ThaiPublica > คนในข่าว > ซูเปอร์เอลนีโญ เราจะรอดอย่างไร (5) : “รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์” ชูการจัดการข้อมูลที่ดี ปรับวิถีเกษตรไทย รับวิกฤติ-กระแสโลกสีเขียว

ซูเปอร์เอลนีโญ เราจะรอดอย่างไร (5) : “รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์” ชูการจัดการข้อมูลที่ดี ปรับวิถีเกษตรไทย รับวิกฤติ-กระแสโลกสีเขียว

8 ตุลาคม 2023


“รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์” แนะยุทธศาสตร์เกษตรไทยวางระบบโครงสร้างพื้นฐาน “ดิน-น้ำ-เทคโนโลยี” ชูการจัดการข้อมูลแบบบูรณาการ ปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรกร เพื่อรับมือเอลนีโญและกระแสโลกสีเขียว

ดร.รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์ ประธานกรรมการบริหาร ListenField Thailand

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้น เป็นที่รับรู้ชัดเจนว่าภาวะโลกเดือดนั้นเดือดขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลกระทบ และสร้างความเสียหายจนรับมือได้ยากขึ้นเรื่อยๆ

‘เอลนีโญ’ เป็นอีกปรากฏการณ์หนึ่งในปีนี้ ที่นักวิชาการคาดว่าจะส่งผลกระทบในวงกว้าง เพราะทำให้ฝนแล้งในฤดูฝนและฝนตกใต้เขื่อน ปริมาณน้ำที่กักเก็บได้อาจจะไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตรตามรอบปกติของการเพาะปลูกที่ทำอยู่ นั่นคือปัญหาที่ต้องรับมือว่าจะทำอย่างไร ทั้งนี้ยังไม่นับรวมปัญหาอื่นๆ (เดิมๆ) ที่การพัฒนาประสิทธิภาพยกระดับอุตสาหกรรมการเกษตรไทยยังทำได้น้อยมาก

‘ไทยพับลิก้า’ ได้พูดคุยกับ ดร.รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์ ประธานกรรมการบริหาร ListenField Thailand ที่เคยกล่าวถึงการสร้างภูมิคุ้มอนาคตเกษตรกรไทยต้อง paradigm shift ทุกมิติ เปลี่ยนจากเกษตรดั้งเดิม ลดใช้สารเคมีเป็นการทำเกษตรแบบ regenerative farming ใช้เทคโนโลยีและข้อมูลบริหารจัดการฟาร์ม ขณะที่รัฐบาลต้องเลิกเยียวยา แต่ลงทุนด้านเทคโนโลยีมากขึ้น หมดยุคเกษตรแบบเดิมแล้ว

  • สร้างภูมิคุ้มกันประเทศไทย : Future Together อนาคตเกษตรกรไทยต้อง “Paradigm Shift”
  • “รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์” สตาร์ทอัปเทคโนโลยีเกษตร… ปักหมุดเกษตรกร สู่ยุค “ปลูกพืชด้วยข้อมูล”
  • ในปีนี้ ดร.รัสรินทร์ได้เดินทางสำรวจพื้นที่การเกษตรใน 17 จังหวัด ทำให้ได้ข้อมูล ดิน น้ำ พันธุ์พืช สภาพภูมิอากาศ จนพบว่า ไทยมีพื้นที่เกษตรกรรมจำนวนมากและเกษตรกรไทยมีความสามารถ หากมีการวางโครงสร้างพื้นฐานและการบริหารจัดการที่ดี ทั้งน้ำ ดิน เทคโนโลยี จะทำให้ไทยวางเป้าหมายการทำเกษตรกรรมที่แม่นยำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ สามารถสร้างผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ มีการปล่อยมลพิษและก๊าซเรือนกระจกที่ต่ำ สอดรับกับกระแสโลกสีเขียวและผู้บริโภคที่ใส่ใจอาหารคุณภาพ รวมทั้งสร้างความสามารถการแข่งขันด้านการส่งออก โดยเฉพาะยุโรปที่มีการประกาศใช้ CBAM (carbon border adjustment mechanism) หรือมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (มาตรการเก็บภาษีเพิ่มสำหรับสินค้านำเข้าที่ไม่มีการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก)

    โครงสร้างการเกษตรของไทย น้ำและดินเป็นต้นทุนที่สำคัญ ถ้าดินดี น้ำดี พืชที่ปลูกได้ก็จะดี ส่วนเรื่องต่อมาคือข้อมูลที่จะใช้ขับเคลื่อนการบริหารจัดการต่างๆ ในแต่ละสเกล อีกส่วนคือพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ ทั้งหมดเป็นปัจจัยหลักทางการเกษตร

