ในสหรัฐอเมริกา 7 รัฐตกลงร่วมกันที่จะลดการใช้น้ำจากแม่น้ำโคโลราโดลง เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อหลายพื้นที่ในรอบ 2 ทศวรรษ โดยกฎหมาย Colorado River Drought Contingency Plan Authorization ActC มีผลให้รัฐอริสโซนา แคลิฟอร์เนีย โคโลราโด เนวาดา นิวเม็กซิโก ยูท่าห์และไวโอมิง ต้องตกลงร่วมกันว่าแต่ละรัฐจะลดการใช้น้ำจากแม่น้ำโคโลราโดในปริมาณเท่าไร ซึ่งแผนลดการใช้น้ำนี้กำลังอยู่ระหว่างรอการพิจารณาของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
ปัจจุบันการจัดสรรการใช้น้ำจากแต่ละรัฐอยู่บนข้อตกลงที่ทำกันมาในปี 2465 ที่กำหนดสัดส่วนการใช้น้ำที่แน่นอนให้กับแต่ละรัฐ แต่ในรอบ2 ทศวรรษที่ผ่านมา ภูมิภาคนี้ประสบกับปัญหาภัยแล้ง ทำให้ข้อตกลงปี 2465 ไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป
ในปีที่แล้ว อ่างเก็บน้ำทั้งทะเลสาป Powell และทะเลสาป Mead ลดลงถึงระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2503 และ ณ วันที่ 10 เมษายน 2562 ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำทะเลสาป Powell มีเพียง 37% เท่านั้นหรือมีระดับความสูงของน้ำ 3,569 ฟุต
นายเดวิด ซิลเบอร์แมน ศาตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์การเกษตรและทรัพยากร ให้ความเห็นในเอกสารข่าวว่า ข้อตกลงใหม่นี้จะมีผลกระทบชัดเจนต่อเกษตรกร ทำให้ต้องจ่ายค่าน้ำสูงขึ้น และทำให้เปลี่ยนแปลงวิธีการใช้น้ำ
“เกษตรกรอาจจะไม่ชอบใจ แต่มีจำนวนมากที่ใช้น้ำในปริมาณมาก และสะท้อนความจริงว่าเราต้องปรับรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมีหลายแห่งที่ประสบกับปัญหาหนักกว่าที่เราเผชิญอยู่ ทั้งในอิสราเอล ออสเตรเลีย ที่มีน้ำน้อยกว่าในแคลิฟอร์เนีย แต่ก็จัดการได้ดี” นายซิลเบอร์แมนกล่าว
นายซิลเบอร์แมนกล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้อาจจะทำให้เกษตรกรแคลิฟอร์เนียปลูกข้าวน้อยลง รวมทั้งพืชที่ต้องใช้น้ำมาก และอาจจะมีการรีไซเคิลน้ำใช้ ตลอดจนหันมาใช้ระบบน้ำหยดที่ประยัดน้ำมากกว่าแทนระบบน้ำแบบดั้งเดิม
ด้านนาย แอลเลน บรูโน นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียแห่งเบิร์กเล่ย์ มีความเห็นว่า ข้อตกลงใหม่นี้จะช่วยมีการวางแผนจัดการน้ำล่วงหน้าและยืดหยุ่นมากขึ้น อย่างไรก็ตามไม่สามารถฟื้นฟูน้ำในแม่น้ำโคโลราโดให้กลับมาอยู่ที่ระดับเดิมได้ แต่ก็หวังว่าจะมีการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหาน้ำในแคลิฟอร์เนีย รวมทั้งการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล โดยรัฐต้องลงทุนสร้างระบบผลิตน้ำจืดจากทะเล ซึ่งสามารถนำระบบพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาใช้
จีนวางแผนลดการใช้น้ำลง 23%
คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (National Development and Reform Commission:NDRC) ของจีน ร่วมกับกระทรวงทรัพยากร เปิดเผย แผนปฏิบัติการที่จะเพิ่มความเข้มงวดในการใช้น้ำมากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอย่างมีคุณภาพ ที่มีเป้าหมายเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ
โดยในปี 2563 สัดส่วนการใช้น้ำต่อ 10,000 หยวนใน GDP จะลดลง 23% จากระดับปี 2558 ซึ่งการลดการใช้น้ำลง 20% จะเพิ่มมูลค่าในภาคอุตสาหกรรม 10,000 หยวน
