ThaiPublica > เกาะกระแส > กลุ่มผู้เลี้ยงหมูรายย่อยร้อง “หมูเถื่อนทะลัก” คนเลี้ยงหมู 4 หมื่นรายจ่อเลิกกิจการ

กลุ่มผู้เลี้ยงหมูรายย่อยร้อง “หมูเถื่อนทะลัก” คนเลี้ยงหมู 4 หมื่นรายจ่อเลิกกิจการ

26 ธันวาคม 2023


กลุ่มผู้เลี้ยงหมูรายย่อยสุดทน “หมูเถื่อนซ้ำเติม” ท่ามกลางภาวะต้นทุนพุ่ง ราคาขายตกต่ำ ส่งผลขาดทุนต่อเนื่อง 10 เดือนนับจากมีนาคมปี 2566 ต้องแบกต้นทุน 9,500 บาทต่อตัว ขายขาดทุนตัวละ 3,000-4,000 บาท ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยเลิกเลี้ยง จาก 2 แสนรายเหลือแค่ 4 หมื่นราย เรียกร้องนายกรัฐมนตรี แก้ไขเร่งด่วนก่อนผู้เลี้ยงหมูรายย่อยจะปิดกิจการเพิ่มขึ้น

นายมานะพันธ์ ชัยเมธสิทธิ์ ประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันตก

“ไม่เคยมีวิกฤติของคนเลี้ยงหมูหนักเท่ากับวิกฤติครั้งนี้”ประโยคเริ่มต้นของการสนทนา ของนายมานะพันธ์ ชัยเมธสิทธิ์ ประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันตกหรือ เฮียไฮ้ ผู้เลี้ยงหมูรายย่อย จังหวัดนครปฐม

“วิกฤติรอบนี้หนักมากที่สุด ผมเลี้ยงหมูมา 40 ปี ตั้งแต่อายุ 21 ปีจนตอนนี้อายุ 65 ปี รอบนี้คือวิกฤติที่สุดเพราะไม่เป็นตามธรรมชาติ  จากปัญหาหมูเถื่อนทะลัก ขาดทุนติดต่อกันต่อเนื่องมา 10 เดือน ในอดีตคนเลี้ยงหมูส่วนใหญ่จะกำไร ใน 1 ปี ขาดทุนไม่เกิน 3 เดือน แต่ตอนนี้เลี้ยงหมูกำไรไม่ถึง 3 เดือน ที่เหลือขาดทุนต่อเนื่อง”

ปัญหาของวิกฤติครั้งนี้เกิดจากขบวนการลักลอบหมูเถื่อนนำเข้า ที่เฮียไฮ้บอกว่า ขบวนการนี้มี “ตั้วเฮีย” ที่หมายถึงรายใหญ่ ตั้งแต่ทุนใหญ่ ข้าราชการ นักการเมือง ปล่อยให้มีการนำเข้าหมูเถื่อนจำนวน

แม้หมูเถื่อนเริ่มจะเข้ามาในประเทศไทยหลายปีแล้ว แต่ครั้งนี้เข้ามามากกว่าทุกครั้ง โดยหมูเถื่อนเริ่มเข้ามามากตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 เป็นต้นมา ส่งผลให้ราคาหมูในประเทศก็เริ่มตกลง ทำให้ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยขาดทุนมายาวนานกว่า 10 เดือน

หมูเถื่อนซ้ำเติมหลังวิกฤติโรค ASF ระบาด

“หมูเถื่อน” ถือเป็น วิกฤติที่ไม่เป็นธรรมชาติ  ซึ่งทำให้ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยที่พึ่งรอดจากวิกฤติโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ(African swine fever : ASF) ในปี 2564 ต้องเสียหายหนักอีกครั้ง หากภาครัฐไม่ให้ความช่วยเหลือ

ย้อนกลับไปถึงวิกฤติระลอกแรกที่ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยได้รับผลกระทบจากโรค ASF ในปี 2564 ทำให้ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยเสียหายไปกว่า 60 % จากผู้เลี้ยงหมูรายย่อยที่มีกว่า 2 แสนรายทั่วประเทศ ต้องเลิกประกอบการอาชีพ จนขณะนี้มีผู้เลี้ยงหมูเหลือเพียง 4 หมื่นรายเท่านั้น แต่การเข้ามาของหมูเถื่อน เหมือนมาซ้ำเติมผู้เลี้ยงหมูที่รอดตายจากโรคระบาดไม่ให้ลืมตาอ้าปากได้อีก

