ThaiPublica > คอลัมน์ > คติชีวิตจาก “ศรีบูรพา”

คติชีวิตจาก “ศรีบูรพา”

2 มกราคม 2024


วรากรณ์ สามโกเศศ

คำกล่าวของผู้ทรงปัญญาเกี่ยวกับชีวิตมีคุณค่าอย่างยิ่งเสมอต่อผู้กระหายเรียนรู้ซึ่งต้องการมีชีวิตที่มีความสุขและมีคุณค่า คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ หนึ่งในบุรุษแห่งปัญญาของสังคมไทย ได้ให้ที่สุดแห่งความจริงของชีวิตด้วยภาษาไทยที่งดงามอย่างสมควรใคร่ครวญ

คุณกุหลาบ เจ้าของนามปากกา “ศรีบูรพา” เป็นนักประพันธ์และนักหนังสือพิมพ์ผู้มีผลงานมากมาย ที่รู้จักกันมากที่สุดก็คือ ข้างหลังภาพ (2479) สงครามชีวิต (2475) แลไปข้างหน้า (2498) ลูกผู้ชาย (2471) ฯลฯ ท่านเกิดใน พ.ศ. 2449 และถึงแก่กรรมใน พ.ศ. 2517 ด้วยวัย 68 ปี เรียนจบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ และเรียนจบธรรมศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

“ศรีบูรพา” พยายามปลุกสังคมไทยให้เข้าใจและเห็นใจคนยากไร้ผ่านคำพูดและเรื่องราวของตัวละคร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใน “สงครามชีวิต” ซึ่งเป็นเรื่องราวของความรักของชายหนุ่มผู้ยากจนกับหญิงสาวผู้เคยร่ำรวยและตกอับ โดยเล่าผ่านจดหมายที่ทั้งสองเขียนถึงกันอันแสดงออกถึงความรัก ค่านิยม ความเชื่อ ความคิดของแต่ละคน ฯลฯ

ตอนหนึ่ง ชายหนุ่มกล่าวว่า “ฉันอ้อนวอนเพลิน อย่าได้ชำเลืองดูชีวิตของบุคคลที่สูงกว่าเรา พวกนี้เป็นภัยที่สุดสำหรับคนอย่างเธอและฉัน จำไว้ว่าความมั่งมีที่เราอยากได้ แต่ไม่สามารถขึ้นถึงจะฆ่าเธอ สภาพจนที่ต่ำกว่านั้นแหละจะช่วยต่อชีวิตของเธอให้ยืนยาว” ข้อความนี้สามารถเอามาสอนคนในยุคนี้ที่ต้องการเลียนแบบวิถีชีวิตของคนมีฐานะจนกระเสือกกระสนเป็นหนี้อย่างเป็นภัยแก่ตนเอง แต่ถ้าหากยอม “อยู่กิน” อย่างต่ำกว่าแล้ว (จนมีเงินออมได้) ก็จะมีหนทางชีวิตอยู่รอดต่อไป

ประโยคนี้ล้ำลึกกว่าแค่เงินทอง ภัยเกิดเแก่ตนเองได้ในหลายลักษณะหากมัวเปรียบเทียบกับชีวิตคนอื่นที่มีฐานะ “เหนือกว่า” อยู่ร่ำไป พูดง่ายๆ ก็คือ “ศรีบูรพา” กำลังสอนเรื่องชีวิต เรื่องความพอใจในชีวิตของตนเอง ความโลภอยากมั่งมีจะเป็นภัยที่ฆ่าตนเองได้เสมอ

“ศรีบูรพา” ได้สอนชาวธรรมศาสตร์ตลอดจนนิสิตนักศึกษาทั้งหลายที่ถือได้ว่าเป็น “อภิสิทธิ์ชน” ของสังคมไทยอย่างน่าคิด ข้อความตอนหนึ่งจากบทความ “มองนักศึกษา มธก. ผ่านแว่นขาว” (2496) (มธก. ย่อมาจากชื่อดั้งเดิมคือ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง) “นักศึกษาและบัณฑิตของ มธก. มีความรักในมหาวิทยาลัยของเขา มิใช่เพราะเหตุแต่เพียงว่าเขาได้เรียนในมหาวิทยาลัยนี้ เขาได้วิชาความรู้ไปจากมหาวิทยาลัยนี้ เขารักมหาวิทยาลัยนี้ เพราะมีธาตุบางอย่างของมหาวิทยาลัยนี้ที่สอนให้เขารู้จักรักคนอื่นๆ รู้จักคิดถึงความทุกข์ยากของคนอื่น เพราะว่ามหาวิทยาลัยนี้ไม่กักกันเขาไว้ในอุปทาน และความคิดที่จะเอาแต่ตัวรอดเท่านั้น ชาว มธก. รักมหาวิทยาลัยของเขา เพราะว่ามหาวิทยาลัยของเขารู้จักรักคนอื่นด้วย”

