เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ผมยินดีต้อนรับคนรุ่นใหม่ เขาสำคัญเสมอสำหรับเมืองไทย เพราะอาจจะนำความคิดหรือกระแสดีๆ ที่ก้าวหน้า มาปรับเปลี่ยนสังคม-การเมืองเดิม
อย่างไรก็ตาม คนรุ่นใหม่ไม่ใช่อะไรที่เพิ่งจะเกิด ที่เห็นกันอยู่ในเวลานี้ อันเป็นผลจากการเปลี่ยนช่วงวัยของประชากรโลก ที่มักจะเรียกเป็น new generation บ้าง เด็กยุค “เบบี้บูม” บ้าง เด็กเจน X เจน เจน Z บ้าง ที่จริงคนรุ่นใหม่มีมานานแล้วในสังคมสยาม
ในยุครัตนโกสินทร์นั้น คนรุ่นใหม่รุ่นแรก น่าจะเป็นพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่สี่ และพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงเป็นเจ้าฟ้าอยู่นั้น ทั้งสองพระองค์ คือ “คนรุ่นใหม่” ที่คิดต่างไปจาก “คนรุ่นเก่า” อย่างแท้จริง ทรงศึกษาภาษาและสรรพวิทยาการของตะวันตกจนใช้การได้จริงๆ และทรงเห็นว่าสังคมสยามจำต้องยอมรับส่วนที่ดีที่ก้าวหน้าของอารยธรรมตะวันตก
ข้อดีของสังคมรัตนโกสินทร์ก็คือ “คนรุ่นเก่า” อันพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นประธานอยู่นั้นอ่อนตัว พลิกแพลงอะลุ้มอล่วย รอมชอม ปรับรับเอาข้อเสนอดีๆ และก้าวหน้าของ “คนรุ่นใหม่” มาใช้ไม่น้อย
คนรุ่นใหม่รุ่นถัดไป ก็เห็นจะเป็นพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ห้า ทรงครองราชย์ตั้งแต่พระชนมายุ 15 พรรษา มีผู้สำเร็จราชการสูงวัย กำกับดูแล เป็นสมเด็จเจ้าพระยาอยู่ถึงสององค์ ทรงเสด็จดูงานต่างประเทศตั้งแต่อายุไม่ถึง 18 ไปหลายประเทศ ทรงตั้งพระทัยจะปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินเสียใหม่ ให้ต่างไปจากสมัยพระราชบิดาเสียอีก สมเด็จเจ้าพระยาแห่งตระกูลบุนนาคนั้นมักไม่เห็นด้วย แต่น่าสังเกต คนทั้งสองวัยก็ไม่ได้ขัดแย้งกัน หรือจำต้องแตกหักกันจนสูญสิ้นซึ่งความสามัคคีของสยามประเทศ
สังคมสยามนั้น สังเกตเถิด คนรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่แทบจะไม่เคยแตกหักกันคน “วันเก่า วันก่อน” มักไม่ได้เป็น “เต่าพันปี” หรือ “ไดโนเสาร์” ส่วน “คนวันใหม่ วัยใหม่” ก็มักไม่ใช่ “ไร้เดียงสา” หรือ “อ่อนหัด-เขลา” เป็นอย่างนี้มานานแล้ว นี่คือจุดแข็งของสยาม ชาติเราจึงปรับตัวมาได้ไม่หยุด ก้าวหน้าขึ้นมาไม่มียั้ง ไม่ได้หยุดนิ่งและ “ล้มเอง” หรือ “ล่มสลาย” ลงจากการกดดันของภายนอก
ขณะเดียวกัน ก็ด้วยเหตุที่เรานับถือยอมรับทั้งความคิดคนแก่และหนุ่มสาว เราจึงมักไม่เปลี่ยนแปลงประเทศอย่างสุ่มเสี่ยง หรือโดยเลือกที่จะถอนรากถอนโคนสังคมเก่า เราจึงมีศิลปะแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติ นุ่มนวล ที่ใช้การได้ดีอยู่เสมอ
การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 น่าสนใจครับ เป็นเหตุการณ์แรก ที่คน “สองวัย” “สองรุ่น” มาแตกหักกัน คณะราษฎรนั้นก็คือ “คนรุ่นใหม่” ส่วน พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นก็คือ “คนรุ่นก่อน” หลังวันที่ 27 มิถุนายน 2475 มีความพยายามที่จะรอมชอมระหว่างคนสองวัย แต่ที่สุดก็ไม่สำเร็จ รัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติ แต่มาถึงวันนี้ ยังสรุปยากว่า “เหตุการณ์ 2475” นั้น คนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ ใครผิดใครถูกแน่ ผิดแค่ไหน ถูกแค่ไหน และการที่คนสองรุ่น สองวัย รอมชอมกันไม่ได้หลัง 2475 นั้น นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ดีพอไหม หรือเราได้ระบอบประชาธิปไตยที่ลงตัวมาหรือไม่
การอธิบายสังคมไทยด้วยเรื่องคนรุ่นเก่า-รุ่นใหม่ ยังใช้ได้ดีในการอธิบายถึงสาเหตุของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516-2519 นักศึกษา-ปัญญาชน ก็คือคนหนุ่มคนสาว คือเยาวชน คือคนรุ่นใหมนั่นเอง ส่วนจอมพลถนอมและจอมพลประภาส ก็คือคนรุ่นเก่า
ผมเองก็เคยเป็นคนรุ่นใหม่ครับ เคยเป็นเยาวชน และตระหนักเสมอว่าคนรุ่นใหม่สำคัญ ประเด็นสำคัญคือไม่มีใครผูกขาดความเป็นคนรุ่นใหม่ได้ คนรุ่นใหม่ไม่ได้เพิ่งมี มีมานานแล้ว นานมากแล้ว บางช่วงก็ไม่อาจนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง หากแต่หลายช่วงหลายระยะก็เปลี่ยนแปลงได้ มากบ้าง น้อยบ้าง แต่ที่ปฏิเสธได้ยากก็คือ ในสยามหรือในไทยนั้น ประวัติศาสตร์มักจะเปลี่ยนแปลงแบบไม่หักโค่น คนสองรุ่น เก่า-ใหม่ มักไม่ห้ำหั่นกัน ตรงข้าม มักจะต่อรองกดดันพลาง แต่ก็ปรองดองไปเจรจาไปพลางด้วย หรือ บ่อยครั้งก็กลับมาปรองดอง รอมชอมกันได้เสมอ
หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊ก เอนก เหล่าธรรมทัศน์ AnekLaothamatas