ThaiPublica > เกาะกระแส > ผู้ว่าแบงก์ชาติ มอง “The Future of Central Banking สู่ยุคใหม่ของธนาคารกลาง”

ผู้ว่าแบงก์ชาติ มอง “The Future of Central Banking สู่ยุคใหม่ของธนาคารกลาง”

13 กันยายน 2018


ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) (ขวา) และ “ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา” นักเขียนและเจ้าของสำนักพิมพ์ Openbooks (ซ้าย)

“The Future of Central Banking สู่ยุคใหม่ของธนาคารกลาง” เป็นบทสัมภาษณ์ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดย “ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา” นักเขียนและเจ้าของสำนักพิมพ์ Openbooks ทำหน้าที่พิธีกรสนทนา ซึ่งรายงานชิ้นนี้ตีพิมพ์ในนิตยสาร “BOT พระสยาม MAGAZINE” ของธนาคารแห่งประเทศไทย ฉบับเดือนกรกฎาคม- สิงหาคม 2561

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าเห็นว่ามีมุมมองในอีกหลายประเด็นที่น่าสนใจ จึงนำมานำเสนอดังนี้

ภิญโญ: ในรอบหลายปีที่ผ่านมาระบบเศรษฐกิจของโลกเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก แล้วบทบาทและหน้าที่สำคัญของธนาคารแห่งประเทศไทย ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นต้องเป็นอย่างไร?

ดร.วิรไท: ผมคิดว่าเป็นคำถามที่สำคัญมากและคงไม่ใช่การเปลี่ยนของ ธปท. เพียงอย่างเดียว ผมคิดว่าธนาคารกลางทุกประเทศก็กำลังเจอความท้าทายคล้ายๆ กัน รวมถึงองค์กรที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการเศรษฐกิจทั้งหมดด้วย เราอาจจะต้องมานั่งดูบริบทการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น

ผมคิดว่ามีอย่างน้อย 4 เรื่องที่เป็นความท้าทายสำคัญของเรา และจะเป็นตัวกำหนดบริบทที่เราจะต้องบริหารจัดการ

เรื่องแรก คือเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมากๆ เร็วกว่าที่เราเคยเห็นในอดีตมากและเป็นเทคโนโลยีที่มีผลกับคนในวงกว้าง มีผลกับรูปแบบการทำธุรกิจ โดยเฉพาะในธุรกิจการเงิน รวมไปถึงธุรกิจอื่นๆ ด้วย

เรื่องที่ 2 คือเรื่องของโลกาภิวัตน์ เราพูดถึงเรื่องนี้มานาน แต่วันนี้เรายิ่งเห็นว่าความเชื่อมโยงกันของตลาดเงิน ตลาดทุน ระบบเศรษฐกิจโลกมีมากขึ้น ยิ่งมีเทคโนโลยีมาเป็นกลไกสำคัญ อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในอีกซีกโลกหนึ่งภายใน 2-3 วินาทีมันส่งผลกระทบมาถึงตลาดเงินตลาดทุนในบ้านเราได้ทันที ความเป็นพรมแดนของเราก็ลดความสำคัญลงไปมาก ในขณะที่ ธปท. หรือธนาคารกลางทุกประเทศบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจภายใต้ขอบเขตพรมแดนของกฎหมาย

เรื่องที่ 3 ผมคิดว่าโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจมีความซับซ้อนมากขึ้น มีตัวแปรต่างๆ มากขึ้น และทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่เราเรียนกันมา มักจะมีสมมติฐานให้ตัวแปรอื่นคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง แต่ในความเป็นจริงมันไม่ได้อยู่นิ่งๆ มันเกิดขึ้นพร้อมกันหมด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเลยคือธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมา 4-5 ครั้ง ทฤษฎีปกติก็ต้องคิดว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐต้องแข็งค่าขึ้น แต่ปีที่แล้วเราเห็นว่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเทียบกับทุกสกุลเงินในโลก ทั้งที่เขาขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมาโดยตลอด เพราะมันมีปัจจัยหลายอย่างมากที่ทำให้โครงสร้างระบบเศรษฐกิจมันซับซ้อนมากขึ้น

ขณะเดียวกันยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่เป็นความท้าทายในระยะยาวที่เราไม่เคยพบมาก่อน เช่น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สิ่งนี้จะเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคการออมของคน หรือแม้กระทั่งโครงสร้างที่จะมีความเหลื่อมล้ำกันมากขึ้น อย่างวันนี้ที่เราจะได้ยินมากขึ้นว่าเศรษฐกิจโตดีแต่ทำไมฐานรากไม่ค่อยรู้สึกว่าเศรษฐกิจโต พวกนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เราอาจจะไม่ได้พบเท่าไหร่

เรื่องที่ 4 ที่ผมคิดว่ามีความสำคัญไปไม่น้อยกว่ากันคือ ความคาดหวังของสังคมที่เปลี่ยนไปเยอะมาก ด้วยโครงสร้างสังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น มีคนหลายกลุ่มมากขึ้น แต่ละคนก็มีความคาดหวังจากองค์กรของภาครัฐที่ต่างกัน และธนาคารกลางไม่ว่าจะเป็นของประเทศไหนก็ตาม เราอยู่ท่ามกลางผลประโยชน์ของคนกลุ่มต่างๆ ดอกเบี้ยขึ้นผู้ฝากเงินก็ชอบ ผู้กู้เงินก็ไม่ชอบ ค่าเงินบาทแข็งผู้นำเข้าก็ชอบ ผู้ส่งออกก็ไม่ชอบ ฉะนั้นเราอยู่ท่ามกลางผลประโยชน์ตลอดเวลา ในการที่มีความขัดแย้งกันทางมุมมองมากขึ้น มีเรื่องของความคาดหวังของสังคมที่หลากหลายมากขึ้น อันนี้จะเป็นบริบทที่ท้าทายของธนาคารกลางในช่วงข้างหน้า

ภิญโญ: ในความเปลี่ยนแปลงนี้เรามีเครื่องมือใหม่ๆ หรือเครื่องมือเพียงพอที่จะจัดการหรือว่ารับมือกับความเปลี่ยนแปลง กับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันหรือไม่?

ดร.วิรไท: ก็ต้องปรับเครื่องมือของเราให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง คือหน้าที่ของธนาคารกลางอาจจะไม่ใช่ทำนโยบายการเงินเพื่อดูแลเฉพาะเรื่องของเสถียรภาพราคาเพียงอย่างเดียว ที่เราคุ้นกัน เช่น การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายขึ้นหรือลง เพื่อจะให้เกิดผลกับเสถียรภาพด้านราคา แต่ถ้ามองในวงกว้าง สภาวะหรือบริบทที่ผมพูดถึงมันกระทบกับทุกหน้างานของ ธปท. เลย ไม่ว่าจะเป็นการกำกับดูแลสถาบันการเงิน ที่จะต้องเปลี่ยนไป เมื่อก่อนเรากำกับสถาบันการเงินตามประเภทของสถาบันการเงิน เช่น คุณมาขออนุญาตเป็นธนาคาร เราก็ให้ใบอนุญาตธนาคาร มีกฎเกณฑ์กำกับดูแล คุณมาขอใบอนุญาตบริษัทเงินทุน ก็ให้ใบอนุญาตบริษัทเงินทุน มันเป็นการกำกับตามประเภทของสถาบันการเงิน ช่วงหลังก็มีการกำกับตามประเภทของผลิตภัณฑ์ เช่น คุณเป็นผู้ออกบัตรเครดิต ก็กำกับในฐานะผู้ให้บริการบัตรเครดิต คุณทำสินเชื่อบุคคลก็กำกับในลักษณะนั้น

