ThaiPublica > เกาะกระแส > Thailand Focus 2023 ตลาดทุนไทยมุ่งสู่ The New Horizon บริบทใหม่ ท่ามกลางความท้าทายระดับโลก

Thailand Focus 2023 ตลาดทุนไทยมุ่งสู่ The New Horizon บริบทใหม่ ท่ามกลางความท้าทายระดับโลก

23 สิงหาคม 2023


ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดงาน Thailand Focus 2023 ครั้งที่ 17 ภายใต้ธีม “The New Horizon” ผู้แทนภาครัฐ ตลาดเงินตลาดทุน และผู้บริหารระดับสูงภาคธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ร่วมให้ข้อมูลตอกย้ำศักยภาพ สร้างความเชื่อมั่นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและตลาดทุนไทยสู่บริบทใหม่แห่งการลงทุน แก่ผู้ลงทุนสถาบันกว่า 200 ราย จาก 96 สถาบันทั่วโลก และยังมีผู้ลงทุนสถาบันหน้าใหม่เข้าร่วม สะท้อนว่าไทยมีโอกาสการลงทุนและอยู่ในความสนใจของต่างชาติ ภายในงานผู้ลงทุนสถาบันได้ร่วมรับฟังข้อมูลทิศทางธุรกิจจากผู้บริหารระดับสูงของบริษัทจดทะเบียน 118 บริษัท

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า Thailand Focus 2023 ในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด The New Horizon เป็นการก้าวไปข้างหน้า การสำรวจขอบเขตใหม่ มองถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ และเปิดรับโอกาสที่ไร้ขอบเขตรออยู่ข้างหน้า

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแต่เพิ่งฟื้นตัวจากโรคระบาด แต่ยังกลับมาแข็งแกร่งขึ้นด้วย ผลักดันไปสู่ระดับที่เหนือกว่ายุคก่อนโควิด

“เราจะดึงเอาจุดแข็งโดยธรรมชาติของประเทศมาใช้ในขณะที่เรามุ่งหน้าสู่ ‘The New Horizon’ ด้วยรากฐานเศรษฐกิจมหภาคที่แข็งแกร่ง ความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมที่สำคัญและใหม่ และภูมิทัศน์ทางการเงินที่กำลังพัฒนา พร้อมกับการสำรวจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในการท่องเที่ยวและบริการ อุตสาหกรรมซอฟท์พาวเวอร์ของประเทศ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในจุดแข็งของประเทศ” นายภากรกล่าว

การจัดงาน “Thailand Focus 2023 : The New Horizon” ระหว่าง 23-25 สิงหาคม 2566 ในปีนี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ลงทุนสถาบันทั่วโลกกว่า 200 ราย จาก 96 สถาบันทั่วโลก และในจำนวนนี้มีผู้ลงทุนจากกลุ่มประเทศหลัก อาทิ สิงคโปร์ ฮ่องกง สหราชอาณาจักร มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา สวีเดน ไต้หวัน และมีการประชุมในรูปแบบ Group Meeting และ One-on-One กับบริษัทจดทะเบียน 118 บริษัท สะท้อนให้เห็นว่าตลาดทุนไทยยังอยู่ในความสนใจต่อการลงทุน โดยในปีนี้ยังคงจัดงานในรูปแบบ Hybrid ซึ่งนอกจากผู้ลงทุนที่เดินทางมาร่วมงานประชุมในประเทศไทยแล้ว ยังมีที่รับฟังข้อมูลผ่าน Virtual Conference อีกด้วย

โดยผู้ลงทุนสถาบันให้ความสนใจในแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศสู่โอกาสการเติบโตด้วยอุตสาหกรรมใหม่ และธุรกิจที่เป็นอนาคตของประเทศ ต่อยอดจากความเข้มแข็งของไทย เช่น การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และ Soft Power ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทย นอกจากนี้ ในการประชุมร่วมระหว่างบริษัทจดทะเบียนกับผู้ลงทุนสถาบัน ได้ให้ความสำคัญกับธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโต และดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้ลงทุนโลกให้ความสำคัญในปัจจุบัน

