ThaiPublica > คอลัมน์ > โลกนี้ไม่มีอีเมล์ฟรี

โลกนี้ไม่มีอีเมล์ฟรี

10 เมษายน 2014


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

บริการอีเมลของต่างประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น gmail/yahoo/hotmail ผู้ใช้บริการไม่ต้องเสียเงินแต่อย่างใดจนคิดว่าเป็นบริการฟรี แต่หารู้ไม่ว่ามันไม่ได้ฟรีจริงดังที่คิด เพราะ “โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี”

วลี “โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี” ผู้เขียนใช้หากินมากว่า 20 ปีแล้ว โดยตั้งเป็นชื่อหนังสือหลายภาคและนำมาใช้อธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ในหลายบทความ ที่มาของวลีนี้ก็คือ “there’s no free lunch” ไม่มีอาหารกลางวันที่ฟรี วลีภาษาอังกฤษนี้มีที่มาจากการที่โรงเตี๊ยมในอังกฤษเมื่อ 200 กว่าปีก่อนมักติดป้ายว่า “free lunch” แต่ถ้าหากผู้เข้าไปใช้บริการไม่ยอมจ่ายเงินสั่งอาหารอื่นเพิ่มด้วยก็จะถูกโยนออกมาข้างนอก ดังนั้นจึงทำให้เกิดวลีว่า “there’s no free lunch” มีความหมายว่าไม่มีอะไรที่ฟรีจริงๆ มันต้องมีอะไรแอบแฝงอยู่เป็นแน่

มิลตัน ฟรีดแมน (Milton Friedman) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลชื่อดังนำเอาวลีในภาษาอังกฤษนี้มาใช้ในเศรษฐศาสตร์ ซึ่งมีความหมายว่าไม่มีอะไรที่ฟรี กล่าวคือ หากจะได้อะไรมาก็จำเป็นต้องเอาบางสิ่งหรือหลายสิ่งไปแลก สิ่งที่ฟรีดแมนเอามาใช้นี้เป็นสัจธรรมทางเศรษฐศาสตร์ กล่าวคือ ทุกสิ่งที่ได้มาล้วนมีต้นทุนทั้งสิ้น ซึ่งมิได้หมายความว่าต้องเป็นตัวเงิน ตัวอย่างเช่น หากเอาที่ดินไปปลูกมะม่วง อาจได้มะม่วงมาก็จริงอยู่แต่ก็จำต้องเสียสละมะละกอซึ่งอาจปลูกได้แทนจากที่ดินผืนนี้ หรือพูดอีกอย่างว่าได้มะม่วงมาโดยเอามะละกอไปแลก อีกตัวอย่างก็คือการอ่านหนังสือที่ได้มาโดยไม่ต้องจ่ายเงินก็ไม่ฟรี เพราะต้องเสียเวลาไปกับการอ่าน เวลาที่อ่านนี้สามารถเอาไปนอนได้ ดังนั้นจึงได้ความรู้จากหนังสือแต่จำต้องเอาการนอนไปแลก

หากต้องการเป็นคนประสบความสำเร็จในชีวิตก็ต้องเสียสละเวลาที่ควรเอาไปหาความสุขเพื่อเอามาใช้ทำงาน อยากมีรูปร่างสวยก็ต้องยอมเสียสละไม่กินอะไรตามใจชอบ อยากรักษาโรคให้หายก็ต้องยอมรับผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น อยากมีความรู้ดีก็ต้องยอมอดทนเอาเหงื่อและน้ำตาไปแลก ฯลฯ

สำหรับบริการอีเมลก็เช่นเดียวกัน ตลอดเวลากว่า 15 ปีที่มีบริการนี้มา ผู้คนนับพ้นล้านคนในโลกใช้บริการกันอย่างกว้างขวางเพราะไม่เสียค่าบริการ โดยมิได้ตระหนักว่าต้องสูญเสียความเป็นส่วนตัวมากมาย เนื่องจากผู้ให้บริการมีเทคโนโลยีในการประมวลข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้เพื่อนำไปขายหรือใช้ประโยชน์ต่อ

ในสัญญาที่ทุกคนรีบคลิกคำว่า “agree” เมื่อเริ่มใช้บริการอีเมลนั้น คนแทบจะทั้งหมดมิได้อ่านอย่างละเอียดว่าเขาสามารถเอาข้อความที่เราส่งและรับจากใครต่อใครนั้นไปใช้อะไรได้บ้าง และถึงแม้จะอ่านก็คงละเลยในเนื้อหาเพราะอยากใช้บริการที่เกือบจะเป็นสิ่งขาดไม่ได้ในชีวิตไปแล้ว