แต่ทุกวันนี้เราเห็นเทคโนโลยีที่เข้ามา มันเป็นแพลตฟอร์ม ไม่ได้เป็นคนที่มาขอใบอนุญาตตามประเภทของหน่วยงานของตัวเอง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นบริษัทโทรคมนาคมมาให้บริการชำระเงิน หรือแม้กระทั่งอีคอมเมิร์ซก็มาให้บริการชำระเงินได้ ซึ่ง ธปท. จะต้องกำกับดูแลในลักษณะที่เป็นตามประเภทกิจกรรมมากขึ้น ซึ่งจะมีความยากมากขึ้นด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นหนึ่งตัวอย่างว่า เราจะต้องปรับตัวให้เท่าทันกับบริบทของการเปลี่ยนแปลง

บทบาทอีกอันของ ธปท. คือการพิมพ์ธนบัตร จะเห็นได้ชัดว่าในโลกที่เข้าไปสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น ความต้องการใช้เงินสดก็จะน้อยลง ธปท. ก็ต้องปรับรูปแบบของกระบวนการของระบบการชำระเงินในประเทศให้เท่าทัน เช่น ลดการพึ่งพาใช้การเงินสด อย่างที่เราทราบกันว่าใครก็ตามที่ใช้เงินสดมันมีต้นทุนแฝงอยู่สูงมากโดยที่เราอาจจะไม่ได้ตระหนัก เพราะเราคิดว่าเงินสดมันฟรี ไม่มีค่าธรรมเนียม เราก็ต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลาให้แน่ใจว่าเรามีเครื่องมือที่เท่าทัน

แต่นอกจากเครื่องมือแล้ว ธปท. มีโจทย์ใหญ่ๆ ที่ต้องกลับมาทบทวนเรื่องพันธกิจของธนาคารกลาง ผมคิดว่าตอนนี้อาจจะเรียกว่าธนาคารกลางอยู่ในช่วงของการค้นหาและทำความเข้าใจตัวเองภายใต้บริบทใหม่ อย่างเช่น เรื่องของหน้าที่ของธนาคารกลางที่จะต้องรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ ถ้าตามความหมายเดิมคนจะให้ความสำคัญสูงมากกับเสถียรภาพด้านราคา เพราะว่าเรามาจากยุคที่เงินเฟ้อเคยสูงแล้วมันกระทบกับทุกคน กระทบกับการเติบโตของเศรษฐกิจ กระทบกับสวัสดิการ คุณภาพชีวิตของคนโดยเฉพาะคนที่ต้องพึ่งรายได้ประจำ

แต่วันนี้เราจะเห็นชัดว่าโลกาภิวัตน์ที่กำลังเกิดขึ้น เงินเฟ้อต่ำมากทั้งโลก เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าลดลงมาก ปัญหาเงินเฟ้ออาจจะไม่ได้เป็นปัญหาที่รุนแรง ไม่ได้เป็นความท้าทายที่รุนแรงเหมือนแต่เดิม แต่เรากำลังเจอเรื่องเสถียรภาพทางด้านการเงิน เพราะมีผู้เล่นใหม่ๆ เกิดขึ้น มีระบบการเงินที่เป็นธนาคารเงา (Shadow Bank) เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ ไม่ได้ถูกกำกับดูแลเข้มเหมือนธนาคารพาณิชย์

และการที่อัตราดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่องมาเป็น 10 ปี ตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินในปี 2008 ทำให้เกิดฟองสบู่เต็มไปหมดทั่วโลก มีหนี้สูงเป็นประวัติการณ์ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาเรื่องเสถียรภาพการเงินมากกว่าเสถียรภาพด้านราคา ดังนั้น ธนาคารกลางจะต้องให้ความสำคัญมากขึ้นด้านเสถียรภาพการเงิน

แล้วพอเรากำกับดูแลเฉพาะธนาคารพาณิชย์ แต่ระบบการเงินทั้งหมดมีผู้กำกับรายอื่นที่ดูแล อย่างเช่น ก.ล.ต. ก็ดูแลตลาดทุน คปภ. ก็ดูแลเรื่องประกัน นอกจากนี้ ยังมีเรื่องพวกการเงินนอกระบบที่มีจำนวนมาก รวมทั้ง สหกรณ์ออมทรัพย์ที่เชื่อมโยงกันและมีขนาดใหญ่มากขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นโจทย์และความท้าทายสำคัญว่าเราจะมองภาพใหญ่ในเรื่องเสถียรภาพการเงินได้อย่างไร

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ภิญโญ: ในภูมิทัศน์ (landscape)แบบนี้ พันธกิจที่สำคัญที่สุดของ ธปท.ที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นในไม่กี่ปีต่อจากนี้

ดร.วิรไท: ผมคิดว่าเรื่องแรก คือ การรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจยังคงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ในทุกประเทศมีธนาคารกลางเป็นหน่วยงานอาจจะหน่วยงานเดียว ที่มีหน้าที่ชัดเจนว่าต้องรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้เราต้องมองไกล และพยายามจะเป็นคนที่ทำหน้าที่แตะเบรก ถ้าเราเห็นว่าอะไรที่มันอาจจะเร็วเกินไปหรืออาจจะสร้างปัญหาได้ในอนาคต แต่แน่นอนว่าในบริบทใหม่ ความเสี่ยงอาจจะไม่ได้เหมือนเดิม รถอาจจะมีความเร็วเต็มที่ไม่ได้อยู่ที่ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ด้วยยานยนต์ประเภทใหม่ ความเสี่ยงประเภทใหม่ มันอาจจะมาด้วย 220 หรือ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เราก็ต้องเท่าทันว่าจะมีกลไกอะไรที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต

ตัวอย่างเช่น เวลาที่เราพูดถึงการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ เมื่อก่อนถ้าคิดแบบเดิมเราจะเห็นว่าธนาคารมีปัญหาเรื่องการขาดสภาพคล่องก่อน คนไม่ไว้ใจก็จะไปกดเงิน ถอนเงินออกไปมาก ก็มีปัญหาสภาพคล่อง ระบบการเงินก็มีปัญหา หรือธนาคารปล่อยสินเชื่อไม่ระวังเกิดเป็นหนี้เสียเต็มไปหมด ก็จะไปกินเรื่องเงินกองทุน เงินกองทุนก็ไม่เพียงพอ กฎเกณฑ์การกำกับเราก็จะเน้นเรื่องสภาพคล่อง การบริหารสภาพคล่อง เรื่องบริหารจัดการเงินกองทุนให้เพียงพอ

แต่มองไปใน 5 ปีข้างหน้า ใครจะทราบว่าเรื่องความปลอดภัยด้านไซเบอร์ หรือ cyber security อาจจะเป็นความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดของระบบการเงิน เป็นความเสี่ยงรูปแบบใหม่ที่เข้ามากระทบกับธนาคารบางแห่งแล้วจะลากยาวไปสู่ระบบการเงินทั้งหมดผ่านระบบการชำระเงินได้ อันนี้เป็นความเสี่ยงใหม่ที่ต้องมาดูว่าเราจะสร้างกฎเกณฑ์กติกากำกับดูแลอย่างไรเพื่อให้แน่ใจว่าเรามีกำแพงที่เท่าทันกับภัยต่างๆ ที่เข้ามาของไซเบอร์

สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ ธปท. ทำไปเพื่อรักษาเสถียรภาพของสถาบันการเงิน คือพันธกิจยังเป็นเรื่องเดิม แต่วิธีการทำงานจะต้องเปลี่ยนไป ต้องเท่าทันกับความเสี่ยงใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น

ภิญโญ: ธนาคารกลางในอนาคตอาจจะต้องทำหน้าที่นี้มากขึ้นกว่าการรักษาเสถียรภาพด้วยหรือเปล่า อย่างเช่น การกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ด้วยหรือไม่

ดร.วิรไท: ผมคิดว่าอาจจะในบางภาวะ อย่างที่เราเห็นวิกฤติการเงินโลกที่ไม่มีทางเลือกอื่น เพราะว่าในภาครัฐอาจจะมีปัญหาหนี้เสียเพิ่มขึ้นมากจากการไปช่วยอุ้มสถาบันการเงิน ระบบการเงินโดยตรงก็ไม่ทำงาน กลไกที่ธนาคารกลางจะทำหน้าที่ อาจจะไม่เรียกว่ากระตุ้นเศรษฐกิจ คือจะช่วยทำนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายลง เพื่อจะให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโต กลับมาฟื้นตัวได้เร็ว เพราะกลไกสถาบันการเงินที่เป็นตัวกลางไม่ทำงาน เพราะเจอกับวิกฤติสถาบันการเงิน

