ThaiPublica > เกาะกระแส > ครม.เศรษฐกิจ ถกหามาตรการแก้ภัยแล้ง เทงบ 84 ล้าน ขุดบ่อบาดาลเพิ่ม 500 บ่อ – คาด “เอลนีโญ” ฤดูฝนนี้ แรงเท่าปี ’40

ครม.เศรษฐกิจ ถกหามาตรการแก้ภัยแล้ง เทงบ 84 ล้าน ขุดบ่อบาดาลเพิ่ม 500 บ่อ – คาด “เอลนีโญ” ฤดูฝนนี้ แรงเท่าปี ’40

25 มิถุนายน 2015


ครม.เศรษฐกิจ ถกหามาตรการแก้ภัยแล้ง เทงบ 84 ล้าน ขุดบ่อบาดาลเพิ่ม 500 บ่อ – คาด “เอลนีโญ” ฤดูฝนนี้ แรงเท่าปี’40

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน, นายปิติพงษ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยาการธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศ (องค์การมหาชน)
(จากซ้ายไปขวา) ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, พล.อ. ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ, พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา, นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา และนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม เพื่อหารือถึงการแก้ไขปัญหาภายหลังและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร

หลังการประชุม พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.) นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) พล.อ. ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน และ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศ (องค์การมหาชน) ร่วมกันแถลงการณ์ประชุม ครม.เศรษฐกิจ

พล.อ. อนุพงษ์ กล่าวว่า ในวันนี้เป็นการประชุมบูรณาการว่าจะดำเนินการอย่างไรกันต่อไปเพื่อดูแลและบริหารจัดการน้ำ โดยเริ่มจากต้นจากการดูปริมาณน้ำที่มีอยู่ ประกอบกับดูข้อมูลการพยากรณ์น้ำในอีก 6 เดือนต่อไปว่าจะมีปริมาณน้ำเท่าไร พอได้ข้อมูลมาก็มาดูว่าพื้นที่ในขณะนี้จะใช้น้ำสำหรับการอุปโภค บริโภค รักษาระบบนิเวศ ผลักดันน้ำเค็ม และช่วยการเกษตรได้แค่ไหนอย่างไร และสุดท้าย ในพื้นที่ที่มีปัญหาจะมีมาตรการอื่นเข้ามาช่วยเหลือได้อย่างไร เช่น การใช้น้ำบาดาล เป็นต้น ทั้งนี้ จะไปตอบคำถามว่า ปัจจุบันที่มีปัญหาราษฎรแย่งน้ำนั้นจะมีแนวทางในการดำเนินการอย่างไร นี่คือรายละเอียดโดยสรุปในการประชุม

ชาวนาศรีสะเกษ

คลอด 3+1 มาตรการ ช่วยเกษตรกรลุ่มน้ำเจ้าพระยา

นายปีติพงศ์กล่าวว่า พื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งในปัจจุบัน เป็นพื้นที่ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาเท่านั้น เพราะในพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของประเทศ เกษตรกรส่วนใหญ่ได้ชะลอการปลูกข้าว เนื่องจากเคยชินกับการรอน้ำฝน โดยปัจจุบัน ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีพื้นที่ปลูกข้าว 7.4 ล้านไร่ เกษตรกรได้เริ่มปลูกข้าวไปแล้ว 4 ล้านไร่ เหลืออีก 3.4 ล้านไร่ที่ยังไม่ได้เริ่มเพาะปลูก

“ในพื้นที่ซึ่งเริ่มเพาะปลูกไปแล้ว มีถึง 8.5 แสนไร่ที่เป็นพื้นที่เสี่ยง เนื่องจากปริมาณน้ำอาจไม่เพียงพอ โดย ทส. จะร่วมกับส่วนราชการอื่นๆ ในการเข้ามาเจาะบ่อบาดาลเพิ่มเติมจากบ่อบาดาลที่มีอยู่แล้ว”

นายปีติพงศ์กล่าวว่า ส่วนพื้นที่ซึ่งยังไม่ได้เพาะปลูก 3.4 ล้านไร่ กษ. มีมาตรการในการช่วยเหลือ 3 มาตรการ ประกอบด้วย 1. ให้เลื่อนเวลาเพาะปลูกออกไปเป็นช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2558 2. ปรับเปลี่ยนพืชที่เพาะปลูก หันไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย อายุเพาะปลูกสั้น และอยู่ในความต้องการของตลาดมากที่สุดในขณะนี้ ได้แก่ ข้าวโพดและถั่วเขียว โดยรัฐบาลพร้อมที่จะจัดสรรปัจจัยการผลิตต่างๆ รวมถึงหาตลาดให้ คาดว่าจะรองรับผลผลิตได้ราว 1 แสนตัน 3. สำหรับเกษตรกรที่ต้องการปรับพื้นที่เพาะปลูกไปเลย เช่น ปลูกข้าวไม่ไหวจะเปลี่ยนไปทำเกษตรผสมผสาน กษ. จะหารือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อจัดหาทุนให้

