ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > Thailand SDGs Forum 2017#3 : SDGs in Action เครือซีพี “ตระหนักรู้-โปร่งใส” เปิดหู เปิดตา รับฟังและพัฒนา สู่ “Living Right-Living well-Living Together “

Thailand SDGs Forum 2017#3 : SDGs in Action เครือซีพี “ตระหนักรู้-โปร่งใส” เปิดหู เปิดตา รับฟังและพัฒนา สู่ “Living Right-Living well-Living Together “

14 กันยายน 2017


มูลนิธิมั่นพัฒนาและสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า จัดงานสัมมนา “Thailand SDGs Forum 2017#3: Positioning Thailand on SDG Map” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 กันยายน 2560 ณ ห้องประชุมบอลรูม 2-3 โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี)

งาน “Thailand SDGs Forum 2017#3: Positioning Thailand on SDG Map มีปาฐกถาหัวข้อ “Business and Sustainability, the Hype and the Reality” โดย นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) มีสาระดังนี้

ผมเป็นตัวแทนเครือเจริญโภคภัณฑ์มาพูดถึง Sustainability in Action ว่าองค์กรมีการปรับตัวอย่างไร โดยเฉพาะภาคเอกชน ซึ่งในขณะที่เราเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ แต่ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นต่อโลก รวมไปถึงระบบสังคม ก็มีการปรับเปลี่ยนและเกิดผลในทางที่ทำให้ไม่ยั่งยืนขึ้น เกิดการไม่มีความสมดุล ไม่ว่าจะในหมวดหมู่ของสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

เครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นองค์กรที่มีการลงทุนในปัจจุบันประมาณ 19 ประเทศ มีการค้าระหว่างประเทศมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก แบ่งเป็นประมาณ 8 สายกลุ่มธุรกิจ ตั้งแต่ธุรกิจเกษตรอาหาร, ธุรกิจการตลาดและการจัดจำหน่ายหรือโลจิสติกส์, ธุรกิจโทรคมนาคม และมีเดีย, ธุรกิจเวชภัณฑ์, ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์, ธุรกิจยานยนต์และอุตสาหกรรมหนัก, ธุรกิจสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และธุรกิจการเงินและการลงทุน

ความคาดหวังของสังคมต่อผู้นำอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน

วิสัยทัศน์ (Vision) ของบริษัทในช่วงประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา มีการพูดถึงการจะเป็นผู้ที่ให้อาหารคนและอาหารสมอง แต่ด้วยวิสัยทัศน์ที่เรามองว่าจะไปต่ออีก 20 หรือ 30 ปีข้างหน้า เราจึงต้องปรับวิสัยทัศน์ให้มีความละเอียดมากขึ้นและสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืนมากขึ้น

เรามีการปรับวิสัยทัศน์ซึ่งเป็นการสื่อถึงพนักงานและผู้บริหารทุกคนในองค์กรว่า “เรามุ่งมั่นในการสร้างอาหารคน อาหารสมอง โอกาสในการเข้าถึงคุณค่าเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคน” เราต้องมองทุกอย่างเป็น Inclusive ต้องมองทุกอย่างว่าจะสามารถเกิด Shared Value หรือเติบโตไปด้วยกันได้อย่างไร

จริงๆ แล้วภาคเอกชนถูกตั้งความหวังไว้เยอะมาก ไม่ว่าผมจะไปฟอรัมที่ไหนก็ตามที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความยั่งยืน ทุกคนจะบอกว่าผู้ที่ขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงได้ประสิทธิผลมากกว่าภาครัฐคือ “ภาคเอกชน” ซึ่งมีความคล่องตัว โดยเฉพาะเอกชนที่ถือว่ามีความสำคัญในระดับประเทศหรือระดับข้ามชาติ เพราะจะมีส่วนในการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงได้โดยปลอดจากการเมือง ซึ่งรวมไปถึงเรื่องภูมิศาสตร์ทางการเมือง (Geopolitics) เป็นต้น

ดังนั้น ยิ่งการเติบโตของเศรษฐกิจและการเติบโตของเอกชนมากขึ้นเท่าไหร่ ความคาดหวังก็สูงมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะเอกชนที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนั้นๆ ยิ่งมีความคาดหวังสูงขึ้น เมื่อความคาดหวังสูงแต่ยังทำเหมือนเดิม สิ่งที่ตามมาคือความผิดหวังหรือ Mistrust คือระบบความไม่ค่อยวางใจเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติของระบบเศรษฐกิจและสังคม

เครือเจริญโภคภัณฑ์ก็ต้องการปรับตัวให้สามารถที่จะไม่ได้เป็นผู้นำเฉพาะในภาคพื้นอุตสาหกรรมที่ทำอยู่ แต่ยังต้องการที่จะเป็นผู้นำในการช่วยขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่ความยั่งยืน ดังนั้น ตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว เครือเจริญโภคภัณฑ์มีการจ้างที่ปรึกษาระดับโลก รวมไปถึงการทำเวิร์กชอปหลายครั้งทั้ง 8 สายกลุ่มธุรกิจ