ตลาดทุนไทยมุ่งสู่ดิจิทัล

ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวเปิดงานว่า The New Horizon ไม่ใช่เป็นแนวคิดของการจัดงานเท่านั้น แต่ยังเป็นการเรียกร้องให้ปรับตัวและก้าวไปสู่ความเหนือชั้นท่ามกลางความท้าทายระดับโลก และการที่ผู้นำอุตสาหกรรม ผู้กำหนดนโยบาย ผู้เชี่ยวชาญ และนักลงทุนได้มาร่วมงานในครั้งนี้ ในขณะที่มีความท้าทาย ก็เพื่อเตรียมพร้อมในการก้าวสู่ภูมิทัศน์การลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไปของตลาดทุนไทย

ดร.ประสารได้กล่าวการเติบโตอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจและตลาดทุนของประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ทางการเมืองและโอกาสทางธุรกิจ และความมุ่งมั่นของตลาดหลักทรัพย์ฯต่อแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนในตลาดทุน

ดร.ประสารกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังมีความท้าทาย แม้ภาคการท่องเที่ยวและบริการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง รวมทั้งการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศที่สูงขึ้น แต่ยังมีความไม่แน่นอนในระดับโลก การส่งออกที่อาจชะลอตัวลงและอาจจะความเสี่ยงที่ภาวะเศรษฐกิจจะถดถอยทั่วโลก แม้จะต้องเผชิญกับความท้าทาย เศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวหลังการระบาดใหญ่ โดยสถาบันที่เกี่ยวข้องคาดการณ์ว่าจะเติบโตไม่ถึง 3% ในปีนี้

เศรษฐกิจของประเทศไทยมีข้อได้เปรียบหลายประการ เช่น ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงที่แข็งแกร่งและมีความหลากหลาย อีกทั้งมีสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาคที่ดีและมีเสถียรภาพ แต่แม้จะมีความก้าวหน้า ความท้าทายในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและการหาภาคส่วนใหม่เพื่อการเติบโตยังคงมีอยู่อย่างมาก

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มีแนวโน้มที่จะขยายตัวดีต่อเนื่อง แต่ก็ต้องมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อยังคงมีส่วนในการเติบโตทางเศรษฐกิจและสนับสนุนการจ้างงานทั่วประเทศ โดยเฉพาะการปรับตัว นวัตกรรม และการใช้ประโยชน์จากจุดแข็งหลักที่มี นอกจากนี้ soft power ของประเทศไทยมีศักยภาพในการปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจของประเทศ การวางกลยุทธ์ การวางตำแหน่งในตลาดโลกเพื่อให้ได้ประโยชน์จากศักยภาพและขับเคลื่อนการเติบโตถือเป็นสิ่งสำคัญ

ธนาคารกลางมีการจัดการอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยอย่างดี ซึ่งมีส่วนทำให้ระบบการเงินมีเสถียรภาพ เงินสำรองระหว่างประเทศสูง หนี้สาธารณะต่ำ อัตราเงินเฟ้อที่ค่อนข้างต่ำ และระบบธนาคารที่แข็งแกร่ง เป็นรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ในขณะเดียวกันก็มีการพัฒนาที่สำคัญเกิดขึ้นในตลาดทุนของประเทศไทย มีความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานตลาด ด้วยความคิดริเริ่มที่กำหนดเป้าหมาย ตลาดหลักทรัพยฯได้ขยายการเข้าถึงตลาด ส่งเสริมความเท่าเทียมและความเชื่อมั่นของตลาดโดยรวม ซึ่งมีส่วนสำคัญในการทำให้แข่งขันได้ทั่วโลก

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยติดอันดับหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ชั้นนำในภูมิภาค มูลค่าการซื้อขายรายวันประมาณ 2.4 พันล้านดอลลาร์และการเปิดบัญชีใหม่ที่เพิ่มขึ้น ตอกย้ำสภาพคล่องที่คึกคักของตลาดและสถานะของตลาดหลักทรัพยฯในฐานะผู้นำระดับภูมิภาค เมื่อปีที่แล้ว มีการระดมทุนผ่านการเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก(IPO) มากถึง 3.5 พันล้านดอลลาร์ และการเสนอขายในตลาดรอง(secondary offerings)ถึง 3.8 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ IPO มีมูลค่ารวมประมาณ 0.6 พันล้านดอลลาร์ ส่วนในตลาดรองมีมูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ยังแนวโน้มที่ IPO จะเพิ่มมากขึ้นทั้งในในปีนี้และปีหน้า แม้ตลาดยังผันผวน รวมถึงอัตราดอกเบี้ยและสภาพคล่องก็ตาม

ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เปิดตัว LIVE exchange เพื่อให้ SMEs และสตาร์ทอัพ เข้าถึงตลาด และเปิดตัว Thai Digital Assets Exchange (TDX) เพื่อเป็นศูนย์กลางหรือเครือข่ายสำหรับการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล รวมทั้งยังได้ยกระดับการเชื่อมต่อระดับโลก โดยการเปิดตัว depositary receipts (DRs) ตราสารทางเลือกที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนไทยสามารถซื้อขายหุ้นหรือกองทุนต่างประเทศได้ ตลอดจนเปิดตัวระบบการซื้อขายใหม่ที่สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติระหว่างประเทศและแนวโน้มระดับโลก รองรับปริมาณที่เพิ่มขึ้นและการนำเสนอผลิตภัณฑ์ระดับโลก

การเติบโตของตลาดทุนไทยมีความสำคัญต่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ความปลอดภัยและความถูกต้องขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นของตลาด อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์สำคัญเมื่อเร็วๆ นี้ เช่น การกระทำผิดของบริษัท อาจสั่นคลอนความเชื่อมั่น การดำเนินการร่วมกันจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดมีความสำคัญต่อการจัดการความท้าทายเหล่านี้และเป็นหลักความยั่งยืนของตลาด การเสริมสร้างความมั่นใจอาจต้องมีความคิดริเริ่มในการบริหารความเสี่ยง การดำเนินการตลาดและการกำกับดูแล ความยั่งยืนขององค์กร และการลงทุนที่มุ่งเน้น ESG

ตลาดหลักทรัพยฯยังมุ่งเน้นไปที่การยกระดับการควบคุมดูแลตลาดเพื่อความเชื่อมั่นต่อตลาด กรอบการกำกับดูแลที่ครอบคลุมไม่เพียงมุ่งเป้าไปที่การปฏิบัติตามและการบังคับใช้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสร้างวัฒนธรรมแห่งความซื่อตรง และแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด ซึ่งผู้เข้าร่วมตลาดทุกคนได้รับประโยชน์ และสนับสนุนความเชื่อมั่นในตลาดทุนของไทย

สำหรับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ เป็นทั้งความท้าทายและโอกาส จุดยืนของประเทศไทยอาจปกป้องผลกระทบโดยตรงจากความขัดแย้ง การเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกทำให้เกิดโอกาสบางด้าน ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ โครงสร้างพื้นฐาน และความเชี่ยวชาญในภาคส่วนที่มีมูลค่าสูงของประเทศไทย ทำให้ไทยอยู่ในตำแหน่งเชิงกลยุทธ์ ประเทศไทยซึ่งมีรากฐานฐานในห่วงโซ่อุปทานของยานยนต์ อาจดึงดูดธุรกิจที่มุ่งกระจายหรือย้ายการดำเนินงานในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า (EV)

ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการใช้และการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยมียอดขายและการผลิตเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี รัฐบาลไทยได้กำหนดเป้าหมายสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าให้คิดเป็น 30% ของรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตภายในปี 2573 เมื่อพิจารณาจากภูมิหลังด้านยานยนต์ของประเทศไทยและนโยบายของรัฐบาล รวมถึงสิ่งจูงใจและการสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ประเทศมีเป้าหมายที่จะเป็นผู้เล่นที่โดดเด่นในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ด้วยการลงทุน นโยบาย และการมุ่งเน้นด้านนวัตกรรม ประเทศไทยกำลังวางตำแหน่งตัวเองในภาคการขนส่งไฟฟ้า

