ThaiPublica > คอลัมน์ > สงกรานต์ 2566 ยังต้องกังวลโควิด-19 แค่ไหน? & ปีกระต่ายท่ามกลางสถานการณ์ผันผวนเศรษฐกิจ(ภาคต่อ)

สงกรานต์ 2566 ยังต้องกังวลโควิด-19 แค่ไหน? & ปีกระต่ายท่ามกลางสถานการณ์ผันผวนเศรษฐกิจ(ภาคต่อ)

4 เมษายน 2023


รองศาสตราจารย์ ดร.อภิรดา ชิณประทีป คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ [email protected]; [email protected]

ขณะนี้ใกล้ช่วงเวลาเทศกาลสงกรานต์แล้ว ดังนั้นขอโอกาสนี้แลกเปลี่ยนความเห็นเล็กๆน้อยๆสั้นๆ เกี่ยวกับความกังวลโควิด-19 โดยใช้ประสบการณ์ต่างประเทศเป็นหลักนะคะ และจากบทความฉบับวันที่ 10 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา พบว่ามีประเด็นที่เกิดขึ้นแล้วในเวลาต่อมา และยังมีอีกบางประเด็นที่น่าสนใจ ผู้เขียนจึงขออนุญาตสรุปให้ฟังด้วยสั้นๆ

1.สงกรานต์ 2566 ยังต้องกังวลโควิด-19 แค่ไหน?

ที่มา: WHO Covid-19 Dashboard, April 1, 2023
รูปที่ 1 และ 2 อัตราการตาย รายสัปดาห์แยกตามภูมิภาค ในโลก และอัตราการตายแยกรายประเทศที่น่าสนใจย้อนหลัง 7 วัน ตามลำดับ

ที่มา: NDTVCoronavirus Tracker, April 1, 2023

รูปที่ 3 new cases, active cases, recoveries และ deaths รายสัปดาห์ย้อนหลัง ของประเทศอินเดีย

ที่มา: -ข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขเผยแพร่สาธารณะ, สืบค้นมีนาคม
2566 -อภิรดา ชิณประทีปและคณะ (forthcoming)
การวิเคราะห์สถานการณ์โควิด-19 และการเสนอแนะมาตรการทางเศรษฐกิจและสังคมสำหรับประเทศไทย ปี 2565-2566 สนับสนุนโดย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

รูปที่ 4 และ 5 สถานการณ์การติดโควิด-19 หลังการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวแบบใหม่ ตั้งแต่ต้นปี 2566 (แยกรายจังหวัดที่มีผู้ป่วยมากที่สุด 5 อันดับแรกและอายุผู้ป่วย)เทียบกับสถานการณ์ในประเทศจีน ช่วงเดียวกัน & การเสียชีวิตภายในประเทศ เปรียบเทียบย้อนหลัง และรายจังหวัด

จากสถานการณ์โควิด-19 ในโลกโดยทั่วไปดีขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ดีล่าสุดในวันที่ 1 เมษายน 2566 เมื่อตรวจสอบข้อมูลยังพบว่า หลายประเทศยังมีอัตราผู้ติดเชื้อค่อนข้างสูง รวมถึงยังมีอัตราการตายด้วย ดังแสดงในรูปที่ 1 และ 2 แสดงอัตราการตายรายสัปดาห์แยกตามภูมิภาคในโลก และอัตราการตายย้อนหลัง 7 วัน แยกรายประเทศที่น่าสนใจ เช่น ในสหรัฐอเมริกา รัสเซีย เกาหลี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และเยอรมัน เป็นต้น ซึ่งจากข้อมูลของ WHO หรือองค์การอนามัยโลก ยังมีคนตายวันในประเทศอเมริกาในช่วง 7 วันที่ผ่านมาถึง 2,084 คน เป็นต้น โดยประเทศในโลกส่วนใหญ่ก็ยังมีอยู่มากน้อยลดหลั่นกันไปในแต่ละสัปดาห์

