ThaiPublica > เกาะกระแส > จุดประกายสังคมชาญฉลาด : ใครคือ ‘คนไทย 4.0’ – ทำไมคนกลุ่มนี้มีบทบาทพัฒนาประเทศ

จุดประกายสังคมชาญฉลาด : ใครคือ ‘คนไทย 4.0’ – ทำไมคนกลุ่มนี้มีบทบาทพัฒนาประเทศ

6 กันยายน 2023


การระดมความคิดเรื่อง “ใครคือคนไทย 4.0” เป็นหัวข้อเสวนาภายใต้ “โครงการจุดประกายการเปลี่ยนผ่านจากสังคมเพิกเฉยสู่สังคมชาญฉลาด” เพื่อขับเคลื่อนสังคมไทยให้ก้าวข้าม “กับดัก” ความเพิกเฉย ด้วยการกระตุ้นให้เกิดการรับรู้และการเสริมการเรียนรู้ในมิติของการทำความเข้าใจกับเงื่อนไขที่ตนและประเทศของตนมีอยู่ โดยการเสวนาในครั้งนี้เป็นการขับเคลื่อนต่อจากงานวิจัยที่ได้รับทุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคมคนไทย 4.0 โดยมี ศ. ดร.ผลิน ภู่จรูญ ราชบัณฑิตสาขาบริหารธุรกิจ ราชบัณฑิตยสภา และอาจารย์คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในฐานะหัวหน้าโครงการและเป็นผู้ดำเนินการเสวนา

คนไทย 4.0 คือ คนดี มีจิตสาธารณะ สร้างเครือข่าย ทันเทคโนโลยี

ศ.ดร. มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ประธานมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ (PPSI) และประธานบริหารแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย ด้านสังคม คนไทย 4.0 กล่าวถึง “คนไทย 4.0” ในฐานะผู้วิจัยประเด็นคุณสมบัติของคนไทยว่า ตามยุทธศาสตร์ชาติที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา พ.ศ. 2561 ‘คนไทย 4.0’ คือ คนดี มีคุณธรรม มีจิตสาธารณะ แต่เนื่องจากการศึกษาประเด็นดังกล่าวเห็นว่าโลกกำลังผันผวนอย่างมาก จึงเติมประเด็นเรื่องการรู้เท่าทันโลกและความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้

ศ.ดร. มิ่งสรรพ์ กล่าวถึงงานวิจัยที่นำโดย ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ ว่าโลกในอนาคตที่จะเป็นโลกที่ผันผวนและมีความเสี่ยงสูงมาก คนไทยเป็นคนที่มีชีวิตอยู่กับความเสี่ยงตลอดเวลา ดังนั้น คุณสมบัติที่ต้องมีในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปคือ รู้จักคติการรวมหมู่ รู้จักช่วยเหลือกัน เพราะอุบัติภัยทางธรรมชาติและความผันผวนทางเศรษฐกิจ อีกทั้งคนไทย 4.0 ต้องเป็นคนที่รู้จักสร้างเครือข่าย มีจิตสาธารณะ และใช้เทคโนโลยีเป็นเพราะในที่สุดแล้วโลกของเราจะเป็นโลกแห่งดิจิทัล

“คนไทย 4.0 ที่เรานำเสนอให้ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ตรวจคือ คนที่คิดเป็นทำเป็น มีเครือข่าย ช่วยเหลือผู้อื่น และรู้จักการใช้เทคโนโลยี ซึ่งถูกท้าทายโดยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิว่าให้ไปสร้างคนแบบนี้ขึ้นมา จึงได้มีการพัฒนาโครงการชุมชนภิวัฒน์ โดยประกาศให้ทุนเครือข่ายกลุ่มคนรุ่นใหม่ 50,000 บาทต่อคน”

ศ.ดร. มิ่งสรรพ์ ย้ำว่า “จิตสาธารณะและความต้องการการเปลี่ยนแปลง” คือสิ่งที่ต้องลงทุนกับคนไทย เพราะถ้าสร้างความเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ได้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในสังคม

“การมีน้ำใจของคนไทยเป็นลักษณะของศาสนาพุทธซึ่งได้รับการอบรมบ่มเพาะมา โดยเฉพาะเรื่องการบริจาค เพราะสวัสดิการในบ้านเมืองของเราไม่ดี คนต่างชาติมักบอกว่าการดูแลคนที่ด้อยโอกาสเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ไม่ใช่ว่าคนต่างชาติไม่บริจาค แต่เขาจะบริจาคให้แก่ประเทศที่ขาดแคลน ไม่ได้บริจาคในประเทศเยอะ คนไทยโชคดีอย่างหนึ่งคือ มักจะชื่นชมตนเอง มีน้ำใจ แต่เงื่อนไขที่ทำให้เรามีน้ำใจก็เพราะเราทนเห็นคนอื่นตายไปต่อหน้าต่อตาไม่ได้”

เครือข่ายสังคม บนต้นทุนติดลบ

เมื่อ ศ.ดร.ผลิน กล่าวว่าเครือข่ายของสังคมไทยเปรียบเหมือนดาบสองคม สุดท้ายทำให้ความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ทำให้ ศ. ดร. มิ่งสรรพ์ อธิบายว่าเราอาจแบ่งเครือข่ายได้ 2 ประเภทคือ