คาดรัฐบาลใหม่เน้นนโยบายส่งสริมการลงทุน

สำหรับรัฐบาลใหม่ ดร.ประสารกล่าวว่า ในอดีต ตลาดทุนของประเทศไทยแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งที่โดดเด่น โดยฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากภาวะะงักงันต่างๆ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ในสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน ขณะนี้ได้มีการโหวตลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีแล้ว นโยบายเศรษฐกิจเป็นจุดที่พรรคการเมืองทั้งหมดให้ความสนใจ คาดว่ารัฐบาลชุดใหม่จะเปิดตัวนโยบายที่มุ่งฟื้นฟูเศรษฐกิจและมาตรการส่งเสริมการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงฝ่ายบริหารนี้แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงในกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจ โดยเน้นถึงความสำคัญของการปรับตัวและการสำรวจโอกาส ในขณะเดียวกันก็ดูแลเสถียรภาพ

ด้านความยั่งยืน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตลาดทุนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากไปสู่ความยั่งยืน การทำกำไรไม่ใช่ตัวชี้วัดความสำเร็จเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป ความยั่งยืนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล (ESG) กำลังได้รับความสนใจอย่างรวดเร็ว นักลงทุนทั้งสถาบันและรายบุคคลได้เปลี่ยนจากที่ไม่ได้สนใจความยั่งยืน มาใช้ความยั่งยืนเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจลงทุน การลงทุน ESG ที่เติบโตอย่างมากนั้น เป็นธีมการลงทุนที่สำคัญ สินทรัพย์ภายใต้การบริหารที่เน้น ESG ทั่วโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งตอกย้ำความสำคัญที่เพิ่มมากขึ้น

บริษัทหลายแห่งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้รับการยอมรับในระดับสากลสำหรับการดำเนินการด้านความยั่งยืน ทำให้ตลาดหลักทรัพย์เป็นผู้นำระดับภูมิภาคในเรื่องนี้ บริษัทไทย 42 แห่งมีรายชื่ออยู่ใน MSCI ESG Universal Index และยังติดดัชนี FTSE4Good Emerging อีกด้วย นอกจากนี้ 26 บริษัทในกลุ่มนี้ ยังติดดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI) และมี 12 แห่งที่ดีเยี่ยมในชั้น “Gold Class” จาก S&P Global ตอกย้ำถึงการยึดมั่นในหลักการ ESG ของประเทศไทย

แต่ความมุ่งมั่นในด้านความยั่งยืนของไทยนั้นไปไกลเกินกว่ารางวัลและแนวปฏิบัติขององค์กรแต่ละราย โดยมุ่งที่จะบูรณาการความยั่งยืนเข้ากับแกนหลักของตลาดทุนหลัก โดยได้ให้บริษัทจดทะเบียนจัดทำรายงานประจำปีพร้อมเปิดเผยผลการดำเนินงานด้าน ESG(one report) นอกจากนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯยังมีการพัฒนา แพลตฟอร์มข้อมูล ESG ที่ทำให้เกิดความโปร่งใสและความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้นักลงทุนและบริษัทมีข้อมูลในการตัดสินใจ แพลตฟอร์มนี้มีบทบาทสำคัญในการกระจายข้อมูล ESG ในระบบนิเวศของการลงทุน ขณะเดียวกันยังอยู่ระหว่างการพัฒนา ESG Taxonomy เพื่อสร้างมาตรฐานและทำให้การรายงานและการประเมิน ESG มีความชัดเจนและสม่ำเสมอมากขึ้น

เครื่องมือการลงทุนที่มีธีม ESG ผลิตภัณฑ์ ESG ข้อมูล ESG และอันดับ ESG คาดว่าจะขยายตัว ซึ่งสนับสนุนการตัดสินใจลงทุนที่ยั่งยืนมากขึ้น ขณะที่การซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่จูงใจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะเป็นโอกาสในการขยายขอบเขตลงทุน

ต้องใช้จุดแข็งตรงนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ภายในงานยังมีการเสวนาในหัวข้อ “Thai capital market towards the new horizon” โดยดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย นายเชษฐ์ เบญจวิทย์วิไล(Chate Benchavitvilai) Portfolio Manager บริษัท เจพี มอร์แกน แอสเสท แมเนจเม้นท์ จำกัด นายศุภโชค ศุภบัณฑิต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) และมีดร. ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดำเนินการเสวนา

ดร.กอบศักดิ์ กล่าวว่า ยังเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทย และสามารถที่จะบริหารจัดการได้ จึงขอให้อดทนต่อการเมืองไทย ขอให้เชื่อในผู้ประกอบการไทย เชื่อในผู้ควบคุมกฎ และขอให้เชื่อในผลประกอบการในระยะยาว

ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า การลงทุนแบบอนุรักษ์นิยมของไทยก็มีข้อดีเหมือนกัน และจะส่งผลตอบแทนให้กับตลาดทุน เมื่อเปรียบเทียบกับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตลาดทั่วโลกของประเทศไทยแล้วถือว่า ไทยยังอยู่ในขั้นที่ยังจัดการได้ ยกตัวอย่างเรื่อง การส่งออก การส่งออกของประเทศอื่นๆลดลง 18-20% แต่ของไทยลดลงแค่ 5% ส่วนการซื้อขายทอง คนไทยชอบลงทุนในตลาดทอง ซึ่งก็ลดลงเพียง 3% การส่งออกน้ำมันก็ลดลงเพียง 2% จึงถือได้ว่าภาคการส่งออกของไทยยังดี เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ยกตัวอย่าง ประเทศเวียดนามที่ประสบปัญหาการส่งออกลงลดมากอย่างเห็นได้ชัด

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย

อีกจุดหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยยังอยู่ในจุดที่จัดการได้ เพราะธนาคารยังมีเงินทุนสูง บริษัทต่างๆก็มีเงินสด และอยู่ในสถานะที่ดี ขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศ ไทยมีเงินทุนสำรองจำนวนมาก อัตราเงินเฟ้อก็ถือว่าต่ำมาก อยู่ที่ 0.2-0.3% ซึ่งต่ำที่สุดในโลก ทำให้ไทยไม่ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาก โดยอาจจะเพิ่มขึ้นแค่ 2.25-2.5% ก็น่าจะดีสำหรับประเทศไทย เปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกาที่ขึ้นดอกเบี้ยถึง 6% อัตราดอกเบี้ยขอไทยถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ และธนาคารต่างๆ ก็มีผลประกอบการอยู่ในเกณฑ์ที่ดี

ไทยต้องดูพื้นฐานของตัวเอง พื้นฐานของไทยยังมีอยู่ มีเงินลงทุนในสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ระบบโครงสร้างพื้นฐานต้องได้รับการปรับปรุงและพัฒนาให้ดีขึ้น อย่างเช่น ระบบการขนส่ง สนามบิน ท่าเรือ EEC แม้จะมีความท้าทายมาก แต่ก็อยู่ในเกณฑ์ดี หากพัฒนาในจุดเหล่านี้ได้ ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศเติบโตได้

“ผมเชื่อในอาเซียน เราสามารถทำให้อาเซียนเป็นจุดหมายใหม่ของนักลงทุน เมื่อเราคุยกับนักลงทุน พวกเขาต้องการเข้ามาในเอเชีย รัสเซียปิดแล้ว จีนท่าทีเปลี่ยนไปไม่แน่นอน อินเดียตลาดที่ดีและดำเนินการยาก นักลงทุนต้องการเข้ามาในอาเซียนเพราะมีเสถียรภาพสำหรับการลงทุนระยะยาว ซึ่งเป็นเรื่องดีของประเทศไทย เราต้องดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในอาเซียน ทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม รวมถึงประเทศไทยก็จะเติบโตไปด้วยกัน เราต้องทำให้อาเซียนเป็นแหล่งของ supply chain ใหม่ ซึ่งจะย้ายออกจากจีนมายังประเทศในอาเซียน”

“ประเทศไทยโชคดี เพราะเราอยู่ในตำแหน่งที่ดี ที่ช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศก้าวหน้าได้ดี เราต้องใช้จุดแข็งตรงนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการเข้าร่วมแข่งขันในระดับภูมิภาคและในระดับโลก”

ส่วนของความเสี่ยงที่ต้องเผชิญ ก็คือ ไทยจะสามารถคว้าโอกาสที่เปิดอยู่ได้หรือไม่ แข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้หรือไม่ ในสถานการณ์ที่โลกมีการเปลี่ยน แปลงอย่างรวดเร็ว ประเทศไทย ปรับตัวได้รวดเร็วพอหรือไม่ เราจะแย่งส่วนแบ่งมาได้หรือไม่ นัยคือคำถามที่สำคัญ