โดยมีผู้บริหารระดับสูง หรือผู้ที่เกี่ยวข้องที่สมัยก่อนเราเรียกว่า CSR (Corporate Social Responsibility) ก็ดี หรือการขับเคลื่อนธุรกิจในแง่ซัพพลายเชนต่างๆ มาร่วมกันทำเวิร์กชอป จนกระทั่งกลั่นกรองออกมาเป็น Goals ที่มีความสอดคล้องกับหลายๆ เป้าประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ซึ่งรวมไปถึง SDGs ด้วย

ในปี 2015 ท่านประธานอาวุโส คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ได้ประกาศนโยบายด้านความยั่งยืนและเป้าหมายด้านความยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ออกมาอย่างเป็นทางการ ประกาศนี้ใช้ทั้งระบบ ทั้ง 20 ประเทศที่เรามีการลงทุน ใช้ในการเทรดการค้าและนำไปสู่เพื่อนคู่ค้าของเครือด้วย

ในประกาศพูดถึงนโยบายความยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งในการดำเนินธุรกิจตลอด 90 ปีที่ผ่านมา หลักที่ใช้กันมานานมากคือหลัก “3 ประโยชน์” คือ ถ้าเราไปลงทุนที่ไหนประเทศนั้นต้องได้ประโยชน์ สังคมและประชาชนต้องได้ประโยชน์ แล้วบริษัทถึงจะได้ประโยชน์ เป็นหลัก 3 ประโยชน์สู่ความยั่งยืนในมิติที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ใช้มาตลอด 90 ปี

แต่ในขณะเดียวกันก็มีการเรียนรู้จากมาตรฐาน กฎหมาย กฎระเบียบของแต่ละประเทศทั่วโลก และมีการปรับตัวอย่างต่อเนื่องตลอดมาเพื่อให้ได้มาตรฐานที่เหมาะสมตามความต้องการใหม่ที่มีการปรับตัวมากขึ้น

เพราะเครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นผู้ที่ทำการค้า-การส่งออก ไปในยุโรป ญี่ปุ่น อเมริกา ฯลฯ ต้องมีการปรับตัวตลอด ดังนั้น เรามองว่าต้องปฏิบัติตามมาตรฐานโลก ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานในประเทศหรือมาตรฐานสากล แต่นั่นเป็นลักษณะของการเป็นผู้ที่ให้ความร่วมมือ แต่ยังไม่ได้เป็นผู้ที่ช่วยขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง

เรียนรู้ความยั่งยืนจาก “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”

ดังนั้น ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เราเข้าเป็นสมาชิกของ UNGC เข้าไปมีส่วนร่วมและทำการศึกษารวมถึงวาง Commitment หลายเรื่อง โดยเป้าประสงค์ของเราคือนำเอาเรื่อง 17 SDGs มาเป็นมาตรฐานในการดำเนินธุรกิจของเรา และซีพีกรุ๊ปยังมีสิ่งที่เรียกว่า “C.P. Excellence Principles” หลักใหญ่ๆ ก็คือเป็นกระบวนการด้านการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในเรื่องคุณภาพ รวมไปถึงเรื่องความยั่งยืนด้วย

สิ่งที่ขาดไม่ได้เลย เนื่องจากพื้นฐานสำคัญที่เราเป็นองค์กรไทยเติบโตจากประเทศไทยก็คือ “ปรัชญาเศษฐกิจพอเพียง” ซึ่งเราได้มีชีวิตผ่านช่วงที่ทำให้เข้าใจปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างลึกซึ้ง

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีมานานแล้ว แต่เรามารู้จักกันมากๆ หลังวิกฤติต้มยำกุ้ง ตอนนั้นเครือเจริญโภคภัณฑ์มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วมาก ลงทุนมหาศาล ทั้งการกู้เงินและเพิ่มทุน โดยมองการขยายผลทางธุรกิจเป็นหลัก

จนกระทั่งเมื่อเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งขึ้น เราถึงรู้ตัวว่าสิ่งที่เราทำไม่ยั่งยืน และเป็นการขับเคลื่อนด้วยความทะเยอทะยาน แต่ไม่ได้มองถึงพื้นฐานที่มั่นคงว่าจริงๆ แล้วเราก้าวกระโดดเกินไปหรือเปล่า พูดง่ายๆ ก็คือเราได้คำนึงถึงความพอเพียงหรือเปล่า ความเหมาะสมและศักยภาพของเราหรือเปล่า

เราใช้เวลากว่า 10 ปีหลังต้มยำกุ้ง ในการฟื้นตัวเองกลับขึ้นมา แต่ก็ไม่เคยจะล้มบนฟูกหรือหนีหนี้ หลายองค์กรของเราล้มไป ปิดกิจการไป แม้กระทั่งต้องขายทรัพย์สินออกไป สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนจำนวนมากไม่เห็น

เราจึงมีความเข้าใจเรื่องนี้อย่างดี ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงก็คือ เราทำอะไรอย่าเกินตัว อย่าวางอยู่บนพื้นฐานของความโลภหรือความเห็นแก่ตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง

ดังนั้นที่บอกว่า จากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไปที่ SDGs ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่เราชาวไทยทุกคนเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เป็นสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ท่านทรงให้กับประเทศไทย และผมเชื่อว่าให้กับโลกด้วยว่าหลักจริยธรรม ความรู้จักพอเพียง ความไม่ขับเคลื่อนทุกอย่างในชีวิตโดยความโลภ ความเห็นแก่ตัว สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง

สอดรับกับ Goals 17 ข้อ ซึ่งอาจมองไปในตัวมาตรวัด แต่ความลึกและจิตวิญญาณของความยั่งยืน ประเทศไทยเป็นบุญอย่างมากที่ได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้มาแล้วจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9

“ตระหนักรู้-โปร่งใส” เปิดหู เปิดตา รับฟังและพัฒนา

เครือเจริญโภคภัณฑ์แบ่ง SDGs เป็น 3 พื้นที่ใหญ่ๆ 1. Heart ซึ่งเกี่ยวกับเรื่อง Living Right 2. Health คือ Living well และ 3. Home คือ Living Together

ที่บอกว่า Heart เพราะหนีไม่พ้นเรื่องการกำกับดูแล (Governance) เรื่องธรรมาภิบาลขององค์กร จริงๆ มันหยั่งลึกไปถึงเรื่องค่านิยมหลัก (Core Value) หลักจริยธรรม (Code of Conduct) ฯลฯ สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญ เพราะเป็นจิตวิญญาณขององค์กร สิ่งที่สำคัญที่สุดของการสร้างสร้างธรรมาภิบาลก็คือ การสร้างความตระหนัก (Awareness) ที่ถูกต้องและนำไปสู่ความคิด (Mindset) ที่ถูกต้อง

แต่ถ้าความตระหนักรู้นั้นไม่เกิดขึ้นอย่างทั่วถึง หรือเกิดขึ้นกับคนเฉพาะกลุ่มในองค์กร เราก็ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำในแต่ละส่วนของงานในเครือเจริญโภคภัณฑ์ จะต้องเป็นผู้ที่มีความตระหนักรู้สูงสุด เพราะต้องทำเป็นตัวอย่างที่ดี หรือ “การผูกพันกับผู้มีส่วนได้เสีย” (Stakeholder Engagement)

ที่ผ่านมาวิธีการทำงานของเอกชนคือมุ่งเน้นความสำเร็จเป็นหลัก แต่บางครั้งเราหยุดหรือหลีกเลี่ยงที่จะฟังผู้ที่มีผลกระทบทั้งหมดหรือผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด เรากลัวด้วยซ้ำไปในหลายกรณีว่าถ้าเราให้ผู้อื่นเข้ามารู้กระบวนการทั้งหมดของเรา มันจะออกมาดีหรืออาจออกมาไม่ดี

นี่เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าเราอยู่ในระบบที่ค่อนข้างปิด แต่ในระบบปัจจุบันทุกอย่างคือเรื่องการเชื่อมโยง ทุกอย่างคือความร่วมมือ ทุกอย่างคือเรื่องความโปร่งใส

ดังนั้น การที่เรามีมิติที่ครบและยอมฟังเสียงวิจารณ์ สามารถที่จะมีตัวแทนของบุคคลที่มีมุมมองที่แตกต่างเข้ามาอยู่ในกระบวนการ ซึ่งจะสามารถสร้างวิวัฒนาการ สร้างนวัตกรรมได้มากขึ้น นี่เป็นสิ่งที่เราได้เรียนรู้ พัฒนา และเปิดกว้างมากขึ้น แม้จะยังไม่ 100% แต่อยู่ในเป้าหมายของเรา อยู่ในกระบวนการการวัดผลของเรา

ในด้าน Living Well หรือ Health ทุกข้อเราดูจากพื้นฐานว่าเราสามารถสร้างคุณค่าทางสังคมในเรื่องความยั่งยืนอะไรได้ดีที่สุดด้วย เราจะไม่ได้ดูว่าเพื่อให้ครบ 17 ข้ออย่างเดียว แต่เราต้องมองว่าผลกระทบที่เราสร้างได้จริงมีเรื่องอะไรบ้าง ส่วน Home จะเป็นเรื่องที่อยู่อาศัย โลกที่เราอยู่ บ้านของเราเอง เราจะรักษาไว้ให้ลูกหลานและตัวเราเองได้อย่างไร

ยกตัวอย่างของเป้าหมายที่เราได้จ้างที่ปรึกษาระดับโลกที่นำมาตรฐานของผู้ประกอบการระดับโลกมาว่าเขาตั้งเป้าหมายอย่างไร เราก็ศึกษาและวางเป้าหมายใน 5 ปีที่เรามองว่าน่าจะทำได้ มีความสอดคล้องและใกล้เคียงกับองค์กรระดับโลกที่เขาวางกัน

ส่วนใหญ่แล้วเรื่องการสร้าง “ความตระหนักรู้” และ “ความโปร่งใส” จะเป็นเรื่องใหญ่มากในฝั่งของ Heart ส่วนเรื่อง Living Well เราต้องวัดลงไปเป็นตัวเลขว่าจริงๆ แล้วเราจะสร้างให้เกิดคุณค่าทางสังคมในจำนวนเท่าไหร่

อันนี้เป็นการเริ่มต้นการเดินทาง ซึ่งเราไม่เคยวัดมาก่อน บริษัทโดยทั่วไปอาจจะทำแต่เรื่อง CSR แต่ไม่ได้วัดว่าคุณค่าทางสังคมเกิดขึ้นได้อย่างไร ถูกนำมาใช้ให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Win-Win Situation ได้อย่างไร

