ค่าจ้างแรงงานไม่ห่างกันนัก ส่วนประเด็นของขนาดตลาดลาวอาจจะมีข้อด้อยตรงที่มีประชากรเพียง 5-6 ล้านคน ความต้องการในประเทศจึงไม่สูง ขณะที่กัมพูชามีประชากร 16-17 ล้านคน เมียนมามีประชากรกว่า 50 ล้านคน ตลาดจึงใหญ่กว่ามาก

ประเด็นการศึกษาก็ใกล้เคียงกัน คนกัมพูชาจะใฝ่การศึกษามากกว่าคนเมียนมา แต่เมียนมามีข้อดีตรงที่คนยึดมั่นคุณธรรม เพราะให้ความสำคัญกับศาสนามาก ส่วนประเด็นการเจรจาการตัดสินใจ ในลาวอาจจะต้องใช้เวลานานดูเพราะมีศูนย์กลางพิจารณาที่พรรคประชาชนปฏิวัติลาว ซึ่งทำหน้าที่บริหารประเทศอยู่ขณะนี้ ขณะที่กัมพูชารัฐบาลมั่นคงมาตลอด 20-30 ปี การติดต่อก็ง่ายขึ้น

สำหรับเมียนมาการเมืองก็ค่อนข้างมีปัญหา เดิมเป็นรัฐบาลทหารมาหลายสิบปี ตั้งแต่พลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย เมื่อเปลี่ยนเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หลังจากพรรคของออง ซาน ซูจี ชนะการเลือกตั้ง ก็ถือว่าไปได้ในระดับที่ดี แต่ช่วงนี้อาจจะชะลอตัว เพราะยังผลักดันอะไรไม่ได้มาก

ไทยเป็นพี่ใหญ่ โตด้วยกันแบบพี่น้อง

พลเอก วิชิต กล่าวว่า ทุกวันนี้ ประเทศเหล่านี้มองไทยในแง่ดี ไทยก็ไม่ควรไปคิดในแง่ลบกับประเทศเหล่านี้ที่มองไทยเป็นพี่ใหญ่มีธุรกิจใหญ่ และต้องพึ่งพาอาศัยเรา เพราะฉะนั้น ไทยต้องให้การสนับสนุนในฐานะพี่ใหญ่ ดูแล เหมือนที่นายกรัฐมนตรีของไทยกล่าวไว้ว่าเราต้องโตไปด้วยกัน เพราะประเทศนี้พร้อมที่จะลงทุนร่วมกับไทยทั้งหมด

“เขามองประเทศเราในแง่ที่ดี เพราะฉะนั้นเราต้องให้การสนับสนุนเขาทุกเรื่อง ในหลายๆ เรื่องที่ทำได้ อย่าไปมองว่าจะมาเอาเปรียบเรา อย่ายึดติดกับแนวคิดเก่าๆ อย่าไปสรุปว่าเขาเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ เพียงแค่อ่านข่าว โดยที่ไม่เคยไปสัมผัสแม้แต่ครั้งเดียว เราต้องเข้าใจประเทศเพื่อนบ้านเราให้ดี ไม่มีพรมแดนแล้ว ต้องคบกันแบบพี่น้องถึงจะดี ผมอยากให้เป็นลักษณะบ้านพี่เมืองน้องจริงๆ อย่าไปมองเขาในแง่ลบ เขาก็ไม่ได้มองเราในแง่ลบ เขากลับจะพึ่งเรา นักศึกษาก็ส่งมาเรียนที่เราเยอะ ในแง่ความสัมพันธ์ 3-4 ประเทศนี้ ไม่มีใครคิดเรื่องมุมลบแล้ว ตอนนี้มีแต่คิดทางด้านบวก” พลเอก วิชิต สรุปทิ้งท้ายให้ขบคิด