ThaiPublica > คอลัมน์ > รับมืออย่างไรเมื่อมหาวิทยาลัยกำลังถูกดิสรัปต์

รับมืออย่างไรเมื่อมหาวิทยาลัยกำลังถูกดิสรัปต์

15 พฤศจิกายน 2020


ดร. วิรไท สันติประภพ

ในโลกที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและกว้างไกลมาก ทุกอุตสาหกรรมต้องปรับรูปแบบการทำธุรกิจกันขนานใหญ่ บางอุตสาหกรรมผู้ประกอบการดั้งเดิมล้มหายตายจากไปเกือบหมด ธุรกิจใดที่ปรับตัวช้าจะอยู่รอดได้ยาก มหาวิทยาลัยเป็นองค์กรประเภทหนึ่งที่กำลังถูกดิสรัปต์ (disrupt) อย่างรุนแรง นอกจากเป็นเพราะพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่ทำให้คนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงความรู้ (จากปรมาจารย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญระดับโลก) ได้สะดวกทุกที่ทุกเวลา ด้วยต้นทุนที่ถูกลงมากแล้ว มหาวิทยาลัยยังต้องเผชิญความท้าทายจากจำนวนเด็กที่เกิดน้อยลง การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและนายจ้างที่ให้คุณค่ากับปริญญาบัตรลดลง แต่ให้ความสำคัญกับทักษะสมัยใหม่ที่จำเป็นสำหรับการทำงานเฉพาะด้านมากขึ้น และช่องว่างระหว่างรุ่น (generation gap) ที่ดูจะถ่างขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะช่องว่างระหว่างนักศึกษากับผู้บริหารมหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัย

ที่สำคัญ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีได้ทำให้องค์ความรู้หลายเรื่องที่สอนกันอยู่ในมหาวิทยาลัยล้าสมัยได้เร็ว การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ได้ส่งผลให้มหาวิทยาลัยโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชนหลายร้อยแห่งทั่วโลกต้องปิดตัวลง

มหาวิทยาลัยในประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายเหล่านี้เช่นกัน ในวันนี้จำนวนที่นั่งรวมที่มหาวิทยาลัยทั่วประเทศเปิดรับมีมากกว่าจำนวนนักเรียนที่สมัครเข้าเรียนต่อ แม้ว่าบางมหาวิทยาลัยจะเปิดรับนักศึกษาหลายรอบในแต่ละปี และลดมาตรฐานการสอบคัดเลือกลง ก็ยังไม่สามารถรับนักศึกษาได้ในจำนวนที่คุ้มทุนที่จะช่วยให้อยู่รอดได้ในระยะยาว เนื่องจากมหาวิทยาลัยไทยที่อยู่ในกำกับของรัฐได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาล จึงอาจจะยังไม่ตกใจหรือตื่นตัวกับความท้าทายที่กำลังก่อตัวรุนแรงขึ้นจากหลากหลายปัจจัย เราคงไม่อยากเห็นมหาวิทยาลัยไทยตกอยู่ในสภาพ “กบต้ม” ที่กว่าจะรู้ว่าภัยมาถึงตัว น้ำในหม้อก็ใกล้เดือดและกบก็อ่อนแรงจนไม่สามารถกระโดดออกจากหม้อได้ทัน

เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญจากแผนงานวิจัยคนไทย 4.0 ให้มาร่วมพูดคุยแสดงความคิดเห็นในการนำเสนอผลงานวิจัยมหาวิทยาลัย 4.0 ที่มีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นมหาวิทยาลัยนำร่อง ผมดีใจที่เห็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยวิเคราะห์ฉากทัศน์ (scenario) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและคิดยุทธศาสตร์ที่จะเปลี่ยนแปลงมหาวิทยาลัยไทยให้เท่าทันกับความท้าทายใหม่ๆ ได้ความรู้เปิดหูเปิดตามากมาย

