ThaiPublica > เกาะกระแส > จุดประกายสังคมชาญฉลาด : ข้อเสนอ “ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” พัฒนาระบบความร่วมมือ ทลายปัญหาใต้ดิน

จุดประกายสังคมชาญฉลาด : ข้อเสนอ “ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” พัฒนาระบบความร่วมมือ ทลายปัญหาใต้ดิน

30 เมษายน 2023


การระดมความคิด ‘เดินหน้าท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน’ ข้อเสนอการสร้างระบบความร่วมมือและการสื่อสารไปยังทุกภาคส่วน เปลี่ยนวิธีคิดเป็นการท่องเที่ยวมูลค่าสูง ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวทุกกลุ่มและเฉพาะกลุ่ม พัฒนาสิ่งแวดล้อม พร้อมทลายด้านลบ เซ็กซ์ ค้ามนุษย์ ยาเสพติด ฯลฯ เป็นหัวข้อเสวนาภายใต้ “โครงการจุดประกายการเปลี่ยนผ่านจากสังคมเพิกเฉยสู่สังคมชาญฉลาด” เพื่อขับเคลื่อนสังคมไทยให้ ก้าวข้าม ‘กับดัก’ ความเพิกเฉย ด้วยการกระตุ้นให้เกิดการรับรู้และการเสริมการเรียนรู้ในมิติของการทำความเข้าใจกับเงื่อนไขที่ตนและประเทศของตนมีอยู่ โดยการเสวนาในครั้งนี้เป็นการขับเคลื่อนต่อจากงานวิจัยที่ได้รับทุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งช่าติ ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย(Spearhead) ด้านสังคมคนไทย 4.0 โดยมี ศ. ดร.ผลิน ภู่จรูญ ราชบัณฑิตสาขาบริหารธุรกิจ ราชบัณฑิตยสภา และอาจารย์ คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)ในฐานะหัวหน้าโครงการและเป็นผู้ดำเนินการเสวนา

สร้างอัตลักษณ์ไทย ปักหลักคิดทุนมนุษย์สู่ความยั่งยืน

ศ. ดร.ผลิน ภู่จรูญ ในฐานะผู้ดำเนินการเสวนากล่าวว่า หลักการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต้องอาศัย “ระบบความร่วมมือ” และ “การสื่อสาร” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสารผลกระทบเชิงลบ รวมถึงเปลี่ยนวิธีคิดของภาคธุรกิจว่า การท่องเที่ยวไม่ควรมองหาแต่กำไรสูงสุด เพราะสิ่งสำคัญของธุรกิจคือ Create a Better Life for Others และทำเพื่อเราทุกคน

ศ. ดร.ผลิน กล่าวต่อว่า การท่องเที่ยวกลับมาคึกคักอีกครั้งหลังจากการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่สุดท้ายอาจจะวนกลับไปจุดเดิม เพราะเป็นการท่องเที่ยวที่ไม่ยั่งยืน

“ความยั่งยืนต้องเริ่มจากความเท่าเทียม ยกระดับรายได้ ไม่ใช้แรงงานเด็ก มันเป็นพื้นฐานของปรัชญาพอเพียง ขณะเดียวกัน เรากำลังติดกับดักคำว่า “ยั่งยืน” ยั่งยืนมันดีไหม ทั่วโลกใช้ความยั่งยืนเหมือนกันหมด อะไรที่ยั่งยืน…คือจนอย่างยั่งยืนหรือ? ผมไม่อยากใช้คำว่า sustainable แต่ผมชอบคำว่า flourish”

ความยั่งยืนอาจเริ่มจากอัตลักษณ์ของประเทศไทย (identity) ที่ทำให้โลกต้องมาหา แต่ไทยเหมือนจะบอกว่า “มาหาฉันเถอะ ฉันทำได้ทุกอย่าง”

ศ. ดร.ผลิน ภู่จรูญ ผู้อำนวยการกองอำนวยการบริหารงานคณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

