ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup ฮุน มาเนตพก MoU 15 ฉบับกลับกัมพูชา จากเยือนจีนอย่างเป็นทางการครั้งแรก

ASEAN Roundup ฮุน มาเนตพก MoU 15 ฉบับกลับกัมพูชา จากเยือนจีนอย่างเป็นทางการครั้งแรก

17 กันยายน 2023


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 10-16 กันยายน 2566

  • ฮุน มาเนตพก MoU 15 ฉบับจากเยือนจีนอย่างเป็นทางการครั้งแรกกลับกัมพูชา
  • WTO ชี้กัมพูชาเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการผลิตเทคโนโลยีสูงระดับโลก
  • เวียดนามส่งออกข้าว 6 ล้านตันในรอบ 8 เดือน
  • กัมพูชามั่นใจส่งออกข้าวได้ 1 ล้านตันภายในปี 2568
  • ต้นทุนค่าแรงต่ำยังเป็นแรงดึงดูดที่ธุรกิจสนใจเวียดนาม
  • เวียดนาม-สหรัฐชูเทคโนโล นวัตกรรม การลงทุนเสาหลักใหม่ยุทธศาสตร์ความร่วมมือ
  • ลาวใช้ซอฟต์โลนกระตุ้นเศรษฐกิจเติบโต
  • ฮุน มาเนตพก MoU 15 ฉบับกลับกัมพูชาจากเยือนจีนอย่างเป็นทางการครั้งแรก

    นายกรัฐมนตรีกัมพูชาและนายกรัฐมนตรีตรวจแถวกองทหารเกียรติยศในระหว่างเยือนจีนอย่างเป็นทางการ ของดร.ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรกัมพูชา ที่มาภาพ: https://www.phnompenhpost.com/national/official-visit-yields-15-new-mous-between-cambodia-china

    กัมพูชาและจีนได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) 15 ฉบับ รวมถึงแผนปฏิบัติการเพื่อสร้างประชาคมแห่งอนาคตร่วมกันระหว่างจีนและกัมพูชาในปี 2567-2571 จากการเปิดเผยผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของนายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต

    ดร.ฮุน มาเนต ได้เป็นประธานในการลงนาม ระหว่างเยือนจีนอย่างเป็นทางการครั้งแรกระหว่างวันที่ 14-17 กันยายน และการพบปะกับนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียงของจีนในวันที่ 15 กันยายน หลังจากเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกัมพูชา

    ในระหว่างการพบปะกับนายหลี่ เฉียง ดร.ฮุน มาเน็ตเชิญชวนจีนให้พิจารณาโครงการความมั่นคงด้านพลังงาน การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และส่งเสริมกรอบความร่วมมือยุทธศาสตร์ 5 เหลี่ยม ตลอดจนผลักดันการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว

    ดร.ฮุน มาเน็ตกล่าวว่า กัมพูชาพร้อมที่จะดำเนินโครงการทั้งหมดที่ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันไว้ และจะริเริ่มโครงการใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศและประชาชน ขณะที่นายหลี่ เฉียง ก็แสดงความมุ่งมั่นในทำนองเดียวกัน

    นายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศให้คำมั่นว่าจะสานต่อความร่วมมือและสนับสนุนซึ่งกันและกันในเวทีระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ

    รัฐบาลจีนประกาศว่า นายหลี่ เฉียงได้เน้นย้ำเจตจำนงของจีนที่จะยกระดับความร่วมมือด้านยุทธศาสตร์การพัฒนากับกัมพูชา บังคับใช้กลไกคณะกรรมการประสานงานระหว่างรัฐบาลในปัจจุบัน และยกระดับความร่วมมือในด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม เศรษฐกิจ และการค้า เพื่อให้บรรลุผลในทางปฏิบัติ

    การพบปะกันครั้งนี้เป็นที่สองระหว่างดร.ฮุน มาเน็ตและนายหลี่ เฉียงในรอบสองสัปดาห์ หลังจากพบกันที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 6 กันยายน ระหว่างการประชุมอาเซียนและจีน

    ดร.ฮุน มาเน็ตยังได้พบกับนายจ้าว เล่อจี้ ประธานคณะกรรมการถาวรประจำสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) ชุดที่ 14 ในวันเดียวกัน ในระหว่างการประชุม นายจ้าว เล่อจี้แสดงความยินดีกับ ดร.ฮุน มาเน็ต ที่ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งระดับชาติเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP)คว้าเสียงข้างมาก