เครือข่ายการสร้างอาชีพ ตัวอย่างเช่น เมื่อคนกลับไปที่บ้านแล้วพบว่าไม่มีทุน จึงไปรวบรวมผลผลิตของคนอื่นมาแปรรูปร่วมกัน ทำให้ได้ประโยชน์ทุกฝ่าย และชีวิตผู้คนในชุมชนดีขึ้น

เครือข่ายของคนที่มีจิตสาธารณะ โดยทำงานที่เป็นสาธารณประโยชน์บนฐานของความดี แต่ไม่ได้มีเป้าหมายระยะยาว เช่นที่เชียงใหม่จิตสาธารณะจะเข้มแข็งเฉพาะเวลาที่จะต้องไปทะเลาะกับใคร เช่น การไปต่อสู้เรื่องป่าแหว่ง เรื่องเขื่อน แต่เมื่อเป็นเรื่องดีๆ กลับไม่มีเป้าหมายร่วมกัน

“เมื่อเกิดปัญหาทุกคนจะมีเป้าหมายเดียวกันเพราะต่างมีปัญหาเดียวกัน ซึ่งก็จะมีมากกว่าคนที่ต้องการทำความดีเพราะมีเป้าหมายในการทำความดีที่แตกต่างกัน เราจึงมองว่าเครือข่ายที่เป็นลบมีมากกว่าเครือข่ายที่เป็นบวก ถ้าหาเป้าหมายเชิงบวกในระยะยาวร่วมกันไม่ได้เครือข่ายจะไม่เข้มแข็ง”

ศ. ดร. มิ่งสรรพ์ ยังยกตัวอย่างเครือข่ายที่เชียงใหม่ ซึ่งได้มีการเขียนแผน Chiangmai, the 5 pillars ในช่วงโควิด-19 เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว แต่เมื่อการท่องเที่ยวดีขึ้นกลับไม่มีผู้ผลักดันแผนให้เกิดความต่อเนื่อง รวมถึงปัญหาเรื่องทุนสนับสนุน เพราะการขยายเครือข่ายจำเป็นต้องใช้เงิน

“ตัวอย่างเช่น เขาต้องการทำสาเกจากข้าวท้องถิ่น ต้องซื้อข้าวครั้งละ 50 ถึง 100 กิโลกรัมในการหมัก เมื่อเราให้เงินทุน เขาก็ต้องไปทำร่วมกับท้องถิ่นเป็นวิสาหกิจชุมชน คนที่ต้องการนำข้าวมาก็ต้องเข้ามาเป็นสมาชิกด้วย ซึ่งราคาข้าวก็จะถูกลง พอต้องส่งไปห้องแล็บเพื่อตรวจสอบคุณภาพก็ต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูง และหากผลแล็บออกมาว่าใช้ไม่ได้ก็ต้องไปตรวจใหม่ซึ่งก็ต้องมีค่าใช้จ่ายอีกเหล่านี้คือความเสี่ยง”

ภาครัฐส่วนใหญ่ให้ความช่วยเหลือประชาชนแบบบนลงล่างคือ จัดให้มีการฝึกอบรมเพียงครั้งเดียว ให้วัสดุอุปกรณ์มาซึ่งพอเสียก็ซ่อมไม่ได้ เครือข่ายจิตอาสาก็ถูกรัฐบาลออกกฎหมายมาเพื่อควบคุมแทนที่จะส่งเสริม บอกว่ารวมกลุ่ม 5 คนขึ้นไปต้องไปจดทะเบียน หากไม่จดทะเบียนก็จะมีปัญหาต้องเสียค่าปรับหรือจำคุก”

แทนที่เราจะเอาเงินไปช่วยให้เขาตกปลาได้เรากลับซื้อปลาไปให้เขากิน เพราะฉะนั้นการพัฒนาแสงดาวเป็นแสงอาทิตย์ต้องใช้เวลา

ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาสังคม – คนไทย 4.0 แก้ปัญหารายบุคคล

ศ. ดร.ผลินตั้งคำถามว่า หากเรามีคนไทย 4.0 มากพอแล้ว ประเทศไทยของเราจะหลุดพ้นจากกับดักความเหลื่อมล้ำหรือไม่ โดย ศ. ดร. มิ่งสรรพ์ ตอบว่า ถ้าคนไทย 4.0 ช่วยเหลือกันแก้ไขปัญหาความยากจนถือเป็นการช่วยเหลือรายบุคคล แต่ความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องระหว่างกลุ่ม เช่น ความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มเศรษฐี-กลุ่มคนไร้บ้าน ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้เพราะเกิดจากอำนาจของสังคม รวมถึงช่องว่างระหว่างวัยที่เป็นความเหลื่อมล้ำที่แก้ไขได้ยาก

นอกจากนี้มีเรื่องโครงสร้างอำนาจทางการเมืองทำให้คนบางคนควบคุมทรัพยากรหรือมีการมีกฎหมายที่ควบคุมทรัพยากร เช่น ควบคุมการทำมาหากินในที่ดินของคนไทยที่อาศัยอยู่ในป่า แต่ไม่ได้ดูสภาพโดยรวมว่าแล้วชาวบ้านจะอยู่อย่างไร เพราะฉะนั้นความเหลื่อมล้ำเกิดจากคนบางคนมีอำนาจ มีทรัพยากร และเข้าถึงรัฐบาล สามารถที่จะได้สัมปทาน

