ThaiPublica > คอลัมน์ > เดิมพันครั้งสำคัญ หมื่นดิจิทัล vs การเติบโตอย่างยั่งยืนนโยบายรัฐบาลที่น่าสนใจสำหรับปี 2566(ต่อ)

เดิมพันครั้งสำคัญ หมื่นดิจิทัล vs การเติบโตอย่างยั่งยืนนโยบายรัฐบาลที่น่าสนใจสำหรับปี 2566(ต่อ)

14 พฤศจิกายน 2023


รองศาสตราจารย์ ดร.อภิรดา ชิณประทีป คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ต่อจากฉบับวันที่ 5 ตุลาคม 2566 เรื่อง“ลอตเตอรี่แบบใหม่ 6 หลัก กับเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท นโยบายรัฐบาลที่น่าสนใจสำหรับปี 2566 ล่าสุด ว้าวุ่นเลย เราจะใช้ยังไงดี?”

ใจจริงรอบนี้อยากพูดเรื่องอื่นๆ ก่อนหน้านี้เราได้พูดเรื่องภาคเศรษฐกิจต่างๆ ภาพรวมเป็นระยะๆ แล้ว เช่น บทความฉบับวันที่ 8 พฤศจิกายน 2022 ความยั่งยืนของธุรกิจ และประเด็นเศรษฐกิจไตรมาสสุดท้าย 2565 หรือบทความฉบับวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมานโยบายรัฐบาลที่น่าสนใจสำหรับปี 2566? & ปีกระต่ายท่ามกลางสถานการณ์ผันผวนเศรษฐกิจ(ภาค3) อ่านรายละเอียดที่นี่

แต่ปฎิเสธไม่ได้จริงๆ ว่าเรื่องการแจกเงิน 10,000 บาทดิจิทัล Hot มากๆ จึงขออนุญาตพูดถึงเรื่องนี้ต่อจากคราวที่แล้ว ที่เราพูดถึงเรื่องของการใช้เนื่องจากผู้เขียนมองว่าโอกาสของการใช้นโยบายนี้เป็นไปได้สูง แต่อยากจะละไว้ในเรื่องของการจัดหาเงินก่อนซึ่งล่าสุดนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสินได้ให้ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมานี้โดยมีรายละเอียดต่างๆตามภาพด้านล่าง

รูปที่ 1: เงินดิจิทัล 50 ล้านคน เริ่ม พ.ค.ปี’67 (ประกาศ 10 พ.ย. 66) ‘เศรษฐา’ เล็งออก พ.ร.บ.กู้ 5 แสนล้านบาท แจกเงินดิจิทัล 50 ล้านคน เริ่ม พ.ค.ปี’67 ที่มา : https://thaipublica.org/2023/11/srettha-draft-an-act-borrow-500-billion-baht/

เดิมพันครั้งสำคัญ

ตามที่เกริ่นโดยคร่าวจากบทความครั้งที่แล้ว ประเด็นสำคัญ(ตามหลักทฤษฎี) ก่อนการพิจารณานโยบายใดๆ โดยทั่วไป ได้แก่ 1. ที่มาของงบประมาณ (ได้มาจากแหล่งไหนต้องกู้หรือไม่เพียงพอหรือไม่) 2.จะเกิดฟองสบู่หรือไม่ (นักศึกษาที่ติดตามบทความอาจนึกถึง เรื่องของกฎอุปสงค์-อุปทาน หรือ demand-supply เมื่อเกิดความไม่สมดุล) 3. จะถึงผู้รับในระบบเศรษฐกิจฐานรากจริงๆ หรือไม่ และ 4.จะเป็นการเกิดต้นทุนค่าเสียโอกาสหรือทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า opportunity cost ของการนำเงินจำนวนเดียวกันนี้ไปใช้ในนโยบายอื่นๆ หรือในรูปแบบอื่นที่โดยเปรียบเทียบอย่างไร

นอกไปจากนี้ การที่ประชาชนคาดหวังอาจทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องพิจารณาผลกระทบทั้งหมด การใช้ดิจิทัลยังมีประเด็นปลีกย่อยอีกหลายประการที่เราอาจจะละไว้ในโอกาสต่อไป

