ThaiPublica > เกาะกระแส > ซูเปอร์เอลนีโญ เราจะรอดอย่างไร (4) : สศก. ชี้ กระทบข้าวเสียหายหนักแต่ไม่ขาดแคลน

ซูเปอร์เอลนีโญ เราจะรอดอย่างไร (4) : สศก. ชี้ กระทบข้าวเสียหายหนักแต่ไม่ขาดแคลน

20 กันยายน 2023


สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประเมินผลกระทบจากซูเปอร์เอลนีโญที่มีต่อผลผลิตพืชและข้าวเสียหาย 5 พันล้านบาท แต่มั่นใจไม่กระทบความมั่นคงทางอาหาร เพียงพอบริโภคในประเทศ พร้อมชูโมเดล BCG เกษตรรับมือสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง

นายวินิต อธิสุข รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

หลายประเทศเริ่มกังวลผลกระทบจากซูเปอร์เอลนีโญที่ทำให้เกิดปัญหาภัยแล้ง ว่าอาจส่งผลกระทบกับปริมาณผลผลิตทางการเกษตร จนทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนกระทบต่อความมั่นคงอาหารโลก ประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ผลิตอาหารมีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน “สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า” ได้พูดคุย กับ “วินิต อธิสุข” รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เพื่อประเมินผลกระทบด้านการเกษตรและผลผลิตอาหาร ว่าจะกระทบต่อความมั่นคงถึงขั้นต้องกักตุนหรือไม่

หากมองในภาพรวมของการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก หรือดับเบิลยูเอ็มโอ (WMO) ซึ่งเป็นองค์กรหนึ่งของสหประชาชาติ ได้ประเมินว่า มีโอกาสร้อยละ 80 ที่จะเกิดเอลนีโญภายในสิ้นเดือนกันยายน 2566

ขณะที่กรมชลประทาน ได้คาดการณ์ปริมาณน้ำฝนในปี 2566 ว่าจะมีปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าปี 2565 ส่งผลให้หลายพื้นที่ทั้งในและนอกเขตชลประทานยังประสบปัญหาภัยแล้ง และมีน้ำไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร

เมื่อปริมาณน้ำน้อย ก็มีความจำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่ในเขื่อนปัจจุบัน ให้เพียงพอใช้ไปจนถึงช่วงหน้าหนาว และในช่วงฤดูร้อนปี 2567 โดยทางกรมชลประทานได้คาดการณ์ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 2 สิงหาคม 2566) คาดว่าจะมีปริมาณน้ำใช้การ 12,982 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 27 ของความจุอ่าง ซึ่งน้อยกว่าปี 2565 เป็นปริมาณ 4,174 ล้าน ลบ.ม. และจากการคาดการณ์ปริมาณน้ำใช้การใน 4 เขื่อนหลัก คาดว่าจะมีปริมาณน้ำใช้การปริมาณ 2,952 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าปี 2565 จำนวน 1,047 ล้าน ลบ.ม

นายวินิตบอกว่า ผลกระทบที่น่าจะมากที่สุด คือ พืช โดยเฉพาะข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลไม้ ลำไย ทุเรียน มังคุด ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ล้วนแต่มีผลกระทบ โดยคาดว่ามีพื้นที่ซึ่งจะได้รับผลกระทบ 3.2 ล้านไร่ มูลค่าความเสียหายน่าจะประมาณ 5.8 พันล้านบาท

ผลิตข้าวน้อยลงแต่ไม่กระทบความมั่นคงอาหาร

ด้านผลผลิตข้าวในปีนี้ คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ เนื่องจากฝนมาล่าช้า ทิ้งช่วง และปริมาณน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ ส่งผลให้ผลผลิตข้าวลดลงด้วย

นอกจากนี้ การลดพื้นที่ปลูกข้าวจะน้อยลงเพราะปริมาณน้ำต้นทุนน้อยลง โดยคาดการณ์พื้นที่ปลูกข้าวไตรมาส 2 ในสิ้นเดือนมิถุนายน 2566 จากการปลูกข้าวนาปี เนื้อที่เพาะปลูก 62.375 ล้านไร่ลดลงจากปี 2565 ที่มีพื้นที่ปลูกเกือบ 63 ล้านไร่