ข้อความข้างต้นนี้ได้ถูกดัดแปลงโดยกลุ่มนักศึกษากิจกรรม “14 ตุลา” เป็นข้อความว่า “ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน” โดยนำมาเผยแพร่ที่งานนิทรรศการการเมืองในปี พ.ศ. 2518 ข้อความสำคัญนี้เตือนใจให้ไม่ลืมประชาชนผู้โดยแท้จริงแล้วคือเจ้าของมหาวิทยาลัย เพราะเงินทุกบาทที่ทำให้มหาวิทยาลัยอยู่มาได้ตลอดนั้น ล้วนมาจากภาษีของประชาชนทั้งสิ้น

“ศรีบูรพา” ต่อสู้เพื่อคนยากไร้ ซึ่งในยุคสมัยนั้นถือว่าเป็นเรื่องใหม่ เพราะความแตกต่างทางฐานะของผู้คนดูจะเป็นเรื่องที่เป็นปกติจนถูกมองข้าม คนที่ร่ำเรียนเศรษฐศาสตร์รู้ดีว่า กลไกของเศรษฐกิจโดยธรรมชาติทำให้เกิดสถานการณ์ที่ความยากจนของคนบางกลุ่มนั้น เป็นผลพวงจากการหาประโยชน์ของผู้เหนือกว่าทั้งด้านฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างจงใจและอย่างมิได้ตั้งใจ ดังนั้น คนที่เข้าใจเศรษฐศาสตร์อย่างแท้จริงและมีหัวใจแล้วมักอยู่เคียงข้างคนยากไร้เสมอ

“ข้างหลังภาพ” เป็นนิยายที่ได้รับการตีพิมพ์แล้วกว่า 37 ครั้ง สร้างเป็นภาพยนตร์และละครหลายครั้ง แปลเป็นภาษาอังกฤษ จีน และญี่ปุ่น นิยายโรแมนติคนี้มีพล็อตว่า ม.ร.ว.กีรติ สาวงามวัย 35 ปี เป็นภรรยาของเจ้าคุณอายุ 50 ปี ไปเที่ยวญี่ปุ่นและให้นพพร นักศึกษาหนุ่มผู้กำลังเรียนเศรษฐศาสตร์ วัย 22 ปี เป็นผู้นำเที่ยว ทั้งสองเกิดรักชอบพอกันแต่ก็หาทางออกไม่ได้ จนคุณหญิงกีรติเดินทางกลับ 6 ปีผ่านไป เจ้าคุณเสียชีวิตไปแล้ว นพพรกลับมาและแต่งงานกับคู่รัก ท่ามกลางการรอคอยของคุณหญิง นิยายรักแสนเศร้านี้ใช้ภาษาไทยที่สละสลวย และมีข้อความที่กินใจเสมอ ตอนหนึ่งมีความว่า

“แม้เรามิได้เกิดเป็นดอกซากุระ ก็อย่ารังเกียจที่เกิดเป็นบุปผาพรรณอื่นเลย ขอแต่ให้เป็นดอกไม้ที่งามที่สุดในพรรณของเรา/ภูเขาฟูจิมีอยู่ลูกเดียว แต่เขาทั้งหลายก็หาไร้ค่าไม่/ในโลกนี้มีตำแหน่งและงานสำหรับทุกคน งานใหญ่บ้างเล็กบ้าง แต่ก็เป็นงานที่มีตำแหน่งและเกียรติด้วยกันทั้งนั้น/แม้เป็นดวงอาทิตย์ไม่ได้ จงเป็นดวงดาวเถิด / จะเป็นอะไรก็ตาม จงเป็นสักอย่างหนึ่ง จะเป็นอะไรมิใช่ปัญหา สำคัญอยู่ที่ว่า จงเป็นให้ดีที่สุด ไม่ว่าเราจะเป็นอะไรก็ตาม”

ไอเดียในการเขียนข้อความนี้มาจากสุภาษิตของญี่ปุ่น “ศรีบูรพา” เขียนได้งดงามและมีความหมายที่ลึกซึ้งอย่างน่าไตร่ตรอง โดยเฉพาะสำหรับคนรุ่นใหม่ที่อาจไม่เคยอ่านข้อความที่อุดมด้วยปัญญานี้

สำหรับคนโรแมนติกลองพิจารณาข้อความต่อไปนี้ของคุณหญิงกีรติก่อนตาย “ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจว่าฉันมีคนที่ฉันรัก”

คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นบุคคลดีเด่นของโลกจากองค์กร UNESCO ในปี 2548 ท่านจะเสียชีวิตครบ 50 ปี ในปีหน้า นี่คือมรดกอันล้ำค่าที่ท่านมอบไว้ให้คนรุ่นหลัง

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์ “อาหารสมอง” น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 19 ธ.ค. 2566