ThaiPublica > คอลัมน์ > กรรมการสภามหาวิทยาลัยกับการยื่นบัญชี

กรรมการสภามหาวิทยาลัยกับการยื่นบัญชี

18 พฤศจิกายน 2018


วรากรณ์ สามโกเศศ

“ถ้าไม่คิดจะโกงจะกลัวการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินไปทำไม” “ยิ่งโปร่งใสยิ่งเป็นประโยชน์ต่อการปราบคอรัปชัน” “ที่จะลาออกจากนายกและกรรมการสภาก็เพราะต้องการหนีการตรวจสอบ” ฯลฯ ทั้งหมดนี้คือข้อวิจารณ์ปฎิกิริยาด้านลบของกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่ต้องยื่นและเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อสาธารณะ ในฐานะผู้เขียนเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยของรัฐคนหนึ่งจึงใคร่ขอแสดงความ เห็นจากอีกแง่มุมหนึ่ง

กฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับใหม่ 2561 มาตรา (102) ระบุให้ผู้ดำรงตำแหน่งต่อไปนี้ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ
(

    1) ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
    (2) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
    (3) ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
    (4) ข้าราชการตุลากรตั้งแต่อธิบดีผู้พิพากษาขึ้นไป
    (5) ข้าราชการตุลาการศาลปกครองตั้งแต่อธิบดีศาลปกครองชั้นต้นขึ้นไป
    (6) ข้าราชการอัยการตั้งแต่อธิบดีอัยการขึ้นไป
    (7) ผู้ดำรงตำแหน่งสูง
    (8) ตำแหน่งอื่นที่กฎหมายอื่นกำหนดให้ยื่น
    (9) ผู้บริหารท้องถิ่น รองและผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น โดยคู่สมรสให้หมายถึงผู้ที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสแต่อยู่กินฉันสามีภรรยาด้วย บุตรนั้นทั้งลูกในและนอกสมรส

มาตรา 104 ระบุว่าเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งใดต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 แล้ว ให้เผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป

การยื่นโดยทั่วไปต้องยื่นเมื่อเข้ารับตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่ง และยื่นทุกสามปีที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่

เมื่อ 1 พฤศจิกายน 2561 ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ประกาศในราชกิจจานุเบกษาระบุตำแหน่งต่าง ๆ ตามมาตรา 102 ที่เป็นปัญหาก็คือการตีความข้อ (7) ว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งสูง” กินความถึงนายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัยของรัฐทั้งหมดโดยมีการระบุชื่อสถาบันด้วย

ตรงนี้แหละที่เกิดข้อถกเถียงขึ้นมาว่าจะมีนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยหลายคนแสดงความประสงค์จะลาออก ประเด็นสำคัญที่หลายคนอาจมองข้ามก็คือคนเหล่านี้มิได้เพียงยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตนเอง ภรรยาและบุตรผู้ไม่บรรลุนิติภาวะโดยใส่ซองไว้ หากไม่มีเรื่องก็ไม่มีการเปิดออกตรวจสอบ ความจริงก็คือมาตรา 104 ระบุให้ยื่นและเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดให้ประชาชนทราบ เพื่อประโยชน์ในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของบุคคลในข้อ (1) (เฉพาะนายกรัฐมนตรี สว. และ สส.) ข้อ (2) (3) (7) และ ( 9 ) (มาตรา 106) ข้างต้น อีกทั้ง ป.ป.ช. ต้องตรวจสอบและประกาศผลด้วย

การยื่นและการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะของบุคคลเหล่านี้ในหลักการเป็นเรื่องดี แต่มีหลายประเด็นที่อาจเกิดผลเสียมากกว่าผลดี ผู้เขียนขอกล่าวเฉพาะกรณีของนายกสภาและกรรมการสภาในที่นี้ โดยมีความเห็นดังต่อไปนี้

