ThaiPublica > Sustainability > Headline > SET Sustainability Forum ตอน(1) EA – AAI – กบข. ถอดแผนความยั่งยืน สู่การปฏิบัติจริง

SET Sustainability Forum ตอน(1) EA – AAI – กบข. ถอดแผนความยั่งยืน สู่การปฏิบัติจริง

16 กรกฎาคม 2023


ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับองค์กรพันธมิตร จัดสัมมนา “SET Sustainability Forum : จากเป้าหมายความยั่งยืน…สู่การปฏิบัติ” ครั้งที่ 2 ประจำปี 2566 เพื่อขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืน สู่การปฏิบัติจริงอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขัน ขยายโอกาสการเติบโตของธุรกิจ ท่ามกลางปัจจัยท้าทายที่ทุกภาคส่วนกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

โดยผู้บริหารจากองค์กรชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ ร่วมให้ข้อมูลถึงบทบาทผู้นำองค์กรในการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืน ประกอบด้วย นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ นางสาววรัญรัชต์ อัสสานุพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงิน บมจ. เอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล ดร. ศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาธิการ กองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการ

ดร. ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวเปิดงานว่า ปัจจุบันการดำเนินธุรกิจเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน โดยเฉพาะประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) รวมทั้งการออกกฎเกณฑ์การทำธุรกิจที่เข้มงวดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) และการพิจารณาให้สินเชื่อที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งจะมีผลในไตรมาสที่ 3/2566

ดร. ภากร กล่าวต่อว่า จากปัจจัยข้างต้นล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อจัดการกับความเสี่ยงและหาโอกาสใหม่ ๆ ในการดำเนินธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม การปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ ไม่สามารถทำเพียงคนเดียวได้ แต่องค์กรต้องเคลื่อนไปพร้อมกัน โดยเริ่มจากผู้นำองค์กรในการกำหนดทิศทางและวิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืน เชื่อมโยงสู่ฝ่ายจัดการ และพนักงานทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน สุดท้าย ESG จะถูกบูรณาการให้กลายเป็น DNA และ Culture ขององค์กร


EA มอง ‘พลังงานสะอาด’ คือ High Risk, High Return

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ กล่าวในหัวข้อ “Leading a Sustainability Journey: The Path to a Green and Resilient Economy” ว่า ปัจจุบันประเทศไทยเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่อง climate change ส่งผลกระทบด้านลบ ไม่ว่าจะเป็น น้ำท่วมซ้ำซาก ฝุ่น PM2.5 และยังเสี่ยงกับการขาดแคลนแรงงาน สังคมสูงอายุ คุณภาพชีวิตหยุดอยู่กับที่ ความเหลื่อมล้ำทางสังคมและกับดักรายได้ปานกลาง โดยสิ่งเหล่านี้เป็นระเบิดเวลาที่สะท้อนว่าประเทศไทยกำลังถอยหลังลงเรื่อยๆ 

ขณะที่สิ่งแวดล้อมกำลังเปลี่ยนแปลง ย่อมมีทั้งคนได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ และถ้าธุรกิจหาคำตอบให้ ‘วิกฤติ’ มันจะกลายเป็น ‘โอกาส’

“เรามองโอกาสเรื่องพลังงานสะอาด..พลังงานสะอาด จะไปแก้ต้นตอปัญหาสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน และมีโอกาสสร้างอุตสาหกรรมใหม่ให้ประเทศได้ แต่พลังงานสะอาดเป็นเรื่องใหม่ ดังนั้นเป็นความท้าทายว่า จะทำอย่างไรเพื่อคว้าวิกฤติ (โลกร้อน) ให้เป็นโอกาส (ธุรกิจ)”

นายสมโภชน์ กล่าวต่อว่า ธุรกิจพลังงานสะอาดเป็นความรู้ใหม่ที่ไม่มีในตำรา การจะทำอะไรต้องคิดให้ครบโดยนำประสบการณ์ในธุรกิจอื่นมาประยุกต์ใช้ แล้วสร้างเป็นโมเดลธุรกิจ (business model) ที่จับต้องได้จริง พร้อมหาบุคลากรที่เก่งเข้ามาร่วมทำงานด้วย