    ดร.รสรินทร์กล่าวว่า ถ้ามาแยกย่อยว่าโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ตอบโจทย์หรือยัง จะเห็นว่าเรื่องน้ำยังไม่ตอบโจทย์ เพราะการปลูกพืชไร่ พืชสวน ไม่ว่าจะเป็นข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดหวาน ต้องใช้น้ำกว่า 70% แต่ปัจจุบันพื้นที่เกษตรของไทยมีระบบชลประทานเพียง 20% แสดงว่าโครงสร้างพื้นฐานยังไม่ตอบโจทย์ และในจำนวนนี้ไม่ได้ใช้เพื่อการเกษตรทั้งหมด แสดงถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านแหล่งน้ำหายไป ทำให้ส่วนที่เหลือต้องพึ่งพิงน้ำฝนที่ปัจจุบันเกิดปัญหาภัยแล้งรุนแรงมากขึ้น ฝนทิ้งช่วงนานขึ้น อย่างเช่นปีนี้ ผลกระทบจากเอลนีโญไม่ได้ทำให้เฉพาะพืชไร่นอกเขตชลประทานที่ได้รับผลกระทบ ในเขตชลประทานก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน น้ำในเขื่อนส่วนใหญ่ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ฉะนั้น น้ำในเขตชลประทานเพื่อใช้ในการเกษตรจึงมีน้อยลง ทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบทั้งหมด เลยต้องมีการเตรียมแหล่งน้ำให้เกษตรกร

    เร่งวางแผนโครงสร้างพื้นฐานการเกษตร

    ดร.รสรินทร์เห็นว่า เรื่องเร่งด่วนและจำเป็นในการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านเกษตร คือ เรื่องน้ำ ต้องมีการบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะปัญหาจากภัยแล้งที่ทุกคนเห็นเหมือนกัน โดยเป็นการจัดการในหลายสเกล ทั้งระดับชุมชน ระดับตำบล รวมทั้งเรื่องการส่งน้ำไปในพื้นที่ที่เหมาะสม ที่ต้องมีการวางแผนอย่างจริงจังว่าแต่ละพื้นที่นั้น โซนไหนเหมาะกับการเพาะปลูก ต้องวิเคราะห์อย่างจริงจัง จากข้อมูลจะทำให้เห็นว่าที่ไหนเป็นพื้นที่แล้งซ้ำซาก พื้นที่ไหนน้ำท่วมซ้ำซาก จะดำเนินการแต่ละแห่งอย่างไร เกษตรกรในพื้นที่นั้นๆ มีจำนวนเท่าไหร่ ความเสียหายเท่าไหร่ ข้อมูลที่มีอยู่ในระดับตำบลสามารถนำมาวิเคราะห์ได้ รวมทั้งเงินเยียวยาในแต่ละพื้นที่มีจำนวนเท่าไหร่ ต้องนำมาวิเคราะห์และวางแผนอย่างจริงจังเพื่อดูมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น หากจะมีการปรับเปลี่ยน จะปรับเปลี่ยนให้เกษตรกรไปปลูกพืชอะไร หรือให้เกษตรกรไปทำอาชีพอะไร ต้องปรับทักษะความชำนาญของเขาอย่างไรบ้าง

    เรื่องดิน เป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องเร่งบริหารจัดการ จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูล วิเคราะห์ วิจัย พบว่า ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จากค่าดัชนี Sustainable Agriculture Matrix พบว่าดินของไทยมีความเสื่อมถอยลงไปมาก แม้ว่าเศรษฐกิจภาคการเกษตรจะดีขึ้นก็ตาม แสดงว่าปัจจัยพื้นฐานในเรื่องดินของไทยมีปัญหาในภาพใหญ่ ดินไม่มีความอุดมสมบูรณ์ คือ ธาตุอาหารในดินที่เป็นปัจจัยหลักให้พืชนำไปใช้ได้ อินทรียวัตถุในดินขาดหายไป สุดท้ายถ้าจะให้พืชโตได้ ก็ต้อง กลายเใส่ปุ๋ยเยอะๆป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

