กว่า 20 ปีที่มูลนิธิไทยรักษ์ป่า องค์กรสาธารณกุศลซึ่งก่อตั้งและสนับสนุนการดำเนินงานโดย บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและป่าต้นน้ำที่สำคัญของประเทศ ได้ฟื้นฟู ดูแลรักษา และปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำและความหลากหลายทางชีวภาพ ผ่านหนึ่งในภารกิจสำคัญ คือ การพัฒนาและปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติให้แข็งแรง ปลอดภัย กลมกลืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็น “ห้องเรียนธรรมชาติ” ให้กับเยาวชนและนักท่องเที่ยว ได้สัมผัสกับคุณค่าของป่าต้นน้ำ ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดความรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติเพื่อส่งต่อให้กับคนรุ่นต่อไป
การพัฒนาและปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติของมูลนิธิไทยรักษ์ป่า ดำเนินการพัฒนาไปแล้ว 2 จังหวัด ใน 8 เส้นทาง ดังนี้ จังหวัดเชียงใหม่ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ 3 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางฯ ยอดดอย (ปี 2561) เส้นทางฯ กิ่วแม่ปาน (ปี 2562) เส้นทางฯ อ่างกา (ปี 2564) อุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย 1 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางฯ น้ำตกมณฑาธาร (ปี 2558) และจังหวัดนครศรีธรรมราช อุทยานแห่งชาติเขาหลวง 4 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางฯ น้ำตกพรหมโลก น้ำตกกะโรม น้ำตกอ้ายเขียว (ปี 2560) และเส้นทางฯ น้ำตกกรุงชิง (ปี 2565)
ปี 2565-2566 มูลนิธิไทยรักษ์ป่าได้ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยว ในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีสภาพภูมิศาสตร์เป็นป่าดิบเขาระดับล่างที่อุดมสมบูรณ์ พื้นที่เกษตรกรรม และปลายทางเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนปกาเกอะญอบ้านแม่กลางหลวง เส้นทางนี้มีความโดดเด่นในฐานะแหล่งเรียนรู้ “นิเวศวัฒนธรรม” ที่ผสมผสานธรรมชาติที่สวยงาม คุณค่าของระบบนิเวศป่าต้นน้ำ และวัฒนธรรมที่มีอัตลักษณ์ของชุมชนชาวปกาเกอะญอบ้านแม่กลางหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ “คนอยู่กับป่า” ได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ ที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
เส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยว มีระยะทางรวมกว่า 2.6 กิโลเมตร ความสูงกว่า 1,280 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง ใช้เวลาเดินเท้าประมาณ 2-2.5 ชั่วโมง สภาพตลอดเส้นทางมีลักษณะเป็นป่าดิบเขาระดับล่าง โดยมีน้ำตกผาดอกเสี้ยว หรือ น้ำตกรักจัง ที่มีความสวยงามเป็นจุดเด่น ส่วนระหว่างทางยังมีผาดอกเสี้ยว สถานที่ที่เป็นภูมินามและเอกลักษณ์ของพื้นที่ เนื่องจากเป็นหน้าผาที่มีต้นเสี้ยวดอกขาว พันธุ์ไม้ท้องถิ่นที่ขึ้นหนาแน่นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมของทุกปี นอกจากนี้ ยังมีนาขั้นบันได สะท้อนวิถีชีวิตชุมชน ก่อนจะไปสิ้นสุด ณ หมู่บ้านแม่กลางหลวง
ระหว่างเดินไปตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติ อาจได้ยินเสียงร้องหรือพบเห็นชะนีมือขาวได้ในระยะใกล้ๆ ซึ่งปกติชะนีมือขาวมักพบในป่าที่อุดมสมบูรณ์ที่มีชั้นเรือนยอดที่ต่อกัน และมีบทบาทสำคัญในการรักษาสภาพป่าให้มีความหลากหลายและยั่งยืน
สิ่งที่มูลนิธิไทยรักษ์ป่า เข้าไปร่วมพัฒนาเส้นทางคือ ป้ายสื่อความหมาย 14 จุด เพื่อถ่ายทอดความรู้ คุณค่า ความงาม และความสัมพันธ์ของสรรพชีวิตในผืนป่าที่มีอยู่ตลอดเส้นทาง ตลอดจนมีการสร้างเส้นทางเดินที่แข็งแรง ปลอดภัยและเป็นมิตรกับธรรมชาติ เพราะมีการนำภูมิปัญญาการก่อสร้างของชาวปกาเกอะญอมาใช้ในการออกแบบ เพื่อรักษาเอกลักษณ์ของชุมชน อีกทั้งได้พัฒนาระบบสื่อความหมายออนไลน์และวีดิโอเยี่ยมชมเสมือนจริง 360 องศา เพื่อให้ผู้สนใจสามารถสัมผัสธรรมชาติในเส้นทางฯ ผาดอกเสี้ยวได้ทุกที่ ทุกเวลา
