ThaiPublica > คนในข่าว > คำต่อคำ Meet the Press ครั้งแรก “พรอนงค์ บุษราตระกูล” เลขาก.ล.ต.คนใหม่

คำต่อคำ Meet the Press ครั้งแรก “พรอนงค์ บุษราตระกูล” เลขาก.ล.ต.คนใหม่

10 ตุลาคม 2023


นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต.

วันที่ 10 ตุลาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้จัดงานพบปะสื่อมวลชน “Meet the Press” ครั้งแรกของ นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต.คนใหม่ ที่เข้ามารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 18 กันยายน ที่ผ่านมาตามมติคณะรัฐมนตรี

นางพรอนงค์ เริ่มด้วยการกล่าวขอบคุณสื่อมวลชนที่สละเวลามาทำความรู้จักกัน การที่จัดอีเว้นท์ขึ้นมาในวันนี้ เนื่องจากหลายฝ่ายติดตามตำแหน่งนี้มาระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งบทจะมาก็มาเร็ว จนทุกคนอยากจะสอบถามในประเด็นต่างๆ และได้รับการติดต่อมาจากหลายสื่อ จึงมองว่าในการที่จะตอบคำถามหรือชี้แจง รวมทั้งการแนะนำตัวเอง ให้เป็นประโยชน์สูงสุด ก็ควรรวบรวมมาเจอกันในวันนี้

“ดิฉันเป็นเลขาธิการคนที่ 8 ได้รับตำแหน่งที่มีผลวันที่ 18 ดิฉันได้เตรียมมา 2 ประเด็นหลักๆ รวมทั้งจะเปิดให้ซักถามในประเด็นอื่นๆ” นางพรอนงค์กล่าวและว่า ยังมีผู้บริหารที่เป็นรองเลขาธิการมาร่วมด้วย ซึ่งเป็นทีมงานที่สำคัญ เพราะนอกจากจะพูดถึงบทบาทของตัวเองในส่วนหนึ่ง การที่จะดำเนินการไปข้างหน้า ก็ต้องอาศัยรองเลขาธิการ 4 คนด้วย

อย่างไรก็ตามนางพรอนงค์กล่าวว่า วันนี้เป็นการคุยแบบกันเอง

แนะนำตัวเอง

ในประเด็นแรก นางพรอนงค์กล่าวว่า ขอแนะนำตัวเองก่อนว่า เป็นใคร มาดำรงตำแหน่ง “ในสิ่งที่ดิฉันเรียกว่า ได้รับเกียรติอย่างยิ่ง และเป็นภารกิจที่สำคัญ”

นางพรอนงค์กล่าวต่อว่า ทุกคนคงรู้จักชื่ออยู่แล้ว แต่เอาให้เต็มตามที่คนเรียกชื่อมา “คนจะเรียกดิฉันว่ารองศาสตราจารย์ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล” ตำแหน่งล่าสุดก่อนที่จะลาออกมาและ effective ที่นี่ เป็นอาจารย์ประจำ ภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในตำแหน่งอาจารย์ก็เป็นราชการ และอยู่ในสายข้าราชการ ตั้งแต่จบปริญญาเอก เมื่อจบปริญญาเอก ก็ได้เป็นอาจารย์และได้รับทุนเรียนของที่จุฬาฯ

“การมา effective ที่นี่ตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน เป็นการเปลี่ยนบทบาท แต่ภายใต้องค์กร หน่วยงาน รวมถึงสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคยมากๆ ถ้าพูดถึงตัวเองกับสำนักงานก.ล.ต. ย้อนกลับไปที่เป็นทางการ ดิฉันก้าวขาเข้ามาในสำนักงานก.ล.ต.ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 จริงๆก็ตั้งแต่ก.ล.ต.ยังอยู่ที่ถนนวิทยุ แต่ถ้าทางการก็ได้อยู่ในชุดอนุกรรมการ ซึ่งการออกเกณฑ์ของก.ล.ต.ก็จะมีอนุฯต่างๆ โดยเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในอนุฯตั้งแต่ปี 2555 แล้วขยับขึ้นมาเป็นกรรมการกำกับตลาดทุนหรือ ก.ต.ท.ตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งมีตำแหน่งยาวมาจนถึงปี 2564 แม้จะพ้นตำแหน่งจากก.ต.ท.ไป ก็ยังเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ อนุกรรมการในชุดต่างๆ รวมถึงคณะทำงานของก.ล.ต.” นางพรอนงค์กล่าว

นางพรอนงค์กล่าวต่อว่า “การมา effective ที่นี่ สิ่งที่เพิ่มเติม คือ ความรับผิดชอบที่สูงขึ้น แต่ถามว่าความคุ้นเคยในเนื้องาน ความคุ้นเคยในทีมงาน ของสำนักงาน เห็นมาตั้งแต่ผู้บริหารส่วนหนึ่งยังไม่อาวุโส ดิฉันก็ไม่อาวุโสขนาดนี้ เราโตมาด้วยกัน แต่ถ้าถามว่าดิฉันอยู่กับตลาดทุนมาตั้งแต่เมื่อไร ก็ตั้งแต่ก้าวขาจบปริญญาเอกมา ดิฉันอยู่ภาคการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ในจุฬาฯ ซึ่งมี 2 สายคือ investment และการธนาคาร ดิฉันอยู่กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน ส่วนใหญ่จะผ่านมือในเรื่อง train the trainer เวลาจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ของตลาดหลักทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็น options, futures ดิฉันก็จะอยู่ตั้งแต่การดูแลการสื่อสารผลิตภัณฑ์เหล่านั้น เพื่อให้คนในอุตสาหกรรมสามารถแนะนำผลิตภัณฑ์เหล่านั้นได้ และอยู่ในด้านการเทรน ทำเอกสาร ดังนั้นถามว่า ดิฉันคุ้นเคยกับงานนี้ในลักษณะงาน ผลิตภัณฑ์ในแนวทาง ในเกณฑ์ต่างหรือไม่ โดยส่วนตัวก็ต้องบอกว่ามั่นใจ คุ้นเคยกับสำนักงานดีพอไหม ก็ต้องบอกว่า ดีพอที่จะรู้ทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน และอาจจะเป็นมุมมองจากภายนอกมองเข้ามา สิ่งต่างๆเหล่านี้ประกอบกันมา”

“โดยส่วนตัวดิฉันเชื่อว่า ในจังหวะของทุกท่านในกิจกรรมของท่าน ท่านคงมีคำถาม ดิฉันก็มีคำถามในอาชีพการงาน มาตลอดเวลา เพราะอย่างที่บอก ดิฉันเดินอยู้ในสายตลาดทุน แล้วเวลาที่ตลาดทุนมีการสรรหา ตำแหน่งงานต่างๆในระดับผู้นำ ก็จะมีการถาม ทาบทาม แล้วมาชักชวนให้ออกมาร่วม หรือให้เปลี่ยนบทบาท คำถามเหล่านี้มีมาอยู่เรื่อยๆ รวมถึงตำแหน่งนี้ในรอบที่แล้ว ในรอบ 4 ปีที่แล้วก็มีการถาม มีการให้พิจารณาว่าพร้อมไหม คำถามเหล่านี้มีมาเรื่อยๆ”

นางพรอนงค์กล่าวต่อว่า แต่ทุกคนคงมีคำถามที่เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต “จุดเปลี่ยนชีวิตของดิฉันมาตอนสักปลายปีที่แล้ว ก็มีคำถามเป็นเรื่องปกติ ว่าไม่สนใจที่จะเปลี่ยนงานหรือ ลูกศิษย์ก็ถาม คนในอุตสาหกรรมก็ถาม จุดเปลี่ยนในชีวิตก็มีคำถามนึง ซึ่งดิฉันก็อาจจะตอบที่ตอบโดยทั่วไปว่า ดิฉันอยู่บทบาทไหน ดิฉันก็ช่วยตลาดทุนไทยได้ทั้งสิ้น”

