ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > อ่านวิกฤตอุทกภัยผ่านตัวเลขน้ำท่วม ปี 2554 ทุบสถิติเสียหายสูงสุด

อ่านวิกฤตอุทกภัยผ่านตัวเลขน้ำท่วม ปี 2554 ทุบสถิติเสียหายสูงสุด

22 ตุลาคม 2011


รวมสถิติอุทกภัย 2544-2553

ชาวบ้านตำบลทับยา จ.สิงห์บุรี ประสบภัยน้ำท่วมนานกว่า 1 เดือนแล้ว
ชาวบ้านตำบลทับยา จ.สิงห์บุรี ประสบภัยน้ำท่วมนานกว่า 1 เดือนแล้ว

ภาพชายชรามุดออกจากใต้ถุนบ้านซึ่่งน้ำกำลังเอ่อล้นใกล้ท่วมตัวเรือนบ้านออกมาให้สัมภาษณ์นักข่าวทีวีช่องหนึ่ง หรือภาพหญิงวัยกลางคนที่ปฏิเสธจะขยับย้ายที่พักชั่วคราวออกไปไกลบ้าน เพราะเป็นห่วงคนในครอบครัว ซึ่งยังปักหลักเฝ้าบ้านของพวกเขาอยู่จนกว่าน้ำจะลด

เหตุการณ์เหล่านี้กลายเป็นภาพสะเทือนใจที่ได้เห็นกันซ้ำแล้วซ้ำเล่าแทบทุกปี จะมีบ้างที่แตกต่างออกไปคือระดับน้ำที่รุนแรงมากเกินกว่าจะคาดเดาได้

ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางกำลังทนทุกข์กับอุทกภัยที่รุนแรง รวมทั้งพืชผลทางการเกษตรและภาคธุรกิจที่ได้รับความเสียหาย

สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตรและนครสวรรค์กลายเป็นกลุ่มจังหวัดที่เกิดอุทกภัยซ้ำซากเป็นประจำ และมีปัญหาน้ำท่วมขังต่อเนื่อง 8-10 ครั้งในรอบ 10 ปี ขณะที่ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี พระนครศรีอยุธยาและสุพรรณ์บุรี เป็นกลุ่มจังหวัดที่เผชิญกับภัยน้ำท่วมซ้ำซาก แม้จะมีปัญหาน้ำท่วมขังไม่มากเท่ากับกลุ่มแรก โดยไม่เกิน 3 ครั้งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

จังหวัดอื่นๆ ในภาคตะวันออก ตะวันตกและภาคใต้กำลังทำสถิติน้ำท่วมซ้ำซากตามมาติดๆ

พื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ ณ วันที่ 10 ตุลาคม 2554
ที่มา : http://www.dmc.tv/images/hytre.jpg

หากย้อนไปในช่วง 10 ปีก่อนพบว่า ปี 2544 มีอุกภัย 14 ครั้ง ครอบคลุม 60 จังหวัด พื้นที่เกษตรได้รับความเสียหาย 29,133,765 ไร่ ปศุสัตว์ 102,265 ตัว บ่อปลา/ กุ้ง 36,589 บ่อ ความเสียหายรวมครอบคลุมด้านการเกษตร ด้านสิ่งสาธารณประโยชน์และทรัพย์สินอื่นๆ ทั้งสิ้น 3,666.28 ล้านบาท

หากพิจารณาในแง่มูลค่าความเสียหายรวม ซึ่งอ้างอิงสถิติอุทกภัยในประเทศไทยของสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยไม่นับรวมปี 2553 และปี 2554 พบว่า ปี 2545 เป็นปีที่เกิดความเสียหายรวมมากที่สุด 13,385.31 ล้านบาท จากพื้นที่การเกษตรที่เสียหายประมาณ 10,435,115 ไร่ ด้านปศุสัตว์ 2,955,577 ตัว และบ่อปลา/กุ้ง 103,533 บ่อ ที่เหลือเป็นความเสียหายด้านทรัพย์สินและสิ่งสาธารณประโยชน์ต่างๆ

ปี 2546 เกิดอุทกภัยทั้งสิ้น 17 ครั้ง มีพื้นที่การเกษตร 1,595,557 ไร่ ด้านปศุสัตว์ 301,343 ตัว ขณะที่บ่อปลา/ กุ้ง าย 22,339 บ่อ เมื่อบวกเข้ากับความเสียหายด้านทรัพย์สินและสิ่งสาธารณประโยชน์ต่างๆ มีความเสียหายรวม 2,050.26 ล้านบาท

ส่วนในปี 2547 เสียหายรวมน้อยที่สุดในรอบ 10 ปี ที่ 850.65 ล้านบาทจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี 12 ครั้ง มีพื้นที่เกษตรได้รับความเสียหาย 3,298,733 ไร่ ด้านปศุสัตว์ 71,889 ตัว บ่อปลา/ กุ้ง 12,884 บ่อ ที่เหลือเป็นความเสียหายด้านทรัพย์สินและสิ่งสาธารณประโยชน์อื่นๆ

อีก 5 ปีถัดมา (ปี 2548-2552) พบว่า มีมูลค่าความเสียหายรวมทั้งสิ้น 30,151.97 ล้านบาท แยกเป็นปี 2548 รวม 5,982.28 ล้านบาท ปี 2549 ความเสียหาย 9,627.41 ล้านบาท ปี 2550 ความเสียหาย 1,687.86 ล้านบาท ปี 2551 ความเสียหาย 7,601.79 ล้านบาท และปี 2552 ความเสียหาย 5,252.61 ล้านบาท

ปี 2553 สศช.ประเมินผลกระทบระหว่าง 10 ต.ค.-14 ธ.ค. 2553 และอุทกภัยและดินถล่มในภาคใต้ เดือน มี.ค. 2554 ไว้ในรายงานการศึกษา “การจัดการภัยพิบัติและการฟื้นฟูบูรณะหลังการเกิดภัย” ว่ามีความเสียหายประมาณ 20,666 ล้านบาท พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายกว่า 2.4 ล้านไร่ เกษตรกร 150,000 ราย นาข้าว 1.7 ล้านไร่ ด้านปศุสัตว์และด้านประมง 100,000 ราย ซึ่งเมื่อนับรวมกับความเสียหายจากอุทกภัยนั บตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นมาพบว่า พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายเกือบ 4 ล้านไร่และเกษตรกรได้รับความเดือนร้อนประมาณ 290,000 ราย

พื้นที่ประสบอุทกภัย ในภาคใต้ตอนบน ภาคกลาง และภาคตะวันออก รวมทั้งสิ้น 39 จังหวัด ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 2,002,961 ครัวเรือน 7,038,248 คน พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะได้รับความเสียหาย 7,784,368 ไร่ มีผู้เสียชีวิต จากเหตุอุทกภัย 180 ราย ส่วนในพื้นที่ภาคใต้ มีจังหวัดประสบภัย ทั้งสิ้น 12 จังหวัด ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 609,511 ครัวเรือน 1,932,405 คน มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 80 คน

เบ็ดเสร็จรวมตัวเลขความเสียหายจากอุทกภัย 10 ปี 2544-2553 ที่ห้าหมื่นกว่าล้านบาท เป็นเพียงส่วนเดียวของตัวเลขความเสียหายปี 2554 ซึ่งเกินหลักแสนล้านบาทไปแล้ว และก็ยังทำท่าว่าจะไม่สิ้นสุดลงง่ายๆ!!