ThaiPublica > คนในข่าว > “เฮนรี คิสซิงเจอร์” อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐที่ทรงอิทธิพลด้านนโยบายต่างประเทศ เสียชีวิตในวัย 100 ปี

“เฮนรี คิสซิงเจอร์” อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐที่ทรงอิทธิพลด้านนโยบายต่างประเทศ เสียชีวิตในวัย 100 ปี

30 พฤศจิกายน 2023


เฮนรี เอ. คิสซิงเจอร์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ที่มาภาพ:https://www.france24.com/en/live-news/20231130-henry-kissinger-american-diplomat-and-nobel-winner-dies-at-100

เฮนรี เอ. คิสซิงเจอร์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ และที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ ในยุคสงครามเย็นและผู้ทรงอิทธิพลด้านนโยบายต่างประเทศมานานกว่าครึ่งศตวรรษและยังเป็นที่ถกเถียงมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์อเมริกา เสียชีวิตแล้ว ในวัย 100 ปี

คิสซิงเจอร์ ผู้หลบหนีจากนาซีเยอรมนีตั้งแต่ยังเยาว์วัย และกลายเป็นบุคคลสำคัญด้านนโยบายต่างประเทศที่มีอิทธิพลของสหรัฐ เสียชีวิตแล้วเมื่อวันพุธ(29 พ.ย.)ที่บ้านของเขาในคอนเน็กทิคัต จากคำแถลงจากบริษัทที่ปรึกษาของเขา คิสซิงเจอร์ แอสโซซิเอทส์(Kissinger Associates) แต่บริษัทไม่ได้เปิดเผยสาเหตุการเสียชีวิต

คิสซิงเจอร์ เป็นบุตรของครูในโรงเรียนเกิดในเยอรมนีเมื่อปี 1923 เดินทางมายังสหรัฐอเมริกาครั้งแรกเมื่อปี 1938 เมื่อครอบครัวของเขาหนีจากพวกนาซี และยังมีสำเนียงชาวบาวาเรียแบบไม่ผิดเพี้ยน

เขาได้เป็นพลเมืองสหรัฐฯ ในปี 1943 และเข้ารับราชการในกองทัพสหรัฐฯ เป็นเวลา 3 ปี และต่อมาทำงานใน Counter Intelligence Corps.

หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก คิสซิงเจอร์ได้สอนวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

จากการดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ(National Security Adviser)และรัฐมนตรีต่างประเทศในคณะบริหารของประธานาธิบดีริชาร์ด เอ็ม. นิกสันและ ประธานาธิดี เจอรัลด์ อาร์ ฟอร์ดนั้น คิสซิงเจอร์มีมบทบาทสำคัญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตั้งแต่ปี 1969 ถึง 1977 ด้วยบุคคลิกที่ทรงพลัง ความรอบรู้ และการเยาะเย้ยถากถาง

แม้ว่าการดำรงตำแหน่งของเขาในคณะบริหารของประธานาธิบดีนิกสัน และประธานาธิบดีฟอร์ด จะเป็นตำแหน่งอาวุโสในรัฐบาลเพียงตำแหน่งเดียวของเขา แต่เขามีผลต่อนโยบายทั้งก่อนและหลังดำรงตำแหน่งหลายปี ตั้งแต่ปี 1956 เมื่อเขาดำรงตำแหน่งหัวหน้าโครงการของคณะผู้มีอิทธิพลด้านนโยบายนิวเคลียร์ จนกระทั่งเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 คิสซิงเจอร์ได้ให้คำแนะนำแก่ประธานาธิบดีของทั้งสองฝ่าย

ในเดือนพฤศจิกายน ปี 1968 เมื่อประธานาธิบดีนิกสันเลือกคิสซิงเกอร์เป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ แบบที่ไม่การคาดคิดมาก่อน ทั้งสองคนแทบไม่รู้จักกันเลย และที่รู้ ก็คือทั้งสองไม่ค่อยชอบอีกฝ่ายนัก ประธานาธิบดีนิกสันยังแสดงออกถึงการต่อต้านชาวยิวซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งบางครั้งก็ต่อหน้าคิสซิงเจอร์เสียด้วย และก่อนเข้ารับตำแหน่ง คิสซิงเจอร์ไม่ได้ปิดเป็นความลับเรื่องที่เขาไม่เชื่อว่าประธานาธิบดีนิกสันจะฉลาด