    ดร.ฮุน มาเน็ตกล่าวกับนายจ้าว เล่อจี้ว่า ชัยชนะของ CPP สะท้อนให้เห็นถึงความไว้วางใจของประชาชนต่อพรรคและประธานพรรค ซึ่งได้แก่ อดีตนายกรัฐมนตรีฮุนเซน รวมทั้งสนับสนุนผู้นำคนใหม่เพื่อนำประเทศเข้าสู่ยุคใหม่

    ดร.ฮุน มาเน็ตเรียกร้องให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันมากขึ้นของรัฐสภาของทั้งสองประเทศ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านนิติบัญญัติ โดยเฉพาะในหมู่สมาชิกสภานิติบัญญัติรุ่นใหม่ ซึ่งนายจ้าว เล่อจี้รับไว้พิจารณา

    “โดยสรุป กัมพูชาและจีนมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันในฐานะเพื่อนที่ดีเยี่ยมที่ไว้วางใจได้ และป้องกันการแทรกแซงจากภายนอก” แถลงการณ์ทางโซเชียลมีเดียของนายกรัฐมนตรี ระบุ

    ทีมาภาพ: https://www.information.gov.kh/articles/113729

    นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ยังย้ำว่า รัฐบาลชุดใหม่ของกัมพูชาจะยังคงพยายามยกระดับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและบรรยากาศการลงทุนของประเทศโดยการลดต้นทุนและปรับปรุงประสิทธิภาพของการขนส่งและโลจิสติกส์

    “เป้าหมายของเราคือการเพิ่มผลิตภาพเพื่อตอบสนองความต้องการของนักลงทุนทุกคน” นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ดร.ฮุน มาเน็ต กล่าวในพิธีเปิดงานแสดงสินค้าอาเซียน-จีน ครั้งที่ 20 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงของจีน วันที่ 17 กันยายน

    กัมพูชายังยืนยันความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชนทุกฝ่ายในภูมิภาคเพื่อสนับสนุนกิจกรรมการค้าที่ช่วยจัดการกับความท้าทายในระดับภูมิภาคและระดับโลก ดร.ฮุน มาเน็ตยังเน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของการค้าในการรับมือกับความท้าทายระดับโลก เพื่อให้แน่ใจว่าการพึ่งพาซึ่งกันและกันและได้ประโยชน์จากโลกาภิวัตน์ร่วมกัน และไม่ควรใช้การค้าเป็นอาวุธทำลายความมั่นคงทางเศรษฐกิจโลก

    ดร.ฮุน มาเน็ต กล่าวว่า การระบาดของโควิดทำให้โลกพลิกผัน การเคลื่อนไหวของผู้คนลดลง แต่การเคลื่อนย้ายสินค้ายังคงขยายตัวดี โดยชี้ว่าในปี 2564 และ 2565 การค้าสินค้าสูงกว่าระดับก่อนเกิดโรคระบาด สะท้อนถึงถึงบทบาทที่สำคัญของการค้า ในการเป็นหลักประกันความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้คนทั่วโลก

    หลังการแพร่ระบาดผ่านพ้นไป โลกยังคงเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ เช่น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น ความไม่มั่นคงด้านอาหาร และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในแง่นี้ อาเซียนและจีนเป็นผู้เล่นหลัก เสามารถแสดงให้โลกเห็นตัวอย่างถึงผลประโยชน์ที่จับต้องได้ของการเสริมสร้างความร่วมมือพหุภาคี โดยไม่ต้องพึ่งพาลัทธิกีดกันทางการค้า ลัทธิเอกภาคี หรือลัทธิชาตินิยมทางเศรษฐกิจ

    “นับจากนี้ไป อาเซียนและจีนจำเป็นต้องเสริมสร้างความร่วมมือและการพึ่งพาซึ่งกันและกันด้วยการเปิดตลาดและยกระดับการเชื่อมต่อ ความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทาน กำลังการผลิตที่เชื่อมโยงกับอุปทาน และการอำนวยความสะดวกทางการค้า เรายังต้องทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมการลงทุนแบบสองทาง นอกจากนี้ เราควรเสริมสร้างการสนับสนุนด้านเทคนิค โดยเฉพาะในการปฏิบัติตามข้อกำหนดและความต้องการของตลาด การสนับสนุนดังกล่าวจะช่วยให้แน่ใจว่าประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงจากการเปิดตลาดอันเป็นผลมาจากกลไกการค้าพหุภาคี” ดร. ฮุน มาเนต กล่าว

    WTO ชี้กัมพูชาเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการผลิตเทคโนโลยีสูงระดับโลก

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/501360935/wto-says-cambodia-now-part-of-global-high-tech-production-networks/

    กัมพูชา บังกลาเทศ โรมาเนีย และเวียดนาม ได้ก้าวออกจากห่วงโซ่อุปทานที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ ไปสู่เครือข่ายการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงระดับโลก จากการเปิดเผยขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization) กล่าว