ความเหลื่อมล้ำไม่ได้เกิดจากการที่เราไม่มีจิตสาธารณะ แต่เกิดจากโครงสร้างอำนาจที่ทำให้เกิดการผูกขาดตัดตอน ทำให้เกิดการคอร์รัปชัน เรียกว่าความเสี่ยงเชิงระบบ

“คนไทยเรามีความเสี่ยงส่วนตัว เช่น การเกิดมาไม่สมประกอบอันเป็นความเสี่ยงทางพันธุกรรม ความเสี่ยงในการใช้ชีวิตซึ่งเป็นความเสี่ยงส่วนบุคคล แต่เรายังมีความเสี่ยงเชิงระบบที่เกิดจากคนอื่นแต่ผลมาตกอยู่ที่เรา เช่น ปัญหาฝุ่นควันพิษอันเกิดจากเผาที่ดิน สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่เมื่อรวมกันแล้วก่อให้เกิดเป็นปัญหาใหญ่”

กระตุ้นความคิด ผลิตคนยุคใหม่

ศ. ดร. มิ่งสรรพ์ มองว่ากุญแจสู่ความสำเร็จที่จะพัฒนาให้เกิดคนไทย 4.0 ต้องเริ่มจากการให้โอกาสคน เริ่มตั้งแต่ที่โรงเรียน ครูต้องเปลี่ยนการสอนจากท่องจำเป็นให้เด็กคิดเอง ต่อมาในมหาวิทยาลัยก็ต้องมีโค้ชที่ไม่ใช่แค่สอน แต่ต้องกระตุ้น และมีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับจินตนาการ ถัดมาเป็นวัยทำงาน ก็ต้องมีพื้นที่ที่เปิดกว้างและแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ ไม่ว่าจะเป็น การเมือง การเปลี่ยนแปลงองค์กร ที่สำคัญคือ หากมีเงินสนับสนุนจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

ส่วนระดับครอบครัว พ่อแม่ต้องมีเวลาที่มีคุณภาพ ให้ความรักกับลูก เพราะหากเด็กได้รับความรักจากครอบครัวแล้วโอกาสที่จะเสียคนจะยากขึ้น

เมื่อถามว่า “คนไทยทุกคนจะสามารถเป็นคนไทย 4.0 ได้หรือไม่” ศ. ดร. มิ่งสรรพ์ตอบว่า “ไม่สามารถเป็นได้ทุกคน” พร้อมกล่าวต่อว่า เนื่องจากความแตกต่างทางพันธุกรรม-ความแตกต่างทางสิ่งแวดล้อมมีมากกว่าที่เราคิด และอุปสรรคคือเทคโนโลยี

“การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในยุคดิจิทัล การไม่มีการศึกษาจะไปต่อได้ยาก เมื่อมีการศึกษาแล้วเขาก็สามารถที่จะหาช่องทางในการทำมาหากิน หากเศรษฐกิจเดินหน้าเขาก็จะสามารถเดินต่อไปได้”

ศ.ดร.ผลิน ภู่จรูญ แลกเปลี่ยนว่า “วันนี้เราพยายามสร้างโอกาสและพื้นที่ปลอดภัย แต่ทุนสังคมของเรามันกดอยู่ เนื่องจากสังคมยังมีความเชื่อเดิมๆ เกี่ยวกับการศึกษา ‘ระบบท่อ’ ที่จับนักเรียนยัดเข้าไป”

ศ.ดร. มิ่งสรรพ์ บอกว่า “สังคมกดไม่อยู่หรอก เช่น ตอนนี้ทำไมคนถึงชอบทำกาแฟ เพราะเมื่อเขาไปเรียนเป็นบาริสตาเขาก็สามารถออกไปทำงานที่ออสเตรเลียได้ทำให้มีรายได้ที่เยอะกว่า เพราะตอนนี้ที่ออสเตรเลียขาดบาริสตา ครูต้องสรรหาวิธีการสอนใหม่ หากเด็กได้เรียนรู้ในการคิดเองตั้งแต่ยังเล็ก เมื่อโตขึ้นก็จะคิดได้เร็วกว่าเด็กที่ไม่เคยถูกฝึกให้คิดเอง”

ศ.ดร. มิ่งสรรพ์ ฝากถึงรัฐบาลว่า รัฐบาลควรให้โอกาสองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้คิดเองทำเองว่าจะจัดการกับพื้นที่อย่างไรในระดับหนึ่ง ตอนนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถทำได้แค่ตามที่กฎหมายอนุญาต แต่หากต้องการที่จะทำอะไรที่ดีกว่าที่กฎหมายบังคับไว้ก็จะไม่สามารถทำได้