คิสซิงเกอร์กับนายกรัฐมนตรีจีน โจว เอินไหล ในปี 1971 ที่มาภาพ: https://china.usc.edu/getting-beijing-henry-kissingers-secret-1971-trip

แต่ในความสัมพันธ์ที่แปลกประหลาดของพวกเขา คิสซิงเจอร์และประธานาธิบดีนิกสันมีเป้าหมายร่วมกันในการรวมอำนาจนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลไว้ในทำเนียบขาวในขอบเขตที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และท้ายที่สุด พวกเขาได้ลดอำนาจของรัฐมนตรีต่างประเทศ นายวิลเลียม พี. โรเจอร์ส และควบคุมกระทรวงกลาโหม ซีไอเอ(CIA) และศูนย์นโยบายต่างประเทศอื่นๆ แบบหนักมืออย่างผิดปกติ

ในปี 1973 คิสซิงเจอร์เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศแทนนายโรเจอร์ส และเป็นคนเดียวที่ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศพร้อมกัน คิสซิงเกอร์ได้วางมาตรฐานที่ใช้ตัดสินที่ปรึกษานโยบายต่างประเทศในเวลาต่อมาทั้งหมด แต่ในที่สุดประธานาธิบดีฟอร์ด ซึ่งรับตำแหน่งต่อจากประธานาธิบดีนิกสันถอดคิสซิงเจอร์ออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ โดยกล่าวในหลายปีต่อมาว่า การดำรงตำแหน่งทั้งสองตำแหน่งถือเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน

คิสซิงเจอร์ก็คือนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ

คิสซิงเจอร์ได้รับการยกย่องว่ามีบทบาทสำคัญในการดำเนินการทางการทูตแบบลับๆที่ช่วยให้ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันเปิดความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนคอมมิวนิสต์อีกครั้งหลังจากแยกตัวออกจากกันมานานกว่า 20 ปี โดยสิ่งที่ชัดเจนคือ การเยือนประเทศจีนของประธานาธิบดีนิกสันในปี 1972

ในเดือนกรกฎาคม 1971 เขาหลบนักข่าวและบินไปปักกิ่งอย่างลับๆ และได้สร้างสายสัมพันธ์กับนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหลอย่างรวดเร็ว คิสซิงเจอร์และนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหลวางแผนการเดินทางครั้งใหญ่ของประธานาธิบดีนิกสันไปยังประเทศจีน ซึ่งเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 1972 เป็นการเยือนที่ประธานาธิบดีนิกสันเรียกว่า “สัปดาห์ที่เปลี่ยนโลก”

ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันของสหรัฐฯ กับที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ เฮนรี คิสซิงเกอร์ ขณะหารือกับนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหลของจีน ในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 1972 ที่มาภาพ:https://news.cgtn.com/news/2021-07-09/The-words-of-the-wise-50th-anniversary-of-Kissinger-s-trip-to-China-11Jupz9pDoI/index.html

ในขณะนั้น จีนยังคงอยู่ภายใต้ “การปฏิวัติวัฒนธรรม” ที่หนักหน่วง และตัดขาดจากสหรัฐอเมริกา อีกทั้งด้วยความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกับคนส่วนใหญ่ในโลก เศรษฐกิจของประเทศถูกแยกออกจากตลาดต่างประเทศ ซึ่งมีเพียงเกษตรกรรมและหัตถกรรมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หลังจากการเยือนของประธานาธิบดีนิกสันและการติดตามผลทางการฑูตของคิสซิงเจอร์ ความโดดเดี่ยวของจีนก็ค่อยๆ ลดลง ส่งผลให้ประเทศพัฒนาไปสู่อำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองที่สำคัญของโลกได้ในที่สุด