ธนาคารกลางหลายประเทศก็ลุกมาทำโดยตรง เช่น ไปซื้อพันธบัตร ทำนโยบายการเงินที่ไม่ปกติ แต่สิ่งเหล่านี้ก็มีผลข้างเคียงตามมา เราจึงเห็นว่าช่วงนี้ธนาคารกลางที่ทำนโยบายแบบนั้นก็กลับมาทำสิ่งที่เรียกว่า normalization คือกลับมาทำเรื่องที่เป็นปกติมากขึ้น เพราะฉะนั้นก็ขึ้นอยู่กับจังหวะเวลาในบางช่วงที่ธนาคารกลางจะต้องทำนโยบายการเงินในลักษณะที่ผ่อนคลาย สอดคล้องกับนโยบายอื่นๆ โดยเฉพาะนโยบายการคลัง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

แต่ผมคิดว่าอีกเรื่องที่จะมีความสำคัญมากขึ้นคือเรื่องของการพัฒนา เมื่อก่อนเราอาจจะคิดว่าธนาคารกลางมีหน้าที่รักษาเสถียรภาพ เรื่องของการพัฒนาเป็นเรื่องหน้าที่คนอื่น แต่ในยุคที่จะมีการเปลี่ยนผ่านได้เร็ว จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องเข้ามามีส่วนในการกำกับทิศทางของการพัฒนาและการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เราต้องไม่มีกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคกับเรื่องการพัฒนา โดยเฉพาะเรื่องของนวัตกรรม เพราะฉะนั้นมิติของการพัฒนาจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการทำหน้าที่ของธนาคารกลาง เพราะถ้าเราไปอิงเสถียรภาพอย่างเดียวก็อาจจะทำให้การพัฒนาของเราอาจจะไม่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงในบริบทของโลก

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด 2-3 ปีที่ผ่านมา คือ เรื่องการขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่ digital economy เงื่อนไขสำคัญ คือ ต้องมีระบบการชำระเงินที่มีประสิทธิภาพสูง เอื้อต่อการทำธุรกรรมดิจิทัล มีต้นทุนต่ำ มีค่าธรรมเนียมต่ำ และประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย จึงเป็นที่มาของระบบพร้อมเพย์ ซึ่งกระทรวงการคลัง สมาคมธนาคาร และ ธปท. ได้ร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดขึ้น เป็นระบบที่เปิดกว้างให้ใครก็สามารถมาทำบริการต่อยอดได้ ก็ถึงเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างเร็วในช่วงที่ผ่านมา

ภิญโญ: แล้วการพัฒนาคนของ ธปท. หรือธนาคารกลางให้ทันกับความเร็วข้างนอก

ดร.วิรไท: อันนี้เป็นความท้าทายใหญ่ที่สำคัญมาก คงไม่ใช่สำหรับ ธปท. เพียงแห่งเดียว แต่ทุกองค์กรที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่ โดยเฉพาะภาครัฐ มีหลายเรื่องที่เราต้องทำ

เรื่องแรกต้องทำให้พนักงานทุกคนตระหนักรู้ก่อนว่าสภาวะแวดล้อมหรือบริบทที่เขาคุ้นชิน จะเป็นแบบนั้นอีกต่อไปแล้ว ต้องให้เขามีโอกาสได้เห็นและรับทราบถึงการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งเราทำค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่การเชิญผู้รู้ด้านต่างๆ มาเล่าให้ฟัง มาแสดงให้เราเห็นและมาท้าทายเราว่าสิ่งที่เราเชื่อ มันอาจจะตกกรอบไปแล้ว

เรื่องที่ 2 คือ การปรับวัฒนธรรมองค์กรให้เราสามารถที่จะสนับสนุนนวัตกรรม สนับสนุนการทดลองทำสิ่งใหม่ๆ การทดลองทำสิ่งที่ต่างไปจากเดิม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ซึ่ง ธปท. โชคดีที่มีน้องๆ รุ่นใหม่ที่เข้ามาเป็นพนักงานของเราเยอะมาก แล้วมีพลังมีความคิด แต่เมื่อก่อนอาจจะไม่ได้มีเวทีมากพอ เพราะเราเป็นองค์กรที่มีขั้นมีตอนเยอะ เราต้องปรับวัฒนธรรมองค์กรและเปิดโอกาสให้เขาแสดงศักยภาพของเขาในหลายด้าน

เรื่องที่ 3 การกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน โดยเฉพาะในเรื่องทักษะสำคัญและเทคโนโลยีสำคัญที่เราต้องเข้าใจ เราต้องสร้างความสามารถภายในของเราขึ้นมาให้ได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราเห็นแล้วว่า big data เรื่อง data analytic เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เราก็ทุ่มทรัพยากรของเราไปในการตั้งทีมงานพิเศษ สรรหาคนจากข้างนอกที่เป็นผู้รู้เข้ามาช่วย ทำงานร่วมกับหลายหน่วยงานที่มีถังข้อมูล เราใช้นโยบายเปิดกว้าง ถ้าคุณมีข้อมูลแล้วไม่รู้ว่าจะวิเคราะห์อย่างไร คุณจะทำความสะอาดจัดรูปแบบอย่างไร ส่งมาให้เราเดี๋ยวเราทำให้ เราลงทุนทำระบบ ทำ data architecture และมีทีมวิเคราะห์และพัฒนาไปด้วยกัน

“สิ่งนี้ทำให้ผมเชื่อว่าเราเป็นหน่วยงานที่มีความสามารถทางด้าน data analytic ดีที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย แล้วมีถังข้อมูลที่ทำให้เราสามารถจับชีพจรการเปลี่ยนแปลงของสภาวะเศรษฐกิจได้ดีกว่าเดิมมาก โดยเฉพาะในภาวะที่ระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงเร็ว ตัวชี้วัดเศรษฐกิจบางตัวที่เราเคยใช้ ไปทำแบบสำรวจ 2 เดือนกว่าจะรู้ ทุกวันนี้เราใช้ Google Trend ไปจับข้อมูลที่กระจายอยู่ทั่วไป เราได้ข้อมูลภายในไม่กี่นาทีและพอเอามาเทียบเคียงทดสอบย้อนหลังมันไปด้วยกันเลย มีความสัมพันธ์กันดีมาก เราไม่จำเป็นต้องทำแบบเดิม แต่เราสามารถจับชีพจรได้เร็วกว่ามาก อันนี้เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าเราต้องกำหนดว่าอันไหนเป็นเรื่องสำคัญ แล้วพยายามที่จะทำและตั้งเป้าให้ชัดเจน”

นอกจากเรื่องวิเคราะห์ข้อมูลแล้ว อีกเรื่องที่เราคิดว่าจะมีความสำคัญมากในโลกการเงินยุคใหม่คือเทคโนโลยีที่เรียกว่าบล็อกเชน หรือ distributed ledger แนวคิดของธนาคารกลางหรือระบบธนาคารแต่เดิมมาจากการที่มีบัญชีกลาง หรือ central bookkeeping แต่พัฒนาการแบบบล็อกเชนจะกระจายตัวเต็มไปหมด แล้วทำหน้าที่เหมือนช่วยยืนยันรายการซึ่งกันและกัน ไม่จำเป็นต้องมีบัญชีกลาง เราคิดว่านี่เป็นเรื่องสำคัญมากและต้องตั้งทีมขึ้นมาศึกษาเรื่องนี้และจะต้องพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า used case หรือพัฒนาสิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับระบบการเงินไทย ก็มี 2-3 โครงการที่เราเริ่มทำและไปเชิญชวนธนาคารพาณิชย์เข้ามาทำงานร่วมกัน เพื่อที่จะทำให้ระบบการเงินไทยสามารถมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี เชื่อมโยงกับพัฒนาการของเทคโนโลยีบล็อกเชน เราจะได้ไม่ตกขบวนรถไฟเวลาที่เทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามามีอิทธิพลมากขึ้น

ภิญโญ: บล็อกเชนเป็นเรื่องใหญ่มาก ในอนาคตมันจะไปไกลถึงเป็นเงินสำรองดิจิทัลได้หรือไม่

ดร.วิรไท: อาจจะต้องแยกกันว่าที่เราได้ยินเรื่องคริปโตเคอเรนซี พวกนั้นเป็นการประยุกต์ใช้บล็อกเชนแบบหนึ่ง แต่ตัวบล็อกเชนเองมีศักยภาพสูงที่จะทำได้หลายอย่าง เรื่องการที่จะทำเป็นเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือเงินคริปโต เป็นการประยุกต์ใช้อันเดียวเท่านั้นเอง บล็อกเชนทำงานหลังบ้านได้อีกมาก วันนี้เราได้ผ่านโครงการหนึ่งไป ที่ทำร่วมกับธนาคารพาณิชย์ คือเราจะพัฒนาระบบการออกพันธบัตรใหม่ ของเดิมเวลาที่เราเห็นพันธบัตรออมทรัพย์ที่เราขายให้กับประชาชน ใช้เวลาประมาณ 15 วันกว่าคนที่ซื้อจะได้พันธบัตรเข้าบัญชีของตัวเอง เพราะมีระบบหลายระบบเกี่ยวข้อง ตั้งแต่ระบบของสำนักบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ระบบของ ธปท. ระบบของธนาคารพาณิชย์ ระบบของศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ ซึ่งพวกนี้มีขั้นตอนซ้ำไปซ้ำมาและใช้เวลาค่อนข้างมาก พอเรามาออกแบบใหม่ร่วมกันโดยใช้บล็อกเชนจะใช้เวลาไปเกิน 2 วัน แล้วต่อไปจะขยายไปสู่พันธบัตรอื่นๆ ได้ด้วย รวมทั้งหุ้นกู้ของเอกชนด้วย

หรือแม้กระทั้งเรื่องของหนังสือค้ำประกัน ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของระบบการเงินไทย ใครจะทำธุรกิจก็ต้องไปขอหนังสือค้ำประกัน จากธนาคารเอาไปให้การไฟฟ้าบ้าง ไปให้พวกคู่ค้าของเราบ้าง แล้วเราทำหายก็ต้องไปขอใหม่ เราจะเปลี่ยนมิเตอร์เองกว่าจะไปไถ่ถอนกลับคืน หรือกรณีเรื่องหนังสือปลอมเยอะมาก ปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ด้วยบล็อกเชน พวกนี้มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้เร็วกว่า อย่างเช่นกรณีของเอาไปใช้เป็นเงินหรือสกุลเงินดิจิทัล

ในกรณีของ ธปท. เราก็เร่งทำโครงการหนึ่งร่วมกับธนาคารพาณิชย์ที่สนใจ คือเราจะพัฒนาระบบการชำระดุลระหว่างธนาคาร เรื่องว่าเป็น central bank digital currency คือเป็นเงินดิจิทัลสำหรับใช้ระหว่างธนาคารกับธนาคารกลาง ไม่ได้ให้ประชาชนทั่วไปใช้งาน ต่างจากกรณีของพวกบิทคอยน์หรืออะไรแบบนั้นที่เอาบล็อกเชนมาใช้เหมือนกัน แต่ทำเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลให้ประชาชนใช้ แต่วันนี้เราทดลองกำลังจะเริ่มเงินดิจิทัลระหว่างธนาคารกลางและธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการชำระเงินมหาศาล โดยอาศัยเทคโนโลยีบล็อกเชน

ภิญโญ: แสดงว่าเรากำลังอยู่ในจุดเริ่มต้นของวิวัฒนาการของระบบการเงิน ซึ่งเราไม่รู้ว่าอนาคตจะเดินไปถึงจุดไหน

ดร.วิรไท: ใช่ครับ แต่เราพอเห็นทิศทาง อย่างเรื่องของ central bank digital currency ก็เป็นเรื่องที่หลายธนาคารกลางเริ่มก่อนเราไม่กี่ปี แล้วทุกคนทำถึงจุดที่ว่าเริ่มพัฒนาต้นแบบ แนวคิด ยังไม่มีใครลงทุนทำจริงๆ เพราะเทคโนโลยีมันยังไม่ได้เสถียรขนาดนั้น เพียงแต่ว่าเราต้องทดลองทำ เพื่อจะได้รู้ว่าต้องปรับกระบวนการทำงานของเราอย่างไรบ้าง ตรงไหน กรอบกฎเกณฑ์กติกาของเราอาจะไปถึงกรอบกฎหมาย เวลาที่ต้องแบ่งความรับผิดรับชอบกัน ถ้าเกิดมีปัญหา เราต้องปรับกฎเกณฑ์กติกาอย่างไรบ้าง มีขั้นตอนไหนบ้าง อาจจะเป็นทำตามกลไกเดิม แต่อาจจะต้องยกเลิกบางขั้นตอน อาจจะต้องมีขั้นตอนใหม่ๆ ขึ้นมา มีกระบวนการบริหารความเสี่ยงรูปแบบใหม่ๆ จะต้องเข้าใจว่าเทคโนโลยี การเขียนโค้ดจะต้องปรับไปอย่างไร เราก็เตรียมพร้อมเหมือนที่ธนาคารกลางอื่นๆ ทำ

วันนี้ของเราก็เรียกว่าไม่ช้า เพราะเทคโนโลยียังไม่เสถียร เราเห็นทิศทางว่ามาแบบนี้ต้องเปลี่ยนวิธีคิด จากที่บัญชีกลางบัญชีเดียว มันเป็นบัญชีที่กระจายตัวมากขึ้น แล้วเมื่อไรที่เทคโนโลยีมันมีการพัฒนา ซึ่งเร็วมากในช่วง 2-3 ปีนี้ ก็จะทำให้เราพร้อมเมื่อเราคิดว่าเรามีเทคโนโลยีที่พร้อมใช้

ภิญโญ: แสดงว่าบุคคลกรในยุคต่อไปที่ ธปท. ต้องการ อาจจะมีคุณสมบัติที่แตกต่างจากนักเรียนทุน ธปท. ในอดีตอย่างสิ้นเชิง

ดร.วิรไท: ใช่ครับ แตกต่างจากคนของ ธปท. ในอดีต เห็นได้ชัดเจนว่าเมื่อถอยกลับไปสัก 5 ปีที่ผ่านมา เรามีคนที่จบไอที วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ สัก 5% ของพนักงานที่สำนักงานใหญ่ วันนี้มีประมาณ 10% แล้วเราก็ยังมีไม่พอ เราต้องเพิ่มคนที่มีความรู้ความเข้าใจด้านนี้อีก ทุนการศึกษาที่เราให้ปีนี้จะเห็นได้ชัดเจนเลยว่า ไม่ว่าจะมาจากฝ่ายงานไหนก็ตามใน ธปท. จะขอไปเรียนเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นนักเศรษฐศาสตร์แต่ขอไปเรียน data analytic ไม่ได้ไปเรียนเศรษฐศาสตร์แบบดั้งเดิม หรือแม้กระทั่งภาษาต่างๆ หรือทักษะใหม่ๆ ที่น้องๆ ใช้กัน เมื่อก่อนคนที่บอกว่าจะไปเรียนเศรษฐศาสตร์จะต้องเก่งเรื่องคณิตศาสตร์ขั้นสูง แต่เดี๋ยวนี้ ถ้าไปดูเด็กรุ่นใหม่เขาจะเรียนกันเรื่องของการเขียนโค้ด พวกภาษาคอมพิวเตอร์ ที่ผมไม่เคยได้ยินมาก่อนในสมัยที่ผมเรียนมาหรือทำงานมา