ศ. ดร.ผลิน กล่าวต่อว่า วิธีคิดเดิม ๆ จะเปลี่ยนแปลงการท่องเที่ยวได้ยาก ดังนั้น ต้องเริ่มจากเปลี่ยนแนวคิด ทำให้คนอยากมาเที่ยวไทยเพราะอัตลักษณ์และความเป็นไทย อย่างไรก็ตามแม้จะมีงานวิจัยจำนวนมากที่ข้องเกี่ยวกับการท่องเที่ยว แต่งานวิจัยส่วนใหญ่อยู่บนหิ้ง

“หลักคิดสำคัญที่สุดคือเรื่องทุนมนุษย์ ถ้าหลักคิดไม่ดี หรือจัดการไม่ได้ การท่องเที่ยวจะไม่ยั่งยืน เพราะมันตะบี้ตะบัน และไม่ได้ทำเพื่อชุมชนและชาวบ้าน… นักท่องเที่ยวควรมาเที่ยวไทยเพราะอัตลักษณ์ ไม่ใช่เพราะราคาถูก”

เปลี่ยนวิธีคิด เลิกขายเที่ยวไทย ราคาถูก

รศ. ดร.อัครพงศ์ อั้นทอง คณะพัฒนาการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า การท่องเที่ยวเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน แต่มีเป้าหมายคือท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน และสร้างแนวปฏิบัติร่วมกัน

“หลายคนมองว่าการท่องเที่ยวเป็นเหมือนสินค้าเดียว ที่ผ่านมาเราพัฒนาแค่ destination เป็นจุด ๆ แต่ไม่ได้มองทั้งเมือง เวลาคนมาเที่ยวต้องการประสบการณ์ ไม่ได้มาดู แค่ชายหาด แต่คนต้องการบรรยากาศ การยิ้มแย้ม ผมไม่เห็นด้วยที่จะพัฒนาให้ทุกจังหวัดน่าเที่ยว ความน่าเที่ยวมันจะเกิดขึ้น ถ้าบ้านเราน่าอยู่ และต้องมองทั้งระบบทั้งซัพพลายและดีมานด์”

รศ. ดร.อัครพงศ์ กล่าวต่อว่า เราต้องอาศัยการสื่อสารและสร้างความเข้าใจตลอดเวลา อย่าคิดว่าการท่องเที่ยวกลับมาแล้วจะมีแต่ผลประโยชน์ แต่มีผลกระทบด้านลบด้วย

รศ. ดร.อัครพงศ์ กล่าวว่า ประเทศไทยควรเลิกขายของถูก แต่ควรให้ความสำคัญกับตลาดมูลค่าสูง โดยเปลี่ยนจากวิธีการแบบแมสคือตั้งเป้าหมายแค่จำนวนนักท่องเที่ยว 40-50 ล้านคน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ประเทศไทยมีรายได้สุทธิจากการท่องเที่ยวเป็นอันดับ 4 ของโลก แต่นโยบายท่องเที่ยวยังมองที่จำนวนเป็นหลัก

“อยากให้กำหนดนโยบายการท่องเที่ยวบนฐานของการใช้ความรู้และงานวิจัย บางครั้งบอกว่าจะพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน แต่ก็เป็นแค่กระแส ยิ่งกว่านั้นนโยบายยังเปลี่ยนตามนักการเมืองอีก” รศ. ดร.อัครพงศ์กล่าว

รศ. ดร.อัครพงศ์ ย้ำว่าการใช้ความรู้และการจัดการความรู้อย่างเป็นระบบในประเทศ โดยเฉพาะงานวิจัย ระบุว่าท่องเที่ยวจะดึงดูดแรงงานไร้ทักษะ (unskill labour) จากภาคการเกษตรหรืออุตสาหกรรมเข้ามาในภาคการท่องเที่ยว และยังสามารถพัฒนาทักษะแรงงานบางจังหวัดและบางประเภท เห็นได้ชัดจากแรงงานกลุ่มธุรกิจสปา รวมถึงการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้เป็นคนดูแลทรัพยากรการท่องเที่ยว และต้องจัดงบประมาณให้ด้วย