หลังจากการเยือนจีนของประธานาธิบดีนิกสันไม่นาน คิสซิงเจอร์เดินหน้างานชิ้นที่สองจากวิสัยทัศน์ทางการทูตของเขา ด้วยการวางนโยบายความสัมพันธ์ต่อสหภาพโซเวียต หรือที่รู้จักกันว่า “détente” ซึ่งบรรเทาความตึงเครียดในช่วงสงครามเย็น โดยจัดการประชุมสุดยอดสหรัฐฯ-โซเวียตที่จัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 1972 ซึ่งเป็นการเจรจาที่ก่อให้เกิดข้อตกลงหลายฉบับเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนทางวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม และในที่สุดก็นำไปสู่สนธิสัญญาจำกัดอาวุธทางยุทธศาสตร์ฉบับแรก แนวทางนี้เป็นแนวทางส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ จนถึงยุคเรแกน

ไม่กี่สัปดาห์หลังจากการประชุมสุดยอด โซเวียตเริ่มกดดันเวียดนามเหนือให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการเจรจากับสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตัวอย่างคลาสสิกของกลยุทธ์ “การเชื่อมโยง” ของคิสซิงเจอร์

ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดสำหรับคิสซิงเจอร์ คือสงครามเวียดนาม ซึ่งเมื่อถืงปี 1969 ค่าใช้จ่ายสงครามสูงมากขึ้น มีผู้เสียชีวิต และไม่ได้รับการชื่นชม คิสซิงเจอร์จึงเล็งไปที่ “สันติภาพด้วยเกียรติยศ” โดยเปิดการเจรจากับเวียดนามเหนือ ขณะเดียวกันก็ใช้ปฏิบัติการทิ้งระเบิดทำลายล้างเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองของเขา

คิวซิงเจอร์และผู้เจรจาต่อรองของเวียดนามเหนือ เลอ ดึ๊ก เทอ(Le Duc Tho) ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพร่วมกันจากการเคาะแผนที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อยุติสงคราม แต่ข้อตกลงที่ประกาศเมื่อเดือนมกราคม 1973 ล้มเหลวในการยุติการสู้รบและสงครามลากยาวไปอีกกว่าสองปี จนกระทั่งไซ่ง่อนล่มสลายในที่สุด คิสซิงเจอร์ยอมรับรางวัลนี้ แต่ไม่ได้เข้าร่วมพิธีก็ตาม โดยอ้างถึงภาระงาน ขณะที่ เลอ ดึ๊ก เทอ ปฏิเสธไม่รับรางวัล โดยให้เหตุผลว่าเขาถือว่าการเจรจาล้มเหลว

เฮนรี คิสซิงเจอร์ และนักการเมืองเวียดนาม เลอ ดึ๊ก เทอ ลงนามในข้อตกลงสันติภาพปารีสเพื่อยุติสงครามเวียดนาม ที่มาภาพ:https://edition.cnn.com/2023/11/29/politics/henry-kissinger-dead/index.html

คิสซิงเจอร์ได้สร้างการทูตแบบบความสัมพันธ์สามฝ่าย (triangular diplomacy)อันละเอียดอ่อน ระหว่างพลังอำนาจนิวเคลียร์ที่อันตรายที่สุด 3 รายของโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต และจีน สำหรับสหรัฐฯแล้ว นับว่าเป็นการถ่วงดุลกับอำนาจคอมมิวนิสต์

สำหรับบางคนแล้ว ความสัมพันธ์สามฝ่ายเป็นการต่อรองกับมารร้าย อันที่จริงแล้วคือปีศาจสองตัว ในขณะนั้น จีนและสหภาพโซเวียตมีประวัติด้านสิทธิมนุษยชนที่น่าตกใจ และไม่มีอะไรเหมือนกันกับสหรัฐอเมริกามากนัก

คิสซิงเจอร์เคยบอกผู้สัมภาษณ์ว่า การถกเถียงเรื่องศีลธรรมของนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ เช่น การวางระเบิดลับ การดักฟัง การปฏิบัติการข่าวกรองแอบแฝง และอื่นๆนั้น ทำให้ประเทศชาติหยุดะงักและขัดขวางไม่ให้บรรลุเป้าหมาย “ศีลธรรมสูงสุด” ซึ่งคือ การสร้างเสถียรภาพและความสงบสุข