    ดร.รสรินทร์กล่าวว่า เมื่อดินไม่มีคุณภาพ จึงต้องมีกลไกในการปรับเปลี่ยน และสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรอยากปรับปรุงคุณภาพของดิน ขณะเดียวกัน คุณภาพดินต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยน จะทำได้ต้องใช้เงิน เงินที่ใช้ต้องมีประโยชน์ คือจะทำอย่างไรให้การปรับปรุงดินมีประสิทธิภาพ ขณะที่แนวโน้มของโลกคือการทำอย่างไรให้ดินมีการกักเก็บคาร์บอน (soil carbon sequestration) ซึ่งทำให้ดินมีคุณภาพขึ้นด้วย เป็นอีกแนวคิดที่ต้องเอามาผนึกรวมกัน และจะนำไปสู่เรื่องของความยั่งยืนด้วย จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องวางโครงสร้างให้สามารถเดินไปในขั้นตอนเหล่านี้ได้

    ดร.รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์ ประธานกรรมการบริหาร ListenField Thailand

    แผนสั้น-กลาง-ยาว รับ Climate Change

    การเดินไปสู่การสร้างความยั่งยืนเพื่อรับมือกับปัญหา climate change ดร.รสรินทร์กล่าวว่า ฝ่ายนโยบายต้องมีการวางแผนทั้งเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การวางแผนระยะกลางและระยาว โดยวางทิศทางของประเทศต่อจากนี้ว่าจะเป็นอย่างไร เรื่อง climate change ไม่ใช่เรื่องที่พูดกันเล่นๆ จะบริหารจัดการอย่างไรเรื่องน้ำ ให้มีการใช้อย่างมีประสิทธิภาพในสเกลต่างๆอย่างไร เพื่อลดความเสี่ยงการปลูกพืชแล้วตาย เพราะการพึ่งพาเงินเยียวยาไม่เพียงพอ และเป็นความเสี่ยงในการผลิตอาหาร

    “ในระยะยาวจะต้องคิดว่ายังผลิตอาหารราคาถูกอยู่หรือไม่ ซึ่งไม่ควรเป็นแบบนั้น ควรผลิตอะไรที่มีมูลค่าเพียงพอให้เกษตรกรที่เหนื่อยแล้วมีรายได้มากขึ้น ทิศทางต้องเป็นแบบนี้ ต้องดูว่าสินค้าเกษตรที่มีมูลค่ามีอะไรบ้าง เตรียมวางแผนในเรื่องการตลาด จะเจาะตลาดอย่างไร เมื่อเห็นภาพนี้ก็จะมองย้อนกลับมาวางแผนโครงสร้างพื้นฐานได้ว่าจะลงทุนน้ำอย่างไร ดินจะมีการปรับปรุงอย่างไร รวมถึงการสร้างแรงจูงใจใหม่ๆ ให้เกษตรกรอยากจะปรับตัวเพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพ นี่เป็นเรื่องหลักๆ ที่ต้องทำคู่ขนานกันไปพร้อมกับนโยบายเฉพาะหน้า”

    นอกจากนี้ ยังต้องสื่อสารให้เกษตรกรเข้าใจเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะเกษตรกรยังไม่ค่อยเข้าใจ ว่าทำไมเขาต้องเปลี่ยนวิธีการปลูก ต้องปรับปรุงดิน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การสื่อสารจึงเป็นเรื่องสำคัญ อะไรทำให้เขามีรายได้มากขึ้น อะไรทำให้รายจ่ายเขาลดลง อะไรที่เขาได้รับผลประโยชน์มากขึ้น โดยมีกลไกในการปรับเปลี่ยน โมเดลหนึ่งที่น่าสนใจมาก คือ ธนาคารบางแห่งที่ปล่อยกู้ให้เกษตรกร ให้นำคาร์บอนเครดิตมาจ่ายหนี้ได้ ถ้าจะใช้กลไกนี้มาใช้ ก็ต้องคิดจริงจัง ทดลองทำในสเกลต่างๆ ที่หลากหลาย”

    ชูโมเดลท้องถิ่นร่วมจัดการ “ดิน-น้ำ”ชุมชน

    ทั้งนี้ ดร.รสรินทร์ได้ให้แนวคิดการวางโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐต้องบริหารจัดการเพื่อให้เกษตรกรได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และรับกับกระแสโลกสีเขียวว่า สามารถทำได้หลายโมเดลและหลายสเกล ทั้งในเรื่องน้ำ ดิน ข้อมูล เทคโนโลยี และความร่วมมือกับภาคเอกชน

