ASEAN Roundup ประจำวันที่ 25 พฤศจิกายน-2 ธันวาคม 2566
เวียดนามเตรียมเก็บภาษี Global Minimum Tax กับบริษัทต่างชาติปีหน้า

กลุ่มประเทศร่ำรวย G7 เห็นชอบการเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ 15% ในเดือนมิถุนายน 2564 เพื่อลดการแข่งขันด้านภาษีระหว่างประเทศต่างๆ และป้องกันไม่ให้บริษัทข้ามชาติหลบเลี่ยงภาษี
ระบบภาษีนี้จะใช้กับบริษัทที่มีรายได้อย่างน้อย 750 ล้านยูโร (800 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในเวลาอย่างน้อย 2 ใน 4 ปีที่ผ่านมา
รัฐบาลคาดการณ์ว่าธุรกิจต่างชาติ 122 แห่งในเวียดนามจะต้องจ่ายภาษีในจำนวนประมาณ 14.6 ล้านล้านด่อง (603.31 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในปีหน้า
แต่เนื่องจากภาษีนี้จะมีผลต่อสิทธิประโยชน์จูงใจที่เวียดนามเสนอให้กับนักลงทุนต่างชาติ สมาชิกสมัชชาแห่งชาติจึงเรียกร้องให้มีออกระเบียบใหม่เพื่อทดแทนเกณฑ์เดิม และเรียกร้องให้รัฐบาลเตรียมรับมือกับการดำเนินคดีหากบริษัทต่างชาติฟ้องร้องใช้สิทธิชำระภาษีในประเทศของตน
สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหภาพยุโรป มีแผนจะเก็บภาษีนี้ในปีหน้าด้วย
FDI เข้าเวียดนามรอบ 11 เดือนโต 14.8%

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 สำนักงานการลงทุนต่างประเทศ (FIA) ภายใต้กระทรวงการวางแผนและการลงทุนรายงานว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment-FDI) ในช่วง 11 เดือนของปี 2566 มีมูลค่าเกือบ 28.85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 14.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี
นักลงทุนต่างชาติได้ลงทุนใน 56 จังหวัดและเมือง โดยจังหวัดกว๋างนิญทางตอนเหนือยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่ใหญ่ที่สุดของ FDI โดยมีมูลค่าเกือบ 3.11 พันล้านเหรียญร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 42.3% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามมาด้วยนครโฮจิมินห์ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 3.08 พันล้านเหรียญสหรัฐ เมืองไฮฟอง 2.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ จังหวัดบั๊กซาง 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ และฮานอย 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ
นครโฮจิมินห์ มีส่วนแบ่ง 10.7% ของ FDI ทั้งหมด เป็นผู้นำในด้านจำนวนโครงการใหม่ (38%) โครงการที่มีเงินทุนเพิ่มเติม (25.3%) และการสนับสนุนทุนหรือการซื้อหุ้นในบริษัทในประเทศ (66.6%)
จากข้อมูลของ FIA ณ วันที่ 20 พฤศจิกายน มีโครงการ FDI ที่ยังดำเนินการ 38,844 โครงการ มูลค่ารวมเกือบ 462.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทั่วประเทศเวียดนาม และมีการเบิกจ่ายทุนจดทะเบียนของโครงการเกือบ 294.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 63.6%
การค้าเวียดนาม-ญี่ปุ่นแข็งแกร่งจาก FTAs

ญี่ปุ่นเป็น หุ้นส่วนที่ได้ลงนามข้อตกลงการค้าเสรี(Free Trade Agreement-FTA) ระดับทวิภาคีและพหุภาคีมากที่สุดกับเวียดนาม ซึ่งเปิดโอกาสมากมายสำหรับความร่วมมือทางการค้าที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นระหว่างทั้งสองประเทศ จากการเปิดเผยของ เจิ่น กว่าง ฮุย ผู้อำนวยการฝ่ายตลาดประจำภูมิภาคเอเชียแอฟริกา กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า