รศ. ดร.อัครพงศ์ อั้นทอง คณะพัฒนาการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยแม่โจ้

“เราต้องจัดการสนิมในโครงสร้างการท่องเที่ยว หนึ่ง อย่าปล่อยให้ดีมานด์ทำแหล่งท่องเที่ยวเสื่อมโทรมหรือภาพลักษณ์เสียหาย สอง กระจายอำนาจให้ชุมชนบางพื้นที่จัดการด้วยตนเอง สาม อย่าเพิกเฉยกับปัญหาด้านลบ และสุดท้าย อย่าพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไป”

“ความท้าทายหลังจากนี้คือรับมือกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป นักท่องเที่ยวจะต้องการความปลอดภัย สุขอนามัยที่ดีมากขึ้น รวมทั้งเอาแต่ใจ ขี้บ่น มีอะไรก็โพสต์ และที่สำคัญต้องให้ความสำคัญกับต้นทุนทรัพยากรธรรมชาติ ผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงความปลอดภัยในประเทศ รวมถึงความท้าทายด้านผลกระทบด้านสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม”

ยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวไทยคือ Trust Economy

ด้าน ผศ.คมกริช ธนะเพทย์ ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “เราไม่สามารถทำการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในประเทศที่ไม่มีความยั่งยืนได้ เพราะท่องเที่ยวต้องใช้คน บางเรื่องเป็นวิธีคิด ความยั่งยืนมันไม่อยู่นิ่ง คนจะเข้ามาในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต้องสร้างความคิดด้านความยั่งยืน ความเป็นธรรม การมีส่วนร่วม”

“ปัญหาต่างๆ ทั้งสิ่งแวดล้อม มันมาจากปัญหาเมือง เราไม่ได้ทำเมืองให้ตอบโจทย์ก่อน แต่เราไปเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยว สุดท้ายปัญหาพื้นฐานมันย้อนกลับไปทำให้การท่องเที่ยวไม่สามารถเติบโตได้”

ดังนั้น 3 คำที่เกี่ยวข้องและเป็นเป้าหมายสำหรับการท่องเที่ยวคือ (1) responsive (2) sustainable และ (3) inclusive

ผศ.คมกริช กล่าวต่อว่า การท่องเที่ยวในไทยมีหลายรูปแบบ เหตุผลที่ไทยรักษาการเป็นเมืองท่องเที่ยวได้เพราะตอบโจทย์ความหลากหลาย เช่น ภูเก็ต เป็น multi destination นักท่องเที่ยวบินลงภูเก็ตแล้วค่อยตัดสินใจว่าจะเที่ยวแบบไหน เพราะในภูเก็ตตอบโจทย์ทุกกลุ่ม และถ้าจะเล่นกับเศรษฐกิจระดับจุลภาค ต้องลงไปถึงการค้าและวัฒนธรรม

อย่างไรก็ตาม ผศ.คมกริช ตั้งคำถามถึงประเด็น sex tourism ว่าเป็นธุรกิจท่องเที่ยวหรือไม่ เพราะถ้าอยู่ในบางประเทศก็ถูกต้อง แต่ระบบการของไทยไปทำให้กิจกรรมที่สัมพันธ์กับการค้ามนุษย์

“สิงคโปร์ไม่ได้บอกว่าตัวเองเป็นเมืองท่องเที่ยว แต่เขามีการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน มีคาสิโน แต่ประชากรไม่มีปัญหาการพนัน แต่บ้านเรามีเศรษฐกิจสีเทา ทั้งการพนัน การล่วงละเมิดทางเพศ ค้ามนุษย์ ท่องเที่ยวเป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง”

“การท่องเที่ยวคือการใช้เวลาในสถานที่ใดที่หนึ่ง ทำไมเราตัดสินใจท่องเที่ยว เพราะการที่คนตัดสินใจออกจากบ้านหรือประเทศแล้วมาอยู่อีกประเทศต้องอาศัยการตัดสินใจ แต่ทั้งหมดมีคีย์เวิร์ดคือ ‘trust’ ทำไมการท่องเที่ยวในระยะแรกถึงต้องพึ่งบริษัททัวร์ เพราะเขาไม่มีข้อมูล และเชื่อทัวร์ แต่วันนี้ข้อมูลเยอะ ฉะนั้น trust อยู่ที่ข้อมูล”

“ไม่ว่าจะอยู่ในธุรกิจสีเทาไหน แต่ถ้าเราสร้าง trust ว่านี่คือคุณภาพที่ดีที่สุดของ sex tourism เราจะการันตีเขาอย่างไร ผมไม่ได้บอกว่าเราขาย sex เขาไม่ได้ แต่ผมบอกว่าแล้วจะการันตีว่าเป็น sex ที่ดีที่สุดบนโลกได้อย่างไร เราไม่เคยมีคำถามในเชิงความน่าเชื่อถือของคุณภาพ เราเป็นประเทศท่องเที่ยวรายได้มหาศาล แต่ไม่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวใดๆ บนโลกนี้เลย มีไฟลต์บิน low cost เต็มไปหมดแต่ไฟลต์ที่ดี มาเลเซียเป็นเจ้าของแอร์เอเชีย กลายเป็นว่าเรามีแต่ space

ผศ.คมกริช ธนะเพทย์ ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ.คมกริช กล่าวต่อว่า การท่องเที่ยวเป็น trust economy ไม่ใช่การตีหัวเข้าบ้าน ที่ผ่านมาเป็นการตีหัวเข้าบ้าน พอนักท่องเที่ยวมาอยู่ใน space ของที่อื่นแล้ว ชีวิตของนักท่องเที่ยวเป็นของคนท้องถิ่น ซึ่งไม่ควรเป็นแบบนั้น เพราะไม่ได้สร้าง trust

ผศ.คมกริช เสริมว่า การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวต้องมียุทธศาสตร์ trust economy และมีแพลตฟอร์มที่ดึงคนทั้งโลกเข้ามา โดยแพลตฟอร์มไม่จำเป็นต้องอยู่แค่ในไทย แต่เราควรเป็นเจ้าของธุรกิจการท่องเที่ยวบนโลก

นอกจากนี้ ผศ.คมกริช ยังกล่าวถึงการบริหารจัดการระดับเมือง โดยเฉพาะเมืองที่มีกิจกรรมการท่องเที่ยวเป็นเศรษฐกิจหลัก ควรมีผู้รับผิดชอบหรือผู้บริหารที่มีอำนาจตรงจากการเลือกตั้งที่เข้าใจปัญหาเชิงพื้นที่

“ภูเก็ตเป็นจังหวัดที่สร้างรายได้และจ่ายให้รัฐกว่าหมื่นล้านต่อปี แต่ไม่มีอำนาจการตัดสินใจ ช่วงโควิดต้องรอนโยบายจากส่วนกลาง มหานครการที่ถูกจัดการโดยเอกชนล้วนๆ ทำให้ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานไม่ถูกแก้ไข เมืองที่มีการท่องเที่ยวเป็นเศรษฐกิจหลักควรมาจากการเลือกตั้ง ‘ผู้ว่า’ ของคนท้องถิ่น เพราะเขาเข้าใจปัญหาเชิงพื้นที่ แต่โมเดลแบบนี้ อาจไม่เกิดขึ้นทุกจังหวัด”

ผศ.คมกริช ทิ้งท้ายว่า ความยั่งยืนส่วนหนึ่งมาจากปัญหาสิ่งแวดล้อม นักท่องเที่ยวคงไม่เปลี่ยนแหล่งที่อยู่ เพื่อรับมลพิษมากขึ้น แต่ปัจจุบันไทยเผชิญปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและมลพิษ ซึ่งเป็นภัยคุกคามหลักที่ต้องจัดการในประเทศ เพราะการท่องเที่ยวที่เป็นเศรษฐกิจสำคัญ แต่ขึ้นอยู่กับมลพิษตลอดเวลา มันก้าวไปไหนไม่ได้ ราคาท่องเที่ยวมันไม่ขึ้น ถ้าคนหายใจไม่เต็มปอด

พัฒนาระบบความร่วมมือ และทลายกิจกรรมสีเทา

ศ. ดร.วรเดช จันทรศร สาขาวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง กล่าวว่า แก่นของการจัดการการท่องเที่ยวคือ “ระบบความร่วมมือ” และ “การสื่อสารไปยังทุกฝ่าย” โดยมีทั้งรับผิดชอบและรับผิด ซึ่งไม่ใช่แค่ราชการ แต่รวมถึงธุรกิจและประชาสังคม ขณะเดียวกันต้องทำลายเป้าหมายเชิงลบ เช่น เซ็กซ์ ยาเสพติด อาชญากรรม การค้ามนุษย์ และการฟอกเงิน ถ้าอยากให้ประเทศไทยเป็น destination เราต้องทำลายปัญหาที่แก้ไม่ตก ซุกใต้พรมไม่ได้อีกต่อไป

ศ. ดร.วรเดช บอกว่า การจัดการต้องมีการสื่อสารไปทุกฝ่าย ไม่ใช่วางแผนแบบราชการในอดีต แต่ต้องสื่อสารถึงคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดทำให้เกิดความร่วมมือ จากนั้นไปเรื่องการออกแบบว่าจะจูงใจให้คนมาท่องเที่ยวหรือมาชุมชนอย่างไร

“ท่องเที่ยวแบบยั่งยืน คืออยากให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่มีคุณค่าและความหมายตลอดไป แต่บางครั้งเราทำวิจัยเชิงท่องเที่ยว เราไม่ได้ทำตามสภาพความเป็นจริงเท่าที่ควร คนมาเลเซียมาไทยเพราะเรื่องเซ็กซ์ ค้ามนุษย์ อาชญากรรม ผมเห็นด้วยว่าเราอยากทำให้มันดี ก็ต้องเน้นท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ กำลังซื้อสูง”

ศ. ดร.วรเดช เสริมว่า การปรับปรุงการวิจัยให้เป็นการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนมันต้องเอาชนะปัญหาด้านลบ อยากให้คนมาเยอะๆ แต่ต้องยอมรับว่าคนมาไทยเพราะอะไร ดังนั้น ควรผลักดัน soft power โดยเฉพาะเทศกาลการท่องเที่ยวต่างๆ เช่น อาหาร กีฬา ดนตรี แฟชั่น ฯลฯ

“ผมคิดว่าการท่องเที่ยวถูกมองข้ามในสิ่งที่ดีเกินไป เรามีแบบการท่องเที่ยวเยอะ แต่ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง จะทำให้ยั่งยืนต้องแก้ปัญหาที่ผุกร่อนของเรา คิดว่าดีๆ แล้วใส่เข้ามา แต่ที่มีปัญหาก็ปล่อย การทำมาหากินของตำรวจที่ได้ประโยชน์จากธุรกิจในทางลบ เหล่านี้ไม่ค่อยเห็นงานวิจัยออกมา อีกทั้งยังมีค้ามนุษย์ เซ็กซ์ องค์กรอาชญากรรม ยาเสพติด โรคระบาด ในภูเก็ต พัทยา หาดใหญ่ เราต้องเอาทางลบมาพูด”