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเพิ่มเติมจากกระทรวงการคลังที่จะดูเรื่องของการพักชำระหนี้ ในส่วนของเกษตรกรที่ต้องเลื่อนการเพาะปลูกออกไปเรื่อยๆ หรือเพาะปลูกแล้วเจอกับปัญหาภัยแล้ง

“ส่วนมาตรการช่วยเหลือเป็นตัวเงิน รัฐบาลยังไม่มีการหารือ เพราะเกษตรกรยังไม่ได้รับความเสียหายจากการเลื่อนปลูกข้าว” นายปีติพงศ์กล่าว

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร

กรมชลฯ ลดปล่อยน้ำ – ทส. ของบ 84 ลบ. ขุดบ่อบาดาลเพิ่ม 500 บ่อ

นายเลิศวิโรจน์กล่าวว่า ตามปกติ กรมชลประทานจะต้องระบายน้ำเฉลี่ย 33 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน เพื่อให้ครอบคลุมการใช้งานทุกส่วน ทั้งอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ ผลักดันน้ำเค็ม รักษาสภาพตลิ่ง ฯลฯ แต่ภายหลังจำลองสถานการณ์โดยคำนวณจากระดับน้ำในภาวะที่วิกฤติที่สุด ทำให้ต้องปรับดลการระบายน้ำเฉลี่ยเหลือ 28 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน เพื่อให้เหลือใช้ได้ถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2558

“ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เหลือปริมาณน้ำใช้การได้ 1,067 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 6% หากยังปล่อยน้ำเท่าเดิมจะเหลือน้ำใช้เพียง 32 วันเท่านั้น เมื่อลดการปล่อยน้ำ รวมกับปริมาณน้ำฝนที่จะเพิ่มขึ้น คาดว่าในเดือนสิงหาคม 2558 จะกักน้ำได้ 3,500 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับใช้ในด้านต่างๆ อย่างเพียงพอไปจนถึงเดือนเมษายน 2559”

นายเลิศวิโรจน์กล่าวว่า ในพื้นที่ซึ่งเพาะปลูกไปแล้วกว่า 3.4 ล้านไร่ จะอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานด้านการปกครองและความมั่นคงในการดูแลเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าว โดยกรมชลประทานจะยังคงให้ความช่วยเหลือน้ำสำหรับเพาะปลูก

ด้าน พล.อ. ดาว์พงษ์ กล่าวว่า สำหรับพื้นที่เพาะปลูกไปแล้วและเสี่ยงว่าจะขาดน้ำ 8.5 แสนไร่ ทส. จะเข้าไปขุดบ่อบาดาลเพิ่มเติม 500 บ่อ จากที่มีอยู่แล้ว 380 บ่อ ซึ่งได้ขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติม 84 ล้านบาทในการดำเนินงาน ทั้งนี้ คาดว่าน้ำจากบ่อบาดาลน่าจะเพียงพอในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรเป็นเวลา 2 เดือน โดยจะต้องควบคุมไม่ให้ใช้หมด

“ด้วยศักยภาพที่เรามีอยู่ขณะนี้ ปัจจัยน้ำใต้ดินเวลาที่มีจำกัดมากจะต้องทำให้เสร็จภายในกลางเดือนกรกฎาคม 2558 โดยเร่งทำงานตลอด 24 ชั่วโมง จะทำให้เราสนับสนุนบ่อบาดาลในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัดได้ 880 บ่อ โดยจะได้น้ำขึ้นมาประมาณวันละ 2 แสนลูกบาศก์เมตร โดยคาดว่าจะช่วยเหลือเกษตรได้ประมาณ 1.3 แสนไร่ ช่วยบรรเทาความเดือนร้อนในพื้นที่ 8.5 แสนไร่ดังกล่าว และในการดำเนินการเจาะบ่อบาลจะมีการจ้างงานชาวบ้านในพื้นที่ประมาณ 2,000 ราย” พล.อ. ดาว์พงษ์ กล่าว(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

ปริมาณน้ำต้นทุนและแผนการจัดสรรน้ำปี2551-58

คาดผลกระทบเอลนีโญหนักเท่าปี 2540

ดร.อานนท์กล่าวว่า จากการติดตามตัวชี้วัดทำให้ทราบว่า ในฤดูฝนของปี 2558 ไทยจะได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญรุนแรงขึ้น เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย ทั้งเกาหลีเหนือ จีน ไต้หวัน และอินเดีย โดยอาจส่งผลไปจนถึงปี 2559 ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะรุนแรงเท่ากับปี 2540 ซึ่งเป็นปรากฏการณ์เอลนีโญครั้งที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ แม้ยังมีปัจจัยอีก 2 ประการ คือ การแปรผันของมวลน้ำในมหาสมุทรอินเดีย (indian ocean dipole) ที่อาจบรรเทาภัยแล้งได้บ้าง โดยอาจทำให้เกิดฝนระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน 2558 อีกปัจจัยคือ ปรากฏการณ์ MJO (Madden-Julian Oscillation) ที่จะทำให้เกิดมรสุมรุนแรงขึ้นเป็นช่วงๆ วงรอบสั้นๆ ประมาณ 30-60 วัน โดยคาดว่าในอีก 2-3 วันข้างหน้าจะเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวขึ้น