ปรัชญาการทำงานของเขามาจาก 3 หลักการ คือ สัจนิยม(realism) การเชื่อมโยง(linkage) และการทูตแบบ shuttle diplomacy

เฮนรี คิสซิงเจอร์ ใน Leadership Forum ปี 2019 ที่มาภาพ:https://www.aljazeera.com/news/2023/11/30/henry-kissinger-nobel-prize-winning-warmonger

สัจนิยม ปรับมาจากการเมืองเรื่องดุลอำนาจในศตวรรษที่ 19 ซึ่งประเทศต่างๆ มุ่งเน้นการแสวงหาผลประโยชน์ของชาติ โดยสันติหากเป็นไปได้หรือโดยการใช้กำลังหากจำเป็น ส่วนการเชื่อมโยงเป็นแนวทางของเขาในการเข้าร่วมประเด็นที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกัน เช่น การสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับมอสโก แล้วใช้อิทธิพลสหภาพโซเวียตกับเวียดนามเหนือ จากการที่มีส่วนเรื่องนโยบายในสงครามเวียดนาม ซึ่งทั้งสองนี้เป็นรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศงมีรากฐานมาจากประวัติศาสตร์ที่มีมาก่อนคิสซิงเจอร์

แต่การทูตแบบ shuttle diplomacy ดูเหมือนจะเป็นนวัตกรรมของเขา และเป็นเทคนิคอันเป็นเอกลักษณ์ของคิสซิงเจอร์ในการเจรจาระหว่างฝ่ายต่างๆที่ปฏิเสธที่จะพูดคุยกัน ด้วยการแยกพบปะกับแต่ละฝ่าย และเผยจุดยืนของฝ่ายหนึ่งไปให้อีกฝ่ายหนึ่งหลังจากจับหมุนไปหมุนมา เมื่อเขาบินไปๆมาๆระหว่างอิสราเอลและอียิปต์ เพื่อเป็นสื่อกลางในการยุติสงครามอาหรับ-อิสราเอลในเดือนตุลาคม 1973 นำไปสู่การยุติความเป็นปรปักษ์ในสงครามยมคิปปูร์(Yom Kippur วันหยุดยมคิปปูร์ซึ่งเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในศาสนายูดาห์) ระหว่างอียิปต์และซีเรีย และอิสราเอลในอีกฝั่ง

แนวทางนี้เป็นการวางแนวทางใหม่ในตะวันออกกลางโดยให้สหรัฐฯ เป็นตัวกลางระหว่างชาวอาหรับและอิสราเอล ซึ่งเป็นบทบาทที่คณะบริหารชุดต่อมายังคงเดินหน้าต่อไป ขณะเดียวกันก็ขยายความช่วยเหลือทางทหารของวอชิงตันไปยังอิสราเอล

บางทีอาจเป็นเพราะสัจนิยมของเขาดูเหมือนจะเกินขอบเขตของศีลธรรมแบบเดิมๆ และก้าวผ่านความแตกต่างทางปรัชญา คิสซิงเกอร์จึงเป็นบุคคลที่มีการถกเถียงกันอยู่เสมอ โดยได้รับการยกย่องจากความสำเร็จเชิงปฏิบัติที่โดดเด่นน แต่กลับถูกประณามโดยอุดมการณ์ทั้งฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย นักวิจารณ์ที่พูดตรงไปตรงมาที่สุดของเขามองว่าคิสซิงเกอร์ไร้ความปรานีและกล่าวหาว่าเขาเป็น “อาชญากรรมสงคราม” โดยหลักแล้วมีสาเหตุมาจากการขยายความขัดแย้งในเวียดนามไปสู่กัมพูชา การวางระเบิดในกัมพูชา ซึ่งนำไปสู่การผงาดขึ้นสู่อำนาจของเขมรแดงที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และการสนับสนุนเผด็จการฝ่ายขวาอันโหดร้ายในชิลีและอาร์เจนตินา

เฮนรี คิสซิงเจอร์รายงานประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ที่มาภาพ:https://www.aljazeera.com/news/2023/11/30/henry-kissinger-nobel-prize-winning-warmonger