“อีกประการหนึ่งที่ผมเชื่อมั่นในเศรษฐกิจและตลาดทุนของไทย คือเรากำลังจะได้รัฐบาลใหม่ ซึ่งนายกฯคนใหม่ที่ได้รับเลือกก็มาได้ถูกจังหวะ เพราะคุณเศรษฐาเองมาจากภาคเอกชน ผมเชื่อว่า คุณเศรษฐาสามารถนำพาประเทศไปได้ในอีกระดับหนึ่งโดยเฉพาะการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ”

ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า ต้องทำให้ประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลาง จุดรวมของการลงทุน ถ้าไม่มีผู้เชี่ยวชาญในประเทศเพียงพอ ก็ต้องดึงดูดผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ต้องทำให้ไทยพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางแห่งใหม่ของเอเชีย

นายเชษฐ์ เบญจวิทย์วิไล(Chate Benchavitvilai) Portfolio Manager บริษัท เจพี มอร์แกน แอสเสท แมเนจเม้นท์ จำกัด

ขอรัฐบาลใหม่ยึดความเท่าเทียม โปร่งใสต่อนักลงทุน

นายเชษฐ์ เบญจวิทย์วิไล กล่าวว่า ประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายและปัญหามากมาย แต่ยังโชคดีที่ภาครัฐหรือผู้มีอำนาจได้รับรู้ถึงปัญหาและความท้าทายเหล่านั้น

ประเทศไทยเปรียบได้กับนักกีฬาเก่าที่ยังคงต้องมองหาสนามแข่งอยู่ ถึงแม้จะอยู่ในสนามแข่งมานานแล้ว แต่ก็ยังต้องสู้ต่อไป ยังคงต้องสร้างความแข็งแกร่งให้กับตัวเองอยู่ตลอดเวลา ถ้าหากมองไปที่ภาคธุรกิจที่ทำได้ดีอยู่แล้วอย่างภาคการท่องเที่ยว หรือด้านสุขภาพที่ถือว่ากำลังเติบโตอย่างสูงสุด ในมุมของนักลงทุน ในตลาดหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนทั้งหลายต้องเรียนรู้ที่จะวางตำแหน่งของตัวเองให้ดี ต้องรับรู้ถึงโอกาสที่เปิดอยู่ ดังนั้นจึงต้องปรับตัวให้ทัน

“ผมมักจะย้ำเตือนตัวเองอยู่เสมอถึงความท้ายทาย 3 อย่าง อย่างแรกคือเราต้องเลือกบริษัทที่จะลงทุนให้ดีในสถานการณ์ที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในฐานะนักลงทุนต้องพิจารณาให้ดีว่าบริษัทที่เราจะลงทุนนั้นเป็นแบบไหน บริษัทมีแนวคิดที่ถูกต้องหรือไม่ เขาให้ความสำคัญหรือมุ่งเน้นไปในทิศทางที่ถูกต้องหรือไม่ อย่างที่สองก็คือการมองย้อนไปในอดีต ข้อมูลในอดีตของบริษัทนั้นนๆ เพราะจากประสบการณ์แล้ว พวกเขามักจะทำแบบเดิม ซึ่งอาจจะเห็นถึงความผิดพลาดแบบเดิมๆ แต่หลักฐานหรือข้อมูลในอดีตก็ไม่อาจคาดเดาถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้เสมอไป เนื่องจากโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตก็ไม่สามารถบอกได้ถึงผลลัพธ์ในอนาคต ข้อสามก็คือการเจรจาสื่อสารระหว่างบริษัทกับผู้ถือหุ้น นักลงทุนต้องรู้ว่าบริษัทนั้นๆ หาเงินอย่างไร เรื่องของธรรมาภิบาลของบริษัทก็สำคัญ บริษัทต้องมีธรรมาภิบาลที่ดี เพื่อที่จะเพิ่มมูลค่าของบริษัทได้ หากบริษัทมีความรับผิดชอบต่อนักลงทุน บรรยากาศการลงทุนก็จะดีขึ้น ดังนั้นนักลงทุนต้องรู้จักที่จะเลือกการลงทุน การจะคว้าโอกาสในการลงทุน นักลงทุนต้องถามคำถามที่ถูกต้อง และเลือกบริษัทที่มีแนวคิดที่ถูกต้อง”

