ThaiPublica > ประเด็นร้อน > สิ่งที่เห็นและอยากให้ ‘ประเทศไทย’ เป็น > ปฏิรูปโครงสร้าง… จากเกษตรกรที่อ่อนแอ สู่เกษตรกรที่แข็งแรง

ปฏิรูปโครงสร้าง… จากเกษตรกรที่อ่อนแอ สู่เกษตรกรที่แข็งแรง

27 ธันวาคม 2021


ในปี พ.ศ. 2510-2514 ประเทศไทยเขียนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 2 ที่ระบุว่า

“การพัฒนาการเกษตร ได้แก่ การเร่งรัดพัฒนาการผลิตทั้งในด้านปริมาณ คุณภาพ และประเภทการผลิตให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น และให้ผลประโยชน์จากการผลิตตกอยู่กับเกษตรกรให้มากที่สุด อันจะช่วยยกฐานะการครองชีพของเกษตรกรให้สูงขึ้น เพื่อให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ดังกล่าว
รัฐมีนโยบายในการพัฒนาการเกษตรดังต่อไปนี้

เร่งปรับปรุงขยายพื้นฐานทางการเกษตรให้มั่นคง และสามารถอำนวยประโยชน์ให้แก่เกษตรกรได้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาการชลประทานและเส้นทางคมนาคม

ปรับปรุงการค้นคว้าวิจัยการเกษตรให้ทันสมัยและก้าวหน้าอยู่เสมอ เพื่อนำผลการวิจัยมาใช้ในการปรับปรุงสมรรถภาพในการผลิตและแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ส่งเสริมให้ใช้วิธีการผลิตที่ทันสมัยเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่และรายได้จากการผลิต

ปรับปรุงระบบการขนส่งและการตลอดผลิตผลการเกษตรให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้เกษตรกรผู้ผลิตมีรายได้จากการขายผลิตผลของตนอย่างเป็นธรรม และป้องกันมิให้ต้องเสียเปรียบในด้านการค้า”

เวลาผ่านไป 50 ปี เกษตรกรยังเจอปัญหาเรื่องเดิม ยังจนเหมือนเดิม บางคนบอกไทยหยุดเดิน แต่น่าจะเรียกว่าการเกษตรไทยหยุดหายใจ

สาเหตุคือทุกๆ รัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศมุ่งแต่จะแก้แต่ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่แก้ปัญหาโครงสร้างการจัดการทรัพยากรทางการเกษตร จึงยังคงวกวนอยู่กับความเสียหายจากน้ำท่วมและภัยแล้ง ปัญหาสินค้าล้นตลาด และในที่สุดก็จบลงที่การใช้เงินงบประมาณเพื่อเยียวยา ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

ทั้งๆ ที่การเกษตรของไทยต้องการการปฏิรูป (…ที่ไม่ใช่การล้มล้าง) ต้องมีวิสัยทัศน์และนโยบายระยะยาวที่ชัดเจน และต้องรีบเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

การปฏิรูปการเกษตรที่ประสบความสำเร็จและสามารถเป็นแบบอย่าง ทั้งในเชิงของแนวความคิดและการปฏิบัติมีอยู่มากมาย ดังเช่น ประเทศเนเธอแลนด์ ที่แปรสภาพตัวเองจากประเทศที่พื้นที่กว่า 20% ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล สู่ประเทศที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ในช่วงปี ค.ศ. 1950 ถึง ค.ศ. 1997 ใช้เงินงบประมาณไป 2.4 แสนล้านบาท เพื่อสร้างโครงสร้างการบริหารจัดการน้ำ

หลังจากนั้นพื้นที่การเกษตรทั้งหมดก็ไม่ต้องเจอกับปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากอีก และยังมีน้ำใช้เพียงพอสำหรับการเกษตร และด้วยพื้นที่เพียง 41,543 ตร.กม. (ประเทศไทยมีพื้นที่มากกว่า 10 เท่าคือ 513,120 ตร.กม.) สามารถที่จะส่งออกสินค้าการเกษตร และเป็นสินค้าคุณภาพสูง เป็นอันดับ 2 ของโลก มีมูลค่าสูงถึงประมาณ 3.1 ล้านล้านบาท (มูลค่าส่งออกสินค้าการเกษตรของไทยมีมูลค่าเพียง 5-6 แสนล้านบาท)

นอกจากการจัดการโครงสร้างน้ำแล้ว ประเทศเนเธอแลนด์ยังพลิกวิกฤติไปสู่งานวิจัยและพัฒนาเชิงลึก ด้านการเกษตรและแบบจำลองทางโมเดลด้านการเกษตร ที่หลายประเทศทั่วโลกนำเอาไปใช้ เช่น ระบบวิเคราะห์การบริหารจัดการน้ำ แบบจำลองการไหลเวียนของน้ำ ตัวอย่างเช่น SWAP (soil-water-atmosphere-plant) model

นักเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์การเกษตรไม่มีใครไม่รู้จักมหาวิทยาลัยหลักด้านการเกษตร คือ Wageningen University ที่ตัวผู้เขียนมีโอกาสได้ทำการศึกษาวิจัยร่วมกับทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัย และเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจให้เลือกทำหัวข้องานวิจัยด้าน API integration platform for agronomic models เนื่องจากได้เห็นการนำข้อมูลและการบริหารจัดการมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และต่อมางานวิจัยของผู้เขียนก็ได้ถูกบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของแผนนโยบายปฏิรูปการเกษตรของประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย

โรงเรือนปลูกมะเขือเทศที่ Almeria พร้อมระบบบริหารจัดการดินและน้ำ

อีกปัญหาหนึ่งคือ ภัยแล้ง…

เมืองที่มีฝนตกต่อปีเพียง 200 มม. ถือได้ว่าเป็น “ทะเลทราย” ได้แก่ เมือง Almeria ในตอนใต้ของประเทศสเปน (เทียบกับประเทศไทยที่ปริมาณน้ำฝนมากกว่า 6 เท่า คือ เฉลี่ยต่อปี ประมาณ 1,200 มม.) … แต่เชื่อหรือไม่ว่า เมืองนี้คือศูนย์กลางการผลิตผักของยุโรป ที่รายได้ของเมืองนี้มาจากภาคการเกษตรและโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรรายย่อย เมืองเพียงเมืองเดียวสร้างรายได้จากการส่งออกผักมากถึง 1.5 พันล้านเหรียญต่อปี (หรือ 45,000 ล้านบาท)

หัวใจของการพัฒนานี้เกิดจากการนำเอาระบบการผลิตที่ทันสมัยมาใช้อย่างต่อเนื่อง โดยเกษตรกรที่เปิดรับเทคโนโลยีเพื่อก้าวข้ามความขาดแคลน เปลี่ยนความกันดารเป็นสินทรัพย์

โดยเป็นแหล่งที่ปลูกผักในโรงเรือน มีการใช้เทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ เพื่อให้มั่นใจว่าน้ำทุกหยดนำมาซึ่งผลผลิตที่มีคุณภาพสูงสุด มีการเลือกดินที่เหมาะสมที่สุด เป็นการประสานระหว่างเทคโนโลยีและการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ที่ได้นำมาซึ่งความรุ่งเรืองของเกษตรกรอย่างแท้จริง

ในขณะที่ประเทศไทยทุกปีไม่น้ำท่วมก็ฝนแล้ง วนเวียนไปเหมือนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ

เกษตรกรไทยที่กำลังปรับปรุงดินให้มีคุณภาพ พอน้ำท่วมมาก็ทำให้ดินปนเปื้อน สำหรับพื้นที่เกษตรอินทรีย์ก็ต้องกลับไปเริ่มนับ 1 กันใหม่

ในขณะที่งบประมาณของรัฐบาลไทยเพื่อต่อสู้กับภัยแล้งและ/หรือน้ำท่วม ในแต่ละปีอยู่ที่ระดับหลายหมื่นล้านมาเป็นเวลาหลายสิบปี แต่ไม่เคยหาทางออกที่แก้ปัญหาอย่างถาวร

การเข้าถึงทรัพยากรที่เท่าเทียมเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งไม่ได้หมายถึงการแจกที่ดินให้กับเกษตรกรเท่านั้น แต่หมายถึงความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี เทคโนโลยีถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางทั่วโลกเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาการเกษตรในทุกมิติ รับมือกับ climate change เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิต ลดต้นทุน เพิ่มโอกาสในการแข่งขันในตลาดเสรี

ตัวอย่างเช่น บริษัทที่ผู้เขียนก่อตั้ง (ลิสเซินฟิลด์ หรือ ListenField) ทำงานวิจัยและพัฒนาเรื่องของการนำเอาเทคโนโลยี multispectual vision มาร่วมกับการวิเคราะห์เชิงลึกของสภาพแวดล้อม เพื่อทำให้สามารถรับรู้และเข้าใจถึงการเจริญเติบโตของพืช และการตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างทันท่วงที (realtime) เพื่อให้สามารถตัดสินใจและลงมือปฏิบัติในเรื่องของการให้น้ำ ใส่ปุ๋ยอย่างแม่นยำ สู่การลดต้นทุน หลีกเลี่ยงความเสียหาย และเพิ่มคุณภาพผลผลิต

ความเป็นจริงในประเทศไทยนั้น บริษัทขนาดยักษ์มุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยี แต่เกษตรกรรายย่อยไม่มีกำลังซื้อและไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี ทำให้ช่องว่างระหว่างกันทิ้งห่างออกไปเรื่อย ๆ…

ประเทศญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงเทคโนโลยี ตัวอย่างเช่น ในเรื่องการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ในญี่ปุ่นที่ลิสเซินฟิลด์ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนานั้น จุดมุ่งหมายของรัฐบาลคือทำให้บริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์ขนาดกลางและขนาดเล็กได้เข้าถึงเทคโนโลยีชั้นสูง ที่แต่เดิมมีเพียงบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้นที่สามารถลงทุนเองได้ เปิดโอกาสให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค

เมื่อให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการพัฒนานำบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญมาทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีในด้านการเกษตร เช่น โครงการที่ผู้เขียนมีส่วนร่วมซึ่งใช้เวลา 5 ปีในการทำการวิจัย ก่อนจะเริ่มนำไปใช้และขยายผลได้

โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยจะหยุดหายใจแบบนี้ไม่ได้…

สิ่งที่ประเทศไทยต้องทำ …

เปลี่ยนการจัดสรรทรัพยากรของรัฐบาลจากการใช้เงินส่วนใหญ่เพื่อเยียวยาไปสู่ลงทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงและความเสียหายในระยะยาวของเกษตรกร เปิดโอกาสให้เกษตรกรส่วนมากเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาคุณภาพการผลิต สองสิ่งนี้เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาที่ต่อเนื่อง ส่วนรายละเอียดคงมีโอกาสได้บอกเล่าเพื่อนำไปปฏิบัติเมื่อเรามีรัฐบาลที่ฟังเสียงประชาชนและเข้าใจถึงแก่นแท้ของปัญหาของเกษตรกร…

อ้างถึง

สนับสนุนซี่รี่ส์ “สิ่งที่เห็นและอยากให้ ‘ประเทศไทย’ เป็น จะต้องทำอย่างไร? โดย…