ท่ามกลางหลากหลายฉากทัศน์ที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยนำร่องได้นำเสนอ ผมคิดว่ามีอีกฉากทัศน์หนึ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้นมากกับมหาวิทยาลัยไทย คือฉากทัศน์ที่บริการของมหาวิทยาลัยอาจจะถูกฉีกแยกส่วนเป็นชิ้นๆ คล้ายกับที่ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ต้องเผชิญเมื่อมีบริษัทฟินเทคที่เก่งเฉพาะด้านมาเป็นคู่แข่ง ฟินเทคเปิดโอกาสให้ลูกค้าเลือกทำธุรกรรมการเงินหลากหลายประเภทได้กับบริษัทฟินเทคเฉพาะทาง ไม่ต้องพึ่งธนาคารพาณิชย์เพียงแหล่งเดียวอีกต่อไป บริการทางการเงินกำลังถูกฉีกแยกส่วนเป็นชิ้นๆ โดยบริษัทฟินเทคเฉพาะด้านที่มีประสิทธิภาพสูง ไม่ว่าจะเป็นบริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ บริการโอนเงินระหว่างประเทศ e-wallet การให้สินเชื่อผ่านระบบ digital lending หรือบริการที่ปรึกษาการลงทุนผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงินหลากหลายรูปแบบ

Bill Gates เคยพูดไว้ว่า “banking is necessary, banks are not” (การธนาคารคือสิ่งจำเป็น ไม่ใช่ตัวธนาคาร) ด้วยการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี รูปแบบการทำงาน ค่านิยมและโครงสร้างทางสังคมสมัยใหม่ บริการของมหาวิทยาลัยก็อาจจะถูกฉีกแยกส่วนเป็นชิ้นๆ ได้เช่นกัน

การเรียนการสอนวิชาการขั้นสูงและการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ยังเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับสังคมอนาคต แต่อาจจะไม่ต้องทำในรูปแบบของมหาวิทยาลัยอีกต่อไป ถ้ามหาวิทยาลัยมีต้นทุนสูง แข็งตัว ขาดประสิทธิภาพในการให้บริการ และไม่สามารถปรับตัวได้เท่าทันกับความท้าทายหลากหลายด้านที่กำลังเกิดขึ้น

ในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ทั่วโลกต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้นมากจากคู่แข่งใหม่ๆ ที่เก่งเฉพาะด้าน รายได้ที่เคยได้ต่อเนื่องเป็นกอบเป็นกำหดหายไปอย่างรวดเร็ว บริษัทฟินเทคบางแห่งมีปริมาณธุรกรรมมากกว่าธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ด้วยซ้ำไป ธนาคารพาณิชย์จึงต้องปรับยุทธศาสตร์และแปลงร่างการทำธุรกิจกันขนานใหญ่ ใครที่สามารถปรับยุทธศาสตร์และปรับรูปแบบธุรกิจให้เกิดผลได้เป็นรูปธรรมจะสามารถรักษาผลประกอบการ ลูกค้า และบุคลากรที่มีความสามารถสูงให้อยู่กับองค์กรได้

ผมเชื่อว่ามหาวิทยาลัยไทยก็ต้องเร่งปรับยุทธศาสตร์และแปลงร่างเพื่อรองรับความท้าทายใหม่ๆ เช่นกัน การแปลงร่างมหาวิทยาลัยไทยต้องใช้ความคิดและพลังอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่สภาวะแวดล้อมเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนหลากหลายด้าน

ไม่มีใครคาดเดาได้ล่วงหน้าว่ารูปแบบของมหาวิทยาลัยที่จะอยู่รอดในอีกสิบหรือยี่สิบปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร สิ่งสำคัญคือ มหาวิทยาลัยไทยจะต้องมีประสิทธิภาพและมีความคล่องตัวสูง เพื่อที่มหาวิทยาลัยจะไม่ตามหลัง

ผมคิดว่ามีอย่างน้อย 5 เรื่องที่มหาวิทยาลัยไทยควรให้ความสำคัญเพื่อที่จะช่วยให้มหาวิทยาลัยแปลงร่างได้จริงจัง