ต้องเลิก Top Down และสนับสนุนงบประมาณ-ทรัพยากร รัฐบาลควรส่งเสริมไม่ใช่บังคับ

“ประเทศไทยไม่ได้มีเงินน้อยแต่เราไม่ได้ใช้ในเรื่องที่ควรใช้ รัฐบาลควรไปกำกับความชั่วร้ายไม่ให้ขยายและส่งเสริมความดี และต้องอภิบาลคนดี”

พลเมืองซัลฟา มีคุณสมบัติรับมือโลกผันผวน

ศ.กิตติคุณ ดร.สุกัญญา สุดบรรทัด ราชบัณฑิตด้านนิเทศศาสตร์ สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ราชบัณฑิตยสภา กล่าวถึงนิยามของคนไทย 4.0 คือ “คนที่มีลักษณะที่พร้อมจะรับมือกับโลกอนาคตที่มีความผันผวน ความไม่แน่นอน ความซับซ้อน ความคลุมเครือ”

ที่สำคัญ คนไทย 4.0 มาพร้อมกับความรู้เท่าทันสื่อ ก้าวตามสื่อทุกฝีก้าว และเป็นคนผลิตสื่อ ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักจะเป็น Gen Z หรือคนที่อายุน้อย ขณะที่คนรุ่นก่อนจำนวนมากที่รับสื่อประเภทแอนะล็อก (Analog) คือ วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ มีการใช้ Social Media บ้าง แต่ไม่เหมือนกับคนรุ่นใหม่ซึ่งใช้สื่อร่วมกับเทคโนโลยี

“ศัพท์เรื่อง พลเมืองรุ่นซัลฟา (zalpha) ให้คำจำกัดความไว้ว่า ตัว z คือเกิดประมาณปี 1996-2011 และกลุ่มอัลฟา alpha เกิดประมาณปี 2012-2024 ส่วนกลุ่มซัลฟาคืออายุตั้งแต่ 0 ถึง 27 ปี เป็นฐานอายุที่ค่อนข้างกว้างคือเกือบ 30 ปี คนเหล่านี้ นี้เกิดมาพร้อมกับวิทยาการคอมพิวเตอร์ และคนกลุ่มนี้คือคนที่จะลุกขึ้นมาเป็นใหญ่ มีสิทธิ์มีเสียงในสังคม…ซัลฟาจะเป็นคนไทย 4.0”

ศ.กิตติคุณ ดร.สุกัญญา ย้ำคุณสมบัติของคนไทย 4.0 โดยแบ่งเป็น 3 องค์ประกอบคือ

  • เติบโตขึ้นมากับคอมพิวเตอร์
  • มีความสามารถในการรับมือกับความไม่แน่นอน หรือความซับซ้อนของโลก
  • เปิดรับต่อข้อมูลข่าวสารทั้งโลก และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างภาษาได้มากกว่าคนรุ่นก่อน
  • ศ.กิตติคุณ ดร.สุกัญญา ยังกล่าวถึงการเตรียมการให้คนรุ่นซัลฟาเป็นคนไทย 4.0 ว่า ปัจจุบันคนตั้งแต่อายุ 0 – 27 ปี ส่วนใหญ่ยังอยู่ในระบบการศึกษา แต่ในอนาคตระบบการศึกษาจะไม่อยู่แค่ในห้องเรียนเท่านั้น ดังนั้นจึงเป็นบทบาทของระบบการศึกษาที่ต้องทำให้พลเมืองเปลี่ยนจากผู้บริโภคเป็นผู้สร้างและผู้วิเคราะห์ นอกจากนี้ยังต้องเตรียมแพลตฟอร์ม และสื่อต่างๆ เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงได้

    “เราต้องนำความฉลาดรู้ (Literacy) เข้าสู่ระบบการศึกษา สร้างพลเมืองรุ่นใหม่ที่จะรองรับปัญหาต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในโลกปัจจุบันและอนาคต ทุกวันนี้เราส่วนใหญ่กำลังยืนอยู่บนฐานความคิดแบบเดิม”

    “หลายคนในกระทรวงศึกษาเองก็มีความคิดก้าวหน้ามาก แต่ไม่สามารถแหวกจอกแหนออกมาได้เพราะเคยชินกับสิ่งต่างๆ”

    “เราต้องช่วยกันทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นราชบัณฑิตที่จะต้องมองในด้านนี้และสร้างประชาชนที่สร้างสรรค์ขึ้นมาให้มีคุณภาพมากขึ้น ไม่อย่างนั้นคุณจะเป็นได้แค่ผู้ใช้เทคโนโลยี และตกเป็นทาสของเทคโนโลยี ไหลลงไปในวังวนน้ำเชี่ยวแล้วหาทางออกไม่ได้ ต้องให้คนที่มีหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ระบบการศึกษา องค์กรต่างๆ ช่วยกันแหวกจอกแหนเหล่านี้ออกไปเพื่อให้มองเห็นแสงสว่างของดวงอาทิตย์ ไม่อย่างนั้นเราก็ไม่รู้ว่าจะหาทางออกได้อย่างไร”

    ใช้ AI หาทางออกให้มนุษย์

    เมื่อคนไทย 4.0 ผูกโยงกับสื่อ และคุณสมบัติการรับข้อมูลข่าวสาร ศ.กิตติคุณ ดร.สุกัญญา จึงมองว่า สื่อก็ต้องมีคุณภาพด้วย อีกทั้งสื่อกระแสหลักไม่ใช่วิทยุ โทรทัศน์ หรือหนังสือพิมพ์ แต่เป็น Social Media หรือสื่อใหม่ ครอบคลุมถึง influencer