วิธีการหลักที่ผู้ให้บริการใช้เพื่อหารายได้ก็คือมองหาคำหลักๆ เพื่อให้รู้ว่าผู้ใช้กำลังพูดคุยกันถึงเรื่องอะไร ด้วยความถี่มากน้อยเพียงใด และในบริบทใด จากนั้นก็เอาบทสรุปของข้อมูลไปจับคู่กับสินค้าที่ผู้โฆษณาเชื่อว่าผู้ใช้บริการสนใจ ตัวอย่างเช่น ถ้ามีการคุยกันถึงเรื่องการรักษาสุขภาพ การออกกำลังกาย ระหว่างผู้ใช้อีเมลกันอยู่เนืองๆ โดยใช้คำหลักๆ ในเรื่องนี้ เครื่องจักรที่แสนฉลาดก็จะตรวจจับได้และนำไปสังเคราะห์และจับคู่กับสินค้าประเภทอาหารสุขภาพที่ผู้โฆษณาแต่แรกก็ไม่รู้เหมือนกันว่าผู้มีทางโน้มสูงที่จะซื้อสินค้านั้นอยู่ที่ใด แต่ตอนนี้ผู้ให้บริการรู้และจะจับคู่ให้โดยการโฆษณาสินค้านั้นจะไปปรากฏบนจอของผู้รับบริการนั้นอยู่บ่อยๆ ข้อสังเกตก็คือผู้ให้บริการมิได้ทำสิ่งนี้ให้ผู้โฆษณาสินค้าโดยไม่เก็บเงินอย่างแน่นอน และนี่คือแหล่งรายได้ของผู้ให้บริการ

นอกจากนี้ ผู้ให้บริการอีเมลยังใช้วิธีการที่เรียกว่า “data mining” หรือขุดเหมืองข้อมูล จากข้อความที่ส่งเข้าและส่งออกของผู้ใช้บริการคนหนึ่ง เมื่อตรวจจับ วิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ข้ามเวลาก็จะได้ “หน้าตา” ของผู้รับบริการว่าเป็นผู้มีรสนิยมสินค้าใดเป็นพิเศษ มีรายได้สักเท่าใด (หากโอนเงิน ถอนเงิน ยื่นภาษี พูดคุยถึงเรื่องรายได้ผ่านบริการอีเมล) หน้าตาของผู้บริโภคเช่นนี้เป็นสิ่งหอมหวานในเชิงการตลาดเป็นอย่างยิ่ง

การตรวจจับข้อมูลออกและเข้าเช่นนี้ อุปมาเหมือนกับการหาหน้าตาของเจ้าของขยะจากการวิเคราะห์ขยะที่เขาทิ้ง ขยะจะบอกหมดว่าชอบกินผลไม้ใด กินน้ำผลไม้หรือไม่ ชอบกินเหล้าหรือกินเบียร์ ชอบกินเนื้อหรือกินปลา บริโภคผักมากน้อยแค่ไหน เป็นหนี้บัตรเครดิตมากน้อยเพียงใด กินยารักษาโรคอะไร ฯลฯ

พูดสั้นๆ ง่ายๆ ก็คือ เจ้าของขยะหรือผู้ใช้บริการเกือบ “ล่อนจ้อน” หมดหากขุดเหมืองข้อมูลนี้ได้ลึกจริงๆ และสามารถถลุงสินแร่จากเหมืองนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นี่คือสิ่งที่ผู้ใช้บริการอีเมลต้องจ่ายไปเพื่อแลกกับการได้ใช้บริการอีเมลโดยไม่เสียค่าบริการ พูดอีกอย่างแบบเล่นโวหารก็คือใช้บริการโดยไม่ต้องจ่ายเงินแต่ไม่ฟรี

ถ้าคิดว่าการสูญเสียความเป็นส่วนตัวเช่นนี้น่าตกใจ ลองพิจารณาคำให้การของเอดเวิร์ด สโนว์เดน (Edward Snowden) อดีตผู้ทำงานให้เอ็นเอสเอ (NSA: National Security Agency) ของสหรัฐอเมริกา ที่ระบุว่าทางการสหรัฐอเมริกามีโครงการชื่อพริซึม (Prism) ซึ่งเป็นโปรแกรมที่วิเคราะห์อีเมลและข้อมูลสื่อสารทุกชิ้นในโลกไซเบอร์ ตลอดจนคำพูดที่สื่อสารกันทางโทรศัพท์ทั่วโลกและนำมาหาความเชื่อมต่อกันในเรื่องที่เป็นประเด็น เช่น การค้ายาเสพติด การก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์ ฯลฯ หากคำกล่าวนี้เป็นจริงก็หมายความว่าความเป็นส่วนตัวของพวกเรานั้นแทบไม่เหลือเลย

รัฐบาลจีนมีบริการอีเมลให้ประชาชนใช้ จีนมีเฟซบุ๊กในเวอร์ชันของจีนเองเนื่องจากไม่ไว้ใจอีเมลอเมริกัน สำหรับคนไทยและข้าราชการไทยนั้นเราใช้บริการอีเมลต่างประเทศกันอย่างกว้างขวาง และน่าจะล่อนจ้อนโดยมิได้ตระหนักถึงอันตรายที่อาจเกิดต่อประเทศ

ปัจจุบันสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สรอ. มีบริการอีเมล MailGoThai สำหรับให้ข้าราชการไทยสื่อสารถึงกัน ปัจจุบันมีผู้ใช้ประมาณกว่า 230,000 คน ซึ่งถือว่ายังต่ำอยู่มาก

บริการอีเมลนั้นสะดวก ไม่เสียค่าบริการ แต่อย่าได้คิดเลยแม้แต่ขณะจิตว่ามันเป็นของฟรี เพราะ “โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี”

หมายเหตุ ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันอังคาร 8 เม.ย. 2557