เรื่องแรก มหาวิทยาลัยต้องทบทวนและกำหนดคุณค่าขององค์กรในอนาคต หรือประโยชน์ที่มหาวิทยาลัยจะสร้างให้แก่สังคมและผู้เกี่ยวข้องกลุ่มต่างๆ​ องค์กรจะอยู่ได้ยั่งยืนก็ต่อเมื่อสังคมเห็นคุณค่าและประโยชน์ที่ได้รับจากองค์กรนั้นเมื่อเทียบทางเลือกอื่นๆ ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมกำลังเห็นว่าบริการหลายอย่างของมหาวิทยาลัยอาจมีคุณค่าลดลง โดยเฉพาะการผลิตบัณฑิตในบางสาขาวิชา หลายสาขาวิชามีหลักสูตรภายนอกที่สอนทักษะเฉพาะด้านที่คนรุ่นใหม่นิยมเรียนมากขึ้นเรื่อยๆ และสามารถใช้ประโยชน์ทำงานได้ทันที การวิจัยขั้นสูงที่เคยเกิดในห้องทดลองของมหาวิทยาลัยก็เพิ่มขึ้นมากในห้องทดลองของสถาบันวิจัยเฉพาะด้านและบริษัทเอกชน รวมทั้งบริษัสตาร์ทอัป มหาวิทยาลัยไม่ได้ถูกท้าทายเฉพาะเรื่องการรับนักศึกษาเท่านั้น ในบางสาขาวิชามหาวิทยาลัยไม่สามารถแข่งขันกับองค์กรภายนอกเพื่อรับและรักษาอาจารย์คุณภาพสูงไว้ได้ด้วย

แต่ทุกความท้าทายย่อมมีโอกาสเสมอ เพราะมหาวิทยาลัยไทยหลายแห่งมีรากฐานเข้มแข็งเป็นทุนเดิม มีอย่างน้อยสามมิติที่จะช่วยให้มหาวิทยาลัยที่ปรับตัวได้เร็วสามารถต่อยอดสร้างคุณค่าองค์กรจากทุนเดิมให้กับสังคมไทยได้ในระยะยาว

มิติแรก ในขณะที่จำนวนนักศึกษาที่จะเข้าเรียนต่อในระดับปริญญาตรีลดลงเรื่อยๆ ประเทศไทยมีแรงงานอีกหลายสิบล้านคนที่ต้องการพัฒนาความรู้และทักษะใหม่ๆ (reskill and upskill) ให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและโลกวิถีใหม่ การสร้างหลักสูตรที่ตอบโจทย์คนที่อยู่ในกำลังแรงงานจะสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยจะต้องส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้และการพัฒนาตลอดชีวิต ไปพร้อมๆ กับการศึกษาวิจัยองค์ความรู้ขั้นสูง

มิติที่สอง มหาวิทยาลัยมีความพิเศษตรงที่มีหลากหลายคณะ หลากหลายสาขาวิชาอยู่ด้วยกัน ถ้ารูปแบบการทำงานของมหาวิทยาลัยยังติดกับการทำงานแบบแยกส่วน แต่ละคณะหรือแต่ละสาขาวิชาอาจจะไม่สามารถแข่งขันได้กับหลักสูตรเฉพาะด้านที่เกิดขึ้นใหม่ๆ โอกาสที่บริการของมหาวิทยาลัยจะถูกฉีกแยกส่วนเป็นชิ้นๆ จะสูงขึ้น โจทย์สำคัญจึงอยู่ที่ว่ามหาวิทยาลัยจะทำลายกำแพงกระจกและสร้างคุณค่าจากการทำงานข้ามศาสตร์ ข้ามสาขาวิชา (multi-disciplinary) ให้เกิดผลได้อย่างกว้างขวางและเป็นรูปธรรมได้อย่างไร

การทำงานข้ามศาสตร์ ข้ามสาขาวิชาจะสำคัญมากสำหรับอนาคตเพราะปัญหาที่สังคมไทยเผชิญจะซับซ้อนมากขึ้น ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยความรู้เฉพาะด้าน การเรียนการสอนข้ามศาสตร์ ข้ามสาขาวิชาจะต้องสร้าง “ประสบการณ์การเรียนรู้” ให้กับคนรุ่นใหม่ สร้างทักษะในการคิดให้ลึกและคิดให้รอบ ซึ่งจะช่วยสร้างจุดแข็งให้มหาวิทยาลัยเหนือกว่าคู่แข่งรูปแบบใหม่ๆ ที่มักเน้นเพียงการให้ความรู้หรือสอนทักษะเฉพาะด้าน