นอกจากนี้การใช้น้ำโดยรวมจะจำกัดปริมาณให้อยู่ในระดับ 670 พันล้านลูกบาศ์กเมตรภายในปี 2565 ส่วนหนึ่งจากการเพิ่มการปกป้องแหล่งน้ำ อีกทั้งจะจะจำกัดการใช้น้ำไว้ที่ระดับ 700 พันล้านลูกบาศ์เมตร ทั้งจากการอนุรักษ์น้ำและการนำน้ำกลับไปใช้ใหม่(Recycle) ซึ่งเป็นระดับผู้นำของโลกภายในปี 2578
แผนปฏิบัติการนี้กำหนดภาระกิจหลักไว้ 6 ด้าน ประกอบด้วย การควบคุมการใช้น้ำโดยรวม ลดการทำการเกษตร ควบคุมการใช้น้ำในอุตสาหกรรมและเขตเมือง และสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ขณะเดียวได้มีการบังคับใช้ 2 มาตรการ เพื่อผลักดันการปฏิรูปในการกำหนดราคาน้ำและส่งเสริมการแข่งขันในตลาดธุรกิจบริการให้มากขึ้น และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเงินทุนภาคเอกชนและการขยายช่องทางการเงิน
เว็บไซต์คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติระบุว่า จีนมีน้ำไม่พอใช้ แต่ละปีประสบกับปัญหาขาดน้ำใช้ถึง 50 พันล้านลูกบาศ์กเมตร ขณะเดียวต้องสร้างการตระหนักรู้ถึงการอนุรักษ์น้ำและการป้องกันน้ำเสีย
ในปี 2560 ปริมาณการใช้น้ำต่อ 10,000 หยวนใน GDP สูงถึง 500 ลูกบาศ์กเมตร หรือสูงกว่าระดับเฉลี่ยของประเทศพัฒนาถึง 66.6%
สถาบันวิจัย Zhongshang Industrial ให้ข้อมูลว่า ทรัพยากรน้ำต่อหัวประชากรจีนมีเพียง 1 ใน 3 ของระดับโลกเฉลี่ย อีกทั้งแต่ละภูมิภาคในประเทศมีความแตกต่างกัน โดยในภาตตะวันตกเฉียงใต้และภาคใต้ของประเทศเป็นพื้นที่ที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์ แต่อีก 1 ใน 4 ของภูมิภาคที่เหลือขาดน้ำอย่างรุนแรง
นอกจากนี้การพัฒนาความเป็นเมืองที่สูงขึ้นทำให้น้ำทิ้งโดยเปล่าประโยชน์เพิ่มขึ้น 4.2% ต่อปี จาก 48.5 พันล้านตันในปี 2556 เป็น 57.1 พันล้านตัน
หยวน ต้า โฆษก NDRC กล่าวว่า จีนยังตามหลังประเทศเศรษฐกิจชั้นนำในการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ทุกๆ 10,000 หยวนของมูลค่าอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น มีการใช้ถึง 45.6 ลูกบาศ์กเมตร สูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วถึง 2 เท่า
อี้ จิงผิง รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า ต้องมีการส่งเสริมการอนุรักษ์น้ำตั้งแต่ การพัฒนา การใช้และการปกป้องทรัพยากร ธรรม ชาติด้วยการจัดสรรอย่างรอบคอบ ก่อนหน้านี้อี้ จิงผิง ได้กล่าวว่า โครงการใดที่ไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินการอนุรักษ์น้ำจะไม่ได้รับการพิจารณาอนุมัติ
สถานศึกษาหลายแห่งได้เข้าร่วมโครงการอนุรักษ์น้ำภายใต้ระบบประเมินใหม่ ซึ่งเป็นการพัฒนาร่วมกันของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งจะได้รับมอบหมายพร้อมกับการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนด้านเงินทุน
หม่า จุน ผู้บริหารของสถาบันกิจการภาครัฐและสิ่งแวดล้อม(Institute of Public and Environmental Affairs) ให้ความเห็นว่า แผนงานนี้จะส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์น้ำมากขึ้น
“ความแตกต่างของทรัพยากรน้ำในแต่ละภูมิภาค ทำให้เราต้องประหยัดน้ำมากขึ้น เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในปีหลายปีข้างหน้า นอกจากนี้ในภาคอุตสาหกรรมและการเกษตร การใช้เทคโนโลยีเพิ่มขึ้นจะช่วยให้อนุรักษ์ทรัพยากรได้มากขึ้น และยังใช้ได้กับกระบวนการพัฒนาเมือง เพราะปัจจุบันมีเพียง 11 % ของเมืองที่มีกระบวนการบำบัดนำเสีย”