ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ภาคตลาดทุนร่วมมือ “จับปลอมหลอกลงทุน” สร้างภูมิคุ้มกันความลวงด้วย อย่าเชื่อ อย่าโอน อย่าแชร์

ภาคตลาดทุนร่วมมือ “จับปลอมหลอกลงทุน” สร้างภูมิคุ้มกันความลวงด้วย อย่าเชื่อ อย่าโอน อย่าแชร์

25 กรกฎาคม 2023


วันที่ 24 ก.ค. 2566 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จับมือพันธมิตรภาคตลาดทุน องค์กรธุรกิจ และหน่วยงานรัฐ ได้แก่ ก.ล.ต., สภาธุรกิจตลาดทุนไทย, สมาคมธนาคารไทย, สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย, สมาคมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ, สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย, สมาคมบริษัทจัดการลงทุน, กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน, ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย, กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ประกาศเจตนารมณ์ “ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน” แลกเปลี่ยนข้อมูล ตรวจสอบและชี้เป้าข่าวปลอม พร้อมรณรงค์เตือนตอกย้ำประชาชนสร้างภูมิคุ้มกันด้วยสติ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพหลอกลงทุน

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัจจุบัน ปัญหามิจฉาชีพชักชวนลงทุนผ่านสื่อโซเชียลมีเดียจำนวนมาก หลายรูปแบบ ทั้งการแอบอ้างองค์กร ชื่อ ภาพ ผู้บริหารของหลายหน่วยงาน รวมทั้งบุคคลที่มีชื่อเสียง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ หลอกลวงให้มาลงทุน สร้างความเสียหายแก่ประชาชน ส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง

ข้อมูลของกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พบว่า คดีอาชญากรรมออนไลน์ที่คนไทยตกเป็นเหยื่อสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่

    1) หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ
    2) หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน
    3) หลอกให้กู้เงิน
    4) หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์
    5) การข่มขู่มทางโทรศัพท์

การหลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ สร้างความเสียหายสูงสุดกว่า 11,500 ล้านบาทในช่วง 14 เดือนที่ผ่านมา

ชี้ เช็ค แฉ ไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ในฐานะแพลตฟอร์มการลงทุนของประเทศ จึงได้ร่วมกับหน่วยงานภาคตลาดทุน ริเริ่มโครงการ “ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน” เพราะปัญหานี้ไม่ใช่ว่าองค์กรใดองค์กรหนึ่งจะแก้ไขได้

โดยในเฟสแรก องค์กรพันธมิตรจะร่วมกันสื่อสารด้วยแนวทาง ชี้ เช็ค แฉ ตีแผ่ข้อเท็จจริง ชี้เป้าข่าวเท็จ ควบคู่ไปกับการให้ความรู้สร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้ลงทุนและประชาชนไม่ให้เป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ผ่านช่องทางของพันธมิตร และสื่อในหลากหลายรูปแบบที่เข้าถึงประชาชนในวงกว้าง และในเฟสถัดไป จะมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันทั้งภาคตลาดทุนและหน่วยงานภาครัฐ เพื่อพัฒนากระบวนการในการจับปลอมหลอกลงทุนได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่การรับแจ้งเบาะแส การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน การติดตาม การตรวจสอบการประกาศแจ้งเตือน และการดำเนินการตามกฎหมาย

นายภากรกล่าวว่า แม้ปัญหาการหลอกลวงการลงทุนจะไม่สามารถแก้ได้ในทันที แต่เชื่อว่า การที่ทุกภาคส่วนร่วมมือกัน จะเป็นจุดเริ่มต้นสู้กับมิจฉาชีพที่หลอกลวงการลงทุน การเปิดโครงการ “ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน” ในวันนี้ ทุกภาคส่วนได้แสดงถึงความร่วมมือในการร่วมกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่กว้างขวางทั้งในตลาดทุนและนอกตลาดทุน และความร่วมมือนี้ยังสามารถขยายต่อไปยังภาคส่วนต่างๆ ต่อไปในอนาคต

“ขอให้ประชาชนทุกคนมาร่วมกัน เช็ค ชี้ แฉ และจับปลอมหลอกลงทุน หากพบเห็นการเชิญชวนลงทุนโดยให้ผลตอบแทนที่สูงเกินจริงภายในระยะเวลาสั้นๆ หรือมีการแอบอ้างองค์กรและบุคคลที่มีชื่อเสียง อย่าเพิ่งหลงเชื่อ ขอให้ตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบคอบ และสามารถสอบถามไปยังองค์กรที่ถูกแอบอ้างได้โดยตรง ตรวจสอบรายชื่อบุคคล ผู้ประกอบการธุรกิจ และบริการทางการเงิน ว่าได้รับอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแลอย่างถูกต้องหรือไม่ เพื่อที่จะไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ”