ที่น่าสนใจคือประเทศนิวซีแลนด์ที่เริ่มสูงขึ้น และประเทศอินเดียซึ่งระยะใกล้ ๆ ที่ผ่านมานี้ได้มีเทศกาลประเพณี และจากข้อมูลล่าสุดที่เผยแพร่โดยประเทศอินเดียเอง ตามรูปที่ 3 แสดงถึงผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วภายในเดือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีอัตราการตายที่เพิ่มขึ้นด้วย ข่าวดีคือมีอัตราการรักษาหายรวดเร็ว อย่างไรก็ดี ล่าสุด ตามข่าวทางรัฐบาลอินเดียได้มีการเตรียมการในกรณีที่การติดเชื้อเพิ่มขึ้นสูงด้วยในกรณีดังกล่าว ผู้เขียนได้ให้อ้างอิงท้ายบทความนี้ด้วยแล้ว

สำหรับประเทศไทย หลังจากที่มีการเปิดรับนักท่องเที่ยว ซึ่งพวกเราคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาคท่องเที่ยว เป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญ และเป็นกระดูกสันหลังหนึ่งของประเทศไทยในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ และผู้เขียนก็ได้นำเสนอชื่นชมในบทความก่อน ๆ อย่างไรก็ดีขออนุญาตยกตัวอย่างเพียงการเปิดการท่องเที่ยวครั้งล่าสุด ในกรณีนี้ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันก็พบว่า ยังมีแนวโน้มผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ในประเทศไทยด้วย ถึงแม้ว่าอาจจะเป็นจำนวนที่ไม่มาก เพียงแต่ยังวางใจไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังแสดงในรูป 4 และ 5 นอกจากนั้นอัตราผู้เสียชีวิตก็ยังอยู่ในอัตราที่ยังวางใจไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกัน ในกลุ่มผู้ที่ยังเปราะบางทางสุขภาพหรือผู้สูงอายุอาจจะต้องมีความระมัดระวังต่อเนื่องอยู่ก่อนในระยะเวลาหนึ่ง

สิ่งที่เราเรียนรู้ได้จากหลายปีที่ผ่านมาและผู้เขียนก็เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกท่านน่าจะมีประสบการณ์ในการระวังตัวเป็นอย่างดีแล้ว อย่างไรก็ดี อยากให้เป็นความระมัดระวัง ยังไม่วางใจร้อยเปอร์เซ็นต์ก่อนในระยะแรก ตามข้อมูลที่มีว่าโควิดในโลกยังมีอยู่ไม่หายไป และยังมีกลายพันธุ์อยู่เรื่อย ๆ โดยความต่างของรอบนี้คือโรคได้ทุเลาลง รวมถึงมีอัตราการฉีดวัคซีนที่มากขึ้นแล้วในประเทศเรา รวมถึงภูมิคุ้มกันได้ระดับหนึ่งประกอบกับประสบการณ์ของทุกท่านในระยะเวลาที่ผ่านมา

ในรอบนี้ รวมถึงเทศกาลสนุกสนานและหยุดยาวที่ใกล้จะมาถึง ตามความเห็นผู้เขียนสำหรับการเตรียมตัวส่วนบุคคลอาจมีการเว้นระยะห่าง และใส่หน้ากาก ตามความเหมาะสมแล้วแต่สถานการณ์ และตามการพิจารณาของแต่ละบุคคลแต่ละท่านได้ ทั้งนี้ ในส่วนของวัคซีนนั้น หากมีการฉีดวัคซีนแล้ว เชื่อว่าน่าจะช่วยลดความรุนแรงของโรคโควิดไปได้ ตามที่การแพทย์สากลและทางสาธารณสุขไทย ทางคุณหมอเก่ง ๆ ทุกท่านได้ให้ข้อมูลเอาไว้