    ในรายงานการค้าโลกประจำปี World Trade Report ที่เผยแพร่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา WTO ระบุว่า กัมพูชามีอัตราการนำเข้าสินค้าเติบโตเร็วที่สุดในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจที่นำมาประเมินระหว่างปี 2553 ถึง 2564 โดยในแง่ของการส่งออกสินค้า กัมพูชาอยู่ในอันดับที่ 5

    การนำเข้าของกัมพูชาเติบโตเฉลี่ย 13.0% ต่อปีในช่วงเวลาดังกล่าว เวียดนามอยู่ในอันดับที่สอง (11.8%) รองลงมาคือมาเก๊า (11.0%) กายอานา (9.8%) บรูไน (9.7%) เนปาลและกินี (8.9%) นิการากัวและลาว (8.6%) และบังคลาเทศ (8.2%)

    การส่งออกของกัมพูชาขยายตัวเฉลี่ย 12.4% ต่อปีในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งต่ำกว่ากินี (18.7%) รวันดา (15.5%) กายอานา (13.5%) และเวียดนาม (13.1%) แต่ในบรรดาประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในสิบอันดับแรก การส่งออกของกัมพูชาขยายตัวเร็วกว่าคองโก (12.0%) มองโกเลีย (11.0%) ไซปรัส (10.4%) ลาว (9.9%) และเซียร์ราลีโอน (8.6%)

    สำหรับช่วงสั้นๆ ระหว่างปี 2553 ถึง 2563 การมีส่วนร่วมของกัมพูชาในห่วงโซ่คุณค่าระดับโลก ซึ่งวัดจากมูลค่าเพิ่มจากต่างประเทศในการส่งออก บวกกับมูลค่าเพิ่มในประเทศในการส่งออกของประเทศอื่น ๆ เพิ่มขึ้น 11.1%

    กัมพูชาเพิ่มขึ้นเป็นอันดับสองรองจากเวียดนามที่เติบโต 13.3% ส่วนประเทศอื่นๆ ในสิบอันดับแรก ได้แก่ ไอร์แลนด์ (8.1%), ลิทัวเนีย (6.5%), โรมาเนีย (6.1%), ลักเซมเบิร์ก (5.7%), โปแลนด์ (5.2%), จีน (5.0%), บัลแกเรีย (4.8%) และคอสตาริกา (4.1%)

    องค์การการค้าโลกชี้ว่า การเติบโตที่รวดเร็วที่สุดในการส่งออกและนำเข้าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานั้น “แทบจะทั้งหมด” ของประเทศกำลังพัฒนา

    “ในขณะที่การเติบโตส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากฐานที่ต่ำ แต่เศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น เวียดนาม กัมพูชา หรือตุรกี ก็มีการค้าเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งเช่นกัน และชี้ให้เห็นว่าระบบการซื้อขาย ยังคงมุ่งกระจายความเสี่ยงมากขึ้น”

    กัมพูชาได้กลายมาเป็นศูนย์กลางการผลิต โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และอาหารเกษตร

    รายงานระบุว่าประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางถึงล่างมีบทบาทต่อการส่งออกทั่วโลกมากขึ้น โดยมีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นจาก 17% ในปี 2544 เป็น 31% ในปี 2564

    ห่วงโซ่คุณค่าระดับโลกกำลังขยายตัวเช่นกัน “ทั้งในแง่ของผลิตภัณฑ์และเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง” “การปฏิวัติทางดิจิทัลทำให้เกิดความเชี่ยวชาญเพิ่มเติมในกิจกรรมการบริการทางธุรกิจและบริการนอกอาณาเขต

    “บังกลาเทศ กัมพูชา โรมาเนีย และเวียดนาม ซึ่งก่อนหน้านี้มีความเชี่ยวชาญในห่วงโซ่อุปทานที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ เช่น สิ่งทอและเครื่องแต่งกาย ได้เข้าสู่เครือข่ายการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงระดับนานาชาติ

    WTO ระบุว่าต้นทุนการค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และยุโรปตะวันออกลดลงอย่างมากระหว่างปี 2549 ถึง 2561

    “ตัวเลขเหล่านี้ลดลงมากกว่า 25% ในกัมพูชา บัลแกเรีย อินเดีย เมียนมาร์ โปแลนด์ โรมาเนีย และเวียดนาม อย่างไรก็ตาม แม้ว่าส่วนต่างจะลดลง แต่ต้นทุนการค้าในประเทศกำลังพัฒนายังคงสูงกว่าในประเทศที่มีรายได้สูงเกือบ 30%” รายงานระบุ