เมื่อสักครู่วิทยากรบางท่านก็ได้พูดว่าทำอย่างไร เช่น กรณีประชารัฐ เราไม่เคยแบ่งปันเป้าหมายร่วมกัน (Common Goals) เลย เราไม่มีเป้าหมายร่วมกันกับระบบที่เป็นของสังคมหรือส่วนรวม แต่เราจะมี Goals ของบริษัทเป็นหลัก

แต่ถ้าเรามีเป้าหมายร่วมกันที่แชร์ในกรณีของ SDGs ซึ่งเป็น Goals ระดับโลก เรามีเป้าหมายร่วมกันที่แชร์ในระดับประเทศ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ เกี่ยวข้องกับการลดความเหลื่อมล้ำ เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน เหล่านี้เป็นมิติที่เราต้องวางเป้าหมายร่วมด้วยเช่นกัน

ยกตัวอย่างเช่นในเรื่องส่วนของ Home เรื่องสิ่งแวดล้อมต่างๆ ก็มีการวางเป้าหมาย และมีเรื่องของน้ำด้วย อย่างที่มูลนิธิปิดทองหลังพระได้วางเป้าหมายในเรื่องน้ำไว้ เราก็มีความภูมิใจถ้าจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพัฒนาภาคเกษตรซึ่งมีน้ำเป็นหัวใจ หรือเรื่องตัววัดต่างๆ ที่เราเริ่มวัดไปแล้ว เราได้วัดและติดตามอย่างต่อเนื่องและจะวัดผลต่อไป

มิติใหม่ “ความร่วมมือระหว่างกัน”

เรายังผนึกกำลังเรื่องความยั่งยืนกับหลายหน่วยงาน ทั้งสหประชาชาติ รวมไปถึง UN Global Compact ซึ่งเป็นที่มาของ SDGs นอกจากนั้นยังมีองค์กรภาคเอกชนที่ตั้งขึ้นมาเรียกว่า WBCSD (World Business Council for Sustainable Development) ซึ่งก็เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน

หรือ DJSI (Dow Jones Sustainability Indices) ซึ่งเป็นตัววัดตัวหนึ่ง ซึ่งขณะนี้บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ทั้งหมดจะต้องปฏิตาม ต้องประยุกต์ และจะต้องทำให้ตัวเองผ่าน DJSI ให้ได้ ถือเป็นบันได้ขั้นที่หนึ่ง เพื่อสร้างความโปร่งใสในเชิงของการทำรายงานในด้านความยั่งยืน

ในเวลาเดียวกันเราก็มีการร่วมกับ 15 องค์กร ตั้ง “UN Global Compact Network” ประเทศไทย เพื่อจะช่วยกันขับเคลื่อนและขยายผล และสร้างความตระหนักรู้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแชร์ Knowledge หรือ แชร์ Best Practice

และยังมีกิจกรรมอีกหลายด้านที่ดำเนินอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เช่น ประชารัฐเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เรายิ่งตระหนักรู้มากขึ้นไปอีกว่า “ความร่วมมือระหว่างกัน” เป็นมิติใหม่จริงๆ เป็นความร่วมมือที่ทำให้เราสามารถเรียนรู้ และรู้ได้ว่ามีหลายอย่างสามารถสร้างสิ่งใหม่ได้โดยไม่ต้องใช้ Effort มาก

บางทีเราคิดว่าความยั่งยืนที่เราพูดถึงจะต้องใช้ Effort มาก แต่หนึ่งใน 17 Goals จะเห็นเรื่อง Partnership ซึ่งเราสามารถแก้ไขปัญหาใหญ่ได้ง่ายจากความร่วมมือและความตระหนักรู้ร่วมกัน

นอกจากนี้ความร่วมมือแล้ว ยังมีเรื่อง “นวัตกรรม” (Innovation) ต่างๆ ซึ่งเรายังเอาชนะไม่ได้ แต่ความร่วมมือเป็นปัจจัยสำคัญที่ผมเห็นว่าเกิดขึ้นในกรณีของประชารัฐ เป็นครั้งแรกที่ภาครัฐบอกเอกชนว่าคุณคิดว่าอย่างไร

เอกชนที่มากันตั้ง 20-30 องค์กร มาจากคนละอุตสาหกรรม ไม่เคยพูดคุยกัน แต่มารวมตัวกันในเป้าหมายเดียวกัน มาแชร์ Best Practice แสดงความเคารพซึ่งกันและกันว่าจะช่วยกันขับเคลื่อนเป้าหมายที่เป็นเป้าหมายร่วมกันได้อย่างไร

ภาคประชาสังคมที่เป็นตัวแทน ภาคประชาชน ภาคท้องที่ ตัวแทนด้านวิชาการ เหล่านี้ก็มาแสดงความคิดเห็นร่วมกัน เป็นมิติใหม่จริงๆ ของประเทศไทย เป็นตัวอย่างที่ทำขึ้นมาภายใต้ประชารัฐทางด้านการศึกษาพื้นฐาน ผ่านโครงการ Connext ED

เราได้อาสาสมัครถึง 700 คน ทำงานร่วมกับโรงเรียนกว่า 3,000 โรงเรียน โดยเฉพาะผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งเป็นผู้นำในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโรงเรียน สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับคุณครู เป็นผู้นำสร้างความเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษา เป็นมิติที่สำคัญมาก โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา (Education)