    “หากเขาได้รับการชี้นำไปในทิศทางที่ถูกในเชิงสร้างสรรค์ เขาจะสามารถใช้คอมพิวเตอร์เป็นประโยชน์มาก โดยเฉพาะ AI ในการหาทางออกจากความยุ่งเหยิงทั้งหลายที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบันนี้ได้ซึ่งคนรุ่นก่อนหน้านั้นไม่ได้รองรับความเปลี่ยนแปลงนี้”

    ศ.กิตติคุณ ดร.สุกัญญา กล่าวต่อว่า AI หรือปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามาเป็นปัจจัยหลักในการถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารและแลกเปลี่ยนในที่สาธารณะ ขณะเดียวกันถ้านำ AI มาใช้ในทางที่ผิดจะส่งผลร้ายอย่างมาก ดังนั้น มนุษย์ต้องเป็นนายของเทคโนโลยี ไม่ใช่เทคโนโลยีเป็นนายของมนุษย์

    “สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน เหตุใดเด็กไทยถึงเป็นแบบนี้ ทำไมสังคมมืดมนอย่างนี้ เหมือนกับสังคมกำลังตกอยู่ในกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก การจะฝ่ากระแสน้ำเชี่ยวออกไปได้ต้องใช้พาหนะที่มีคุณภาพมากซึ่งก็คือสื่อที่มี AI ที่สามารถที่จะฝ่ากระแสน้ำเชี่ยวและสามารถหาทางออกให้สังคมได้”

    ศ.กิตติคุณ ดร.สุกัญญา กล่าวต่อว่า สื่อที่เป็นพลเมืองคือ “มนุษย์+อมนุษย์” ซึ่งคำว่า ‘อมนุษย์’ ในที่นี้ไม่ใช่ความหมายที่ไม่ดี หากมนุษย์สามารถที่จะนำ AI มาใช้ในการช่วยวิเคราะห์เหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันซึ่งเกินสติปัญญาของมนุษย์ อีกทั้ง AI ยังสามารถวิเคราะห์และสังเคราะห์ ผ่านตัวแปรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การแพทย์ สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ รวมทั้งศาสนาและจริยธรรม

    ‘สื่อ’ ต้องบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์มิตรภาพ

    ปัจจุบันสื่อยืนอยู่บนฐานของวารสารศาสตร์แบบดั้งเดิมคือ การต้องออกไปหาข่าวให้เร็วที่สุด ยิ่งขัดแย้งยิ่งขายดี ซึ่งใช้การไม่ได้แล้ว แม้ว่าสื่อจะพยาบามปรับตัวเอง แต่ก็หนีไม่พ้นการสร้างวาทกรรมแบบเดิมๆ ที่ใส่ร้ายกัน

    เมื่อถามว่า ในทางนิเทศศาสตร์ มีวิธีทางใดที่จะช่วยสร้างวาทกรรมที่ทำให้คนหันมารักกัน โดย ศ.กิตติคุณ ดร.สุกัญญา ตอบโดยเริ่มจากระดับครอบครัวถึงมหาวิทยาลัย ทุกคนต้องช่วยกันต้องบ่มเพาะ ‘เมล็ดพันธุ์ไมตรีจิตมิตรภาพ’ และในที่สุดเมล็ดพันธุ์เหล่านั้นก็จะเติบโตมีลำต้น มีดอก และในที่สุดก็จะออกผลให้ทุกคนได้เก็บกิน

    “ลูกศิษย์เรียนจบไปทำงานข่าว 4 ถึง 5 ปี ก็ซมซานกลับมาบอกว่า สิ่งที่สอนใช้ในชีวิตจริงไม่ได้ เนื่องด้วยสิ่งที่เราพูดเป็นเหมือนกับอุดมคติแต่เมื่อต้องไปเจอของจริงบางคนก็รับไม่ได้ แต่บางคนก็สู้ต่อ แต่สู้ต่อแบบอยู่เป็นภายใต้เจ้าของสื่อที่มีอำนาจมากจึงต้องทำงานตามที่ได้รับคำสั่ง…”

    “แต่ในตอนนี้เขาสามารถเป็นสื่อ และผลิตสื่อที่ดีและเป็นประโยชน์จากอุดมการณ์ของเขาได้ ซึ่งเหล่านี้เป็นภาคที่ดีของสื่อยุคใหม่ คุณควรสร้างสิ่งดีๆ ขึ้นมา”

    ข้อมูลข่าวสารก็เปรียบเหมือนกระแสพายุและมนุษย์ก็อยู่ภายใต้กระแสลมพายุ เราเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างกระแสเหล่านี้ขึ้นมา นี่คือ หลักเกณฑ์ของ New Media ซึ่งมนุษย์คือผู้สร้าง หากมีคนที่นำข้อมูลข่าวสารที่น่าสนใจไปเผยแพร่มากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะเปรียบได้กับการเอาน้ำดีไปไล่น้ำเสีย อนาคตเมื่อเราเข้าสู่ยุคของ New Media หรือยุคของ AI ซึ่ง AI ก็จะช่วยหาทางออกได้ มันจะเป็นเกมของความรักความเมตตาที่จะเกิดขึ้นโดยอาศัยเทคโนโลยี

