ThaiPublica > ประเด็นร้อน > BCG in Action > “ไทยพลาสติก รีไซเคิล” สร้าง BCG จากฐานราก “อุ้มซาเล้ง-ผลิตวัตถุดิบรีไซเคิล” ช่วยไทยแข่งขันตลาดโลก

“ไทยพลาสติก รีไซเคิล” สร้าง BCG จากฐานราก “อุ้มซาเล้ง-ผลิตวัตถุดิบรีไซเคิล” ช่วยไทยแข่งขันตลาดโลก

30 สิงหาคม 2023


นายพงษ์ศักดิ์ จึงรุ่งเรืองวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยพลาสติก รีไซเคิล กรุ๊ป จำกัด

‘ขยะพลาสติก’ ที่ไร้ค่าและเป็นต้นตอปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ หรือ Climate Change และปัจจุบันโลกก็ยังไม่มีทางออกอย่างเป็นรูปธรรมว่า เราควรจะแก้ปัญหาพลาสติกอย่างยั่งยืนได้อย่างไร

แม้วันนี้ขยะพลาสติกส่วนใหญ่ กลายเป็นของมีค่าสำหรับการนำกลับมาใช้ใหม่ในระบบ circular economy

ด้วยพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยทำให้ขยะพลาสติกมีปริมาณสูงถึงปีละ 2 ล้านตัน (ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) แม้จะมีการรณรงค์จากภาครัฐและภาคเอกชนสนับสนุนให้มีการ ‘แยกขยะ’ ก่อนทิ้ง ทว่าในทางปฏิบัติ ทั้ง 2 วิธีการอาจไม่เพียงพอที่จะนำไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวได้ เพราะปัญหาพลาสติกต้องแก้ที่ต้นทางและการรีไซเคิลให้กลับมาใช้ใหม่

นายพงษ์ศักดิ์ จึงรุ่งเรืองวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยพลาสติก รีไซเคิล กรุ๊ป จำกัด หรือ TPR ให้สัมภาษณ์กับไทยพับลิก้าว่า บริษัทดำเนินธุรกิจบนแนวคิดของ BCG Model (Bio, Circualr, Green)โดยเฉพาะในมิติของตัว C คือ Circular Economy ด้วยการหมุนเวียนวัสดุที่มีอยู่แล้วมาสร้างมูลค่าเพิ่มโดยต่อยอดจาก ‘ขยะพลาสติก’ เป็น ‘เม็ดพลาสติก’ ได้ประโยชน์ทั้งธุรกิจและสังคม-สิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือช่วยลดความรุนแรงของวิกฤติสิ่งแวดล้อมโลกอย่าง climate change

“ขยะพลาสติกคือตัวร้าย หน้าที่เราคือเอาผู้ร้ายเข้ามาให้ธรรมะ ขัดเกลาจิตใจ เอาของเสียออกมา เปลี่ยนจากของเน่าเป็นของดี ‘เราเปลี่ยน PET กลายเป็นเพชร’ ทำให้มันสะอาดมันก็เหมือนเพชร กลับมาอยู่ในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน”

เว็บไซต์ของ TPR ระบุว่า บริษัทมีส่วนร่วมจัดการขยะพลาสติกใช้แล้ว สูงสุดประมาณ 30,000 ตันต่อปี หรือเทียบเท่า 1,500 ล้านขวดต่อปี หรือช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก 37,500 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

โดยเป้าหมายของ TPR คือ “เพิ่มมูลค่าสินค้ารีไซเคิล ให้ทัดเทียมกับเม็ดพลาสติกใหม่” พร้อมกับยึดหลักการทำงานแบบ “3S & 2D”

  • Social-ด้านสังคม
  • Story-ภาพลักษณ์องค์กร
  • Standard-มาตรฐานการทำงาน
  • Digital-ดิจิทัลและนวัตกรรมในการทำงาน
  • Design-การออกแบบที่ร่วมมือกับพันธมิตรภาครัฐและเอกชน
  • นายพงษ์ศักดิ์บอกว่า “ตอนผมทำเว็บชื่อ ไทยพลาสติก รีไซเคิล (Thai Plastic Recycle) เข้าใจว่าถ้าต่างประเทศจะหาพลาสติกรีไซเคิล เจาะประเทศไทย ก็ต้องมีเวิร์ดดิ้งว่า ‘ไทย’ แล้วเขาจะเอาอะไร เหล็ก ทองคำ ทองแดง หรือ ‘พลาสติก’ แต่พลาสติกแปลได้หลายอย่าง ทั้งเม็ดใหม่ เม็ดเก่า หรือรีไซเคิล ผมเลยใส่คำว่า ‘รีไซเคิล’ เข้าไป หากลับหัวกลับหางหรือโต๊ดยังไง สลับยังไงก็เจอผม”

