ThaiPublica > คนในข่าว > “จตุพร พรหมพันธุ์” … อย่าให้การต่อสู้ 30 ปีสูญเปล่า ขอเป็นนักเล่าความจริง-รอวันประชาชนยกมาตรฐานตัวเอง

“จตุพร พรหมพันธุ์” … อย่าให้การต่อสู้ 30 ปีสูญเปล่า ขอเป็นนักเล่าความจริง-รอวันประชาชนยกมาตรฐานตัวเอง

23 พฤศจิกายน 2023


“จตุพร พรหมพันธุ์” อดีตแกนนำ นปช. เปิดใจเหตุตัดขาด “ทักษิณ ชินวัตร” พร้อมสรุปบทเรียนการเมืองภาคประชาชน 30 ปีต้องไม่สูญเปล่า ยอมรับที่ผ่านมาเป็นได้แค่องค์ประกอบของผู้มีอำนาจที่พลัดหลงเข้าไปในดงละคร เรียกร้องประชาชนสร้างมาตรฐานการเมืองใหม่ ไม่ให้โอกาสนักการเมือง “ตระบัดสัตย์”

ถ้านับนักวิพากษ์วิจารณ์การเมืองที่โดดเด่นในช่วงหลังการเลือกตั้งปี 2566 ที่ผ่านมา “จตุพร พรหมพันธุ์” เป็นอีกชื่อหนึ่งที่ติดอันดับความร้อนแรง และมีการวิเคราะห์แบบตรงไปตรงมาที่ต้องหันมาฟังมากที่สุดคนหนึ่ง

อาจจะด้วยสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา “จตุพร” ถือเป็นหนึ่งในคู่ขัดแย้งในฐานะคนเสื้อแดง หรือประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ออกมาต่อต้านรัฐประหารปี 2549 กระทั่งรัฐประหารปี 2557 ด้วยจุดยืนประชาธิปไตยมาอย่างต่อเนื่อง

หากนับย้อนกลับไปในช่วงเป็นนักศึกษา “จตุพร” เป็นนักกิจกรรมของมหาวิทยาลัยรามคำแหงที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหาร พลเอก สุจินดา คราประยูร ในปี 2534 และผู้นำนักศึกษาช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535

การต่อสู้ของ “จตุพร” จึงยืนบนหลักการประชาธิปไตยมาโดยตลอด แม้ว่าในอีกบทบาทหนึ่งคือคนการเมืองที่ใกล้ชิด “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรีนับตั้งแต่เข้าร่วมงานการเมืองในพรรคพลังธรรม กระทั่งเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยในปี 2554 จนเกิดรัฐประหารปี 2557

กระทั่งปี 2565 “จตุพร” ประกาศสิ้นความอดทน จบความสัมพันธ์ 30 ปีกับ “ทักษิณ ชินวัตร” หันหลังให้พรรคเพื่อไทย และเริ่มจัดตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง คณะหลอมรวมประชาชนร่วมกับ นิติธร ล้ำเหลือ ออกมาวิเคราะห์การเมือง และวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา และทักษิณ ชินวัตร อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ “จตุพร” เองถูกดำเนินคดีและจำคุกมาแล้ว 5 ครั้ง และมีคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาอีก คือ คดีบุกบ้านสี่เสาเทเวศร์ เมื่อปี 2550 ที่แม้ศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก 1 ปี 12 เดือน แต่คดียังไม่ถึงที่สุด

อย่างไรก็ตาม หลังการเลือกตั้งปี 2566 เมื่อพรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง “จตุพร” ถูกจับตาในฐานะนักวิเคราะห์การเมืองที่ตรงไปตรงมา โดยเฉพาะการออกมาวิจารณ์การเดินทางกลับของ “ทักษิณ ชินวัตร” และการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า มีโอกาสพูดคุยกับ “จตุพร พรหมพันธุ์” อดีตแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ เพื่อบันทึกหมายเหตุประเทศไทยภาคประชาชนกับเรื่องราวในช่วงที่ผ่านมา

การพูดคุยเกิดขึ้นในช่วงหลังการทำงานภายใต้รัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ได้เริ่มทำงานไปแล้วเกือบเดือน เมื่อพรรคเพื่อไทยรวมกับ 11 พรรคการเมือง และตั้งรัฐบาลได้สำเร็จโดยได้จับมือกับ 2 ลุง พรรครวมไทยสร้างชาติของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ พรรคพลังประชารัฐ จนได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภาเกินครึ่ง

รวมไปถึงการเดินทางกลับประเทศไทยของ “ทักษิณ ชินวัตร” กับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจในฐานะนักโทษอายุ 70 ปีและมีโรคประจำตัวรุมเร้า

“จตุพร พรหมพันธุ์” อดีตแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

“สะสมความเห็นต่าง” ปมตัดขาด “ทักษิณ ชินวัตร”