มิติที่สาม มหาวิทยาลัยไทยส่วนใหญ่ยังได้รับความเชื่อมั่นและความไว้วางใจสูงจากสังคม (คล้ายกับที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไว้ใจฝากเงินไว้กับธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก) นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังเป็นองค์กรหลักที่เชื่อมต่อระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นก่อน ถ้ามหาวิทยาลัยไม่สามารถรักษาความไว้วางใจนี้ได้ คุณค่าของมหาวิทยาลัยในสายตาของสังคมจะยิ่งลดลงเร็ว แต่ถ้ามหาวิทยาลัยใดสามารถต่อยอดจากความเชื่อมั่นและความไว้วางใจที่สังคมมอบให้ได้ รวมทั้งทำหน้าที่เป็นสะพานระหว่างคนต่างรุ่นได้ดี มหาวิทยาลัยก็จะอยู่ได้อย่างยั่งยืน

ผมคิดว่าการคิดถึงคุณค่าขององค์กรในอนาคตเป็นด่านสำคัญด่านแรกของการกำหนดยุทธศาสตร์การแปลงร่างของมหาวิทยาลัย ถ้าไม่สามารถรักษาคุณค่าขององค์กรในรูปแบบของมหาวิทยาลัยไว้ได้ โอกาสที่บริการของมหาวิทยาลัยจะถูกฉีกแยกส่วนเป็นชิ้นๆ จะสูงขึ้นและเกิดขึ้นเร็ว และโดยธรรมชาติบริการของมหาวิทยาลัยที่จะถูกแยกส่วนออกไปก่อน จะเป็นบริการที่มีคุณค่าสูง มีโอกาสทางธุรกิจสูง ที่คู่แข่งประเภทใหม่ๆ เห็นว่าคุ้มค่าที่จะเข้ามาแย่งชิง ถ้าบริการที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังเหลือแต่บริการที่มีคุณค่าระดับรองๆ ลงไปก็จะยิ่งทำให้มหาวิทยาลัยมีโอกาสเป็น “กบต้ม” ได้สูงขึ้น

ในการพิจารณากำหนดคุณค่าขององค์กรในอนาคต สิ่งสำคัญที่สุดคือมหาวิทยาลัยจะต้องมองจากมุมมองภายนอกเข้ามา ทั้งมุมมองของสังคม ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากบริการของมหาวิทยาลัย และคู่แข่งประเภทใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น แทนที่จะมองจากมุมมองของผู้บริหารภายในเป็นหลัก การมองจากมุมมองภายในมักจะติดกรอบที่คุ้นชินในอดีต มีโอกาสเป็น group think และมักเป็นการคิดต่อยอดแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายได้อย่างแท้จริง ในทุกอุตสาหกรรมที่ถูกดิสรัปต์รุนแรง คนที่เข้ามาดิสรัปต์มักเป็นผู้เล่นรายใหม่จากนอกอุตสาหกรรมที่มองเห็นปัญหาและโอกาสในการนำเสนอคุณค่าและประโยชน์ผ่านบริการรูปแบบใหม่ๆ ที่แตกต่างไปจากเดิม

เรื่องที่สอง มหาวิทยาลัยไทยหลายแห่งยังได้รับเงินอุดหนุนบางส่วนจากรัฐบาล มีทรัพย์สินสะสม และมีเครือข่ายศิษย์เก่าที่เข้มแข็งยินดีให้การสนับสนุนทางการเงิน บางมหาวิทยาลัยที่มีโรงเรียนแพทย์มีโรงพยาบาลที่สามารถหารายได้บางส่วนให้กับมหาวิทยาลัยได้ แต่ด้วยงบประมาณของรัฐบาลที่มีจำกัด (และสภาวะเศรษฐกิจที่จะใช้เวลาฟื้นตัวนาน) เงินอุดหนุนรูปแบบต่างๆ มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะถ้ามหาวิทยาลัยไม่สามารถแสดงให้เห็นคุณค่าต่อสังคมในอนาคตได้ชัดเจน ดังนั้นการคำนึงถึงประสิทธิภาพและต้นทุนการทำงานของมหาวิทยาลัยจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก การทำงานของส่วนงานต่างๆ ในมหาวิทยาลัยมีต้นทุนแฝงอยู่มาก จึงต้องเริ่มที่การวัดประสิทธิภาพและต้นทุนอย่างจริงจัง เพื่อรักษาวินัยทางการเงิน และทำให้การตัดสินใจลงทุนเรื่องใหม่ๆ (โดยเฉพาะการเปิดหลักสูตรและการสร้างอาคารสถานที่) เกิดความคุ้มค่าและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ในอนาคต นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยจะต้องให้ความสำคัญกับการลด ละ เลิก ด้วย ซึ่งเรื่องที่ควรลดละเลิกก็ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลด้านประสิทธิภาพและต้นทุนที่ครบถ้วนเช่นกัน