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปรากฏการณ์เอลนีโญจะส่งผลให้ปริมาณผลผลิตข้าวลดลง แต่ตลอดทั้งปี 2566 ไทยยังคงมีข้าวเพียงพอสำหรับการบริโภคภายในประเทศ และมีศักยภาพในการส่งออกข้าวไปยังตลาดต่างประเทศได้ตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2566/67 ที่กำหนดเป้าหมาย 8 ล้านตันข้าวสารโดยที่ผ่านมาในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 (มกราคม-มิถุนายน) ไทยส่งออกปริมาณ 4.04 ล้านตันข้าวสาร มูลค่า 75,526 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2565

“ปีนี้แค่ 6 เดือนเราส่งออกข้าวได้มากกว่าปีที่ผ่านมา เพราะว่าต่างประเทศมีความกังวลถึงปัญหาภัยแล้งที่อาจจะส่งผลให้ผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดลดลง จึงมีการซื้อข้าวสำรองไว้เพื่อความมั่นคงทางด้านอาหารในประเทศมากขึ้น ทำให้แม้ราคาข้าวไทยจะปรับราคาสูงขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับที่แข่งขันกับเวียดนามได้ ต่างประเทศจึงสนใจนำเข้าข้าวจากไทยมากขึ้น”

สำหรับราคาในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2566 (มกราคม-กรกฎาคม) ข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ ณ ความชื้น 15% ตันละ 9,933 บาท ปรับสูงขึ้นจากตันละ 8,482 บาทในช่วงเดียวกันของปี 2565 หรือสูงขึ้นร้อยละ 17.16 และราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี. ข้าวขาว 5% ตันละ 17,229 บาท ปรับสูงขึ้นจากตันละ 14,639 บาท ในช่วงเดียวกันของปี 2565 หรือสูงขึ้นร้อยละ 17.69 ซึ่งเราส่งออกข้าวหลายคนอาจจะกลัวปัญหาขาดแคลน แต่บอกเลยไม่ต้องกลัว เพราะเราผลิตข้าวเพียงพอที่จะส่งออกและบริโภคในประเทศ

“วินิต อธิสุข” รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

นายวินิตบอกว่า ในเรื่องของราคาข้าวและการส่งออกได้ติดตามสถานการณ์ข้าวอย่างใกล้ชิด เนื่องจากกรณีที่อินเดียซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก ได้ประกาศระงับการส่งออกข้าวขาวทุกสายพันธุ์ที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นมา ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น แต่เรายังต้องติดตามเพราะถ้าภายหลังอินเดียมีการขายข้าวในรูปแบบโควตาให้กับบางประเทศ อาจจะเป็นการแย่งตลาดส่งออกข้าวไทยได้

“ราคาข้าวสูงขึ้นในเดือนกรกฎาคม เนื่องจากอินเดียประกาศไม่ส่งออกข้าว ขณะที่ที่ผ่านมาอินเดียคือผู้ส่งออกข้าวหลักของโลก แต่ยังต้องติดตามเพราะว่าครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่อินเดียเขาระงับการส่งออกข้าว ย้อนกลับไปประมาณ 2554 อินเดียก็มีมาตรการแบบนี้ ห้ามส่งออก แต่ถ้าเขาผลิตได้มากขึ้นแล้วไม่รับซื้อตรงนี้น่ากลัว เพราะราคาข้าวจะลดลง เพราะฉะนั้น ในช่วงนี้เป็นช่วงที่เราเก็บเกี่ยวโอกาสได้ ในช่วงนี้ราคาขึ้น แต่ยังต้องติดตามต่อเนื่องต่อไป”

นายวินิตมั่นใจว่า ผลผลิตข้าวในปี 2566-2567 มีเพียงพอกับการบริโภค และยังเหลือในการส่งออก แม้ราคาข้าวในประเทศอาจจะสูงขึ้นบ้าง แต่ไม่กระทบต่อความมั่นคงอาหารภายในประเทศ ไม่ขาดแคลน เพราะเราผลิตข้าวเกินความต้องการประมาณ 3-4 เท่า เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ

32 จังหวัดเสี่ยงขาดแคลนน้ำ

ในส่วนพื้นที่ขาดแคลนน้ำ นายวินิตบอกว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้วิเคราะห์คาดการณ์พื้นที่ทำการเกษตรที่เสี่ยงน้ำน้อย มีโอกาสเกิดภัยแล้งในปี 2566-2567 โดยใช้ข้อมูลปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิ ความชื้นในดิน ความดันในชั้นบรรยากาศ ข้อมูลการบริหารจัดการน้ำในปี 2566 ข้อมูลสถิติการผลิตพืชที่สำคัญรายจังหวัด ข้อมูลปฏิทินการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญรายเดือน ปี 2566/67

รวมไปถึงข้อมูลพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรของกรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งพื้นที่ทำการเกษตรที่เสี่ยงน้ำน้อย อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตพืชผลทางการเกษตร ทำให้ผลผลิตที่เกษตรกรจะได้รับลดลง ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน รวมทั้งสิ้น 32 จังหวัด ซึ่งจากผลการวิเคราะห์พื้นที่ทำการเกษตรที่เสี่ยงน้ำน้อย

จังหวัดที่มีโอกาสจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งประกอบด้วย ภาคเหนือ 17 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย เพชรบูรณ์ ตาก น่าน กำแพงเพชร นครสวรรค์ พะเยา พิจิตร พิษณุโลก แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง สุโขทัย อุทัยธานี และอุตรดิตถ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา ยโสธรร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ และหนองบัวลำภู และภาคกลาง 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี ลพบุรี สระบุรีสระแก้ว และสุพรรณบุรี

“เมื่อนำข้อมูลด้านสภาพภูมิอากาศและการบริหารจัดการน้ำของภาคส่วนต่างๆ มาดำเนินการวิเคราะห์ คาดการณ์ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2566-67 พบว่า พื้นที่นอกเขตชลประทานมีความเสี่ยงที่จะขาดแคลนน้ำสูง รวมทั้งอาจเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคมในปี 2567”

สำหรับพืชที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่คือ ข้าว พืชไร่ มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย และพืชสวน จะเป็นประเภท ลำไย กาแฟ ทุเรียน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน

“ข้าวได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ข้าวทั้งนาปีและนาปรัง เพราะว่าในระยะสั้นผลกระทบต่อการปลูกข้าวนาปีที่อาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติซึ่งมีไม่พอ ผลผลิตต่อไร่ลดลง และสภาพอากาศที่ร้อนทำให้เกิดปัญหาโรคพืช โรคแมลง มากขึ้นส่งผลผลิตข้าวในปี 2567 ลดลงด้วย”

“วินิต อธิสุข” รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

ภัยแล้ง กระทบ “พืชไร่-ปาล์ม-ยางพารา”

ส่วนพืชกลุ่มที่สองที่มีผลกระทบคือ พืชไร่ ประเภทอ้อย มัน ข้าวโพด เนื่องจากเกิดฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้การเติบโตไม่เต็มที่ ทำให้ผลผลิตลดลงทั้งปริมาณและคุณภาพ รวมไปถึงเผชิญปัญหาเรื่องโรคพืชระบาด เช่น แมลงปากดูดมาดูดกินน้ำเลี้ยงของพืช ส่งผลต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตด้วยเช่นกัน

“ผลไม้ ทุเรียน เงาะ มังคุด ลำไย ที่อาศัยอากาศหนาวในช่วงปลายปีเพื่อความอุดมสมบูรณ์ เมื่อเกิดภัยแล้ง ภาวะหนาวไม่ยาวพอ น้ำไม่พอ การติดดอกออกผลก็ไม่ดี หรือติดดอกเป็นผลร่วงได้ และถ้าเกิดน้ำขาดช่วงฝนทิ้งช่วง ผลไม้เติบโตแกร็น หลุดร่วงไปเลย กระทบต่อคุณภาพของพืช”

ส่วนเรื่องที่น่าเป็นห่วงเมื่อผลไม้ขาดน้ำนาน ก็มีโอกาสที่ต้นจะเหี่ยวเฉาถาวร จึงต้องเตรียมบริหารจัดการตรียมน้ำต้นทุน น้ำหยด เพื่อไม่ให้ต้นไม้ตายซึ่งจะเสียหายมากกว่า