ประเด็นความขัดแย้งและการตัดขาดความสัมพันธ์กับ “ทักษิณ ชินวัตร” ถูกหยิบขึ้นมาพูดคุยเป็นเรื่องแรก โดยหากนับความสัมพันธ์ที่ยาวนานกว่า 30 ปีและการต่อสู้ของ “จตุพร” ที่ผ่านมากว่าครึ่งทางเดินคู่ขนานไปกับเส้นทางการเมืองของ “ทักษิณ ชินวัตร” เช่นกัน

“กรณีผมกับอดีตนายกฯ ทักษิณ ผมพูดชัดมาตั้งแต่ต้นว่าผมมาอยู่กับเขามาครึ่งชีวิต ผมอายุ 58 ปี ผมเจออดีตนายกฯ ทักษิณปี 2537 และอยู่ทำงานกันมา 29 ปี ครึ่งของชีวิตผม เพราะฉะนั้น มันมีเรื่องราวมากมาย แต่ว่าผมเป็นคนที่ประเภทที่ไม่อินังขังขอบ เพราะว่าการที่ร่วมต่อสู้กันทุกรูปแบบ มีคนตาย มีคนเจ็บ มีการสูญสิ้นอิสรภาพเป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้น หลายๆ เรื่องหลายๆ ราว มันก็ต้องกล้ำกลืน กลืนเลือดกันเอาไว้ หยิกเล็บเจ็บเนื้อ แล้วผมเองเมื่ออยู่กับใคร การจะเดินออกเป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก แม้ว่าจะมีความเห็นต่างกันมากมาย แต่ก็ผูกพัน ทำงานกันมานาน”

“จตุพร” เล่าว่า การสะสมความเห็นที่แตกต่างกัน อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่ง โดยที่ผ่านมามีความเห็นแตกต่างกับอดีตนายกฯ ทักษิณในหลายเรื่อง และได้วิพากษ์วิจารณ์แบบตรงไปตรงมาทุกครั้ง เช่น ไม่เห็นด้วยกับการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมแบบสุดซอย แม้จะเห็นแตกต่างกันแต่ยังมีจุดร่วม จึงทำงานอดีตนายกฯ ทักษิณมาอย่างต่อเนื่องจนถึงจุดแตกหัก

“เรื่องมันสะสมมันเหมือนฟางบนหลังลาที่บรรทุกเต็มร้อย แค่ฟางเส้นเดียวเพิ่มขึ้นบนหลังลามันก็หัก ผมคิดว่าอารมณ์มันมาสุดแล้ว มันสะสมปัญหามาเรื่อยๆ”

ประเด็นที่ “จตุพร” มักจะหยิบขึ้นมาอธิบายกับสื่อหลายครั้ง คือการชุมนุมของคนเสื้อแดงบริเวณถนนอักษะ ก่อนจะมีการรัฐประหารปี 2557 ซึ่งมีหลายปัจจัยที่บ่งบอกว่าอาจจะมีการดีลระหว่างอดีตนายกฯ ทักษิณกับฝ่ายทหารเพื่อเปิดทางให้เกิดรัฐประหารขึ้น แต่ในประเด็นดังกล่าว เพื่อนแกนนำ นปช. หลายคน เช่น นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ หรืออาจารย์ธิดา ถาวรเศรษฐ อาจจะเห็นในประเด็นนี้อกแตกต่างออกไป

แต่สาเหตุที่มีคนเสื้อแดงมาร่วมชุมนุมที่ถนนอักษะไม่มากนั้น “จตุพร” เชื่อว่าเพราะมีคนไม่ได้ทำตามหน้าที่ตามที่ตกลงกันไว้ เนื่องจากการชุมนุมมีการแบ่งงานกันทำ และเขาในฐานะประธาน นปช. รับผิดชอบดูแลเวทีและการชุมนุม

ส่วนอดีตฯ นายกรัฐมนตรีรับผิดชอบเรื่องคนมาชุมนุม แต่ในวันนั้นก่อนยึดอำนาจมีคนมาร่วมแค่ 300 คนจากเดิมมีคนมาร่วมชุมนุม 30,000 คน จนทำให้เขาและแกนนำ นปช. ต้องไปเจรจากับพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้จะรู้ว่าพลเอก ประยุทธ์จะยึดอำนาจในที่สุด แต่เพื่อยื้อเวลาให้นานที่สุด ก็เข้าไปเจรจา จนถูกควบคุมตัวหลังการรัฐประหาร

“สิ่งแรกที่ผมทำหลังพ้นจากถูกควบคุมตัวของทหาร ผมโวยเรื่องนี้ว่าไปทำอย่างนี้ได้อย่างไร ทำเหมือนเปิดทางให้มีการรัฐประหาร แต่ก็ไม่มีการยอมรับ ผมก็ต้องไปสืบเสาะหาแหล่งข้อมูลต่างๆ ก็รู้ว่า ท้ายที่สุดก็คือการสมคบคิดกัน และเราก็เพียงแค่ให้ครบองค์ประกอบเท่านั้น และวันนี้ก็เป็นคำตอบอย่างชัดเจนอยู่แล้ว เพราะคนที่โหวตให้กับคุณเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี คือสมาชิกวุฒิสภาสายของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งสิ้นนะครับ”

