ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > UNGCNT ร่วมเวที SDGs SUMMIT 2023 เร่งยกระดับทรัพยากรมนุษย์ยุคเศรษฐกิจ 5.0

UNGCNT ร่วมเวที SDGs SUMMIT 2023 เร่งยกระดับทรัพยากรมนุษย์ยุคเศรษฐกิจ 5.0

1 ตุลาคม 2023



UNGCNT เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปี ค.ศ. 2023 (SDGs Summit 2023)ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ชู 3 ประเด็นเร่งเดินหน้า SDGs ในอาเซียน เน้นยกระดับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับยุคเศรษฐกิจ 5.0

นายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UN Global Compact Network Thailand)

นายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UN Global Compact Network Thailand) กล่าวแถลงในงานเสวนาระดับสูงระหว่างการประชุม SDGs Summit 2023 ในหัวข้อ Fostering Partnership for Our Common Future: Enhancing Multi-Stakeholder Partnerships to Accelerate the SDGs in ASEAN ว่าสมาคมฯ รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของไทยและในภูมิภาคอาเซียน สมาคมฯ เห็นพ้องกับข้อสังเกตจากการประชุม SDGs Summit และเลขาธิการสหประชาชาติ ที่ต่างเรียกร้องว่า การบรรลุ SDGs ของไทยและประเทศอาเซียนอาจจะยังคืบหน้าไม่รวดเร็วพอ และเห็นด้วยกับข้อริเริ่มของสหประชาชาติที่สนับสนุนให้ภาคเอกชนมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนไปสู่ SDGs และ ASEAN Community Vision 2025

ในช่วงเวลา 8 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่สหประชาชาติ ได้รับรองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ โลกในวันนี้เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและเผชิญความท้าทายต่อเนื่อง ทั้งการต่อสู้กับสภาพการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ถูกยกระดับขึ้นเป็นสีแดง (Code-Red Climate Change) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนผ่านสู่โลกแห่งเทคโนโลยีดิจิทัล การแพร่ระบาดของโควิด-19 และสังคมสูงวัย

“จากยุคอุตสาหกรรม 4.0 เรากำลังเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจ 5.0 ซึ่งเป็นยุคที่มนุษย์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) ผสมผสานกันอย่างใกล้ชิดกันที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทุกคนต่างมีความรับผิดชอบร่วมกันที่จะใช้ชีวิตและบริโภคอย่างยั่งยืน สมดุล” นายศุภชัยกล่าว

สมาชิกของสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความยั่งยืนร่วมกัน อาทิ เมื่อปี ค.ศ. 2020 ได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะร่วมลงทุนใน 1,000 โครงการที่มีมูลค่ากว่า 4,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามโครงการ UN SDGs Decade of Action และต่อมาเมื่อปี ค.ศ. 2021 หลังจากทั่วโลกเริ่มตื่นตัวเรื่องเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์หรือ “Net Zero” สมาชิกสมาคมฯ ได้ผนึกพลังร่วมกันตั้งเป้าเพื่อบรรลุ Net Zero ภายในปี ค.ศ. 2050 หรือช้าที่สุดไม่เกินปี ค.ศ. 2070

นอกจากนี้ ยังได้ก่อตั้ง Human Right Academy สำหรับภาคธุรกิจเมื่อ 2 ปีก่อน เพื่อส่งเสริมการดูแลสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจไทยที่มีห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ไปทั่วภูมิภาคอาเซียน ความพยายามเหล่านี้นับเป็นส่วนสำคัญที่สนับสนุนให้ไทยได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าในการบรรลุเป้าหมาย SDGs มากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้จากรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน ประจำปี 2566 (Sustainable Development Report 2023) ของ SDGs Sustainable Development Solutions Network (SDSN)

นายศุภชัยฯ ยังได้ตั้งข้อสังเกตสำคัญ 3 ข้อ ที่จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียนสำหรับยุคเศรษฐกิจสังคม 5.0 ได้แก่