เราเชื่อว่าในที่สุด “คน” คือผู้ที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง ถ้าเขาเหล่านั้นได้เรียนรู้ถึงคุณค่าของความยั่งยืนตั้งแต่ยังเด็ก เขาจะเป็นผู้สร้างสังคมในอนาคตที่มีความยั่งยืนอย่างแท้จริง นี่คือตัวอย่างด้านการศึกษา

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ มูลนิธิปิดทองหลังพระ ที่นำโดย ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ที่ลงพื้นที่จริง ไปอยู่กับเกษตรกรจริงๆ ได้ทำเรื่องความยั่งยืนมานานแล้วภายใต้ศาสตร์ของพระราชา อย่าง 3 จังหวัดภาคใต้มักไม่มีใครกล้าไป แต่คุณชายดิศและทีมงานท่านลงไปทำในสิ่งที่ทำอย่างไรให้ลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้เศรษฐกิจของประชาชนดีขึ้น ของเกษตรดีขึ้น ลดความสูญเสีย เป็นโครงการที่มีความต่อเชื่อมกับประชารัฐเช่นกัน มีการนำลองกองจาก 3 จังหวัดภาคใต้มาขายในกรุงเทพฯ และส่งออกไปต่างประเทศ เช่น ประเทศจีน ด้วย

นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมอีกหลายอย่าง เช่น “ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการทางสายตา” ที่เราทำร่วมกับสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย หรือที่ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นำคนไกลมาใกล้พ่อ (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนชราและคนพิการที่เดินทางได้ยาก

หรือตัวอยางหนึ่งที่ทดลอง เช่น ในภาคเหนือที่เต็มไปด้วยภูเขา ถ้าเราบอกว่าปลูกอะไรแล้วมีค่า คงหนีไม่พ้นชากับกาแฟ ในเวลาเดียวกันก็ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสามารถให้มูลค่าทางเศรษฐกิจกับเกษตรกรอย่างแท้จริงและยั่งยืน

กาแฟไม่เคยมีซัพพลายมากกว่าดีมานด์ ขณะที่ประเทศจีนพึ่งเริ่มกินกาแฟ ถ้าคนจีนหรือคนอินเดียกินกาแฟมากขึ้น อีก 10 ภาคเหนือก็ทำกาแฟไม่พอ แต่ต้องกลับไปที่ว่าแล้วจะทำให้ยั่งยืนได้อย่างไร เรามีศูนย์วิจัยการแฟไหม มีเมล็ดพันธุ์ที่ดีไหม มีการส่งเสริมที่ถูกต้องหรือไม่ เราจึงไปทำเรื่องกาแฟในบางพื้นที่ในภาคเหนือ

ส่วนที่ภาคใต้ในเรื่องทะเลไทย เรื่องนี้เครือเจริญโภคภัณฑ์เจอด้วยตัวเองในแง่ประเด็นที่เราถูกฟ้อง กรณีขายส่งออกกุ้งเข้าไปที่อเมริกา ข้อหาคือกุ้งของเราปนเปื้อนแรงงานทาส คงจำกันได้ในกรณีการทำประมงผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม หรือ ไอยูยู (Illegal, Unreported and Unregulated Finishing: IUU) หรือกรณีโรฮิงญา เหล่านี้เป็นสิ่งที่ถูกยกขึ้นในระดับสากล ซึ่งกุ้งของซีพีเอฟเลี้ยงโดยอาหารกุ้งซึ่งมีส่วนผสมโดยปลาป่นประมาณ 5% แต่ตั้งแต่เมื่อ 3 ปีก่อน ซีพีเอฟก็เลิกซื้อปลาป่น แล้วมาซื้อเศษปลาจากโรงงานที่มีใบรับรองการนำเข้าเพื่อทำปลากระป๋อง

อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่โลกมีความต้องการมากขึ้น โลกต้องการพัฒนา และต้องการสิ่งที่ยั่งยืนมากขึ้น แม้ว่าเราจะปรับตัวไปตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว แต่ก็ยังถูกฟ้อง ซึ่งตอนนี้เราชนะในขั้นตอนแรกไปแล้ว

ผมเรียนว่าถ้าเราแพ้ในการขายส่งออกกุ้งไปที่อเมริกาครั้งนี้ กุ้งทั้งหมดที่มาจากประเทศไทย คงจะเอาเข้าอเมริกาไม่ได้ จนกว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างที่ทำให้เขาเชื่อทั้งประเทศ

ดังนั้น สิ่งเหล่านี้เป็นความต้องการใหม่ๆ ของโลก โลกต้องการเห็นว่าที่มาที่ไปทุกอย่างถูกต้องและให้ความยั่งยืน ถูกต้องตามหลักสิทธิมนุษยชน ถูกต้องตามความสมดุลของสิ่งแวดล้อม

อีกตัวอย่างหนึ่งที่เราไปทำเป็นโครงการคือเรื่อง “ประการัง” เพราะบ้านเรา Overfishing เรืออวน เรือไฟ มีการซ้อนแห ฤดูกาลก็ไม่ได้ดู ไม่ทำตามระเบียบที่ถูต้อง มีการลากจนกระทั่งลูกปลาถูกเอาไปด้วย ทำให้จำนวนปลาที่จับได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนมีการลด Overfishing ตามที่ปรากฏเป็นข่าว