    ด้วยความก้าวหน้าทางดิจิทัล “ไม่มีเหตุผลใดที่การค้าจะไม่เป็นแหล่งที่มาของความเจริญรุ่งเรืองและการลดความยากจนเหมือนที่มีมานานหลายทศวรรษ หากนโยบายและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมช่วยให้สามารถบูรณาการการค้าและโลกาภิวัตน์ใหม่(re-globalisation) ต่อไปได้” รายงานสรุป

    “อย่างไรก็ตาม ความท้าทายสำหรับการปรับโลกาภิวัตน์ใหม่คือการสร้างรายได้ทั่วโลกเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการช่วยให้เศรษฐกิจโลกมีความยืดหยุ่น ครอบคลุม และยั่งยืนมากขึ้น หากเป็นการตอบโต้เรื่องราวที่มองจากภายใน

    เวียดนามส่งออกข้าว 6 ล้านตันในรอบ 8 เดือน

    ที่มาภาพ: https://vietnamnet.vn/en/ministry-building-long-term-strategy-on-rice-exports-market-stabilisation-2178636.html

    เวียดนามส่งออกข้าว 6 ล้านตันในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ รวมมูลค่า 3.2 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้น 21% และเพิ่มขึ้น 35% ในแง่ของปริมาณเมื่อเทียบเป็นรายปี จากการเปิดเผยของกรมศุลกากรเวียดนาม

    โดยมีผู้ซื้อเป็นประเทศในเอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกาตะวันตก ฟิลิปปินส์ยังคงเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุด โดยซื้อข้าวมูลค่าเกือบ 1.23 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบเป็นรายปี ตามมาด้วยจีนด้วยมูลค่า 452 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 67.9%

    อินโดนีเซียไต่อันดับจากอันดับที่ 8 ในปีที่แล้วมาอยู่ในสามอันดับแรก โดยมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น 1,505% เป็น 718,266 ตัน และมีมูลค่า 361.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

    สมาคมอาหารเวียดนาม (Vietnam Food Association:VFA) ระบุว่า หลายประเทศได้ซื้อข้าวเพิ่มขึ้นเนื่องจากเกรงว่าจะอุปทานในตลาดโลกจะขาดแคลน

    ในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา หลังจากที่อินเดียสั่งห้ามส่งออกข้าวเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม การส่งออกของเวียดนามก็เพิ่มสูงขึ้น

    หลังจากการห้ามของอินเดียหนึ่งสัปดาห์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และรัสเซียก็ประกาศว่าจะหยุดส่งออกข้าว และหลายประเทศแห่กันไปซื้อที่เวียดนาม ส่งผลให้ราคาข้าวพุ่งสูงขึ้นเช่นกัน

    นอกจากการห้ามส่งออกแล้ว ยังมีสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ภัยแล้ง และน้ำท่วม ซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตข้าวในหลายประเทศ VFA ระบุ

    อินโดนีเซียมีการซื้อแล้วเตรียมซื้ออีก หลังจากซื้อข้าวจากเวียดนามและไทยเมื่อต้นปี ได้ประกาศแผนการนำเข้า 2 ล้านตัน เพื่อประกันความมั่นคงด้านอาหาร และรับมือกับปรากฏการณ์เอลนีโญ ล่าสุดได้ปรับตัวเลขเป็น 2.4 ล้านตัน และภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมมีการนำเข้าประมาณ 1.4 ล้านตัน

    ผู้อำนวยการของบริษัทส่งออกข้าวในเมืองเกิ่นเทอ สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง กล่าวว่า อินโดนีเซียชอบข้าวเวียดนามเนื่องจากมีคุณภาพสูง

    เมื่อวันที่ 11 กันยายน อินโดนีเซียประกาศว่าจะซื้อข้าวขาวหัก 5% จำนวน 300,000 ตันจากเวียดนาม ไทย ปากีสถาน และกัมพูชา และธุรกิจต่างๆ ในอินโดนีเซียก็เสนอที่จะเพิ่มปริมาณข้าวที่ซื้อจากบริษัทเช่นกัน

    ประเทศอื่นๆ เช่น เซเนกัล โปแลนด์ กานา และกาบอง ยังได้เพิ่มการนำเข้าข้าวเวียดนาม เนื่องจากไม่สามารถซื้อจากอินเดียได้ และการผลิตในประเทศได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง

    ที่มาภาพ:https://e.vnexpress.net/news/business/industries/soaring-global-demand-drives-rice-exports-higher-4652682.html