1.Transparency through Reporting ได้พยายามรณรงค์การจัดทำรายงานความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนมาโดยตลอด ซึ่งรวมถึงการตั้งเป้าหมายและตัวชี้วัด (Targets and KPIs) โดยสมาคมฯ ได้ร่วมทำงานกับพันธมิตร อาทิ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนกว่า 800 บริษัท เปิดเผยข้อมูลการดำเนินการเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Action) และสิทธิมนุษยชน (Human Rights) ควบคู่ไปกับผลประกอบการ ทั้งนี้ เพราะการจัดทำรายงานช่วยส่งเสริมการจัดระบบการบริหารจัดการและการเก็บข้อมูลในองค์กรอย่างเปิดเผย (Open Data) อันจะช่วยเรื่องการระดมทุนขององค์กร อีกทั้งยังลดความเสี่ยงของการรายงานการดำเนินการเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมขององค์กรเกินความจริง (Green Washing)

2.Balance between Digital Transformation and SDGs การเปลี่ยนแปลงเข้าสู่โลกดิจิทัลของประเทศอาเซียนมีความสำคัญยิ่งขึ้นทุกวัน เพราะจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มทักษะความสามารถในการแข่งขันของคนรุ่นใหม่ อย่างไรก็ดี การพัฒนาคุณภาพการศึกษาตาม SDG4 และการต่อต้านคอร์รัปชันผ่าน E-Government ตาม SDG 16 ล้วนต้องอาศัยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้มากขึ้น เช่น การสร้าง Data Center ที่จำเป็นต้องใช้พลังงานมหาศาลในการดูแลเซิร์ฟเวอร์ โดยเฉลี่ยประมาณ 1,000 กิโลวัตต์ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร เช่นเดียวกับเทคโนโลยี 5G ที่ต้องการสถานีกระจายสัญญาณเพิ่มขึ้น และใช้พลังงานมากกว่าการปล่อยสัญญาณ 4G มากกว่า 2-3 เท่า ดังนั้น การเข้าถึงแหล่งพลังงานที่มีความยั่งยืน กระแสไฟมีความเสถียร ในราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้ จะเป็นความท้าทายของประเทศอาเซียนที่จะต้องรักษาสมดุลระหว่างการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีนี้กับความพยายามบรรลุเป้าหมาย Net Zero

3.Human Capital Development บุคลากรที่จะช่วยพาประเทศอาเซียนสู่การบรรลุเป้าหมาย SDGs โดยเฉพาะในยุคเศรษฐกิจ 5.0 ต้องมี Growth Mindset ที่พร้อมหาโอกาสใหม่ในโลกที่ท้าทาย มีความคิดสร้างสรรค์ และได้รับการศึกษาที่เน้นการลงมือทำ (Action-Based) ตั้งแต่ในโรงเรียน เพื่อให้สามารถเข้าสู่โลกการทำงานที่วัดผลงานและจ่ายค่าตอบแทนได้อย่างเป็นธรรม ที่สำคัญที่สุด คือการตระหนักรู้ถึงคุณค่า ESG อย่างลึกซึ้งและสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

“ดังนั้นเราจึงนิยามทรัพยากรมนุษย์สำหรับยุคใหม่ว่าเป็น Sustainable Intelligence-Based Human Capital กล่าวคือ คนที่มีทักษะจำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 ภายใต้ยุคเศรษฐกิจและสังคม 5.0 มี Mindset ที่ถูกต้องเพื่อใช้ AI อย่างชาญฉลาดไม่กลายเป็นผู้ที่จะละเมิดการรายงานด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมขององค์กรเกินความเป็นจริง (Green Washers) สามารถเรียกคนกลุ่มนี้ว่า SI Human Capital” นายศุภชัยฯ กล่าว

นายศุภชัยฯ ในฐานะนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ได้ตอกย้ำความมุ่งมั่นร่วมผลักดันให้ประเทศไทยและอาเซียนบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) มุ่งให้ประชาคมโลกเปลี่ยนในทางที่ดีขึ้น เมื่อทุกคนเปลี่ยนวิธีคิดและลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง