ThaiPublica > เกาะกระแส > “โฆษกรัฐบาล” ถาม ธปท. ทำไมไม่ค้านรัฐบาลชุดก่อนแจกชาวนาไร่ละพัน

“โฆษกรัฐบาล” ถาม ธปท. ทำไมไม่ค้านรัฐบาลชุดก่อนแจกชาวนาไร่ละพัน

21 พฤศจิกายน 2023


นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

“โฆษกรัฐบาล” โต้ ธปท. ค้านแจกชาวนาไร่ละพันไม่ตรงข้อเท็จจริง ตั้งข้อสังเกตรัฐบาลชุดก่อนทำ เหตุใดไม่ท้วงติง

ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ทำหนังสือด่วนที่สุดที่ นร 0506/ว(ล) 24405 ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 มาถามความเห็นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กรณีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกปีการผลิต 2566/67 (เพิ่มเติม) เพื่อให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 ใช้ประกอบการพิจารณา

ปรากฏว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี โดยให้ความเห็นว่า โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการ และพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรผู้ปลูกข้าวมีความจำเป็นลดลง (แจกเงินชาวนาไร่ละ 1,000 บาท) เมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจุบันราคาข้าวสูงขึ้นมาก และราคาปุ๋ยลดลงอย่างต่อเนื่องนั้น

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า ตามที่ ครม. ได้มีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนค่าบริหารจัดการ และพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตร โดยการจ่ายเงินสนับสนุนชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ทาง ธปท. ได้ทำหนังสือมาให้ความเห็นว่าไม่จำเป็นต้องออกมาตรการดังกล่าวนี้ ในขณะที่รัฐบาลชุดที่ผ่านมาก็ออกมาตรการช่วยเหลือชาวนาดังกล่าวเหมือนกัน แต่ก็ไม่เห็นมีปัญหาแต่อย่างใด

นายชัยกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม. ได้มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือชาวนา 2 ครั้ง คือ มติ ครม. เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งเป็นมาตรการแทรกแซงราคาข้าวเปลือกหอมมะลิความชื้น 25% ที่ตกต่ำ ส่วนมติ ครม. เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 เป็นมาตรการช่วยเหลือชาวนาด้วยการจ่ายเงินสนับสนุนไร่ละ 1,000 บาท รายละไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งเป็นการให้เงินสนับสนุนการบริหารและพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร

ส่วนกรณีที่ ธปท. ให้ความเห็นว่าการให้เงินช่วยเหลือสนับสนุนไร่ละ 1,000 บาทอาจไม่ค่อยจำเป็นแล้ว เนื่องจากสภานการณ์ไม่เหมือนกับก่อนหน้านี้ โดยราคาข้าวเปลือกปัจจุบันอยู่ในช่วงขาขึ้น บวกกับต้นทุนการผลิตลดต่ำลงนั้น นายชัยกล่าวว่า รัฐบาลชุดที่ผ่านมาได้ให้เงินอุดหนุน หรือเงินช่วยเหลือชาวนาผ่านโครงการต่างๆ เกือบ 150,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีอยู่ 86,000 ล้านบาทที่ใช้ในโครงการประกันราคาข้าวเปลือก ไม่ว่าจะเป็นข้าวหอมมะลิ ประกันราคาที่ 15,000 บาทต่อตัน, ข้าวเปลือกเจ้า ประกันราคาที่ 10,000 บาทต่อตัน, ข้าวเปลือกเหนียว ประกันราคาที่ 12,000 บาทต่อตัน อีกทั้งรัฐบาลก่อนก็ให้เงินสนับสนุนการบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพข้าวไร่ละ 1,000 บาท เช่นเดียวกับรัฐบาลชุดนี้

ส่วนกรณีที่ ธปท. ให้ว่าปีนี้ข้าวราคาดี โครงการไร่ละ 1,000 บาทจึงมีความจำเป็นน้อยลง นายชัยชี้แจงว่า “เงินที่ชาวนาได้จากการขายข้าวเปลือกในปีนี้ แม้จะได้ราคาสูงกว่าการขายข้าวเปลือกปีที่แล้ว แต่ปีที่แล้วชาวนาได้เงินอุดหนุนจากการประกันราคา เมื่อบวกเงินอุดหนุนแล้ว เงินที่ชาวนาขายข้าวได้รับแทบไม่ต่างกัน เพราะปีนี้ราคาข้าวเปลือกขึ้น แต่รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้ประกันราคา ดังนั้น เงินที่เกษตรกรได้รับก็เพิ่มขึ้น เปรียบเทียบเท่าปีที่แล้วที่ชาวนาขายข้าวได้น้อย แต่รัฐบาลควักเงินมาจ่ายถึง 86,000 ล้านบาท ทำให้ชาวนามีรายได้จากการขายข้าวไม่แตกต่างกันเท่าไร”