เราปฏิเสธไม่ได้ว่าคุณค่าสำคัญประการหนึ่งของมหาวิทยาลัยที่ต้องรักษาไว้ คือการสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้เชิงลึก องค์ความรู้ในหลายสาขาวิชาไม่สามารถสร้างคุณค่าเชิงพาณิชย์ได้ แต่เป็นองค์ความรู้ที่เป็นหลักของสังคม หรือเป็นองค์ความรู้ที่เป็นพื้นฐานของศาสตร์ขั้นสูงที่จำเป็นสำหรับอนาคต

ข้อเสนอที่ให้มหาวิทยาลัยวัดประสิทธิภาพและต้นทุนการทำงานให้ชัดเจน ไม่ได้แปลว่ามหาวิทยาลัยต้องเน้นแต่การหารายได้หรือการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ที่มีคุณค่าเชิงพาณิชย์เท่านั้น แต่การวัดประสิทธิภาพและต้นทุน จะช่วยให้มหาวิทยาลัยวางแผนการเงินและการลงทุนได้อย่างยั่งยืน ซึ่งรวมถึงการสร้างความชัดเจนในเรื่องทรัพยากรที่จะต้องจัดสรรไว้เพื่อสนับสนุนการวิจัยและการเรียนการสอนศาสตร์ขั้นสูงที่จำเป็นแต่ไม่สามารถสร้างคุณค่าเชิงพาณิชย์ได้ด้วย

เรื่องที่สาม ในโลกที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมากและเปิดกว้างมากขึ้น ทุกคณะ ทุกสาขาวิชาในมหาวิทยาลัยจะต้องให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นอันดับแรก (digital first) เทคโนโลยีดิจิทัลและ data analytics (การวิเคราะห์ข้อมูล) ไม่ใช่เป็นเรื่องของสาขาวิชาด้านวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์เท่านั้น แต่จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับการเรียนการสอน และการวิจัยในทุกสาขาวิชา การส่งเสริมให้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและ data analytics นอกจากจะช่วยลดต้นทุนและเวลาทำงานของบุคลากรแล้ว จะช่วยให้อาจารย์สามารถสร้างงานวิจัยเชิงลึกที่แตกต่างจากงานวิจัยของคนอื่นได้อย่างรวดเร็ว

มหาวิทยาลัยใดที่ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่อง digital first แล้ว ยากที่จะสร้างคุณค่าให้แก่สังคมในระยะยาว เพราะเทคโนโลยีดิจิทัลจะเป็นหัวใจสำคัญสำหรับชีวิตของคนรุ่นต่อไป ไม่ว่าจะอยู่ในสาขาวิชาใดก็ตาม

นอกจากนี้ เทคโนโลยีดิจิทัลได้ทำให้พรมแดนหลายเรื่องลดความสำคัญลง แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจเชิงแบ่งปัน (sharing economy) และแพลตฟอร์มที่เปิดกว้าง (open architecture) จะสำคัญมากขึ้น คณะหรือหน่วยงานต่างๆ ควรจะมีโอกาสทำงานร่วมกันผ่านแพลตฟอร์ม ใช้ทรัพยากรร่วมกันตั้งแต่อาจารย์ อาคารสถานที่ ไปจนถึงบุคลากรสนับสนุน รวมทั้งจะต้องส่งเสริมให้เกิด open architecture ที่เชื่อมต่อความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอื่นและหน่วยงานภายนอกได้โดยง่ายด้วย

ไม่ว่าจะเป็นผู้กำหนดนโยบายในภาครัฐ สถาบันวิจัยภายนอก ธุรกิจเอกชน ตลอดจนภาคประชาสังคม การส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยใช้แนวคิดเรื่อง sharing economy และ open architecture อย่างจริงจัง นอกจากจะช่วยลดต้นทุนการลงทุนและการทำงานของมหาวิทยาลัยแล้ว ยังจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการทำงานในลักษณะ multi-disciplinary ได้อย่างก้าวกระโดดด้วย

