ThaiPublica > เกาะกระแส > “นโยบายการค้า” ของรัฐบาลทรัมป์สมัยที่ 2 การตอบโต้แบบ “ตาต่อตา ภาษีต่อภาษี”

“นโยบายการค้า” ของรัฐบาลทรัมป์สมัยที่ 2 การตอบโต้แบบ “ตาต่อตา ภาษีต่อภาษี”

24 มกราคม 2024


ปรีดี บุญซื่อ รายงาน

ที่มาภาพ: X Donald J. Trump

การลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในนามพรรครีพับลิกันของรัฐโอไฮโอ เมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา ปรากฏว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับชัยชนะครั้งใหญ่ใน 98 เขตจากทั้งหมด 99 เขต ทรัมป์ได้คะแนนรวม 51% คู่แข่งรองลงมา นายรอน เดอซานติส ได้ 21% และนางนิกกี ฮาเลย์ได้ 19%

คะแนนเสียงท่วมท้นจากการลงคะแนนของสมาชิกพรรครีพับลิกันที่เรียกว่า caucus แสดงให้เห็นว่า พรรครีพับลิกันยังคงเป็นพรรคการเมืองของโดนัลด์ ทรัมป์ ทรัมป์ยังมีความผูกพันอย่างเหนียวแน่น ในหมู่สมาชิกพรรครีพับลิกันที่สนับสนุนเขา กลายเป็นพลังทางการเมืองที่ยั่งยืนยาวนานของการเมืองในสหรัฐฯ ไปแล้ว นิวต์ กิงริช อดีตประธานสภาผู้แทนสหรัฐฯ กล่าวว่า “ทรัมป์ไม่ใช่ผู้ลงสมัครรับการเลือกตั้ง แต่เป็นผู้นำขบวนการแห่งชาติ”

เริ่มมีอิทธิพลต่อภูมิรัฐศาสตร์แล้ว

บทความชื่อ Trump Is Already Reshaping Geopolitics ของ foreignaffairs.com กล่าวว่า การคาดหมายผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในปี 2024 เริ่มส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจในหมู่ผู้นำของหลายประเทศในโลกไปแล้ว ผู้นำหลายประเทศเริ่มยอมรับความจริงว่า ในอีกหนึ่งปีข้างหน้า โดนัลด์ ทรัมป์ คงจะกลับมาครองอำนาจในทำเนียบขาวอีกครั้งหนึ่ง

บางประเทศชะลอการตัดสินดำเนินการบางอย่างออกไปจนกว่าทรัมป์จะขึ้นมามีอำนาจใหม่ เช่น ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย เนื่องจากสงครามยูเครนอยู่ในภาวะสองฝ่ายต่างตรึงกำลังกันอยู่ ก่อนหน้านี้จึงมีข่าวออกมาว่า ปูตินพร้อมที่จะยุติสงคราม แต่จากแนวโน้มที่ทรัมป์จะกลับมามีอำนาจใหม่ ทำให้สงครามยูเครนคงจะดำเนินต่อไปอีก 1 ปี เพราะทรัมป์เคยกล่าวว่า ตัวเขาเองจะบอกกับเซเลนสกีของยูเครนว่า จะไม่มีการช่วยเหลืออีกต่อไปแล้ว และให้ไปหาทางทำความตกลงกับรัสเซียเสีย ดังนั้น ปูตินคงยินดีจะรออีก 1 ปีเพื่อโอกาสทองของรัสเซีย

ส่วนยุโรปต้องพิจารณาประเด็น “ความเสี่ยงจากทรัมป์” สงครามยูเครนทำให้ยุโรปสิ้นสุดการมองโลกแบบสวยงามที่เคยคิดว่าสงครามเป็นเรื่องล้าสมัยแล้ว สงครามยูเครนทำให้พันธมิตรขององค์การนาโต้ฟื้นตัวขึ้นมา รวมทั้งพันธะจากสหรัฐฯ ที่จะเข้ามาปกป้องสมาชิกนาโต้หากถูกโจมตี

แต่การกลับมามีอำนาจของทรัมป์ทำให้ยุโรปวิตกกังวลมากขึ้น เหมือนข้อสรุปของนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ที่กล่าวหลังจากได้หารือกับทรัมป์ว่า “เราคงต้องต่อสู้เพื่ออนาคตของเราด้วยตัวเราเอง” จอห์น โบลตัน อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของทรัมป์ เคยเขียนไว้ว่า ทรัมป์บอกกับเขาว่า “ผมไม่สนใจเรื่องของนาโต้” เว็บไซต์หาเสียงของทรัมป์ก็เขียนไว้ว่า “จะให้มีการประเมินพื้นฐานเรื่องเป้าหมายและภารกิจของนาโต้”