หลังคิสซิงเจอร์ออกจากตำแหน่งหน้าที่ในรัฐบาลปี 1977 เขายังคงเป็นผู้วิจารณ์กิจการสาธารณะที่มีผลงานมากมาย ประธานาธิบดีสหรัฐฯ หลายสิบคนได้ขอคำปรึกษาจากชเขา ตั้งแต่จอห์น เอฟ เคนเนดี ไปจนถึงโจ ไบเดน รวมถึงสมาชิกสภานิติบัญญัติด้วย

ที่น่าสังเกตคือ คิสซิงเจอร์ยังเป็นคนอเมริกันเพียงคนเดียวที่ได้ติดต่อโดยตรงกับผู้นำจีนทุกคน ตั้งแต่เหมา เจ๋อตง ไปจนถึงสี จิ้นผิง

นอกจากนี้ เขายังดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการของบริษัทต่างๆ และเป็นผู้มีส่วนในเวทีนโยบายต่างประเทศและความมั่นคง ตลอดจนเขียนหนังสือ 21 เล่ม

ในปี 2021 ในวัย 98 ปี คิสซิงเจอร์ได้ร่วมเขียนหนังสือเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ร่วมกับเอริก ชมิดต์ อดีต CEO ของ Google และแดเนียล ฮุนเทนโลเชอร์ นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ของ MIT

“เฮนรี คิสซิงเกอร์ ในวัย 90 ปี ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับโลกดิจิทัล แม้ว่าเขาจะมีความคิดเห็นมากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ตาม” ชมิดต์บอกกับทิม เฟอร์ริส ผู้จัดรายการพอดแคสต์เมื่อหนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์

“แต่เขาเรียนรู้เชี่ยวชาญโลกดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ด้วยความกระตือรือร้นและถือว่าเร็วมากในฐานะคนที่เพิ่งเข้ามาในโลกนี้” ชมิดต์กล่าว

แม้จะอายุครบ 100 ปีแล้ว คิสซิงเจอร์ก็ยังคงใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉง รวมถึงการเยือนกรุงปักกิ่งแบบไม่คาดคิดในเมื่อเดือนกรกฎาคมเพื่อพบกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ซึ่งรัฐบุรุษวัยชราได้รับการต้อยรับอย่างดี แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะตกต่ำก็ตาม

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน พบกับอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เฮนรี คิสซิงเจอร์ ที่มหาศาลาประชาชนในกรุงปักกิ่ง วันที่ 8 พฤศจิกายน 2018 ที่มาภาพ:https://hongkongfp.com/2023/11/30/ex-us-sec-of-state-henry-kissinger-dead-at-100/

การเยือนครั้งนี้สร้างความไม่พอใจให้กับทำเนียบขาว และทำให้โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติ จอห์น เคอร์บี ออกมาพูดว่า “น่าเสียดายที่พลเมืองเอกชน” สามารถเข้าถึงผู้นำจีนได้ ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่สามารถเข้าถึง

ในระหว่างการให้สัมภาษณ์กับ ABC ในการเปิดตัวหนังสือในเดือนกรกฎาคม 2022 เมื่อเขาอายุ 99 ปี คิสซิงเจอร์ถูกถามว่า จะมีย้อนการตัดสินใจหรือไม่

“ผมคิดเกี่ยวกับปัญหาเหล่านี้มาตลอดชีวิต มันเป็นงานอดิเรกและอาชีพของผม” คิสซิงเจอร์กล่าว “ดังนั้นคำแนะนำที่ผมให้จึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่ผมสามารถทำได้ในขณะนั้น”

อดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช จำคิสซิงเจอร์ได้จาก “ความรอบรู้ เสน่ห์ และอารมณ์ขันของเขา”