โรค ASF เริ่มระบาดในภาคเหนือ และอีสานตั้งแต่ปี 2563 แต่ยังไม่ระบาดหนักมากเท่ากับปี 2564 ซึ่งโรคระบาดเริ่มขยายเข้ามายังพื้นที่ภาคกลาง แต่ในขณะนั้นผู้เลี้ยงหมูยังขายหมูได้ 60 บาท/กก. ซึ่งถือว่าพอมีกำไรถ้าเทียบกับต้นทุนทำให้ผู้เลี้ยงที่พอมีกำลังอยู่รอดพ้นวิกฤติมาได้

แต่วิกฤติครั้งนี้แตกต่างออกไป ทั้งจากปัญหาหมูเถื่อนที่เขามาซ้ำเติม มาพร้อมกับต้นทุนวัตถุดิบอาหารหมู๋ที่สูงขึ้น ขณะที่ราคาหมูในประเทศลดลง

“จริงๆแล้วช่วงโรค ASF ระบาด ผู้เลี้ยงหมูหายไปจำนวนหนึ่ง แล้วคิดว่าราคาต้นทุนอาหารหมูน่าจะถูกลง แต่ตรงข้ามต้นทุนอาหารหมูแพงขึ้นสูงสุด ทำให้ต้นทุนในการเลี้ยงหมูสูงขึ้นไปอีก”

เมื่อปลายปีที่แล้วเดือนธันวาคม2565 ต้นทุนเลี้ยงหมู 100 กิโลกรัมอยู่ที่ 9,500-9,600 บาท/ตัว แต่ในเดือนธันวาคม2565  เดือนมกราคม -เดือนกุมภาพันธ์ 2566 ผู้เลี้ยงหมูยังขายหมูได้ราคากิโลกรัมละ 100 บาท สูงสุดคือ 110 บาท ทำให้ยังมีกำไร

“แต่เค้าลางของวิกฤติรอบใหม่ เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2566 หลังจากเทศกาลตรุษจีนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และเดือนมีนาคม ราคาหมูที่เดิมทรงตัว เริ่มมีราคาลดลงครั้งละ 4 บาท 6 บาท บางเดือนรายต่ำกว่า 60 บาท ทำให้ผู้เลี้ยงหมูเริ่มขาดทุนแบบย่อยยับ โดยเฉลี่ยหมู 100 กิโลกรัม ขาดทุนตั้งแต่ ตัวละ2,000 บาทไปจนถึง 4,000 บาท”

พร้อมกล่าวว่า “เราจะอยู่กันได้ยังไงหมูขาดทุนตัวละ 2,000-4,000 บาท จากเดิมที่เราเลี้ยงหมูขายขาดทุนตัวละ 200-500 บาท ซึ่งเรายังพอรับได้ แต่ตอนนี้ขาดทุนขนาดนั้น และขาดทุนต่อเนื่องเป็น 10 เดือน มันคือความเจ็บปวดที่คนเลี้ยงหมูรายย่อยไม่เคยเจอมาก่อน”

หมูเถื่อนทำให้ราคาหมูในประเทศลดลง

นายมานะพันธ์ บอกว่าสาเหตุที่ราคาหมูในประเทศลดลงมาจากการนำเข้าหมูเถื่อน แม้ว่าจะเริ่มมีการนำเข้ามาตั้งแต่ปี 2563 แต่ปริมาณการนำเข้าไม่มากนัก โดยหมูเถื่อนเริ่มนำเข้ามาเพิ่มขึ้นในปี2564 ปี2565 และมีปริมาณมากที่สุดในปี2566

ทั้งนี้ข้อมูลของกรมศุลกากร เมื่อวันที่ 17 ต.ค.2566 ระบุถึงสถิติการจับกุมการลักลอบและหลีกเลี่ยงศุลกากรกรณีเนื้อหมูดังนี้

ปี 2564 จับกุม 14 ราย น้ำหนัก 236,177 กิโลกรัม

ปี 2565 จับกุม 25 ราย น้ำหนัก 431,660 กิโลกรัม

ปี 2566 จับกุม 181 ราย น้ำหนัก 4,772,073 กิโลกรัม

รวม 3 ปี มีหมูเถื่อนที่เข้าไทย 5,439,910 กิโลกรัม หรือ 5,439 ตัน

ส่วนขบวนการนำเข้าหมูเถื่อน มาจากไหนบ้างนั้น เป็นที่รับรู้โดยทั่วกันว่าหมูเถื่อนนำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่น บราซิล รัสเซีย สเปน เนเธอร์แลนด์ โดยการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ  พบว่า ขบวนการนำเข้าหมูเถื่อนมีผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่ นักการเมืองใหญ่,ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น พ่อค้านายทุน,ฟาร์มหมู