    เรื่องน้ำ จะพบว่าปัจจุบันเกษตรกรกว่า 50% ไม่มีที่ดินทำกินของตนเอง ไม่มีแหล่งน้ำของตัวเอง และมีความเสี่ยงสูงเมื่อภัยแล้งรุนแรงขึ้นระยะเวลายาวนานขึ้น ขณะที่เกษตรกรกลุ่มที่มีที่ดินทำกินของตัวเองนั้นสามารถจัดหาแหล่งน้ำขนาดเล็กของตัวเองได้

    พร้อมแนะนำว่าสำหรับเกษตรกรที่ไม่มีแหล่งน้ำของตัวเอง โมเดลที่น่าสนใจคือการจัดการแบบชุมชนเป็นหลักสำคัญ โดยร่วมมือกับองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการแหล่งน้ำ เป็นโมเดลที่ควรมีเพิ่มมากขึ้นในแต่ละพื้นที่ โดยมีหลายขนาด มีทั้งเขื่อนขนาดใหญ่ หรือขนาดที่เป็นการรวมกลุ่มในชุมชนแล้วบริหารจัดการน้ำส่วนนี้ร่วมกัน

    “ดังนั้นโมเดลน้ำต้องมีหลายสเกล โดยท้องถิ่นขับเคลื่อนให้เกิดสาธารณูปโภคเหล่านี้ สาเหตุที่ต้องเป็นท้องถิ่น เพราะสุดท้ายแล้วพบว่า การมีส่วนร่วมนั้นมีความสำคัญ เพราะแหล่งน้ำเป็นต้นทุนของเขา และถ้าเขามีความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของ จะทำให้เกิดการดูแลและมีความยั่งยืนในการบริหารจัดการ นอกจากนี้แต่ละท้องถิ่นมีปัญหาไม่เหมือนกัน ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแตกต่างกัน เช่น ปัญหาน้ำเค็ม ปัญหาไม่มีแหล่งน้ำ ทำให้แต่ละแห่งต้องจัดการปัญหาเฉพาะหน้าของเขาก่อน”

    ดร.รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์ ประธานกรรมการบริหาร ListenField Thailand

    ต้องเปิดรับนำเทคโนโลยีปรับปรุงดิน

    ส่วนเรื่องดิน ดร.รสรินทร์กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดินมีองค์ความรู้ที่ดีมาก แต่ยังขาดการปฏิบัติที่เป็นมาตรฐาน ขาดการเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ โดยกรมพัฒนาที่ดินมีแผนที่ชุดดิน แต่ไม่ได้ปรับปรุงให้ทันสมัย เมื่อทำการเกษตรมาระยะยาว ธาตุอาหารในดินที่เปลี่ยนไป แต่ไม่ได้ถูกจัดเก็บให้เป็นระบบ ไม่มีการเชื่อมโยงข้อมูลการตรวจดินในพื้นที่ต่างๆ เข้ามาในระบบ

    ขณะที่เกษตรกร นอกจากต้องรู้เรื่องชุดดินแล้ว ยังต้องรู้ว่าธาตุอาหารในดินเป็นอย่างไร เพื่อปรับลดเพิ่มธาตุอาหารให้เหมาะสม รวมทั้ง เวลาเกษตรกรต้องเตรียมแปลง จะส่งดินไปตรวจ แต่ผลการตรวจดินจะได้เมื่อใกล้จะเก็บเกี่ยวแล้ว ส่งผลให้เกษตรกรต้องใส่ปุ๋ยไปก่อน แม้จะมีหมอดิน มีชุดทดสอบ แต่เวลาลงไปตรวจจะมีความยุ่งยาก ทำให้ไม่มีประสิทธิภาพมากนักในการส่งเสริมและทำอย่างต่อเนื่อง

    นอกจากนี้ เมื่อมีการตรวจสอบดินแล้ว ปัญหาคือหาปุ๋ยที่เหมาะสมไม่ได้ แม้ว่าในไทยจะมีปุ๋ยเยอะมากแต่ไม่ค่อยมีคุณภาพ แต่ถ้าทำงานกับภาคธุรกิจ เขาสามารถจัดหาปุ๋ยที่มีคุณภาพ รวมถึงปุ๋ยอินทรีย์ ทำให้ขับเคลื่อนในส่วนนี้ได้ ขณะที่องค์ความรู้เรื่องการทำปุ๋ยอินทรีย์ของชาวบ้านน่าสนใจมาก แต่ต้องยกระดับในเรื่องมาตรฐาน

