ThaiPublica > ประเด็นร้อน > BCG in Action > GCNT Forum 2022 ทุกภาคส่วน เร่งหาทางออกสู้โลกร้อน ขานรับเศรษฐกิจ BCG หนุน Green Growth

GCNT Forum 2022 ทุกภาคส่วน เร่งหาทางออกสู้โลกร้อน ขานรับเศรษฐกิจ BCG หนุน Green Growth

12 พฤศจิกายน 2022


สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ร่วมกับสหประชาชาติในประเทศไทย จัดงาน ‘GCNT Forum 2022: “GCNT Forum 2022 : Accelerating Business Solutions to Tackle Climate & Biodiversity Challenges” การเร่งหาทางออกของภาคธุรกิจ เพื่อแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนและความท้าทายด้านความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมีผู้นำความยั่งยืน ทั้งภาครัฐ หน่วยงานกำกับดูแล และภาคเอกชน เข้าร่วมงาน ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติและแพลตฟอร์มออนไลน์รวมกว่า 500 คน ทุกภาคส่วนย้ำความท้าทายจากปัญหาโลกร้อนและการความหลากหลายทางชีวภาพ เพิ่มมาตรการและทางออกบรรเทาผลกระทบ ขานรับโมเดลเศรษฐกิจ BCG หนุนการลงทุนในโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

งาน GCNT Forum 2022 ปีนี้จัดขึ้น ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ช่วงเช้าเริ่มต้นด้วยการเสวนาผู้นำธุรกิจ ในหัวข้อ ทางออกในการบรรเทาปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยได้ซีอีโอจากบริษัท แสงเจริญแกรนด์ จำกัด บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) และบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมพูดคุยถึงวิสัยทัศน์ นโยบาย และแนวปฏิบัติของแต่ละองค์กรในเรื่องนี้ โดยทุกองค์กรย้ำถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อเร่งบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติโลกที่กำลังเผชิญ

  • UN-GCNT จัดประชุมผู้นำความยั่งยืน เร่งหาทางฟื้นฟูระบบนิเวศ ต่อยอดธุรกิจ
  • นายเรน ฮวา โฮ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าช่วง 2-3 ปีนี้ เป็นช่วงเวลาของความท้าทายที่ต้องหาทางออก และตั้งเป้าหมายระยะยาว 10-15 ปี ซึ่งไทยวาเป็นธุรกิจในอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตรที่ต้องการรักษา “สมดุล” ในการสร้างความมั่นคงทางอาหารและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยให้ความสำคัญกับการดูแลตั้งแต่ฟาร์มจนถึงมือผู้บริโภค และดูแลผู้คนที่เกี่ยวข้อง เช่น ตั้งแต่เกษตรกร ซึ่งเป็นผู้ส่งมอบวัตถุดิบหลัก บุคลากรที่ต้องพัฒนาทักษะต่างๆ ให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง และชุมชนโดยรอบ ที่ต้องดึงเข้ามามีส่วนร่วมในแนวทางเดียวกัน รวมทั้งการทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน

    “เรากำลังอยู่หลังยุคโรคระบาด สิ่งที่ต้องเผชิญ คือ ความท้าทายทางเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่ส่งผลกระทบ คือ ความมั่นคงทางอาหาร ในขณะที่ต้องผลิตอาหารให้มากขึ้น ก็ต้องลดการปล่อยคาร์บอนไปพร้อมกัน และต้องรักษาสมดุลนี้ไว้ให้ได้” นายเรน ฮวา โฮ กล่าว

    ส่วนนายจิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แสงเจริญแกรนด์ จำกัด ร่วมถ่ายทอดแนวปฏิบัติภายใต้วิสัยทัศน์ “สิ่งทอยั่งยืน” ที่นำขยะสิ่งทอหรือเสื้อผ้าเก่ามารีไซเคิล ให้เป็นผ้าใหม่ที่สามารถนำมาตัดเย็บเป็นเสื้อผ้า หรือสินค้าแฟชั่นอื่นๆ รวมไปถึงสามารถนำมาเป็นวัสดุตกแต่งบ้านได้ และยังมีการทำงานร่วมกับแบรนด์ต่างๆ เพื่อนำวัสดุ รีไซเคิลหมุนเวียนกลับมาเป็นวัสดุใหม่แบบ Closed-Loop Project โดยมีการให้ข้อมูลด้านวงจรชีวิตวัฎจักรผลิตภัณฑ์ (LCA :Life Cycle Assessment) กับลูกค้า ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับองค์กรในประเทศแคนาดา โดยใช้ QR Code ในการสื่อสารที่สามารถให้สแกนดูข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซคาร์บอน การลดการใช้น้ำ และการประหยัดพลังงาน รวมทั้งยังทำงานร่วมกับชุมชนที่ทำงานหัตถกรรม เพื่อส่งเสริมให้ครอบครัวในท้องถิ่นมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืนด้วย

    “หัตถกรรมของไทยกว่าร้อยละ 50 เป็นสิ่งทอ ตอนนี้มีครัวเรือนส่งเศษผ้ามาให้เรารีไซเคิล ผลิตเป็นสินค้า และมีบริษัทขนาดใหญ่มาสนใจ จากการทำงานที่ผ่านมา ทางเราได้พิสูจน์แล้วว่าสินค้าที่เกิดจากของรีไซเคิลสามารถสร้างมูลค่าได้มากขึ้น และลดผลกระทบที่ไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อม” นายจิรโรจน์ กล่าว