นางพรอนงค์กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีส่วนในการช่วยจัดทำแผนพัฒนาตลาดทุนไทยฉบับที่ 4 จึงเชื่อว่าบทบาทไม่สำคัญเท่ากับสิ่งที่มุ่งมั่นจะอยากเห็น “เราไปอยู่ตรงไหน ถ้าเรามีบทบาทในสิ่งที่เราจะอยากเห็น ก็ก่อให้เกิดประโยชน์ได้ทั้งสิ้น แต่คำถามที่เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต ก็คือคำถามที่ว่า อาจารย์คิดว่าอาจารย์จะทำอะไรได้มากกว่านี้อีกไหม ได้มากกว่าการเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ หรือที่ปรึกษา การให้คำแนะนำ อาจารย์พร้อมที่จะรับผิด รับชอบไหม ในความหมายคือ ในการที่เราเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นที่ปรึกษา เราอาจจะบอกได้ว่าถนนหน้าตาควรจะเป็นอย่างนี้ แต่เราไม่ได้อยู่ในการสร้างถนนตรงนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ อาจารย์มีความอยากที่จะรับผิดรับชอบ ทำมากกว่านี้ได้อีกไหม”

นางพรอนงค์กล่าวว่า เป็นคำถามที่ท้าทายมาก “เพราะชีวิตที่ผ่านมา ทุกๆวันอยากให้เกิดประโยชน์ แต่ก็ไม่เคยประเมินตัวเองว่าได้ทำประโยชน์ได้เต็มที่หรือยัง ทุกวันมองว่าเราทำได้แล้ว แตไม่เคยประเมินตัวเอง ก็เลยกลับมานั่งคิด และก็มองว่า ที่ที่ดิฉันอยู่ในขณะนั้น ก็มองตัวเองว่าได้ทำเต็มที่แล้ว ก็เริ่มประเมินตัวเอง เมื่อเดินออกจากจุฬา ก็มีคนใหม่ๆ ซึ่งเก่งกว่าและดีกว่า สิ่งที่ทำได้ในตำแหน่งวิชาการก็ได้ทำไปหมดแล้ว สภาฯได้อนุมัติตำแหน่งศาตราจารย์แล้ว แต่รอโปรดเกล้าฯ ถือว่าดิฉันไปได้ในสุดในสายวิชาการ ซึ่งศาตราจารย์ทางด้านการเงินจุฬา ถ้าได้รับโปรดเกล้า ก็จะเป็นคนแรกที่นำพาคณะและภาควิชา มาได้ถึงจุดนั้น ก็มองว่าทำเต็มที่แล้ว และไม่มีความห่วงอะไรแล้ว”

นางพรอนงค์กล่าวว่า สิ่งที่อาจจะมองกลับมา สำนักงาน(ก.ล.ต.)ก็เหมือนกับบ้านหลังที่สอง เดินเข้าเดินออกตลอกเวลา “ถ้าถามว่าดิฉันมาอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร ดิฉันมีความคุ้นเคย ความมั่นใจในเรื่องเหล่านี้อย่างไร ได้ทำเต็มที่แล้วยัง ก็บอกว่า น่าจะทำได้ดี นั้นคือคำถามของการเปลี่ยนชีวิต ก็สมัครเป็นตัวแทนในการสรรหาเลขาธิการก.ล.ต. และนำพามาจนถึงวันนี้ เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตที่ภูมิใจได้เริ่มต้น เป็นการตอบคำถามว่า มาอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร นั่นเป็นส่วนแรก

สร้าง Trust and Confidence

นางพรอนงค์กล่าวว่า เมื่อบอกว่าเราพร้อมแล้ว เราเปลี่ยนชีวิตแล้ว เราอยากมาอยู่ตรงนี้แล้ว เรามีความอยากอย่างเดียวไม่พอ ก็ต้องมานั่งทบทวนว่า ถ้าได้รับการมอบหมาย จะทำอะไร

“ในการแสดงวิสัยทัศน์ ไม่ว่าจะเป็นในกระดาษประกอบใบสมัคร มาจนถึงการแสดงวิสัยทัศน์ เพื่อที่จะอยู่ในกระบวนการที่จะได้รับการคัดเลือก ธีมที่ใช้ ซึ่งได้เผยแพร่ธีมให้กับทีมงานในสำนักงาน ดิฉันก็พูดภาษาง่ายๆเลยว่า ดิฉันมีความเชื่อว่า การทำหน้าที่ regulator ของตัวสำนักงานก.ล.ต.เป็นเรื่องการให้บริการสาธารณะ ที่ภาษาทางด้านเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Public Goods เรากำลังเสนอสินค้าและบริการสู่สาธารณะ หมายถึงสำนักงานสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนากับการกำกับ เพราะฉะนั้นคือ การพัฒนาถนนให้มีโปรดักส์ที่มีความหลากหลาย พัฒนาเกณฑ์ต่างๆเพื่อให้สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างมีความสามารถในการแข่งขัน ส่วนด้านการกำกับ ให้คนที่อยู่ในถนนมีความเป็นธรรม ไม่เอาเปรียบกัน ไม่มีการฉ้อโกงกัน ผู้ลงทุนที่มาเดินในถนนนี้ ได้รับการคุ้มครองที่เหมาะสม”

นางพรอนงค์กล่าวว่า หน้าที่ของคนทำหน้าที่เหล่านี้ ก็ต้องออกเกณฑ์ ออกแนวปฏิบัติ ไปบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้สามารถสมดุลทั้งสองเรื่องนี้ การที่จะทำอย่างนั้นได้ โดยส่วนตัวก็เห็นว่า ให้ความสำคัญกับ การสร้างความเข้าใจก่อน ผู้ประกอบธุรกิจจะได้เข้าใจว่าทำไมทำแบบนั้น นักลงทุนเอง การที่จะไปคุ้มครอง ก็เป็นเงินของเขา จะไปบอกเขาว่าควรจะลงทุนแบบนี้ตราบใดที่มีข้อมูลแบบนั้น นักลงทุนอาจจะบอกว่าเป็นเงินของนักลงทุน นักลงทุนต้องเข้าใจก่อน เมื่อเข้าใจแล้ว นักลงทุนเชื่อมั่น ก็จะเดินตาม ก็จะไปหาเป้าประสงค์ คือ สำนักงานทำหน้าที่ของสำนักงานได้ดีพอ

“การจะทำให้คนเชื่อมั่น จะทำให้คนมั่นใจได้ คียเวิร์ด ของดิฉันที่แสดงในกระดาษและพูดตลอดมา ก็คือ trust and confidence เรามีหน้าที่ที่ต้องสร้าง trust and confidence เราจะทำอย่างไรให้คนเชื่อถือ ทำให้คนวางใจ บางที่เราเชื่อถือเพื่อนเรา แต่เราไม่วางใจ เราก็ต้องตรวจสอบถี่ตลอดเวลา ทำอย่างไรให้เกิด trust กับ confidence มีหลายมิติมาก พูดสั้นๆก็คือ ทำอย่างไรจะให้สำนักงานสร้าง trust กับ confidence สำนักงานก็ต้องเป็นมืออาชีพ คนของสำนักงานเอง รวมตั้งแต่เลขาลงไปต้องเป็นมืออาชีพ ต้องมี capability ต้องมีความสามารถ ถ้าเราไปบอกให้เขาทำแล้วเราไม่รู้ เขาก็ไม่เชื่อ ในการเป็นมืออาชีพ การมีองค์ความรู้เหล่านี้ อยู่กับที่ไม่ได้ ต้องสร้างตลอดเวลา รักษาบุคคลากร”

นางพรอนงค์กล่าวว่า ในด้านที่สอง เชื่อว่าในการที่ทำให้เกิด trust กับ confidence หรือมีอยู่แล้วก็ให้มีต่อเนื่องไป ก็ต้องรักษาองค์กรให้เป็นอิสระ องค์กรเป็นธรรมกับทุกฝ่าย มองประโยชน์ของ other ก็คือ ผู้มีส่วนได้เสีย สร้างสมดุล เป็นมิติที่ต้องรักษาให้ได้ว่า “เราไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง” เราทำเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ คือ ระบบเศรษฐกิจ เสถียรภาพของตลาดทุน นั่นคือจุดมุ่งหมายของเรา”