นายธวัชชัย พิทยโสภณ รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า กลโกงหลอกให้ลงทุนทางออนไลน์เป็นหนึ่งในภัยคุกคามซึ่งสร้างความเสียหายต่อประชาชนจำนวนมาก โดยมักแอบอ้างชื่อหรือโลโก้ของ ก.ล.ต. หน่วยงาน บริษัท รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องในภาคตลาดทุน ผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ ทั้งนี้ ก.ล.ต. ตระหนักถึงปัญหาของภัยหลอกลวงที่ขยายวงกว้างมากขึ้นในปัจจุบันและที่ผ่านมาได้ดำเนินการในหลายมิติเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนและประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้รับข้อมูลที่เพียงพอและสามารถปกป้องตนเองจากภัยดังกล่าว โดย ก.ล.ต. มีความยินดีอย่างยิ่งกับการริเริ่มโครงการ “ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเอาจริงเอาจังของทุกภาคส่วน ที่จะช่วยกันป้องปรามการหลอกลงทุน

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า ปัญหามิจฉาชีพหลอกลงทุนเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ การแก้ไขปัญหาและการป้องกันไม่สามารถจัดการได้โดยบุคคลหรือองค์กรที่ถูกแอบอ้างโดยลำพัง หรือเป็นปัญหาขององค์กรใดองค์กรหนึ่งเท่านั้น แต่ต้องทำทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การป้องปรามและปราบปรามไปพร้อมกัน การที่องค์กรต่างๆ ในตลาดทุนและภาครัฐ ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการ “ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน” นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการช่วยกันแก้ไขปัญหา ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก ตระหนักถึงผลกระทบจากภัยทางการเงิน และการหลอกลงทุน โดยเฉพาะ “แชร์ลูกโซ่” ที่แฝงมาในชื่อ “การออม” หรือ “การลงทุน” สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจร้ายแรง จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกมาตรการป้องกันภัยทางการเงินอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการป้องกัน เช่น ยกเลิกส่ง SMS อีเมล แนบลิงก์ แจ้งเตือนผู้ใช้บริการ mobile banking ก่อนทำธุรกรรมทุกครั้ง สแกนใบหน้ายืนยันตัวตนก่อนโอนเงินเกิน 5 หมื่นบาทขึ้นไปต่อครั้ง หรือยอดโอนสะสมครบทุก 2 แสนบาทต่อวันต่อบัญชี หรือปรับเพิ่มวงเงินโอนตั้งแต่ 5 หมื่นบาทขึ้นไป มาตรการตรวจจับและติดตาม พัฒนาระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทุจริตในภาคธนาคาร (central fraud registry) เพื่อตรวจสอบธุรกรรมต้องสงสัยและบัญชีม้า ช่วยป้องกันและจำกัดความเสียหายได้เร็วขึ้น และมาตรการตอบสนองและรับมือ โดยจัดให้มีช่องทางติดต่อเร่งด่วน (hotline) 24 ชั่วโมง ตลอด 7 วัน เพื่อจัดการปัญหาให้ผู้เสียหายได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการสร้างเกราะป้องกันภัยด้วย “การให้ความรู้ทางการเงิน” กับประชาชนทุกกลุ่ม อย่างไรก็ตาม การป้องกันภัยต้อง “เริ่มต้นที่ตัวเรา” ประชาชนต้องหมั่นเช็กข้อมูลธุรกรรมการเงินของตัวเองสม่ำเสมอ วิเคราะห์และตรวจสอบข้อมูลให้รอบด้านทุกครั้งก่อนลงทุน ติดตามข่าวสารภัยทางการเงินอย่างต่อเนื่อง เพื่อรู้เท่าทันกลโกง ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

นางสาวอังคณา เทพประเสริฐวังศา เลขาธิการและผู้อำนวยการ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย กล่าวว่า บริษัทจดทะเบียนถูกมิจฉาชีพนำไปแอบอ้างในการหลอกลงทุน สร้างความเสียหายแก่ประชาชนที่หลงเชื่อ ขณะเดียวกัน บริษัทจดทะเบียนก็นับเป็นผู้เสียหายเช่นกัน โดยเฉพาะในเชิงความน่าเชื่อถือ สมาคมฯ ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและจะสื่อสารไปยังบริษัทจดทะเบียน ให้ร่วมรณรงค์สร้างความเข้าใจแก่ประชาชน ควบคู่ไปกับการดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย

นายวิรัฐ สุขชัย นายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ กล่าวว่า จากสถานการณ์มิจฉาชีพหลอกลงทุนในปัจจุบัน ด้านผู้ประกอบการที่ถูกแอบอ้างไปหลอกเงินจากประชาชน ต้องมีแนวทางป้องกันไม่ให้ใครมาแอบอ้างโดยประกาศให้สาธารณชนได้รับทราบ รวมถึงดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ขณะเดียวกัน ประชาชนก็ต้องปกป้องเงินของตนเองไม่ให้ใครมาหลอกลวง โดยสังเกตข้อพิรุธต่างๆ จากการโฆษณาชวนเชื่อสัญญาผลตอบแทนที่ไม่มีทางเป็นไปได้ ซึ่งสมาคมฯ จะร่วมสร้างภูมิคุ้มกันให้ทั้งบริษัทจดทะเบียนและประชาชนทั่วไปเพื่อลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากภัยหลอกลงทุนดังกล่าว

นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย กล่าวว่า ปัจจุบัน ประชาชนมีความสนใจเรียนรู้และลงทุนเพิ่มขึ้นเพื่อเป้าหมายทางการเงิน ซึ่งเป็นเรื่องดี เพียงแต่ต้องเลือกลงทุนอย่างระมัดระวัง เนื่องจากในโลกออนไลน์โดยเฉพาะสื่อโซเชียลมีมิจฉาชีพแฝงตัวอยู่จำนวนมาก ประชาชนต้องพิจารณาว่าเป็นบริษัทที่มีการรับรองอย่างถูกต้อง รวมทั้งวิเคราะห์ข้อมูลและผลตอบแทนที่เชิญชวนว่าน่าเชื่อหรือไม่ โดยสมาคมฯ และบริษัทหลักทรัพย์จะร่วมสื่อสารแจ้งเตือนประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ ต่อเนื่อง

นางชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า ปัจจุบันมีการโฆษณาเชิญชวนหลอกให้มาลงทุนในกองทุนรวมจำนวนมากโดยให้ผลตอบแทนสูงเกินจริงภายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งการโฆษณาดังกล่าวไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทจัดการลงทุนแต่อย่างใด โดยผู้ประกอบธุรกิจการจัดการลงทุนต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. เท่านั้น และการโฆษณาเชิญชวนให้คนมาลงทุนในกองทุนรวมต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ ก.ล.ต. กำหนด ดังนั้น ประชาชนผู้พบเห็นโฆษณาหลอกลงทุนในกองทุนรวมต่างๆ ไม่ว่าจะแอบอ้างบริษัทหรือผู้บริหารท่านใด อย่าได้หลงเชื่อเป็นอันขาด

นายชนันต์ ชาญชัยณรงค์ ผู้จัดการกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) กล่าวว่า หนึ่งในพันธกิจสำคัญของ CMDF คือการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดทุน การลงทุน และการพัฒนาตลาดทุนให้แก่ผู้ลงทุนและประชาชน โดย CMDF สนับสนุนทุนในโครงการให้ความรู้ประชาชนผ่านสื่อหลากหลายรูปแบบที่เข้าถึงประชาชนทุกเพศทุกวัย รวมทั้งโครงการเกี่ยวกับการเสริมภูมิคุ้มกันในเรื่องหลอกลงทุนแก่ประชาชนในวงกว้างที่จะเริ่มเผยแพร่ในเร็วๆ นี้

รู้ทันหลอกลงทุน ด้วยภูมิคุ้มกันความลวง

หลังการประกาศเจตนารมณ์ ยังมีการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์เพื่อหาทางออกในการจับปลอมหลอกลงทุน หัวข้อ “รู้ทันหลอกลงทุน ด้วยภูมิคุ้มกันความลวง” โดย นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส), นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการ บมจ. อมตะ คอร์ปอเรชัน, นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย, นางชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน, นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

  • กระทรวงดีอีแนะยึดคาถาไม่เชื่อ-ไม่โอนไว้ก่อน
  • นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้ข้อมูลว่า คนไทยมีการใช้อินเทอร์เน็ตและการใช้โทรศัพมือถือทำธุรกรรมการเงินและการซื้อสินค้าสูงมากติดอันดับโลก โดยการใช้โมบายล์แบงกิงของประเทศไทยติดอันดับหนึ่งของโลก ส่วนการใช้ QR Code สูงสุดเป็นอันดับ 4 ของโลก การชอปปิงออนไลน์ติดอันดับ 5 ของโลก และความเร็วอินเทอร์เน็ตของไทยก็ติดอันดับโลก อินเทอร์เน็ตเข้าถึงทุกหมู่บ้านในประเทศ

    ส่วนคดีออนไลน์ก็มีจำนวนมากเช่นกัน โดยในช่วงวันที่ 1 มีนาคม 2565 ถึง 15 กรกฎาคม 2566 มีจำนวน 296,063 คดี มูลค่าความสียหาย 39,127 ล้านบาท ส่วนคดีที่เป็นการหลอกลงทุน มีจำนวน 20,667 คดี มูลค่าความเสียหาย 20,667 ล้านบาท

    ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวในโลกที่มีการหลอกลวงลงทุนและหลอกลวงออนไลน์ ประเทศอื่นก็ประสบปัญหาในลักษณะเดียวกัน โดยในปี 2565 สหรัฐมีกว่า 3 หมื่นคดีหลอกลงทุน (investment scam) มูลค่าความเสียหาย 3,311 ล้านดอลลาร์ ออสเตรเลีย 9,763 คดี มูลค่าความเสียหาย 378 ล้านดอลลาร์ ไทย 16,645 คดี มูลค่าความเสียหาย 227 ล้านดอลลาร์ สิงคโปร์ ซึ่งมีประชากรกว่า 5 ล้านคนมี 3,108 คดี มูลค่าความเสียหาย 198 ล้านดอลลาร์ และอังกฤษเจอ 10,085 คดี มูลค่าความเสียหาย 134 ล้านดอลลาร์

    อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ได้ติดตามจับกุมการหลอกลวงการลงทุนออนไลน์ไม่น้อย ได้ไปติดตามจับในกัมพูชา 2 ครั้งคนไทยที่ไปทำงานเป็นลูกข่ายมีจำนวนหลายร้อยคน แต่การหลอกลวงยังไม่หมด และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น เพราะลูกข่ายที่หลบหนีไปไม่ว่าจะเป็นอยู่ในเมียนมา สามเหลี่ยมทองคำ หรือหนีไปประเทศอื่น หรือกลับเข้าไทย ก็ได้ตั้งแก๊งขึ้นใหม่

    “ตัวหัวโจกจับได้ยากมาก ไม่มีการโดนจับเลย ฉะนั้นการหลอกลวงก็จะยังมีอยู่อีกพอสมควร และมีการเปลี่ยนแปลงตลอดทั้ง สถานที่ รูปแบบ ต้องหาวิธีการที่ดีมากขึ้น โดยเฉพาะการป้องกัน”

    นายเวทางค์กล่าวว่า ความเสียหายจากการหลอกลวงการลงทุนแต่ละมีมูลค่าสูง จึงอยากจะขอให้ประชาชนตระหนักว่า หนึ่ง เงินเข้ากระเป๋าคนร้าย และสอง หัวโจกหรือ master mind ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย แทบจะบอกได้ว่าเป็นชาวต่างชาติจำนวนมาก สาม มีหลายแก๊ง มีจำนวนมาก ฉะนั้นการหลอกลวงก็ยังมี

    นายเวทางค์กล่าวว่า เพจปลอมหรือข่าวปลอมที่เกิดขึ้นมากในช่วงนี้คือ การหลอกลวงการลงทุน จนเป็นกระแส เพราะอ้างผลตอบแทนสูงมาก ประชาชนทั่วไปจึงต้องระวัง ดังนั้น ขอแนะนำว่า

      1) ไม่ควรเชื่อไว้ก่อน
      2) ไม่โอนไว้ก่อน
      3) ถ้ามีคำถามควรสอบถามจากหน่วยงานรัฐซึ่งปัจจุบันนี้พยายามใช้เลขหมายตัวเดียวทั้ง 1212 ที่แจ้งได้หากพบว่ามีการนำรูปของผู้เสียหายไปใช้ หรือในกรณีที่ซื้อของออนไลน์แล้วได้ของไม่ตรงปก รวมไปถึงถูกหลอกให้ลงทุน

    ในกรณีที่ถูกหลอกลวงออนไลน์ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อสามารถแจ้งความออนไลน์ได้ รวมไปถึงแจ้งตำรวจไซเบอร์ 1441 สามารถปรึกษา แจ้งเบาะแส ขอความช่วยเหลือ โดยเมื่อได้รับแจ้งเบาะแสก็จะทำการตรวจสอบว่าเป็นการหลอกในลักษณะไหน นอกจากนี้ ในทางศาลก็รับแจ้งความออนไลน์ หากเป็นคดีการซื้อสินค้าแล้วได้ของไม่ตรงปก ทำให้สะดวกและทำงานเร็วขึ้นมาก ส่วนการหลอกลงทุน เจ้าหน้าที่มีฐานข้อมูลที่จะตรวจสอบอยู่แล้ว ทั้งโลโก้หรือข้อมูลอื่นๆ สามารถแจ้งกลับได้ในระยะสั้น เพราะมีการทำงานประสานกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องตลอดเวลา

    อย่างไรก็ตาม คดีหลอกลวงออนไลน์ลดลงไปมาก มีการตามปิดบัญชีม้าเดือนละหมื่นบัญชี ส่วนหนึ่งเป็นผลจาก พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 2566 ที่มีผลบังคับใช้แล้ว แต่การหลอกลวงออนไลน์ก็ไม่มีวันจบ เพราะมาจากอาชญากรข้ามชาติ ไม่ใช่แค่กฎหมายของไทย

  • วิกรมแนะจับมือต้นทางสื่อออนไลน์
  • นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการ บมจ. อมตะ คอร์ปอเรชัน ซึ่งถูกแอบอ้างทั้งการนำภาพและชื่อบริษัทไปใช้ เปิดเผยว่า การหลอกลวงลงทุนโดยใช้ภาพตัวเองนั้นเกิดขึ้นมาปีกว่าแล้ว และเมื่อบริษัทพบว่ามีการนำชื่อบริษัทไปหลอกลวงก็ดำเนินการอย่างรวดเร็ว ในปีที่แล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้มีดำเนินการจับกุมมากว่า 50 คน แต่ก็ยังมีการหลอกลวงลงทุนเกิดขึ้นอีก ด้วยการใช้ผลตอบแทน 3-7% ต่อสัปดาห์มาล่อลวง ซึ่งสูงกว่าความเป็นจริงในปัจจุบันที่อัตราดอกเบี้ยธนาคารอยู่ที่ระดับ 2-3% ต่อปี

    “คนที่ถูกหลอกลวงส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านที่ไม่ค่อยรู้เรื่องอะไร น่าสงสาร ไม่รู้เรื่องเศรษฐศาสตร์ ไม่รู้เรื่องอัตราดอกเบี้ยต่อปีว่าอยู่ที่เท่าไร รู้เพียงอย่างเดียวมามีคนมาชักชวนไปลงทุน ซึ่งการหลอกลวงก็ทำได้เนียนมาก ถึงระดับที่หลอกให้คนมาฟังข้อมูลที่บริษัทของผม แฟนคลับของผมเสียหายไปไม่น้อย น่าจะหลายร้อยล้าน อีกทั้งการหลอกลวงทำให้ดูเหมือนกับออกมาจากเพจในเฟซบุ๊กโดยตรง ที่สำคัญที่สุดมีการตอบโต้จึงยิ่งทำให้เหมือนจริงมาก ไม่มีอะไรที่ทำให้คนรู้สึกว่าไม่จริง น่ากลัวมาก”

    นายวิกรมกล่าวว่า การที่ภาคส่วนในตลาดทุนมาร่วมมือกันก็จะช่วยให้คนทั่วไป ได้รับรู้ว่าไม่มีที่ไหนที่จ่ายดอกเบี้ยถึง 7% ในระยะสั้น โดยส่วนตัวเองก็ได้ใช้สื่อที่มีกระจายข่าวสาร แต่ข้อมูลข่าวสารก็ยังไม่ลงไปถึงระดับชาวบ้าน ประเทศไทยมีคนที่ใช้แรงงาน 40 ล้านคนอยู่ในภาคเกษตรเกือบครึ่งหนึ่ง คนกลุ่มนี้ไม่มีความรู้ ก็จะถูกหลอกได้ง่าย และส่วนใหญ่ก็เป็นแฟนคลับของตนเองราว 30 ล้านคน ต้องกระจายข้อมูลลงไปอีก

    “และต้องทำงานกับต้นสังกัด ไม่ว่าจะเป็น Facebook, YouTube, TikTok ซึ่งเป็นพันธมิตรคนที่หนึ่ง คนที่สองคือกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่ตำรวจ และสาม คือ รัฐบาลของประเทศที่เกี่ยวข้อง”

    นายวิกรมกล่าวว่า จากการพูดคุยกับทางการจีนได้ข้อมูลว่า การหลอกลวงลักษณะนี้เริ่มต้นจากไต้หวัน ต่อมาชาวจีนแผ่นดินใหญ่กลายเป็นกลุ่มใหญ่ ทางการจีนต้องการที่จะนำชาวจีนที่กระทำผิดกลับประเทศ แต่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากถือพาสปอรต์ประเทศที่ไม่มีกฎหมายส่งผู้รายข้ามแดน

    นายวิกรมบอกว่า มิจฉาชีพมีการปรับตัวมากขึ้น จากในปีที่แล้วที่จับกุมได้ 50 กว่าคน ปีนี้จับได้ 9 คนหนีไป 3 คน คาดว่าปีหน้าคงจับไม่ได้เลย ดังนั้น การสื่อสารต้องทำให้คนฉุกคิด โดยเฉพาะคนในวัยเกษียณจากการทำงานแล้ว ที่ต้องเก็บเงินไว้ใช้ดำรงชีวิต รวมไปถึงต้องมีการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในด้านกฎหมาย และการประสานงานจากต่างประเทศ ทั้งจีน และไต้หวัน

    สิ่งสำคัญคือ การสื่อ การให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนในระดับชาวบ้านเพื่อเป็นภูมิคุ้มกัน

  • ล็อกมือถือ-ล็อกบัญชีเพื่อความปลอดภัย
  • นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย กล่าวว่า การหลอกลวงลงทุนตอนแรกมาจากโบรกเกอร์ที่ไม่ได้จดทะเบียนกับ ก.ล.ต. และมีการโฆษณาชักชวนลงทุนมาตลอด ในช่วงหลังได้มีการนำภาพผู้บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ไปใช้ในการชวนเชื่อ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ซึ่งสมาคมฯ ได้ประสานกับโบรกเกอร์ให้แจ้งลูกค้าผ่านเว็บไซต์ แต่ผู้ที่เสียหายอาจจะไม่ใช่ลูกค้าโบรกเกอร์ เพราะอาจไม่ได้ตรวจสอบว่าเว็บไซต์ที่มิจฉาชีพใช้นั้นเป็นเว็บไซต์ของโบรกเกอร์จริงหรือไม่

