ThaiPublica > Native Ad > ลุ้น! 7 ก.พ.นี้ ‘เศรษฐา – ฮุน มาแนต’ พัฒนาปิโตรเลียมใน “OCA” ร่วมกัน?

ลุ้น! 7 ก.พ.นี้ ‘เศรษฐา – ฮุน มาแนต’ พัฒนาปิโตรเลียมใน “OCA” ร่วมกัน?

5 กุมภาพันธ์ 2024


เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หารือทวิภาคีกับสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนต นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา ณ ชั้น 2 ห้องรุมเจก สำนักนายกรัฐมนตรีกัมพูชา
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

ลุ้น! 7 ก.พ.นี้ ‘เศรษฐา’ เจรจา ‘ฮุน มาแนต’ เน้นความร่วมมือพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ “OCA” หรือ เน้นเส้นแบ่งเขตทางทะเล ‘ไทย – กัมพูชา’ ?

ปัญหาการอ้างพื้นที่สิทธิทับซ้อนทางทะเลระหว่างประเทศไทย กับ กัมพูชา หรือ Overlapping Claims Area – OCA ที่ยืดเยื้อมานานหลายทศวรรษ ถือเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน แถลงต่อที่ประชุมรัฐสภาว่าเป็นนโยบายเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว เพื่อความมั่นคงทางพลังงานของทั้งสองประเทศ

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปเยือนกัมพูชา เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคี แต่เรื่อง OCA นั้น ยังไม่ถูกหยิบขึ้นมาพูดคุยกันบนโต๊ะเจรจา

ในวันที่ 7 กันยายน 2567 สมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่มีกำหนดมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย เมื่อครั้งที่ไปเยือนกัมพูชา โดยหัวใจสำคัญของการพบปะหารือกันในครั้งนี้ คาดว่าจะมีการเจรจากันใน 2 ประเด็น คือ เรื่องการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา กับ เรื่องเส้นแบ่งเขตทางทะเลที่มีความทับซ้อนกัน ซึ่งประเด็นหลังนี้หาข้อยุติได้ยาก

การเจรจาภายใต้กรอบของ MOU 2544 หรือ “MOU 2001” ที่ไทยและกัมพูชา เคยทำข้อตกลงกันไว้ กำหนดมีคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค ( Joint Technical Committee – JTC ) ไทย-กัมพูชา รวมทั้งคณะทำงานย่อยอีก 2 คณะ คือ คณะทำงานว่าด้วยการกำหนดพื้นที่พัฒนาร่วมทางทะเล มีอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เป็นหัวหน้าคณะ และคณะทำงานเกี่ยวกับระบบพัฒนาร่วมมีอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เป็นหัวหน้าคณะนั้น

แต่ที่ผ่านมายังไม่มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากติดเงื่อนไขใน MOU ที่ระบุว่า “ให้ทั้งสองประเทศ ต้องเจรจาเรื่องเส้นแบ่งเขตแดนบริเวณเหนือองศา 11 องศาเหนือ ขนาดพื้นที่ 10,000 ตารางกิโลเมตร และด้านใต้เขตพัฒนามีพื้นที่ 16,000 ตารางกิโลเมตร ที่จะเป็นเขตการพัฒนาพื้นที่ร่วมกันหรือ Joint Development Area – JDA ไปพร้อมกัน ไม่สามารถแยกการเจรจาเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้”

ที่ผ่านมานายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เคยให้ความเห็นถึงเรื่อง OCA ไทย-กัมพูชา ว่า รัฐบาลจะต้องปรับแนวทางการเจรจากับทางกัมพูชา ให้เดินหน้าเฉพาะเรื่องของการเข้าไปใช้ประโยชน์ทางด้านพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนเท่านั้น โดยเสนอรูปแบบการตั้งองค์กร หรือ บริษัทร่วมกัน ที่ทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาเข้าไปมีหุ้นส่วน และได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลของทั้งสองประเทศ ยังไม่ต้องเจรจาเกี่ยวกับเรื่องการแบ่งเขตแดน เนื่องจากการนำเรื่องการเจรจาเพื่อแบ่งเขตแดนไปผูกติดกับการใช้ประโยชน์เรื่องพลังงานที่อยู่ใต้ดินจะไม่มีทางประสบความสำเร็จ เพราะไม่มีประเทศไหนจะยอมรับการเปลี่ยนแปลงเส้นเขตแดนได้