“ผมชื่นชมผู้ชายที่หนีพวกนาซีมานานแล้วตั้งแต่ยังเป็นเด็กจากครอบครัวชาวยิว จากนั้นได้ต่อสู้กับพวกเขาในกองทัพสหรัฐฯ ต่อมาเมื่อเขาได้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ การได้รับการแต่งตั้งของเขาในฐานะอดีตผู้ลี้ภัยบ่งบอกถึงความยิ่งใหญ่ของเขาพอๆ กับความยิ่งใหญ่ของอเมริกา” ประธานาธิบดีบุชกล่าวในแถลงการณ์ “เขาทำงานในคณะบริหารของประธานาธิบดีสองคนและเป็นที่ปรึกษาอีกหลายคน ผมขอบคุณต่อสิ่งที่เขาทำและคำแนะนำนั้น แต่ผมซาบซึ้งมากที่สุดคือมิตรภาพที่ได้จากเขา”

เฮนรี คิสซิงเกอร์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ พบปะกับหวัง อี้ นักการทูตระดับสูงของจีนในกรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2023

ประสบการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กำหนดโลกทัศน์

คิสซิงเกอร์เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 1923 ในเมืองฟูร์ธ ประเทศเยอรมนี เขาเป็นชาวยิว หนีจากการข่มเหงของนาซีและเดินทางมายังสหรัฐอเมริกาในปี 1938

“ประมาณครึ่งหนึ่งของคนที่ผมไปโรงเรียนด้วย และสมาชิกในครอบครัวของผมเองประมาณ 13 คนเสียชีวิตในค่ายกักกัน” คิสซิงเจอร์เล่าไว้ครั้งหนึ่ง

เขาได้รับสัญชาติในปี 1943 ก่อนรับราชการในสงครามโลกครั้งที่สอง และต่อมาได้รับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งเขาได้สอนหนังสือ แต่บริการสาธารณะที่ดึงดูดใจได้นำเขาเข้าร่วมงานภาครัฐ

คิสซิงเกอร์เริ่มให้คำปรึกษากับกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมในเรื่องความมั่นคงของชาติ ก่อนที่จะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ และต่อมาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศสมัยประธนาธิบดีนิกสัน

ในพิธีสาบานตนของคิสซิงเกอร์เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศในปี 1973 ประธานาธิบดีนิกสันระบุว่า “มีความสำคัญมากในสมัยนี้ เมื่อเราต้องคิดถึงอเมริกาในฐานะส่วนหนึ่งของประชาคมโลก ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ชาวต่างด้าวที่กลายเป็นพลเมืองสหรัฐได้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ของสหรัฐอเมริกา”

ที่มาภาพ: https://edition.cnn.com/2023/11/29/politics/henry-kissinger-dead/index.html

ทั้งคู่ยังคงใกล้ชิดกันในขณะที่คณะบริหารของประธานาธิบดีนิกสันจัดการกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ

เมื่อสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของนิกสัน คิสซิงเจอร์เป็นที่ปรึกษาวงในดั้งเดิมคนสุดท้ายของประธานาธิบดีผู้มีเรื่องอื้อฉาว ที่ยังคงเคียงข้างหลังกรณีวอเตอร์เกต บันทึกการลาออกของนิกสัน ส่งถึงคิสซิงเจอร์ และทั้งสองได้สวดภาวนาร่วมกันในคืนสุดท้ายของประธานาธิบดีนอกสันในทำเนียบขาว

“คืนสุดท้ายในที่ทำงาน เขาเชิญผมมาที่ห้องนั่งเล่นลินคอล์น ซึ่งเขาและผมเคยวางแผนนโยบายต่างประเทศด้วยกัน” คิสซิงเจอร์เล่าในการสัมภาษณ์กับ CBS News เมื่อปี 2012

“และนี่คือชายคนหนึ่งที่ใช้เวลาทั้งชีวิตในการเป็นประธานาธิบดี และเขาได้ทิ้งมันทั้งหมดด้วยการกระทำของเขาเอง และขณะที่ผมกำลังจะจากไป เขาพูดว่า ‘ทำไมเราไม่สวดมนต์ด้วยกันล่ะ’ ดังนั้นจึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมและสะเทือนใจต่อโศกนาฏกรรมอันลึกซึ้งในชีวิตของคนๆ หนึ่ง”