    “ข้อที่อันตรายที่สุดคือไม่เข้าใจ เชื่อทันทีและเชื่อที่มิฉาชีพบอก และเชื่อในสิ่งที่ง่ายที่สุดคือ เชื่อที่จะโอนเงินไปให้บุคคล บัญชีส่วนบุคคล แทนที่จะโอนไปให้บริษัท เพราะหากเป็นการลงทุน ก็ต้องโอนเข้าบริษัท สะท้อนว่าคนไม่รู้จริงๆ จึงเป็นที่มาของการร่วมมือในครั้งนี้เพื่อที่จะบอกว่า ก่อนลงทุนต้องเช็คพวกนี้ก่อน ไม่ใช่เห็นรูปเสนอขายหุ้นก็เชื่อเลย อย่างนี้อันตรายมาก”

    นายพิเชษฐกล่าวว่า โบรกเกอร์เองก็ได้พัฒนาระบบเพิ่มเติม ในแง่ความปลอดภัยจากภัยต่างๆ เช่น การเจาะเข้าระบบ หรือกรณีที่ลูกค้าใช้บัญชีผิดปกติ

    นอกจากนี้ ยังพบกรณีผู้เสียหายเดินทางมาที่บริษัทโบรกเกอร์ เพราะถูกหลอกว่ามีการปล่อยกู้ในลักษณะเดียวกับสถาบันการเงิน โดยใช้ภาพบริษัทในการโฆษณา และยังพบว่ามีผู้เสียหายได้ตรวจสอบด้วยโทรศัพท์กับโบรกเกอร์หลังจากที่ได้ถูกหลอกให้ลงทุนไปแล้ว

    นายพิเชษฐแนะนำว่า การหลอกลวงยิ่งเนียนมากยิ่งไม่น่าเชื่อถือ เช่น มีโลโก้ของทุกหน่วยงานกำกับดูแล ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย, ก.ล.ต., คปภ., ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขณะที่โบรกเกอร์อยู่ภายใต้การกำกับของ ก.ล.ต. รวมทั้งสามารถตรวจสอบว่าเป็นเพจจริงไม่ส่วนหนึ่งจากจำนวนยอด like เพจจริง เช่น หากเจอเพจตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มียอด like เพียงหลักร้อยหรือหลักพัน ก็ไม่ใช่เพจจริง เพราะเป็นไปไม่ได้ที่เพจตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมียอด like น้อย

    “ตั้งสติเสียหน่อย แล้วเราก็จะเช็คได้ โดยเฉพาะผู้ที่เกษียณแล้ว อย่าเพิ่งไปคิดจะเพิ่มพูนเงินเกษียณ เพราะเงินอาจจะหายหมดเลย นอกจากนี้ พวกเราถูกสอนว่าออกจากบ้านต้องล็อกบ้าน ออกจากรถต้องล็อกรถ ดังนั้นก็ต้องล็อกมือถือด้วย และล็อกบัญชีให้ดี”

  • กองทุนฯเตือนต้องตรวจสอบข้อมูลทุกๆช่องทาง
  • นางชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า อุตสาหกรรมกองทุนรวมถูกนำไปใช้หลอกลวงลงทุน ในแง่ผลตอบแทนการลงทุน เงินปันผล โดยมี 3 ช่องทางที่ทำให้ผู้ที่ได้รับข้อมูลเคลิ้มไปกับสิ่งที่เห็น คือ

      1) ใช้หน้าผู้ที่มีชื่อเสียง
      2) ใช้โลโก้ทั้งหน่วยงานกำกับ เช่น ตลท., ก.ล.ต., บริษัทจัดการกองทุนมาใส่ไว้เต็มไปหมด
      3) พยายามใช้สีขององค์กร เพื่อสื่อสารว่าเป็นบริษัทไหน เช่น สื่อว่าเป็นธนาคาร ก ธนาคาร ข

    “มิจฉาชีพพยายามทำให้คนเห็นภาพองค์ประกอบที่ครบและชวนให้ตัดสินใจ เพราะดูน่าเชื่อถือ”

    นางชวินดากล่าวว่า กองทุนที่นำมาหลอกลวงกับกองทุนในอุตสาหกรรมแตกต่างกัน กองทุนในอุตสาหกรรมเป็นกองทุนที่จัดตั้งถูกต้องตามกฎหมาย อยู่ภายใต้การดูแลภายใต้กรอบระเบียบของ ก.ล.ต. ชัดเจน แต่มิจฉาชีพที่หลอก ก็จะใช้คำว่ากองทุน และพยายามสื่อว่า เอาเงินประชาชนมาใส่ในกองทุนของมิฉาชีพ และมิจฉาชีพก็จะนำกองทุนนั้นมาลงทุนในกองทุนที่ตั้งถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งๆ ที่กองทุนของมิจฉาชีพก็เข้ากระเป๋าของมิจฉาชีพ และไม่มีทางออกคืนให้กับผู้เสียหาย