    บริษัท ไทยพลาสติก รีไซเคิล กรุ๊ป จำกัด หรือ หรือ TPR เริ่มดำเนินกิจการตั้งแต่ปี 2545 ในรูปแบบธุรกิจครอบครัว และจัดตั้งในรูปแบบบริษัทจำกัด ปี 2558 ดำเนินธุรกิจการแปรรูปพลาสติกใช้แล้ว ด้วยการรับซื้อขวดพลาสติก PET จากร้านค้าของเก่าทั่วประเทศ และนำมารีไซเคิลได้ผลิตภัณฑ์เกล็ดพลาสติก (rPET FLAKES) เพื่อเป็นวัตถุดิบ (Raw Material) ส่งป้อนให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งอุตสาหกรรมเส้นใยสังเคราะห์ แผ่นฟิล์มพลาสติก PET กล่องพลาสติก PET และส่งออกเกล็ดพลาสติกไปยังประเทศออสเตรเลีย เยอรมัน ดูไบ โปแลนด์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ปากีสถาน จีน มาเลเซีย และพม่า เป็นต้น

    “ปี 2570 อียูจะมีเรื่องภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ถ้าใช้เม็ดพลาสติกที่ผลิตใหม่ 100 เปอร์เซ็นต์จะโดนกำแพงภาษี แต่ถ้ามีเม็ดพลาสติกที่รีไซเคิลจะโดนภาษีลดลง ดังนั้นธุรกิจของเราคือช่วยเขา เอาขยะที่จะต้องไปฝังกลบหรือเข้าเตาเผาไปแปรรูปเป็นวัตถุดิบใหม่ ส่งให้ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เอาของเราไปผสม เพื่อสร้างกลไกแข่งขันในตลาดโลก…หมายความว่าถ้าไม่มีเรา อุตสาหกรรมอื่นจะไม่มีวัตถุดิบรีไซเคิลผสมเพื่อส่งออก”

    ตัวอย่างผลิตภัณฑ์หลังจากรีไซเคิล

    ท่ามกลางปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกที่ยังไม่มีความคืบหน้าในการแก้ไขนัก ทำให้ทุกประเทศต้องปรับตัว รวมถึง TPR ก็เติบโตขึ้นจากคลื่นดังกล่าว แต่ในสายตาของ “พงษ์ศักดิ์ จึงรุ่งเรืองวัฒนา” กลับมองว่า อุตสาหกรรมรีไซเคิลในประเทศไทยยังสามารถเติบโตได้มากกว่านี้หากภาครัฐปลดล็อกบางสิ่งบางอย่าง รวมถึงขับเคลื่อนอย่างเข้มข้นและเอาจริงเอาจัง ไม่ใช่ออกนโยบายมาแล้วให้ภาคธุรกิจดำเนินการกันเอง

    “ฉลากขวด” อุปสรรคสู่ BCG ที่ภาครัฐไม่เด็ดขาด

    “BCG คือการสร้างอิมแพคให้ฐานรากมีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช่น ซาเล้งเก็บของเก่า เก็บจากขวดเก่าเป็นขวดใหม่ แล้วขวดใหม่ (ใช้แล้ว) เป็นขวดเก่า แต่จะ circular ได้กี่รอบขึ้นกับนโยบายของภาครัฐ”

    ที่ผ่านมามีเวทีประชุมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ และตนเคยเสนอปัญหาขยะที่แก้ไม่ตกเรื่อง ‘ฉลาก’ ที่รายใหญ่บางรายยังใช้อยู่และเป็นวัสดุที่ไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้ ได้หารือว่าสามารถเปลี่ยนไปใช้วัสดุอื่นแทนที่สามารถรีไซเคิลได้หรือไม่ ถ้าทำได้ก็จะทำให้กระบวนการรีไซเคิลทำได้ 100 % จริงๆ แต่ปัญหานี้ไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาอย่างจริงจัง สุดท้ายฉลากจึงกลายเป็นขยะ ที่ส่งผลกระทบหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านสิ่งแวดล้อม-การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การกำจัดด้วยวิธีการเผา ตลอดจนต้นทุนในการบริหารจัดการของผู้ประกอบการรายเล็ก

