ThaiPublica > เกาะกระแส > สิ่งที่เห็นและอยากให้ประเทศไทยเป็น : “เอริกา เมษินทรีย์ เช็น” ต้องมีคนรุ่นใหม่ร่วมในสมการขับเคลื่อน สร้างอนาคตประเทศไทย

สิ่งที่เห็นและอยากให้ประเทศไทยเป็น : “เอริกา เมษินทรีย์ เช็น” ต้องมีคนรุ่นใหม่ร่วมในสมการขับเคลื่อน สร้างอนาคตประเทศไทย

19 กันยายน 2023


เอริกา เมษินทรีย์ เช็น กรรมการผู้จัดการ บริษัทอิน เดอะ ลีด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัดและผู้ร่วมก่อตั้ง Youth In Charge

14 กันยายน 2566 สำนักข่าวออนไลน์ ThaiPublica จัดงาน “ThaiPublica Forum 2023 : Transform Thailand…สิ่งที่เห็นและอยากให้ประเทศไทยเป็น?” โดยมี “ดร.ทนง พิทยะ” ประธานกรรมการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวปาฐกถา พร้อมวิทยากรจากหลายภาคส่วน ได้แก่ ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด, ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และที่ปรึกษา ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, คุณฟูอาดี้ พิศสุวรรณ ประธานมูลนิธิ สุรินทร์ พิศสุวรรณ และคุณเอริกา เมษินทรีย์ เช็น กรรมการผู้จัดการ บริษัทอิน เดอะ ลีด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัดและผู้ร่วมก่อตั้ง Youth In Charge

นางสาวเอริกา เมษินทรีย์ เช็น กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิน เดอะ ลีด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด และผู้ร่วมก่อตั้ง Youth in Charge กล่าวว่า Youth in Charge ก่อตั้งขึ้นเมื่อปลายปี 2563 (2020) ช่วงนั้นเป็นปีของโควิด-19 โดยเหตุผลที่สร้างแพลตฟอร์มขึ้นเพราะเห็นว่าประเทศไทยกำลังจะมีความหวัง เพราะเป็นประเทศแรกๆ หรือไม่กี่ประเทศในโลกที่มีความหวังฟื้นตัวจากโควิด

ขณะเดียวกัน ช่วงปลายปี 2563 เยาวชนได้ออกไปชุมนุมประท้วง และเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่เอริกาบอกว่า การเคลื่อนไหวของเยาวชนไม่ใช่จุดเริ่มต้น Youth in Charge แต่บังเอิญเกิดในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน

อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกของเยาวชน ณ เวลานั้นคือ ความโกรธ โมโห ความไม่พอใจ ความหงุดหงิด รวมถึงความไม่เข้าใจและช่องว่างระหว่างวัยระหว่างผู้ใหญ่และเยาวชน จากจุดเล็กๆ จึงค่อยๆ ขยายในวงกว้างเป็นการชุมนุม และเป็นช่องว่างที่รอการแก้ไข

“เราเห็นความเจ็บปวดของเยาวชนคนรุ่นใหม่ล้อมรอบตัวเขา ทั้งเรื่องใกล้ตัว เช่น การศึกษา คุณภาพชีวิต ฯลฯ จนถึงเรื่องไกลตัวอย่าง เศรษฐกิจ รายได้ ปากท้อง การฟื้นฟูประเทศ ฯลฯ แต่ปัญหาเรื่องความโมโหของเยาวชนเป็นแค่พื้นผิว ถ้ามองลึกไปอีก…

สิ่งที่ซ่อนอยู่และเป็นปัญหาคือช่องว่างระหว่างวัย การปะทะกันระหว่างคนต่างช่วงวัยต่างความเชื่อ การขาดความเข้าใจหรือความพยายามเข้าใจซึ่งกันและกันของคนที่เกิดในช่วงวัยที่แตกต่าง การขาดการทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง แต่ครั้งนี้ไม่ใช่แค่ต่างช่วงวัย แต่ต่างภาคส่วน ต่างความเชื่อ รวมถึงต่างสถานะทางสังคม”

นางสาวเอริกากล่าวต่อว่า ด้วยเหตุนี้ Youth in Charge จึงอยากเป็นกระบอกเสียงให้กับเยาวชน เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงและแรงกระเพื่อมในสังคมไทย