เรื่องที่สี่ ถ้ามหาวิทยาลัยจะต้องแปลงร่าง (transformation) มหาวิทยาลัยต้องมีทีมงานบริหารการแปลงร่างที่ต้องทำงาน (ยิ่งกว่า) เต็มเวลา เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ผู้บริหารมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่มีประสบการณ์ด้านวิชาการมากกว่าด้านการบริหารการเปลี่ยนแปลง และแม้ว่าจะเป็นผู้บริหาร ก็ยังมีภาระหน้าที่ที่ต้องสอนหนังสือและผลิตผลงานวิชาการด้วย รวมทั้งระยะเวลาการดำรงตำแหน่งผู้บริหารมหาวิทยาลัยค่อนข้างสั้น การบริหารการเปลี่ยนแปลงจึงเกิดขึ้นได้ยากถ้าไม่ปรับโครงสร้างการบริหารมหาวิทยาลัยอย่างจริงจัง ซึ่งต้องรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารและระบบการให้แรงจูงใจในระดับคณะและอาจารย์ด้วย

ถ้าจะบอกว่ามหาวิทยาลัยเป็นองค์กรที่บริหารจัดการยากที่สุดประเภทหนึ่งก็คงไม่ผิด เพราะอาจารย์มหาวิทยาลัยมีความเป็นปัจเจกสูง และระบบการให้แรงจูงใจในมหาวิทยาลัยก็เน้นที่ผลงานวิชาการของอาจารย์แต่ละท่านเป็นหลัก แต่ถ้าคิดอีกด้านหนึ่ง บุคลากรของมหาวิทยาลัยมีความรู้และมีความสามารถสูง ถ้าสามารถทำให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องร่วมมือกันแปลงร่างมหาวิทยาลัยเพื่อรองรับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแล้ว ผมเชื่อว่าจะเกิดพลังบวกมากมาย (เหมือนกับที่ได้สัมผัสจากทีมงานของมหาวิทยาลัยนำร่องทั้งสามแห่งในโครงการมหาวิทยาลัย 4.0)

ในองค์กรธุรกิจเอกชนที่ต้องแปลงร่างจริงจัง ต้องมีผู้บริหารที่รับผิดชอบเรื่อง transformation เป็นพิเศษ และหลายองค์กรต้องหาผู้บริหารการแปลงร่างบางส่วนจากภายนอก เพราะผู้บริหารภายในมักจะเห็นว่าสิ่งที่เคยทำมาตลอดดีอยู่แล้ว การบริหาร transformation เป็นทักษะพิเศษ ต้องมีเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน รักษาทิศทางการเปลี่ยนแปลงอย่างเคร่งครัด ไม่ประนีประนอมจนออกนอกทาง ต้องเน้นการแปลงร่างทั้งระบบมากกว่าแค่การทำเรื่องใหม่ๆ หรือจัดกิจกรรมใหม่ๆ รวมทั้งต้องสร้างการรับรู้และความร่วมมือจากบุคลากรหลากหลายกลุ่มทั่วทั้งองค์กร

เรื่องที่ห้า แม้ว่ามหาวิทยาลัยจำนวนมากได้ออกนอกระบบราชการมาเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐแล้วก็ตาม แต่กฎระเบียบที่ใช้กำกับและบริหารจัดการมหาวิทยาลัยไม่ได้ลดลง กฎระเบียบหลายเรื่องยังรวมศูนย์ทำให้การบริหารมหาวิทยาลัยขาดความยืดหยุ่น ไม่คล่องตัว ไม่สามารถปรับตัวได้เท่าทันกับความท้าทายใหม่ๆ โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีส่งผลให้การบริหารจัดการและวิถีการทำงานมีลักษณะกระจายตัว (distributed) มากขึ้น ที่ผ่านมาสภามหาวิทยาลัยและผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องใช้เวลามากกับการบริหารกฎเกณฑ์ ขาดเวลาคิดเรื่องยุทธศาสตร์และบริหารการเปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้ การคิดทำเรื่องใหม่ๆ ด้วยวิธีการใหม่ๆ ยังเกิดขึ้นได้ยาก เพราะไม่มีกฎเกณฑ์รองรับ เนื่องจากกฎเกณฑ์ที่มีอยู่เขียนมาแต่อดีต สำหรับเรื่องในอดีต และมักเป็นกฎเกณฑ์ที่ใช้ทั่วไปและเน้นเรื่องความเป็นธรรมมากกว่าที่จะสนับสนุนเรื่องใหม่ๆ ที่แตกต่างไปจากเดิม เราต้องไม่ลืมว่าคู่แข่งประเภทใหม่ๆ ที่จะเข้ามาฉีกแยกส่วนบริการของมหาวิทยาลัยนั้นมีประสิทธิภาพและความคล่องตัวสูงกว่ามาก เพราะไม่ถูกกำกับดูแลด้วยกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่รวมศูนย์เหมือนกับมหาวิทยาลัย