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ทำให้ “จตุพร” หมดความอดทนและประกาศตัดความสัมพันธ์กับอดีตนายกฯ ทักษิณ คือ ศึกเลือกตั้งนายกฯ อบจ.เชียงใหม่ ในปี 2565 เมื่อพรรคเพื่อไทยเปลี่ยนตัวผู้ลงสมัคร ส่งนายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร ลงแทนนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ ทำให้ อดีตนายกฯ อบจ. นายบุญเลิศ ต้องลงแข่งในนามอิสระ และ “จตุพร” ประกาศช่วยนายบุญเลิศหาเสียงด้วยความสัมพันธ์ส่วนตัว จึงเท่ากับประกาศตัวเป็นคู่แข่งกับพรรคเพื่อไทย

“จตุพร” บอกว่าเขาเห็นต่างจากอดีตนายกฯ ทักษิณกรณีเชียงใหม่ และได้ประกาศเข้าไปช่วยนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ หาเสียง เพราะเห็นว่าบุญเลิศเป็นคนเสื้อแดง และครอบครัวก็ออกมารณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ตามคำสั่งพรรคเพื่อไทย แต่พรรคเปลี่ยนตัวผู้ลงสมัครเลือกตั้งเพราะเห็นว่านายบุญเลิศไปถ่ายรูปกับร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า สมาชิกพรรค พปชร. ทำให้สงสัยว่าอาจจะย้ายขั้วหรือไม่ ซึ่งในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น การถ่ายร่วมร่วมกับร้อยเอก ธรรมนัสก็เป็นเพียงการทำหน้าที่นายกฯ อบจ. เท่านั้น

หลายเหตุการณ์ทางการเมืองทำให้ “จตุพร” สรุปกับตัวเองว่าเขา เป็นแค่ประชาชนที่พลัดหลงเข้าไปในดงละคร และทำหน้าที่แค่แสดงประกอบ เมื่อละครจบลงไป ผู้มีอำนาจก็ตกลงและจับมือกันต่อไป แต่ที่ผ่านมาล้วนเป็นเรื่องของการแสดงเท่านั้น

“จตุพร พรหมพันธุ์” อดีตแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

“ผมสรุปความและเคยพูดคำหนึ่งไว้เมื่อในปี 2555 ว่าเราพลัดหลงเข้าไปดงละคร ทุกอย่างมันคือการแสดงทั้งสิ้น ไม่ว่าซีก อดีตนายกฯ ทักษิณ และซีกพลเอก ประยุทธ์ หรือซีก 3 ป. ทุกอย่างก็เพื่อการละคร แต่เราไม่รู้ เราพัดหลงไป แต่เราเจ็บจริง ตายจริง ติดคุกจริง แล้วก็ได้รับความอยุติธรรมต่างๆ เป็นเรื่องจริง แต่พวกเขาผู้มีอำนาจต่างแสดงละครหมดเลย ผมจึงบอกว่าเราพลัดหลงเข้าไปในดงละคร”

“จตุพร” บอกว่า อดีตนายกฯ ทักษิณได้พูดว่า เป็นพวกรับจ้างและไปรับจ้างนายบุญเลิศ ซึ่งหากเทียบแล้ว ฐานะเศรษฐกิจของนายบุญเลิศไม่ได้เท่ากับอดีตนายกฯ ทักษิณ จึงประกาศหันหลังออกมาทันที

“ผมตัดสินใจเด็ดขาดเลย พอหมดความยอมรับนับถือกันแล้วก็แยกกัน เท่านั้นเอง และเมื่อออกมาแล้วก็ไม่ได้ไปอยู่สังกัดพรรคไหน เพื่อประโยชน์แห่งพรรคใด แยกออกมาเพื่อภารกิจและวันนี้ก็พิสูจน์แล้วว่า ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง เลือกตั้ง และหลังเลือกตั้ง ผมก็ยังทำหน้าที่ของผมตามปกติ”

บทเรียนภาคประชาชนไม่เคยเปลี่ยนแปลง

“จตุพร” ในฐานะที่ยืนข้างการเมืองภาคประชาชนมามากกว่า 30 ปี นับตั้งแต่ในขณะที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง กับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 เขามองว่าประวัติศาตร์การเมืองไทยไม่ได้เปลี่ยนไปไหน ยังคงเหมือนเดิม ขณะที่มาตรฐานของประชาชนต่อการเมืองไทยกลับไม่เหมือนเดิม

“ผมในฐานะที่เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์การเมืองโดยเฉพาะภาคประชาชนต่างกรรมต่างวาระหลายครั้ง ตั้งแต่วัยหนุ่มจนกระทั่งถึงวัยจะใกล้เกษียณ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ผ่านกันมาเกินกว่า 30 ปี พบว่าประวัติศาสตร์ทางการเมืองเราไม่ได้เปลี่ยนไปไหนนะ ยังเหมือนเดิม”