    ในช่วงที่เหลือของปี เวียดนามคาดว่าจะส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีคำสั่งซื้อจำนวนมากจากตลาดใหม่หลายแห่ง อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกมีความกังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนข้าวเนื่องจากอุปสงค์ทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น และข้าวอาจจะไม่พอกับความต้องการ

    ในการเสวนาที่เมืองเกิ่นเทอเมื่อเดือนที่แล้ว เหวียน เวียด อันห์ ผู้อำนวยการทั่วไปของบริษัท Orient Food And Packaging Co. Ltd ได้อ้างข้อมูลจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอัตราส่วนสินค้าคงคลังต่อการบริโภคของเวียดนามอยู่ที่เพียง 11% เทียบกับระดับที่แนะนำที่ 22%

    อัตราส่วนนี้ลดลงเหลือเพียง 8.5% หลังจากที่อินเดียสั่งห้ามส่งออกข้าว

    ในเดือนนี้ธุรกิจจำนวนมากที่ส่งออกข้าวไปยังฟิลิปปินส์กล่าวว่า เกษตรกรและผู้ค้าได้ขอยกเลิกสัญญาหรือขยายสัญญาหลายครั้ง เนื่องจากรัฐบาลได้กำหนดเพดานราคาข้าวไว้

    ในช่วงต้นสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งราคาส่งออกและราคาในประเทศได้ลดลง โดยราคาส่งออกลดลง 15 เหรียญสหรัฐฯต่อตันจากสัปดาห์ที่แล้ว และราคาในประเทศลดลง 100-600 ด่องต่อกิโลกรัม

    นักเศรษฐศาสตร์คาดว่า ราคาข้าวทั้งในประเทศและของโลกจะปรับตัวขึ้น และผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า แม้เวียดนามจะเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกข้าวชั้นนำ แต่ประเทศควรให้ความสำคัญกับการจัดการกับความท้าทายในปัจจุบันและระยะยาว รวมถึงความท้าทายด้านความมั่นคงทางอาหาร และการส่งเสริมข้อได้เปรียบของภาคส่วนข้าว

    นาย ฮ่วาง จุง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทกล่าวว่า เวียดนามยังคงมีพื้นที่ทำนาได้ 7.1 ล้านเฮกตาร์ในแต่ละปี โดยมีผลผลิต 43-43.5 ล้านตัน พื้นที่ปลูกข้าวจะขยายตัว จากสภาวะตลาดมีผลดีต่อราคา

    นอกจากนี้ยังย้ำถึงความจำเป็นในการส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจและเกษตรกรเพื่อสร้างห่วงโซ่การผลิตและสร้างผลผลิตในภูมิภาค ซึ่งจะทำให้การผลิตและการขายสอดคล้องกัน

    กัมพูชามั่นใจส่งออกข้าวได้ 1 ล้านตันภายในปี 2568

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/501344884/cambodia-to-export-125000-tonnes-of-rice-to-indonesia/
    กัมพูชาส่งออกข้าวของประเทศที่สูงถึงกว่า 400,000 ตันในช่วง 8 เดือนแรกของปี ซึ่งส่งผลให้จะบรรลุเป้าหมายในการส่งออกข้าว 1 ล้านตันต่อปีภายในปี 2568 ความก้าวหน้าที่สำคัญทำให้อุตสาหกรรมข้าวของกัมพูชามีแนวโน้มในทางบวกจากปัจจัยหลายประการ

    กระทรวงพาณิชย์ของกัมพูชารายงานว่า อินโดนีเซียวางแผนที่จะนำเข้าข้าวจากกัมพูชาจำนวน 250,000 ตันต่อปี ซึ่งจะช่วยทำให้กัมพูชาบรรลุเป้าหมายการส่งออกภายในปี 2568 เจ้าหน้าที่ของรัฐจากทั้งสองประเทศพร้อมที่จะลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) ว่าด้วยการค้าข้าว ที่จะมีผลในปี 2567 ข้อตกลงที่เป็นประโยชน์ร่วมกันนี้จะปูทางไปสู่การค้าข้าวที่เพิ่มขึ้นระหว่างกัมพูชาและอินโดนีเซียในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

    นอกจากอินโดนีเซียแล้ว ประเทศอื่นๆ เช่น ฟิลิปปินส์ ยังแสดงความสนใจนำเข้าข้าวจากกัมพูชาอีกด้วย ความหลากหลายของตลาดข้าวที่มีศักยภาพนี้ช่วยเพิ่มความมั่นใจของกัมพูชาในการบรรลุเป้าหมายการส่งออกที่คาดหวังไว้สูง สหพันธ์ข้าวกัมพูชา ( Cambodian Rice Federation:CRF) รายงานว่ากัมพูชาส่งออกข้าวจำนวน 401,699 ตันไปยัง 56 ประเทศและดินแดนในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคมปีนี้ ซึ่งคิดเป็น 58% ของแผนการส่งออกประจำปี 2566 สะท้อนถึงการเติบโตอย่างมากในการค้าข้าวของกัมพูชา