    “ผมไม่กล้าพูดร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า TPR เป็น zero waste เพราะติดปัญหาเรื่องฉลาก…ผมไม่กล้าตอบข้างนอกเสียงดังๆ แต่เราแยกและมีคนมารับฉลากดังกล่าวไปเข้าเตาเผาแทน ซึ่งเป็นภาระในการจัดการ”

    ตามวงจรธุรกิจรับซื้อของเก่า ขวด 1 ใบจะประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลักคือ ขวด ฝาขวด และฉลาก โดยปัจจุบันขวดและฝาขวดที่ผ่านการคัดแยกและล้างจนสะอาดแล้วสามารถนำไปรีไซเคิลต่อได้ แต่ปัญหาคือฉลากประเภท PVC (โพลีไวนิล คลอไรด์)ที่ยังไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้

    นายพงษ์ศักดิ์พูดถึงฉลาก PVC ว่า ผู้ผลิตเครื่องดื่มชาเขียวมักจะใช้ฉลากประเภทนี้ในการห่มหุ้มขวดให้ดูขุ่นน่ารับประทาน ซึ่งเป็นเหตุผลเรื่องความสวยงาม แต่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและสิ่งแวดล้อม เนื่องจาก PVC ยังไม่สามารถต่อยอดเป็นเม็ดพลาสติกได้

    นายพงษ์ศักดิ์ให้เหตุผลว่า บริษัทไม่กล้าบอกว่าเป็น zero waste เพราะสุดท้ายบริษัทต้องส่งฉลากให้กับโรงงานผลิตไฟฟ้า เพื่อเผาให้เกิดพลังงาน แต่ผลที่ตามมาคือก๊าซเรือนกระจก ส่วนผู้ประกอบการรายย่อยบางรายมักจะเอาฉลากไปแอบทิ้งตามจุดต่างๆ เพราะเขารู้ว่า PVC ไม่มีมูลค่า

    “ผมยอมรับว่าเหมือนให้เขาฟรี ไม่ต้องจ่ายค่ารถ เหมือนให้ฟรี แต่ถ้าส่งไปโรงงานเผาขยะผมต้องจ้างรถ ต้นทุน 2.5 – 3 บาทต่อกิโลกรัม เราเลยส่งมอบให้โรงงานเผาขยะ ประโยชน์คือพลังงานไฟฟ้า แทนที่ 1 ขวดแล้วผมจะรีไซเคิลได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าไม่ใช่ PVC ผมสามารถรีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติกได้ เดือนละประมาณ 3,600,000 บาท ผมจะได้เม็ดพลาสติกขายโรงงานกะละมัง-ถ้วย-ชาม คิดดูว่าจะมีมูลค่าเข้ามาในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอีกเท่าไร”

    ถัดมาที่ ‘ขวด’ ทุกวันนี้บริษัทสามารถบริหารจัดการได้ 100% แต่จุดแข็งที่ทำให้ TPR ได้เปรียบรายอื่นๆ คือกระบวนการล้างที่ใช้น้ำบริสุทธิ์ และนำน้ำเสียกลับมาบำบัดได้ 100% เช่นกัน

    นายพงษ์ศักดิ์อธิบายว่า ในกระบวนการรีไซเคิลที่ TPR ทำ จะได้ผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า ‘เส้นด้ายยาว’ เป็นข้อแตกต่างจากผู้ประกอบการรายเล็กที่่ผลิตได้แต่ ‘เส้นด้ายสั้น’ ทั้งเส้นด้ายสั้นและยาวสามารถนำไปต่อยอดเป็นแพคเกจจิ้งต่างๆ ได้ แต่เส้นด้ายสั้นเป็นตลาดที่มีการแข่งขันอย่างดุเดือด (red ocean) เพราะต้นทุนต่ำ ใช้คนงานเพียง 3-4 คน การผลิตไม่เน้นความสะอาด และมีการปล่อยน้ำเสีย

    แต่ TPR พยายามออกจากตลาดเส้นด้ายสั้น โดยการพัฒนา know-how การลงทุนเครื่องจักรและพัฒนากระบวนการล้างด้วยน้ำบริสุทธิ์ ทำให้มีความเสถียรในการผลิตจนมียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

    ส่วน ‘ฝาขวด’ สามารถรีไซเคิลได้แล้ว 100% โดย นายพงษ์ศักดิ์ให้ข้อมูลว่า ในอดีตฝาขวดไม่สามารถสร้างมูลค่าได้ เนื่องจากมีฝาพลาสติกประเภท PP (ฝาขวดน้ำอัดลมและชาเขียว) ถึง 50% เมื่อรวมกับฝาพลาสติกประเภท PE (ขวดน้ำดื่มทั่วไป) อีก 50% จะไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มาก ทำให้มีราคาขายเพียง 6 – 7 บาทต่อกิโลกรัม