    “นี่คือสิ่งที่มิจฉาชีพพยายามจะทำ เมื่อเกิดขึ้น สิ่งที่เรา กองทุนที่ถูกต้องจะทำ คือ การแจ้งเตือนบนเว็บไซต์ของบริษัทจัดการกองทุน ทุกสมาชิกของสมาคมฯ จะดำเนินการร่วมกัน เมื่อพบเห็น เพื่อเตือนว่าอย่าถูกหลอก และพยายามเชื่อเรา อย่าไปเชื่อคนหรือเว็บที่ให้ข้อมูลที่สับสน เช่น ลงทุน 1,000 บาทได้ปันผล 1 หมื่นบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ดูดี มันง่ายเกินไป ไม่มีอะไรได้มาฟรี หรืออีกกรณี ลงทุนในกองทุน แต่เอาชื่อหุ้นมาใส่ไว้ด้วย ข้อมูลไม่ถูกต้อง แต่คนอาจจะเคลิ้มไปกับสิ่งที่เห็นง่ายๆ”

    “นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้น และเราพยายามสื่อสารกับนักลงทุนอย่างชัดเจน สมาชิกทุกรายทำเหมือนกันหมด คือ เมื่อมีเหตุการณ์ ก็จะโพสต์เว็บไซต์ว่าเป็นข้อมูลไม่จริง และยังให้ความรู้ว่า สิ่งเหล่านี้ยังเกิดขึ้นไปอีก ในรูปแบบที่ต่างออกไป บางครั้งอาจจะใช้โลโก แต่วันหน้าก็ไม่รู้ว่าจะเป็นอะไร ก็ขอให้นึกว่าไม่มีอะไรที่ได้มาโดยง่าย และขอให้ตระหนักและสอบถามก่อน”

    นางชวินดากล่าวว่า สมาคมได้จัดทำ infographic แบบง่ายเพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจ ว่าขั้นตอนที่มิจฉาชีพต้องการคืออะไรบ้าง เพื่อสร้างความตระหนักรู้และพยายามสื่อสารออกไป

    ส่วนช่องทางการหลอกลวง นางชวินดากล่าวว่า มาในทุกช่องทางออนไลน์ที่คนไทยนิยมใช้ “อะไรก็ตามที่เป็นออนไลน์ที่มีความคล่องตัวในการใช้ ก็จะมา และจะมาได้เรื่อยๆ แต่เราต้องรู้เท่าทัน”

    นางชวินดาแนะนำในการตรวจว่าเป็นการหลอกลงทุนหรือไม่ว่า กองทุนที่ถูกต้อง เมื่อจะนำเสนอข้อมูลก็จะให้รายละเอียดทั้งวันซื้อขาย มีคำเตือน มีเบอร์ติดต่อที่ชัดเจน และจะไม่มีการให้กดลิงก์เข้าไปที่บริษัท ซึ่งเป็นช่องทางที่ถูกหลอกเอาข้อมูลส่วนบุคคลมากที่สุด

    “การให้ข้อมูลว่ากองทุนให้ผลตอบแทนเท่านั้นเท่านี้หรือการันตีผลตอบแทน นั่นคือการหลอกลวง ขณะที่กองทุนเปิดจะไม่เขียนผลตอบแทน เพราะเป็นกฎที่ ก.ล.ต. ห้าม เนื่องจากไม่รู้จริงๆ ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต”

    ในกรณีที่ประชาชนต้องการจะลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามที่เพจนั้นเสนอ ไม่ควรตรวจสอบจากเว็บไซต์หรือเบอร์โทรที่เพจนั้นให้มาก เพราะแม้เข้าเว็บได้ก็เป็นข้อมูลปลอมทั้งสิ้น ให้ตรวจสอบจากเว็บไซต์อื่นว่า บริษัทที่เสนอการลงทุนนั้นมีจริงหรือไม่ ข้อมูลก็จะปรากฏขึ้นมาเอง ข้อมูลที่มีมากที่สุดคือข้อมูลที่มีคนกด follow หรือ like มากที่สุด รวมทั้งเข้าไปที่เว็บไซต์ของแต่ละ บลจ. ซึ่งมีรายละเอียด และ ”ตรวจสอบว่าในเว็บไซต์ บลจ. นั้นมีการพูดถึงผลตอบแทนที่จริงตามที่เพจนั้นนำเสนอหรือไม่ ซึ่งรับรองว่าไม่มี”