ในส่วนของเข็มกระตุ้น หรือสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวบางโรคอยู่ก่อนหน้า (ความเห็นส่วนตัวเท่านั้นอาจลองปรึกษาคุณหมอหลาย ๆ ท่านได้ต่อไป) อาจจะต้องใช้ความระมัดระวัง และชั่งน้ำหนักด้วยเนื่องจากมีข่าวจากต่างประเทศในเรื่องของผลข้างเคียงของวัคซีนเช่นเดียวกัน (ดังที่เคยเขียนในบทความ ตั้งแต่ปีที่แล้วเป็นระยะ ๆ ) ในรายละเอียดคงจะขอละเอาไว้ให้ท่านผู้อ่านสามารถปรึกษาแพทย์ใกล้บ้าน ก่อนที่จะพิจารณาต่อไปได้ ดังนั้นผู้เขียน จึงอยากให้มุมมองส่วนตัวว่า ในกรณีที่ทุกท่านได้ฉีดวัคซีนหลายเข็มเป็นจำนวนมากแล้วในระยะแรกนี้อาจจะเน้นในเรื่องของระยะห่าง การล้างมือและหน้ากากเป็นหลักได้ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลที่คนหนาแน่น

ในส่วนของสายพันธุ์ใหม่ เช่น ในปัจจุบันนี้มีข่าวในประเทศสหรัฐอเมริกาเช่นสายพันธุ์ย่อย XBB.1.5, BQ.1.1 and BQ.1 เป็นต้น หรือในประเทศอินเดียเอง ที่มี XBB.1.16 ซึ่งในความเป็นจริงทุกครั้งที่มีการระบาดมาก เป็นไปได้ว่าตามธรรมชาติความเก่งของไวรัสก็จะมีสายพันธุ์ใหม่ๆ โดยล่าสุดเท่าที่ผู้เขียนทราบมา ยังไม่ได้มีสถานการณ์ขั้นรุนแรงที่น่าเป็นกังวลจนเกินไป ดังนั้นเชื่อว่าด้วยประสบการณ์ทุกท่านที่ผ่านมาในหลายๆปีน่าจะสามารถระมัดระวังตัวได้และน่าจะผ่านเทศกาลหยุดยาวนี้ได้

อยากให้กำลังใจทุกท่านว่าหากมีการระมัดระวังประกอบควบคู่เผื่อเอาไว้ด้วย ก็เชื่อแน่ว่าประเทศไทยน่าจะสามารถฟื้นฟูทุกสาขาเศรษฐกิจและสถานการณ์ภาพรวมได้ อย่างค่อยเป็นค่อยไป ขอส่งกำลังใจทุกท่าน

2. ปีกระต่ายท่ามกลางสถานการณ์ผันผวนเศรษฐกิจ(ภาคต่อ)

จากเมื่อฉบับวันที่ 10 มกราคม 2566 เราได้พูดถึง ประเด็น ที่น่าจับตามองสำหรับ ปี 2566 อยู่ 5 ประเด็นได้แก่ ประเด็นแรก สถานการณ์เศรษฐกิจโลก (รวมถึง สงครามยูเครน, ระดับราคาสินค้า เงินเฟ้อ ดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน การส่งออก นำเข้า ดุลการค้าและดุลการชำระเงิน รัสเซีย และ ประเด็นอื่นที่น่าสนใจ) ประเด็นที่ 2 สาขาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบ ประเด็นที่ 3 สภาวะเศรษฐกิจไทย ประเด็นที่ 4 แนวโน้มการพัฒนาด้านทรัพยากรบุคคลและทักษะยุคใหม่เพื่อให้มีความยั่งยืนและแข่งขันได้ในสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจ และประเด็นที่ 5 ประเด็นสุดท้ายความกังวลด้านโรคระบาดหรือโควิดที่อาจมีเรื่องของการกลายพันธุ์และการระบาดเพิ่มเติมจากการเปิดประเทศและการเคลื่อนย้ายประชาชนครั้งใหม่

ความคืบหน้าของประเด็นดังกล่าว

ในประเด็นของสงครามยูเครนรัสเซีย ยังอยู่ในกรอบที่เราวิเคราะห์ไว้ตั้งแต่เดือนมกราคม แล้วความเป็นจริงได้วิเคราะห์มาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของสงคราม ในเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว อย่างไรก็ดี น่าจับตามอง การดำเนินนโยบายของจีน และ EU ซึ่งอาจจะเป็นตัวเปลี่ยนเกมได้