    รวม 17 จังหวัดดึงเทคโนโลยีพัฒนาดิน

    ดร.รสรินทร์กล่าวถึงการพัฒนาคุณภาพของดิน ทาง ListenField Thailand มีโครงการความร่วมมือกับเนเธอร์แลนด์ในการพัฒนาเทคโนโลยี NIR หรือ near infrared scanner เป็นการใช้คลื่นแสงมาประเมินธาตุอาหารในดิน แม้การตรวจธาตุอาหารจะแม่นยำสู้การตรวจในแล็บไม่ได้ แต่ตอบโจทย์ที่ทำให้การตรวจดินมีประสิทธิภาพรวดเร็วขึ้น สามารถรู้ผลได้ทันที ขณะนี้ได้นำเทคโนโลยี ดังกล่าวไปใช้กับเกษตกร 17 จังหวัดทั้งในภาคเหนือ และบางส่วนในภาคอีสานและภาคกลาง

    เทคโนโลยี NIR สามารถอ่านได้ 13 ธาตุอาหาร การตรวจสอบคุณภาพดินทั้ง 17 จังหวัดพบว่า พื้นที่ส่วนใหญ่คุณภาพดินไม่ค่อยดี เพราะมีการใส่ปุ๋ยต่อเนื่อง ทำให้ธาตุฟอสฟอรัสสูงมาก ขณะที่ดินที่เป็นเกษตรอินทรีย์ ธาตุมีค่าต่ำ เมื่อตรวจสอบคุณภาพดินได้แล้ว จะสามารถบริหารจัดการการใช้ปุ๋ยได้ แต่ปัจจุบันการจัดการสูตรปุ๋ยของไทย มีผู้ค้าปุ๋ยรายใหญ่จำนวนมาก แต่ไม่ใช่ปุ๋ยสั่งตัดที่ตอบโจทย์เพื่อแก้คุณภาพดิน

    “แต่โอกาสของไทยยังมี ในการทำปุ๋ยให้มีคุณภาพ ซึ่งกรมพัฒนาที่ดิน มีผลิตภัณฑ์ พด. หลายสูตรมาก ทั้งใช้กำจัดหญ้า ปรับปรุงบำรุงดิน สามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่ราคาถูก ซึ่งเป็นโอกาสมหาศาล แต่ปัญหาคือทำอย่างไรให้มีสเกลใหญ่ขึ้นและมีคุณภาพได้ และการทำเป็นธุรกิจ ได้ต้องมีมาตรฐาน แต่สิ่งเหล่านี้สามารถยกระดับขึ้นมาได้ และเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก”

    ดร.รสรินทร์กล่าวว่า การที่เกษตรกรไม่มีข้อมูลเรื่องชุดดิน ธาตุอาหารในดิน สิ่งที่ทำคือใส่ปุ๋ยไปก่อน ดังนั้นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญคือ ทำอย่างไรให้ลดการใช้ปุ๋ย ใช้ปุ๋ยให้เหมาะสม เป็นเป้าหมายแรก เพราะเกษตรกรไม่มีทางเปลี่ยนหรือเลิกใช้ปุ๋ย แต่จะทำอย่างไรให้เกษตรกรเห็นว่า เมื่อลดการใช้ปุ๋ยและใช้ปุ๋ยที่เหมาะสมแล้ว ทำให้ค่าใช้จ่ายลดลง และผลผลิตเพิ่มขึ้นด้วย ในบางพื้นที่ บางกลุ่ม ที่ทำปุ๋ยออร์แกนิก ใส่ใจเรื่องเกษตรกรรมฟื้นฟูดิน หรือ regenerative farming แล้วพัฒนาการติดตามเพิ่มเติมในเรื่อง organic carbon ในดิน ทำให้เกษตรกรได้สกอร์อย่างไรจากการปรับเปลี่ยนนี้

    ส่วนประเด็นเรื่องข้อมูล ดร.รสรินทร์กล่าวว่า การใช้ข้อมูลด้านการเกษตรมีปัญหาในหลายระดับ ตั้งแต่เกษตรกรสนใจว่าจะปลูกอย่างไรให้ได้ผลผลิตเร็วที่สุด ด้วยต้นทุนน้อยที่สุด โดยใช้องค์ความรู้ที่มีอยู่ แต่ ณ จุดนี้ ด้วยสภาพภูมิอากาศที่แปรเปลี่ยนไป องค์ความรู้ต่างๆ ที่เคยมีมา 10-20 ปี อาจไม่เพียงพอแล้ว เรื่องข้อมูลจึงเป็นส่วนสำคัญที่ยังขาดหายไป ต้องมีองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่มีพลวัต