    แต่หลังจากที่บริษัทเข้าไปให้ความเห็นต่อผู้ผลิตน้ำอัดลมรายใหญ่ จึงมีการปรับเปลี่ยนฝาขวดน้ำอัดลมจาก PP เป็น PE ทำให้ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนฝา PP และ PE อยู่ที่ 10:90 ตามลำดับ จนสามารถรีไซเคิลได้ในที่สุดเพราะมีการเจือปนที่น้อยลง และสามารถขายได้สูงถึง 20 บาทต่อกิโลกรัม

    BCG ต้องมาจากฐานราก “ซาเล้ง” เส้นเลือดฝอยแห่ง “อุตสาหกรรมรีไซเคิล”

    นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวต่อว่า แนวคิด BCG ต้องการให้ฐานรากเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่สำหรับธุรกิจรับซื้อของเก่า คำว่า ‘ฐานราก’ ในที่นี้จึงหมายถึง ‘ซาเล้ง’ ซึ่งเป็นหนึ่งในซัพพลายเชนของธุรกิจ ดังนั้นบริษัทจึงต้องหาแนวทางขับเคลื่อนส่วนนี้ไปพร้อมกับภาพใหญ่ด้วย

    ปัจจุบัน TPR ไม่รับซื้อวัตถุดิบจากรายย่อยที่รวมถึงซาเล้ง ด้วยเหตุผลที่ว่า ‘ไม่ต้องการกินรวบ’ ภายในโรงงานจึงไม่มีสเตชั่น-จุดรับซื้อ และต้องการให้รายย่อยไปขายกับร้านรับซื้อของเก่า เพราะสุดท้ายร้านเหล่านั้นก็จะมาขายให้บริษัทในที่สุด

    “Circular Economy คือการอยู่ร่วมกัน มีซาเล้งหรือพ่อบ้านแม่บ้าน ขนขวดมา 5 ถึง 10 กิโลกรัม ผมก็บอกพี่ครับ มีร้านขายของเก่าตรงนี้นะ พี่ไปขายตรงนี้ดีกว่า เดี๋ยวเขาก็มาหาผมเอง เพราะเราเชื่อว่า ถ้าจับปลาในมหาสมุทร แล้วเราเอาปลาเล็กปลาสร้อยหมด คนอื่นจะอยู่อย่างไร แต่เราคัดเฉพาะปลาไซส์กลางหรือใหญ่ ที่เหลือปล่อยให้คนอื่นบ้าง ถึงจะอยู่แบบยั่งยืน”

    เมื่อพูดในเชิงอุตสาหกรรม นายพงษ์ศักดิ์บอกว่า บ้านเรามีวัฒนธรรมรับซื้อของเก่าที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย เพราะมีทั้งคนซื้อ คนกิน คนทิ้งขยะ ยิ่งกว่านั้นคือมีคนเก็บขยะเป็นอาชีพ มีซาเล้งที่รวบรวมขยะตามครัวเรือน ซึ่งเป็น ‘เส้นเลือดฝอย’ ของเศรษฐกิจไทย ตลอดจนมีธุรกิจรีไซเคิลตั้งแต่ไซส์เล็ก กลางและใหญ่

    นายพงษ์ศักดิ์เล่าว่า ซาเล้งไม่ได้ทำงานแค่เก็บขวดอย่างเดียว แต่เขายังแยกประเภท และต้องคิดคำนวณต้นทุนว่าร้านไหนให้ราคาดีกว่า ในแต่ละปีซาเล้งเป็นผู้รวบรวมขวดพลาสติกทั่วทั้งประเทศได้มากถึง 6,000 ล้านขวดให้เข้ามาอยู่ในระบบรีไซเคิล

    อย่างไรก็ตาม ประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศจะไม่ได้มีเส้นเลือดฝอยในการขับเคลื่อนการรีไซเคิลพลาสติก เพราะมีการใช้หลักเกณฑ์ที่ชื่อ ERP (Extended Producer Responsibility) ซึ่งเป็นเครื่องมือในการจัดการขยะและส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยจะกำหนดความรับผิดชอบให้ผู้ผลิตต้องเป็นผู้เก็บกลับมา 100% ไม่ว่าจะเป็นการเก็บโดยตรง หรือจ้าง outsource ก็ตาม กระทั่งบางประเทศก็ใช้วิธีตั้งตู้รีไซเคิล โดยสนับสนุนให้ประชาชนนำขยะมาทิ้ง และแลกเป็นแต้มหรือของรางวัล