    ประเด็นสุดท้ายคือ คนไทยควรมีคุณสมบัติอย่างไร เพื่อทำให้นานาชาติยอมรับ โดย ศ.กิตติคุณ ดร.สุกัญญา ตอบว่า ‘ความรอบรู้เรื่องสื่อ’ โดยเฉพาะความเข้าใจว่าสังคมกำลังเปลี่ยนแปลง เทคโนโลยีการสื่อสาร disrupt กระบวนการสื่อสารทั้งหมด ในสังคมเต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารเท็จ ฉะนั้นเราต้องพยายามที่จะรู้เท่าทัน หยุดคิดก่อนแชร์ คิดก่อนจะกดไลก์ เมื่อได้รับข้อมูลแปลกๆ ให้ตั้งข้อสงสัยก่อนว่ามันไม่น่าจะเป็นเรื่องจริง ควรสืบค้นและแสวงหาข้อมูลก่อน

    “สื่อยังไม่ได้ทำหน้าที่บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ แต่ยังทำหน้าที่แบบสื่อเดิมๆ คือการให้ความสำคัญกับบุคคลที่มีชื่อเสียงจึงยิ่งทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม”

    สภาพที่เห็นในขณะนี้คือทุกคนกำลังไหลไปตามกระแสทางข่าวสาร เชื่อในคำพูดของทุกสื่อ ซึ่งเป็น Fake Information…บางครั้งสื่อเองเป็นผู้นำข้อมูลเท็จไปขยายความโดยไม่พิสูจน์ก่อนว่าอะไรคือข้อเท็จจริง ประชาชนก็หลงเชื่อง่าย มันสร้างความขัดแย้งในสังคม

    ศ.กิตติคุณ ดร.สุกัญญากล่าวย้ำว่า คนไทยยุคปัจจุบันน่าเป็นห่วง เพราะคนรุ่นเก่าไม่เคยชินกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนคนรุ่นใหม่ก็ตื่นเต้นกับเทคโนโลยีและเสรีภาพในการพูด เหล่านี้จึงทำให้เกิดความขัดแย้ง

    “ดิจิทัลภิวัตน์ +ปัจเจกภิวัตน์”

    ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ กล่าวว่า “คนทั่วไปอาจสงสัยว่า “4.0” สื่อถึงอะไร โดยทั่วไปจะสื่อถึงความทันสมัย ก้าวนำเทคโนโลยี ฯลฯ แต่เมื่อผมคิดถึง 4.0 ก็จะกลับไปในนิยามเบื้องต้นของอุตสาหกรรม 4.0 ว่าโลกที่เปลี่ยนไปจากเทคโนโลยีจากเดิม 1.0 2.0 3.0 จนมาถึง 4.0 ที่มีการบรรจบกันของเทคโนโลยีสำคัญ ๆ ชีวิตคนเปลี่ยนไปอย่างไร”

    พร้อมอธิบายเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสังคมว่า มนุษย์มีวิวัฒนาการมาพร้อมกับวิวัฒนาการของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงมองว่า 4.0 หมายถึงการบรรจบกันของเทคโนโลยีคือ เทคโนโลยีด้านดิจิทัล เป็นการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่ทำให้มนุษยชาติเปลี่ยนไปมาก ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติที่ผ่านมาสังคมมีพื้นที่ที่มีข้อจำกัดขอบเขตทางกายภาพในการปฏิสัมพันธ์กัน ปัจจุบันมนุษย์สามารถมีปฏิสัมพันธ์กันได้ในทุกด้าน ไม่ว่าเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม หรือแม้แต่เรื่องส่วนตัว สามารถเกิดขึ้นได้เผยให้เห็นถึงการใช้ชีวิตและปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์เปลี่ยนไปอย่างมาก

    “สำหรับผมดิจิทัลภิวัตน์ หรือ digitalization ไม่ใช่แค่การนำเครื่องมือดิจิทัลใหม่ ๆ มาทำให้เกิดความสะดวกในการใช้ชีวิตเพียงอย่างเดียว แต่มันไปไกลถึงเรื่องปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน และคนกับสิ่งของ ความเป็นชนบทกับความเป็นเมือง ดิจิทัลภิวัตน์เชื่อมกันง่ายขึ้น ความเป็นมนุษย์ที่มีดิจิทัลเป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิต เข้าไปอยู่แทบจะทุกที่แล้วของความเป็นคนไทย 4.0 ในปัจจุบัน

    “ในงานที่ได้เขียนกับอาจารย์มิ่งสรรพ์ส่วนหนึ่งก็คือ ชีวิตแพลตฟอร์ม 24×7 หากอาจารย์ใช้ Smart watch อาจารย์ก็เป็นมนุษย์แพลตฟอร์มแล้วเพราะแม้กระทั่งเวลานอนอาจารย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบแพลตฟอร์มที่เก็บข้อมูล ดังนั้นคนไทย 4.0 ตอนนี้อาจจะไม่ใช่ทุกคนที่กลายเป็นมนุษย์แพลตฟอร์ม แต่เรากำลังเข้าไปสู่การเป็นมนุษย์แพลตฟอร์มแล้ว ผมคิดว่าตอนนี้คนไทยจำนวนมากกลายเป็นมนุษย์ดิจิทัลไปแล้ว”