เขามองว่าสิ่งที่เปลี่ยนไปคือประชาชน ไม่ได้ใช้มาตรฐานเดิมกับเหตุการณ์พฤษภาคมปี 2535 หลังจากพลเอก สุจินดา คราประยูร เนื่องจากพูดครั้งเดียวไม่รับตำแหน่งนายกฯ แล้วมาเปล่งวาจา เสียสัตย์เพื่อชาติ แต่คนไทยไม่เคยให้โอกาส

แต่ในรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกรัฐมนตรีที่ตระบัดสัตย์มากกว่า พูดโกหกตั้งแต่ไม่ร่วมกับ 3 ป. กระทั่งตอนนี้ยังโกหกต่อไป และก็ยังไม่หยุดโกหก แต่ประชาชนยังให้โอกาส

“บางครั้งเราเรียกร้องถามหามาตรฐานจากผู้ปกครอง แต่ความจริงประชาชนก็ควรจะมีมาตรฐาน ต้องรับผิดชอบเฉกเช่นเดียวกัน ผมอยากเรียกร้องประชาชนให้ออกมาใช้มาตรฐานเดียวกันในช่วงพฤษภาคมปี 2535”

90 ปีการเมืองไทยยังอยู่ในวงจรอุบาทว์

“จตุพร” มองย้อนเหตุการณ์พฤษภาคมปี 2535 ซึ่งถือเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้เห็นว่าคนไทยตื่นตัวมากน้อยแค่ไหน เพราะในห้วงเวลานั้นมีเพียงแค่โทรโข่งตัวเดียว ก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

เขาบอกว่าในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 หลังมีการปราบปรามที่ถนนราชดำเนินแต่ประชาชนไม่ยอมมารวมชุมนุมที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง จนนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลง

“เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 การชุมนุมที่มหาวิทยาลัย ความจริงเป็นจุดเสี่ยงมาก เพราะว่าใครก็รู้ว่าโอกาสจะถูกปราบปรามเกิน 99% ไม่ถึง 1% ที่จะไม่ถูกปราบ เพราะว่าเมื่อปราบปรามที่ราชดำเนินได้แล้ว มหาวิทยาลัยรามคำแหงย่อมไม่รอด แต่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้พลเอก เปรม (ติณสูลานนท์) นำพลเอก สุจินดา (คราประยูร) กับพลตรี จำลอง (ศรีเมือง) เข้าเฝ้า จนยุติความรุนแรงได้”

“ผมยกตัวอย่างเรื่องนี้เพื่อจะบอกว่า เมื่อผ่านเหตุการณ์อย่างปี 2535 ประชาชนตื่นตัวมาก เราทำได้ทุกเรื่อง อย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภามาจากประธานสภาผู้แทนราษฎรใช้เวลาไม่ถึงครึ่งวัน คือหลังจากพลเอก สุจินดาลาออก รัฐธรรมนูญก็แก้ภายในพริบตา”

จนกระทั่งปี 2537 พลอากาศตรี ฉลาด วรฉัตร ออกมาอดอาหารเพราะต้องการอุทิศส่วนกุศลให้วีรชนพฤษภาคม 2535 ต้องการรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนสักครั้งหนึ่งของประเทศขณะนั้น “จตุพร” และเพื่อนทำงานที่สำนักพิมพ์ดอกหญ้า ตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อมาร่วมต่อสู้ให้ได้รัฐธรรมนูญของประชาชน

“รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นผลพวงจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 และวันนั้นอยากชี้ให้เห็นว่าประชาชนกำหนดทุกอย่างได้จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเรื่องแม่ทัพนายกอง หรือว่าจัดการจนกระทั่งได้รัฐธรรมนูญ แม้ว่าอาจจะใช้ระยะเวลาก็ตาม จนกระทั่งวิวัฒนาการของประชาชนก็พัฒนาการตามลำดับ”

“จตุพร พรหมพันธุ์” อดีตแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

อย่างไรก็ตาม “จตุพร” มองว่า พัฒนาการเมืองไทยนับจากปี 2475 มากระทั่งปัจจุบัน หรือประมาณ 90 ปี การเมืองไทยยังอยู่ในวงจรอุบาทว์ เมื่ออำนาจถึงมือนักการเมืองก็หนีวงจรอุบาทว์กันไปไม่พ้นทุกครั้ง เพราะมีการเลือกตั้ง มีทุจริตคอร์รัปชัน และทหารก็ยึดอำนาจ ประชาชนต่อต้าน บาดเจ็บล้มตาย ได้เลือกตั้งใหม่และเมื่อเลือกตั้งเสร็จก็ทุจริตเหมือนเดิม ประชาชนไปตายเหมือนเดิม ขณะที่ทหารเองก็ทุจริตคอร์รัปชันเช่นกัน