แต่ทำอย่างเดียวไม่พอ ก็ได้อ่านข้อมูลในช่วงที่ท้าทายก่อนที่จะมาดำรงตำแหน่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นจากเว็บบอร์ด จากนักลงทุน ในลักษณะที่ว่า มีทำไมก.ล.ต. หรือมีดาบก็ไม่ใช้ ต่างๆเหล่านี้ ก็คงต้องมีการเปลี่ยนแปลง แต่การเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เราสร้าง value ไม่ได้ และเชื่อว่าการที่อยู่กับสำนักงานมานาน รู้กระบวนการในการทำงาน ยังทำให้ตัวดิฉันภูมิใจในการเป็นส่วนหนึ่ง “แต่วันนี้ยิ่งภูมิใจใหญ่เลยที่ได้มานำพา ดังนั้นการที่คนยังเห็นเราสร้างคุณค่าไม่ได้ อาจจะมาจากการที่เรายังไม่สร้าง หรือเริ่มสร้างแล้ว เขาไม่รับรู้ จึงนำไปสู่การให้ความสำคัญกับเรื่องที่สาม คือ การสื่อสาร”

นางพรอนงค์กล่าวว่า การสื่อสาร การประสานความร่วมมือ การฟัง การฟังเป็นทักษะที่สำคัญมาก อย่างวันนี้ การฟังในสิ่งที่เขา voice มาตรง สิ่งที่ไม่ voice มา แต่ทำให้เห็น สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก

“ถ้าถามดิฉันว่า มีวิสัยทัศน์ในการที่จะนำพา ตัวองค์กรไปอย่างไร ก็มองว่าคงเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับจุดมุ่งเน้นของคณะกรรมการ คือ trust กับ confidence คือ การสร้างในเรื่องความน่าเชื่อถือ ความไว้วางใจ มีอยู่แล้วก็ดียิ่งขึ้น ยังมี gap ตรงไหนเป็นหน้าที่ที่เราต้องสร้างเสริมขึ้นมา ด้วยมิติต่างๆ”

นางพรอนงค์กล่าว และว่า นี่เป็นส่วนแรกที่มองในชีวิตส่วนตัว ว่ามาอย่างไรและจะนำพาไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเรื่องของอะไรบ้าง

จะ Proactive สื่อสารประเด็นสาธารณะ

ในส่วนที่สอง คือ เมื่อเข้ามาแล้วได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง นางพรอนงค์กล่าวว่า “ดิฉันไม่ได้มองว่า เป็นเรื่องที่ เพิ่งเข้ามาเอง จะมาถามอะไร ดิฉันมองว่าทุกนาทีมีค่า ถ้าเราจะสร้างความน่าเชื่อถือ เขาก็น่าจะรู้ความเคลื่อนไหวว่าเราทำอะไร ดิฉันเข้ามาที่สำนักงานยังไม่ถึง 30 วัน อย่างไรก็ตาม ก็มีสิ่งที่เร่งด่วน สำหรับดิฉัน คือ การติดตามประเด็นสาธารณะ”

นางพรอนงค์กล่าวว่า ในสองสัปดาห์แรกหลังจากการเข้ารับตำแหน่งได้มีการสื่อสารไปในสิ่งที่เป็นกรณีที่สื่อให้ความสนใจ ว่าก.ล.ต.มีการดำเนินการอะไรไปแล้ว แล้วกำลังจะทำอะไรต่อ ซึ่งแต่ละกรณีก็ได้ชี้แจงไปแล้ว ในกรณีใหญ่ที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชน เช่น STARK, MORE

“ถ้าพูดในบริบทของสำนักงาน ตลาดหลักทรัพย์ ดิฉันมองว่า เราได้ทำไปในระดับที่ ถ้าไม่มีข้อมูลใหม่หรือไม่มีอะไรเพิ่มเติม เราเป็นหน่วยที่ทำไปแล้ว เต็มที่แล้ว และส่งไปหาหน่วยงานที่อยู่ในกิจกรรมที่ต้องดำเนินการต่อเช่น DSI สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปจากนี้ก็คือว่า เราต้องมีการสื่อกับสาธารณะว่า กระบวนการเหล่านี้ความคืบหน้าเป็นอย่างไร ได้มีการประสานทั้งตลาดหลักทรัพย์ DSI ซึ่งเราก็จะเริ่มบอกถึงความคืบหน้าร่วมกัน ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้เป็นการดำเนินการร่วมกัน หรือชี้แจงร่วมกัน ขอให้มั่นใจว่าทุกองคาพยพ เราได้ทำทุกอย่าง แต่บางเรื่องเราไม่สามารถชี้แจงได้หมด บางอันอยู่ในกระบวนการ อันไหนชี้แจงได้ก็ชี้แจงต่อสาธารณะ”

“โดยส่วนตัวดิฉันมาปรับรูปแบบบางอันเพื่อให้ proactive เพื่อให้ไม่ต้องมาคาดเดา เกิดความไม่แน่นอน เพราะปัจจจัยเหล่านี้มีผลทางลบต่อตลาดได้เช่นกัน” นางพรอนงค์กล่าว

นางพรอนงค์กล่าวอีกว่า ตัวเธอนอกจากมาจากสายการเงินแล้ว ยังมาจากสาย corporate governance โดยมี CFA(Chartered Financial Analyst) และมี CIA(Certified Internal Auditor) ซึ่งเป็นสายการตรวจสอบภายใน ความเสี่ยง และเป็นกรรมการด้าน corporate governance ของจุฬามาก่อน “ดิฉันเชื่อในเรื่องการมุ่งสู่ความโปร่งใส การเป็นองค์กรที่ดี การเป็นหน่วยงานที่ดีต้องอาศัยการขัดเกลาจาก third party ซึ่งสื่อก็เป็นหนึ่งใน third party ที่มีประเด็น มาตรวจสอบ มาสอบทาน มีข้อเสนอแนะ โดยส่วนตัวดิฉันให้ความสำคัญกับเรื่องพวกนี้อยากรับฟัง อยากนำไป rethink ว่า ที่เราทำอยู่ดีพอแล้วยัง”

Quick win สร้างความน่าเชื่อ-ไว้วางใจ

จากนั้นนางพรอนงค์เปิดให้สื่อมวลชนซักถาม คำถามแรก คือ quick win ที่เป็นรูปธรรม ที่จะสร้างความน่าเชื่อและความไว้วางใจ จากเหตุการณ์ทุจริต ฉ้อโกง จากนี้ไป จะทำอะไรบ้าง

นางพรอนงค์ตอบว่า ในแง่การทุจริต การฉ้อฉล ก็จะขอพูดในสิ่งที่อยู่ภายใต้การกำกับของก.ล.ต. การที่เรียกความเชื่อมั่นกลับมา ต้องมี 3 ส่วน ส่วนที่เป็น quick win ก่อน คนอาจจะมีความคาดหวังว่า คนทำผิดก็ต้องได้รับการลงโทษ โทษนั้นต้องสาสมด้วย เป็นเรื่องปกติไม่ว่าตลาดทุนหรือที่อื่นๆ quick win ก็คือ การให้ความมั่นใจในเรื่องกระบวนการ ในเรื่อง enforcement ซึ่งภายใต้กฎหมาย ภายใต้อำนาจที่ก.ล.ต.มี สิ่งที่สำนักงานต้องทบทวนคือ ว่า ทำเต็มที่แล้วยัง ถ้าทบทวนแล้ว “แล้วดิฉันค่อนข้างมั่นใจ ว่าเราทำเต็มที่แล้ว ที่เหลือคือสิ่งที่เราต้องสื่อสารว่า สิ่งทีเกินอำนาจเราไป เราเป็น facilitator ได้หรือไม่”