ข้อตกลงการค้า เช่น ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (ASEAN-Japan Comprehensive Economic Partnership-AJCEP) ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจเวียดนาม-ญี่ปุ่น (Vietnam – Japan Economic Partnership Agreement-VJEPA) ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership-CPTPP) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership-RCEP) ได้สร้างกรอบความร่วมมือที่สำคัญ ซึ่งมีส่วนส่งเสริมการค้า การลงทุน และความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างทั้งสองประเทศตามหลักผลประโยชน์ร่วมกัน
เวียดนามและญี่ปุ่นมีโอกาสความร่วมมือมากมายในด้านการค้า นวัตกรรมทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล และความหลากหลายของห่วงโซ่อุปทาน ขณะที่โครงสร้างสินค้าส่งออกและนำเข้าของทั้งสองประเทศมีความเสริมซึ่งกันและกันอย่างชัดเจนโดยไม่มีการแข่งขันโดยตรง
สถิติแสดงให้เห็นว่ามูลค่าการค้าทวิภาคีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าสูงถึง 40 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2563 เพิ่มขึ้นเป็น 42.7 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2564 มีมูลค่า 47.6 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2565 และเกือบ 37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566
ญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่อันดับ 3 ในเวียดนาม โดยมีโครงการที่ดำเนินการ 5,227 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 71.41 พันล้านเหรียญสหรัฐ ณ วันที่ 20 ตุลาคม 2566 ขณะเดียวกัน เวียดนามมีโครงการลงทุนในญี่ปุ่น 106 โครงการ ด้วยทุนจดทะเบียนรวมประมาณ 19.5 ล้านเหรียญสหรัฐ
ดัง ฟุ๊ก เหงียน เลขาธิการสมาคมผักและผลไม้เวียดนาม ระบุว่า ตลาดญี่ปุ่นคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5% ของมูลค่าการส่งออกผลไม้ของเวียดนาม โดยมีมูลค่ารวมประมาณ 150 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อปีที่แล้ว ญี่ปุ่นนำเข้าผลไม้มูลค่า 165 ล้านเหรียญสหรัฐจากเวียดนาม คิดเป็น 4% ของส่วนแบ่งตลาดผักและผลไม้ อย่างไรก็ตามมาตรฐานของญี่ปุ่นสำหรับการนำเข้าผักและผลไม้นั้นสูงมาก
ปัจจุบัน ผลไม้เวียดนามส่วนหนึ่งครองส่วนแบ่งการตลาดอย่างมากและกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในตลาดญี่ปุ่น เช่น แก้วมังกร มะม่วง ทุเรียน มะพร้าว ลิ้นจี่ ลำไย และกล้วย
ฟาม ก๊วก เลียม ผู้อำนวยการทั่วไปของ U&I Agriculture JSC (Unifarm) ในจังหวัด บิ่ญเซือง ทางตอนใต้กล่าวว่า บริษัทส่งออกกล้วย 10 ตู้คอนเทนเนอร์และแตง 1 ตู้ไปยังญี่ปุ่นในแต่ละสัปดาห์
อย่างไรก็ตาม ในการเข้าตลาดญี่ปุ่น ผลิตภัณฑ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเกษตร วนเกษตร จะต้องมั่นใจในมาตรฐานด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยของอาหาร และการกักกันสัตว์และพืช และจะต้องผลิตและเลี้ยงให้สอดคล้องกับมาตรฐานทางการเกษตรของญี่ปุ่น GAP, HACCP และ JAS
ทา มินห์ ดึ๊ก ที่ปรึกษาการค้าเวียดนามในญี่ปุ่นแนะนำธุรกิจเวียดนามให้ใส่ใจกับการรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และเทคโนโลยีการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ผลไม้ที่ส่งออกไปยังญี่ปุ่นให้มีเสถียรภาพ และผู้ส่งออกของเวียดนามไม่ควรขึ้นราคามากเกินไปเพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในญี่ปุ่นอยู่ในระดับต่ำมาก
ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าคาดการณ์ว่าความร่วมมือระหว่างเวียดนามและญี่ปุ่นจะได้รับแรงหนุนมากขึ้น เนื่องจากธุรกิจจากทั้งสองฝ่ายใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบและสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากเขตการค้าเสรี เช่น CPTPP และ RCEP
เวียดนามเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าดึงดูดสำหรับธุรกิจของญี่ปุ่น จากขนาดตลาดและศักยภาพในการเติบโต สถานการณ์ทางการเมืองและสังคมที่มั่นคง และทรัพยากรมนุษย์คุณภาพสูง
รายงานการสำรวจประจำปี 25652 ขององค์กรการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) แสดงให้เห็นว่า 60% ของบริษัทญี่ปุ่นวางแผนที่จะขยายการดำเนินงานในเวียดนามในอีกสองปีข้างหน้า ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจสำคัญในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางการค้าที่แข็งแกร่งระหว่างทั้งสองฝ่ายในระยะต่อไป
ลาวเล็งเปิดโครงการโทเคนแร่หายาก

ข้อเสนอสำหรับโครงการนำร่องโทเคนแร่หายากของโลก ได้มีการหารือในการประชุมคณะรัฐมนตรีประจำเดือนที่จัดขึ้นที่เวียงจันทน์ ระหว่างวันที่ 23-24 พฤศจิกายน การประชุมครั้งนี้มีนายกรัฐมนตรี ดร.สอนไซ สีพันดอน เป็นประธาน และมีคณะรัฐมนตรีเข้าร่วม
รัฐบาลยังกำลังพิจารณาที่จะจัดตั้งคณะกรรมการและร่างกฎหมายที่จำเป็นเพื่อควบคุมโครงการนำร่องที่วางแผนไว้ หากเดินหน้าโครงการ
นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า โครงการนี้ต้องมีการศึกษาอย่างละเอียดถี่ถ้วน รวมถึงโอกาสทางการตลาด และการทบทวนบทเรียนที่ได้รับจากการดำเนินขุดบิทคอยน์นำร่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศ
ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนกันยายน ดร.สอนไซได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการร่างยุทธศาสตร์เกี่ยวกับแร่หายากหรือโลหะสำคัญและแร่ธาตุอื่น ๆ เพื่อให้มั่นใจว่ามีการจัดการที่เหมาะสมในการดำเนินการขุดในลาว
แร่หายากหมายถึง แร่ 17 ชนิดที่ใช้ในการผลิตโทรศัพท์มือถือ ฮาร์ดไดรฟ์ และรถไฟ และยังมีความสำคัญต่อเทคโนโลยีสีเขียวด้วย เช่น กังหันลม และยานยนต์ไฟฟ้า
จีนเป็นผู้ผลิตแร่หายากชั้นนำของโลก คิดเป็น 70% ของแร่หายากที่ขุดได้ทั่วโลกในปี 2565
เนื่องจากแร่หายากเป็นที่ต้องการสูงทั่วโลก รัฐบาลได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นเพื่อให้แน่ใจว่าลาวจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากการขุดแร่ดังกล่าว
ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับคำสั่งให้จัดการปัญหาเร่งด่วนและบังคับใช้มาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ
มาตรการที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งคือการรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน ปรับปรุงระบบการจัดเก็บรายได้ให้ทันสมัยเพื่อเพิ่มรายได้ประชาชาติ และเพิ่มการส่งออก รัฐบาลกำลังดำเนินการเพื่อแน่ใจว่าการส่งออกจะได้รับการชำระเงินผ่านระบบธนาคารในประเทศลาว เพื่อให้เงินตราต่างประเทศเข้ามาในประเทศมากขึ้น
รัฐบาลย้ำถึงความจำเป็นในการจำกัดการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยและสินค้าที่สามารถผลิตหรือผลิตในประเทศ