    แต่นายพงษ์ศักดิ์มองต่างว่ากระบวนการ ERP บริบทที่ผู้ผลิตเป็นผู้เก็บกลับคืนทั้งหมดไม่ควรเกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะถ้ารายใหญ่ลงมาเล่นในสนามนี้ จะเป็นการฆ่าเส้นเลือดฝอยทั้งหมด นั่นหมายถึงการทำลายวัฒนธรรมการรีไซเคิลแบบไทยๆ ด้วย

    “ถ้ากฎระเบียบนี้ออกมา ผมไม่เห็นด้วยทั้งหมด เพราะมันฆ่าซาเล้งหมด ถ้าผู้ผลิตเก็บกลับหมด ซาเล้งจะอยู่อย่างไร ถ้าบอกว่าตั้งกองทุนมาบริหารการจ้างเก็บ แต่การจ้างเก็บแสดงว่าจะไม่พึ่งซาเล้ง โดยการตั้งตู้หยอดขวดหน้าเซเว่น-ตามปั๊มน้ำมัน แล้วซาเล้งจะคุ้ยได้เหรอ”

    นายพงษ์ศักดิ์มองว่า ต่อให้มีรายใหญ่ตั้งตู้หยอดขวดใช้แล้วในไทย ก็ไปไม่รอด เพราะตู้คือศัตรูของคนในพื้นที่ ไปขัดผลประโยชน์กับเจ้าที่ ทุกพื้นที่ มีผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ดังนั้นไม่มีใครยอมให้ตู้แบบนี้มาขวางรายได้ แล้วสุดท้ายตั้งไปเจอก้อนหิน ขวดแก้ว ในวัฒนธรรมรีไซเคิลในไทยเป็นแบบนี้ แต่ละจุดมีผู้รักษาประโยชน์ของตัวเอง

    “คำถามคือ คุณจะไปฆ่าเส้นเลือดฝอยทำไม ซาเล้งมีเยอะ ซาเล้งเป็นหัวใจหลัก…ต้องยอมรับว่า ถ้าเขาไม่มีรายได้ส่วนนี้ มันจะกระทบเป็นลูกโซ่”

    นายพงษ์ศักดิ์ จึงรุ่งเรืองวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยพลาสติก รีไซเคิล กรุ๊ป จำกัด

    นายพงษ์ศักดิ์เสนอว่า ภาครัฐควรทำ 3 สิ่งโดยใช้เงินของกองทุนฯ ที่จะตั้งขึ้นใหม่ คือ (1) ขึ้นทะเบียนให้ซาเล้งทุกรายให้สามารถติดตามได้ (2) ใช้ data เข้ามาช่วยบริหารจัดการพลาสติกทั้งประเทศ และ (3) อัพสกิล-ทักษะที่จำเป็นในอนาคต

    “ผมเสนอว่า นโยบาย ERP แทนที่จะจ้างคนมาเก็บ ให้ซาเล้งทำ เก็บ data เพราะร้านของเก่าเป็นผู้คุมปริมาณขยะที่เข้ามาแต่ละวันว่ารับซื้อต่อวันเท่าไร และแบ่งเปอร์เซ็นต์เท่าไร แล้วให้ซาเล้งทุกคนขึ้นทะเบียน และถ้าคุณสามารถติดอาวุธให้เขา ซาเล้งจะเป็นเอสเอ็มอีที่แข็งแรงมาก ประเทศที่พัฒนาแล้วไม่มีร้านของเก่า รัฐต้องแบกรับภาระนี้ ถึงเราเป็นประเทศกำลังพัฒนา แต่ทำไมเราไม่รักษาอัตลักษณ์โดยให้ทักษะซาเล้ง เปลี่ยนจากถีบซาเล้งเป็นมีช็อป ภาพจะเปลี่ยนไป ขณะเดียวกันอาจจะมีร้านของเก่าใส่สูท ซาเล้งใส่สูท เป็นเถ้าแก่ รัฐก็ไม่ต้องนั่งดูแล แบบนี้มันยั่งยืน”

