กกพ.โต้ สอท.ลดค่าไฟเหลือ 3 บาท “ยาก” ชี้โครงการค่าไฟฟ้าปัจจุบันมีต้นทุนอยู่ที่ 4.30 บาท หากไม่ได้เงินช่วยเหลือจาก ปตท. 4,300 ล้านบาท เหมือนปีก่อน – กฟผ.ทยอยเรียกเก็บหนี้ กรณีแบกรับค่าไฟแทนประชาชนคืน ปัจจุบันมียอดคงค้าง 1.1 – 1.2 แสนล้านบาท คาดปี’67 ค่าไฟเฉลี่ยอยู่ที่ 4.25 บาท/ยูนิต
ต่อกรณีที่ นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.)ได้เสนอทางออกเพื่อแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าของประเทศไทย โดยมีเป้าหมายค่าไฟฟ้าปี 2567 ไม่เกิน 3.60 บาท/หน่วย ระยะกลาง/ยาว ค่าไฟฟ้าไม่เกิน 3.00 บาท/หน่วยนั้น
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้ความเห็นว่า ข้อเสนอของสอท.คงเป็นไปได้ยากที่ค่าไฟฟ้าจะลดลงมาอยู่ในระดับที่ 3.60 บาทต่อหน่วย และในระยะยาวไม่เกิน 3 บาทต่อหน่วย เนื่องจากโครงสร้างเดิมต้นทุนค่าไฟฟ้าจะอยู่ที่ระดับ 4.30 บาท
แต่ในงวดปัจจุบันที่ 2/2567 ที่ค่าไฟฟ้าสามารถอยู่ในระดับ 4.18 บาท ได้เนื่องจากโครงสร้างต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติลงมาที่ 4.20 บาท และได้รับเงินชดเชย (Shortfall) จาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จำนวน 4,300 ล้านบาท เข้ามาช่วย จึงทำให้ค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับ 4.18 บาทได้
ดังนั้น จึงคาดการณ์ได้ว่าค่าไฟฟ้างวดที่เหลือในปี 2567 จึงน่าจะอยู่ที่ค่าเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 4.25-4.26 บาท/หน่วย หากไม่มีเงิน Shortfall ปตท.จำนวน 4,300 ล้านบาท เข้ามาช่วยส่วนลดค่าไฟฟ้าลงไปเหมือนกับที่ผ่านมา
“ผมคิดว่า ถ้าจะทำให้ราคาค่าไฟฟ้าอยู่ 3 บาทกว่า ๆ คงเป็นไปได้ยาก เพราะตอนนี้เรารื้อจนไม่รู้จะรื้ออะไรแล้ว เพราะถ้าเราทำราคาลดลงมา 3 บาท ต้องมีคนขาดทุน แต่นโยบาย คือ การให้อยู่ร่วมกัน เช่น ตอนนี้ค่าไฟฟ้าของคน กทม. กับต่างจังหวัด มีต้นทุนต่างกัน คนต่างจังหวัดต้นทุนสูงกว่า เพราะต้องเดินสายไฟ ถามว่า เราจะยอมแยกประเภท หรือไม่ เพื่อให้คนกทม.จ่ายถูกกว่า แต่คนต่างจังหวัดต้องจ่ายแพง เพราะฉะนั้นนโยบายรัฐจะดึงความเท่าเทียมให้ยังอยู่”
สำหรับปัจจัยต้นทุนค่าไฟของปี 2567 ประเด็นสำคัญขึ้นอยู่กับปริมาณก๊าซธรรมชาติจากแหล่ง G1/61 หรือ “แหล่งเอราวัณ” จะสามารถผลิตได้ตามแผน 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วันในเดือนเมษายนนี้หรือไม่ และก๊าซจากเมียนมาจะผลิตได้ตามสัญญาหรือไม่ และหากราคานำเข้า LNG ถูกลงจะสามารถดึงต้นทุนค่าไฟฟ้าลดลงได้เช่นกัน โดยต้นทุนค่าไฟฟ้าดังกล่าว ยังไม่รวมการชำระคืนหนี้ กฟผ.
ส่วนภาระหนี้ของ กฟผ.ในปัจจุบัน หลังคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 มีมติเห็นชอบหลักการมาตรการปรับลดอัตราค่าไฟฟ้ารอบเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 จากอัตรา 4.45 บาทต่อหน่วย เหลือในอัตรา 3.99 บาทต่อหน่วย ทำให้ กฟผ.ต้องแบกภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกหมื่นกว่าล้านบาท และส่งผลให้ภาระต้นทุนของ กฟผ.จากเดิมที่ 95,000 ล้านบาทขึ้นไป แตะ 1.1-1.2 แสนล้านบาท แต่ไม่ถึง 1.5 แสนล้านบาท