ก่อนหน้านี้นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เคยให้สัมภาษณ์รายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ว่า สำหรับแนวทางการเจรจาประเด็นพื้นที่ทับซ้อน ตามกรอบของ MOU 2544 กำหนดให้เจรจาทั้งเรื่องแบ่งเส้นเขตแดน และพื้นที่พัฒนาร่วมไปพร้อมกัน ดังนั้น การเลือกจะเจรจาเฉพาะประเด็นพื้นที่พัฒนาร่วม เพื่อนำปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ก่อน ส่วนการเจรจาเรื่องเขตแดนไว้ทีหลัง ทำไม่ได้ แต่ก็เชื่อว่ารัฐบาลทั้งสองประเทศ จะสามารถเจรจาหาข้อยุติร่วมกันได้ทั้งสองประเด็น

ส่วนนายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ควรจะต้องเจรจาเรื่องแบ่งเส้นเขตแดนให้จบเสียก่อน จากนั้นค่อยมาเจรจาเรื่องการแบ่งผลประโยชน์ปิโตรเลียม

หากจะให้การเจรจาประสบผลสำเร็จ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต้องกล้าตัดสินใจเลือกใช้แนวทางในการเจรจาครั้งนี้ ควรให้น้ำหนักความสำคัญกับความเห็นของนายพีระพันธุ์ มากกว่านายนพดล หรือ นายคำนูณ โดยยึดผลประโยชน์ที่ประเทศไทยและกัมพูชาจะได้รับจากแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อน เป็นเป้าหมายหลัก ส่วนเรื่องการแบ่งเขตพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ฝ่ายใดจะได้พื้นที่มาก หรือ น้อยกว่ากัน เป็นเป้าหมายรอง โดยแนวทางการเจรจาควรใช้ “JDA ไทย-มาเลเซีย” มาเป็นโมเดลต้นแบบ ผ่านกลไกของคณะกรรมการร่วมและคณะทำงาน ดำเนินการเจรจาเพื่อหาข้อยุติร่วมกันตามที่กล่าวข้างต้น และที่ไม่จำเป็นต้องยกเลิก MOU 2544 เริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่ ถึงแม้ MOU กำหนดให้ทั้งสองประเทศ ต้องเจรจาเรื่องการแบ่งเขตแดนทางทะเลกับการพัฒนาพื้นที่ปิโตรเลียมไปพร้อมๆ กันก็ตาม แต่ก็เขียนเอาไว้กว้างๆ ไม่ได้กำหนดให้การเจรจาทั้งสองเรื่อง ต้องทำเสร็จพร้อมกัน เรื่องไหนทำเสร็จก่อน ก็ควรเร่งดำเนินการทันที ไม่ต้องรอ และไม่ถือว่าขัดกับ MOU 2544 เพราะไม่ได้กำหนดให้จบพร้อมกัน

ในยุคที่พลังงานมีราคาแพง ทั้งไทยและกัมพูชา ต่างประสบปัญหาราคาพลังงานที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ ความพยายามที่จะนำเอาทรัพยากรปิโตรเลียมที่มีอยู่ในพื้นที่ OCA มาใช้ประโยชน์ในช่วงเวลาที่ก๊าซธรรมชาติยังมีมูลค่าทางเศรษฐกิจอยู่ จึงถือเป็นทางออกที่จำเป็นของทั้งสองประเทศ และถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของรัฐบาลเศรษฐา เนื่องจากปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติจะมีอยู่ในพื้นที่ OCA นั้น เชื่อว่าจะมีมากพอที่จะช่วยแก้ปัญหาพลังงานราคาแพงให้กับประชาชนได้ในระยะยาว

ขณะเดียวกัน การลดการนำเข้าพลังงาน ก่อให้เกิดการลงทุน และการจ้างงานเกิดขึ้นจากการพัฒนาแหล่งก๊าซในพื้นที่ OCA ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยให้กลับมาเหมือนยุคโชติช่วงชัชวาลอีกครั้ง

ดังนั้น ความสำเร็จของการเจรจาความร่วมมือระหว่างประเทศไทย กับ กัมพูชาในวันที่ 7 กุมภาพันธ์นี้ จึงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ว่าจะเลือกใช้แนวทางการเจรจาที่เน้นไปในเรื่องของการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมร่วมกัน หรือ จะเน้นไปที่เรื่องการแบ่งเส้นเขตแดน ซึ่งอาจกลายเป็นเงื่อนไขปิดล็อกตัวเอง จนนำไปสู่ ประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองในที่สุด…