“จากการคาดการณ์ ปริมาณฝนในเดือนกรกฎาคม 2558 จะน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 18% เดือนสิงหาคม 2558 จะน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 10% และเดือนกันยายน 2558 จะน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 5-6% จากนั้นในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2558 จะกลับเข้าสู่ค่าเฉลี่ย คาดว่าปีนี้ไทยจะมีพายุ 2 ลูก ระหว่างเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2558 ซึ่งจะทำให้มีน้ำฝนเพิ่มขึ้นมาบ้าง” ดร.อานนท์กล่าว

ธ.ก.ส. ออก 3 มาตรการช่วยเกษตรกร

วันเดียวกัน ธ.ก.ส. ส่งข่าวประชาสัมพันธ์ อ้างคำพูดของนายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา 26 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก กำแพงเพชร นครสวรรค์ พิจิตร สุโขทัย อุตรดิตถ์ ตาก อ่างทอง นนทบุรี ปทุมธานี สิงห์บุรี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร นครนายก ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม เพชรบุรี สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม ซึ่งกรมชลประทานได้มีประกาศขอให้เกษตรกรชะลอการเพาะปลูกข้าวนาปีในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาออกไปก่อนนั้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกร ธ.ก.ส. ได้มอบหมายพนักงานสาขาลงพื้นที่เยี่ยมเยียนเกษตรกรเพื่อให้กำลังใจ สอบถามปัญหา และหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน พร้อมกำหนดแนวทางการให้ความช่วยเหลือ ดังนี้

1. กรณีเกษตรกรเพาะปลูกข้าวนาปีไปแล้ว กรมชลประทานได้ประกาศว่าจะดำเนินการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อการเพาะปลูกข้าวนาปีที่ได้เพาะปลูกแล้ว จำนวนประมาณ 2.85 ล้านไร่ ได้ให้พนักงาน ธ.ก.ส. สาขา ประสานความร่วมมือกับส่วนราชการในพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึงและครบถ้วน อย่างไรก็ตาม หากผลผลิตเกิดความเสียหายในระยะต่อไป ธนาคารมีแนวทางการให้ความช่วยเหลือไว้แล้วโดยจะขยายระยะเวลาชำระหนี้เดิมให้ ดังนั้น เกษตรกรไม่ต้องกังวลในเรื่องภาระหนี้สินที่มีอยู่กับธนาคารแต่อย่างใด

2. กรณีที่เกษตรกรลูกค้ากู้เงินไปแล้วแต่ยังไม่ได้เพาะปลูก ได้ให้พนักงานชี้แจงการขอความร่วมมือของกรมชลประทานที่ขอให้ชะลอการเพาะปลูกไว้ก่อนและให้ติดตามสถานการณ์ความพร้อมในการเพาะปลูกเมื่อมีฝนตกชุกหรือมีปริมาณน้ำที่เพียงพอ จากกรมอุตุนิยมวิทยาและกรมชลประทานซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีฝนตกชุกหรือปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูกประมาณปลายเดือนกรกฎาคม 2558 ทั้งนี้ สำหรับพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับเงินกู้ไปแล้วจะแนะนำให้ฝากเงินเข้าบัญชีเงินฝากไว้ก่อน เมื่อสถานการณ์เหมาะสมจะได้มีเงินทุนพร้อมสำหรับการเพาะปลูกต่อไป

3. กรณีเกษตรกรลูกค้ายังไม่ได้กู้เงินและยังไม่ได้เพาะปลูก ธนาคารขอให้ชะลอการกู้เงินจากธนาคารออกไปก่อน จนกว่าจะมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก

“จากนี้ไป หากเกิดสถานการณ์ภัยแล้งเป็นระยะยาวนานจนไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ส่งผลให้เกษตรกรลูกค้าประสบปัญหาการขาดรายได้ และมีผลกระทบต่อการชำระหนี้เดิม ธนาคารจะพิจารณาขยายเวลาการชำระหนี้หรือดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับเกษตรกรลูกค้าตามวิธีปฏิบัติของธนาคาร เป็นกรณีไป นอกจากนี้ กรณีที่เกษตรกรลูกค้าได้ขอคำแนะนำรูปแบบการผลิตที่เหมาะสมจากเกษตรอำเภอ เพื่อที่จะทำให้เกษตรกรมีรายได้ทดแทน หรือต้องการฟื้นฟูการผลิตที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งหากเกษตรกรขาดเงินทุนหมุนเวียน สามารถไปติดต่อขอใช้สินเชื่อจากธนาคารได้” นายลักษณ์กล่าว