สำหรับไม้ยืนต้นประเภทปาล์มน้ำมัน ในระยะสั้นจะเกิดปัญหาทะลายฝ่อ ส่งผลให้ผลิตลดลงในระยะสั้น แต่ในระยะยาวปาล์มน้ำมันจะมีปัญหาหากขาดน้ำต่อเนื่องตั้งแต่ 12-24 เดือน โอกาสติดดอกตัวเมียลดลงและกลายเป็นดอกตัวผู้แทน ไม่มีทะลาย ทำให้ผลผลิตปาล์มลดลงจำนวนทลายลดลง

ขณะที่ยางพารา ถ้าเกิดฝนทิ้งช่วงนานๆ ผลกระทบมากกว่า เพราะเป็นน้ำเป็นปัจจัยสำคัญต่อผลผลิตน้ำยาง เพราะฉะนั้น ช่วงฤดูแล้งต้นยางพาราจะให้น้ำยางน้อยกว่าปกติ แต่ถ้าแล้งติดต่อกันเกิน 4 เดือน ก็มีโอกาสที่ต้นยางพารายืนต้นตายเช่นกัน

“ปศุสัตว์-ประมง” ผลผลิตลดลง

ส่วนผลกระทบด้านประมง จะเป็นอีกสาขาการผลิตที่ได้รับผลกระทบรองลงมา เนื่องจากน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หากเกิดภัยแล้งและมีสภาพอากาศร้อนจนปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติลดลง สัตว์น้ำที่อาจจะได้รับผลกระทบคือ สัตว์น้ำจืด ปลานิลและปลาดุก และกุ้งทะเลเพาะเลี้ยง

หากสภาพอากาศร้อนและน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติลดลง จะส่งผลให้ปริมาณน้ำในบ่อเลี้ยงลดลงตาม และน้ำจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้สัตว์น้ำกินอาหารลดลง เจริญเติบโตช้า เกิดความเครียด อ่อนแอ และมีความต้านทานมลพิษ โรค และปรสิตต่างๆ ลดลง รวมทั้งอาจเกิดอาการน็อกน้ำตายได้

นอกจากนี้ ความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหารตามธรรมชาติ เป็นสาเหตุให้สัตว์น้ำที่จับได้มีขนาดและน้ำหนักที่ลดลง และยังมีโรคที่ควรเฝ้าระวังในช่วงอากาศร้อน คือ โรคที่เกิดจากปรสิตและโรคที่เกิดจากแบคทีเรีย

“ผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้อุณหภูมิของน้ำสูงขึ้น และสิ่งที่เกิดขึ้นเกิดตามมา คือการเกิดแพลงก์ตอนบลูม น้ำทะเลเปลี่ยนสี ออกซิเจนในน้ำน้อยลง และทะเลเป็นพิษ กระทบสิ่งมีชีวิตในทะเลต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ในระบบนิเวศของท้องทะเล ปลาเล็กปลาน้อยจะตายจำนวนมาก ส่งผลให้ชาวประมงจับปลาได้ปริมาณน้อยลง เนื่องจากกลุ่มสัตว์น้ำที่ปรับตัวไม่ได้จะหายไป ทำให้ระบบนิเวศในบริเวณดังกล่าวเสียสมดุล และส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดในระบบนิเวศ”

นายวินิตบอกว่า อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากเอลนีโญมากที่สุด อาจจะเป็นอุตสาหกรรมปลาป่นเพื่อทำอาหารสัตว์เพราะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากปลาป่นมีองค์ประกอบที่สำคัญของอาหารสัตว์ โดยปลาป่นมักจะผลิตมาจากปลาทะเลที่มีขนาดเล็กในธรรมชาติ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากโลกร้อนเช่นเดียวกัน จึงทำให้มีปริมาณลดลงและขาดแคลน ราคาของอาหารปลาจะสูงขึ้น เป็นผลให้ต้นทุนการเพาะเลี้ยงสูงขึ้นด้วย

ส่วนผลกระทบด้านปศุสัตว์ หากเกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยมีอากาศที่ร้อนขึ้นจะส่งผลกระทบ ดังนี้ สัตว์ที่เลี้ยงในฟาร์มเปิด หากเกิดสภาพอากาศที่ร้อนจะส่งผลให้สัตว์เกิดความเครียดจากความร้อน (heat stress) ความต้องการอาหารของสัตว์ลดลง ทำให้สัตว์เจริญเติบโตลดลง