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป และประธานกรรมการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า กล่าวว่า มูลนิธิไทยรักษ์ป่าได้ปรับปรุงเส้นทางฯ โดยยึดหลักการออกแบบที่มีผลกระทบกับธรรมชาติน้อยที่สุด (Minimal Intervention) เช่น การระวังรักษารากต้นไม้ การใช้วัสดุธรรมชาติ เป็นต้น การรื้อฟื้นวัฒนธรรมการก่อสร้างตามแบบแผนปกาเกอะญอดั้งเดิมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งอาคารบ้านเรือน สะพาน รวมไปถึงราวจับ นำมาประยุกต์ในการออกแบบสิ่งปลูกสร้าง และการรับฟังความคิดเห็นและมีส่วนร่วมจากกลุ่มต่าง ๆ
ส่วนคำว่าแหล่งเรียนรู้ “นิเวศวัฒนธรรม” มาจากการผสมผสานของคำว่า ‘ระบบนิเวศ’ และ ‘วัฒนธรรม’ เนื่องจากเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยวมีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ประกอบกับอัตลักษณ์ของชุมชนชาวปกาเกอะญอบ้านแม่กลางหลวง วัฒนธรรมแห่งการยึดโยงคน สัตว์ ป่า และต้นน้ำ ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนเสน่ห์แห่งวัฒนธรรมที่สอดแทรกให้เห็นในวิถีความเป็นอยู่ การทำการเกษตร และการสร้างบ้านเรือน
วัฒนธรรมที่ยึดโยงกับชุมชนคือผู้นำเที่ยวเฉพาะถิ่น ซึ่งเป็นคนในชุมชนที่เกิด เติบโต และดำเนินชีวิตอยู่ในหมู่บ้าน การนำเที่ยวจึงมิใช่เพียงพานำชมและดูแลความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่เป็นการบอกกล่าวเรื่องราว และความภาคภูมิใจของชาวปกาเกอะญอ ที่ยังคงรักษาผืนแผ่นดินของบรรพบุรุษไว้จากรุ่นสู่รุ่น และมีการแบ่งรายได้จากค่านำเที่ยวส่วนหนึ่งเข้ากองทุนท่องเที่ยวชุมชน เพื่อจัดสรรสวัสดิการให้กับคนในชุมชน และใช้ในการดูแลรักษาผืนป่า
นายเทพรัตน์ กล่าวถึงคุณค่าของเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยวทั้งหมด 4 ด้าน ดังนี้
ด้านนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ความร่วมมือระหว่างกรมอุทยานฯ เอ็กโก กรุ๊ป และมูลนิธิไทยรักษ์ป่าที่ได้ร่วมกันพัฒนาและปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติในพื้นที่อุทยานแห่งชาติอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน โดยดำเนินงานภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับที่ 4 ระหว่างปี 2564-2569 นั้น ถือได้ว่ามูลนิธิไทยรักษ์ป่าเป็นตัวอย่างของภาคเอกชนที่มีส่วนร่วมกับภาครัฐในการส่งเสริมและขับเคลื่อนให้ภารกิจของกรมอุทยานฯ สามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น
ทั้งนี้ มูลนิธิฯ มีแผนที่จะนำความรู้ในทุกมิติการดำเนินงาน 6 ด้าน มายกระดับและขับเคลื่อนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการดูแลผืนป่าต้นน้ำของบ้านแม่กลางหลวง ได้แก่ (1) การอนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำและความหลากหลายทางชีวภาพ 19,000 ไร่ (2) การฟื้นฟูพื้นที่ป่าและปรับระบบเกษตร 500 ไร่ (3) การพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยว (4) การส่งเสริมเยาวชนคนรุ่นใหม่ขับเคลื่อนกิจกรรมอนุรักษ์ (5) การวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม โดยจัดทำฐานข้อมูลเพื่อจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และ (6) การส่งเสริมพื้นที่ต้นแบบคนอยู่ร่วมกับป่า เพื่อให้บ้านแม่กลางหลวง เป็นพื้นที่ต้นแบบการท่องเที่ยวนิเวศวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์อย่างแท้จริง
การพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยว เป็นบทพิสูจน์ของการให้ความสำคัญต่อทั้งธรรมชาติ ความคิดเห็นของทุกภาคส่วน รวมถึงเป็นสื่อกลางการเชื่อมระหว่างธรรมชาติและวิถีชีวิต “คนอยู่ร่วมกับป่า” เพื่อการอนุรักษ์ดูแลผืนป่าต้นน้ำอย่างยั่งยืนและภายใต้บริบท ‘นิเวศวัฒนธรรม’