ThaiPublica > คอลัมน์ > กระทรวงอาหาร (Ministry of Food)

กระทรวงอาหาร (Ministry of Food)

12 กันยายน 2023


ดร.วิรไท สันติประภพ

ที่มาภาพ : ดร. วิรไท สันติประภพ

มาทำงานที่บังคลาเทศกับ World Food Programme (WFP) รอบนี้ได้มีโอกาสไปคารวะท่านปลัดกระทรวงอาหาร

คนไทยคงไม่คุ้นกับกระทรวงชื่อนี้ เพราะเราไม่มีปัญหาขาดแคลนอาหาร หรือต้องเผชิญกับความท้าทายด้าน food security

เวลาที่คิดเรื่องอาหาร เรามักจะนึกว่าเป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรที่ดูแลผู้ผลิตต้นทาง หรือไม่เวลาอาหารแพงหรือขาดตลาด ก็นึกว่าเป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ แต่ทั้งสองกระทวงมีงานหลักอื่นอีกมากที่ไม่เกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหาร

ถ้าจะถามว่าหน่วยงานไหนรับผิดชอบเรื่องความมั่นคงทางอาหารให้คนไทย เราอาจจะนึกถึงสภาพัฒน์ที่ดูแลแผนพัฒนาประเทศ กระทรวงเกษตร กระทรวงสาธารณสุข หรือกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หลายคนคงสรุปว่าก็ช่วยๆ กันทำ ซึ่งแปลว่าคงไม่มีใครทำ

ความท้าทายเรื่อง food security เป็นเรื่องใหญ่มากของบังคลาเทศ เพราะมีประชากรเกือบ 170 ล้านคน แต่มีพื้นที่เพียง 144,000 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นเพียงประมาณร้อยละ 30 ของขนาดพื้นที่ประเทศไทยเท่านั้น จัดได้ว่าบังคลาเทศเป็นประเทศที่มีความหนาแน่นของประชากรสูงสุดอันดับต้นๆ ของโลก

นอกจากนี้ บังคลาเทศต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติรุนแรงเป็นประจำ เพราะอยู่ในแนวพายุ cyclone และมักจะโชคร้ายจากน้ำท่วมใหญ่ ในที่ฤดูมรสุมมาชนกับเทศกาลน้ำหลากลงจากเทือกเขาหิมาลัย

ต่อจากนี้ไป บังคลาเทศยิ่งต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติรุนแรงขึ้นอีกจากวิกฤติสภาวะภูมิอากาศ (climate crisis) เพราะมีแนวชายฝั่งยาวมาก และพื้นที่หลายส่วนตอนล่างต่ำกว่าระดับน้ำทะเล นอกจากระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นเรื่อยๆ แล้ว พายุ cyclone ที่เข้ามาแต่ละปีมีขนาดใหญ่ขึ้น และมาถี่ขึ้น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและ storm surge จากพายุทำให้พื้นที่เพาะปลูกบริเวณปากอ่าวกลายเป็นดินเค็ม ปลูกข้าวได้ยากขึ้น

ท่านปลัดกระทรวงอาหารเล่าว่า กระทรวงของท่านมีหน้าที่ทำให้คนบังคลาเทศมีอาหารเพียงพอ เหลือเชื่อว่าท่ามกลางสารพัดความยากลำบาก บังคลาเทศในวันนี้ผลิตข้าวได้ใกล้เคียงกับความต้องการของคนทั้งประเทศ อาจจะมีบางปีที่ต้องนำเข้าบ้างเพราะเจอภัยพิบัติ

ถ้านับอันดับประเทศที่ผลิตข้าวได้มากที่สุดในโลกแล้ว บังคลาเทศผลิตข้าวได้มากเป็นอันดับสามของโลก รองจากจีนและอินเดีย ผลผลิตข้าวของบังคลาเทศแต่ละปีมากกว่าผลผลิตข้าวของเวียดนาม และไทย(เกือบเท่าตัว)

ด้วยตระหนักว่าพื้นที่เพาะปลูกที่มีจำกัด และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ตามการขยายตัวของประชากร บังคลาเทศจึงเร่งเพิ่มผลผลิตต่อไร่อย่างจริงจัง ในบางพื้นที่สามารถปลูกข้าวได้ปีละสามรอบ และเร่งพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ที่ปลูกในพื้นที่ดินเค็ม เพราะต้องปรับตัวให้เท่าทันกับวิกฤติสภาวะภูมิอากาศ ซึ่งตอนนี้มีหลายพันธุ์และได้ผลผลิตค่อนข้างดี

ที่มาภาพ : ดร. วิรไท สันติประภพ

ที่น่าสนใจมาก คือ เนื่องจากท่านเป็นปลัดกระทรวงอาหาร ท่านต้องรับผิดชอบมากกว่าแค่การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ (ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตร) ท่านเล่าว่าผลผลิตต่อไร่ และปริมาณข้าวที่ผลิตได้ในแต่ละปีคงไม่สามารถเพิ่มได้อีกมากแล้ว นอกจากต้องผลิตข้าวให้ปริมาณเพียงพอแล้ว ต้องแน่ใจว่าคนบังคลาเทศได้สารอาหารอย่างเพียงพอด้วย

