ThaiPublica > สู่อาเซียน > UOB แนะอาเซียนปรับยุทธศาสตร์ จับมือใช้ AEC ยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจ

UOB แนะอาเซียนปรับยุทธศาสตร์ จับมือใช้ AEC ยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจ

28 ธันวาคม 2023



รายงาน Quarterly Global Outlook ประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2567 ของกลุ่มธนาคารยูโอบี(UOB Group) สรุปว่า ประเด็นหลักของปี 2567 ได้แก่การปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)จะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยตั้งแต่กลางปี ​​2024 ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวลง และเงินเฟ้อยังมีเสถียรภาพต่อเนื่อง

นอกจากนี้คาดว่าธนาคารกลางประเทศใหญ่อื่นๆ ก็มีแนวโน้มที่จะปรับลดดดอกเบี้ยลงด้วย แต่เป็นช่วงเวลาที่ต่างกัน สำหรับธนาคารกลางญี่ปุ่นนั้น คาดหวังว่า หลังจากที่คอยมานานการปรับนโยบายการเงินให้สู่ภาวะปกติจะเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2567 โดยไม่มีผลกระทบและผันผวน ส่วนสถานการณ์ของจีนยังคงมีความท้าทายอยู่ แม้ข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่าดีขึ้น แต่การเติบโตมีแนวโน้มว่าจะทรงตัวในปี 2567 และจะมีมาตรการเชิงนโยบายสนับสนุนเพิ่มเติม เพื่อจัดการกับความเสี่ยง

สำหรับอาเซียน รายงานคาดว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียนจะทรงตัว โดยที่วัฏจักรการค้าระหว่างประเทศได้ถึงจุดต่ำสุดแล้วสำหรับภูมิภาค แต่การฟื้นตัวอาจไม่สดใสเนื่องจากการชะลอตัวของจีน อย่างไรก็ตามยังมีมุมมองเชิงบวกต่อปัจจัยพื้นฐานและแนวโน้มของอาเซียนในระยะกลางและระยะยาว

รายงานระบุว่า เศรษฐกิจประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 5 ประเทศใหญ่ทั้ง อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และ ไทย โดยเฉลี่ยลดลงเล็กน้อยในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาในศตวรรษนี้ จากแผลเป็นของวิกฤติการเงินในเอเชีย (Asian Financial Crisis -AFC) แต่การเติบโตในอินโดนีเซียเฉลี่ย 5.2% ในปี 2544-2553 เนื่องจากสินค้าโภคภัณฑ์ขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีหลังวิกฤติการเงิน

รายงาน ASEAN FOCUS I ระบุว่า อาเซียนต้องมีการปรับเปลี่ยนเชิงยุทธศาสตร์เพื่อยกระดับศักยภาพการเติบโต

วิกฤตโควิด-19 ทำให้การเติบโตเฉลี่ยในอินโดนีเซียลดลงเหลือ 4.6% ในทำนองเดียวกัน การเติบโตทางเศรษฐกิจของมาเลเซียในช่วงทศวรรษแรกของศตวรรษนี้โดยเฉลี่ยสูงขึ้นที่ 4.6% แต่ลดลงในช่วงทศวรรษที่สองต่อมาที่ 4.1% ซึ่งก๋ไม่ใช่ว่าโควิดทำให้ถดถอย

ที่ชัดยิ่งขึ้น คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยของประเทศไทยโดยรวมยังลดลงครึ่งหนึ่งในช่วงปี 2554-2563 มาที่ 2.3% จาก 4.6% ในทศวรรษก่อนหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจเข้าสู่สังคมสูงวัยและการบริโภคภาคเอกชนยังชะลอตัวลง แต่เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ที่ เศรษฐกิจไทยแทบจะไม่ขยับเติบโตเพียง 1% ในขณะที่ปี 2563 จากวิกฤติโควิด-19 เศรษฐกิจไทยหดตัวมากกว่า 6%

เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ดูเหมือนจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยการเติบโตโดยเฉลี่ยในช่วงทศวรรษหลังวิกฤติการเงินเอเชียอยุ่ที่ 4.8% ซึ่งชะลอตัวลงมาที่ 4.7% ในทศวรรษถัดมา ซึ่งน่าจะเกิดจากการส่งเงินกลับจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่องที่ช่วยพยุงการบริโภคของครัวเรือนภายในประเทศ

แรงส่งการเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ก็ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดจากค่าเฉลี่ยเกือบ 6% ในช่วงปี 2544-2553 เหลือเพียง 3.2% ในทศวรรษถัดมาทั้งนี้หลังจากสิงคโปร์ซึ่งเป็นเศรษฐกิจเติบโตเต็มที่ที่สุด(mature economy) ในภูมิภาคอาเซียนมีระดับการผลิตที่แตะระดับสูงแล้ว นับตั้งแต่นั้นมาก็อยู่ในภาวะทรงตัว และศักยภาพในการเติบโตระยะต่อไปจึงมีแนวโน้มที่จะอยู่ในช่วง 2-3% ซึ่งไม่แตกต่างอย่างมากจากค่าเฉลี่ยการเติบโต ในทศวรรษที่ผ่านมา

ความไม่แน่นอนระดับโลกที่เพิ่มขึ้นและการพัฒนาที่พลิกผันในด้านการค้าพหุภาคี ทำให้อาเซียนต้องสำรวจจากภายในเพื่อหาโอกาสในการเติบโตใหม่ๆ เพื่อยกระดับศักยภาพการเติบโต อย่างไรก็ตามแม้อาเซียนจะมีสมาชิกขนาดใหญ่ เช่น อาเซียน 5 (เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย) แต่ละประเทศยังคงอยู่ในระยะการพัฒนาเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน เช่น อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ซึ่งต่างมีจำนวนประชากรค่อนข้างมากและอายุน้อย ในขณะที่สิงคโปร์ ไทย และมาเลเซีย ในระดับหนึ่งกำลังเคลื่อนเข้าสู่ประชากรผู้ใหญ่และสูงวัยกว่า

