ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > ท้องถิ่นระดมทุน-ธนาคารโลก ชู 5 จังหวัดนำร่องจัดการตนเอง สร้างความมั่งคั่ง-มั่นคง-ยั่งยืนในพื้นที่

ท้องถิ่นระดมทุน-ธนาคารโลก ชู 5 จังหวัดนำร่องจัดการตนเอง สร้างความมั่งคั่ง-มั่นคง-ยั่งยืนในพื้นที่

18 กันยายน 2023


ข่าวประชาสัมพันธ์

บพท.-ธนาคารโลก สานพลังปั้น “เชียงใหม่-นครสวรรค์-ขอนแก่น-ระยอง-ภูเก็ต” ปูทางท้องถิ่นระดมทุนสร้างระบบการคลังตัวเองอัดฉีดเศรษฐกิจ-ลดเหลื่อมล้ำ

สบน.หนุนแนวทางท้องถิ่นพึ่งพาตัวเองด้านงบประมาณ ใน 5 จังหวัดนำร่อง “เชียงใหม่-นครสวรรค์-ขอนแก่น-ระยอง-ภูเก็ต” ตามข้อค้นพบของงานวิจัยร่วม บพท.-ธนาคารโลก-มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อลดภาระการคลังรัฐบาล สร้างความอยู่ดีกินดี-ความมั่งคั่งมั่นคงอย่างยั่งยืนในพื้นที่

ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เปิดเผยรายละเอียดผลการวิจัยแนวทางการยกระดับเมืองรองใน 5 จังหวัดนำร่อง ซึ่งประกอบด้วยเชียงใหม่-นครสวรรค์-ขอนแก่น-ระยอง-ภูเก็ต โดยกล่าวว่า บพท. และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้บรรลุความร่วมมือกับธนาคารโลก ในการศึกษาวิจัยแสวงหาแนวทางการยกระดับเมืองรอง เพื่อเสริมพลังการกระตุ้นความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิต และลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ

“ผลจากการวิจัยเบื้องต้นพบว่า การให้อำนาจและเครื่องมือแก่องค์กรปกครองท้องถิ่นให้สามารถระดมทุนได้เอง บริหารจัดการงบประมาณได้เอง และสามารถตัดสินใจร่วมมือกับเอกชนได้เอง โดยมีกลไกติดตามประเมินผลคอยกำกับตรวจสอบใกล้ชิด จะทำให้เมืองรองมีความเข้มแข็งขึ้น ช่วยเสริมพลังในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ตอบสนองต่อความต้องการในพื้นที่ได้อย่างตรงจุด มีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังจะช่วยสร้างแหล่งงานดูดซับกำลังแรงงานในพื้นที่ ยกระดับรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตแก่คนในพื้นที่”

นายฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ช้อมูลที่ค้นพบจากการวิจัยพบว่าการพัฒนาระบบการคลังท้องถิ่น โดยอำนวยความสะดวกให้องค์กรปกครองท้องถิ่นมีขีดความสามารถในการระดมทุนได้เอง เพื่อนำไปสู่การพึ่งพาตัวเองขององค์กรปกครองท้องถิ่น มีจำเป็นอย่างยิ่งต่อการยกระดับเมืองรอง ทำให้องค์กรปกครองท้องถิ่นกำหนดแผนงานโครงการ ตามความต้องการของท้องถิ่นได้อย่างตรงจุด โดยพบว่าโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่องค์กรปกครองท้องถิ่นควรพิจารณาดำเนินการ น่าจะเป็นโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม ด้านการบริการสาธารณะ พลังงานทดแทน และการจัดการขยะ ที่มีความสอดคล้องกับบริบทสากลด้านสิ่งแวดล้อมเขียว ทั้งในมิติ BCG (Bio Circular Green) หรือ ESG (Environmental Social Governance)

“การปลดล็อคเงื่อนไขอุปสรรคของการพัฒนาพื้นที่ โดยเสริมพลังให้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่นในการระดมทุนได้เอง และมีช่องทางหารายได้ของตัวเอง จะเพิ่มศักยภาพการพัฒนาพื้นที่ให้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่น ครอบคลุมทั้งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เพื่อการพัฒนาพื้นที่ รวมไปถึงการสร้างงานให้แก่คนในพื้นที่”

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง (สบน.) กล่าวว่า เมืองรอง มีบทบาทอย่างสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ บรรเทาความยากจนในชนบท โดยกระทรวงการคลังจะนำข้อค้นพบจากงานวิจัยไปใช้เป็นแนวทางการให้การสนับสนุนการเติบโตของเมืองต้นแบบ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน ตลอดจนผู้ประกอบการในพื้นที่

“การส่งเสริมสนับสนุนให้องค์กรปกครองท้องถิ่นระดมทุนด้วยตัวเอง และบริหารจัดการงบประมาณตามแผนงานโครงการของตัวเอง ไม่เพียงเป็นประโยชน์ในเชิงคุณภาพ ประสิทธิภาพของการพัฒนาพื้นที่ แต่ยังมีส่วนช่วยลดการพึ่งพางบประมาณจากรัฐบาลส่วนกลาง ช่วยลดภาระของฐานะการคลังรัฐบาลลงได้มาก”