นางพรอนงค์กล่าวว่า บางเรื่องก.ล.ต.ได้ส่งไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษแล้ว เป็นหน้าที่ของ DSI ในการที่จะรับไปดำเนินการต่อ แต่ไม่ใช่ในสิ่งที่หลายคนบอกว่า ก.ล.ต.เงียบ ก.ล.ต.ส่งแล้ว ก็ไม่ได้ให้แล้วไปเลย มีหน้าที่สนับสนุนกลไกนั้น มีหน้าที่ที่ต้องไปติดตาม ไม่ได้ไปบอกว่าต้องทำอย่างไร แต่ไปดูว่า มีจุดไหนที่ก.ล.ต.สามารถจะเป็นประโยชน์ได้บ้าง ซึ่งจะให้ความมั่นใจโดยการที่บอกร่วมกันกับผู้ที่รับเรื่องต่อจากก.ล.ต. ถ้าไม่มีกรณีใหม่เข้ามา กรณีเดิม ก็น่าจะเรียกความเชื่อมั่นกลับมาได้

“สิ่งที่จะทำให้ไม่เกิดกรณีใหม่ๆเข้ามา ดีที่สุดคือป้องปราม กรณีเหล่านี้ที่ผ่านมาเป็นเหมือน lesson learned ไม่ว่า regulator ที่ไหน ก.ล.ต.หรือ regulator ภาคธนาคาร เวลาที่เกิดทั้งในต่างประเทศหรือเกิดขึ้นที่ประเทศเรา เกิดในอุตสาหกรรมไหน เราต้องเรียนรู้จากมัน แล้วมาดูว่าเราล้อมคอก เราป้องกันด้วยเรื่องอะไรบ้าง หลายๆกรณีในเรื่องทุจริต หรือแนวที่จะบ่งชี้ที่จะมีปัญหา ดิฉันใช้คำในสายวิชาการว่า เหมือนเราเอาหลังมาพิงกัน เชื่อมั่นเราพิงกัน เราไม่ล้ม แต่ปรากฎว่าที่เราพิงกัน แต่ละฝ่ายอาจจะมี gap ของตัวเองอยู่ก็ล้ม โอกาสเกิดน้อยมาก แต่พอเกิดแล้วมันใหญ่”

“เราต้องยกระดับไม่ว่าจะเป็น gate keeper ไม่ว่า three lines of defence ที่สำนักงานมีแนวอยู่แล้ว ก็อาจจะต้องทำให้ three lines of defence ในบริษัทจดทะเบียน ยกตัวอย่าง มีหน่วยตรวจสอบภายใน มีผู้บริหาร มีคณะกรรมการตรวจสอบ ควรมีการยกระดับในการป้องกัน แก้ไขในระบบของตัวเองด้วยอะไร ไม่ใช่ให้ทุกอย่างมาอยู่ที่ enforcement อย่างเดียวแล้วเอาผิด ความรุนแรงความเสียหายเป็นสิ่งทีไม่เกิดประโยชน์ต่อสังคม ต้องเน้นที่การป้องกัน” นางพรอนงค์กล่าว

นางพรอนงค์กล่าวว่า ในบริบทของก.ล.ต. ก็คงต้องไปดูเกณฑ์ต่างๆ สร้างการรับรู้ ยกระดับ ซึ่ง ตลาดหลักทรัพย์ สมาคมบล. บริษัทจดทะเบียน ก็ต้องมาร่วมกัน

ส่วนเรื่องการปราบ ก็ต้องมี detect ซึ่งก็เป็นบทบาทของ regulator อยู่แล้ว มีระบบ resilience ว่าจะปรามอย่างไร

ปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนมีกว่า 800 แห่งซึ่งถือว่าเยอะมาก “ซึ่งก็มีเด็กดี เด็กเกือบดี เด็กที่อาจจะหลวมๆอยู่ เราก็ต้องไปดูระบบเหล่านั้น ก็จะได้เห็นเมื่อมีการดำเนินการแล้ว ผลที่จะเกิดในอนาคตที่ไกลออกไป ก็ไม่ควรมีเรื่องเหล่านี้ เพิ่มเติม หรือความรุนแรงต่างๆก็ลดลงน้อย ก็ต้องมีทั้งป้อง ปราม และปราบ quick win ก็ต้องให้ความเชื่อมั่นตรงกลางก่อน” นางพรอนงค์กล่าวและว่า โดยส่วนตัว สำนักงาน ก่อนที่จะเข้ามาก็ทำได้ดีอยู่แล้ว ส่วนป้องกับปราม เป็นเรื่องของ lesson learned ต้องหาจุดสมดุล เพราะมองว่าเวลาที่มีความเสี่ยงเหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องใช้ระเบียบเดียวกัน ในการจัดการความเสี่ยง แต่เชื่อว่าต้องมีความเหมาะสมตามลักษณะและความเสี่ยง same activity, same risk same regulatory outcome “เราควรจะเห็น outcome ของการกำกับ ที่เขาเรียกว่า same regulatory outcome ซึ่งสำนักงานจะไม่คิดคนเดียวจะประสานความร่วมมือ stakeholder ต่างๆให้เป็นสิ่งที่ดีต่ออุตสาหกรรม ดีต่อระบบแล้วเน้นการป้องปรามมากขึ้น”

วิสัยทัศน์กำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล

คำถามที่สอง ขอให้เลขาธิการก.ล.ต.แสดงวิสัยทัศน์ในการกำกับดูแล สินทรัพย์ดิจิทัล(digital asset)
นางพรอนงค์ตอบว่า ดิจิทัลแอสเส็ท ปัจจุบันอยู่ภายใต้พรก.สินทรัพย์ดิจิทัล(พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลพ.ศ. 2561) สิ่งที่เบ็ดเสร็จและพัฒนาในเชิงกำกับ สำนักงานมองว่าที่ substance เป็นเรื่องของการระดมทุน การลงทุน และ “อยากให้เกิดภาพที่ไม่เหลื่อมล้ำกันกับหลักทรัพย์ดั้งเดิมกับสินทรัพย์ดิจิทัล ปัจจุบันสำนักงานอยู่ในกระบวนการปรับแก้กฎหมาย ให้สินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็น investment token มาอยู่ตรงพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ซึ่งจะทำให้การพัฒนาและการกำกับ on par(ระนาบ) เดียวกัน”

นางพรอนงค์กล่าวต่อว่า การแก้ไขกฎหมายเหล่านี้ต้องใช้เวลา ตอนนี้อยู่ในชั้นของกฤษฏีกา แต่ก.ล.ต.ไม่ได้มองว่า ต้องแก้เสร็จถึงจะปรับ ecosystem ในการกำกับและพัฒนาให้เหมาะสม ระหว่างนี้ก็ไปปรับในพรก.สินทรัพย์ดิจิทัล ให้ชัดเจนมากขึ้นว่า concerns ในประเด็นใดบ้าง “อาจจะ concerns utility token, investment token เราจะทำ hearing ซึ่งได้ทำไปแล้ว และจะปรับระบบนิเวศในดิจิทัลแอสเส็ท substance มันคือไม่เหลื่อมล้ำ ไม่มี arbitrary ในเรื่อง regulatory มาเลี่ยงเกณฑ์เพื่อให้ง่ายขึ้น ทำตามเกณฑ์แล้วยากกว่า เป็นสิ่งที่ไม่อยากเห็น”

ในด้านการกำกับ นางพรอนงค์กล่าวว่า มองว่าถ้าเป็น ดิจิทัลแอสเส็ท โลกเป็นดิจิทัลอิโคโนมี ต้องในเทคโนโลยีหรือ ดิจิทัลเป็นเครื่องมืออยู่แล้ว สำนักงานอยากจะส่งเสริมภายใต้การคุ้มครองผู้บริโภคที่เหมาะสม และภายใต้กฎหมาย เช่น การไม่ส่งเสริมการเก็งกำไรในคริปโท การให้เป็นเครื่องมือใน mean of payment ทิศทางสำนักงานชัดเจนในเรื่องเหล่านี้ และไม่ได้ทำคนเดียว เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2566 ได้รับฟังความเห็นจากสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (TDO) เพื่อช่วยให้แข่งขันได้ ภายใต้บริบทที่เหมาะสมกับประเทศ