ชัยชนะของทรัมป์ยังมีผลต่อข้อตกลงการประชุมสุดยอดด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ดูไบ (COP 28) ซึ่งเป็นข้อตกลงทางประวัติศาสตร์ในการเปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิล แต่ความเป็นจริง ทั้งประเทศผู้ผลิตและบริโภคพลังงาน เช่น น้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน ล้วนมีปริมาณการผลิตและการบริโภคเพิ่มขึ้น

ผู้นำหลายประเทศรู้ว่า หากทรัมป์กลับมาครองอำนาจ ข้อผูกพันจากข้อตกลง COP 28 ก็อาจไม่จำเป็น เพราะในช่วงหาเสียงพฤษภาคม 2023 ทรัมป์ตอบคำถามว่า วันแรกที่กลับมามีอำนาจ จะทำอย่างไรให้ราคาอาหารและน้ำมันลดลง ทรัมป์ตอบทันทีว่า “drill, baby, drill” คือให้ขุดน้ำมันและก๊าซอย่างเต็มที่ ในช่วงการประชุม COP 28 ก็มีเรื่องตลกที่เล่ากันว่า

“สิ่งที่เป็นแผนงานไม่เปิดเผยของ COP 28 ในการเปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิล คือ เผาผลาญพลังงานนี้ให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้”

นโยบายการค้าแบบ “ภาษีต่อภาษี”

รัฐบาลทรัมป์สมัยที่สอง จะทำให้เกิดระเบียบการค้าโลกใหม่หรือความไร้ระเบียบขึ้นมาอย่างแน่นอน ในวันแรกที่รับตำแหน่งในปี 2017 ทรัมป์ถอนตัวจากข้อตกลงการค้า Trans-Pacific Partnership หลายอาทิตย์ต่อมา การเจรจาการค้าเสรีระหว่างสหรัฐฯกับยุโรป ก็ยุติลง

อาศัยมาตรา 301 กฎหมายการค้าปี 1974 ที่ให้อำนาจแก่ฝ่ายบริหาร ทรัมป์สั่งเก็บภาษีนำเข้า 25% กับสินค้าจากจีน มูลค่า 300 พันล้านดอลลาร์ รัฐบาลโจ ไบเดน ยังคงรักษามาตรการนี้อยู่ ส่วนข้อตกลงความร่วมมือเอเชีย-แปซิฟิกของรัฐบาลไบเดนเรียกว่า Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity ทรัมป์ประกาศว่า “จะตายตั้งแต่วันแรก”

รอเบิร์ต ไลต์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ในสมัยรัฐบาลทรัมป์ เพิ่งเขียนหนังสือชื่อ No Trade Is Free (2023) บอกว่า ในสมัยที่สอง ทรัมป์ไม่กลัวที่จะดำเนินมาตรการที่เสี่ยงมากขึ้น ในการหาเสียงเมื่อเร็วๆ นี้ ทรัมป์ก็ประกาศตัวเป็น “บุรุษภาษี” โดยจะเก็บภาษีสินค้านำเข้า 10% จากทุกประเทศ ส่วนประเทศที่เก็บภาษีสินค้าอเมริกาสูง ทรัมป์บอกว่า จะใช้มาตรการตอบโต้แบบ “ตาต่อตา ภาษีต่อภาษี”

ที่มาภาพ : amazon.com

ปัจจุบัน รอเบิร์ต ไลต์ไฮเซอร์เป็นที่ปรึกษาเรื่องการค้าให้ทรัมป์ ในหนังสือ No Trade Free เขาเขียนไว้ว่า ในเรื่องการค้าต่างประเทศ รัฐบาลทรัมป์ในสมัยแรก 2017-2020 ประสบความสำเร็จทางประวัติศาสตร์ 2 อย่าง ประการแรกคือการเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของรัฐบาลสหรัฐฯ ในอดีต ที่แสวงหาข้อตกลงใหญ่ทางการค้า เพื่อทำให้บริษัทต่างๆ สะดวกที่จะนำสินค้าต่างประเทศเข้ามาในสหรัฐฯ มีผลเท่ากับไปส่งเสริมการประกอบการผลิตในต่างประเทศ คำตัดสินขององค์การค้าโลกก็ยอมรับว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์

ทรัมป์เปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด โดยมุ่งมั่นที่จะนำเอาการจ้างงานการผลิตสินค้ากลับมายังสหรัฐฯ ทรัมป์ต้องการลดการนำเข้า และเพิ่มการส่งออกสินค้าสหรัฐฯ รวมทั้งสินค้าเกษตร ทรัมป์มองความสำเร็จอยู่ที่การสร้างงานใหม่ ค่าแรงเพิ่มขึ้น การย้ายโรงงานกลับมาสหรัฐฯ และการขาดดุลการค้าลดลง