หลังจากการลาออกของประธานาธิบดีนิกสัน คิสซิงเจอร์ยังคงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศภายใต้ประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด แต่ช่วงบั้นปลายในรัฐบาลกลับเต็มไปด้วยความคับข้องใจ พรรคอนุรักษ์นิยมภายในพรรครีพับลิกันคัดค้านแนวทาง “détente” ของเขากับสหภาพโซเวียต และเวียดนามใต้ถูกครอบงำโดยคอมมิวนิสต์เวียดนามเหนือในปี 1975 แม้จะมีข้อตกลงสันติภาพก่อนหน้านี้ก็ตาม

สิ่งที่ทำไว้ยังคงกึกก้องในการเมืองของสหรัฐฯ

หลังจากออกจากกระทรวงการต่างประเทศในปี 1977 คิสซิงเกอร์ก็กลายเป็นนักเขียนที่โด่งดังไปทั่วโลกและเป็นที่ปรึกษาระดับนานาชาติ

เขากลับมาร่วมกับรัฐบาลกลางช่วงสั้นๆ ในปี 2002 เมื่อประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุชเสนอชื่อคิสซิงเกอร์ให้เป็นผู้นำคณะกรรมาธิการสืบสวนเหตุการณ์ที่นำไปสู่การโจมตีของผู้ก่อการร้ายเมื่อวันที่ 11 กันยายน แต่คิสซิงเจอร์ลาออกในอีกหนึ่งเดือนต่อมา ท่ามกลางคำถามเกี่ยวกับความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น

งานเขียนและคำแนะนำของเขาเกี่ยวกับภูมิรัฐศาสตร์ ยังเป็นสิ่งที่ต้องอ่านในประชาคมนโยบายต่างประเทศในสหรัฐอเมริกาและต่างประเทศ แม้ยังคงมีการวิพากษ์วิจารณ์อยู่ก็ตาม

ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน กับเฮนรี คิสซิงเจอร์ บนเครื่องบิน Air Force One ในปี 1972 ที่มาภาพ:https://www.theguardian.com/us-news/2023/nov/29/henry-kissinger-dies-secretary-of-state-richard-nixon

ตัวอย่างเช่น ในปี 2016 ชื่อของคิสซิงเกอร์กลายเป็นสายล่อฟ้าในระหว่างการดีเบตชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในพรรคเดโมแครตอันตึงเครียดระหว่างผู้สมัครชั้นนำสองคนของพรรคในขณะนั้น คือ ฮิลลารี คลินตัน และเบอร์นี แซนเดอร์ส

“ผมภูมิใจที่จะบอกว่าเฮนรี คิสซิงเจอร์ ไม่ใช่เพื่อนของผม นับผมรวมไว้กับคนที่ไม่ยอมฟังเฮนรี คิสซิงเจอร์” แซนเดอร์สกล่าว เจาะจงไปที่คลินตัน ซึ่งเคยพูดถึงการขอคำแนะนำจากคิสซิงเจอร์ตอนที่เธอเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ

ความคิดเห็นดังกล่าวเน้นย้ำถึงความแตกแยกที่คิสซิงเกอร์เจอมานาน แม้กระทั่งหลายทศวรรษหลังจากออกจากตำแหน่งสาธารณะ แต่สำหรับรัฐบุรุษผู้กำหนดเส้นทางการทูตที่ไม่น่าเป็นไปได้ตามเงื่อนไขของตนเอง การวิพากษ์วิจารณ์มักจะมาพร้อมกับสิ่งที่คิด เชื่อ และเห็น

“ผมมีโอกาสทำในสิ่งที่ผมเชื่อ ผมสามารถแสดงความเห็นในเวทีต่างๆ มากมาย” เขาบอกกับซาคาเรียในปี 2008 “และมันจะดูไม่เป็นธรรมชาติ และอาจหมายความว่าผมไม่ได้ทำมาก หากไม่มีความเห็นอื่นที่แสดงออกมาอย่างดุเดือดบ้าง”

เรียบเรียงจาก

  • Former US Secretary of State Henry Kissinger dies aged 100
  • Henry Kissinger, one of the most influential and controversial foreign policy figures in U.S. history, dies
  • Henry Kissinger, a dominating and polarizing force in US foreign policy, dies at 100>
  • Henry Kissinger, secretary of state to Richard Nixon, dies at 100
  • Henry Kissinger: Nobel Prize-winning ‘warmonger’ has died at age 100