“แต่ที่แย่กว่าปีที่แล้ว คือ ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายน 2566 ครม. มีมติ 2 ครั้ง เป็นช่วงเวลาที่ผลผลิตข้าวเปลือกหอมมะลิ กำลังจะออกสู่ตลาด และราคาข้าวเปลือกหอมมะลิที่ความชื้นที่ 15% แม้จะมีการประกาศราคาพอๆ กับปีที่แล้ว คือ 14,500-15,000 บาทต่อตัน แต่ในทางปฏิบัติข้าวเปลือกหอมมะลิจะมีความชื้นอยู่ที่ 25% พ่อค้าจ่ายเงินรับซื้อจริงแค่ 10,800 บาทต่อตันเท่านั้น เปรียบเทียบกับราคาข้าวเปลือกหอมมะลิที่ความชื้น 15% รับซื้อที่ราคา 12,200 บาทต่อตัน หมายความว่าปีนี้ชาวนาขายข้าวได้ราคาน้อยลงกว่าเดิม และไม่มีเงินประกันราคาข้าวให้อีกด้วย รัฐบาลจึงจำเป็นต้องจ่ายเงินอุดหนุนให้ชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ใช้งบประมาณ 56,000 ล้านบาท น้อยกว่าปีที่แล้วเกือบครึ่งหนึ่ง” นายชัยกล่าว

นอกาจากนี้ นายชัยยังย้ำว่า เหตุผลที่ ธปท. หยิบยกมาก็ไม่ใช่ข้อเท็จจริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคาปุ๋ยที่มีต้นทุนต่ำลง ข้อเท็จจริงคือ เกษตรกรมีการใช้ปุ๋ยอยู่ 4 สูตร โดยปี 2566 มีปุ๋ยเพียงสูตรเดียวที่ราคาต่ำกว่าปี 2565 คือสูตร 46-0-0 ส่วนอีก 3 สูตรราคาแพงกว่าปีก่อน ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนสูงขึ้นเล็กน้อย ดังนั้น หนังสือแสดงความเห็นของ ธปท. จึงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

“ขอเรียนว่าข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งกระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีความละเอียดและลึกซึ้งกว่าข้อมูลของ ธปท. เพราะ ธปท. ดูรายงานกว้างๆ ไม่เจาะลึกเหมือนหน่วยงานที่ดูโดยตรง” นายชัยกล่าว

นายชัยกล่าวต่อว่า “ยิ่งกว่านั้น ที่น่าแปลกใจมาก คือ ปีที่แล้วรัฐอุดหนุนช่วยชาวนาใช้เงินเกือบ 150,000 ล้านบาท และชาวนาได้เงินพอๆ กับปีนี้ แม้จะขายข้าวเปลือกได้ราคาถูกลง แต่ได้รับเงินประกันจากรัฐบาล สรุปปีที่แล้วชาวนาได้เงินแล้วพอๆ กับปีนี้ แต่ปีนี้รัฐบาลไม่ได้จ่ายเงินประกันรายได้”

“ปีที่แล้วก็มีโครงการให้ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ แต่ ธปท. ไม่มีความเห็นหรือออกมามีหนังสือเปิดผนึกโต้แย้ง เป็นเรื่องที่ผมค่อนข้างจะแปลกใจ เรื่องแบบเดียวกัน แทบจะลอกกันมาเลย แต่ปีที่แล้วไม่ท้วงติง ไม่แสดงความเห็น ไม่ปรากฏในรายงานการประชุม แต่ปีนี้มีและเป็นข่าวด้วย”

นายชัยกล่าวต่อว่า ธปท. และรัฐบาลต้องแบ่งบทบาทหน้าที่กัน โดย ธปท. ดูแลเรื่องการเงิน หากจะมีหนังสือท้วงติงควรเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น อัตราดอกเบี้ยที่ควรจะคิดควรเป็นเท่าไร ระยะเวลาคืนเงินต้นควรเป็นเท่าไร หลักประกันความเสี่ยงอะไรการปล่อยสินเชื่อควรจะเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่รัฐบาลทำคือ “นโยบายทางการคลัง” เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบของรัฐบาล

“ความเห็นของ ธปท. รัฐบาลพร้อมรับฟัง แต่บทบาทหน้าที่มันแบ่งกัน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลมีรายละเอียดอยู่ในมือ เราพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เรื่องอื่นนอกเหนือจากประเด็นทางการเงิน เราคิดว่าขอให้หน่วยงานของภาครัฐที่มีข้อมูลลึกซึ้งแม่นยำกว่าเป็นผู้พิจารณาและตัดสินใจน่าจะดีกว่า” นายชัยกล่าว

  • ‘ภูมิธรรม’ เคาะขึ้นราคาน้ำตาลกิโลละ 2 บาท – มติ ครม. สั่ง ธ.ก.ส. จัด 56,321 ล้าน แจกชาวนาไร่ละพัน