ThaiPublica > คอลัมน์ > โลกของ Pex พิทักษ์พงษ์ เจียมศรีพงษ์

โลกของ Pex พิทักษ์พงษ์ เจียมศรีพงษ์

20 มกราคม 2024


1721955

11 มกราคมนี้ไปจนถึง 3 กุมภาพันธ์ 2567 ถ้าใครมีโอกาสผ่านไปย่านชิบุย่า กลางกรุงโตเกียว เราขอแนะนำให้ลองไปเยี่ยมชมนิทรรศการ Welcome to My World โดยศิลปินไทย Pex Pitakpong หรือ เป๊ก พิทักษ์พงษ์ เจียมศรีพงษ์ ณ NANZUKA UNDERGROUND แกลอรีที่ตั้งอยู่ใกล้กับถนนฮาราจูกุ ในช่วง 11:00-19:00 น. (ปิดวันอาทิตย์และจันทร์)

เป๊ก เป็นที่รู้จักผ่านตัวการ์ตูนตาแป๋ว Mari และแม้ปัจจุบันเขากำลังจะย่างเข้าสู่วัย 53 ปี แต่อันที่จริงเขาเพิ่งมีผลงานจัดแสดงเดี่ยวเป็นครั้งแรกในชีวิตเมื่อเมษายนปีที่แล้วนี่เองในเมืองไทย เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า “ลึก ๆ ภายในใจของผู้คน ยังคงมีความเป็นเด็กซ่อนอยู่ นี่จึงเป็นเหตุผลที่เรานำเด็กมาสร้างงานศิลปะที่คนส่วนใหญ่มักจะมองว่าเด็กนั้นไร้เดียงสา ไม่มีพิษมีภัย แต่สำหรับผมคิดว่าเป็นการมองอย่างผิวเผิน เพราะด้วยสภาพสังคมยุคนี้ เด็กสามารถเข้าถึงสื่อหรือสิ่งเร้าต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว จนบางครั้งเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าสิ่งเหล่านั้นเหมาะสมต่อกระบวนความคิดเพียงใด”

ทาง NANZUKA UNDERGROUND ได้แนะนำเขาว่า เป๊ก พิทักษ์พงศ์ เกิดเมื่อปี 1971 ในกรุงเทพที่ซึ่งปัจจุบันเขายังคงอาศัยและทำงานอยู่ที่นั่น เขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญยาตรีสาขานิเทศศิลป์จากมหาวิทยาลัยศิลปากรในปี 1991 ก่อนจะก้าวไปเป็นนักวาดภาพประกอบอิสระให้กับนิตยสารต่าง ๆ ตั้งแต่ปี 1998 เขามีความสนใจอย่างลึกซึ้งในวัฒนธรรมป๊อป เช่น มังงะ และแอนิเมะ ทำให้เขาหันมาแสวงหาความพยายามในฐานะจิตรกร กระทั่งในปี 2015 เขาได้เริ่มต้นอาชีพศิลปินอย่างเป็นทางการด้วยการสร้างตั้งละครออริจินอลของเขา “Mari” นิทรรศการนี้จะประกอบไปด้วยศิลปะจัดวางด้วยผลงานภาพวาดบนผืนผ้าใบ 7 ชิ้น และภาพวาดบนกระดาษอีก 99 ชิ้น