“การกำกับก็ตามฐานความเสี่ยง เสี่ยงมากก็กำกับเข้ม เสี่ยงน้อยหรือเป็นสิ่งที่เราไม่ concerns ก็ปล่อย อย่างเช่น utility token คอยน์ พร้อมใช้เหมือนกับการแลกไมล์ เพราะไม่อยากปิดกั้นเรื่องที่ดีกับคนใช้งาน เกณฑ์ที่ชัดเจนจะออกมาในปลายปี ในช่วงที่ยังแก้ไขกฎหมาย แต่ถ้ากฎหมาย effective ความชัดเจนจะยิ่งชัดกว่าเดิม น่าจะ on par กับบริบทของเราและต่างประเทศที่ทำอยู่”

ยังไม่สรุปกองทุนเยียวยา

คำถามที่สาม สอบถามการที่ก.ล.ต.อาจจะต้องทบทวนความเสียหายจากกรณีอื่น ที่เกิดขึ้นมาหลายกรณี และหลายคนยังไม่ได้รับการเยียวยา จุดอ่อนหรือช่องโหว่อยู่ตรงไหน มีแผนที่จะปรับปรุงไปช่วยเหลือกลุ่มผู้ลงทุน แทนที่จะดูแลตัวเอง ยกตัวอย่าง กรณีของ STARK ที่แม้จะดำเนินคดีแบบ class action ก็ยังมีช่องโหว่ในการเยียวยาผู้เสียหายให้ล่าช้าอยู่

นางพรอนงค์ตอบว่า คำถามนี้เน้นไปที่เกิดความเสียหายแล้ว นักลงทุนรายย่อยมีความเสียหายในกรณีต่างๆเหล่านี้ class action เกิดขึ้นจากความริเริ่มของสำนักงาน ไทยไม่เคยมีกฎหมายด้านนี้มาก่อน สำนักงานให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และผลักดันให้เป็นเรื่องที่ดำเนินการได้ แต่พอมีกฎหมายแล้ว ทางปฏบัติก็ไม่ง่าย สำนักงานให้เปิดให้นักลงทุนใช้กฎหมายเองได้ โดยที่มีภาระ หรือต้นทุนน้อย สำนักงานพยายามที่จะเสริมอำนาจให้นักลงทุนโดยผ่านผู้แทน

การมี class action ทำให้ ก็ยังมีช่องโหว่ในการเยียวยาผู้เสียหายให้ล่าช้าอยู่ แต่ก็ถือว่าดีขึ้นจากรอบสิบปีที่ผ่านมา ที่ยังไม่มีกฎหมาย ในกรณีที่เกิดขึ้นก็ถือได้ว่าในวิกฤติยังมีโอกาสอยู่ที่สามารถดำเนินการตาม class action ได้ต้องใช้เวลา อย่าง ในกรณี เอ็นรอน ในสหรัฐฯที่มีการใช้ class action ก็ใช้เวลาหลายปี นักลงทุนได้เงินกลับมาบ้าง ก็อยากให้มองทางบวก class action คือ การเสริม โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อย แต่การดำเนินการไม่ง่าย สำนักงานพยายามอำนวยให้ใช้เครื่องมือนี้ได้

ส่วนการเยียวยาผู้เสียหาย สำนักงานอยู่ในช่วงการศึกษาเรื่องกองทุนเยียวยา และกำลังนำผลการศึกษามาสรุปผลว่า สามารถทำได้หรือไม่ รูปแบบไหน ไม่อยู่ในสิ่งที่ทำได้ในปัจจุบัน แต่อยู่ในกระบวนการการศึกษา เมื่อได้ข้อสรุปก็ต้องพิจารณากันอีกครั้งหนึ่ง

เจาะความคืบหน้ากรณี STARK-MORE

คำถามที่สี่ การใช้อำนาจของก.ล.ต.ภายใต้พ.ร.บ.หลักทรัพย์ ทั้งในกรณี MORE กับ STARK ถือว่าก.ล.ต.ทำเสร็จสิ้นแล้วใช่หรือไม่ ยังมีอะไรที่ทำอีก ต้องมีข้อมูลหลักฐานอะไรที่จะดำเนินการต่อเนื่อง นอกเหนือจากการที่ส่งไปที่ DSI

นางพรอนงค์ตอบว่า กรณี STARK มี special audit ที่ก.ล.ต.สั่งให้บริษัทไปดำเนินการเป็นระยะที่สอง และได้เห็นว่าตลาดหลักทรัพย์ฯก็ให้บริษัทชี้แจง เอาประเด็นเหล่านี้ชี้แจงกลับมาว่า บริษัทจะดำเนินการอย่างไรต่อ มีการดำเนินการปิดจุดอ่อน หรือดำเนินการหา ก็ได้ให้บริษัทชี้แจง จาก special audit อย่างไรก็ตาม กรณี STARK สำนักงานไม่ได้รอ special audit ได้มีดำเนินการตรวจสอบเอง ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ ดำเนินการมาตั้งแต่ต้น สิ่งที่บริษัทเปิดเผยออกมาก็นำมาเปรียบเทียบกับสิ่งที่สำนักงานตรวจสอบเชิงลึก เชื่อว่าจะนำไปสู่ หากมีหลักฐานเพียงพอ ฐานความผิดอื่น หรือผู้กระทำความผิดอื่นได้เช่นกัน

ส่วนกรณี MORE จากการที่ได้กล่าวโทษไป 2 ครั้งกับกลุ่มบุคคล ที่ได้กล่าวโทษกับ DSI หากมีการชี้เบาะแสเพิ่มเติม หลักฐานใหม่ ก็จะนำหลักฐานเหล่านี้ไปพิจารณา มาตรการหรือสิ่งที่จะดำเนินการต่อไปได้เช่นกัน การดำเนินการต้องไปตามรูปเรื่องของข้อมูลหลักฐาน แต่หากเป็นสิ่งที่กล่าวหาไปแล้ว ก็จะอำนวยให้ผู้ที่รับเรื่องต่อสำนักงานไปดำเนินการในบริบทของหน่วยงานนั้นต่อไป

คำถามในสองกรณียังมีต่อเนื่องว่า ณ ตอนนี้หลังจากที่ special audit ก.ล.ต.กำลังดูว่า มีข้อมูลที่จะเข้าข่ายความผิดที่จะดำเนินการต่อเนื่องใช่หรือไม่ และปัจจุบันมีการกล่าวโทษในฐานความผิดอะไรบ้าง

นางพรอนงค์กล่าวว่า สำนักงานมีการตรวจสอบของสำนักงานเอง แต่ได้นำข้อมูลที่บริษัทส่งมา เป็นหนึ่งในข้อมูลที่นำมาประกอบ ถ้ามีหลักฐานเพิ่มเติมก็จะนำไปสู่การขยายฐานความผิดหรือ ผู้กระทำความผิดได้เช่นกัน

นายธวัชชัย พิทยโสภณ รองเลขาธิการก.ล.ต.ให้ข้อมูลว่า ก.ล.ต.ได้กล่าวโทษ STARK ในฐานความผิด 1) ในการยื่น filing และหนังสือชี้ชวนเป็นเท็จ 2) การตกแต่งบัญชี และ3)การทุจริต ซึ่งก.ล.ต.ได้มีการออกข่าวไปก่อนหน้านี้แล้ว

นายธวัชชัย พิทยโสภณ รองเลขาธิการก.ล.ต.