ในด้านการค้า สิงคโปร์และมาเลเซียเป็นผู้นำในการส่งออกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ในขณะที่ไทยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและผู้ส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ชั้นนำ อินโดนีเซียมีทรัพยากรธรรมชาติและแร่ธาตุมากมายและอุดมสมบูรณ์ เช่น น้ำมันปาล์ม ถ่านหิน ยาง นิกเกิล บอกไซต์ ดีบุก และอื่นๆ อีกมากมาย และฟิลิปปินส์ได้สร้างอุตสาหกรรมบริการบริหารจัดการระบบงานธุรกิจ( business-process-outsourcing industry)ที่รุ่งเรือง

ในขณะที่ภูมิภาคนี้หลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 การปรับเปลี่ยนเชิงยุทธศาสตร์จึงมีความจำเป็นเพื่อยกระดับศักยภาพการเติบโตของภูมิภาค แต่จะต้องดำเนินการร่วมกันในลักษณะที่พร้อมเพรียงกัน

ประการแรก ภูมิภาคควรใช้ประโยชน์และผลักดันการประกาศใช้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ให้เป็นประโยชน์มากขึ้น

ประเทศที่ก้าวหน้าและมีเทคโนโลยีครบครัน เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย อาจพิจารณาลงทุนในประเทศอื่นๆ เช่น อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ เพื่อเปลี่ยนประเทศเหล่านี้ให้เป็นศูนย์กลางการผลิต “ใหม่” เพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงานที่จำเป็นอย่างมาก ซึ่งจะช่วยเพิ่มการเติบโตให้กับประเทศที่เกี่ยวข้อง เรื่องนี้มีความสำคัญเพราะภูมิภาคอาเซียนจะไม่รอดพ้นจากกระแสการเปลี่ยนแปลงสู่พลังงานสะอาดทั่วโลก ในการผลิตทั้งสินค้าและบริการในอนาคต

AEC สามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์เพื่อเอื้อต่อการปรับเปลี่ยนเชิงยุทธศาสตร์ เนื่องจากช่วยให้สามารถเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ แรงงานมีฝีมือ และทุนได้อย่างเสรีมากขึ้น ผลลัพธ์เชิงบวกที่คาดหมายไว้คือ การสร้างตลาดระดับภูมิภาคและฐานการผลิตในภูมิภาคที่ไร้รอยต่อ

ประการที่สอง เศรษฐกิจที่ค่อนข้างโตเต็มที่แต่ขาดพื้นที่และอุปทานแรงงานเช่นสิงคโปร์แต่อุดมไปด้วยทุน สามารถพิจารณาช่องทางผ่านกระแส FDI (การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ) จำนวนมากที่หลั่งไหลเข้ามาในประเทศ และต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ด้านประเทศไทยซึ่งมีบริษัทหลายแห่งที่มีความสามารถในการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนขั้นสูงสามารถทำงานร่วมกับพันธมิตรในอินโดนีเซียเพื่อผลิตยานยานต์ขนส่งที่ใช้ EV ที่มีคุณภาพ ซึ่งสามารถส่งออกได้ไม่เฉพาะทั่วโลกเท่านั้น แต่ยังส่งออกไปยังตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่เช่น อินโดนีเซียด้วย

ธุรกิจที่อยู่ในกระบวนการผลิตปลายน้ำ(down-stream)จำนวนมากในมาเลเซีย รวมทั้งสินค้าโภคภัณฑ์และแร่ธาตุที่สำคัญของอินโดนีเซียต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก และด้วยการทำงานร่วมกับประเทศที่มีเงินออมในภูมิภาค ก็จะสามารถลงทุนและใช้เงินทุนส่วนเกินได้ โดยมีผลตอบแทนตามที่คาดหวังในระยะกลาง

ประการที่สาม เนื่องจากการปรับเปลี่ยนแปลงเชิงยุทธศาสตร์สองข้อแรกมีแนวโน้มที่จะนำมาซึ่งรายได้ที่สูงขึ้นแก่ภูมิภาคอาเซียน ชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์จะมีกำลังซื้อที่สูงขึ้น ซึ่งจะเปลี่ยนภูมิภาคให้กลายเป็นศูนย์กลางการบริโภคที่ยิ่งใหญ่ยิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ประชากรที่อายุน้อยและเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลเหล่านี้ จะทำธุรกรรมได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้นผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่กำลังเติบโตจำนวนมาก ก็จะเร่งการบริโภคภายในประเทศและขับเคลื่อนการเติบโตให้สูงขึ้น

ที่สำคัญกว่านั้น ผู้บริโภคเหล่านี้ให้ความสำคัญกับการบริโภคที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เช่น การพักผ่อน สุขภาพ และอาหารที่มีคุณภาพสูงขึ้น นอกจากนี้ พวกเขายังให้ความสำคัญกับแบรนด์และใส่ใจต่อแบรนด์ในการเลือกบริโภคสินค้าและบริการมากขึ้น

โดยรวมแล้ว อาเซียนสามารถร่วมมือกันเป็นกลุ่มในการปรับเปลี่ยนเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อเปลี่ยนความท้าทายให้กลายเป็นกลไกการเติบโตใหม่ที่น่าจะยกระดับศักยภาพการเติบโตให้สูงขึ้น คุณภาพดีขึ้น และยั่งยืนมากขึ้นในอนาคต