แต่สิ่งสำคัญคือทำยอย่างไรถึงจะมีที่ที่ทำให้ลูกปลามีโอกาสเติบโต ซึ่งการมีปะการัง แม้จะเป็นปะการังเทียมก็ตาม ทำให้เรืออวนลากเข้ามาไม่ถึง ลูกปลามีโอกาสเติบโต ประมงท้องที่ก็มีโอกาสทำมาหากินได้ต่อเนื่อง นี่เป็นยุทธวิธีหนึ่งที่เราส่งเสริมที่ภาคใต้

ดังนั้น โลกของเรามีความต้องการเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น

ดิจิทัลเทคโนโลยีสร้างความยั่งยืน “วิกฤติ” และ “โอกาส”

แต่ในเวลาเดียวกัน เราเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องของระบบอุตสาหกรรมโลก เมื่อประมาณ 15 ปีก่อน จะเห็นว่าองค์กรที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่ของโลกเป็นองค์กรอุตสาหกรรมหนัก เป็นองค์กรน้ำมัน องค์กรธนาคาร ต่อมา 5 ปีหลังจากนั้นก็ยังเป็นองค์กรน้ำมันและธนาคาร ถัดมาอีก 5 ปี ก็ยังเป็นเรื่องน้ำมันเป็นส่วนใหญ่ แต่บริษัทแอปเปิล (Apple) เริ่มเข้ามา

แต่ในปี 2016 องค์กรที่ใหญ่ที่สุดในโลกทั้ง 5 องค์กร ที่สร้างผลกระทบสูงสุดในโลก ล้วนแล้วแต่เป็นดิจิทัลแพลตฟอร์ม ดิจิทัลมีเดีย มีแอปเปิล (Apple), กูเกิล (Google), ไมโครซอฟต์ (Microsoft), แอมะซอน (Amazon), และเฟซบุ๊ก (Facebook)

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ Disrupt ไม่ใช่เฉพาะธุรกิจดิจิทัล แต่ยัง Disrupt ไปทุกอุตสาหกรรม เพราะดิจิทัลแพลตฟอร์มถูกนำมาใช้ ทำให้ธุรกิจเกิดการลดในกระบวนการทุกอย่าง ซัพพลายกับดีมานด์มาเจอกันอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน อำนาจของข้อมูลหรือการมีข้อมูลทำให้เกิดการสร้างมูลค่าใหม่

ผมอยากเรียนว่า Disruption ถูกมองว่าเป็นทั้ง “วิกฤติ” และ “โอกาส” หลายฟอรัมที่ผมได้ไปฝากความหวังเรื่องความยั่งยืนไว้กับดิจิทัลเทคโนโลยี ทุกวันนี้เราสามารถที่จะเอาดิจิทัลเทคโนโลยีเข้าไปอยู่ในเรื่องความยั่งยืนได้เกือบจะทุกรูปแบบ เช่น ระบบติดตามเรือประมง (VMS: Vessel Monitoring System) ในท้องทะเลไทย

การใช้เทคโนโลยีจะเป็นเรื่องใหญ่ในการสร้างความยั่งยืน แต่ขณะเดียวกันหลายอุตสาหกรรมก็ถูก Disrupt โดยดิจิทัลเทคโนโลยี ซึ่งก็คือ ข้อมูล (Data) ถูก Disrupt โดยเรื่องหุ่นยนต์ (Robotic) เรื่องระบบอัตโนมัติ (Automation)

จะเห็นว่าอุตสาหกรรมสื่อก็เปลี่ยนไปเยอะมาก ช่อง 3 ช่อง 7 ถ้าไม่ปรับตัวก็อยู่ไม่ได้ ธนาคารก็กลัวเรื่อง “ฟินเทค” (FinTech: Financial Technology) ปรับตัวกันเป็นการใหญ่ รถยนต์ก็กลัวเรื่อง “อีวี” (EV: Electric Vehicle) ธุรกิจค้าปลีกก็ต้องปรับตัวเพราะอีคอมเมิร์ซ อยู่ไม่ได้ก็ต้องปิดไป หรือไอทีก็ต้องสู้กับ “Cloud แพลตฟอร์ม” หรือระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI: Artificial Intelligence)

สิ่งเหล่านี้กำลังทำให้เกิด Disruption อย่างมหาศาล จนกระทั่งมีการทำวิจัยออกมาบอกว่า ตลาดที่เกิดขึ้นจาก AI กับ Automation จะมาแทนแรงงาน เช่น ในอเมริกามีถึง 47% ในช่วง 10-15 ปีข้างหน้า ส่วนประเทศไทยสูงมากถึง 72% เราไม่ได้พูดถึงแรงงานอย่างเดียว แต่ยังพูดถึงพนักงานออฟฟิศด้วย

ตัวอย่างของแรงงานที่มีการทำนายจากผลวิจัยว่าจะทดแทนโดย AI อันดับ 1 คือ Loan Officers สมัยก่อนเรียกว่านายธนาคาร รองลงมาคือ พนักงานต้อนรับ (Receptionists) ถัดมาคือ ผู้ช่วยนักกฎหมายต่างๆ (Paralegals)

ส่วน 3 อาชีพสุดท้ายที่จะถูกทดแทนจาก AI และ Automation น้อยที่สุด คือ 1. ทนายความ (Lawyers), 2. ครู (Teachers) เพราะความเชื่อคือ ยังไง “คนก็ยังต้องสอนคน” และ 3. แพทย์ (Doctors) หรือศัลยแพทย์ (Surgeons) แต่ Disruption เกิดขึ้นแน่นอน และมีผลกระทบอย่างมหาศาล

พัฒนาทักษะเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ถ้าหากมองในแง่ทักษะที่เราต้องปรับตัว องค์กรภาคเอกชนต่อไปถ้าจะอยู่ได้อย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจที่เกิดการ Disrupt อย่างมากมาย จะต้อง 1. Value Driven ยังไงก็ยังต้องเป็น Market Driven, 2. Data Driven, 3. Service Driven ยิ่ง Automation เกิดขึ้นมากเท่าไหร่ เราอาจจะคิดว่าธุรกิจบริการเล็กลง ไม่เล็กลงครับ ถ้าผลผลิตสูงขึ้น ธุรกิจบริการจะยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เช่น ธุรกิจการท่องเที่ยว เป็นต้น

4. Collaboration Driven อย่างที่เรียนว่าการทำทุกอย่างเป็นความร่วมมือ เป็นเน็ตเวิร์กกิง หาเป้าหมายร่วมกันให้เจอ ปลดล็อกคุณค่าที่มันไม่เคยมีมาก่อน แข่งขันกันอย่างสร้างสรรค์ อันนี้ประยุกต์ใช้ทั้งในองค์กรหรือระหว่างองค์กรเหมือนกัน

5. Innovative Driven 6. Leadership, Entrepreneurship, Talent Development ก็คือเรื่องคน ว่าเราสามารถสร้างผู้นำ สร้างผู้ที่ยังคงขับเคลื่อน ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงขององค์กรได้อย่างต่อเนื่อง

7. Sustainable Driven เป็นมิติที่ถูกใส่ลงมาอย่างมีคุณสมบัติ ที่เราต้องพัฒนาบุคลากรของเรา พัฒนาไปถึงกระทั่งลูกหลานที่เป็นนักเรียนนักศึกษา มันเป็นดีเอ็นเอที่ทำให้เกิดความยั่งยืน เป็นดีเอ็นเอที่ทำให้เราอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างยั่งยืน

8. Accountability และ discipline Driven และ 9. Platform และ Technology Driven

นี่คือทักษะที่ผมคิดว่าทุกองค์องค์กรต้องมองหาและต้องพัฒนา การที่เราบอกว่าแรงงานจะหายไป 72% มันไม่ได้หายไปจริงๆ องค์กรจะกลายเป็นโรงเรียน องค์กรจะต้องทบทวนทักษะแรงงาน ซึ่งทางหนึ่งต้องให้ “แรงจูงใจ” อีกทางหนึ่งต้องทำให้ออกจาก “คอมฟอร์ทโซน” มาเรียนรู้สิ่งใหม่

สิ่งเหล่านี้เราต้องปรับตัวร่วมกันในทศวรรษต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก มันเป็น Disruption ที่ทำให้เกิดความซับซ้อนขึ้นมากับปัญหาที่เรามีอยู่เดิม เราบอกว่าจะไป 4.0 อันนี้เป็นราคาที่เราต้องจ่ายในการที่จะไป 4.0

ในเวลาเดียวกันเรายังมีปัญหาซ้ำซ้อนว่า ยังมีอุตสาหกรรมที่ยังอยู่ใน 1.0 แต่ต้องปรับตัวไปเป็น 4.0 ถือเป็นความท้าทาย แต่ก็ไม่พ้นความสำเร็จถ้าเราร่วมมือและมีเป้าหมายร่วมกัน

เศรษฐกิจของประเทศไทย เรื่องของโซนนิ่งจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องของ “การพัฒนาเชิงพื้นที่” (Area Based Development) จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ เพราะจะทำให้เกิดกลุ่มของผู้ประกอบการ กลุ่มของการที่จะทำให้การเรียนรู้และกระบวนการเรียนรู้เร็วขึ้น สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก

แน่นอนว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 4.0 เราพูดถึง Tech Industry แต่ก็มีอุตสาหกรรมอื่นที่เรามีความได้เปรียบโดยภูมิศาสตร์หรือภูมิประเทศ เช่น Trade & Finance เราอยู่ใจกลางอาเซียน หรือการท่องเที่ยว และที่แน่นอนคือ การเกษตรและอาหาร

หรือเรื่องการศึกษา ก็มาถึงจุดที่เราทำเรื่องการปฏิรูปกันอยู่ แต่ในที่สุดพื้นฐานใหม่ของการศึกษาที่จะต้องเป็นภาษาเดียวกันหมด หนีไม่พ้นเรื่องของ Data กับ Automation หนีไม่พ้นเรื่องของไอที

นั้นหมายความว่า เด็กในระดับอาชีวะ ระดับมัธยม จะต้องเรียนภาษาพวกนี้ และจะต้องกลายเป็นภาษาพื้นฐานใหม่ในทุกภาควิชา ทุกเมเจอร์ ทุกอุตสาหกรรม เพราะจะเป็นพื้นฐาน ใหม่ในการปรับตัวเข้าสู่ยุค 4.0 หรือยุคดิจิทัล

ในส่วนองค์กรก็เช่นกัน จะต้องปรับทักษะพนักงาน สร้างพื้นฐานใหม่ที่เป็นภาษาพื้นฐาน ทางด้านไอที ด้านวิศวกรรมในวิธีการใช้ระบบอัตโนมัติ