เดิมพันครั้งสำคัญ เนื่องจากสถานการณ์รุมเร้าหลายด้าน และการพิจารณาเพื่อการใช้ประโยชน์จากการแจกเงินดิจิทัลตามที่เคยหาเสียง ควรจะออกมาในรูปแบบใด ที่จะให้เกิดประโยชน์ได้จริง ในการใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งที่อาจจะเป็นข้อสังเกตมาทุกยุคทุกสมัย สถานการณ์ที่มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ณ สถานการณ์ปัจจุบันเราจำเป็นต้องปรับปรุงให้ทันกับสถานการณ์โลกด้วย ผู้เขียนยอมรับว่า เคยเป็นส่วนหนึ่งที่เสนอและร่างมาตรการในการช่วยเหลือเศรษฐกิจหลากหลายมาตรการ ตลอดจนนโยบายต่างๆ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ความดีที่มีขอให้ทุกท่านที่มีส่วนร่วม อย่างไรก็ดี ขณะนี้สถานการณ์ปัจจุบันเราจำเป็นต้องปรับปรุง ทำอย่างไรให้ประเทศไทยปลอดภัยและยังคงได้รับความนิยมในตลาดต่างประเทศในทุกด้าน ทั้งการส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุน เป็นต้น เรายังมีปัญหาอื่นๆ ได้แก่ ภายในประเทศที่ยังคงมีปัญหาที่เกิดซ้ำ และภายนอกประเทศ ด้านการส่งออก และภาวะเศรษฐกิจ รวมไปถึงสถานการณ์ระหว่างประเทศที่การท่องเที่ยวที่อาจมีแนวโน้มหลุดเป้าเดิม รวมไปจนถึง สถานการณ์ต่างประเทศ โดยเฉพาะเรื่องสงครามอิสราเอล-ฮามาส ที่ยังมีเรื่องตัวประกันคนไทย เอาใจช่วยทุกท่านทุกฝ่ายที่พยายามช่วยตัวประกันอยู่และคนไทยปลอดภัย

การเติบโตอย่างยั่งยืน

ตามบทความครั้งที่แล้วฉบับวันที่ 5 ตุลาคม 2566 ในเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยเรามักจะมีอ้างอิงจากสหประชาชาติ คือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) มีทั้งหมด 17 เป้าหมาย (Goals) ภายใต้หนึ่งเป้าหมายจะประกอบไปด้วยเป้าหมายย่อย ๆ ที่เรียกว่า เป้าประสงค์ (Targets) ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 169 เป้าประสงค์ และพัฒนา ตัวชี้วัด (Indicators) จำนวน 232 ตัวชี้วัด (ทั้งหมด 244 ตัวชี้วัดแต่มีตัวที่ซ้ำ 12 ตัว) เพื่อติดตามความก้าวหน้าของเป้าประสงค์ดังกล่าวและการใช้จ่ายอย่างยั่งยืนจะตรงกับเป้าหมายที่ 12 แผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (SDG 12: Responsible consumption and production) โดยสาระสำคัญโดยย่อคือการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน เพื่อสนองความต้องการที่จำเป็นต่อชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ โดยบริโภคอย่างพอดีและให้เหลือทิ้งน้อยที่สุด การลดผลกระทบเชิงลบทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยไม่กระทบต่อความสามารถในการสนองความต้องการบริโภคสิ่งที่จำเป็นของคนในรุ่นต่อไป โดยการเปลี่ยนแปลงการผลิตและการบริโภคสินค้าและทรัพยากร การจัดการการใช้ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพและวิธีการกำจัดขยะที่เป็นพิษและมลพิษในอุตสาหกรรม ธุรกิจและผู้บริโภคเพื่อก้าวเข้าสู่แผนการบริโภคที่ยั่งยืนภายในปี 2573