    ดร.อภิวัฒน์กล่าวต่อว่าการกลายเป็นมนุษย์แพลตฟอร์ม คือ Platformization คนไทย 4.0++ จะเป็นมนุษย์แพลตฟอร์มที่แทบทุกอย่างกระทำผ่านแพลตฟอร์มตั้งแต่การกินเช่นการสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์ม การอยู่อาศัยก็จะมี Smart home ซึ่งทุกอย่างเชื่อมต่อกันหมด เช่น การสั่งการเพื่อเปิดใช้งานเครื่องใช้ภายในบ้านหรือระบบรักษาความปลอดภัยผ่านแพลตฟอร์ม รวมไปถึงการนอนโดยสวม Smart watch เพื่อตรวจสอบความปกติของร่างกาย ดังนั้นชีวิตเราจึงกลายเป็นมนุษย์แพลตฟอร์ม 24×7

    ในงานด้านผังเมืองอาจจะได้ยินคำว่า Smart city ก้าวต่อไปของการเป็นคนไทย 4.0 ในอนาคตคือ จะมีปัญญาประดิษฐ์ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของคนไทย ตอนนี้อาจจะยังไม่เยอะแต่มีแนวโน้มที่แน่นอนว่าปัญญาประดิษฐ์หรือ big data จะเป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิตของมนุษย์มากขึ้น และต่อไปปัญญาประดิษฐ์จะพัฒนาไปมากทำให้ machine กับ machine สามารถที่จะคุยกันเองได้โดยที่มนุษย์ไม่ใช่ผู้ตัดสินใจ ชีวิตคนไทย 4.0 จะเริ่มมีการกระทำที่เกิดขึ้นโดยคนไม่ต้องตัดสินใจเอง เช่นการไปเข้าห้องน้ำก็จะมีเซ็นเซอร์เปิดไฟให้เองโดยอัตโนมัติโดยสามารถกำหนดระดับความสว่างของไฟได้ด้วย

    แต่ชีวิตมนุษย์ไม่ได้จำกัดแค่แพลตฟอร์มที่มนุษย์มีปฏิสัมพันธ์และตัดสินใจเอง เริ่มให้เครื่องตัดสินใจให้มากขึ้น ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่เราต้องคิดให้ดี ๆ เพราะต่อจากนี้ไปเทคโนโลยีจะมาเรื่อย ๆ และมาเร็วมาก จนกระทั่งสิ่งที่เราจะต้องตัดสินใจเองก็จะมีน้อยลงเรื่อย ๆ

    “คำถามที่ว่าคุณสมบัติของคนไทยสำหรับอนาคตที่ดีขึ้นจะเป็นอย่างไร ในบริบทที่ 1. การตัดสินใจในการดำรงชีวิตของเราไม่ได้กำหนดโดยตัวเราเอง 2. ความสามารถในการตัดสินใจของเราจะมีมากขึ้นหรือน้อยลงในกรณีที่หลายอย่างเราไม่ได้เป็นคนตัดสินใจเอง ซึ่งผมมองว่าน่าสนใจและเป็นโจทย์สำคัญทั้งในเชิงงานวิจัยและงานวางแผนสำหรับอนาคต”

    ศ. ดร.ผลิน ภู่จรูญ ตั้งคำถามว่าทุกวันนี้คนไทยดูเหมือนเป็น ผู้ตาม (Follower) หรือ “ผู้ใช้ (User) อาจจะไปถึง “ผู้ถูกใช้” เพราะเราไม่ได้เป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม และเทคโนโลยีอาจจะทำให้เราขาดอัตลักษณ์ความเป็นไทยหรือไม่

    ดร.อภิวัฒน์ กล่าวว่า “คำว่า คนไทย 4.0 ไม่สามารถจบอยู่ได้ด้วยประโยคใดประโยคหนึ่ง เราอาจจะมองว่าคำว่า ไทย ยังคิดอยู่กับขอบเขตการปกครองอยู่ ในมุมมองของผมซึ่งอาจจะเป็นจริงหรือไม่ก็ได้ มองว่าคนที่อยู่ในประเทศไทยจะกลายเป็นคนที่มีความหลากหลายมากจนกระทั่งไม่ว่าใครก็ตามที่อยู่ตรงนี้ก็จะเรียกตัวเองได้ว่าเป็นคนไทย ซึ่งเป็นนิยามที่ไม่ได้ผูกติดกับสัญชาติหรือเชื้อชาติ อาจจะเป็นคนไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศแต่ยังสนใจในวัฒนธรรม การใช้ชีวิตแบบไทยอยู่ ซึ่งก้าวข้ามเขตการปกครองของประเทศ ในอีกด้านหนึ่งก็อาจจะมีชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นระยะเวลานานที่แม้ไม่ได้มีสัญชาติไทยแต่ก็ยังคงอาศัยอยู่ เวลาเรามองภาพความหลากหลายของคนเหล่านี้ก็จะทำให้ความเป็นพลโลกของประเทศไทยกว้างกว่าเดิมมาก”