    นอกจากนี้ฝ่ายปฏิบัติ เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เป็นแค่ตัวกลางในการเก็บข้อมูลเกษตรกร ปลูกอะไร ที่ไหน อย่างไร แล้วส่งต่อรายงานให้กรมส่งเสริมการเกษตรซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบาย แต่อบต.ไม่ได้นำข้อมูลมาบริหารจัดการ ว่ามีการปลูกพืชนี้เท่าไหร่ มีแหล่งน้ำต้นทุนเท่าไหร่ ถ้าสภาพอากาศแบบนี้ ปริมาณน้ำที่มี ควรจะจำกัดพื้นที่หรือไม่ หรือควรบริหารจัดการอย่างไร เพื่อลดความเสี่ยง

    “จากการลงพื้นที่ ทาง อบต. มีข้อมูลเหล่านี้ แต่ยังไม่มีเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์ วางแผน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่ดินแต่ละแปลงของเกษตรกรอยู่ที่ใดบ้าง ลักษณะดินของแต่ละพื้นที่ ปลูกอะไร เท่าไหร่ และคาดการณ์ว่าผลผลิตที่ได้จะเป็นเท่าไหร่ รวมทั้งติดตามการขายผลิผลิตว่าไปที่ไหน ปริมาณเท่าไหร่ เป็นข้อมูลพื้นฐานที่มีอยู๋ ซึ่งสามารถนำมาใช้เพื่อให้คำแนะนำเกษตรกรในตำบล ว่าดินแบบนี้ควรจะปลูกเมื่อไหร่ ใส่ปุ๋ยอย่างไร เป็นคำแนะนำที่เป็นวิทยาศาสตร์ ได้ประโยชน์มากขึ้น”

    อย่างไรก็ตาม โดยข้อเท็จจริงในมุมมองของ อบต. ต้องการทำเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว เพียงแต่ต้องมีเครื่องมือไปช่วยให้เขาสะดวกขึ้น อบต. เองก็อยากทำ มีความกระตือรือร้นมากในการมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นโมเดลที่ดี เป็นตัวอย่างให้เห็นการทำงานร่วมกันระหว่างเกษตรกร อบต. เกษตรตำบล และคนทำเทคโนโลยี ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

    นอกจากนี้ ในการจัดเก็บข้อมูลนั้น ยังสามารถทำผ่านเครื่องจักรการเกษตรที่เป็นปัจจัยสำคัญของเกษตรกรได้อีกด้วย โดยติดตั้งเซนเซอร์บนเครื่องจักรต่างๆ เวลาทำงานในแปลงก็จะได้ข้อมูลมา เช่น เตรียมแปลงได้เรียบดีหรือไม่ ตรงไหนไม่เรียบ หรือการผลิตข้าวในแปลงนี้มีการผลิตก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่ เพราะในอนาคตการทำเกษตรจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งต้องมีชุดข้อมูลที่ถูกต้องในการตรวจสอบ

    การเชื่อมโยงข้อมูลเหล่านี้ให้เห็น base line การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เท่าไหร่ สามารถคำนวนคาร์บอนฟุตพรินต์ว่าได้เท่าไหร่ ทำให้อนาคตอันใกล้ เวลาส่งออกผลผลิตต่างๆ สามารถบอกได้ว่าแต่ละผลผลิตมีคาร์บอนฟุตพรินต์เท่าไหร่ แหล่งที่มาของข้อมูลเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นการเตรียมการให้เราในฐานะผู้ส่งออกมีข้อมูลครบถ้วน ไม่เสียโอกาสการแข่งขันในการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรต่างๆ

    ดร.รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์ ประธานกรรมการบริหาร ListenField Thailand

    จูงใจให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยีเพื่อการเกษตร

    สำหรับด้านเทคโนโลยี ดร.รสรินทร์กล่าวว่า เทคโนโลยีมีตั้งแต่เรื่องดินไปจนถึงการเก็บเกี่ยว เรื่องดินเป็นการวิเคราะห์ ดินตรงไหน ลักษณะอย่างไร เป็นเครื่องมือให้ท้องถิ่นหรือ อบต. มองเห็นภาพรวม จะได้เห็นว่าแปลงไหนอยู่ในพื้นที่ที่มีปัญหาเพื่อเข้าไปช่วย นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการประเมินผลผลิต โดยคำนึงตั้งแต่เรื่องของดิน สภาพอากาศ และสายพันธุ์ ทำให้เห็นภาพว่าพื้นที่ปลูกแบบนี้ สภาพแวดล้อมแบบนี้ จะได้ผลผลิตแต่ละช่วงเวลาเท่าไหร่

