ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เชื่อมโลกให้ไทยแล่น > กบอ.ตั้งรับแผนแก้ภัยแล้งพื้นที่ EEC วงเงินรวมกว่า 5.2 หมื่นล้านบาท

กบอ.ตั้งรับแผนแก้ภัยแล้งพื้นที่ EEC วงเงินรวมกว่า 5.2 หมื่นล้านบาท

23 มกราคม 2020


เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563 ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ครั้งที่ 1/2563
ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 4 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

กบอ.เห็นชอบแผนแก้ภัยแล้งใน EEC ทั้งระยะสั้น – ยาว วงเงินรวมกว่า 5.2 หมื่นล้านบาท

การประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563 โดยมี ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานที่ประชุม กบอ.ได้รับทราบ และพิจารณาความก้าวหน้าการดำเนินงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้

1.แผนบริหารจัดการน้ำใน อีอีซี : แก้ระยะสั้น วางแผนระยะยาวให้ยั่งยืน

ที่ประชุม กบอ. รับทราบ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้เสนอโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ และการจัดการทรัพยากรน้ำรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ปี 2563 – 2580) ต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ในการประชุมครั้งที่ 3/2562 วันที่ 20 ธันวาคม 2562 ซึ่ง กนช. ได้มีมติเห็นชอบ และจะได้เสนอต่อ ครม. ต่อไป โดยมีรายละเอียดสำคัญ ดังนี้

มาตรการระยะสั้น เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งปี 2563

การประชุมร่วมกันระหว่าง สทนช. สกพอ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้สรุปสถานการณ์น้ำในจังหวัดระยองและฉะเชิงเทรา มีใช้เพียงพอ ส่วนจังหวัดชลบุรี มีความต้องการน้ำเพิ่มเล็กน้อย (ประมาณ 5 – 6 ล้านลูกบาศก์เมตร) แต่ยังคงต้องเฝ้าระวัง และทำงานกันอย่างใกล้ชิด เพื่อลดความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำ โดยเตรียมโครงการเพิ่มเติม ดังนี้

1.ให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดทำแผนใช้น้ำ ลดลงร้อยละ 10 ช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน 2563

2.วางมาตรการเพิ่มปริมาณน้ำ หากฝนตกล่าช้าจากปกติเดือนมิถุนายน สทนช. ได้วางโครงการเพื่อลดความเสี่ยง ดังนี้

    1. โครงการสูบน้ำกลับคลองสะพาน มายังอ่างเก็บน้ำประแสร์ คาดว่าจะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 20 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ EASTWATER ประสานกับกรมชลประทาน เร่งดำเนินการ
    2.โครงการสูบน้ำคลองหลวง ณ จุดพานทองเข้ากับท่อส่งน้ำคลองพระองค์ไชยานุชิต – บางพระ คาดว่าจะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 70 ล้านลูกบาศก์เมตร โดย EASTWATER ประสานกับกรมชลประทาน เร่งดำเนินการ
    3.โครงการผันน้ำอ่างเก็บน้ำประแกด (ลุ่มน้ำวังโตนด) จ.จันทบุรี มายังอ่างเก็บน้ำประแสร์ คาดว่าจะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 70 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยต้องเจรจาค่าน้ำกับคณะกรรมการลุ่มน้ำคลองวังโตนด หากดำเนินการเสร็จทั้ง 3 โครงการ จะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 160 ล้านลูกบาศก์เมตร

การบริหารจัดการน้ำระยะยาวให้เพียงพออย่างดี เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

สทนช. ได้จัดทำแผนบริหารจัดการน้ำของปี 2563 – 2580 ภายใต้โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและ การจัดการทรัพยากรน้ำรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ปี 2563 – 2580)
1. การพัฒนาและจัดการน้ำต้นทุน วงเงิน 52,797 ล้านบาท

    1.1 แผนการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุน (Supply Side Management) 38 โครงการ วงเงิน 50,691.10 ล้านบาท เช่น สร้างอ่างเก็บน้ำ คลองวังโตนด อ่างเก็บน้ำ คลองโพล้ และพัฒนาระบบสูบกลับคลองสะพาน – อ่างเก็บน้ำประแสร์ เป็นต้น
    1.2 แผนการบริหารจัดการด้านความต้องการใช้น้ำ (Demand Side Management) 9 โครงการ วงเงิน 1,927.15 ล้านบาท เช่น แผนการบริหารจัดการลดน้ำสูญเสีย การประปาส่วนภูมิภาค สาขาต่าง ๆ ปรับระบบการเพาะปลูก เป็นต้น
    1.3 มาตรการอื่นๆ การศึกษาจัดทำฐานข้อมูลพัฒนาน้ำบาดาล 3 โครงการ วงเงิน 178.99 ล้านบาท

2. การผลิตน้ำจืดจากทะเล (Desalination) เตรียมพิจารณาการลงทุนในอนาคต

ทั้งนี้ ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนในพื้นที่ อีอีซี คือ จะมีความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำ มีน้ำต้นทุนเพียงพอต่อความต้องการทุกภาคส่วนจนถึงปี 2580 สามารถป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน ที่อยู่อาศัย พื้นที่เศรษฐกิจแหล่งท่องเที่ยว และสถานประกอบการต่างๆ มีน้ำคุณภาพดีที่ส่งผลดีต่อสุขภาพสุขภาพประชาชน และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจด้านการผลิต และการบริหาร

2.โครงการจัดหาพลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) ในเขตอีอีซี

ที่ประชุม กบอ. เห็นชอบ หลักการตามที่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)นำเสนอ โดยมีแนวทางดังนี้

1.ศึกษา พัฒนา ลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานหมุนเวียนรูปแบบอื่น ๆ และระบบกักเก็บพลังงาน ในพื้นที่อีอีซี และส่วนขยาย ให้เป็นสังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อบรรลุเป้าหมายสัดส่วนเชื้อเพลิงฟอสซิล ต่อพลังงานแสงอาทิตย์ ผลิตไฟฟ้าเป็น 70 : 30

2.เร่งรัดการลงทุน ร่วมกับภาคเอกชน ให้มีการผสมผสานระหว่างการเกษตร และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์ จำหน่ายในพื้นที่อีอีซี

3.สนับสนุน องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ออกแบบระบบ วางแผน สร้างกลไกคาร์บอนเครดิต สู่ระบบการซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และระบบซื้อขายในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจระหว่างผู้ประกอบการในพื้นที่ มุ่งสู่การเป็น Zero Carbon City และพื้นที่สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment)

4.ศึกษาความเหมาะสม และพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน ร่วมกับระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ช่วยรักษาเสถียรภาพ และบริหารความต้องการไฟฟ้าสูงสุดช่วงเวลากลางคืน