“ทุกคนมองว่าเรื่องเยาวชน-คนรุ่นใหม่เป็นเรื่องสำคัญ กระทั่งมีสำนวนว่า ‘เยาวชนคืออนาคตของชาติ’ แต่คำถามคือ เมื่อเราทราบว่าเยาวชน-เด็กเป็นเรื่องใหญ่ แต่การขับเคลื่อนเหมือนพิซซ่าที่ถูกแบ่งสับแล้วสับอีก กระจายตามหน่วยงานต่างๆ ในเชิงการขับเคลื่อนก็สมเหตุสมผล แต่ละคนมีบทบาทของตัวเอง แต่เราเห็นว่าหน่วยงานที่รับลูกหรือรับเผือกร้อนไปรับผิดชอบ ก็ดำเนินการแบบเบี้ยหัวแตก ต่างคนต่างแยกกันทำ ขาดการบูรณาการกัน ไม่มีเจ้าภาพที่ดูเรื่องเยาวชน และไม่มีเจ้าภาพดู youth empowerment (การส่งเสริมเยาวชน) อย่างจริงจัง”

“ถามว่าอนาคตที่ (เยาวชน) มองเห็นคืออนาคตแบบไหน สดใสหรือเปล่า คงไม่ใช่ เขามองเป็นอนาคตที่ไม่สามารถเห็นบทบาทตัวเอง ไม่รู้สึกเสียงเขามีค่าหรือไม่เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้จริง ไม่มองว่ารุ่นเขาจะดีกว่ารุ่นพ่อแม่ หรืออนาคตจะสดใสกว่าปัจจุบันที่เป็นอยู่ เป็นอะไรที่น่าเสียดาย และเป็นอุปสรรคใหญ่ของการพัฒนาประเทศไปข้างหน้า”

“เวลาพูดถึง transform Thailand ทำไมเราไม่ดึง stakeholder (ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย) ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่สำคัญที่สุด คือเยาวชนเข้ามาในสมการการขับเคลื่อน เราไม่สามารถดึงคนรุ่นใหม่จากสมการหรือการสร้างอนาคตได้เลย”

นางสาวเอริกา กล่าวต่อว่า Youth In Charge ต้องการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เยาวชนทุกคนมีส่วนร่วม และมีเยาวชนเป็นเจ้าของพื้นที่ ได้แลกเปลี่ยน เรียนรู้ ขับเคลื่อนและขยายผลจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้

“เราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ สะท้อนการอยากเห็นผ่านแพลตฟอร์ม YIC เราสร้างแพลตฟอร์มให้เยาวชนมีส่วนร่วมในวาระสำคัญของชาติ ประเทศไทยที่อยากเห็นคือทุกภาคส่วนจับมือร่วมมือกันเอาเยาวชนเป็นวาระสำคัญของชาติ นำสิ่งที่เป็นองค์ความรู้และทรัพยากรมามอบให้เยาวชน”

โดยในปีที่ผ่านมา Youth in Charge ได้พาตัวแทนเยาวชนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเวที APEC 2022 อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเวทีสำหรับเยาวชนไทยแทบจะไม่มี หรือต่อให้มี เยาวชนก็เข้าถึงได้อย่างจำกัด ไม่ได้กระจายโอกาสไปสู่เยาวชนโดยทั่วไป

นางสาวเอริกา กล่าวต่อว่า ในช่วงโควิด-19 Youth In Charge ได้ดึงภาคเอกชน นำองค์ความรู้เฉพาะมาถ่ายทอดให้เยาวชน ไม่ว่าจะเป็นเยาวชนผู้นำมหาวิทยาลัย ผู้นำคณะ หรือผู้นำเยาวชนที่พิการทางร่างกาย ตลอดจนเยาวชนที่เป็นผู้ขับเคลื่อนด้านต่างๆ โดยมีผู้ใหญ่มาร่วมรับฟัง ทั้งข้าราชการรุ่นใหม่จากหลายหน่วยงาน และภาคเอกชนมาเสริมองค์ความรู้ อัปเดตเทรนด์ และดึงบุคลากรรุ่นใหม่ภาคเอกชนมาออกแบบ และดึงผู้นำองค์กรต่างๆ และสอนเยาวชนเรื่องความเป็นผู้นำ โดยเฉพาะตอนโควิด-19 ได้ให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการกับวิกฤติ

“ประเทศไทยที่อยากเห็นคือ ประเทศไทยที่เยาวชนได้เป็นส่วนหนึ่งของเวทีสำคัญของชาติหรือระดับโลก สามารถเป็นตัวแทนประเทศไปนำเสนอสิ่งที่ประเทศไทยคิด-ขับเคลื่อน ให้ผู้นำระดับโลกหรือเยาวชนต่างชาติได้รับทราบ รวมถึงเป็นเวทีที่เยาวชนมีส่วนร่วมอย่างมีนัย ไม่ใช่แค่ผู้สังเกต หรือพอเป็นพิธี”

“ประเทศไทยที่อยากเห็น คือการมีเวทีให้เยาวชนแสดงศักยภาพผ่านเวทีที่หลากหลาย รวมถึงมีพื้นที่สร้างสรรค์ ได้แลกเปลี่ยน เรียนรู้ ร่วมคิด สร้างสรรค์ร่วมกัน รวมถึงเวทีสำคัญ”

“ทุกวันนี้มีคณะทำงาน (รัฐบาล) เยอะมาก แต่น่าจะมี seat on the table คือมีเก้าอี้ให้เยาวชนมีส่วนร่วมในนั้น เราทราบว่าผู้ใหญ่มีเจตนาที่ดี อยากมองอนาคตสร้างอนาคต ขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ ที่เดินได้ยาก บางเรื่องก็อุ้ยอ้าย บางเรื่องเหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา แต่ถ้ามีแรงไฟจากเยาวชน จะขับเคลื่อนได้ง่ายขึ้น”

“ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง แทบจะมีดีเบตทุกชั่วโมง แต่หลังการเลือกตั้ง ทุกอย่างเงียบ ความตั้งใจหรือพลังงานที่จะฟังเสียงเยาวชนหายไปตามกาลเวลา จึงอยากให้มีการรับฟังอย่างจริงจังในอนาคต และผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า rule of the game มันเปลี่ยนไปหมดแล้ว พรรคการเมืองหรือรัฐบาลที่จะประสบความสำเร็จใช้วิธีเดิมหรือเกมเดิมๆ ไม่ได้อีกต่อไป ตอนนี้เยาวชนคนรุ่นใหม่ตื่นตัวมาก พรรคที่จะประสบความสำเร็จหรือกินใจประชาชนและอยู่ได้นานอย่างยั่งยืน คือรัฐบาลหรือพรรคการเมืองที่รับฟังเสียงอย่างจริงใจและจริงจัง และให้มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ปล่อยหรือฟังพอเป็นพิธี”

นางสาวเอริกากล่าวต่อว่า สิ่งที Youth In Charge กำลังขับเคลื่อนคือ การให้เยาวชนได้พบกับบุคคลต้นแบบ ซึ่งไม่ใช่แค่ดารา นักแสดง หรืออินฟลูเอนเซอร์ แต่คนต้นแบบคือ role model ที่ทำให้เยาวชนเห็นแสงสว่าง และเห็นชัดว่า ถ้าทำงานหนัก ทำดี กล้าคิดใหญ่ทำใหญ่ มันสามารถไปสู่ความสำเร็จได้จริง เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ และจะใช้ ’50 Soft Power Ambassador’ 50 คน ที่มีอายุตั้งแต่ 15-39 ปี เป็นกระบอกเสียงไปถึงผู้มีอำนาจในสังคมไทย

“ฝากถึงผู้ใหญ่หรือผู้มีอำนาจ เราพูดถึงอนาคต แต่อยากทุกท่านเป็นต้นแบบให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ อนาคตคือสังคมหรือประเทศที่เราอยากส่งต่อให้รุ่นลูกรุ่นหลาน สิ่งที่ทุกท่านทำตอนนี้มันจะมีผลกระทบไปถึงเยาวชนรุ่นต่อไป อยากให้ทุกท่านไม่ว่ามีอำนาจในสังคมมากๆ หรือเป็นจุดกระเพื่อมเล็กๆ อย่ามองว่าสิ่งที่ท่านทำไม่มีความหมาย ทุกอย่างเมื่อรวมกันแล้วสร้างอนาคตที่ดีขึ้นหรือแย่ลงได้อย่างแน่นอน”