“ถ้าเราคิดในกรอบเดิมๆ ก็อาจไม่เห็นอุปสรรคหรือโอกาสอื่นๆ บางทีเราต้องคิด beyond มากกว่าธุรกิจ หรือการทำนวัตกรรมที่จับต้องไม่ได้มากๆ แต่มันสร้างแบรนด์หรือความพรีเมียมให้บริษัท ทำให้เราสามารถดึงบุคลากรที่มีความสามารถเข้ามาได้ว่าองค์กรมันรันด้วยทรัพยากรบุคคล มันไม่ใช่ One Man Show แต่สิ่งที่ท้าทายกว่านั้นคือ มันต้องร้อยเรียง vision strategy ให้สอดคล้องกัน เมื่อเกิดปัญหาจะแก้อย่างไร แต่โลกแห่งความเป็นจริงเราไม่เคยทำอะไรได้ตามแผนร้อยเปอร์เซ็นต์”

นายสมโภชน์ ย้ำว่า…

การแก้ปัญหาคือหน้าที่ของซีอีโอ ที่สำคัญคือการดึงแผนธุรกิจให้กลับมาที่เดิมให้ได้ และต้องใช้ฉันทามติของคนในองค์กรที่มีความคิดร่วมกันและเชื่อเรื่องเดียวกัน

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. พลังงานบริสุทธิ์

อย่างไรก็ตาม นายสมโภชน์ ชี้ให้เห็นว่า เรื่องพลังงานสะอาด-สิ่งแวดล้อมจะเกี่ยวข้องนโยบายของรัฐบาล แต่การทำให้ภาครัฐเชื่อใจจำเป็นต้องใช้เวลาโน้มน้าวและให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง ยิ่งกว่านั้นคือการเปลี่ยนแปลงสังคมในเรื่องใหม่ๆ มักจะต้องสร้างค่านิยมใหม่ให้เกิดขึ้น เพราะการทำสิ่งใหม่ๆ ในประเทศไทยยากกว่าประเทศอื่น เห็นได้จากหลายบริษัทที่ไปเริ่มต้นทำธุรกิจที่ต่างประเทศ จากนั้นค่อยกลับมาทำที่ไทย

“ยิ่งมันทำยาก คนก็ทำน้อย ถ้าเราทำสำเร็จก็เหมือนข้ามกำแพงแล้วเจอขุมทรัพย์มหาศาล อยู่ที่ว่าเรามองว่ามันคืออะไร…high risk, high return ใครที่สามารถหา high return โดย low Risk นั่นคือ SUPER INVESTMENT”

นายสมโภชน์ กล่าวต่อว่า จุดมุ่งหมายที่บริษัทพลังงานสะอาดเข้าตลาดฯ คือเติบโตจากการสนับสนุนนโยบายภาครัฐ  บริษัทเลยมีความตั้งใจว่าต้องการทำสิ่งที่สังคมไทยได้ประโยชน์ และคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี

นายสมโภชน์ กล่าวต่อว่า บริษัทหาโอกาสทางธุรกิจจาก paint-pointของสังคม เพราะถ้าแก้ปัญหาได้จะกลายเป็นโอกาส โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเป็นเครื่องมือ และดึงดูดคนเก่งๆ เข้ามาช่วยกันทำงาน

ที่สำคัญ การสร้างองค์กรต้องมีความโปร่งใส ยุติธรรมและมีประสิทธิภาพ และการที่อุตสาหกรรมจะเติบโตได้ต้องมี player ที่มากเพียงพอ ถึงจะทำให้รัฐบาลกล้าสนับสนุน จึงเป็นเหตุผลที่บริษัทพลังงานสะอาด ต้องสร้างพันธมิตร (business partner)

นายสมโภชน์ เสริมว่า การสร้างองค์กรต้องทำให้องค์กรไม่ซับซ้อน โดยเฉพาะในเรื่องการสื่อสาร ต้องทำให้พนักงานระดับล่างสุดไลน์คุยกับซีอีโอได้ และไปทำงานร่วมกัน ทำให้พนักงานเห็นว่าเมื่อปัญหาเกิดขึ้น พนักงานจะได้รู้สึกเดือดร้อนด้วยกับเรา และเวลาประสบความสำเร็จ ก็ต้องให้เครดิตให้พนักงานมีกำลังใจทำต่อ

“ถ้าเราต้องการทำอะไรก็ตาม เอาปัญหามากาง แล้วหา tipping point ของมัน และดูว่าใครควรจะเป็น tipping point นั้น ถ้าเราสามารถเป็นได้ เราจะเป็น winner เหมือนที่บอกว่า First Mover Take All”