ปัญหานี้เกิดขึ้นกับหลายหน่วยงานกำกับดูแลภาครัฐในหลายอุตสาหกรรม เป็นปัญหาไก่กับไข่ ผู้ประกอบการขาดโอกาสทำเรื่องใหม่ๆ หรือคิดนวัตกรรมใหม่ๆ เพราะยังไม่มีกฎเกณฑ์รองรับ แต่จะให้เขียนกฎเกณฑ์ไว้ตั้งแต่แรกก็ทำไม่ถูก เพราะไม่สามารถคาดเดาได้ชัดเจนว่านวัตกรรมใหม่ๆ เหล่านั้นจะออกผลมาอย่างไร แนวคิดหนึ่งที่ภาคการเงินนำมาใช้คือ การสร้างกระบะทราย (regulatory sandbox) เพื่อใช้กำกับดูแลฟินเทค เปิดโอกาสให้ทดลองนวัตกรรมใหม่ๆ ได้กับผู้ใช้บริการบางกลุ่ม ภายใต้กรอบการบริหารความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เปิดโอกาสให้ผู้กำกับดูแลและผู้ให้บริการฟินเทคเรียนรู้ไปด้วยกัน และสามารถออกกฎเกณฑ์ที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยง (risk based regulations) เมื่อถึงจุดที่จะขยายผลไปให้บริการประชาชนในวงกว้าง แต่ถ้าผู้กำกับดูแลเห็นว่านวัตกรรมใดมีความเสี่ยงสูงเกินควร หรือไม่เกิดผลอย่างที่ตั้งใจ ก็ให้หยุดทดลองได้

ในการกำกับดูแลและการบริหารมหาวิทยาลัย ถึงเวลาแล้วที่ทุกระดับ (ตั้งแต่กระทรวงอุดมศึกษาฯ สภามหาวิทยาลัย ไปจนถึงคณะและหน่วยงาน) ต้องทบทวนกฎเกณฑ์ที่มีอยู่เดิม ส่งเสริมให้เกิดการทดลองการบริหารจัดการรูปแบบใหม่ และการทำงานวิถีใหม่ในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะเรื่องการจัดการเรียนการสอน การสร้างความร่วมมือข้ามคณะ ข้ามสาขาวิชา ข้ามมหาวิทยาลัย การสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกที่หลากหลาย และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการบริหารงาน

ในช่วงห้าปีข้างหน้านี้ ความท้าทายที่เกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยทั่วโลกจะรุนแรงมากขึ้นตามพัฒนาการของเทคโนโลยี (ที่ถูกเร่งให้เร็วขึ้นไปอีกจากการแพร่ระบาดของโควิด-19) การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร รูปแบบการทำงานของคนรุ่นใหม่ และโครงสร้างของตลาดแรงงาน ถ้ามหาวิทยาลัยใดสามารถแปลงร่างได้ทันการณ์เป็นรูปธรรม สามารถรักษาคุณค่าและประโยชน์ (value proposition) ที่มีต่อสังคมและผู้เกี่ยวข้องได้ชัดเจน มหาวิทยาลัยนั้นจะเติบโตได้ต่อเนื่องในระยะยาว โอกาสที่บริการของมหาวิทยาลัยจะถูกฉีกแยกส่วนเป็นชิ้นๆ จะลดลงมาก

ถ้ามหาวิทยาลัยใดยังบริหารจัดการแบบเดิมไปเรื่อยๆ ก็คงหนีไม่พ้นฉากทัศน์ “กบต้ม” การปรับตัวในอนาคตจะยิ่งเกิดขึ้นได้ยาก แต่ถ้าเกิดฉากทัศน์ “กบต้มแบบถูกฉีกแยกส่วนเป็นชิ้นๆ” ด้วยแล้ว จะทรมานขึ้นอีกมาก และคงไม่มีโอกาสที่จะกระโดดออกจากหม้อน้ำเดือดได้ทันแน่นอน