    “ประชาชนต้องตรวจสอบข้อมูลทุกๆ ช่องทาง เช็คหลายๆ ด้าน การเช็คจากหลายแหล่งจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเอง ไม่ให้ถูกหลอกจากข้อมูลเดียว การเคลิ้มจากข้อมูลเป็นหายนะ คนที่อยากได้ผลตอบแทนแบบ quick win จะกลายเป็น quick loss ไม่มี free lunch จริงๆ ในการลงทุน อะไรที่ได้ผลตอบแทนสูงและจูงใจไม่มี อย่าหลงเชื่อ การลงทุนที่มีผลตอบแทนจริงมี แต่ไม่ใช่ลงทุนวันนี้พรุ่งนี้ได้ ต้องลงทุนระยะยาว”

  • คาถา 3 อย่า อย่าเชื่อ อย่าโอน อย่าแชร์
  • นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การใช้เพจปลอมหลอกลงทุนเป็นกรณีที่พบมาก และจัดเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจประเภทหนึ่ง ซึ่งการสร้างเพจปลอมทำได้ง่าย แม้พยายามตามปิด แต่ก็มีการเปิดเพจใหม่อีก การหลอกลวงการลงทุนจึงเกิดขึ้นมาก มิจฉาชีพมีการหลอกลวงในรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งการใช้ภาพคน ใช้สีองค์กร รวมทั้งมีการใช้สื่อโซเชียล

    “ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาแต่ละหน่วยงาน ต่างคนต่างทำ ทำให้ไม่มีประสิทธิภาพมากเท่าที่ควร ตลาดหลักทรัพย์ฯ เห็นว่า แทนที่จะให้ต่างคนต่างทำ ก็มาร่วมกันทำโดยตลาดหลักทรัพย์เป็นศูนย์ เป็นตัวกลางประสานผู้ที่เกี่ยวข้อง ลดความซับซ้อนในการทำงาน ช่วยกันสื่อสารให้เกิดผลต่อสังคม สร้างความตระหนักรู้ โดยจะเริ่มตั้งแต่การติดตาม ตรวจจับ และตรวจสอบเพจปลอม ถ้าเจอเพจปลอมก็จะดำเนินการ”

    สำหรับการดำเนินการของตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งตรวจสอบพบการนำโลโก้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไปใช้ ในปีที่แล้วส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปการสร้างเพจปลอม แต่ปีนี้พบว่ามีการใช้ช่องทาง YouTube แอปพลเคชัน หลายช่องทางมากขึ้น มิจฉาชีพมีการปรับตัวใช้ช่องทางที่หลากหลายเพื่อหลอกลวงให้ลงทุน ดังนั้น แทนที่จะตั้งรับ ก็ต้องดำเนินการเชิงรุก

    ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้พยายามให้ความรู้เพื่อป้องกันการถูกหลอก ควบคู่กับการตรวจจับ เมื่อพบเพจปลอมก็จะแจ้งว่าเป็นเพจปลอม รวมทั้งประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพยายามปิดเพจปลอมนั้น นอกจากนี้ ยังได้ประสานกับเมตาแพลตฟอร์ม เจ้าของสื่อโซเชียล เฟซบุ๊ก ซึ่งขณะนี้ได้ใช้เครื่องหมายถูกสีฟ้า blue badge เครื่องหมาย verified ยืนยันที่ผ่านการตรวจสอบแล้วว่า เป็นบัญชีผู้ใช้จริงของบุคคลสาธารณะหรือแบรนด์ที่นำเสนอ ในการทำการปิดเพจปลอม

    “จึงอยากจะฝากผู้ลงทุนในการดูเฟซบุ๊ก อาจจะสังเกตอย่างง่ายๆ ว่ามี เครื่องหมาย blue badge หรือไม่”

    ตลาดหลักทรัพย์ฯยังมีแผนที่จะนำ AI เข้ามาช่วยตรวจจับเพจปลอม โดยจะประสานกับบริษัทจดทะเบียน สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย สมาคมบริษัทจัดการลงทุน และจะประสานไปยังแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ว่า ไลน์ เฟซบุ๊ก YouTube เพื่อหาทางป้องกัน และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนด้วยการให้ความรู้ผ่านสื่อโฆษณา

    “ง่ายๆ คือ อย่าเชื่อ อย่าโอน อย่าแชร์ เมื่อได้รับข้อมูลชักชวนการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงอย่าเชื่อ ถัดมาอย่าโอน อย่าโอนเงินให้คนที่เราไม่รู้จัก และตรวจสอบบัญชีที่จะโอนเพราะส่วนใหญ่เป็นบัญชีบุคคลธรรมดาไม่ใช่บริษัท และสุดท้ายเมื่อได้รับข้อมูลอย่าแชร์ต่อเพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลกระจายไปในวงกว้าง หากสงสัยสามาาถตรวจสอบได้กับคอลเซ็นเตอร์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือตรวจสอบกับบริษัทจดทะเบียน เว็บไซต์ ก.ล.ต. SEC Check First หรือกระทรวงดีอีเอส ช่วยกันตรวจสอบเพจปลอมเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อทุกคน”