ในส่วนที่อยากจะขอรัฐบาลใหม่ ก็ต้องการให้คำนึงถึง ความเท่าเทียม ให้ความยุติธรรมกับทั้งบริษัท นักลงทุน ผู้ถือหุ้นทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอยู่ภายใต้ธรรมาภิบาลและกฎระเบียบที่ถูกต้องและชัดเจน ต่อไปก็คือความโปร่งใส การปิดเผยข้อมูลของบริษัทต่อนักลงทุน ซึ่งจะช่วยนักลงทุนใช้เป็นตัวแปรสำคัญในการตัดสินใจลงทุน และสุดท้ายก็คือความรับผิดชอบต่อการจัดการ รวมถึงความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นด้วย

นายศุภโชค ศุภบัณฑิต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน)

ต้องจัดการคนกระทำผิดจริงเร็วขึ้น

นายศุภโชค ศุภบัณฑิต กล่าวว่า การลงทุนของไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยมีการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น บริษัทไทยไม่ได้ลงทุนเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น โดยในปี 2020 ไทยลงทุนในตลาดต่างประเทศถึง 30% และในปี 2021 ลงทุนถึง 36% ของจีดีพี และทำรายได้ถึง 32% จากต่างประเทศและการส่งออก ดังนั้นการลงทุนในไทยไม่ใช่เพียงแค่ลงทุนในไทย แต่เป็นโอกาสเข้าถึงประเทศอื่นๆด้วย

ส่วนการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ดัชนีผลตอบแทนในตลาดหุ้นทรงตัวมาตลอดในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา โดยนักลงทุนต้องพิจารณาให้ดีว่าจะเลือกลงทุนในภาคอุตสาหกรรมใด ยกตัวอย่างผลตอบแทนของภาคการท่องเที่ยวอยู่ที่ 8% ภาคอุตสาหกรรมเกี่ยวกับสุขภาพ(healthcare) 12% และภาคการค้าปลีกให้ผลตอบแทนที่ 18%

อีกประเด็นที่ต้องการเน้นคือ การจัดการกับปัญหาการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นจากการลงทุน ตลาดหลักทรัพย์ฯเองก็มีการจัดการกับปัญหานี้แล้ว มาตรการที่ตลาดหลักทรัพย์นำมาจัดการก็คือ การป้องกัน โดยให้มีการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทมากขึ้น โดยในส่วนนี้คือการเปิดเผยข้อมูลการซื้อขาย หรือการเปลี่ยนมือของหุ้น ซึ่งได้ริเริ่มดำเนินการไปแล้ว แต่อยากให้มีการดำเนินการให้เร็วขึ้น และให้จัดการกับคนที่กระทำความผิดจริง อีกด้านหนึ่งก็คือการเข้มงวดกับกฎระเบียบมากขึ้น แต่ก็ไม่ควบเข้มงวดมากเกินไป

นอกจากการป้องกัน ก็คือการใช้กฎหมายลงโทษผู้กระทำความผิด คนที่ทำผิดจริงต้องได้รับโทษ และต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว โทษของไทยเราเมื่อเทียบกับประเทศอื่นถือว่าน้อยมาก และขั้นตอนการดำเนินคดีก็ใช้เวลานานมาก ยกตัวอย่างของสหรัฐฯใช้เวลา 12-18 เดือนแต่ของไทยใช้เวลา 3-5 ปีจึงอยากให้รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องช่วยแก้ไขผลักดันให้มีการดำเนินคดีที่รวดเร็วขึ้น และเอาผิดผู้กระทำความผิดได้จริง แต่ไม่ทำให้คนที่ไม่ได้ทำผิดต้องพบกับความยุ่งยากในการทำธุรกิจ

“เราต้องการเห็นบริษัทไทยไปต่างประเทศ ทางการก็ต้องแข่งขันด้วยเช่นกัน หน่วยงานของไทยก็ต้องปรับตัวให้ทันสมัยด้วยเช่นกัน เราต้องทุกคนต้องร่วมกัน ต้องลงมือให้เร็วขึ้น เราต้องไล่จับคนที่ตั้งใจกระทำผิดให้ได้ ไปจับคนกระทำผิดให้ได้ และปรับปรุงบ้านทีหลังได้”