    การที่เราไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีหรือแพลตฟอร์มต่าง ๆ แต่ในฐานะผู้ตามจะมีคำถามว่าเราได้เลือกจริงหรือไม่หรือเราถูกหลอกให้เลือก ซึ่งก็เป็นความท้าทายเพราะในประเทศที่ภาครัฐค่อนข้างเข้มแข็งก็จะสร้างกลไกทางด้านกฎหมายหรือนโยบายต่าง ๆ มากำกับควบคุมเทคโนโลยีได้ดีพอสมควร

    “ผมคิดว่าผู้บริโภคเป็นผู้ตามโดยปกติอยู่แล้ว และผู้บริโภคเลือกเทคโนโลยีที่ตนเองอยากใช้ได้บางส่วน แต่ปัญหาที่มากกว่าการเป็นผู้ตามคือ ด้านกฎระเบียบการควบคุมที่ทำให้เราไม่ได้เป็นเพียงแค่ผู้ตามในเชิงเทคโนโลยี แต่เหมือนเราถูกหลอกให้ใช้เพราะเราไม่มีรัฐหรือใครมาช่วยกำกับดูแลว่าเทคโนโลยีนี้เหมาะสมสำหรับเราหรือไม่ คิดว่าสิ่งนี้เป็นข้อจำกัดของเราที่ทำให้ความเป็นผู้ตามของเราค่อนข้างน่ากลัวอยู่พอสมควร เพราะเมื่อเราเข้าไปสู่แพลตฟอร์มที่เราไม่ได้เป็นเจ้าของเอง อำนาจรัฐก็ไม่สามารถที่จะจัดการอะไรได้เลย”

    ศ. ดร.ผลิน ถามต่อว่าแล้วคุณสมบัติของคนไทยที่ควรจะต้องมีในด้านความสามารถในการใช้เทคโนโลยีอย่างชาญฉลาดควรต้องเป็นอย่างไร

    ดร.อภิวัฒน์กล่าวว่าการพัฒนาทุกอย่างจะมีคนได้และมีคนเสีย แล้วจะทำอย่างไรให้คนที่เสียประโยชน์เพราะเทคโนโลยียังสามารถอยู่ดีมีสุขได้ คุณสมบัติของคนคิดว่ามาจาก 2 ส่วน คือ ส่วนที่ตนเองสามารถสร้างได้คือความพยายาม ความขวนขวาย แต่คิดว่าคุณสมบัติที่พึงประสงค์ของคนไม่ได้เกิดมาจากความพยายามของตนเองเพียงอย่างเดียว ต้องมีระบบของรัฐ สังคม ชุมชน และครอบครัวที่เอื้อให้คนสามารถพัฒนาคุณสมบัติที่พึงประสงค์ได้ โดยให้มีความหลากหลายและเฉพาะตัวจะเป็นทางออกของมนุษย์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม สามารถสร้างความอยู่ดีมีสุขตามที่ตนเองนิยามได้ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่พึงประสงค์ของคนไทยในอนาคต

    “เมื่อเราพูดถึงคุณสมบัติที่พึงประสงค์ของคนไทย มันไม่ใช่แค่เรายกภาระทั้งหมดให้กับคนคนหนึ่งที่จะต้องพัฒนาคุณสมบัตินั้น แต่เป็นหน้าที่ของครอบครัว ชุมชน สังคม และรัฐที่จะสร้างคุณสมบัตินั้นขึ้นมาด้วย ยิ่งคนรุ่นใหม่เป็นปัจเจกภิวัตน์ มนุษย์แต่ละคนต้องรับภาระทุกอย่างและความเสี่ยงด้วยตนเองมากขึ้น ในโลกที่มีความผันผวนมากเราก็จะพะวงอยู่ตลอด แต่ความเป็นปัจเจกก็ยังสามารถที่จะมีชุมชนที่มารองรับตนเองได้ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน สิ่งนี้เป็นพื้นฐานหนึ่งของความเป็นมนุษย์”

    “ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นสำหรับคนไทยในอนาคตคือชุมชน เมื่อคนไทยมีความเป็นปัจเจกมากขึ้นสิ่งที่จะหายไปก็คือชุมชนที่จะมารองรับความเสี่ยงและความผันผวนที่แต่ละคนจะต้องรับภาระมากขึ้น แต่ความเป็นชุมชนไม่ได้มาง่าย ๆ จากการที่แต่ละคนมีเสรีภาพเท่านั้น ทุกคนต้องมีหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่ง ในฐานะที่เป็นสมาชิกของชุมชนที่จะต้องช่วยชุมชนนั้นด้วย”

    ในเชิงแนวคิดผมคิดว่าการสร้างชุมชนเป็นสิ่งสำคัญแต่จะต้องมาพร้อมกับการเปิดให้แต่ละคนมีเสรีภาพและทำตามหน้าที่ที่ตกลงกันในชุมชนนั้น ซึ่งผมคิดว่าเป็นความคิดพื้นฐานที่ควรจะสร้างให้เกิดขึ้นในสังคมไทย