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมากระทรวงอาหารได้ร่วมมือกับ WFP ทำโครงการผลิต fortified rice หรือข้าวสารผสมสารอาหารที่จำเป็นอีก 6-7 ชนิด คนบังคลาเทศกิน fortified rice แล้วไม่ต้องเสียเงินซื้ออาหารเสริม หรือวิตามินแบบคนไทย

วันนี้คนกว่า 80 ล้านคนทั่วประเทศบังคลาเทศบริโภค fortified rice เกิดอุตสาหกรรมใหม่ที่มีธุรกิจเอกชนเข้ามาร่วมด้วยจำนวนมาก เกิด supply chain และระบบ logistics ที่กระจายไปทั่วประเทศ (food supply chain และ logistics ก็เป็นหน้าที่ของกระทรวงอาหาร) เป็นต้นแบบของความสำเร็จที่หลายประเทศมาขอดูงาน

ถามท่านว่านอกจากเรื่อง fortified rice แล้ว กระทรวงอาหารมีเรื่องสำคัญๆ อะไรอีกที่กำลังคิดอยู่ ท่านตอบว่าจะต้องทำเรื่อง food diversification ไม่ให้คนกินข้าวเป็นอาหารหลักแต่เพียงอย่างเดียว เพราะคนบังคลาเทศมีแนวโน้มเป็นเบาหวานมากขึ้น food diversification จะทำให้ได้สารอาหารต่างๆ มากขึ้นด้วย รวมทั้งผลผลิตข้าวคงเพิ่มได้ไม่มากแล้ว แต่บังคลาเทศยังสามารถปลูกผัก ผลไม้ และพืชอื่นๆ ได้อีกมาก รวมทั้งเพิ่มการบริโภคโปรตีนด้วย (น่าสนใจว่าวันนี้บังคลาเทศก็ไม่ต้องนำเข้าอาหารโปรตีน แต่อาจเป็นเพราะยังบริโภคกันน้อยอยู่)

นอกจากเรื่อง food diversification แล้ว กระทรวงอาหารต้องการทำเรื่อง food waste ให้แรงขึ้นด้วย ที่ผ่านมาอาหารเกือบร้อยละ 30 กลายเป็นเศษอาหาร ตอนนี้ลดลงมาได้บ้าง แต่เชื่อว่าสามารถลด food waste ลงได้อีกมาก

เรื่องความมั่นคงทางอาหารนี้จะเป็นเรื่องใหญ่ เพราะโลกต้องเผชิญกับวิกฤติภูมิอากาศรุนแรงขึ้น หันไปถามผู้บริหาร WFP ว่ามีหลายประเทศไหมที่มี Ministry of Food รับผิดชอบเรื่อง food security อย่างจริงจัง ได้รับคำตอบว่ามีมากอยู่ ในประเทศที่ต้องเผชิญกับความท้าทายเรื่องนี้

กลับมาคิดว่าคนไทยโชคดีมากที่เราไม่เคยขาดแคลนอาหาร แต่คงชะล่าใจไม่ได้ เพราะผลผลิตต่อไร่ของพืชหลักแทบทุกตัวไม่ค่อยเพิ่มขึ้น และอาจจะลดลงได้จากวิกฤติสภาวะภูมิอากาศ การพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ๆ ของเราก็ไม่ค่อยเกิดผล

น้ำสำหรับทำการเกษตรก็จะหายากขึ้น ภัยแล้งจะมาเยือนถี่ขึ้น เกษตรกรก็สูงอายุ และมีหนี้สูงไม่สามารถลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ ความมั่นคงด้านโปรตีนเราก็มีจำกัด เพราะแต่ละปีต้องนำเข้าอาหารสัตว์จำนวนมาก อุณหภูมิน้ำทะเลที่ร้อนขึ้นก็จะกระทบกับปริมาณอาหารทะเลที่จับได้

เชื่อได้เลยว่าประเทศไทยยังมี food waste ในอัตราที่สูงมากด้วย วัฒนธรรมการกินและ buffet line ของเราไม่น้อยหน้าใคร ยิ่งใช้อาหารดึงดูดให้นักท่องเที่ยวหลายสิบล้านคนแต่ละปีมากินมาอยู่ด้วยแล้ว ยิ่งเกิด food waste จำนวนมากโดยไม่ได้ตั้งใจ

ถ้าคิดว่าจะเกิดปัญหาเรื่องความมั่นคงทางอาหารขึ้นในประเทศไทยจริง ก็คงหาเจ้าภาพได้ยาก เหมือนกับเรื่องสำคัญอื่นๆ ที่คงมีแต่การตั้งคณะกรรมการแห่งชาติ ประสานงานกันแบบ NATO (no action, talk only)

เราคงไม่ต้องรอให้มี Ministry of Food แบบบังคลาเทศ เพราะเรื่องนี้เริ่มได้ที่เราทุกคน บริโภคแบบพอเพียง และช่วยกันลด food waste เถอะนะครับ