    อย่างไรก็ตาม การนำเทคโนโลยีมาใช้ และเกิดการใช้อย่างต่อเนื่องจนเกษตรกรสามารถปรับเปลี่ยนได้ ต้องลงทุนและใช้ทั้งเวลาในการเริ่มต้น จนกระทั่งเห็นผล ซึ่งไม่ใช่ 1 ฤดูกาลจะเห็นผล จึงต้องลงทุนวางแผนอย่างจริงจัง มีความเพียงพอให้มีการใช้งานอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีทิศทางที่ถูกต้อง เพราะการลงทุนเทคโนโลยีที่เหมาะสม จะทำให้ได้ข้อมูลที่เหมาะสมในการตอบโจทย์แต่ละภาคส่วน

    “อย่างองค์กรขนาดใหญ่ที่ลงทุนกับการใช้เทคโนโลยี เพื่อการใช้ข้อมูล เพราะเห็นประโยชน์ในการช่วยลดต้นทุน ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพ การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น สำหรับเกษตรกรควรได้รับเครื่องมืออย่างนี้เช่นกัน แต่เกษตรกรไม่มีแรงจูงใจ ไม่มีกำลังซื้อ จึงควรมีนโยบายในการผลักดันให้ใช้ประโยชน์เทคโนโลยีอย่างจริงจัง จำเป็นต้องมีนโยบายในการสร้างแรงจูงใจใหม่ๆ ให้กับเกษตรกร เพราะสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ไม่ใช่แค่วัดเคพีไอจากการมีแอปพลิเคชันจำนวนมาก แต่เป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรในทิศทางที่ถูกต้องได้”

    กระแสโลกสีเขียวไม่ใช่เรื่อง CSR

    เรื่องการผลักดันความร่วมมือกับภาคเอกชน ดร.รสรินทร์กล่าวว่า จากกระแสโลกสีเขียว ไทยมีโอกาสมากที่จะเป็นศูนย์กลางเรื่องนี้ โดยขณะนี้บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ เช่น เป๊ปซี่โค ประกาศพันธกิจจะทำ regenerative agriculture มีเป้าหมาย 7 ล้านเอเคอร์ ซึ่งมีพื้นที่ในไทยด้วย หรือเนสท์เล่ ที่เริ่มเข้ามาทำเกษตรกรรมเชิงฟื้นฟูในไทยเช่นกัน เริ่มจากกาแฟ ข้าว กรณี กาแฟ เพราะต้องการ certificate ว่าเป็นกาแฟในพื้นที่เกษตรกรรมฟื้นฟู แสดงว่าภาคเอกชนเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในเรื่องนี้ ไทยจึงควรวางโครงสร้างด้านนี้ด้วย

    “ภาคเอกชนต่างประเทศไม่ได้มองเรื่องนี้เป็น CSR เพราะผลผลิตที่ได้กลับมา มันมีมูลค่า และสามารถลดต้นทุน แต่ไทยยังไม่มีการสื่อสารหรือทำความเข้าใจกับเกษตรกร พอไม่เห็นเรื่องนี้เป็นมุมธุรกิจ ก็เลยผลักดันยาก จึงควรวางโครงสร้างพื้นฐานเรื่องนี้ ไม่เช่นนั้นก็จจะสูญเสียโอกาสทางการค้า ส่งออกไม่ได้”

    ดร.รัสรินทร์มองว่าไทยมีโอกาสมากพอสมควร เห็นได้จากกลุ่มเกษตรกรที่ทำงานร่วมกับภาคเอกชนที่มารับซื้อผลผลิต พอเจอปัญหาเรื่องความแห้งแล้ง ก็ส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชนของเขา ภาคเอกชนก็พร้อมจะลงทุนสร้างสาธารณูปโภคขึ้นมาเพื่อรับความเสี่ยงของเกษตรกรจากปัญหาภัยแล้ง เป็นต้น

    “การวางโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ ขณะนี้คือไม่มีคนกลางมาบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เพราะมีหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้อง และแต่ละกระทรวงเห็นแต่ปัญหาเฉพาะหน้าของตัว ไม่มีเวลาไปวางแผนในการเชื่อมโยงข้อมูล รวมถึงไม่เข้าใจในเรื่องเทคโนโลยี ทำให้คนที่รู้เรื่องข้อมูลไม่รู้จะเอาไปทำอะไร คนมีอำนาจก็ไม่รู้เรื่องข้อมูล ทำให้ไม่เห็นภาพรวม”