ส่วนการตรวจสอบก็ได้มีการพูดกันไปว่า จะทำอะไรที่เห็นชัด ทำได้ก่อน ส่วนที่ยังทำต่อเนื่องมาก็ยังมี และเวลามีข้อมูล special audit ก็นำมาเสริม

สื่อมวลชนยังถามต่อว่า มีเรื่องการสร้างราคาหุ้นหรือไม่ ซึ่งทั้งนางพรอนงค์และนายธวัชชัยตอบว่า ยังไม่มี ก็ได้รับคำถามกลับมาทันทีว่า ได้ตั้งเรื่องที่จะพิจารณาเรื่องนี้หรือไม่ ซึ่งได้รับคำตอบจากนายธวัชชัยว่า เรื่องของการตรวจสอบ ส่วนที่มีการทุจริตเพิ่มเติมและการขยายผลอยู่ ข้อสงสัยที่มีการถามกันมาในเรื่องของการสร้างราคา การแพร่ข่าวโดยใช้ข้อมูลภายในก็เรียนเป็นหลักการว่า “เรื่องพวกนี้ ถ้ามีเข้ามาสำนักงานก็จะดำเนินการ”

สื่อมวลชนถามต่ออีกว่า แสดงว่า ตอนนี้ ก.ล.ต.ยังไม่มีข้อมูลตรงนี้ใช่หรือไม่ ทั้งเรื่องสร้างราคาและการใช้ข้อมูลภายใน นายธวัชชัยตอบว่า เป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งตรงนี้เคยให้ข้อมูลผ่านสื่อไปแล้ว

นางพรอนงค์กล่าวย้ำว่า เพื่อความชัดเจน เข้าใจในสิ่งที่สื่อติดตามอยู่ อันไหนที่หลักฐานชัด เชิงประจักษ์ได้ ทำได้ ทำก่อน อันไหนมีหลักฐานที่ต้องสำรวจเพิ่มเติม ก็ดำเนินการอยู่ “ในกรณีของ STARK เราไม่ได้นั่งเฉยๆแล้วรอ special audit เฟสสอง ยืนยันว่ามีการดำเนินการอยู่ ส่วน MORE เป็นฐานความผิดเรื่องสร้างราคา”

สื่อมวลชนถามย้ำเรื่อง STARK ว่า หลังจากที่กล่าวโทษ ร้องทุกข์ไปยัง DSI ได้มีข้อมูลพิเศษเพิ่มไปให้ DSI หรือประสานงานในแง่ข้อมูลคืบหน้าไปแค่ไหน เนื่องจากกรณีนี้ดำเนินการมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ประกอบกับ DSI กล่าวโทษร้องทุกข์บางคน แต่ยังขาดบางคนซึ่งคนที่ DSI ร้องกับก.ล.ต.ยังไม่ตรงกัน มีบางคนที่ DSI ยังไม่ร้องทุกข์

นายธวัชชัยตอบว่า การทำงานกับ DSI เริ่มมาก่อนที่จะกล่าวโทษ เพราะมีความร่วมมือกันมาตลอด และหลังจากกล่าวโทษ ก.ล.ต.ก็มีการประสานข้อมูลตลอด มีพนักงานของก.ล.ต.ไปให้ข้อมูลและส่งข้อมูลกัน แต่เป็นเรื่องธรรมดาที่การตรวจสอบของแต่ละหน่วยที่อาจจะมีผู้ต้องสงสัยหรือหลักฐานที่ไม่ตรงกัน แต่มีอะไรเสริมกันก็ทำ “ผมเชื่อว่า DSI ทำงานของเขาเต็มที่อยู่ แต่การประทำผิดพวกนี้ การตรวจสอบต้องใช้เวลา แต่จากการที่ร่วมมือกันจะเห็นว่า DSI ทำงานเต็มที่อยู่

สื่อมวลชนถามอีกว่า ก.ล.ต.มีความกังวลหรือไม่ เพราะมีกระแสข่าวว่า มีความพยายามที่จะกันคนผิดบางคน หรือจะให้รับโทษน้อยลง หรือไม่ให้เข้าข่ายคนผิด ซึ่งเป็นกระแสในตลาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง กังวลใจหรือไม่เพราะเป็นการบังคับใช้กฎหมายของก.ล.ต.ในการนำคนผิดมาลงโทษ

นางพรอนงค์ตอบว่า ถามว่ากังวลเฉพาะประเด็นอย่างนี้หรือไม่ โดยส่วนตัวไม่ได้กังวลเฉพาะเป็นเรื่องของอันใด การสร้าง trust กับ confidence เป็นเรื่องที่ต้องสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น ในบทบาทของสำนักงาน “อย่าใช้คำว่ากังวล มันเป็นหน้าที่ ในการที่จะต้องทำให้สิ่งเหล่านี้ไม่เกิดขึ้น บางทีความกังวลของหลายฝ่ายมาจากการที่ได้รับข้อมูลที่ทำให้เกิดข้อกังวล ที่จริง เรากำหนดวันที่เราจะมี DSI มาประกบกับเราแล้ว ในการที่จะตอบพร้อมๆกัน จะได้เกิดความชัดเจนมากขึ้น เรามองพวกนี้เป็น value chain ไม่ได้อยู่ที่ตลาดไม่ได้อยู่ที่ก.ล.ต. ไม่ได้อยู่ที่ DSI อย่างเดียว ต้องทำงานด้วยกัน และขอยืนยันว่ามีการทำงานร่วมกัน จากการที่เข้ามาทำงานในวันที่ 18 ได้เห็นกับตาในการทำงานร่วมกับ DSI จากการพูดคุยการเข้าทีม ขอให้รอผล”

สื่อมวลชนถามอีกว่า ก่อนหน้านี้สื่อได้มีการตั้งคำถามถึงการขายหุ้นกู้ของ STARK ว่า มีการขายให้กับนักลงทุนผิดประเภท คือขายให้กับนักลงทุนรายย่อยบางคนทั้งที่ควรขายให้กับนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง นักลงทุนประเภทสถาบัน มีการดำเนินการเอาผิดผู้ขายหรือไม่

นายธวัชชัยตอบว่า ทุกเรื่องที่มีการร้องเรียนเข้ามา อยู่ระหว่างการตรวจสอบ แต่ละเรื่องใช้เวลาไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง ทุกเรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณา ไม่ได้ทิ้งไป

นางพรอนงค์ตอบว่า กรณีนี้เป็นการขายไม่ตรงกับเกณฑ์ ซึ่งเบาะแสเหล่านี้ ได้มีการตรวจสอบอยู่

สื่อมวลชนอีกรายถามคำถามที่ต่อเนื่องจากคำถามนี้ โดยถามว่า จากการที่ก.ล.ต.ได้กล่าวโทษ STARK ในการยื่น filing และหนังสือชี้ชวนเป็นเท็จ ก.ล.ต.จะมีการดำเนินการกับตัวกลางผู้ที่นำเสนอขายหุ้นกู้ให้กับนักลงทุนอย่างไร

นางพรอนงค์ตอบว่า ก.ล.ต.ได้มีการกล่าวโทษเรื่องการ filing เป็นเท็จ ไปแล้ว แต่สำหรับตัวกลาง เป็นเรื่องของการ conduct การขาย ก็ตอบว่า กำลังดำเนินการ ในการที่จะหาข้อเท็จจริง และดูว่ามีข้อเท็จจริงที่จะสามารถดำเนินการต่อไปได้หรือไม่ ไม่ได้หยุดอยู่แค่ filing เป็นเท็จ

คำถามต่อมา กรณี MORE จากเอกสารข่าวล่าสุด ก.ล.ต.ระบุว่า โดยปัจจุบันกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้รับคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษแล้วและ DSI อยู่ระหว่างการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อบูรณาการการบังคับใช้กฎหมายในฐานความผิดที่เกี่ยวกับหน่วยงานต่างๆ ขอถามว่า กรณีนี้ไปอยู่ในความรับผิดชอบของ DSI เมื่อไรเพราะจากเอกสารข่าว 2 ชิ้นก่อนหน้า ก.ล.ต.มีการกล่าวโทษผู้กระทำผิด 2 กลุ่มต่อบก.ปอศ.