จะเห็นว่ามันต้องมีการปรับตัวอย่างค่อนข้างมาก เป็นทักษะใหม่ๆ ซึ่งเราโชคดีที่มีน้องๆ พนักงานรุ่นใหม่ๆ ที่เข้ามาค่อนข้างเยอะและตื่นตัวในเรื่องเหล่านี้ ซึ่ง ธปท. ต้องให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ให้เขาสามารถที่จะเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง และมีทักษะที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น

ภิญโญ: ฟังแล้ว ธปท. ในอนาคตจะมีความเป็นกูเกิลมากกว่าที่จะเป็นธนาคารกลางยุโรปแบบในอดีตศตวรรษที่ 17 หรือ 18

ดร.วิรไท: เศรษฐกิจจากศตวรรษที่ 17 มาจนถึงวันนี้ มีการเปลี่ยนแปลงเยอะมากเหมือนกัน ธปท. ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องมีการปรับตัวค่อนข้างมาก ในโลกที่เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น แต่ไม่แค่เรื่องเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว หลายเรื่องเราก็ต้องปรับ เช่น เรื่องการสื่อสารก็เป็นความท้าทายใหม่ อย่างที่พูดตอนต้นว่าความคาดหวังของสังคมมีความหลากหลายมากขึ้น คนที่ ธปท. ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องก็หลากหลายมากขึ้น และหน้าที่หลักของเรา ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนอย่างไรก็ตาม เราเป็นคนที่อยู่ท่ามกลางผลประโยชน์ เป็นผู้กำกับดูแล กำกับนโยบาย ผู้คอยแตะเบรกถ้าเรารู้สึกว่าอะไรมันจะเกินพอดีและไปสร้างปัญหาในอนาคต

ฉะนั้น ขณะที่โลกของการสื่อสารมวลชนก็เปลี่ยนแปลงอย่างมาก เราต้องปรับกลยุทธ์และกระบวนการสื่อสารขององค์กร โดยเฉพาะทักษะการสื่อสารทาง Social media ที่จะช่วยตอบโจทย์ต่างๆ ได้เร็วขึ้น ด้วยภาษาง่ายๆ ที่คนทั่วไปเข้าใจได้ และสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายได้มากขึ้น สิ่งเหล่านี้ก็เป็นความท้าทายใหม่ที่เรากำลังเรียนรู้และปรับตัว

ภิญโญ: ขนาดเราคุยกันไม่กี่ประเด็นยังใช้เวลาที่จะคลี่คลายหรืออธิบายความซับซ้อนในระบบเศรษฐกิจขนาดนี้ แล้วเราจะสื่อสารกับสังคม จะอธิบายเรื่องแบบนี้กับผู้คนทั่วไปได้อย่างไร

ดร.วิรไท: เราลองๆ อยู่หลายรูปแบบ อันแรกเราต้องทำเรื่องยากให้ง่าย ภาษาที่เราใช้บางทีมันก็ยากไป ตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อคืออะไร เราพยายามสื่อให้เขาเข้าใจง่ายๆ แล้วต้องสื่อบ่อยๆ สื่อถี่มากขึ้น และที่สำคัญคือเราจะเรียนรู้ได้มากจากผู้รู้ที่อยู่ข้างนอก ธปท. คนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสาร เราก็ต้องทำงานกับเขามากขึ้น ต้องมีภาคี มีพันธมิตรมากขึ้น เมื่อก่อนเราอาจจะให้ความสำคัญกับนักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย หรือนักเศรษฐศาสตร์ตามสถาบันการเงิน แต่วันนี้เราต้องคุยกับทุกคน ต้องเข้าใจวิธีคิดของคน โดยเฉพาะคนที่เป็นผู้นำทางความคิด ที่จะให้ข้อคิดกับเราในเรื่องของการสื่อสาร

ภิญโญ: คือถ้า ธปท. เป็นคน แต่เดิมเป็นคนแบบไหน แล้ววันนี้คนคนนี้จะต้องปรับตัวอย่างไร เพื่อให้กลายเป็นคนที่เดินไปสู่อนาคตได้

ดร.วิรไท: แต่เดิมเราเป็นคนที่มีหลักการสูง มีกรอบของเราสูง จะทำอะไรระมัดระวังมาก เราไม่ชอบความผิด เราเป็น perfectionist เพราะฉะนั้นเราก็จะช้าด้วย เวลาจะทำอะไรก็ตาม แล้วเราก็มีไม้เรียวอยู่ จะตีเขาท่าเดียว แล้วไม่ค่อยชวนเพื่อนมากินข้าวที่บ้าน ไม่ค่อยอยากเจอคนแปลกหน้า

แต่วันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราอยากเป็นคนที่มีหลักการอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ต้องมีความซื่อตรงซื่อสัตย์ ต้องรอบรู้ในสิ่งที่เราทำ อันนี้ยังเป็นหัวใจที่เราต้องมี แต่เราต้องเปิดใจมากขึ้น เราจะต้องคบกับคนที่หลากหลายมากขึ้น เราถึงจะเข้าใจความซับซ้อนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม เราไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่สมบูรณ์แบบไปทุกอย่าง เพราะการตัดสินใจบางอย่างมันไม่ได้มีเวลาให้รอมากถึงขนาดนั้น บางครั้งไม้เรียวเราอาจจะต้องเก็บไว้ มีทั้งบทบาทที่ช่วยผลักดันช่วยขับเคลื่อน ขณะเดียวกันก็เป็นคนคุมกฎกติกา ถ้าอธิบายว่าเป็นคนลักษณะไหนอาจจะไม่ได้มีภาพที่ชัดเจน แต่ต้องเป็นคล่องตัวมากขึ้น รวดเร็วมากขึ้น ใจกว้างมากขึ้น เปิดใจมากขึ้น แต่ทั้งหมดต้องอยู่บนหลักการที่ถูกต้อง

ภิญโญ: ธปท.จะรักษาสมดุลของ 2 ด้านของเหรียญอย่างไร ด้านหนึ่งจะไปสู่อนาคต มันก็ต้องยินดีที่ต้องรับความเสี่ยง รับความผิดพลาด แต่ภารกิจของธนาคารกลางทั่วโลกคือการรักษาเสถียรภาพ มันก็ดูเหมือนยืนอยู่ตรงข้ามกัน

ดร.วิรไท: ผมคิดว่าไม่ได้ขัดแย้งกัน การรับความเสี่ยง สิ่งที่สำคัญมากกว่าคือการบริหารและจัดการความเสี่ยง เรากล้าที่จะรับความเสี่ยง แต่ก่อนจะทำอะไรเราต้องเข้าใจว่าจะบริหารจัดการอย่างไร ความเสี่ยงมันรุนแรงมากน้อยแค่ไหน แล้วมีกลไกควบคุมมันอย่างไร

ตัวอย่างที่อาจจะเล่าเป็นรูปธรรมคือเราบอกว่าต้องการส่งเสริมนวัตกรรม ให้สถาบันการเงินมาทดลองเทคโนโลยีใหม่ๆ เราก็บอกว่าเรามีแนวคิดกระบะทรายทดลอง (Regulatory Sandbox) เหมือนเราให้เล่นมาลองปั้นปราสาททรายในกระบะ จะทำอะไรก็ทำได้ แต่อยู่ภายในนั้น ในสายตาของเรา ถ้าเราไปกำกับแบบเดิม กฎแบบนี้ของใหม่จะมาไม่ให้ทำ คุณต้องชัดเจนก่อนถึงจะมาขอ