(1) ที่เขากลัวกันนั้นมิใช่การยื่น แต่กลัวการยื่นไม่ครบซึ่งเป็นคดีอาญา มีผู้ถูกจำคุกมาแล้ว ใครที่อยู่ในวัย 50 ปีขึ้นไป ทั้งตัวเองและภรรยาย่อมมีสมบัติพัสถานปลีกย่อยไม่น้อย เช่น เงินฝากหลายบัญชีหลายแห่ง หุ้นที่อาจซื้อไว้แล้วลืมเพราะไม่มีเงินปันผล (ใบหุ้นสมัยก่อนต้องเก็บไว้เองและต้องเก็บต่อเนื่องถึงปัจจุบัน) ต้องแจ้งมูลค่าตุ้มหู แหวน กำไล และอัญมณีต่าง ๆ ฯลฯ ที่มีมูลค่ารวมกันเกินสองแสนบาท ทั้งหมดต้องมีรายละเอียด มีรูปถ่าย ประเมินมูลค่าของแต่ละรายการ หากพบว่าขาดรายการใดไปก็อาจมีปัญหาได้

นอกจากนี้ต้องรายงานมูลค่าสิทธิและสัมปทาน เช่น สิทธิในทรัพย์สินทางวรรณกรรม (ต้องมีสำเนาหลักฐานการจดทะเบียนสิทธิบัตรและลิขสิทธิ์) ศิลปกรรม ประดิษฐกรรม สิทธิตามสัญญา สิทธิที่รัฐหรือเอกชนรับรอง สิทธิสมาชิกสนามกอล์ฟ สิทธิการเช่าที่ดิน สลากออมสินยานพาหนะ ฯลฯ ถ้าภรรยาลืมบางสิ่งหรือตนเองลืมบางสิ่ง เช่น มิได้เอาเงินฝากสมุดออมสินของลูกมารวม ฯลฯ โดยมิได้ตั้งใจก็มีสิทธิถูกสอบสวน เสียชื่อเสียงไปก่อนที่จะเคลียร์ชื่อได้ (กรรมการสภาต่อไปจะมีแต่ผู้ “แต่งตัว” มาเรียบร้อยแล้วพร้อมที่จะเป็น)

การตกรายการโดยมิได้ตั้งใจด้วยเงินเล็กน้อย อาจเป็นปัญหาได้เพราะวิจารณญาณของ ป.ป.ช. แต่ละคนแต่ละสมัยย่อมแตกต่างกัน ดังนั้นเพื่อตัดไฟตัดความกังวล ก็อย่าเป็นมันเสียดีกว่า

(2) ประธานกรรมการสนับสนุนกิจการของมหาวิทยาลัยที่มักเป็นนักธุรกิจศิษย์เก่า และนายกสมาคมศิษย์เก่าที่เป็นกรรมการสภาโดยตำแหน่งจะหาได้ยากขึ้น มหาวิทยาลัยจะเสียโอกาสได้คนที่เหมาะสมมาเป็นกรรมการสภา

การรายงานนั้นต้องครอบคลุมยอดเงินที่ค้างบัตรเครดิตทุกประเภท หนี้ทุกลักษณะ เงินกู้จากทุกสถาบันการเงิน อีกทั้งต้องรายงานหลักทรัพย์ทุกประเภทจากทุกบริษัทที่เป็นเจ้าของ พูดง่าย ๆ ก็คือต้องรายงานทรัพย์สินทุกลักษณะ ประมาณการรายได้ระหว่างปีจากทุกแหล่งประกอบแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ปีสุดท้าย คงไม่มีนักธุรกิจคนใดที่สามารถรวบรวมได้ครบเพราะยอดที่มีต้องตรงกับวันรายงาน และอาจไม่อยากเปิดเผยให้คู่แข่งทราบว่าตนเองกำลังทำอะไรอยู่

(3) การเป็นกรรมการสภานั้นย่อมขัดใจ ขัดผลประโยชน์ของคนในมหาวิทยาลัยบ้างเป็นธรรมดา บางคนอาจโกรธแค้นถือเป็นเรื่องส่วนตัวที่ไม่ได้รับการสรรหาในตำแหน่งที่ต้องการโดยกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานกรรมการสรรหา การเปิดเผยข้อมูลจะเป็นอาหารอันโอชะสำหรับคนเหล่านี้ที่จะไปต่อยอดเท็จร้องเรียนไปยัง ป.ป.ช. ว่าประเมินขาดไม่ครบ หรือทำลายชื่อเสียงทางโซเชียลมีเดียโดยมีข้อมูลจริงปนเท็จได้อย่างน่าเชื่อถือ ซึ่งก่อนหน้านี้ทำได้ยากกว่าและน่าเชื่อถือน้อยกว่า