นายธวัชชัยตอบว่า “ในเรื่องที่ทำไมเป็น DSI ตอนแรกเราไปที่ บก.ปอศ. เพราะเป็นหน่วยงานที่มีการประสานกันอยู่แต่เดิม การแบ่งแยกความผิดที่ DSI จะแบ่งกันที่มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น ในชั้นแรกแม้เราจะเห็นตัวเลขสูงก็จริง แต่ในทางตรวจสอบยังไม่เห็น เราก็เริ่มที่บก.ปอศ. แต่ไม่ได้ทำหน่วยเดียว ก็ประสานกับ DSI อยู่ เพราะฉะนั้นการกล่าวโทษทั้งสองครั้งถึงไปที่บก.ปอศ. บนการประสานกับ DSI อยู่แล้ว หลังจากนั้น บก.ปอศ.ก็มีการประสานกับ DSI ในพนักงานสอบสวนด้วยกัน เรื่องก็จะเดินแบบนี้”

สื่อมวลชนยังมีคำถามเกี่ยวกับกรณี STARK ว่า การดำเนินการกับผู้สอบบัญชี มีความคืบหน้าอย่างไร รวมไปถึงการผลักดันให้ก.ล.ต.เป็นพนักงานสอบสวนด้วย

นางพรอนงค์ตอบว่า ยังคงผลักดันทั้งสองเรื่อง โดยอยู่ระหว่างการแก้ไขพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ซึ่งมีการแก้ไขในหลายประเด็น และอยู่ในกระบวนการชั้นกฤษฎีกา ส่วนการพนักงานสอบสวนด้วย ถือว่าเป็นทักษะในโลกปัจจุบัน ก็อยากจะมีทักษะ แต่การที่มีทักษะนี้ต้องทำพันธกิจให้ได้ก่อน พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ก็จะให้ก.ล.ต.เข้าไปดูแลสำนักตรวจสอบบัญชี ที่จะมาสอบบัญชีในตลาดทุน ตั้งแต่การให้ใบอนุญาต

นางสาวจอมขวัญ คงสกุล รองเลขาธิการ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจสอบการพิจารณา กรณีนี้ โดยต้องนำผลการตรวจสอบมาพิจารณา ตอนนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมผู้สอบบัญชีพยานหลักฐาน ฉะนั้นการเอาผิดลงโทษตัวผู้สอบ อยู่ในชั้นที่รวบรวมพยานหลักฐาน ส่วนการแก้ไขพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ เพื่อเอาผิดสำนักสอบบัญชีเป็นเรื่องที่ไปข้างหน้า ถ้าสำเร็จ ก็จะเอาโทษ หรือเอาผิดทางอาญาได้ แต่ในระหว่างนี้ “สิ่งที่เราต้องการทำคือ ยกระดับการทำงานของ ผู้สอบบัญชี ซึ่งจะมีเรื่อง professional skepticism(ช่างสังเกต ตั้งคำถาม) คือ ต้องยกระดับผู้สอบบัญชีให้ตั้งคำถามมากขึ้น รวมไปถึงการที่ involvement ของคนในระดับ manager และpartner ที่จะต้องเข้ามาดูแลงานการสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีมากขึ้น จะเพิ่มคุณภาพการสอบบัญชีในระหว่างการที่พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ยังแก้ไขไม่เสร็จ”

4 ปีข้างหน้าก.ล.ต.จะอยู่จุดไหนของตลาดทุน

คำถามต่อมา จากการรับหน้าที่วันที่ 18 กันยายน จากนี้ไป 4 ปีท่านเลขาจะนำพาก.ล.ต.ไปอยู่จุดไหนในตลาดทุน

นางพรอนงค์ตอบว่า ” 4 ปีเลยเหรอ ย้าวยาว” “จริงๆ ดิฉันเชื่อว่า บทบาทของสำนักงานไม่ว่าภายใต้เลขาคนที่ 8 หรือ คนที่ 9 คนที่ 10 ในอนาคต บทบาทเราไม่ได้เปลี่ยน ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาและการกำกับ ทำเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจไทย ตลาดทุนก็อยู่ในระบบเศรษฐไทย ให้ระบบเศรษฐกิจไทยมีความสามารถในการแข่งขัน”

“ที่ตลาดทุนเราดูเรื่องการลงทุน คือ กิจการต่างๆ ข้อจำกัด คือ เรื่องเงินเพื่อไปทำธุรกิจให้ยั่งยืน ตลาดทุนเป็นช่องทางระดมทุนที่ Acccess for All ตัวเล็กตัวน้อยก็สามารถเข้าได้ เข้ามาระดมทุนได้ทั้งทางตรงทางอ้อม ด้วยโปรดักส์ที่มีความหลากหลาย”

“ดิฉันเชื่อว่า ไม่ว่าจะตอนนี้ 4 ปีข้างหน้า หรือเลขาท่านอื่นต่อเนื่องไป บทบาทสำนักงานก็ยังอยากให้ตลาดทุนเป็นกลไกหลัก ในการทำให้ระบบเศรษฐกิจไทยสามารถแข่งขันได้ ระบบเศรษฐกิจ ก็ประกอบด้วยผู้ประกอบธุรกิจ ภาคเอกชนต่างๆ ขณะเดียวกันตลาดทุนก็ควรเป็นเครื่องมือของการอออม การออมระยะยาว โดยเฉพาะประเทศไทย ทีมีบริบทสังคมสูงวัย เราคงไม่อยากเห็นคนแก่ที่เลี้ยงตัวเองไม่ได้ แล้วก็พึ่งสวัสดิการ ควรจะเป็นคนแก่ที่เลี้ยงตัวเองได้ จากการออมเงินของเขา”

นางพรอนงค์กล่าวต่อว่า การออมเงินเหล่านี้ตลาดทุนก็อยากจะเป็นเครื่องมือในการ investment ที่ดูแลนักลงทุน มีโปรดักส์ที่ครอบคลุม ตามฐานความเสี่ยง ถ้ารับความเสี่ยงได้สูงก็ควรลงทุนในสิ่งที่เสี่ยงได้ “ก็อาจจะมีคำถามว่า ทำไมเราปล่อยบางโปรดักส์ ออกมาเช่น high-yield bond ทั้งที่มีสัดส่วนยอดคงค้าง(outstanding) เพียง 10% ของตลาดตราสารหนี้ทั้งหมด ตราสารหนี้ ที่มีปัญหาตอนนี้อาจจะแค่ 1% ของตลาดตราสารหนี้ทั้งหมด เมื่อมีความเสี่ยงสูงก็ต้องมีผลตอบแทนที่สูง อาจจะสอดคล้องกับคนที่รับความเสี่ยงได้”

“ดิฉันคิดว่า การมองในอีก 4 ปีข้างหน้า ภายใต้มือของตัวเอง อันไหนที่เป็นจุดแข็งของสำนักงาน ก็อยากจะให้แข็งแรงยิ่งขึ้น อันไหนเป็นสิ่งที่ยังพัฒนาต่อได้ ก็อยากจะเป็น ส่วนผลักดันที่สำคัญในการที่จะผลักจุดอ่อนเหล่านี้ให้ปิดลงไปเรื่อยๆ สิ่งที่ดิฉันมองในแง่ regulator ก็คือว่า เราทำคนเดียวไม่ได้ ตลาดใหญ่ขึ้นตลอดเวลา ต้องได้รับความร่วมมือ จากองคาพยพทั้งหลาย ทั้งผู้ประกอบธุรกิจ บริษัทจดทะเบียน”

นางพรอนงค์กล่าวต่อว่า ขอยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม โดยส่วนตัวชอบเรื่องพวกนี้มาก และตั้งใจที่จะให้ทรัพยากรตัวเองส่วนหนึ่งส่งเสริมเรื่องพวกนี้ ก็คือ ความยั่งยืน เรื่องของ SD, ESG ไม่อยากให้เป็นแค่ภาษาธุรกิจสวยหรู ว่าบริษัทจดทะเบียน สมาคมต่างๆ เน้นเรื่องความยั่งยืน