วันนี้เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยน เขายังไม่ชัดเจนเลยว่ามันจะเป็นแบบไหน เราก็ทำกระบะทรายขึ้นมา ถ้าคุณมาช่องนี้เราเรียนรู้ไปด้วยกัน คุณกำหนดมาให้ชัดว่าจะทดลองกับลูกค้ากลุ่มนี้ เขารับความเสี่ยงได้ เรามีวิธีประเมินวิธีปิดความเสี่ยงอย่างไร กฎเกณฑ์กติกาบางอย่างที่เคยเข้มเกินไป ถ้าคุณมาช่องนี้เราจะผ่อนคลายให้ ผ่านไป 6 เดือนออกมาดี ใช้ได้ ประเด็นที่เรากังวลไม่ได้เป็นปัญหาแล้ว คุณก็ให้บริการลูกค้าทั่วไปได้ เราก็ไปปรับกฎเกณฑ์ด้วย เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับสถาบันการเงิน

ฉะนั้น จะเห็นว่ามันไม่ได้ขัดแย้งกัน เราสามารถจะทำหน้าที่การรักษาเสถียรภาพไปพร้อมๆ กับการส่งเสริมนวัตกรรมได้ แล้วถ้าเกิดเราไม่ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรม มันจะไปเกิดปัญหาเสถียรภาพในระยะยาวแทน เมื่อไรก็ตามที่ระบบการเงินไทยพัฒนาไม่ทัน เศรษฐกิจไทยพัฒนาไม่ทัน ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงเร็ว วันนั้นอาจจะมีปัญหาเสถียรภาพ

ลองคิดดูว่าถ้าบริษัทใหญ่ๆ ในประเทศไทยไม่สามารถใช้เทคโนโลยีที่ดีได้ ต้นทุนทางการเงินสูง ขณะที่ทั้งโลกเขามีเทคโนโลยีทางการเงินใหม่ๆ วันนั้นก็จะกระทบกับความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย สิ่งนี้ก็กลับมาเป็นปัญหาหนี้เสีย ปัญหาเสถียรภาพที่เราต้องจัดการอีก ผมคิดว่า 2 เรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวกัน ไม่ได้ขัดแย้งกัน ถ้าเรามองไปในระยะไกลๆ เป็นเรื่องเสริมกันและกัน

ภิญโญ: การทดลองในกระบะทรายเล็กๆแล้วมันจะทันหรือไม่ ขณะที่พัฒนาการในต่างประเทศ อย่างจีน เขาดึงระบบเข้าสู่ไทย อาลีเพย์เข้ามา มันเข้าสู่ไทยทันที เราวางแผนรับมืออย่างไร

ดร.วิรไท: คือมีทั้งข้อดีและข้อเสียของการมาทีหลัง แต่ที่สำคัญคือ ต้องมาอย่างเท่าทัน ตัวอย่างอีกอันที่เราได้ทำและคิดว่าเป็นต้นแบบที่หลายประเทศกำลังทำตามเรา อย่างเรื่อง QR Code การจ่ายเงิน เป็นเรื่องที่ประเทศจีนใช้มานานแล้ว แต่เขาไม่มี QR Code เป็นมาตรฐานกลางของประเทศ อย่างที่พูดถึงอาลีเพย์ก็มีรูปแบบของเขา แล้วเขาก็มีสัดส่วนตลาด 46-47% WeChat มีรูปแบบเฉพาะของเขา แล้วก็มีสัดส่วนตลาด 46-47% เราไปซื้อของในเมืองจีนจะเห็นเขาแขวนไว้เต็มหมดเลย แล้วถามว่าเราจะจ่ายด้วยอะไร มี 5-6 อัน

ปัญหาใหญ่คือว่าแต่ละคนมีมาตรฐานของตัวเอง มีรูปแบบของตัวเอง และไม่มีมาตรฐานกลาง อันแรกคือความไม่สะดวก ข้อมูลที่ร้านค้ารับจ่ายเงินมามันไม่สามารถจับรวมกันได้ กระจัดกระจายไปตามว่าใช้ของใคร ที่แย่ที่สุดคือคนเก่งๆ ที่อยากเข้ามาให้บริการ เข้าไม่ได้ เพราะร้านค้าถูกล็อกไปแล้วด้วยอาลีเพย์ ด้วยวีแชทเพย์

พอเราเห็นแบบนี้เราก็บอกว่าเราไม่ได้อยากเห็นเกิดขึ้นในเมืองไทย เราควรทำมาตรฐานกลางโดยที่ ธปท. เป็นคนทำ แล้วเราไปเอาคนที่จะทำให้เป็นมาตรฐานระดับโลกได้คือบริษัทเครดิตการ์ดระดับโลก 5 แห่งมาร่วมทำมาตรฐานกลางของเรา แล้วมาตรฐานกลางนี้ไม่มีเจ้าของ เปิดกว้างเลยว่าธนาคารก็ใช้ได้ ผู้บริการชำระเงินที่ไม่เกี่ยวข้องกับธนาคารก็ได้ บริษัทโทรคมนาคมก็ใช้ได้ ผู้ให้บริการรายเล็กรายน้อยอยากจะเข้ามาใหม่ มีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ดีกว่าก็เข้ามาได้ เราก็เรียนรู้ปัญหาจากบางประเทศและเข้ามาทำ

วันนี้พอเขาออกจากกระบะทรายของเรา ภายใน 1 ปี ก็จะมี 2 ล้านจุดในประเทศไทยแล้วที่รับ QR Code มาตรฐานกลางนี้ แล้ววันนี้ก็กำลังถูกนำไปทดลองรอบบ้านของเรา ถ้ามันกระจายไปได้ อย่างวันนี้มีธนาคารในประเทศลาว ก็มาจับมือกับธนาคารในไทยขอใช้ QR Code ในประเทศลาว เราก็ยินดี เพราะถ้าใช้กันได้ต่อไปการจ่ายเงินข้ามพรมแดน โอนเงินข้ามประเทศสะดวกขึ้นเยอะมาก ง่ายขึ้นเยอะมาก

อันนี้เป็นตัวอย่างว่าเราต้องติดตามว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นในโลกแล้วเราพัฒนาอย่างเท่าทัน เราอาจจะไม่ต้องเป็นผู้นำ แต่ต้องเข้าใจว่าเป้าหมายสำคัญที่เราต้องการคืออะไร และพยายามทำให้เกิดขึ้นในประเทศไทย

ภิญโญ: แสดงว่ามาทีหลังไม่ได้แปลว่าเสียเปรียบ

ดร.วิรไท: ไม่ได้เสียเปรียบ อย่างบล็อกเชนเห็นได้ชัดเลยว่าคนที่ทดลองเอาไปใช้ มันมีพัฒนาการทุก 3 เดือน ทุก 6 เดือน คนที่ทำต้นแบบเมื่อ 2 ปีที่แล้วยังไม่กล้าเอาต้นแบบมาทดลองใช้ เพราะเห็นว่ามันมีพัฒนาการใหม่ๆ กำลังเกิดขึ้น

ภิญโญ: ถ้าอย่างนั้นท่านผู้ว่าการธนาคารกลางในโลกเวลาเจอกัน ตามที่ประชุมต่างๆ อะไรคือความกังวลใจที่ทำให้เหล่าผู้ว่าธนาคารกลางนอนไม่หลับกัน

ดร.วิรไท: คืออาจจะต้องแยก 2 เรื่อง เรื่องกังวลใจกับเรื่องนอนไม่หลับ (หัวเราะ) เรื่องกังวลใจเราพอนึกออกว่าอะไรเป็นความเสี่ยงเป็นโจทย์ใหญ่ๆ อยู่ ก็พูดกันหลายเรื่อง อย่างผลกระทบต่อการปรับนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักๆ ที่อาจจะมากระทบประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ซึ่งเราก็เห็นว่าหลายประเทศที่ฐานะด้านการเงินด้านต่างประเทศไม่เข้มแข็งก็มีปัญหา เราได้ยินเรื่องอาร์เจนตินา ตุรกี ค่าเงินอ่อนค่าลง 20-30% ก็เป็นเรื่องกังวลใจที่เราต้องมองไปข้างหน้าให้แน่ใจว่ามีกันชน มีเครื่องมือที่เพียงพอ