สำหรับเกษตรกร (Agriculture) เป็นส่วนที่มีประเด็นมากที่สุดที่ต้องปฏิรูป เพราะเกษตรกรบ้านเรายังอยู่ใน 1.0 หรือประมาณ 1.5 ยังไม่ไปแม้กระทั่ง 2 หรือ 3

เกษตรกรเป็นธุรกิจขนาดเล็กสุด ยิ่งองค์กรไปในเรื่อง 4.0 มากเท่าไหร่ ความเหลื่อมล้ำยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ถ้าภาคเกษตรกรซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ประมาณ 40-50% ไม่สามารถขยับตามได้ทัน ความไม่แน่นอนของระบบสังคมไทยอาจจะเกิดมากขึ้นอีก

ผมขอโควทคำของ “ชาลส์ ดาร์วิน” (Charles Darwin) ซึ่งเขาได้กล่าวว่า “It is not the strongest species that survive, nor the most intelligent, but the most responsive to change”

เรากำลังอยู่ในความเปลี่ยนแปลง ความยั่งยืนก็คือเราทุกคนต้องปรับตัวร่วมกัน และถ้าเรามี เป้าหมายร่วมกันและปรับตัวร่วมกัน เราก็มีโอกาสที่จะสร้างความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง

ผมขอจบว่า ความยั่งยืนที่ถูกมองใน 3 เรื่อง คือ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ถ้ามองในมิติของภาคเอกชน ในเรื่องสังคมสิ่งที่เอกชนต้องทำคือ Culture Values และ Governance หรือ Core Value ซึ่งพูดได้ว่าเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ให้ไว้อยู่แล้ว ถือเป็น Core Principle ของคำว่า Governance ของคำว่า Culture Values ก็ว่าได้ ที่เราต้องรักษาและต้องขยายผลอย่างต่อเนื่อง

ถัดมาจะต้องมีเรื่อง People และ Productivity เราต้องสร้าง “คนบริหารคน” เป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะว่าคนเป็นผู้สร้างเศรษฐกิจ เป็นผู้สร้างผลิตภัณฑ์ เป็นผู้แบ่งหน้าที่และตอบสนองความต้องการของตลาด และ Evolution หรือ Innovation องค์กรไหนไม่มีนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง องค์กรนั้นก็ไม่ยั่งยืน อยู่ไม่ได้

ขับเคลื่อน “ความเชื่อใจกัน” สู่ความยั่งยืน

คำว่า Innovation จริงๆ แล้วคือ “Adapt to Change” เพราะว่าตลาดไม่เคยหยุดนิ่ง ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา ความต้องการใหม่ๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะตอบโจทย์คำว่า “ความเป็นอยู่ที่ดี” (Well Being) แล้วทิ้งปัญหาไว้เยอะเช่นกันในเรื่องความยั่งยืน มันเกิดขึ้นจากการที่เราพยายามที่จะปรับตัวและอยู่รอดได้ดี

ดังนั้น Innovation จึงกลายเป็น Core Competency อันหนึ่งขององค์กรในเรื่องความยั่งยืน โดยเราลงมาที่เล็กที่สุดคือตัวเราเอง ถ้าเราเรียนจบออกมา เราจะไปทำบริษัทอะไร ก็ต้องบอกว่าต้องไปบริษัทที่มั่นคงที่สุด ถ้าจะเลือกอาชีพใดสักอาชีพหนึ่ง ต้องเป็นอาชีพที่มั่นคงที่สุด และเป็นอาชีพที่เราถนัด

ฉะนั้น สิ่งที่เราให้ความสำคัญมากที่สุดในชีวิต เป็น 3 เรื่องเหมือนกัน

1. Security ระบบเศรษฐกิจทั้งหมดทำให้เกิดการพึ่งพากันในบทบาทหน้าที่ของสังคม แต่นำไปสู่ความมั่นคงในชีวิต Security เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับเรา

2. Dream ความฝันคือการที่เราเป็นแรงสะท้อนของข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็นโดยฟิสิกส์หรือระบบสังคม ความฝันจึงเป็นตัวขับเคลื่อนให้เราปรับตัวอยู่ตลอดเวลา

แน่นอนว่า ถ้าทั้ง 2 อย่างนี้ ทั้งความฝัน ทั้ง Security ไม่ขับเคลื่อนอยู่บนความเห็นอกเห็นใจกัน ความรู้สึกที่เชื่อมโยงกัน ความไม่เห็นแก่ตัว หรือสามารถเรียกได้ว่า ความรัก ความปรองดอง

สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเชื่อใจกัน แล้วถ้าสังคมของเราอยู่บนความไว้ใจกัน บนความรัก ความปรองดอง ความไม่เห็นแก่ตัว และขับเคลื่อนไปในแนวนี้ ผมเชื่อว่าความยั่งยืนและความเจริญอย่างยั่งยืนจะเกิดขึ้นในสังคมเรา

แต่ถ้าเราไม่ยืนตรงจุดนี้ แต่ใช้ความกลัว หรือความเกลียดชัง หรือความแบ่งแยก ผมก็เชื่อว่าระบบสังคม เศรษฐกิจของเราก็จะไม่ยั่งยืน