นอกจากนี้ การขยายพันธุ์ของสัตว์ก็จะลดลงด้วย และหากอากาศร้อนต่อเนื่องหลายวัน แม่สัตว์อุ้มท้องแก่อาจเกิดการแท้งได้ ทำให้ปริมาณผลผลิตในภาพรวมลดลง สำหรับโรคที่มักเกิดในช่วงที่มีอากาศร้อน ได้แก่ โรคฮีตสโตรกหรือโรคลมแดด โรคบิด และโรคท้องเสีย ซึ่งหากสัตว์ยังปรับตัวไม่ทันต่อสภาพอากาศ สัตว์จะอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันโรคลดลง และเป็นโรคอื่นๆ ได้ง่ายขึ้นตามมา

นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบในเรื่องของต้นทุนการผลิตด้านพลังงานที่สูงขึ้น เกษตรกรต้องบริหารจัดการภายในฟาร์มมากขึ้น โดยการทำให้อากาศหมุนเวียน ถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดอุณหภูมิลง ด้วยการใช้ระบบทำความเย็น มีการติดตั้งพัดลมเป่าและดูดอากาศเพิ่มขึ้น มีการ สเปรย์น้ำในโรงเรือนเพื่อลดอุณหภูมิลง ทำให้ภาระค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

อีกทั้งต้นทุนค่าอาหารสัตว์สูงขึ้น ช่วงฤดูร้อนอาหารสัตว์ขาดแคลนและมีราคาสูง ซึ่งอากาศที่ร้อนจัดทำให้เกิดการขาดแคลนพืชอาหารสัตว์ หรืออาหารสัตว์มีคุณภาพต่ำ

ส่วนสัตว์ที่เลี้ยงในฟาร์มปิด หากเกิดสภาพอากาศที่ร้อนจะไม่ได้รับผลกระทบด้านการผลิตมากนัก เนื่องจากเป็นการเลี้ยงระบบปิดที่มีการควบคุมอุณหภูมิในฟาร์ม ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับสัตว์ตลอดเวลา แต่อาจจะได้รับผลกระทบด้านค่าพลังงานแทน เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นทำให้เครื่องใช้ระบบไฟฟ้าในฟาร์มต้องทำงานหนักขึ้น ส่งผลให้ค่าพลังงานสูงขึ้นตามมา”

“วินิต อธิสุข” รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

ปรับตัวรับมือ ปรากฏการณ์เอลนีโญ

นายวินิตมองว่า การปรับตัวเพื่อรับกับสถานการณ์เอลนีโญมีในหลายระดับ ทั้งในระดับที่เป็นบุคคลและในเชิงนโยบาย ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดเตรียมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้านการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง ปี 2566 โดยเตรียมการให้ความช่วยเหลือ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

“มีแผนบริหารจัดการพื้นที่ 32 จังหวัด ที่มีความเสี่ยงเกิดภัยแล้งโดยการจัดทำแผนสำรองน้ำ/และจัดหาแหล่งน้ำสำรอง/ขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำดิบ ขุดลอกลำน้ำที่มีสภาพตื้นเขิน รวมถึงสูบน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียง”

ส่วนมาตรการต่อมาคือ ปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในแหล่งน้ำและพื้นที่เกษตร โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงน้ำน้อยที่มีโอกาสเกิดภัยแล้งทั้ง 32 จังหวัด และประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรวางแผนทำการเกษตรและปรับเปลี่ยนการเพาะปลูก โดยแนะนำให้เกษตรกรปลูกพืชทนแล้ง เช่น พืชตระกลูถั่ว พืชผัก เพราะใช้น้ำน้อยและผลผลิตมีราคาดี และได้จัดทำทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกพืชระบุพื้นที่เพาะปลูกและแหล่งน้ำที่นำมาใช้เพื่อการเกษตรให้ชัดเจน จะได้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน เพื่อเตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือเกษตรกร

นอกจากนี้ ได้ส่งเสริมงานวิจัยแนวทางในการปรับตัวของเกษตรกรให้รู้เท่าทันสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีงานวิจัยทางด้านนี้ว่าเกษตรกรต้องจะปรับตัวอย่างไร รวมทั้งงานวิจัยที่บ่งบอกถึงสัดส่วนและแนวทางการใช้เมล็ดพันธุ์ การใช้ปุ๋ยจากการวิเคราะห์ค่าดิน

ส่วนสุดท้ายต้องมีมาตรการประกันภัยพืชผล โดยการออกผลิตภัณฑ์ประกันพืชผลที่หลากหลาย เช่น ชาวทุเรียนไม่ได้กลัวปัญหาภัยแล้ง แต่มีปัญหาเรื่องพายุทำให้กิ่งหัก ต้นไม้ล้ม แต่ประกันพืชผลไม่มีผลิตภัณฑ์ในเรื่องของการวาตภัย

“ผมคิดว่าการมีประกันพืชผลแบบสมัครจะช่วยลดการที่ภาครัฐเข้าไปช่วยเหลือเยียวยา แต่อาจจะต้องเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายให้เกษตรกรได้เลือก ซึ่งในเรื่องนี้ได้หารือกรมการประกันภัยเพื่อดำเนินการศึกษา เพราะเรามองว่า ถ้ารัฐจ่ายช่วยเหลือแบบไม่มีเงื่อนไข ระยะยาวอยู่ไม่ได้ เราถอดบทเรียนจากประเทศอื่นๆ สุดท้ายเขาต้องปรับเหมือนกัน”

ยึดแนว BCG รับมือสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง

ไม่เพียงระดับนโยบายที่จะต้องการปรับแผนรับมือในช่วงสถานการณ์เอลนีโญ แต่ทุกระดับรวมไปถึงประชาชนต้องปรับตัวด้วย โดยมองว่า การจัดการในเชิงอุปสงค์หรือความต้องการใช้น้ำของเกษตรกรและประชาชน ต้องมีแนวทางในการอนุรักษ์หรือประหยัดน้ำมากขึ้น รวมไปถึงการประหยัดพลังงานด้านอื่นๆ

“ผมว่าในเรื่องน้ำคนไทยเริ่มตระหนักถึงคุณค่า เพราะเริ่มเห็นน้ำขวดที่กินเหลือมีเก็บกลับไปกินต่อ ซึ่งในเรื่องนี้สำคัญมากในการรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงการอนุรักษ์ เช่น เรื่องของพลังงาน ผมเคยไปประชุมญี่ปุ่นไปหน้าร้อน ผมใส่สูทไป แต่เจ้าหน้าที่เขาใส่แขนสั้นสบายมาเลย เพราะร้อน ฉะนั้นผมคิดว่าไทยอาจต้องณรงค์แบบนั้น เช่น การเปิดแอร์ อุณหภูมมิ 26-27 พออยู่ได้ ไม่ต้องเปิดจนเย็นฉ่ำก็ได้เพื่อประหยัดพลังงาน”

นายวินิตเห็นว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญเป็นสัญญาณระยะสั้น แต่เรื่องที่น่าห่วงคืออุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นหรือโลกร้อนในระยะยาว เพราะหากเรายังไม่มีแผนที่จะรองรับในเรื่องนี้อย่างยั่งยืน อาจจะสร้างความเสียหายได้ เอลนีโญกระทบถึงความมั่นคงอาหารในปี 2566-2567 ยังไม่น่าห่วง แต่จุดที่ผมห่วงโดยส่วนตัวคือเรื่องของอุณหภูมิโลก น่ากังวลในระยะยาว

ถ้าถามว่าคนตระหนักถึงโลกร้อนหรือไม่ ภาคเกษตรกรเป็นภาคที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้โลกร้อนจากการปลูกข้าว แต่การปลูกข้าวมี 2 ภาคคือปล่อยก๊าซเรือนกระจกในช่วงกลางคืนและดูดซับในช่วงกลางวัน ถ้าเราไม่เตรียมการในเรื่องนี้อาจจะโดนกีดกันทางการค้าได้ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมเป็นภาคที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมานานกว่า 100 ปี