เรื่องนอนไม่หลับ อาจจะเป็นเรื่องที่บางทีเราอาจจะไม่แน่ใจว่าเครื่องมือที่เรามีดีพอหรือเปล่า หรือบางทีเป็นความเสี่ยงที่เรามองไม่เห็น โจทย์อย่างเรื่อง cyber security รูปแบบใหม่ๆ คืออันหนึ่งที่เราจะมักพูดกัน ไม่ใช่ในวงธนาคารกลาง คือถ้าพูดในภาษาอังกฤษมันคือ “It’s not a matter of if, it’s a matter of when” คือไม่ใช่อย่างไร แต่คือเมื่อไร ด้วยความที่มันมีมัลแวร์เกิดขึ้นเป็น 1,000 เป็น 10,000 อันทุกวัน มี Internet of Things ที่กำลังเป็นประตูผี มันไม่ใช่ว่าเราจะไม่มีโอกาสที่จะโดนโจมตี คำถามคือเมื่อเราโดนแล้วจะตั้งรับอย่างไร แล้วแก้ปัญหาอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ทุกคนคงจะโดนโจมตี มีความพยายามเกิดขึ้นทุกวัน ทุกองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน เราก็มีต้องมีระบบที่ใช้คัดกรอง เราก็จะเจอทุกวันว่ามีคนที่พยายามจะเข้ามาโจมตีเรา สถาบันการเงินของเรา แต่เราต้องแน่ใจว่าอย่าให้เข้ามาได้ หรือถ้าเข้ามาได้ เราต้องมีกลไกที่จะตั้งรับต่อสู้ แล้วก็ฟื้นฟูถ้าเกิดความเสียหายขึ้นให้เร็วที่สุดอย่างไร

ภิญโญ: จากวิกฤติเศรษฐกิจคราวที่แล้วปี 2540 ธปท. เป็นจำเลยของการเกิดวิกฤติค่าเงิน 20 ปีผ่านมา ธปท. สรุปบทเรียนอะไรบ้าง แล้วต้องระวังป้องกันอะไรบ้าง ซึ่งหลายคนกังวลใจอยู่

ดร.วิรไท: มีหลายเรื่องด้วยกัน และผมคิดว่าไม่ใช่เพียงสรุปเป็นบทเรียน แต่เป็นเรื่องที่เราได้ทำต่อเนื่องตลอดมาในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้เมื่อตอนเกิดวิกฤติการณ์การเงินโลกปี 2008-2009 ระบบการเงินไทยแทบไม่ถูกกระทบเลย แม้ขณะนี้ที่เราเห็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เริ่มอ่อนไหว อ่อนแอ เราก็ค่อนข้างจะมีเสถียรภาพที่ค่อนข้างดี

เรื่องแรกที่เริ่มต้นจากกรอบของการทำนโยบายการเงินให้เหมาะสม เดิมก่อนวิกฤติปี 2540 เราใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ แล้วไปกำหนดค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แล้วถ้าวัฏจักรเศรษฐกิจของ 2 ประเทศไปคนละทิศคนละทาง การที่ไปกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ไว้แบบนั้น มันก็สร้างผลข้างเคียงที่เยอะไปหมดเลย นำไปสู่แรงจูงใจผิดๆ นำไปสู่พฤติกรรมการกู้เงินผิดๆ นำไปสู่เรื่องการละเลย ไม่บริหารความเสี่ยงอย่างที่ควรทำ พอเราชัดเจนว่าเราเปลี่ยนไปใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว เราก็มีเครื่องมือ มีกลไก มีระบบที่เรียกว่าการปรับตัวโดยอัตโนมัติเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจไทย

เรื่องที่ 2 คือกรอบนโยบายการเงิน พอเรามาใช้กรอบเรื่องของเป้าหมายเงินเฟ้อ ผมคิดว่าอันนั้นได้สร้างความน่าเชื่อถือในแนวทางทำนโยบายการเงินของประเทศไทยมาโดยต่อเนื่อง และทำให้คนมั่นใจดีระดับหนึ่งว่า ปัญหาเงินเฟ้อคงไม่ได้เป็นความเสี่ยง เพราะว่ามีคนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และระมัดระวังควบคุมอยู่

เรื่องอสังหาริมทรัพย์ เรื่องฟองสบู่ต่างๆ ได้สะท้อนให้เห็นว่าของเดิมเราไม่มีเครื่องมือที่จะเท่าทันกับการติดตามการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น จากวันนั้นถึงวันนี้ มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย บริษัทข้อมูลเครดิตบูโรทราบทันทีเลยว่าใครไปขอกู้กี่บัญชี ใครมีพฤติกรรมการชำระหนี้มาอย่างไรบ้าง สถาบันประกันเงินฝากที่เริ่มเกิดขึ้น ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ทำให้เราเท่าทันการเปลี่ยนแปลงในภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทย ที่สำคัญคือหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงิน เป็นมาตรฐานสากล และเราก็ให้ความสำคัญกับการที่สถาบันการเงินต้องมีกันชนที่มากพอ ถ้าดูในเรื่องของเงินกองทุนสถาบันการเงินไทยก็อยู่ในระดับที่ค่อนข้างดี เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ทั้งหมดเป็นการขันน็อตตลอด 20 ปีที่ผ่านมาจากบทเรียนที่เกิดขึ้นในปี 2540

ภิญโญ: ถ้าถามแบบชาวบ้าน ชาวบ้านบอกว่า ธปท. เป็นคนถือบัญชีของประเทศไว้ทั้งหมด ก็อาจจะอยากรู้ว่าสถานะทางการเงินหรือบัญชีของเราเป็นอย่างไร

ดร.วิรไท: สถานะทางการเงินต้องดูในหลายๆ มิติ เราไม่ได้เป็นองค์กรแสวงหากำไร ต่างจากบริษัทธุรกิจทั่วไปที่อาจจะดูว่ากำไรขาดทุนเป็นเท่าไหร่ บางอย่างที่เราขาดทุนเป็นกำไรของประเทศ เพราะว่าเราเหมือนเป็นคนรับของที่เป็นส่วนเกินส่วนขาดมาอยู่บนบัญชีของ ธปท. ถ้าดูสถานะด้านต่างประเทศที่สะท้อนจากสินทรัพย์ด้านต่างประเทศ จะเห็นชัดว่าเรามีทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับที่สูงมาก เรามีทุนอยู่สัก 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แล้วรวมที่ไปซื้อล่วงหน้าอีก 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมกันประมาณ 240,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นที่ประมาณ 3.5 เท่า และยังสูงกว่าหนี้ต่างประเทศทั้งหมด ไม่ว่าจะของรัฐบาล เอกชนที่คนไทยมี หมายความว่าวันนี้ถ้าเกิดมีคนต่างประเทศอยากเรียกหนี้จากคนไทยคืนทั้งหมด เรามีเงินสำรองระหว่างประเทศเหลือเพียงพอ

แต่พอเรามีเงินสำรองในระดับสูง ค่าเงินบาทเปลี่ยนไป 1 บาท ถ้าแข็งค่าขึ้นในภาวะเศรษฐกิจดี ธปท. ก็จะขาดทุนทางบัญชีทันที 200,000 ล้านบาท แต่ถ้าตรงกันข้าม ถ้าอ่อนค่า 1 บาท ธปท. ก็จะกำไรทางบัญชีทันที 200,000 ล้านบาท ฉะนั้น เรื่องกำไรขาดทุนแบบนี้อาจจะไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญของธนาคารกลาง เราต้องเข้าใจว่าบทบาทของธนาคารกลางคืออะไร แล้วแต่ละเรื่องจะดูตัวแปรอะไรเป็นหลัก เช่น ฐานะต่างประเทศ ต้องดูทุนสำรองระหว่างประเทศ