“ตลอด 90 ปีมันก็อยู่ในวังวนอุบาทว์อย่างนี้กันมาโดยตลอด แม้ว่าเราจะมีรัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุด แต่ว่าการเมืองมันไม่ได้ดีตาม คนเราเมื่อรัฐธรรมนูญเปิดช่อง เปิดประตู การใช้อำนาจที่เกินความพอดี เมื่อภาคประชาชนจัดการไม่สำเร็จ ทหารก็เข้ามาจัดการ แล้วหลังจากนั้นบ้านเมืองก็ล้มลุกคลุกคลานกันมาโดยตลอด จนกระทั่งจากปี 2549 กันมาถึงปี 2557 จนถึงวันนี้”

“จตุพร” บอกว่า “เราไม่เข้าใจบทเรียน หากจะนับความขัดแย้งที่ผ่านหลังจากการยึดอำนาจ 19 กันยายน ปี 2549 แกนนำที่ไปอยู่ในขบวนการเสื้อเหลือง หรือกลุ่มพันธมิตรฯ (พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย) ล้วนมาจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในเวทีพฤษภาคม 2535 เกินกว่า 90% แต่เป็นขบวนการเสื้อเหลืองเพราะการเมืองใช้อำนาจเกินพอดี

ขณะที่กระบวนการเสื้อแดงเองลุกขึ้นมาต่อสู้เพราะไม่ต้องการการรัฐประหาร โดยขณะนั้นหลังพรรคไทยรักไทยล้ม ประชาชนแรงมาก จัดกิจกรรม เป็นความตื่นตัวของประชาชน โดยประชาชนได้ยกระดับต่อ ก็จะเป็นกระบวนการประชาธิปไตยที่แข็งแรงมากขึ้น แต่ว่านักการเมืองไม่คิดอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ท้ายที่สุดมันก็ถึงจุดล่มสลายอย่างน่าเสียดาย

“คนเสื้อแดงสามารถสู้ม้วนเดียวจบ เพราะผ่านความตายกันมาร่วมร้อยศพ บาดเจ็บ 2,000 คน สูญสิ้นอิสรภาพนับไม่ถ้วน เขาก็เลยต้องมาร่วมเป็นร่วมตายในการต่อสู้ จนกระทั่งมาออกดอกออกผลได้เป็นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) แต่เป็นรัฐบาลที่ตอบแทนผลการต่อสู้ของประชาชนน้อยที่สุดนะครับ แม้ว่าจะมีเยียวยาบ้าง มันก็เป็นเพียงแค่เศษเสี้ยว เพราะว่าหลักใหญ่ใจความคือทำให้ประเทศแข็งแรงด้วยประชาธิปไตย แต่ตัดเงื่อนไข โดยเฉพาะเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน เรื่องสองมาตรฐาน เรื่องการรวบอำนาจ การต่อสู้ของประชาชนไม่ได้อะไรเลย”

“จตุพร” มองว่า ในช่วงเวลานั้น หากการเมืองเห็นถึงอำนาจประชาชนที่เข้มแข็งมาก ส่งต่อให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่พอการเมืองได้อำนาจ แทนที่จะหลังพิงประชาชน กลับไปเข้าใจว่าคนที่จะรักษาอำนาจของรัฐบาลได้ก็คือทหารหรือกองทัพ เพราะฉะนั้นจึงไปสวามิภักดิ์กับกองทัพ และไม่กล้าสร้างให้ประชาชนแข็งแรงต่อไป จนประชาชนก็เริ่มอ่อนแอตามลำดับ

”ผมเคยวิพากษ์วิจารณ์พลเอก ประยุทธ์ครั้งหนึ่งในขณะเป็น ผบ.ทบ. เขาก็ใช้วิธีไปฟ้องอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ และอดีตนายกฯ ขอให้ผมเบาลงไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์ ผมได้ยินแบบนั้นหลายครั้งนะครับ ซึ่งหมายความว่าประชาชนไม่ได้ถูกสร้างให้แข็งแรง ซึ่งผมเชื่อว่าหากรัฐสนับสนุนความแข็งแรงของประชาชน ไม่ทำลายพวกเขา ผมเชื่อว่ารัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 จะไม่เกิดขึ้น”

สุดท้าย “จตุพร” กล่าวถึงบทสรุปการเมืองไทยว่า…

บทเรียนของประเทศไทยมันไม่พ้นความเป็นนักเลือกตั้ง แม้คุณจะแต่งตัวเป็นนักต่อสู้อย่างไร แต่ว่าธาตุแท้คือนักเลือกตั้งที่ต้องการได้อำนาจโดยประชาชนเป็นแค่ทางผ่าน

แม้ว่าประชาชนจะผ่านการต่อสู้มาด้วยเลือดก็ตาม แต่สุดท้ายวิถีของนักเลือกตั้งมันไม่เปลี่ยน คิดแค่ผลประโยชน์เฉพาะหน้า ไม่ได้คิดถึงกระบวนการประชาชน และคิดเพียงแค่ว่าได้อำนาจมาแล้วจะไปสร้างประโยชน์ได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ขบวนการประชาชนก็อ่อนแอตามลำดับ จนกระทั่งแทบจะหมดสภาพแล้วในขณะนี้

นายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

เรียกร้องประชาชนไม่ยอมนักการเมืองโกหก

“จตุพร” เห็นว่า ความเป็นนักเลือกตั้งที่ยึดประโยชน์ตัวเองเป็นหลักทำให้เกิด พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย ซึ่งเขาไม่เห็นด้วย และคนเสื้อแดงจำนวนมากไม่เห็นด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้น เขาในฐานะแกนนำรู้ว่าจะมีการรัฐประหารเกิดขึ้น ได้กราบขอโทษประชาชนด้วยทุกเรื่องราว และยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย แต่เห็นว่าต้องรักษาประชาธิปไตยไม่ให้มีรัฐประหารเกิดขึ้น

“ผมเคยพูดในพรรค ไม่ว่าจะเป็นตอนพลังประชาชน จนกระทั่งพรรคเพื่อไทยก็ตาม ว่าต้องไม่มองคนเสื้อแดงหรือประชาชนเป็นของตายนะ ต้องมองเขาอย่างมีคุณค่า ถ้าคุณมองเขาเป็นของตายเมื่อไหร่ วันหนึ่งเมื่อรัฐบาลต้องมีอันเป็นไปหรือว่าถูกคุกคาม คุณจะไม่มีผนังทองแดงหรือกำแพงเหล็กให้เลย เพราะฉะนั้น ถ้าคุณมองประชาชนเป็นของตายเมื่อไหร่ คุณรอนับวันได้เลย”

“จตุพร” ย้ำอีกว่า บทเรียนที่สำคัญที่สุดและถือเป็นหลักใหญ่ใจความคือ เราไว้วางใจนักการเมืองไม่ได้ เหมือนที่เราไม่ไว้วางใจเผด็จการ เพราะฉะนั้น ประชาชนควรจะไว้วางใจกันเอง ประชาชนต้องรู้จักคุณค่าของตัวเอง ลุกขึ้นมาสร้างมาตรฐานแบบเดียวที่เคยเกิดขึ้นกับนักการเมืองในปี 2535 ไม่ให้โอกาสนักการเมืองที่ไม่รักษาคำพูด

“ที่ผ่านมาผมเรียกร้องกับผู้ปกครองมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหรือทหาร สู้กันมาตลอด แต่วันนี้ผมว่าเดินมาถึงจุดที่ต้องเรียกร้องประชาชนแล้ว ผมไม่อยากให้ประชาชนเป็นสองมาตรฐานเสียเอง ผมใช้คำว่า ถ้าประเทศใดที่มีผู้นำเส็งเคร็ง แสดงว่าประชาชนมันต้องเส็งเคร็งด้วยนะ มันถึงได้ผู้นำเส็งเคร็งมาได้ ถ้าประชาชนไม่คิดเปลี่ยน วงจรอุบาทว์ 90 ปีมันก็วงจรนี้อยู่”

“จตุพร” บอกว่า ประชาชนต้องไม่ยอมนักการเมืองที่ “ตระบัดสัตย์” และใช้มาตรฐานเดียวกับที่ใช้กับพลเอก สุจินดา ที่บอกว่า ข้าพเจ้าและพวกไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ยอมเสียสัตย์เพื่อชาติ เช่นเดียวกับนายเศรษฐา ทวีสิน บอกว่าไม่จับมือพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ หรือบอกว่ามีลุงไม่มีผมร่วม แต่วันนี้รัฐบาลนายเศรษฐา มีพรรค 2 ลุงร่วมรัฐบาล

“รัฐบาลเศรษฐา โดยพรรคเพื่อไทย ไปจับมือกับคนที่ยึดอำนาจตัวเองมา แล้วประชาชนอยู่ตรงไหน ผมถามจริงๆ อีกครั้งว่า รัฐบาลเศรษฐาถ้าพลเอก ประยุทธ์ไม่อำนวยการสร้าง ไม่สั่งการให้ ส.ว. มาโหวตให้ จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ มันกลายเป็นว่า แล้วคุณยึดอำนาจไปทำไม หรือว่ายึดอำนาจกันไปแล้วส่งคืนอำนาจให้มา แล้วประชาชนอยู่ตรงไหน มันกลายเป็นว่าบ้านเมืองไม่ใช่ของเล่นนะ เพราะต้องคืนให้กับประชาชน แต่อย่างที่ผมคิด มันสมคบคิดกันมาตั้งแต่ต้น ทุกอย่างมันคือเงื่อนไขการต่อรองโดยไม่มีประชาชนอยู่ในนั้นด้วย

“จตุพร พรหมพันธุ์” อดีตแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

การต่อสู้ของประชาชนต้องไม่สูญเปล่า

อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ของภาคประชาชนสูญเปล่าหรือไม่ ในช่วงที่ผ่านมา “จตุพร” บอกว่า มองได้สองแบบ หากจะมองว่าสูญเปล่าก็ได้ เพราะบ้านเมืองมันควรได้การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ประชาชนมีความแข็งแรงขึ้นป้องกันรัฐประหารได้ แต่ความจริงไม่ได้เป็นแบบนั้น