    เพ็ญ สุวิเชฐ โฆษกกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา กล่าวถึงโอกาสการส่งออกของกัมพูชาว่า ความต้องการข้าวกัมพูชาที่เพิ่มขึ้นจากประเทศต่างๆ เช่น อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ทำให้มั่นใจว่าสามารถจัดส่งข้าวไปต่างประเทศได้ 1 ล้านตันภายในปี 2568 ซึ่งสิ่งที่สุวิเชฐกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มเชิงบวกจากรัฐบาลกัมพูชาและผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม เนื่องจากคาดการณ์ว่าการค้าข้าวจะขยายตัวในปีต่อๆ ไป

    ความมุ่งมั่นของกัมพูชาในการขยายภาคการส่งออกข้าวมีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จในช่วงที่ผ่านมา

    การดำเนินการต่างๆ เช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต การลงทุนในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรให้ทันสมัย ​​และการใช้มาตรการควบคุมคุณภาพ ได้เพิ่มขีดความสามารถในการผลิตข้าวของประเทศ นอกจากนี้ ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อันเป็นเอกลักษณ์ของกัมพูชา พื้นที่อุดมสมบูรณ์ และสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกข้าว ทำให้เป็นแหล่งที่น่าสนใจสำหรับประเทศผู้นำเข้า

    อุตสาหกรรมข้าวของกัมพูชากำลังอยู่บนเส้นทางที่จะบรรลุเป้าหมายอันทะเยอทะยานในการส่งออกข้าว 1 ล้านตันต่อปีภายในปี 2568 เพราะอินโดนีเซียตั้งใจที่จะนำเข้าข้าวในสัดส่วนสูงจากกัมพูชา และประเทศอื่น ๆ ที่แสดงความสนใจในการจัดหาข้าวจากกัมพูชา อนาคตจึงดูสดใส ในขณะที่ประเทศยังคงลงทุนในภาคเกษตรกรรมและสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าที่เข้มแข็ง กัมพูชาจึงอยู่ในตำแหน่งที่ดีที่จะกลายเป็นผู้เล่นหลักในตลาดข้าวโลก

    “ความต้องการข้าวกัมพูชาที่เพิ่มขึ้นจากประเทศต่างๆ เช่น อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ทำให้เรามั่นใจว่าเราสามารถจัดส่งข้าว 1 ล้านตันไปต่างประเทศได้ภายในปี 2568” เพ็ญ สุวิเชฐ กล่าว

    ต้นทุนค่าแรงต่ำยังเป็นแรงดึงดูดที่ธุรกิจสนใจเวียดนาม

    ที่มาภาพ: https://vietnam.travel/places-to-go/southern-vietnam/ho-chi-minh-city
    การสำรวจล่าสุดโดยธนาคาร HSBC ของอังกฤษพบว่า ต้นทุนค่าแรงที่ต่ำและความสามารถในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เวียดนามมีความน่าดึงดูดสำหรับการขยายธุรกิจ

    โดย 28% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ได้ระบุถึงทั้งสองปัจจัย ในการตอบแบบสำรวจที่เผยแพร่ในเดือนนี้ในรายงาน HSBC Global Connections Report

    “แรงงานที่มีทักษะ” และ “รายได้ของผู้บริโภคในประเทศที่เพิ่มขึ้น” เป็นปัจจัยที่ผู้ตอบแบบสอบถามระบุถึงข้อละ 27%

    ขณะที่ 26% ระบุว่าเวียดนามเป็น “ตลาดขนาดใหญ่ที่จะขยายขนาดได้อย่างรวดเร็ว”

    “ผู้มีอำนาจตัดสินใจทางธุรกิจจากบริษัทจีนและอินเดียมีแนวโน้มที่จะเน้นถึงโอกาสในการขยายธุรกิจ อย่างรวดเร็วในตลาดขนาดใหญ่ของเวียดนาม โดย 32% และ 41% ชี้ไปที่ปัจจัยนี้”

    ธุรกิจในอินเดียยังชี้ถึงโอกาสในการพัฒนาและทดสอบผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นใหม่ๆ โดย 45% บอกว่าข้อนี้ดึงดูดให้เข้ามาในประเทศ

    หนึ่งในสี่ของธุรกิจทั้งหมดยังเห็นถึง ความได้เปรียบในด้านโครงสร้างประชากรและประชากรวัยหนุ่มสาวของเวียดนาม