อย่างไรก็ตาม นายวินิตบอกว่า ต้องสร้างความตระหนักและความเข้าใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นหากอุณหภูมิโลกร้อนขึ้น แม้ที่ผ่านมาจะมีการตั้งเป้าหมายลด 1.5 องศา แต่ประชาชนไม่เห็นภาพ ซึ่งต้องบอกว่าการศึกษาของทั่วโลก พบหากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นไทยจะได้รับผลกระทบอีก 70 ปีข้างหน้า โดยที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยากลายเป็นน้ำทะเลขึ้นไปถึงภาคเหนือ ตรงนี้น่าคิดเพราะจะเหลือพื้นที่ปลูกข้าวเฉพาะภาคเหนือตอนบน ภาคอีสาน และพื้นที่ภาคใต้

“พื้นที่ปลูกข้าวน้อยลง ปัญหานี้น่าคิดในระยะยาว แต่การสื่อสารเรื่องนี้ให้คนตระหนักไม่ใช่การสื่อสารง่ายๆ เวลาเราคุยกันบนโต๊ะประชุมลดคาร์บอนกี่ตัน ชาวบ้านไม่ได้รู้เรื่องนี้ด้วย แม้แต่เราฟังยังงงๆ แต่ถ้าเห็นภาพรวมในระยะยาวว่าผลกระทบจากโลกร้อนรุนแรงแค่ไหน และการลดผลกระทบไม่ให้เกิดขึ้นต้องช่วยกันทุกคน ไม่ใช่ภาครัฐอย่างเดียว”

นายวินิตบอกว่า แนวทางตาม BCG หรือ bio-circular-green economy หรือการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ในเรื่องนี้จะเป็นการวางแผนรับมือในระยะยาว เพราะการพัฒนาตามแนวทางนี้จะคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม และโลกร้อนในระยะยาว

“ไทยจะเดินไปสู่เศรษฐกิจแบบ BCG ซึ่งน่าสนใจมาก เพราะว่าเราจะนึกถึงการผลิตว่าอะไรที่จะสร้างขยะให้กับโลก เช่น ขายน้ำมะพร้าวอ่อนอาจจะขายได้แค่ 1 ใน 4 น้ำหนักลูก แต่ที่เหลือเป็นขยะแล้วทำยังไงต่อ การคิดแบบ BCG จะเข้ามารจัดการเรื่องนี้ไม่ให้มีขยะเหลือไว้ให้กับโลก ตรงนี้น่าสนใจ เพราะเราใช้ทรัพยากรของโลกให้เกิดประโยชน์มากที่สุด”

“วินิต อธิสุข” รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

นายวินิตบอกว่า แนวทาง BCG มีความเหมาะกับภาคเกษตรกร โดยการให้มุมมองแนวคิดการทำ BCG ให้กับภาคเกษตรโดยแต่ละจังหวัดอาจจะต้อง BCG ของตัวเองเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่แตกต่างกัน เช่น ราชบุรีมีปัญหาขี้หมูต้องทำเรื่องนี้ แต่จังหวัดอื่นมีปัญหาอื่นก็ทำตามปัญหาและตัวชี้วัดของตัวเอง

“ผมคิดว่าควรจะลองไปทำโมเดลนำร่องในจังหวัดที่พร้อม อาจจะไม่ต้องทำทั้งประเทศพร้อมกันก็ได้ เพราะเท่าที่ผมคุยกับหลายจังหวัดแนวทางในการทำค่อนข้างเป็นนามธรรม อย่าเพิ่งทำทั้ง 76 จังหวัด แต่คิดว่าทำจังหวัดที่พร้อมและเห็นภาพรูปธรรมก่อน”

สำหรับแนวคิดเศรษฐกิจ BCG เป็นเมกะเทรนด์สำคัญของโลก หลังการประชุมสุดยอดเอเปค 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพได้ชูแนวคิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจบ BCG เป็นบรรทัดฐานในการทำธุรกิจ-การค้า-การลงทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ

โดยอดีตรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อนุมัติแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569 พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว เป็นกรอบแผนยุทธศาสตร์โมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569 เป็น “วาระแห่งชาติ”

ทั้งนี้ BCG ย่อมาจาก bio, circular และ green ถือเป็นเศรษฐกิจแนวใหม่ที่ดำเนินธุรกิจ โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาโลกร้อนที่กำลังเป็นตัวบั่นทอนทรัพยากรโลก