แต่ว่ามองในเชิงความหวัง จะพบว่าในทุกบทเรียนมีความหมายที่มีความหวังเพิ่มมากขึ้น โดยตลอดเวลาของการต่อสู้ของ “จตุพร” ย้อนกลับไป 30 ปีจนถึงวันนี้ อายุที่มากขึ้นอาจจะมีเวลาเหลือให้เห็นความเปลี่ยนแปลงไม่มาก แต่เขาเชื่อว่ายังมีความหวังที่ประเทศจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

“ถ้านับย้อนไปเกิน 30 ปี ตั้งแต่ปี 2535 จนถึงตอนนี้เป็นเวลาส่วนใหญ่ของชีวิต ผมจึงไม่ได้มีความรู้สึกว่ามันจะสูญเปล่า เพียงแต่ว่าถ้าเราเอาเรื่องตัวเองออกไปเป็นความหวังที่เป็นความสุข เพียงแต่ว่าเราอาจจะไม่มีความสมหวัง เหมือนชนะสลับแพ้มาตลอด เพราะฉะนั้น ผมเองก็มีความวาดหวังว่าในช่วงที่ต่อสู้กันมา มันไม่ควรที่จะจบลงด้วยความสูญเปล่า แต่ในท่ามกลางสิ่งเหล่านี้มีบทเรียนที่ทรงคุณค่าว่า ถ้าประชาชนดำรงความมุ่งหมายและผู้ที่เข้ามาร่วมมือกับประชาชนต่างมีจิตใจที่เท่ากับหัวใจของประชาชน เราก็จะเดินกันไปแบบไม่สูญเปล่า

“จตุพร” บอกว่า การต่อสู้ที่ผ่านมาเราพยายามเรียกร้องผู้ปกครองมาโดยตลอด ไม่ว่าจะถือปืนเข้ามาเป็น ถือเงินเข้ามาเป็น แต่ถ้าตราบใดประชาชนไม่ถือหัวใจอำนาจของตัวเอง ประชาชนยังถูกใช้เป็นเครื่องมืออย่างง่ายๆ แล้วก็ประชาชนถูกให้ยาหอมอย่างง่ายๆ ประเทศนี้จะหาอนาคตให้กับคนรุ่นต่อไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น จึงอยากเรียกร้องกับประชาชนกันเอง ถึงเวลาที่เราต้องทวงอำนาจของเราคืนแล้ว

อย่างไรก็ตาม ความตื่นตัวในการเลือกตั้งที่ผ่านมา “จตุพร” มองว่าเป็นการตื่นตัวที่ไม่ชัดเจนตามนิสัยของคนไทย “ที่อะไรก็ได้” ขาดจุดยืนที่มั่นคง มีความแน่วแน่ การดำรงความมุ่งหมาย เมื่อตื่นตัวขึ้นมาแล้วก็ไปหลับต่อ เพื่อจะรอตื่นใหม่กันอีกรอบ เราจึงมีเหตุการณ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประวัติศาสตร์

“คนไทยเราทำได้ทุกเรื่องถ้าต้องการจะทำนะครับ และก็เปลี่ยนแปลงได้ทุกเรื่อง ถ้ากล้าจะเปลี่ยนแปลง เพียงแต่ว่าคนไทยเราเป็นคนที่อะไรก็ได้ ผู้ปกครองรู้จักนิสัยคนไทย เราจึงได้ผู้ปกครองที่ไม่คิดจะกล้าเปลี่ยนแปลงอะไรใดๆ ทั้งสิ้นครับ”

“จตุพร พรหมพันธุ์” อดีตแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

อำนาจประชาชนไม่มีขั้วไม่มีสี

“จตุพร” ออกมาเรียกร้องประชาชน ขณะที่ตัวเองก็เริ่มทำงานในคณะหลอมรวมประชาชน โดยมองข้ามความขัดแย้งของสีเสื้อ อำนาจของประชาชนคือพื้นฐานของประชาธิปไตยไม่ว่าจะมีสีเสื้ออย่างไร

“วันนี้ผมมองข้ามเรื่องสีไปหมดแล้วนะ ผมเคยพูดมาตั้งแต่ต้นว่าสีมันคือแค่เปลือก สถาบันพระปกเกล้าเคยทำวิจัยทั้งแกนนำทั้งเสื้อแดงเสื้อเหลือง แยกกันไปทำทีละคน ปรากฏว่าเกิน 90% มีความต้องการเหมือนกัน มีแตกต่างกันไม่ถึง 10% เพราะฉะนั้น ผมเชื่อว่าส่วนประชาชนคือต้องการเห็นความดีงามของประเทศ ต้องการเห็นความยุติธรรม และไม่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพราะฉะนั้น เราเดินมาถึงจุดที่ว่าอยู่แตกต่างกันได้ แต่ไม่ถึงขั้นแตกแยก คือหลักประชาธิปไตย”