    นอกจากนี้ บทบาทของโรงงานรีไซเคิลและผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ก็สามารถช่วยเหลือซาเล้งได้ โดยไปพูดคุยและความรู้ สอนทักษะ และทำเป็นนโยบายกับรายย่อย ให้คัดแยกขวด เอาขวดสารเคมีออก ถ้าทำได้ก็จะได้เงินมากขึ้น โดยนายพงษ์ศักดิ์ บอกว่า วิธีการนี้คือการให้รางวัลแบบ “ผ่องถ่ายความมั่งคั่ง”

    BCG ต้องร่วมกันทำ

    ด้านความยั่งยืน เว็บไซต์ของ TRP ระบุว่า บริษัทดำเนินการ 3 ด้านคือ ธุรกิจ สังคม และชุมชน-สิ่งแวดล้อม

    • ด้านธุรกิจ บริษัทได้รับรองมาตรฐานจากภาครัฐ ได้แก่ ใบรับรองระบบบริหารงานคุณภาพ ปี 2021, มาตรฐานอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 2 ปี 2022, ฉลากสิ่งแวดล้อมสำหรับผลิตภัณฑ์หมุนเวียน ปี 2022 และพัฒนาการใช้เทคโนโลยีในการควบคุมการบริหารจัดการ พร้อมทั้งใช้ระบบสารสนเทศ ERP ในการทำงานเกิดการเชื่อมโยงของข้อมูลมีความถูกต้อง ครบถ้วน รวดเร็ว และตรวจสอบได้
    • ด้านสังคม บริษัทมีมาตรการการรักษาและป้องกันโรคระบาดโควิด-19 บริษัทมีการปฏิบัติตามข้อกำหนดของรัฐบาล และมีการคำนึงถึงสุขภาพอนามัยของพนักงาน ส่งผลให้บริษัทสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องมีการปิดโรงงาน และยังเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นสังคม Circular Economy มีการเชื่อมโยงในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของการดำเนินการโดยการร่วมมืออันดีกับคู่ค้า ลูกค้า และผู้รับเหมาต่างๆ โดยการปฏิบัติอย่างตรงไปตรงมากับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
    • ด้านชุมชนและสิ่งแวดล้อม บริษัทมีการบำบัดน้ำเสียจากการผลิตอย่างมีมาตรฐาน และสามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ในกระบวนการผลิตได้ทั้งหมด มีการบำบัดดินตะกอนจากบ่อบำบัดน้ำเสียอย่างมีระบบ นอกจากนี้ยังโครงการปรับปรุงกากอุตสาหกรรมโรงงาน โดยนำเอาดินตะกอนจากบ่อบำบัดน้ำเสียมาปรับปรุงคุณภาพผ่านการเลี้ยงไส้เดือน ได้รับการรับรองจาก Central Lab ว่ามีความปลอดภัย ไม่มีสารพิษตกค้าง และมีค่าสารจำเป็นสำหรับการเพาะปลูก (ค่า NPK) ที่เหมาะสม สามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านการเกษตร โดยร่วมมือกับโรงเรียน ชุมชนในพื้นที่ และภาคสังคม

    นายพงษ์ศักดิ์เสริมว่า circular ไม่ใช่แค่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มาจากของเสียเท่านั้น แต่ circular ที่แท้จริงต้องครอบคลุมถึงการบริหารจัดการภายในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานที่ได้รับจากภาครัฐ ความไว้เนื้อเชื่อใจจากคู่ค้า การดูแลพนักงาน ตลอดจนการตรวจสอบย้อนกลับ

    “ถ้าเราทำเป็นแบบนี้ได้ คนจะให้คุณค่าเรา มันอาจช่วยซาเล้ง หรือทำให้แนวคิดภาครัฐให้เข้าใจความสำคัญของฐานราก และจุดประกายกับเอสเอ็มอีเล็กๆ ว่า ถ้าซาเล้งทำถูกต้องก็มีโอกาสเติบโตเหมือนเราได้เหมือนกัน และทำให้ประเทศไทยเป็นระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ตามโลกที่พัฒนาแล้วได้”

    นายพงษ์ศักดิ์กล่าวถึงความยั่งยืนในมุมองค์กรว่า “การทำให้ ecosystem ของ BCG เกิดขึ้นได้ ต้องทำทั้งกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ต้องพิสูจน์ตั้งแต่กระบวนการแยก ล้าง จนออกมาเป็นเส้นด้ายพลาสติก เพื่อให้มาตรฐานตาม อาทิมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)กำหนด ในการนำขวดPET กลับมาใช้ใหม่ สำหรับใส่อาหาร”