    ความสำคัญของเวียดนามในการค้าโลกสะท้อนให้เห็นจากความสนใจอย่างมากในข้อตกลงการค้าเสรี โดยบริษัท 63% ในการสำรวจตั้งใจที่จะใช้ข้อตกลงการค้าระหว่างสหภาพยุโรปและเวียดนาม ซึ่งมีเป้าหมายในการยกเลิกภาษี 99%

    การสำรวจได้สำรวจบริษัท 3,000 แห่งที่มีผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ในเวียดนามในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/business/economy/low-labor-costs-among-top-reasons-for-businesses-interest-in-vietnam-survey-4653066.html

    ในจำนวนนี้ 27% (880 ธุรกิจ) มีการดำเนินงานในเวียดนามแล้ว และมากกว่าครึ่งหนึ่งกำลังให้ความสำคัญกับการเติบโตในเวียดนามในอีกสองปีข้างหน้า ในบรรดาบริษัทที่ไม่มีการดำเนินงานในเวียดนามนั้น 13% กำลังวางแผนที่จะเข้าสู่เวียดนามในอีกสองปีข้างหน้า

    นอกจากนี้ยังมีความท้าทายหลายประการที่ทำให้เวียดนามไม่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนต่างชาติ บริษัทออสเตรเลียมองไปที่ปัญหาทางวัฒนธรรม โดย 40% ระบุว่าเคยเผชิญกับปัญหาเหล่านี้ในเวียดนาม

    บริษัทในสหรัฐฯ (32%) และฮ่องกง (34%) กล่าวว่า การปรับตัวให้เข้ากับกฎระเบียบเป็นความท้าทายหลัก

    โดยทั่วไปธุรกิจระหว่างประเทศมักกังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนทักษะ อุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดที่จะมีความยั่งยืนมากขึ้น คือ ความสามารถในการจ้างพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน ตามข้อมูลจากผู้ตอบแบบสอบถาม 37%

    เวียดนาม-สหรัฐชูเทคโนโล นวัตกรรม การลงทุนเสาหลักใหม่ยุทธศาสตร์ความร่วมมือ

    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/vietnam-us-agree-to-turn-investment-innovation-into-important-pillar-of-new-partnership/267743.vnp

    นายกรัฐมนตรีฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ ของเวียดนามและประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดน ของสหรัฐฯ เห็นพ้องกันเมื่อวันที่ 11 กันยายนที่จะเปลี่ยนเทคโนโลยี นวัตกรรม และการลงทุนให้เป็นเสาหลักใหม่ที่สำคัญ อย่างแท้จริงของความร่วมมือทางยุทธศาสตร์รอบด้านที่จัดวางใหม่ของประเทศ

    ทั้งสองฝ่ายมีฉันทามติในระหว่างการประชุมระดับสูงว่าด้วยการลงทุนและนวัตกรรมระหว่างทั้งสองประเทศในกรุงฮานอย ระหว่างการเยือนเวียดนามของผู้นำสหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 10-11 กันยายน ตามคำเชิญของนายเหงียน ฝู จ่องเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม

    นายเหงียน จี ดุง รัฐมนตรีกระทรวงวางแผนและการลงทุนของเวียดนาม และนายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งทำหน้าที่ประธานร่วมกล่าวว่า การยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีให้เป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมเพื่อสันติภาพ ความร่วมมือ และการพัฒนาที่ยั่งยืน ในระหว่างการเยือนจะสร้างโอกาสและศักยภาพใหม่ ๆ สำหรับทั้งสองประเทศและธุรกิจของแต่ละประเทศ พื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการลงทุน โดยเฉพาะในด้านนวัตกรรม

    นอกจากนี้ยังได้แนะให้ธุรกิจใช้ประโยชน์จากความตกลงนี้ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือ และก่อให้เกิดประโยชน์ไม่เพียงแต่ธุรกิจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประชาชนของทั้งสองประเทศด้วย

    กระทรวงและภาคส่วนต่างๆ ของประเทศจะดูแลให้มีเงื่อนไขที่เหมาะสมสำหรับธุรกิจของสหรัฐฯ และเวียดนาม เพื่อให้การลงทุนและการทำธุรกิจประสบความสำเร็จ มีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาคและระดับโลกที่ยั่งยืน และช่วยสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับทั้งสองประเทศ

    ในระหว่างเสวนา ธุรกอจของเวียดนามและสหรัฐฯ ได้หารือเกี่ยวกับโอกาสความร่วมมือด้านการลงทุน โดยมุ่งเน้นไปที่ 4 ด้านหลัก ได้แก่ เทคโนโลยีและนวัตกรรม การลงทุนด้านการผลิต บริการทางการเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน และการค้าและบริการ

    นายกรัฐมนตรีฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญของการเยือนของประธานาธิบดีไบเดน คือ การส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นศูนย์กลางการพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนาม โดยเน้นถึงการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนที่มุ่งเน้นนวัตกรรมเป็นก้าวสำคัญ จุดสนใจ และแรงผลักดันสำหรับความสัมพันธ์ทวิภาคี

    นายกรัฐมนตรีชี้ว่าเขา และประธานาธิบดีสหรัฐฯ เห็นตรงกันที่จะเปลี่ยนเทคโนโลยี นวัตกรรม และการลงทุนให้เป็นเสาหลักใหม่ที่สำคัญอย่างแท้จริงของความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมของประเทศ และเห็นด้วยกับมุมมองของประธานาธิบดีไบเดนที่ว่า นวัตกรรมเป็นกุญแจสำคัญสู่อนาคตของประเทศ โดยเรียกร้องให้ธุรกิจกิจของทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญกับการลงทุนในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ การเติบโตสีเขียว พลังงานทดแทน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การต่อสู้และเศรษฐกิจหมุนเวียน

    ลาวใช้ซอฟต์โลนกระตุ้นเศรษฐกิจเติบโต


    ธนาคารแห่งสปป.ลาว (BOL) ได้จัดสรรเงิน 4.5 ล้านล้านกีบ(225 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ตามนโยบายสินเชื่อเพื่อสนับสนุนธุรกิจในท้องถิ่น ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มการผลิตในประเทศและจัดการกับความท้าทายทางเศรษฐกิจที่กำลังประสบ

    การออกมาตรการทางการเงินนี้สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลลาว ในการลดการนำเข้าและสนับสนุนกำลังการผลิตของอุตสาหกรรมในประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของการส่งออก ช่วยฟื้นฟูทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของประเทศที่ลดลง และจะช่วยทำให้เงินกีบลาวแข็งค่าขึ้นและลดอัตราเงินเฟ้อ

    ภายใต้นโยบายที่มีผลใช้จนถึงปี 2568 ธนาคารกลางจะปล่อยกู้ธนาคารพาณิชย์ในอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อปีที่ 2.5% โดยที่ธนาคารพาณิชย์สามารถคิดดอกเบี้ยสูงสุด 6% จากลูกค้าที่สามารถขอสินเชื่อได้สูงสุด 5 พันล้านกีบ

    จากการประกาศนโยบายล่าสุด ธนาคารแห่งสปป.ลาว ได้จัดสรรเงินจำนวน 100 พันล้านกีบแต่ละปีให้กับเวียงจันทน์ จำปาสัก และสะหวันนะเขต และ 80 พันล้านกีบ ให้กับแต่ละจังหวัดอื่นๆ อีกหลายจังหวัด

    ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ป่าไม้ อุตสาหกรรม การพาณิชย์ ข้อมูล วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว สามารถยื่นขอสินเชื่อนี้ได้ นอกจากนี้ ธุรกิจการเกษตรและป่าไม้จะได้รับการส่งเสริมให้ขอความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ รวมถึงการเพาะปลูกพืชผลระยะสั้น การเลี้ยงสัตว์ และการปลูกไม้ผลและโรงงานอุตสาหกรรม เช่น ยางพารา ยูคาลิปตัส และไม้กฤษณา

    ภาคอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ยังสามารถขอรับการสนับสนุนทางการเงินสำหรับการแปรรูป โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ตลอดจนสิ่งของจำเป็นในการก่อสร้าง บรรจุภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ และหัตถกรรม ธุรกิจบริการและการต้อนรับ รวมถึงโรงแรม สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยว โครงการปรับปรุงถนน ผู้ดำเนินการทัวร์ และผู้ให้บริการผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยว อาจเป็นผู้สมัครที่มีศักยภาพสำหรับโครงการเงินกู้นี้

    นอกจากนี้ เพื่อลดแรงกดดันทางการเงินต่อชาวลาว เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ธนาคารแห่งสปป.ลาว ได้ดำเนินนโยบายการให้สินเชื่อของรัฐบาล โดยจัดสรร 2.5 ล้านล้านกีบ เพื่อลดต้นทุนดอกเบี้ยสินเชื่อธุรกิจที่ได้เงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ

    ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลลาวได้ออกมาตรการหลายประการเพื่อรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจและการเงิน รวมถึงการออกพันธบัตรชุดที่สามมูลค่า 3 ล้านล้านกีบเมื่อเร็วๆ นี้ การขายพันธบัตรนี้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมของรัฐบาลในการรับมือและบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