    ด้านนายอาเบล เติ้ง (Mr.Abel Deng) ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ถ่ายทอดถึงมุมมองของความท้าทายในการสร้างการเปลี่ยนแปลง คือ ทัศนคติของผู้คน เพราะการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้เมื่อทุกภาคส่วนร่วมมือกัน เพื่อเป้าหมายเดียวกัน โดยพันธกิจของหัวเว่ย คือนำเทคโนโลยีช่วยสร้างโลกที่ดีขึ้นกว่าเดิม ด้วยการพัฒนาโซลูชั่น เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า และส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน โดยส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการผลิตและการใช้พลังงานทดแทน เช่น พลังงาน โซล่าเซลล์ ซึ่งทั้งหมดนี้ เพื่อตอบรับกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่มุ่งสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้มีความยั่งยืน

    “หัวเว่ย ได้มุ่งมั่นในวิสัยทัศน์ “Tech for a Better Planet” ตั้งแต่ปี 2019 ขับเคลื่อนการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืนด้วยเทคโนโลยี เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายร่วมกันทั่วโลกที่ต้องการพัฒนาโลกสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยจะร่วมกันรับมือกับความท้าทายด้านสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมอย่างแข็งขัน มุ่งเน้นการใช้โซลูชั่นไอซีทีเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน พัฒนาสังคมคาร์บอนต่ำและเติบโตอย่างยั่งยืน รวมไปถึงคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสีเขียว โดยการร่วมมือกันของภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรมและพันธมิตร เพื่อการปกป้องและผลักดันพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับโลกของเรา” นายอาเบล กล่าว

  • GCNT Forum 2022 ไทยเตรียมเปิดแผนแก้โลกร้อนบนเวที COP27 ชู “รัฐ-เอกชน” รวมพลังปกป้องธรรมชาติ
  • ในส่วนของงานในช่วงบ่าย จัดขึ้นผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เริ่มด้วยการกล่าวถ้อยแถลงของนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคลเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งได้เน้นย้ำถึงบทบาทของ ก.ล.ต.ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนไทยที่มีนโยบายส่งเสริมให้ภาคธุรกิจบูรณาการ ESG เข้าไปในกระบวนการดำเนินธุรกิจ โดยได้ออกนโยบาย หลักเกณฑ์ และเครื่องมือต่างๆ รวมทั้งความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อสนับสนุนการดำเนินการ โดยเฉพาะการมีนโยบายและกลยุทธ์ในการจัดการกับปัญหาที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนเพื่อช่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จาก ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน เช่น กำหนดหลักเกณฑ์การรายงานข้อมูลประจำปีของบริษัทจดทะเบียน (56-1 One Report) ให้ครอบคลุมด้านความยั่งยืนโดยเฉพาะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสิทธิมนุษยชน

    “ภาคธุรกิจและการลงทุนต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินงานที่ใส่ใจธรรมชาติ สังคม และสิ่งแวดล้อม นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อสร้างการเติบโตตลอดห่วงโซ่คุณค่า สร้างผลลัพธ์การดำเนินการแบบ Less For More โดยคำนึงถึง ผลตอบแทนในระยะยาวเป็นหลัก ต่อยอดการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนแบบทั่วถึง (Inclusive Growth)” นางสาวรื่นวดี กล่าว

    ต่อด้วยถ้อยแถลงจาก ดร. ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะตัวกลางในการเชื่อมโยงให้เกิดการจัดสรรทุนจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศไปยังภาคธุรกิจต่างๆ ได้กล่าวว่า เป็นความจำเป็นที่ต้องทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ โดยเฉพาะโอกาสและความเสี่ยงที่มากับภาวะโลกร้อน ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้สร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาและพัฒนาการของธุรกิจในเรื่องนี้มาโดยตลอด เช่น สร้างการเรียนรู้ผ่าน ESG Academy พัฒนา ESG Data Platform เชื่อมโยงข้อมูลในเรื่องนี้ให้กับนักลงทุนและนักวิเคราะห์ และอยู่ระหว่างพัฒนา ESG Investment Product เพื่อให้ Ecosystem ของการลงทุนอย่างยั่งยืนครบถ้วนและสมบูรณ์แบบมากขึ้น และย้ำว่าปัจจุบัน ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นข้อมูลที่มีความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ ที่นักวิเคราะห์และนักลงทุนต้องการใช้ในการพิจารณาและวิเคราะห์ความเหมาะสมในการลงทุน โดยเห็นได้ชัดว่าบริษัทจดทะเบียนตื่นตัวในการแก้ปัญหาและเปิดเผยข้อมูลเรื่องนี้มากขึ้น

    “ตลาดหลักทรัพย์ฯ เชื่อมั่นว่า หากทุกภาคส่วนร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การบรรลุเป้าหมาย Net Zero ของประเทศไทยจะเป็นไปได้ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะช่วยให้ประเทศของเรา ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนน้อยลง และสามารถส่งมอบสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรที่เรามีให้กับประชากรรุ่นต่อไปได้อย่างยั่งยืน” ดร. ภากร กล่าว

    หลังจากนั้น เป็นการเสวนาในหัวข้อที่น่าสนใจต่างๆ โดยตัวแทนจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม อาทิ การบรรเทาปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสนับสนุนการดำเนินงานของธุรกิจในการฟื้นฟูและบรรเทา การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ รายกลุ่มย่อย ได้แก่ ภาคพลังงานและการขนส่ง ค้าปลีก และสินค้าอุปโภคบริโภค และทางเลือกการลงทุนและบทบาทของตลาดทุน การกำหนดกลยุทธ์และเป้าหมายความหลากหลายทางชีวภาพ การดำเนินการขั้นต่อไปเพื่อการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจ ในด้านสภาพอากาศและการปกป้องธรรมชาติ ผู้สนใจสามารถติดตามชมย้อนหลังได้ที่ เว็บไซต์สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT : Global Compact Network Thailand) https://globalcompact-th.com/ ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน เป็นต้นไป