ในส่วนของสาขาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบก็ยังคงเป็นไปตามที่เราวิเคราะห์กันในฉบับวันที่ 10 มกราคม โดยผลกระทบจากธุรกิจสาขาไอทีของสหรัฐฯ ได้มีผลกระทบต่อเนื่องมายังสาขาการเงินโดยที่มีข่าว Silicon Valley Bank หรือ SVB และต่อเนื่องไปยัง Credit Suisse ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ด้วย ในส่วนนี้ผู้เขียน ยังเชื่อว่าผลกระทบต่อประเทศไทยค่อนข้างน้อยในระยะแรก ในส่วนเศรษฐกิจของอเมริกา ผู้เขียนเชื่อว่ายังไม่น่ากังวลจนเกินไปด้วยการดำเนินนโยบายแบบใหม่ของทางสหรัฐฯ เอง แต่เราอาจจะต้องติดตามต่อไป เนื่องจากการ layoff สาขาไอทียังไม่จบ นอกจากนั้นในมุมมองของผู้เขียนเอง เชื่อว่า ในส่วนของยุโรป เรื่องราวอาจจะแตกต่างกันในกรณีของยุโรปซึ่งยังมีสภาพเศรษฐกิจที่ค่อนข้างเปราะบางสะสมต่อเนื่อง ตามที่ทุกท่านจำได้ตั้งแต่สมัยวิกฤติกรีซ ต่อเนื่องมายัง Brexit และยังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์โควิด ยังมีเรื่องของสถานการณ์ผู้อพยพ ซึ่งจริงๆ เรื่องของผู้อพยพผู้เขียนได้เคยคุยเบา ๆ แลกเปลี่ยนกับพิธีกรสาวเก่งตั้งแต่ปี 2560 แล้ว ซึ่งจะได้ลงไว้ในส่วนอ้างอิงด้วย

ในส่วนของสภาวะเศรษฐกิจไทย มีความคืบหน้าคือสถานการณ์ภาพรวมยังคงมีแนวโน้มค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับเพียงแต่จะต้องระวังเรื่องผลกระทบจากเศรษฐกิจภายนอกประเทศ ที่อาจมีผลต่อการส่งออก ดุลการค้า ดุลการชำระเงิน และอื่นๆ ได้ ยังมีเรื่องของการแข่งขันและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการด้วย และสถานการณ์ภายในประเทศรวมถึงรายย่อยและกลาง

ทั้งนี้ยังมีอีก 3 ประเด็นที่น่าสนใจ ได้แก่

ประเด็นเรื่อง ปัญหาเรื่องผู้อพยพในยุโรปเชื่อมโยงไปสู่เรื่องสังคมผู้สูงอายุ ที่เราอาจจะต้องมีนโยบายหรือมาตรการที่เหมาะสม ในการจัดการ ในส่วนนี้ผู้เขียนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับพิธีกรสาวเก่ง เมื่อ 1-2 พฤษภาคม 2560 และได้ใส่ไว้ในอ้างอิงบทความฉบับนี้ด้วย เผื่อท่านผู้อ่านสนใจ ฟังแลกเปลี่ยนเบา ๆ

และอีกประเด็นคือเรื่องของสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลทั้งในภาคการผลิต ชีวิตความเป็นอยู่และอื่น ๆ อีกมากมาย ในประเด็นนี้ไว้โอกาสต่อไป ผู้เขียนคงจะได้นำเสนอเพิ่มเติม ความเห็นส่วนตัวเท่านั้นโดยสรุปมาตรการที่น่าสนใจสามารถแบ่งได้เป็นสองประเภทคือ แบบ เข้มงวดบังคับลงโทษ(penalty) และแบบใช้มาตรการแรงจูงใจ(voluntary) ทั้งนี้อาจจะไม่จำเป็นต้องให้ระดับเป็นศูนย์หรือหมดไปทั้งหมด แต่อยู่ในระดับนี้รับได้ และยังสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระยะหลัก ๆ คือระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง และระยะยาว โดยมีความร่วมมือหลายภาคส่วนที่จำเป็น ในระยะแรกนี้ผู้เขียนเห็นว่า เราอาจจะใช้เน้นที่มาตรการแรงจูงใจก่อน น่าจะเพียงพอระดับหนึ่ง โดยจำเป็นและควรจะมีมาตรการระยะเร่งด่วนควบคู่ ผู้เขียนขอให้กำลังใจทุกท่านในการพยายามแก้ไขปัญหาต่อไป และจะได้แลกเปลี่ยนความเห็นในโอกาสถัดไป

