ThaiPublica > คอลัมน์ > Shopping Coupon Program ปี 1999 กับ แนวคิดกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่น ด้วยการแจกเงินกันถ้วนหน้า

Shopping Coupon Program ปี 1999 กับ แนวคิดกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่น ด้วยการแจกเงินกันถ้วนหน้า

30 ตุลาคม 2023


สุทธิ สุนทรานุรักษ์

วันก่อนผู้เขียนมีโอกาสได้อ่านโพสของคุณศิริกัญญา จากพรรคก้าวไกล โดยอ้างอิง Paper วิชาการเรื่อง Did Japan’s Shopping Coupon Program increase spending? งานของ Chang Tai Hsei, Satoshi Shimizutani, และ Mashiro Hori ตีพิมพ์ตัั้งแต่ปี 2010 ใน Journal of Public Economics Vol 94 Issue 7-8, 523-529

วิวาทะเรื่อง Digital Wallet Policy แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ยังคงเข้มข้นมีให้เห็นบนหน้าสื่อทุกวัน โดยเฉพาะความกังวลใจเกี่ยวกับความชัดเจนในแหล่งที่มาของเงินที่ใช้โครงการนี้

…เมื่อ 24 ปีที่แล้ว ประเด็น Shopping Coupon Program ได้กลายเป็น”วิวาทะร้อน” ในญี่ปุ่นเกี่ยวกับมาตรการรัฐที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ญี่ปุ่นมองว่า เป็นมาตรการชั่วคราวที่ไม่ได้สร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจญี่ปุ่นแต่อย่างใด

ผู้สนใจโปรดอ่านบทวิจารณ์เรื่องนี้ใน New York Time เรื่อง To Revive Sick Economy, Japan hand out coupon โดย Sheryl Wudunn ใน https://www.nytimes.com/1999/03/14/world/to-revive-a-sick-economy-japan-hands-out-coupons.html

ย้อนกลับไปเมื่อปี ค.ศ. 1999 เศรษฐกิจญี่ปุ่นตกอยู่ในภาวะถดถอยเป็นเวลานาน รัฐบาลญี่ปุ่นสมัยนาย Keizo Obuchi นายกรัฐมนตรียุคนั้นจึงดำเนินนโยบายต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยหนึ่งในนโยบายสำคัญ คือโครงการแจกคูปองช้อปปิ้งมูลค่า 20,000 เยน (ประมาณ 200 ดอลลาร์) ให้กับประชาชนทุกคนในญี่ปุ่น

…คูปองเหล่านี้สามารถใช้ซื้อสินค้าและบริการได้หลากหลาย

เป้าหมายของโครงการแจกคูปองช้อปปิ้ง เน้นไปที่ กระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ลดภาวะเงินฝืด และสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็ก

แม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่น โดยกระทรวงการคลังยุคของนาย Kiichi Miyazawa ได้ประเมินผลของโครงการแจกคูปองช้อปปิ้งว่าประสบความสำเร็จในการกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค เพราะคูปองเหล่านี้ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายและช่วยกระตุ้นยอดขายปลีก

อย่างไรก็ตาม

ข้อมูลอีกด้านหนึ่งได้เผยให้เห็นผลกระทบของโครงการต่อเศรษฐกิจโดยรวมนั้นว่าอาจแตกต่างกันไป กล่าวคือ โครงการไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อภาวะเงินฝืดหรืออัตราการว่างงานแต่อย่างใด

ทำนองเดียวกับ Paper ของสามนักเศรษฐศาสตร์ข้างต้นที่มาทำการศึกษาข้อมูลเศรษฐกิจย้อนหลังในหลายปีต่อมา… พบว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการ Shopping Coupon Program เป็นเพียงกระตุ้นเศรษฐกิจแบบชั่วคราว

โครงการแจกคูปองช้อปปิ้งยังถูกวิจารณ์โดยนักเศรษฐศาสตร์บางกลุ่มที่โต้แย้งว่านอกจากเป็นมาตรการชั่วคราวแล้วยังไม่แก้ไขปัญหาพื้นฐานของปัญหาเศรษฐกิจของญี่ปุ่น

เช่น ใน Chapter 2 งานของ Takahashi Ito จาก University of Tokyo, Japan เมื่อปี 2011 เรื่อง Sustainability of Japanese Sovereign Debt ได้สรุปไว้ประโยคหนึ่งว่า

Hence, handing out shopping voucher is not as effective of government expenditure in terms of stimulating. GDP. (โปรดดูหน้า 47 ของรายงานฉบับนี้)

อย่างไรก็ตาม โครงการแจกคูปองช้อปปิ้งเป็นนโยบายที่ได้รับความนิยมในหมู่ประชาชนชาวญี่ปุ่น เนื่องจากโครงการนี้ถูกมองว่าเป็นวิธีช่วยเหลือผู้คนในช่วงเวลาที่ยากลำบาก

สำหรับ Digital Wallet Policy ของรัฐบาลไทยนั้นมีความคล้ายคลึงกับโครงการแจกคูปองช้อปปิ้งของญี่ปุ่นในปี 1999 ในแง่ที่ว่าทั้งสองเรื่องเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นที่มุ่งเป้าไปที่การกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม Digital Wallet Policy มีข้อได้เปรียบอย่างน้อยสามประการเมื่อเทียบกับโครงการแจกคูปองช้อปปิ้งของญี่ปุ่น กล่าวคือ