“มีการโฆษณาท่องเที่ยวไทยอยู่เสมอว่า ไทยเป็น destination for all ผมอยากให้มันมี destination for someone ด้วย เป็นสิ่งที่ดี อย่างเรื่อง sport tourism หรือ medical wellness มีโรงพยาบาลอันดับต้นๆ ของประเทศ หรือถ้าอยากแต่งงาน ก็มาไทย”

ศ. ดร.วรเดช จันทรศร สาขาวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง

ศ. ดร.วรเดช ย้ำว่า เรากำลังพัฒนาไปเรื่องที่ดี แต่เราพะวงว่ามันเป็น destination for all ดังนั้น การจะแก้ปัญหาต้องไปเชื่อมกับระบบความร่วมมือ การบังคับใช้กฎหมาย นโยบาย รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน เพราะสุดท้ายชุมชนเป็นตัวกำหนด ที่สำคัญต้องปราบผู้มีอิทธิพลด้วย

บางกรณีมาตรการเชิงนโยบายต้องเด็ดขาดและทะลุทะลวง ขณะเดียวกันต้องมีแรงจูงใจให้นโยบายที่ดี

“อีกภาษาคือ เราจัดการการท่องเที่ยวอย่างไม่มีความรับผิดชอบมาเป็นระยะเวลาพอสมควร บางหน่วยรับผิดชอบอย่างเดียว บางหน่วยก็ไม่รับผิด เพราะถ้าเป็นระบบความร่วมมือต้องพึ่ง ตม. ฝ่ายปกครอง พึ่งภาคธุรกิจ พึ่งชุมชนที่เข้ามาดูเรื่องต่างๆ การจัดการระบบของเราเช่น ตำรวจ ไปทำลายการจัดการการท่องเที่ยวที่มีเจตนาดี ถ้าไม่สร้างระบบการท่องเที่ยวที่ดี ก็ไม่สามารถเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ของประเทศได้ “

ดังนั้น การสื่อสารไม่ใช่โฆษณาชวนเชื่อให้มาประเทศไทย แต่ต้องสื่อสารถึงระบบสังคมและระบบความรับผิดชอบในภาพรวมต่างๆ ซึ่งมันเป็นทั้งจุลภาคและมหภาค และทำอย่างต่อเนื่อง แล้วเจาะที่ความรับผิดชอบเป็นสำคัญ

ศ. ดร.วรเดช กล่าวถึงทางออกว่าต้องแก้ปัญหาคอร์รัปชันในระบบราชการไทย เพราะบางหน่วยงานยังดูแลอบายมุข เนื่องจากมีผลประโยชน์สูง นอกจากนี้ยังมีการพนัน ยาเสพติด ธุรกิจทางเพศ และการร่วมมือการค้ามนุษย์ และทั้งหมดก็จะมาคู่กับการท่องเที่ยว

“การจัดการการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนเป็นระบบของความร่วมมือ ซึ่งจะต้องมีทั้งรับผิดชอบและรับผิด และมีการสร้างภาพลักษณ์ว่าการท่องเที่ยวประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีระบบความรับผิดชอบที่ชัดเจน ไม่ใช่แค่ราชการ แต่รวมถึงธุรกิจและประชาสังคมในระยะยาว ขณะเดียวกันการจัดการการท่องเที่ยวอย่างได้ผล ต้องเข้าใจวัตถุประสงค์และเป้าหมาย ต้องดูถึงประเภทของลูกค้าว่ามีความแตกต่างกัน”

“สุดท้าย ถ้าจะทำให้บรรลุเป้าหมายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ต้องทำให้เราเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวสำหรับทุกคนที่มองส่วนภาพดี ขณะที่เราอยากพัฒนาการท่องเที่ยวแบบสวยหรู แต่ก็ต้องเข้าใจว่าการท่องเที่ยวบ้านเราอยู่ได้ด้วยใคร มีจีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย รัสเซีย เยอรมัน และบางครั้งคนกลุ่มนี้อาจทำให้การท่องเที่ยวถูกฉุดเป็นเรื่องลบ”