ความสำเร็จประการที่ 2 คือทำให้สหรัฐฯ และประเทศในโลกเห็นอันตรายในการพึ่งพาเศรษฐกิจต่อจีนมากขึ้น ก่อนหน้ารัฐบาลทรัมป์ จีนถูกมองว่าเป็นหุ้นส่วนที่เป็นมิตร นโยบายของทรัมป์ได้เปลี่ยนทิศทางไปสู่สิ่งที่ตรงกันข้าม คือการพึ่งพาทางเศรษฐกิจกับจีน และการโอนเงินนับล้านล้านดอลลาร์ให้แก่จีน เพราะสหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับจีน ทรัมป์ทำให้ห่วงโซ่อุปทานย้ายออกจากจีน

ที่มาภาพ : https://secure.winred.com/save-america/membership

นโยบายการค้าของทรัมป์สมัยที่ 2

รอเบิร์ต ไลต์ไฮเซอร์ กล่าวถึงนโยบายการค้าในอนาคตของรัฐบาลทรัมป์ว่า

(1) สหรัฐฯ เป็นตลาดใหญ่ที่สุดของโลก หากประเทศต่างๆ ไม่ปฏิบัติทางการค้าอย่างยุติธรรมต่อสหรัฐฯ สหรัฐฯ จะต้องเรียกร้องสิ่งนี้ และเพื่อให้ต่างประเทศจริงจังในเรื่องนี้ สหรัฐฯ ต้องพร้อมที่จะใช้มาตรการตอบโต้ฝ่ายเดียว โดยเฉพาะการใช้มาตรา 301 บังคับให้ประเทศอื่นยอมให้สหรัฐฯ เข้าถึงตลาด

(2) สหรัฐฯ ต้องแก้กฎหมายการนำเข้า ปัจจุบัน บริษัทนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศที่ผลิตได้ถูกกว่าเพราะไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำด้านสิทธิแรงงาน การปกป้องสิ่งแดล้อม และมาตฐานด้านความปลอดภัยและสุขภาพ สหรัฐฯ จะต้องกำหนดสิ่งที่เป็นนโยบายจำเป็นทางสังคม และกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำ ที่สินค้าผลิตในสหรัฐฯ และนำเข้าจากต่างประเทศจะต้องปฏิบัติตาม สินค้านำเข้าที่ไม่ปฏิบัติตาม จะต้องถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชย รวมถึงมาตรการเรียกว่า “ค่าธรรมเนียมที่ปรับตามพรมแดนคาร์บอน” (carbon border adjustment fee) ต่อสินค้านำเข้า ที่การผลิตในต่างประเทศก่อให้เกิดคาร์บอนสูงกว่าที่สหรัฐฯกำหนด

(3) สหรัฐฯ ต้องการบรรลุการค้าที่สมดุล สหรัฐฯ ประสบปัญหาขาดดุลการค้ามานาน 30 ปี เหมือนกับการโอนเงินให้ต่างประเทศไปแล้วถึง 18 ล้านล้านดอลลาร์ เงินเหล่านี้จะย้อนกลับมาในรูปที่ต่างประเทศเข้ามาซื้อและเป็นเจ้าของหลักทรัพย์ในอเมริกา หนทางแก้ไขมี 3 ทาง คือ หนทางแรกตามที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ เคยเสนอไว้ ผู้นำเข้าจะต้องมีใบรับรองการส่งออกสินค้าในมูลค่าเท่ากัน หนทางที่สอง คือการเก็บค่าธรรมเนียมเงินลงทุนที่เข้ามาสหรัฐฯ และหนทางที่สามคือ การเพิ่มภาษีนำเข้า ที่จะมีอัตราเพิ่มขึ้นทุกปี จนกว่าการค้าจะสมดุล

การค้าเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตเศรษฐกิจโลก นโยบายการค้าของรัฐบาลทรัมป์สมัยที่สอง อาจทำให้เกิดการหยุดชะงักของระเบียบการค้าโลก เป็นนโยบายที่สหรัฐฯ อาจประสบความสำเร็จในการแยกตัวเอง (decoupling) ออกจากระเบียบการค้าโลก มากกว่าที่จะไปบังคับประเทศอื่นให้แยกตัวออกจากจีน

เอกสารประกอบ
Trump Is Already Reshaping Geopolitics, Graham Allison, January 16, 2024, foreignaffairs.com
No Trade Is Free, Robert Lighthizer, Broadside Books, 2023.