ประการแรก Digital Wallet Policy สามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน เช่นที่รัฐบาลใช้ระบบดิจิทัลเพื่อตรวจสอบการใช้จ่ายของเงินดิจิทัลและติดตามผลลัพธ์ของโครงการ

ประการที่สอง Digital Wallet Policy สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้กว้างขึ้น รัฐบาลสามารถกำหนดให้เงินดิจิทัลสามารถใช้ซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ได้ ซึ่งจะทำให้ผู้คนที่อยู่ห่างไกลจากร้านค้าสามารถเข้าถึงโครงการได้

ประการสุดท้าย Digital Wallet Policy ช่วยส่งเสริมการใช้เงินดิจิทัลและส่งเสริมการพัฒนาระบบการชำระเงินแบบดิจิทัล ซึ่งอาจนำไปสู่ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

จากข้อได้เปรียบเหล่านี้…

รัฐบาลไทยสามารถ”ถอดบทเรียน” จากโครงการแจกคูปองช้อปปิ้งของญี่ปุ่นและปรับปรุง Digital Wallet Policy ให้ดียิ่งขึ้นได้ โดยเฉพาะการกำหนดเป้าหมายกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน กำหนดเงื่อนไขการใช้เงินให้ชัดเจน และประชาสัมพันธ์โครงการให้ทั่วถึง

อย่างไรก็ดี รัฐบาลควรติดตามและประเมินผลโครงการอย่างใกล้ชิดเพื่อปรับปรุงโครงการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้

รัฐบาลอาจจัดทำระบบติดตามการใช้จ่ายเงินดิจิทัลเพื่อประเมินว่าเงินดิจิทัลถูกนำไปใช้จ่ายในสินค้าและบริการประเภทใดบ้าง และอาจจัดทำแบบสำรวจเพื่อประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้เงินดิจิทัล

หากมองในแง่ความกังวลของ Digital Wallet Policy ที่มีต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ…ผู้เขียนเห็นคล้าย ๆ กับนักเศรษฐศาสตร์ไทยหลายท่านที่หยิบประเด็นเรื่องนี้มาพูดแล้ว เช่นเดียวกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยที่กังวลต่อรูปแบบการดำเนินนโยบายนี้ว่าอาจส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว

…มิพักต้องเอ่ยถึงเรื่อง “ความยั่งยืนทางการคลัง” ภาระที่จะเกิดขึ้นในอนาคตโดยเฉพาะหนี้สาธารณะ รวมทั้งสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์มหภาคเรียกกันว่า Crowding out effect กล่าวคือ รัฐเข้าไปแย่งใช้ทรัพยากรจากภาคเอกชน ระดมเงินมาแจก กดดันให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดสูงขึ้นไปอีก สิ่งเหล่านี้เป็นผลกระทบที่คาดว่าคงตามมาในระยะยาว

สำหรับผู้เขียนในฐานะที่คุ้นเคยกับเรื่อง Accountability …ผู้เขียนสนใจเรื่องการติดตามประเมินผล ตลอดจนการสร้างความโปร่งใส ความคุ้มค่าในการผลักดันให้นโยบายนี้เดินไปในแบบที่ควรจะเป็น โดยขออนุญาตเสนอมุมมองอันต่ำต้อยของผู้เขียนต่อเรื่องนี้ไว้ ดังนี้

การติดตามประเมินผล Digital Wallet Policy ของรัฐบาลควรดำเนินการอย่างใกล้ชิดและครอบคลุม เพื่อประเมินว่าโครงการนี้มีประสิทธิภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจน้อยสุดหรือไม่

แนวทางการติดตามประเมินผล Digital Wallet Policy อาจพิจารณาจากแนวทาง ดังนี้

1. ติดตามการใช้จ่ายเงินดิจิทัล รัฐบาลควรติดตามการใช้จ่ายเงินดิจิทัลว่าถูกนำไปใช้จ่ายในสินค้าและบริการประเภทใดบ้าง เพื่อประเมินว่าเงินดิจิทัลถูกนำไปใช้จ่ายในสินค้าและบริการที่จำเป็นหรือสินค้าและบริการฟุ่มเฟือย

2. ประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจ รัฐบาลควรประเมินผลกระทบของ Digital Wallet Policy ต่อเศรษฐกิจในภาพรวม เช่น อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงาน และอัตราเงินเฟ้อ

3. ประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้เงินดิจิทัล รัฐบาลควรประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้เงินดิจิทัลเกี่ยวกับโครงการ เพื่อให้ทราบถึงปัญหาและอุปสรรคในการใช้ประโยชน์จากโครงการ

ข้อมูลสำหรับการติดตามประเมินผลโครงการ Digital Wallet สามารถรวบรวมได้จากแหล่งต่างๆ เช่น ข้อมูลการใช้จ่ายจากระบบติดตามการใช้จ่ายเงินดิจิทัล ข้อมูลการจ้างงานจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ และข้อมูลความพึงพอใจของผู้ใช้เงินดิจิทัลจากแบบสำรวจ

การติดตามประเมินผล Digital Wallet Policy จะช่วยให้รัฐบาลสามารถปรับปรุงโครงการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้… หากรัฐบาลสามารถดำเนินการตามแนวทางข้างต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ Digital Wallet Policy ของรัฐบาลไทยย่อมมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจน้อยสุด

นอกจากนี้ รัฐบาลควรพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจของ Digital Wallet Policy ตัวอย่างเช่น สภาพเศรษฐกิจโดยรวม อัตราเงินเฟ้อ และนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น