ภาครัฐได้รับคำสั่งให้ยกเลิกกฎเกณฑ์เดิมๆ และปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาในประเทศลาวมากขึ้น ภาคส่วนที่รับผิดชอบต้องตรวจสอบโครงการลงทุนที่ไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากนักลงทุนบางรายได้รับสัมปทานโครงการแต่ไม่ได้ดำเนินการ และตอนนี้กำลังวางแผนที่จะขายโครงการดังกล่าวให้กับนักลงทุนรายอื่น
สิงคโปร์ค่าครองชีพแพงสุดในโลกอีกปี

สิงคโปร์และซูริกเป็นเมืองที่ค่าครองชีพแพงที่สุดในการสำรวจปีนี้ และสิงคโปร์ยังคงครองตำแหน่งเมืองที่แพงที่สุดในโลกเป็นครั้งที่ 9 ในช่วง 11 ปีที่ผ่านมา
ซูริกขยับขึ้นจากอันดับที่ 6 มาร่วมกับสิงคโปร์ในตำแหน่งที่หนึ่ง แซงนิวยอร์ก (ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 1 เท่ากับสิงคโปร์เมื่อปีที่แล้ว) ที่ตกลงมาอยู่อันดับที่ 3 เมืองซูริกซึ่งกลับมาอยู่ในอันดับต้นๆ อีกครั้งในรอบ 3 ปี ขยับขึ้นเนื่องจากค่าเงินฟรังก์สวิสที่แข็งค่าขึ้น รวมถึงราคาของชำ ของใช้ในครัวเรือน และกิจกรรมสันทนาการที่สูงขึ้น โดยรวมแล้ว สิบอันดับแรกาในปีนี้ประกอบด้วยเมืองในเอเชียสองแห่ง (สิงคโปร์และฮ่องกง) เมืองในยุโรปสี่เมือง (ซูริก เจนีวา ปารีส และโคเปนเฮเกน) เมืองในสหรัฐอเมริกาสามเมือง (นิวยอร์ก ลอสแองเจลิส และซานฟรานซิสโก) และเทลอาวีฟในอิสราเอล
การสำรวจของ EIU มีขึ้นก่อนสงครามอิสราเอล-ฮามาสจะเริ่มขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนในอิสราเอล และอาจทำให้ยากต่อการจัดหาสินค้าบางอย่างในเทลอาวีฟ ซึ่งส่งผลต่อราคา
ราคาสาธารณูปโภคทั่วโลก (ค่าพลังงานในครัวเรือนและค่าน้ำ) มีอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวมากที่สุดในสิบหมวดที่ครอบคลุมในการสำรวจ ทั้งที่เป็นหมวดที่เพิ่มขึ้นเร็วที่สุดในปี 2022 และการที่เพิ่มขึ้นน้อยชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงราคาพลังงานที่เกิดจากการรุกรานยูเครนของรัสเซียจะผ่อนคลายลง ในทางกลับกัน ของชำมีอัตราการเติบโตของราคาที่รวดเร็วที่สุด อัตราเงินเฟ้อด้านอาหารยังคงสูงทั่วโลก เนื่องจากผู้ผลิตและผู้ค้าปลีกหลายรายได้ส่งต่อต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังผู้บริโภค และความถี่ของเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่เพิ่มขึ้นยังคงทำให้ความเสี่ยงด้านอุปทานเพิ่มสูงขึ้น
นอกจากความตึงเครียดด้านอุปทานที่ผ่อนคลายแล้ว นโยบายการเงินเชิงรุกที่ธนาคารกลางสหรัฐนำมาใช้ ยังช่วยลดอัตราเงินเฟ้อในประเทศด้วยการคำนวณของ EIU นอกจากนี้ สกุลเงินต่างประเทศหลายสกุลแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในปี 2023 ปัจจัยทั้งสองนี้ส่งผลให้เมืองส่วนใหญ่ใน 22 เมืองของสหรัฐฯ ที่อยู่ในการสำรวจตกอันดับลง ถึงกระนั้น 3 เมืองในสหรัฐฯ (นิวยอร์ก ลอสแองเจลิส และซานฟรานซิสโก) ก็ติดอยู่ในสิบอันดับแรก ราคาในนิวยอร์กเพิ่มขึ้น 1.9% แม้ว่าสินค้าอุปโภคบริโภคบางรายการ เช่น ไข่และเนื้อวัว และกิจกรรมสันทนาการจะมีราคาเพิ่มขึ้น แต่ราคาสินค้าอื่นๆ ก็ยังคงลดลง รวมถึงน้ำมันและเสื้อผ้า