นายมานะพันธ์ บอกว่า “‘ตั้วเฮีย’ประกอบด้วย ทุนใหญ่  นักการเมือง ข้าราชการ ที่นำเข้าหมูเถื่อน เท่าที่ทราบข้อมูลมา เขาต้องการจะให้ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยหายไปเหลือเพียงแค่ผู้เลี้ยงรายใหญ่ เหมือนกับผู้เลี้ยงไก่เนื้อรายย่อยที่ปัจจุบันไม่มีให้เห็นแล้วเหลือเพียงผู้เลี้ยงไก่รายใหญ่เท่านั้น”

พร้อมย้ำว่า “ถ้ารัฐบาลไม่รีบช่วยเหลือเรา ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยไม่ต่างจากผู้เลี้ยงไก่เนื้อ ที่อีกหน่อยจะไม่มีใครทำ จะเหลือแค่ทุนใหญ่เท่านั้น”

นายมานะพันธ์กล่าวว่าความเสียหายจากโรคระบาด ASF ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ประเทศไทย ประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง เวียดนาม ลาว เมียนมา ได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่ผู้เลี้ยงหมูของประเทศเพื่อนบ้านไม่ประสบปัญหาขาดทุนเลย แม้แต่ประเทศเดียว โดยเฉพาะประเทศจีนโรค ASF ระบาดก่อนไทย 2 ปี  เกษตรกรชาวจีนเลี้ยงหมูไม่เคยขาดทุนเลยแม้แต่บาทเดียว

“มันเป็นความเจ็บปวดของคนเลี้ยงหมู ที่การนำเข้าหมูเถื่อนของตั้วเฮียทั้งหลายมาซ้ำเติมเรา ถึงประเทศอื่นๆ เขามีหมูเถื่อนเข้าไปบ้าง แต่ของเขาเข้าไปไม่เยอะเท่ากับประเทศไทยไม่กระทบราคาหมูในประเทศ”

ข้อเรียกร้องรัฐบาล ช่วยผู้เลี้ยงหมูรายย่อย

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมานายมานะพันธ์ ในฐานะชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันตก และ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ พร้อม 6 สมาคมวิชาชีพสัตวแพทย์ สัตวบาล เวชภัณฑ์ อาหารสัตว์ และผู้แปรรูปปศุสัตว์เพื่อการส่งออก พร้อมผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศ รวมตัวกันเพื่อขอให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เร่งรัดปราบหมูเถื่อนและช่วยเหลือผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย

“แต่ในการเข้าพบนายกรัฐมนตรีครั้งนั้นไม่มีโอกาสได้นำเสนอปัญหาของกลุ่มผู้เลี้ยงหมูรายย่อย จึงอยากจะพบกับนายกรัฐมนตรีอีกสักครั้ง ขอเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง เพื่อบอกเล่าปัญหา ปรับทุกข์กัน ไม่ต้องลงพื้นที่มาพบพวกผมเหมือนลงพื้นที่ไปพบชาวประมง หรือ ชาวนา แค่จัดหาห้องประชุมและสละวลาประชุมร่วมกับพวกผมสักหนึ่งชั่วโมงก็พอ จะได้รับรู้ปัญหาคนเลี้ยงหมูรายย่อย”

ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยมีข้อเสนอที่อยากให้รัฐบาลช่วย 1.ให้เปิดเสรีนำเข้าอาหารสัตว์ ยกเลิกภาษีนำเข้าอาหารสัตว์ เพราะต้นทุนอาหารสัตว์ของประเทศไทยสูงจากภาษีนำเข้าสูง หากเปิดให้เสรีนำเข้าอาหารสัตว์ ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยจะได้ฟื้นตัวได้

“การเปิดเสรีนำเข้าอาหารสัตว์ อาจต้องลดกฎระเบียบกรมการค้าภายใน ระเบียบการกำหนดจำนวนการซื้อ ถ้ารัฐบาลไม่ช่วยแบบนี้ไม่สามารถควบคุมต้นทุนอาหารสัตว์ได้”

2.กระทรวงพานิชย์ต้องจดทะเบียนนายหน้าขายหมู หรือ โบรกเกอร์ขายหมู เพื่อจะได้รู้ว่าในแต่ละวันโบรกเกอร์ ซื้อหมูวันละกี่ตัว มีการสวมหมูมาขาย หรือมีการสต๊อกหมูเอาไว้หรือไม่

3.อยากให้รัฐบาลเจาจรกับธนาคารพาณิชย์ รวมไปถึงธนาคารของรัฐให้ผ่อนผันพักหนี้และปรับโครงสร้างหนี้ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู เพราะเกษตรกรที่กู้ธนาคารส่วนใหญ่ผ่อนยาวเกิน 10 ปีทุกคน จึงอยากให้พักหนี้ ลดดอกเบี้ย/ไม่คิดดอกเบี้ย ให้บ้างเพื่อให้เขาได้กลับมาฟื้นตัวได้

4. ยกเลิกคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) ซึ่งมีทุนใหญ่เป็นกรรมการ เสนอให้มีการปรับโครงสร้างกรรมการใหม่ ให้มีตัวแทนผู้เลี้ยงหมูรายย่อยเข้ามาเป็นกรรมการแทน เพื่อให้เสนอปัญหาและแนวทางในการแก้ไขของผู้เลี้ยงหมูรายย่อยได้

นายมานะพันธ์บอกว่า หากนายกรัฐมนตรีไม่เร่งช่วยเหลือภายใน 2 เดือนนี้ ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยที่ฟื้นจากโรค ASF ที่เหลือเพียง 4 หมื่นรายจะหายไปเกินครึ่ง โดยอาจจะเหลือเพียง 2 หมื่นราย เนื่องจากไม่สามารถแบกภาระขาดทุนต่อไปได้หลังจากขาดทุนมานานกว่า 10 เดือน

นายมานะพันธ์ ชัยเมธสิทธิ์ ประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันตก

แนะรัฐต้องพัฒนา “ตลาดซื้อขายหมู -อาหารสุขภาพ”

ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาว นายมานะพันธ์บอกว่า อยากให้กระทรวงพานิชย์ประกาศราคาหมูขั้นต่ำ และจัดตั้งตลาดรับซื้อหมูของผู้เลี้ยงรายย่อย หากขายได้ราคาต่ำกว่าราคาที่ประกาศ ให้กระทรวงพาณิชย์รับซื้อเพื่อเก็บไว้ขายเอง โดยรูปแบบตลาดดังกล่าว พัฒนาเป็นแหล่งซื้อขายอาหารสุขภาพ เช่น พืชผัก ผลไม้ ที่ปลอดยาฆ่าแมลง หรือสามารถขายสินค้าเกษตรอื่นๆได้  และให้มีในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ

“ผมอยากให้รัฐบาลพัฒนาตลาดเหมือนญี่ปุ่นรับซื้อสินค้าเกษตรจากเกษตรกร เปิดให้มีการขายสินค้าชนิดอื่นๆพืชผักที่ปลอดภัย ราคาที่เหมาะสม ช่วยเหลือเกษตรกร และประชาชนทั่วไปให้ได้อาหารที่ปลอดภัย”

พร้อมกล่าวถึงปัญหาสารเร่งเนื้อแดงกับผู้เลี้ยงหมูขณะนี้ไม่มีแล้ว เพราะแค่ซื้ออาหารเลี้ยงหมูก็ไม่ไหวแล้ว ไม่มีเงินไปซื้อสารเร่งเนื้อแดง และผู้เลี้ยงหมูส่วนใหญ่ไม่มีใครทำแบบนั้นแล้ว เพราะเป็นการเพิ่มต้นทุน

ส่วนประชาชนที่อยากช่วยผู้เลี้ยงหมูรายย่อย อยากให้หันมาใช้น้ำมันหมูทำอาหาร ถ้ามีคนต้องการน้ำมันหมูเพิ่มขึ้น ทำให้น้ำมันมีราคาแพงขึ้น ผู้เลี้ยงหมูสามารถเลี้ยงหมูที่มีมันได้ ทำให้ลดต้นทุนอาหารหมูที่เป็นโปรตีนลงได้

“กินน้ำมันหมู ไม่ได้ส่งผลเสียต่อสุขภาพเหมือนที่เขาบอกกัน แต่มีผลดีช่วยให้ข้อเข่าไม่เสื่อม ลดปัญหาความเสี่ยงโรคมะเร็งจากกการรับประทานอาหารที่มาจากการใช้น้ำมันพืชทอดได้”

นอกจากนี้อยากให้รัฐบาลไปศึกษาประทศญี่ปุ่น ถึงวิธีการทำให้ ชาวไร่ ชาวนา ชาวปศุสัตว์ร่ำรวย ไม่ยากจนเหมือนประเทศไทย ทำอย่างไรจะไม่ให้เกษตรกรรายย่อยอยู่ ใต้อำนาจ ตั้วเฮีย  หรือ รายใหญ่  

นายมานะพันธ์กล่าวย้ำว่า “อาชีพใคร ใครก็รัก ถ้าเราผู้เลี้ยงหมูรายย่อยไม่ออกมาปกป้องอาชีพของตัวเอง ใครจะปกป้อง จึงอยากพบนายกรัฐมนตรีเพื่อเสนอปัญหาอย่างเร่งด่วน เพราะถ้าไม่ช่วยพวกเราผู้เลี้ยงหมูรายย่อยจะตายกันหมด จากที่รอดจากโรค ASF มาเหลือแค่ 4 หมื่นรายจะเหลือไม่ถึงครึ่ง จึงอยากให้นายกรัฐมนตรีรับฟังผู้เลี้ยงรายย่อยด้วย”