“จตุพร” เห็นว่า ต้องเอาอำนาจประชาชนเป็นศูนย์กลาง แต่การเมืองไทยเมื่อเวลามีอำนาจ เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง จึงหาสัจจะความรับผิดชอบจากผู้มีอำนาจไม่ได้ หรือจากผู้ปกครองไม่ได้

แต่หาจากประชาชนได้ ถ้าประชาชนแข็งแรง ผู้ปกครองก็จะไม่กล้าตระบัดสัตย์ แต่ถ้าประชาชนอ่อนแอ หลอกอย่างไรก็เชื่อทุกครั้ง บ้านเมืองก็จะล้าหลัง

“ประชาชนได้พาไปถึงเส้นชัย ไม่ว่าปี 2535 ปี 2553 ต่อเนื่องถึงปี 2554 แต่ว่าผู้ที่ได้รับอำนาจอานิสงส์จากความตายของประชาชน มันไม่สามารถตอบสนองต่อเลือดเนื้อชีวิตของประชาชนได้ นั่นแหละคือความสูญเปล่า”

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าเราพาไปแพ้ แต่ส่งชัยชนะให้แล้ว แต่ว่าไม่สามารถรักษาชัยชนะอันนั้นได้ ให้สมคุณค่ากับการเอาชีวิตเข้าแลก เอาอวัยวะ เอาอิสรภาพไปแลก

“ผมไม่ได้ต้องการให้บ้านเมืองอยู่ท่ามกลางความอาฆาตพยาบาทนะ แต่ว่าจะต้องทำให้ภาคประชาชนมีความแข็งแรง ถ้าประชาชนไม่แข็งแรง เราจะอยู่กับบ้านเมืองเราที่ล้าหลังเพราะไม่มีเสถียรภาพเรื่องการเมืองการปกครอง”

“จตุพร พรหมพันธุ์” อดีตแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

ขอเป็น “นักวิเคราะห์การเมือง”

ถึงตอนนี้ “จตุพร” ยังมีคดีที่อยู่ระหว่างรอคำพิพากษาหลายคดี และเขาประกาศไม่สังกัดพรรคการเมือง โดยการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเขากาช่องไม่ลงคะแนน ทำให้บทบาทใหม่ที่เขาเลือกคือการทำงานความคิดกับประชาชนผ่านรายการ ประเทศไทยต้องมาก่อน ภายใต้การทำงานของคณะกรรมการหลอมหลวมประชาชน ร่วมกับนายนิติธร ล้ำเหลือ

การออกมาเป็นแกนนำในการชุมนุมประท้วง หรือการเมืองภาคประชาชน แม้ว่าจะไม่ได้ปิดกั้นตัวเอง แต่ด้วยวัย 58 ปี อาจจะไม่แข็งแรงเท่ากับในช่วงวัยหนุ่มที่ผ่านมา

“คงใช้แรงน้อยลง เพราะว่ามีแรงที่น้อยลง คงต้องใช้ความคิดมากขึ้น ก็คือการทำความคิดกับประชาชนมากขึ้น เดิมเราอาจจะสู้ได้ตลอดเวลา แต่ว่าเรี่ยวแรงวัยสังขาร จึงต้องเลือกที่จะสู้ ถามว่าเลือกอย่างไร ก็ต้องบอกว่าอะไรที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของประเทศ ของประชาชน เราจะต้องเลือกในจุดนั้น เพราะฉะนั้น เราจะไม่ทำทุกศึกทุกสงคราม แต่ว่าการทำทางความคิด ก็จะทำทุกวัน”

“จตุพร” บอกว่า การที่เขาออกมาเล่าความจริงหรือเป็นนักวิเคราะห์การเมือง เพราะวันนี้เขาสามารถพูดอย่างตรงไปตรงมา และกล้าที่จะนำเสนอความจริง เพราะตอนนี้เขาไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใด จึงอยากทำหน้าที่ให้ข้อมูลกับประชาชนมากที่สุด และอยากเรียกร้องประชาชน เพราะถ้าประชาชนยกย่องนักการเมืองตระบัดสัตย์ แสดงว่าประชานก็เป็นคนตระบัดสัตย์ด้วย และเราจะหาผู้ปกครองที่ดีไม่ได้ตราบใดประชาชนไม่ตั้งตนเป็นมาตรฐานที่ดี จึงอยากเรียกร้องไปที่ประชาชน

ส่วนสิ่งสุดท้ายที่ “จตุพร” อยากเห็นในตลอดชีวิต ตลอดเส้นทางนี้ คือการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทย อยากจะเห็นการพลิกโฉมหน้าของประเทศ เป็นการก้าวผ่านถึงการพัฒนาการของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ เป็นช่วงสุดท้ายในชีวิตที่ต้องการเห็น เพราะฉะนั้น เพื่อรอวันที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง จะทำงานความคิดกับประชาชน เป็นนักเล่าความจริง นักวิเคราะห์การเมือง เพื่อรอวันเห็นความเปลี่ยนแปลงของประเทศไทย