ดังนั้นหากจะให้มีการใช้จ่ายอย่างยั่งยืนนั่นหมายความว่าเราอาจจะใช้ประโยชน์จากเงินจำนวนนี้ในการที่สามารถใช้ในกิจกรรมหรือสินค้าที่สามารถพัฒนาต่อยอดในแง่ของการผลิต การพัฒนาทักษะซึ่งเราอาจจะมองถึงในแง่ของทำให้เราเกิดความสุขในระยะยาวหรืออาจจะนำไปใช้ในสิ่งที่ช่วยเหลือทั้งในท้องถิ่นและในประเทศในกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อสังคม ต่อเศรษฐกิจ ต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งข้อสังเกตที่ผู้เขียนอยากให้เล็กน้อยคือจะต้องใช้ภายใน 6 เดือนดังนั้นในช่วงดังกล่าวจะมีความไม่สม่ำเสมอแล้วแต่ความชอบ(preference)แต่ละบุคคล การกระตุ้นนี้อาจมีความคาดเดาค่อนข้างยากขึ้นกว่าเดิม

ในแง่มุมกระแสความอย่างยั่งยืนนี้ต่างประเทศมองอย่างไร

ผู้เขียนได้มีโอกาสรับเชิญในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2566 จากทางหน่วยงานของสำนักงานสหประชาชาติที่กรุงเจนีวา มีประเด็นเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาะภูมิอากาศ (climate change) อันมีส่วนสำคัญกับเรื่องคุณค่าอาหารและเรื่องอื่นๆ ด้วย ซึ่งเร็วๆ นี้เราจะมีการประชุมนานาชาติระหว่างประเทศในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งยังต้องอาศัยการบูรณาการทั้งด้านนโยบาย ภาคเอกชน และประชาสังคม มีกรณีคำถามสำคัญเพื่อที่เราพยายามให้เกิดการ resilience ได้อย่างไร ที่ประชุมให้ความเห็นว่าควรมีการสร้างความหลากหลายหรือdiversify ทั้งพืชพันธุ์และปศุสัตว์ (crops and animals) อย่างไรก็ดีเหล่านี้ยังเป็นคำแนะนำที่แม้ว่าเห็นพ้องร่วมกันหลายฝ่ายซึ่งทางการประชุมยังลงความเห็นว่า ยังไม่สามารถยืนยันหรือ guarantee ผลได้แน่นอน แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่เราแนะนำว่าน่าจะดีที่สุดตอนนี้ (อันนี้ หลายท่านคงนึกถึงกรณีบ้านเรานะคะว่าเรามาถูกทางแล้ว ยินดีด้วยค่ะ(ยิ้ม))

สิ่งต่างๆ ที่เราพยายามสนับสนุนแม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วก็ยังอยู่ระหว่างทางในการหาคำตอบ ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทายสำหรับรัฐบาล และสำหรับทั้งชนบทและเมืองอยู่ในหลายด้านด้วยกัน โดยแต่ละประเทศก็มีความหลากหลายและแตกต่าง ตัวอย่างบางประเทศอาจมีการริเริ่มการแก้ปัญหาจากรัฐบาลระดับท้องถิ่น บางแห่งใช้วิธีเริ่มจากระดับประเทศก่อน และอันที่จริงแล้วปัญหาความเกี่ยวข้องรวมกันหลายอย่างควรพิจารณาร่วมด้วย จึงจะเป็นการแก้ไขที่ยั่งยืนเช่น human rights, good governance, food security and nutrition และอื่นๆ

ในบางประเทศมีความกังวลในเรื่องต้องการรักษาความเป็นท้องถิ่นควบคู่ไปด้วย หลายคนต่อต้านการเปลี่ยนหรือต่างจากเดิม อยากให้คงอยู่แบบวิธีดั้งเดิมมากที่สุดหรือไม่เปลี่ยนแปลงเลย ที่ประชุมมีตัวอย่างจากบางประเทศที่อาจไม่มีปัญหาในเรื่องความแตกต่างนี้ก็ได้ เช่นในตัวอย่างเรื่องอาหาร เช่นประเทศโมซัมบิคมีลักษณะความผสมผสานแบบท้องถิ่นดั้งเดิม และยังมีการรับเอาวัฒนธรรมอินเดีย เอเชีย และยุโรป เข้าด้วยกันเป็นทุนเดิมอยู่แล้วจึงไม่ค่อยมีปัญหา หรือประเทศโมรอคโค กลับมีปัญหาด้านอื่นแตกต่างไป โดยยังมีเรื่องการกระจายอำนาจจากส่วนกลางหรือ decentralized และยังมีเรื่องความช่วยเหลือในด้านนโยบายที่ถูกต้องเหมาะสมซึ่งยังเป็นเรื่องยาก
ท้ายสุดที่ประชุมสรุปว่าอยากเห็นความร่วมมือทุกระดับ(multilevel actions) ในประเทศและระดับระหว่างประเทศ