    “สมมติเราส่งเสริมให้เพื่อน 3 คนผ่านการรับรองจาก อย. วันข้างหน้าเวลาเสนอนโยบาย เราจะมีคอนเนคชั่นในการคุยและต่อรองแบรนด์ใหญ่ที่ใช้พลาสติก เช่น ฉลาก PVC นี้เราไม่ต้องการ เพราะทำให้ต้นทุนสูง มีการสูญเสีญเท่านี้ๆ เจ้าของแบรนด์ดังกล่าวช่วยลดได้ไหม ถ้าไม่ลดเราก็อาจจะไม่รับยี่ห้อนี้”

    “วันข้างหน้าเรามีวัตถุดิบที่ดี มีพาร์ทเนอร์และคอนเนคชั่นที่ดี เราแค่หาเพื่อนที่มีเทคโนโลยีมาจับมือกัน ผมมีวัตถุดิบ คุณมี know how คุณมีตลาด มีคอนเนคชั่น ก็ร่วมกันได้ แต่ถ้าผมลุยคนเดียวมันเหนื่อย เรารู้ว่าเราอยู่น่านน้ำไหน ชวนเขามาดีกว่า และให้หลายภาคส่วนมาช่วยกัน นี่คือความยั่งยืน”

    จากวิธีเถ้าแก่ สู่ระบบ data หัวใจบริหารธุรกิจรีไซเคิลอย่างยั่งยืน

    นายพงษ์ศักดิ์บอกว่า เขากำลังทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ climate change แต่การจะผลักดันสิ่งแวดล้อมไม่สามารถทำคนเดียวได้

    “ถ้าคิดว่าเป็นพระเอกคนเดียว ไม่มีทางเกิด เรื่องสิ่งแวดล้อม ต้องให้หลายคนมาร่วมกัน ต่างคนต่างรับผิดชอบส่วนที่ถนัด ผมรู้ว่าโมเดลธุรกิจพลาสติก การจัดการสิ่งแวดล้อมเป็นพระเอกคนเดียวไม่ได้ และผมไม่เชื่อว่ามีพระเอก บิล เกตส์ ยังทำไม่ได้ มันต้องหลายคนช่วยกัน ผลคือทุกคน win win ไปด้วยกัน คนรับรู้ได้ คือผู้บริโภคจะเลือกสนับสนุนแบรนด์ไหน เราแค่ภูมิใจในส่วนที่เราทำ คือผลิตมารองรับอุตสาหกรรมเปลี่ยนผ่านวัสดุรีไซเคิลเพื่อแข่งขันในเวทีโลก มีการผสมเพื่อลดต้นทุน เอาขยะมาหมุนเวียนใหม่”

    อย่างไรก็ดีธุรกิจรับซื้อของเก่า-ธุรกิจรีไซเคิล ขึ้นชื่อว่าปราบเซียน หากไม่เก๋าเกมและไม่ทันคน จะไม่สามารถอยู่รอดได้ เพราะมีปัญหาตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ภายในองค์กร ต้นทุนการผลิต คอร์รัปชัน ไปจนถึงเรื่องทุนที่สถาบันการเงินมักไม่ปล่อยกู้ให้ธุรกิจประเภทนี้

    นายพงษ์ศักดิ์เล่าว่า ทุกวันนี้เอสเอ็มอีรายเล็กไม่กล้าทำเหมือน TPR เพราะต้นทุนที่บิดเบี้ยว บางทีอยู่ได้ มีกำไร แต่กำไรชีวิต ไม่โตไปกว่านี้ หนักกว่านั้นคือกำลังไปได้ดี แต่ผังเมืองเปลี่ยนเป็นอุตสาหกรรมเป็นสีเขียว ก็ต้องย้ายไปชานเมืองหรือต่างจังหวัด

    “ธุรกิจนี้เกี่ยวข้องกับหลายอย่าง ตั้งแต่การตรวจรับของเก่า มีคอร์รัปชันทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการประมูลบ่อขยะ เวลาลงเอาขยะลงจากรถ เขาเก็บของดีๆไปก่อน เข้าบ่อ เช่น พลาสติก กระป๋อง อลูมิเนียม แล้วที่เหลือรัฐรับไปเผา เหมือนเอาเนื้อไปกินแล้วให้กระดูก”