ในทางกลับกัน เมืองต่างๆ ในละตินอเมริกาและยุโรปตะวันตกได้ขยับขึ้น เมืองซานติอาโก เด เกเรตาโร(Santiago de Querétaro) และอากวัสกาเลียนเตส(Aguascalientes) ในเม็กซิโกเป็นเมืองที่มีการเลื่อนอันดับขึ้นมากที่สุดในการจัดอันดับ โดยเงินเปโซเป็นหนึ่งในสกุลเงินของตลาดเกิดใหม่ที่แข็งแกร่งที่สุดในปี 2023 โดยได้รับแรงหนุนจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นและการลงทุนขาเข้าที่แข็งแกร่ง โดยทั่วไป เมืองต่างๆ ในยุโรปได้ขยับอันดับขึ้นท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่ยังคงสูง เช่นเดียวกับการแข็งค่าของเงินยูโร และสกุลเงินท้องถิ่นอื่นๆ ในภูมิภาค ส่วนเอเชียการเพิ่มขึ้นของราคาโดยเฉลี่ยค่อนข้างต่ำ เมืองของจีน 4 แห่ง (หนานจิง อู๋ซี ต้าเหลียน และปักกิ่ง) และอีก 2 เมืองของญี่ปุ่น (โอซาก้าและโตเกียว) อยู่ในกลุ่มเมืองที่มีการตกอันดับมากที่สุดในการจัดอันดับในปีนี้
ไทยอันดับ 35 ความสามารถการแข่งขันด้านดิจิทัล

วันที่ 1 ธันวาคม 2566) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทยประจำปี 2566 (World Digital Competitiveness Ranking 2023) โดย International Institute for Management Development (IMD) โดยในปีนี้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 35 จากทั้งหมด 64 ประเทศและเขตเศรษฐกิจ นับว่ามีพัฒนาการเชิงบวก มีอันดับดีขึ้นจากปีก่อนหน้า 5 อันดับ ทั้งนี้ รัฐบาลตั้งเป้าพัฒนาความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทย ให้อยู่ใน 30 อันดับแรก ภายในปี 2569
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การจัดอันดับในครั้งนี้ จัดทำโดย International Institute for Management Development (IMD) เพื่อประเมินความสามารถและความพร้อมของ 64 ประเทศและเขตเศรษฐกิจ เพื่อปรับใช้และสำรวจเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการปฏิรูปภาครัฐ ภาคธุรกิจ และสังคม โดยปัจจัยหลักที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้ มี 3 ด้าน ซึ่งผลการจัดอันดับของไทยเป็นไปดังนี้ 1. ด้านเทคโนโลยี (Technology) โดยไทยอยู่ที่อันดับ 15 (ดีขึ้น 5 อันดับ) 2. ด้านความรู้ (Knowledge) อันดับที่ 41 (ดีขึ้น 4 อันดับ) และ 3. ด้านความพร้อมสำหรับอนาคต (Future Readiness) อันดับที่ 42 (ดีขึ้น 7 อันดับ) ซึ่งไทยมีอันดับที่ดีขึ้น ทั้ง 3 ปัจจัยหลัก ทั้งนี้ รัฐบาลตั้งเป้าพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทย ให้อยู่ใน 30 อันดับแรก ภายในปี 2569 และเดินหน้าก้าวสู่อันดับ 1 ในอาเซียนให้ได้ในอนาคต
“นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มุ่งมั่นส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยี และดิจิทัลมาโดยตลอด สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ต้องการผลักดันไทยให้เป็นรัฐบาลดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้พูดคุยกับทั้งภาครัฐและเอกชนรายใหญ่ของโลกเพื่อขยายความร่วมมือด้านนี้ ตลอดจนได้ให้แนวทางการทำงานให้เกิดการพัฒนาศักยภาพในด้านดิจิทัลให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงให้กระจายความสามารถด้านดิจิทัล เพื่อลดช่องวางทางความรู้ความสามารถด้านนี้ด้วย” นายชัย กล่าว
สำหรับประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิงคโปร์ยังอยู่ในอันดับที่สาม ของประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลมากที่สุดในโลก ส่วนมาเลเซียปีนี้ตกลง 2 อันดับมาอยู่ที่ 33 อินโดนีเซียติดอันดับที่ 45 ฟิลิปปินส์ติดอันดับ 59
สำหรับ 10 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ สิงคโปร์ เดนมาร์ก สวิตเซอร์แลนด์ เกาหลีใต้ สวีเดน ฟินแลนด์ ไต้หวัน และฮ่องกง