งานศิลปะของพิทักษ์พงศ์โดดเด่นด้วยการใช้สีที่สดใส แสดงถึงเด็กผู้ชายและหญิงที่ประดับประดาด้วยสัตว์ ต้นไม้ และสิ่งมีชีวิตในจินตนาการ ตัวละครที่น่าอัศจรรย์ดังกล่าวมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ ทำหน้าที่อุปมาอุปไมยถึงวิถีชีวิตอันหลากหลายของผู้คนที่แตกต่างกันไป เช่น นิทรรศการนี้ประกอบไปด้วยผลงานใหม่ “อาข่า” ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากชาวอาข่า กลุ่มชาติพันธุ์เล็ก ๆ ท่อาศัยอยู่บนที่ราบสูงของเอเชีย ชาวอาข่ามีอาชีพเกษตรกรรมกึ่งเร่ร่อนบนดอยสูง พวกเขามีภาษาพูดของตัวเอง และรักษาวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ทั้งการแต่งกาย พิธีกรรม และการปฏิบัติทางสังคมมาจนถึงปัจจุบัน ในด้านหนึ่งมีชาวอาข่าจำนวนมากที่ประสลปัญหาการไร้สัญชาติ ซึ่งนำไปสู่ความท้าทายทางสังคมที่ครอบคลุมประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน ความยากจนทงเศรษฐกิจ และความแตกต่างทางการศึกษา พิทักษ์พงศ์พยายามสะท้อนความกังวลของตนเองและสำรวจประเด็นที่ซับซ้อนดังกล่าวผ่านผลงานของเขา

ส่วนตัวคิดว่าผลงานล่าสุดของเป๊กคราวนี้ค่อนข้างจะหนีห่างไปจากงานแรก ๆ ของเขาที่มีความละม้ายงานของ โยชิโมโตะ นาระ อยู่มาก โดยเฉพาะความเก๋ที่หันมาหยิบความเป็นไทย พยายามจะพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนเอยอะไรเอย แต่ยังคงวนเวียนต่อการวิพากษ์วิจารณ์ “เด็ก” นับตั้งแต่ผลงานก่อนที่มองว่าเด็กเป็นหุ่นเชิด หรือผลงานใหม่ที่มองว่า เด็กไม่ใช่เหี้ย แต่เป็นกิ้งก่าเปลี่ยนสีไปมาได้ ฯลฯ โดยเฉพาะประโยคเด่นที่เขาเคยเขียนแถลงเอาไว้ว่า เด็กสามารถเข้าถึงสื่อหรือสิ่งเร้าต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว จนบางครั้งเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าสิ่งเหล่านั้นเหมาะสมต่อกระบวนความคิดเพียงใด” ก็ดูจะมีเค้าของแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมประเภทผู้ใหญ่เท่านั้นที่สามารถจะตัดสินได้ว่าอะไรเหมาะสมไม่เหมาะสม และเด็กรู้ไม่เท่าทันต่อสื่อหรือสิ่งเร้า ก็เป็นอีกวิธีคิดแบบไทย ๆ ที่ค่อนข้างจะไม่ทันโลก


แถวบน ผลงานของ เป๊ก แถวล่าง ผลงานของ โยชิโมโตะ นาระ

FYI โยชิโมโตะ นาระ

ศิลปินชาวญี่ปุ่น เกิดในเมืองฮิโรซากิ จังหวัดอาโอโมริ ที่มีผลงานจัดแสดงไปทั่วโลก และมีนิทรรศการเดี่ยวมากกว่า 40 โชว์นับตั้งแต่ปี 1984 งานของเขาเคยแสดงในมิวเซียมใหญ่ ๆ อาทิ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย MoMA ในนิวยอร์ก และพิพิธภัณฑ์ศิลปะลอสแอนเจลีสเคาน์ตี้ (LAMA) โดยผลงานส่วนใหญ่ของเขาเป็นเด็กผู้หญิงตาดื้อ หัวโต ซึ่งผลงานของเขาได้รับคำยกย่องว่า

“เป็นภาพของเด็กที่สะท้อนอารมณ์แบบผู้ใหญ่ ให้รูปลักษณ์ในแบบคาวาอี้ มีอารมณ์ขัน ความมืดหม่น และอิงกับวิถีชีวิต วัฒนธรรมที่เกี่ยวพันกับความทรงจำส่วนตัวออกมาได้อย่างชัดเจน”

สถิติราคาสูงที่สุดของผลงานของเขาที่ได้รับการประมูลคือ 25 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ราว 872 ล้านบาท ด้วยผลงานที่ชื่อว่า Knife Behind Back (2000 รูปแรก-ซ้ายสุดแถวล่าง)