เมื่อปลายตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสรับเชิญและได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความเห็นในงานสัมมนาแบบเฉพาะกลุ่ม จัดโดยหน่วยงานระหว่างประเทศหลายหน่วยงาน โดยสรุปตอนนี้เรื่องของทักษะด้านโปรแกรม ออนไลน์หรือว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์(ai) ก็ยังถือว่ามีอุปสรรคในหลายประเทศด้วยกัน การเข้าถึงและเรื่องของทักษะความสามารถของประชาชนยังมีความแตกต่างในแต่ละประเทศและยังต้องการการสนับสนุนให้มีการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นซึ่งในที่ประชุมเห็นพ้องกันว่าควรจะต้องร่วมมือกันหลายฝ่าย ประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือเรื่องของทักษะพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นโปรแกรม ความเข้าใจหรือแม้แต่เรื่องของภาษาและความรู้เบื้องต้นที่เป็นพื้นฐานยังมีความจำเป็นก่อนที่เราจะสามารถพัฒนาความเข้าใจในระดับที่สูงขึ้นได้ (ทำให้เทคโนโลยีที่สูงมากสำหรับบางประเทศอาจกลายเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยเมื่อคนตามไม่ทันอยู่ดี) อีกทักษะหนึ่งที่ควรที่จะปลูกฝังคือเรื่องของทักษะ problem-solving ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นว่าโรงเรียนและมหาวิทยาลัยน่าจะช่วยได้ แต่ก็มีวิทยากรหลายท่านมองว่าทักษะนี้ไม่ใช่ระดับการเรียนจะช่วยได้ถ้าพึ่งพิงแต่กรอบหรือยึดติดเดิมๆ ยังมีประเด็นอีกหลายประเด็นที่จะมีการแลกเปลี่ยนกันอีก เดี๋ยวเรามาอัพเดทกันค่ะ ทั้งนี้หลายส่วนตรงกับงานศึกษาผู้เขียนและคณะปี 2560 ได้สรุปในบทความที่เราเคยลงที่นี่แล้ว ท่านผู้อ่านที่สนใจสามารถดูที่อ้างอิงท้ายบทความค่ะ

ผู้เขียนได้มีโอกาสรับเชิญในช่วงเดือนตุลาคม 2566 จากทางหน่วยงานของทางยุโรปร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดที่กรุงเทพฯ แลกเปลี่ยนมุมมองของผู้เชี่ยวชาญซึ่งมีหัวข้อหนึ่งเกี่ยวข้องกับประเด็นความยั่งยืนด้วย โดยหัวข้อนี้จะรวมมากไปกว่าสิ่งแวดล้อม โดยจะมีเรื่องของความเป็นธรรมด้านต่างๆ สิทธิมนุษยชน และอื่นๆ อย่างไรก็ตามที่ประชุมยังมีความกังวลเกี่ยวกับผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก(SME) ซึ่งแม้แต่ทางยุโรปหรือ EU เองก็มีปัญหาเช่นกัน

ประธานที่ประชุมจากหน่วยงานยุโรปกล่าวถึงปีนี้จนถึงปีหน้า ให้ความเห็นว่าแต่ละประเทศยังมีสิ่งที่ควรระวังในเรื่องของความเสี่ยงในด้านต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ เรื่องของการเมือง มุมมองของแต่ประเทศเอง และรวมไปถึงเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศด้วย ทั้งนี้ที่ประชุมได้พูดถึงความคืบหน้าประเด็นสิ่งแวดล้อมที่ทาง EU ได้ขับเคลื่อนแล้วและจะขยับขึ้นเรื่อยๆ ปลายปีนี้อาจจะพอเห็นชัดขึ้น และจะเต็มรูปแบบใน 5-6 ปีข้างหน้า ดังนั้น การส่งออกไปทาง EU อาจจะต้องเตรียมการไว้เผื่อด้วย โดยสำหรับการส่งออก หากเราสามารถเตรียมพร้อมได้ก็อาจจะช่วยให้ได้เปรียบเมื่อเทียบกับประเทศที่มีมลพิษมาก ทั้งนี้มีประเทศสิงคโปร์และประเทศอินโดนีเซียที่กำลังอยู่ในการเตรียมพร้อมด้วย