ภิญโญ: ฉะนั้นที่มีข่าวว่า ธปท. บริหารแล้วขาดทุน คืออธิบายการขาดทุนแบบนี้

ดร.วิรไท: เป็นส่วนสำคัญเลยคือการขาดทุนจากการตีราคาค่าเงิน เพราะว่าโครงสร้างการเงินของ ธปท. จะต่างจากบริษัททุกแห่ง เพราะทุกธนาคารกลางจะเหมือนกันคือสินทรัพย์เราจะเป็นเงินตราต่างประเทศ แต่หนี้สินคือเงินท้องถิ่น เป็นเงินบาท เราออกธนบัตรให้คนไทยใช้ ฉะนั้นจริงๆ แล้ว เวลาค่าเงินเปลี่ยน บาทจะแข็งค่า บาทจะอ่อนค่า เวลาที่ตีราคาเงินต่างประเทศกลับมาเป็นสกุลเงินบาทก็จะเกิดขาดทุนหรือกำไร เพราะว่าเรามีหน้าที่รองรับพวกเงินตราต่างประเทศส่วนเกินที่เข้ามาในระบบเศรษฐกิจ แล้วเราเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงมาก ก็มีเงินจากต่างประเทศที่ไหลเข้ามาเยอะมาก ถ้า ธปท. ไม่เข้าไปดูแลซื้อเงินตราต่างประเทศออกมา ก็จะทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น และกระทบกับธุรกิจประชาชนทั้งหมด ดังนั้น บัญชีของธนาคารกลางทุกแห่งก็จะมีความพิเศษ คือมันมีความไม่สมดุลระหว่างด้านสินทรัพย์และหนี้สิน

ภิญโญ: ถ้าพูดภาษาชาวบ้าน หากตรวจสุขภาพของ ธปท. ตอนนี้เป็นอย่างไร

ดร.วิรไท: ผมคิดว่าสุขภาพอาจจะเป็นวัยกลางคน จริงๆ ปีนี้เราอายุ 75 ปี แต่เรียกว่าวัยกลางคน เราอาจจะมีปัญหาอยู่บ้างในบางเรื่อง เหมือนคนวัยกลางคนที่เจอการเปลี่ยนแปลงรอบด้านที่เกิดขึ้นเร็ว มีความคาดหวังสูง มีความเครียดเกิดขึ้น ขณะเดียวกันเราก็ต้องออกกำลังกายมากขึ้น ต้องฟิตร่างกายมากขึ้น เพราะว่ายังมีบทบาทหน้าที่อีกหลายเรื่องที่เราต้องทำภายใต้บริบทโลกที่มันกำลังเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว

ภิญโญ: วิกฤติครั้งที่แล้วถูกโจมตีค่าเงินโดย hedge fund เกิดโรควิกฤติต้มยำกุ้งแล้วก็ลามไปทั่วโลก รอบนี้ภูมิคุ้มกันในการป้องกันการแทรกแซงอย่างไร

ดร.วิรไท: เรื่องแรก เราไม่มีจุดเปราะบางหรืออ่อนไหวในร่างกายมากเหมือนรอบที่แล้ว เรามีวัคซีนที่ฉีดมาต่อเนื่อง มีวิตามินที่กินมาต่อเนื่อง จะเห็นได้ชัดว่าวิกฤติปี 2540 รอบที่แล้วเป็นปัญหาของบริษัทขนาดใหญ่ไปกู้เงินตราต่างประเทศมา และมีรายได้เป็นเงินบาท พออัตราแลกเปลี่ยนขึ้นมาเขาก็ขาดทุน ล้มละลาย หรือเราไม่มีฐานข้อมูลที่ดีพอ รอบที่แล้วหนี้เสียเราตั้งอยู่บนนิยามว่าผิดนัดชำระหนี้ 1 ปีขึ้นไป จำได้ว่าวันนั้นเราอยู่ที่ 5-6% เท่านั้นเองตามมาตรฐานนี้ แต่พอหันไปใช้มาตรฐานสากล ใช้ปรอทวัดไข้แบบสากล หนี้เสียนิยามว่าผิดชำระมากกว่า 3 เดือนขึ้นไป หนี้เสียเราขึ้นไปถึง 40% กว่า เราไข้ขึ้น ตัวร้อน ไม่รู้ว่าเราเป็นอะไร

ฉะนั้น ในรอบนี้ เรารู้ว่าสุขภาพของเราเป็นอะไร และมีเครื่องวัดเยอะแยะไปหมดเลยที่พัฒนาขึ้นมา และใช้เกณฑ์ที่เป็นเกณฑ์สากลมากขึ้น ขณะเดียวกัน เราก็พยายามรักษาสุขภาพของเราให้เข้มแข็งมากขึ้น ให้มีจุดอ่อนเปราะบางที่น้อยที่สุด แต่เราก็ชะล่าใจไม่ได้ เพราะมันมีพัฒนาการใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น เรื่องสหกรณ์ออมทรัพย์ที่นอกเหนือการกำกับดูแลของเรา แต่เขาก็มีขนาดใหญ่ขึ้น เชื่อมโยงกับระบบการเงินในภาพใหญ่มากขึ้น เชื่อมโยงกับเงินออมของประชาชนหลายล้านคน แต่การกำกับดูแลของเขาอาจจะไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น ซึ่งต้องจับตามองและทำงานร่วมกับคนที่เกี่ยวข้องให้เห็นภาพร่วมกัน และขับเคลื่อนไปข้างหน้าร่วมกัน ถ้าเราไม่แก้ไขปัญหาเหล่านี้มันก็จะเป็นจุดเปราะบางให้เชื้อโรคจากข้างนอกเข้ามากระทบได้ง่าย

ภิญโญ: แล้ว ธปท.จะเข้าไปกำกับในสิ่งที่ไม่เคยถูกกำกับหรือว่าไม่มีอำนาจในการกำกับอย่างไร ถ้าระบบการเงินโลกมันเชื่อมกันแบบไม่มีพรมแดนของประเทศ ธปท. ไม่มีอำนาจในการกำกับในสิ่งนั้น

ดร.วิรไท: เป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องทำงานร่วมกับผู้กำกับดูแลในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ในการทำงานกับธนาคารกลาง หรือผู้กำกับสถาบันการเงินในประเทศอื่น เป็นเรื่องสำคัญ และเป็นนโยบายสำคัญในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่เราจะต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลกันและกัน สามารถส่งสัญญาณซึ่งกันและกันได้เร็ว และมีการคิดถึงกลไกที่จะทำงานร่วมกันเวลาเกิดปัญหาในประเทศหนึ่งที่อาจจะกระทบไปอีกประเทศหนึ่ง

เรื่องนี้เป็นอีกอย่างที่ต่างจากปี 2540 มาก ตอนนั้นพอมันเริ่มลามไปประเทศอื่น มันไม่มีเครื่องมืออะไรเลยที่จะช่วยหยุด ช่วยชะลอ ช่วยบรรเทาปัญหา ช่วยป้องกันไม่ให้มันลามจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่ง ตอนนี้มีหลายกลไกที่เราได้ทำขึ้นมา ตั้งแต่ตอนยกธงไปจนถึงการให้สภาพคล่องฉุกเฉิน ก็มีหลายกลไกที่เราทำงานร่วมกัน

ภิญโญ: แสดงว่าธนาคารกลางในระดับโลกส่วนใหญ่ได้พูดคุยถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นและมีวิธีการรับมือและป้องกัน

ดร.วิรไท: อาจจะเรียกว่าดีขึ้นมากกว่าเดิมมาก

ภิญโญ: ทุกวันนี้ยังนอนหลับดีไหมครับ ดูแล้วอะไรคือทุกข์ของผู้ว่าการธนาคารกลางในโลกนี้เวลาคุยกัน มันดูเต็มไปด้วยเรื่อง

ดร.วิรไท: ผมคิดว่าเราปฏิเสธไม่ได้ว่าเรากำลังอยู่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ธปท. ต้องพยายามทำหน้าที่หลักของธนาคารกลาง คือสร้างกันชนให้ดี ลดจุดเปราะบางต่างๆ มองให้ไกลเข้าไว้