ประเด็นสุดท้ายคือเรื่องของ การสร้างความสามารถในการแข่งขันและส่งเสริมการได้รายได้เข้าสู่ประเทศไทย สาขาต่างๆ ในส่วนนี้คงจะแลกเปลี่ยนความเห็นเล็กๆ น้อยๆ ในโอกาสหน้าถัด ๆ ไปด้วย

ท้ายสุดนี้ สุขสันต์วันหยุดยาว และเทศกาลแห่งความสนุกสนานกับทุกท่านและครอบครัวล่วงหน้า แม้ว่าอาจจะเพิ่มความตระหนักแต่ไม่ตระหนกร่วมด้วยการระมัดระวังเผื่อไว้อีกสักนิดในระยะสั้นๆ นี้ คำพูดที่ผู้เขียนชอบมาก Hope for the best and prepare for the worst เตือนตัวเองในทุกการเสนอการจัดการรอบต่าง ๆ ที่ผ่านมา ซึ่งในรอบนี้ เชื่อว่าน่าจะผ่านไปได้ อย่างสวยงาม และหากมีประเด็นเพิ่มเติมอาจจะนำเสนอแลกเปลี่ยนในบทความครั้งต่อไปให้ผู้อ่านที่สนใจทุกท่าน ส่งกำลังใจให้ประเทศไทยในการพัฒนาอย่างยั่งยืนรอบด้านต่อไป

สุดท้ายนี้โดยหวังว่าบทความนี้จะส่งผ่านแง่คิดบางประการในโอกาสนี้ และทุกท่านผู้อ่านและครอบครัวปลอดภัย มีพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง เชื่อว่าสถานการณ์กำลังค่อยๆ ดีขึ้น

(หมายเหตุ: ทั้งนี้ความเห็นและบทวิเคราะห์ต่างๆ เป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนโดยเป็นความเห็นส่วนตัวเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องตรงกับหน่วยงานที่กล่าวถึงในบทความ หากมีข้อเสนอแนะหรือแลกเปลี่ยนสามารถแนะนำได้ที่ email: [email protected] ขอบคุณยิ่ง)

อ้างอิง
อภิรดา ชิณประทีป “ท่ามกลางสถานการณ์ผันผวนเศรษฐกิจปีกระต่าย 2566 ประเด็นอะไรที่ควรติดตามบ้าง?” สำนักข่าวไทยพับลิก้าวันที่ 10 มกราคม 2023

อภิรดา ชิณประทีปและคณะ (forthcoming) การวิเคราะห์สถานการณ์โควิด-19 และการเสนอแนะมาตรการทางเศรษฐกิจและสังคมสำหรับประเทศไทย ปี 2565-2566 สนับสนุนโดย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

อภิรดา ชิณประทีป “ผลกระทบโควิด กับเศรษฐกิจ ทองคำ น้ำมัน ตลาดหุ้น” หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 29 มิ.ย. 2564

อภิรดา ชิณประทีป “โควิด-19 (Covid-19) ต่อเศรษฐกิจไทย มีโอกาสทางเศรษฐกิจบ้างไหม?” หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 11 พฤษภาคม 2564

รายการช่วยคิดช่วยทำ 19 กันยายน 2560 ครอบครัวข่าวเช้า ไทยทีวีสีช่อง3
รายการช่วยคิดช่วยทำ 1 พฤษภาคม 2560 (ตอน 1)เกี่ยวกับผู้อพยพในยุโรปและการกีดกันการค้าของอเมริกา ไทยทีวีสีช่อง3

รายการช่วยคิดช่วยทำ (ตอน 2) เกี่ยวกับแนวโน้ม aging ของประชากรและแลกเปลี่ยนแนวความคิดข้อเสนอเพื่อการจัดการ ไทยทีวีสีช่อง3

China stats ‘under-represent’ true impact of Covid outbreak: WHO

Another COVID Wave? India Ups Its Guard Amid Rising Cases | Vantage with Palki Sharma on Mar 31, 2023 https://www.youtube.com/watch?v=D2c7DePD0vA