    ดร.รัสรินทร์กล่าวว่าจากประสบการณ์ที่ได้ทำงานในต่างประเทศ การวางโครงสร้างพื้นฐาน มีการตั้งหน่วยงานกลาง คือ cabinet office ขึ้นมาดูแล และคุยกับหลายภาคส่วนเพื่อวางยุทธศาสตร์และกำหนดกรอบการทำงาน มีการกำหนดกรอบใหญ่ว่าต้องการอะไร แล้วให้แต่ละพื้นที่ส่งข้อเสมอมาทำการกลั่นกรองการใช้งบประมาณ เพื่อให้เกษตรกร ผู้ทำด้านเทคโนโลยี บริษัทเอกชน ทำงานร่วมกับรัฐ เพื่อทำแซนด์บ็อกซ์ ถ้าได้ผล ภาคเอกชนก็นำไปขับเคลื่อนต่อ เป็นหนึ่งในโมเดลที่ควรเรียนรู้ เพราะเขาสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็นำมาเรียนรู้และปรับให้เหมาะสมกับประเทศไทยได้

    ดร.รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์ ประธานกรรมการบริหาร ListenField Thailand

    เกษตรกรไทยเก่ง ปรับตัวรับโลกร้อนได้

    สำหรับการปรับตัวของเกษตรกรไทยนั้น ดร.รสรินทร์บอกว่า “เกษตรกรไทยเก่ง เวลาทำงานกับเกษตรกรเพื่อให้เขาปรับเปลี่ยน ต้องเลือกให้ถูกคน เพราะอย่างน้อยเขาพร้อมที่จะลอง และเป็นต้นแบบให้เกษตรกรอื่นทำตาม ก็เข้าใจเกษตรกรนะ ที่ผ่านมามีคนแนะนำเขามากมาย ผ่านการลองผิดลองถูก เสียหายมาเยอะ ต้องเข้าใจเขา เวลาทำงานจึงต้องพิสูจน์ให้เขาเห็นก่อน แต่ถ้าเลือกถูกคน ก็จะหาต้นแบบสำหรับพืชแต่ละชนิดได้เสมอ แม้กระทั่งข้าวที่เป็นพืชที่ปลูกแบบเดิมมานาน”

    ถ้าจะเปลี่ยนไปทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ซึ่งจะลดก๊าซมีเทน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีกลุ่มที่พร้อมจะลอง การ implement จึงทำสเกลใหญ่ไม่ได้ ต้องมีต้นแบบ ต้องใช้เวลา เช่น การลดการใช้ปุ๋ย มีตัวอย่างที่ฉะเชิงเทรา ฤดูกาลปลูกข้าวที่ผ่านมา ลดการใช้ปุ๋ยได้ 15% ขณะที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น

    ดร.รสรินทร์กล่าวเพิ่มเติมถึงสภาวะอากาศในปัจจุบันว่า ที่ผ่านมาโลกอยู่ในวัฎจักรของ climate change อยู่แล้ว ทั้งลานีญา เอลนีโญ แต่ตอนนี้โลกกำลังอยู่ในขั้นวิกฤติ เพราะว่าถ้าอุณหภูมิโลกสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อไหร่ จะเป็น tipping points คือจะเกิดปัญหาทั้งภูมิอากาศที่จะเกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้น แล้งก็จะแล้งหนัก น้ำท่วมก็จะท่วมหนัก จะเห็นความรุนแรงขึ้น และไม่ได้เกิดในระยะสั้น 1 ปี แต่อาจจะเป็น 3 ปี คือเกิดยาวขึ้น และมีความรุนแรงมากขึ้น

    “ปกติเอลนีโญเป็นปีที่จะเกิดความแห้งแล้ง เมื่ออุณหภูมิโลกที่สูงใกล้ tipping points ทำให้แล้งมากขึ้น ฝนจะทิ้งช่วงมากกว่าปกติ โดยเกษตรกรจะเห็นการเปลี่ยนแปลงนี้มากขึ้น และเข้าใจเรื่องโลกร้อน เรื่อง climate change มากขึ้น มีการพูดถึง regenerative farming หรือการทำการเกษตรแบบฟื้นฟู เพื่อให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง ซึ่งจะช่วยชะลอการเข้าใกล้ tipping points แต่ไม่สามารถทำเพียง 1-2 ปีแล้วเห็นผล ต้องมีนโยบายที่ตอบโจทย์แก้ปัญหาโลกร้อน การวางแผนระยะยาวและทำงานร่วมมือกัน”