อย่างไรก็ดีส่วนตัวผู้เขียนมองว่า สิ่งที่เป็นแรงจูงใจจะเป็นสิ่งที่ซับซ้อนพอสมควร ปรกติธุรกิจยิ่งขนาดกลางและเล็ก อาจเน้นความอยู่รอด ดังนั้นเราอาจมองถึงการแสดงให้ผู้ประกอบการรายย่อยเห็นประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับผลประโยชน์ในแง่ในระยะยาวได้อย่างไร ซึ่งแม้แต่ในประเทศยุโรปเอง หรือเช่นในเยอรมัน ก็ยังอาจมีความแตกต่างกันในเรื่องของธุรกิจขนาดใหญ่ และกลาง-เล็ก หรือแม้แต่ธุรกิจขนาดใหญ่ก็ยังมีมุมมองเรื่องของสิ่งแวดล้อมและผลกำไรที่ยังแตกต่างกันไปอีกด้วย เป็นสิ่งที่มีความยากในการผลักดันเรื่องนี้ และยังไม่มีประเทศใดสามารถหาคำตอบที่แน่ชัดได้ในเวลานี้ในมุมมองผู้เขียนนะคะ ซึ่งเดี๋ยวเราทุกท่านอาจจะลองช่วยกันคิดต่อได้ค่ะ

ท้ายสุดนี้ ผู้เขียนมองว่าปี 2566 นี้ยังมีประเด็นปัญหาของเศรษฐกิจโลกไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ยุโรป สงครามยูเครน-รัสเซีย และยังมีสงครามอิสราเอล-ฮามาส ที่ยังต่อเนื่อง หรือแม้แต่ประเทศจีนเองในปัจจุบันยังมีเรื่องของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังมีปัญหาอยู่บ้าง ดังนั้นปีนี้จึงเป็นปีที่ท้าทายสำหรับประเทศไทยที่ยังคงมีปัญหาด้านการส่งออกและอื่นๆ ด้วย ซึ่งโอกาสหน้าเราคงจะได้มาพูดถึงประเด็นที่น่าสนใจทางเศรษฐกิจสำหรับท่านผู้อ่านที่สนใจ โปรดติดตามในคอลัมน์ไทยพับลิก้านี้ ส่วนเรื่องโควิดและลองโควิด ผู้เขียนมองว่าทุกท่านอาจจะระวังอยู่ต่อเนื่องอย่างที่ทุกท่านมีประสบการณ์อยู่แล้วแต่ไม่ตระหนกร่วมด้วยการระมัดระวังเผื่อไว้อีกสักนิดสำหรับผู้ที่เราห่วงใยในผู้สูงอายุที่สุขภาพเปราะบางนี้ต่ออีกสักนิด (เนื่องจากล่าสุด ได้ข้อมูลจากประเทศทางแถบอากาศหนาวเริ่มมีการระวังกันบ้างแล้ว) และหากมีประเด็นเพิ่มเติมอาจจะนำเสนอแลกเปลี่ยนในบทความครั้งต่อไปให้ผู้อ่านที่สนใจทุกท่าน ส่งกำลังใจให้ประเทศไทยในการพัฒนาอย่างยั่งยืนรอบด้านต่อไป

(หมายเหตุ: ทั้งนี้ความเห็นและบทวิเคราะห์ต่างๆ เป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนโดยเป็นความเห็นส่วนตัวเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องตรงกับหน่วยงานที่กล่าวถึงในบทความ หากมีข้อเสนอแนะหรือแลกเปลี่ยนสามารถแนะนำได้ที่ email: [email protected] ขอบคุณยิ่ง)