    นายพงษ์ศักดิ์กล่าวต่อว่า จากประสบการณ์การรับซื้อของเก่า ทำให้ TPR ใช้ระบบบันทึกข้อมูลการซื้อขายของเก่าที่เข้ามาทั้งหมด เพราะ ข้อมูลคือสิ่งสำคัญสำหรับองค์กรที่ต้องการเติบโต แต่เอสเอ็มอีรายเล็กไม่ค่อยจัดเก็บข้อมูล เวลาคนมาซื้อ-ขายของเก่าก็ใช้วัฒนธรรมแบบไทยๆ เช่น “เจ๊ เฮีย วันนี้มีของไหม” หรือใช้วิธีการคิดเงินแบบเถ้าแก่เป็นศูนย์กลาง หรือบางครั้งพูดแบบหยวนๆ น้ำหนักกันไป

    “คุณซื้อของเก่า ของเก่ามีทั้งทราย หิน น้ำ เหล็ก จักรยาน อิฐบล็อก มีทุกอย่างขอให้เป็นน้ำหนัก ต้องมีการตรวจสอบสินค้าได้ของตามที่เราต้องการจริงๆ ไม่ใช่มีของแปลกปลอมแถมมาด้วย ถ้าไม่ทำอะไรลูกค้ายิ่งได้ใจ เดี๋ยวทุบตึกแล้วเอาตึกใส่เข้ามาให้เลย”

    “ข้อมูลการซื้อขายทำให้เรารู็ว่าลูกค้าคนไหนขายของคุณภาพหรือไม่มีคุณภาพ ใน 1 เดือน ซาเล้งคนไหนมากี่ครั้ง ครั้งละกี่กิโลกรัม มีของปลอมปนเยอะไหม ความถี่มากแค่ไหน หรือคนไหนมาถี่ ปริมาณเยอะ แต่ไม่มีคุณภาพก็ตัดทิ้ง เช่น รายนี้มาเดือนละ 300 ตัน แต่มีของเสียถึง 50 กิโลกรัม เราควรให้รางวัลใครดี เราให้เจ้าที่ปริมาณน้อยแต่มีคุณภาพไหม”

    “ผมบริหารด้วยความยุติธรรม ไม่โกงใคร แต่คนที่โกงส่วนมากไม่เคยอยู่รอดสักคน โกงน้ำหนักก็มี วงการนี้มีทุกรูปแบบ คนเข้ามาวงการนี้ ถ้าไม่มีหัวใจที่ซื่อสัตย์สุจริต หรือมีหัวใจที่อยากเติบโตและยั่งยืนจริงๆ จะอยู่ลำบาก เพราะทุกอย่างเป็นเงินเป็นทองหมด น้ำฝนก็เป็นเงิน เวลาสิบล้อคุมผ้าใบเป็นแอ่งเลย(น้ำ) ล็อตละ 700 – 800 กิโลกรัม ออกมอเตอร์ไซค์ได้เลย”

    นายพงษ์ศักดิ์เล่าอย่างติดตลกว่า “QC ตรวจ เจอปืน 0.357 ของแท้ 1 กระบอก เจ้าหน้าที่โรงงานก็รีบรายงาน ผมก็แซวว่าหนูเป็น QC ต้องมีจรรยาบรรณ ชั่งและหักตามน้ำหนัก ถ้าทำมั่วๆ ระวังคราวหน้าเป็นลูกน้อยหน่ามานะ รอบนี้เขาส่งมาเตือน ทุกวันนี้ผมตั้งปืนโชว์ไว้ในห้องจัดซื้อ น่าจะเป็นของลูกค้า แต่เขาบอกไม่ใช่ของเขา เราก็ตั้งไว้เป็นอนุสรณ์ให้คนกลัว”

    จากวันที่บริหารแบบธุรกิจครอบครัว ปัจจุบันเป็นธุรกิจที่จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด และในอนาคต TPR มีแผนจะจดทะเบียนเข้าตลาด mai และเดินหน้าตามเทรนด์โลกที่มุ่งสู่ธุรกิจสีเขียว โดยป้อนวัตถุดิบที่มีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิลส่งให้กับผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์และสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการไทย เพื่อให้แข่งขันกับต่างประเทศได้

    “เทรนด์นี้อย่างไรก็มา เพียงแต่ลมเวลาเปลี่ยน คนหนึ่งสร้างบ้านที่แข็งแรง ไม่ล้มไม่เอียง อีกคนอาจไม่สร้างบ้านไม่สร้างกำแพง แต่ปักกังหันลมผลิตไฟฟ้าเลย ได้เงินด้วย บางคนคิดว่าลมมา ฉันต้องทำอะไรบางอย่างให้แข็งแรง กับคนที่ทำรอไว้อยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเสียเวลารอพวกนั้น”

    ซีรีส์ BCG in Action สนับสนุนโดย