“ดิฉันอยากให้ข้อดีของความยั่งยืนเหล่านี้ กระจายสู่สังคม ไปที่ชุมชน อยากให้ตัวใหญ่ๆ เอาศักยภาพตัวเองมาทำดีกับสังคม ทำอย่างไรเราจะลดโลกร้อน ทำอย่างไรเราจะเป็นไปตามพันธสัญญา สิ่งเหล่านี้ตลาดทุนช่วยได้ อยากเห็นตลาดทุน ที่ไม่ใช่ trust and confidence อย่างเดียว แต่เป็นตลาดทุนที่เป็นที่รักของทุกคน ไม่อยากให้ตลาดทุนเป็นเรื่องของคนรวย คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น ไม่อยากเป็นคำนั้น อยากให้ตลาดทุนเป็นที่พึ่งเป็นกลไกหลักในการที่จะทำให้ประเทศ ไปสู่ความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งรวมถึง well being ของคนด้วย อยากให้ประชาชนคนไทยเข้ามาใช้ประโยชน์จากตลาดทุนได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องมาเล่นหุ้น มาเล่นดิจิทัลแอสเส็ท ทำอย่างไรการโตของตลาดทุน ไปเสริม financial well being ของคนดีขึ้น ซึ่งเชื่อว่าทำอยู่แล้ว แต่อยากเห็นชัดขึ้น”

“ถ้าไม่มีเรื่องที่สื่อกังวลอยู่ ต้องเคลียร์ไปทีละเรื่องละเรื่องเหล่านี้ ตอนนี้ตั้งหลักกอบกู้ความเชื่อมั่นอยู่ พอระยะยาวอยากให้ตลาดทุน เป็นเครื่องมือทำให้ทุกคนดีขึ้น”

สื่อมวลชนถามคำถามต่อเนื่อง ว่า ท่านเลขาพอจะแชร์ action สัก 2-3 ข้อที่จะไปสู่เป้าหมายเหล่านี้ได้หรือไม่

นางพรอนงค์กล่าวว่า ขอตอบเรื่อง well being ก่อน การทำอย่างไรให้คนใช้ตลาดทุนในการลงทุน และการออม ซึ่งอยากเห็นการลงทุนทางอ้อม อยากเห็นการลงทุนที่มีการกระจายความเสี่ยง อย่าง high-yield bond ไม่ได้น่ารังเกียจ แม้ความเสี่ยงสูงก็จรง แต่หากลงทุนและถือเป็นพอร์ต ถือแบบกระจาย

นางพรอนงค์กล่าวว่า จากการที่มีส่วนร่วมก่อนหน้านี้ ก็ได้มีการร่วมพัฒนาเกณฑ์ high-yield bond fund หรือ REIT ที่ลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งถนนพวกนี้มีอยู่แล้ว ก็อยากจะส่งเสริมกิจกรรมเหล่านี้ ให้เกิดเป็นรูปธรรม ก็จะกระตุ้นให้คนมาออมเงินผ่านตลาดทุน ซึ่งเชื่อว่า สินค้า ผลิตภัณฑ์มีพอแล้ว แต่เป็นการที่จะให้ผู้ประกอบธุรกิจมาใช้ถนนเหล่านี้หรือเข้าถึงได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำ ซึ่งก.ล.ต.เห็นความสำคัญของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (provident fund:PVD)ไม่ใช่แค่อยากจะขยายให้คนมาเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้นเท่าั้นในการออมระยะยาว แต่อยากให้ออมเพิ่มขึ้น อยากให้มี investor choice ซึงมีอยู่แล้ว แต่ทำให้คนรู้ว่า อายุยังน้อยก็ลงทุนเสี่ยงได้ อายุมากขึ้นก็ปรับแผน เป็นการสร้าง awareness “ในการปรับของเรา ก็ชัดเจนว่า เราจะให้ความสำคัญกับ PVD เป็นการลงทุนที่เป็นการออมระยะยาวการเกษียณ เป็นสิ่งที่อยู่ใน pipeline ซึ่งต้องคุยกับสายงาน หาความร่วมมือกับบลจ.”

ทันที่ตอบจบ สื่อมวลชนอีกรายถามขึ้นมาว่า จากที่ฟังมาภารกิจของท่านเลขา เป็นสิ่งที่องค์กรทำอยู่แล้ว เป็นงานประจำที่จะทำให้ตลาดทุนเป็นแหล่งระดมทุนของนักธุรกิจ เป็นแหล่งลงทุนของนักลงทุน รวมทั้งการเผื่อแผ่ให้กับสังคมหรือ stakeholders ทั้งหมด ในยุคของท่านเลขาพรอนงค์ จะเห็นมิติใหม่ หรือการบริหารจัดการที่จะสร้างมิติใหม่ให้ตลาดทุนหรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่า ในทุกวันนี้มีความท้าทายของโลกเกิดขึ้นตลอดเวลา ในโลกการลงทุน และเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก เราจะได้เห็นอะไร หรือได้เห็นแค่การทำงานตามบทบาทหน้าที่ เป็น routine

นางพรอนงค์กล่าวว่า “ดูแล้ว จากคำถามอยากจะได้ wow factor” แต่ฟังแล้วไม่ wow ไม่เป็นไร “ก็อยากจะบอกว่า ไม่ใช่ว่าเราทำอย่างไร เราก็ทำอย่างนั้น ที่ตอบไปเมื่อสักครู่ คือ outcome ที่อยากเห็น คือเรื่องเดิมๆ แต่ก็ได้บอกไปว่าอยากจะเห็นบทบาทเหล่านี้ชัดขึ้น ดิฉันไม่ได้ทำในสิ่งที่ wow ที่ไม่ได้อยู่ในบริบท หรืออยู่ใน curve ของสำนักงาน แต่ไม่ว่าองค์กรไหน เหมือนดิฉันสอนหนังสือมา 30 ปี ก็สอนวิชาเดิม แต่วิชาเดิมที่สอน outcome เหมือนกัน อยากให้เด็กมีความรู้และทำมาหากินได้ ก็คือ outcome เดียว แต่วิธีการปฏิบัติกับเด็กที่ Gen เปลี่ยนไป ดิฉันต้องปรับตัว ปรับที่เรา ไม่ได้ปรับที่เด็ก”

“องค์กรแบบสำนักงานซึ่งอายุครบ 30 ปี เราก็ต้องปรับทั้ง mindset เราคงต้องปรับทั้งวิธีการทำงาน เราก็คงต้องเอาเทคโนโลยีเข้ามา ทำอย่างไรที่จะให้บทบาทที่เราจะไปนำ พัฒนา ชัดขึ้น ถ้าไม่เอาเทคโนโลยีมาใช้ก็จะแบกบางเรื่องที่ใช้ทั้ง resource นับวันจะมหาศาลมากๆ”

“ดิฉันเชื่อว่า ด้วยความมุ่งมั่น ของทั้งตัวเองที่ภาพชัด ถ่ายทอดลงมาหาทีมที่ชัด และเราเดินด้วยหันหมายความว่า เรา align กันก็จะเป็นภาพที่ชัดขึ้น และน่าจะบรรลุสิ่งที่เป็นบทบาทเดิม แต่เป็นสิ่งที่อาจจะมั่นใจมากขึ้น เมื่อมีความมั่นใจมากขึ้น ก็อาจจะเห็นการที่ใช้ตลาดทุนส่งเสริมการกินดีอยู่ดี ความสามารถในการข่งขันมากขึ้น”

นางพรอนงค์กล่าวว่า ก.ล.ต.ได้เสนอยุทธศาสตร์องค์กรให้คณะกรรมการพิจารณาไปแล้ว และคาดว่าน่าจะผ่านความเห็นชอบในเร็วๆนี้ ซึ่งคงจะแถลงอีกครั้ง