ผู้เขียนเชื่อว่าการเปิดเผยข้อมูลเช่นนี้มีข้อเสียเพราะจะเป็นชนวนที่ทำให้เกิดการร้องเรียนป.ป.ช. สตง. และตำรวจอีกมากกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบันจากข้อขัดแย้งที่มีอยู่มากมายแล้วจนอาจทำให้การบริหารมหาวิทยาลัยไม่ไปอย่างราบรื่นและเลวร้ายกว่าสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้

การประเมินค่าสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นทรัพย์อื่น ๆ สามารถถกเถียงเรื่องมูลค่ากันได้เสมอ (มูลค่าวัตถุโบราณที่ครอบครองอยู่ มูลค่าพระเครื่อง จะประเมินอย่างไร) และตรงจุดนี้จะเป็นข้อถกเถียงที่ทำให้เกิดการร้องเรียนกันได้ไม่รู้จบ

(4) การ “กลัวหลุด” “กลัวเสียชื่อเสียง” “กลัวการแก้แค้น” “อึดอัดใจ” (เสียความเป็นส่วนตัว) “ความยุ่งยาก” (ในการหาหลักฐานประกอบทุกรายการ) ฯลฯ ล้วนเป็นเหตุผลน่าเห็นใจ สำหรับกรรมการสภาที่มิได้มีหน้าที่จัดซื้อ จัดจ้าง ตั้งใจที่จะทำงานแทนประชาชนในการ “กำกับ” และ “ตรวจสอบ” การทำงานที่มีอธิการบดีเป็นหัวหน้า

การลาออกจากการเป็นนายกและกรรมการสภาแทนที่จะอยู่และต้องเปิดเผยทรัพย์สินและหนี้สินต่อสาธารณชนจึงมิใช่เรื่องของการกลัวการตรวจสอบ กลัวว่าโกงแล้วจะถูกจับได้ ไม่ชอบความโปร่งใส ปากพูดว่าเกลียดคอรัปชันแต่พอถึงตาตนเองกลับไม่ร่วมมื

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้รับการสรรหาจากประชาคมเพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจึงน่าจะเป็นผู้มีประสบการณ์และความรู้ช่วยชี้นำและกำกับมหาวิทยาลัยได้ดี การลาออกไปจึงเป็นเรื่องน่าเสียดาย อีกส่วนหนึ่งของกรรมการสภาที่มาจากผู้แทนผู้บริหารระดับคณบดี ผู้แทนอาจารย์ต่อไปนี้จะหาได้ยากเพราะเป็นเพียง 1-2 ปี แต่ต้องยื่นบัญชีเหมือนกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ จะได้มาก็เฉพาะ “ผู้พร้อม” ที่จะเข้ามาร่วมเป็นกรรมการเท่านั้น

การมีกรรมการสภาที่ไม่ดี เจตนาทุจริต เบียดบังเงินทองของมหาวิทยาลัยนั้นมิใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ทำได้ยาก ต้องการความร่วมมือกับกรรมการสภาคนอื่นและผู้บริหารอย่างกว้างขวางเช่นในเรื่องการขายตำแหน่งบริหาร อนุมัติโครงการที่ใช้เงินและทรัพยากรของมหาวิทยาลัย อย่าลืมว่าคนเลวนั้นมีอยู่ทุกแห่งและโกงได้ในทุกตำแหน่งเพราะมีความสร้างสรรค์ในหัวใจสูง การเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของบุคคลใดก็ตาม กี่คนก็ตาม ไม่ได้แก้ไขปัญหาคอรัปชั่นราวเสกคาถา ถ้ามันมีอิทธิฤทธิ์มากจริงคอรัปชั่นคงลดลงไปตลอดกว่า 20 ปี ที่มีการยื่นบัญชีเช่นนี้กันแล้ว

ในการประกาศชื่อสถาบันอุดมศึกษาครั้งนี้ ป.ป.ช. ไม่ได้รวมวิทยาลัยชุมชน (20 แห่งที่ให้อนุปริญญา) โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนนายร้อยตำรวจ โรงเรียนนายเรือ โรงเรียนนายเรืออากาศ

การมีรายชื่อของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่สมเด็จพระสังฆราชเป็นองค์นายกสภา และมีพระเถระชั้นผู้ใหญ่เป็นกรรมการสภาจำนวนมากเช่นเดียวกับมหามกุฏราชวิทยาลัย หากรูปใดรายงานทรัพย์สินตกไปก็อาจนำไปสู่การปาราชิกได้

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 13 พ.ย. 2561