AAI สะท้อนบทเรียน IUU จะยั่งยืนต้องตามสากล

นางสาววรัญรัชต์ อัสสานุพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงิน บมจ. เอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวในหัวข้อ “Marrying Sustainability and Profitability” โดยเริ่มจากแนะนำบริษัทว่า บริษัทเป็นเป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียก และอาหารพร้อมรับประทานส่งออก โดยรับจ้างผลิตให้แบรนด์ชั้นนำระดับสากล ส่งออกไปที่สหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศยุโรป

นางสาววรัญรัชต์ เล่าว่า จุดเปลี่ยนที่ทำให้บริษัทสนใจประเด็นความยั่งยืนคือช่วงปี 2558 ที่อุตสาหกรรมประมงไทย ได้รับใบเหลืองจากประเทศยุโรป เพราะขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU Fishing) โดยประเด็นดังกล่าวยังเกี่ยวกับแรงงานทาสในอุตสาหกรรมการประมง ทั้งการจับปลาและโรงงานผลิต ทำให้กลุ่มบริษัทได้รับผลกระทบโดยตรง

“เหตุการณ์ IUU ทำให้เราตระหนักว่า ถ้าเราอยากก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นในระดับสากล หรืออยากได้รับความเชื่อมั่นจากลูกค้าบริษัทชั้นนำ หรืออยากขยายธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคง กฎหมายท้องถิ่นไม่เพียงพออีกต่อไป”

นางสาววรัญรัชต์ อธิบายอีกว่า ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินคนก่อน ได้นำเสนอประเด็นแรงงานและผลกระทบที่มีต่อธุรกิจ ทำให้คณะกรรมการเริ่มกำหนดนโยบายแรงงาน และวิเคราะห์กระบวนการทางธุกริจในเชิงลึก เพื่อปรับเปลี่ยนจุดอ่อนใเป็นจุดแข็ง และเตรียมพร้อมให้ธุรกิจเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง พร้อมกับหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลภายในองค์กร เช่น ข้อมูลจากฝ่ายขาย กระบวนการผลิต ตลอดจนความต้องการ-ความคาดหวังของลูกค้า ส่วนข้อมูลภายนอกองค์กร เช่น ข้อมูลจากเอ็นจีโอ ภาครัฐ รวมถึงให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ทั้งหมดทำให้ บมจ. เอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้รับการรับรองมาตรฐานทั้งระดับประเทศและระดับสากล

นางสาววรัญรัชต์ อัสสานุพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงิน บมจ. เอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล

“ซีเอฟโอ เป็นกำลังหลักด้านความยั่งยืน จากนั้นประกาศแผนกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนปลายปี 2562 ภายใต้แนวคิดว่า ความยั่งยืนของธุรกิจจะเกิดได้จากทุกกระบวนการทางธุรกิจอย่างรับผิดชอบ”

นางสาววรัญรัชต์ กล่าวถึงการสื่อสารแผนความยั่งยืนว่า บริษัทต้องทำให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมและเข้าใจง่าย จึงประกาศแผน CHEERS โดยมีการสื่อสาร 2 ภาษาคือ ภาษาไทยและเมียนมา รวมถึงมีการทำคู่มือสองภาษา และใช้วิธีการติดบอร์ดประชาสัมพันธ์ การจัดอบรม สัมมนา รวมถึงเพิ่มกิจกรรมสนุก เช่น เล่นเกม และประกวดเชียร์ลีดเดอร์ทำให้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหาร

“เรานั่งฟังผู้เข้าประกวดแผนกลยุทธ์ว่า CHEERS ของเขาหมายความถึงอะไร โดยเขาต้องแสดงให้เห็นว่าเข้าใจแผนกลยุทธ์ จุดสำคัญที่ให้คะแนนคือผู้เข้าประกวดต้องบอกได้ว่า เขามีส่วนสำคัญอย่างไรในการดำเนินแผนกลยุทธ์ความยั่งยืนให้ประสบความสำเร็จ”

ด้วยเหตุนี้ บริษัทจึงทำให้พนักงานเห็นว่า ต่อให้เป็นแรงงานข้ามชาติก็มีความสำคัญเทียบเท่ากับแรงงานไทย

“ซีเอฟโอมีสกิลหรือทักษะหลายด้านที่สอดคล้องกับการทำงานด้านความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็น การวิเคราะห์ข้อมูล การจัดลำดับความสำคัญ เป็นบุคคลประสานความต้องการ และรวบรวมเป้าหมายของทุกฝ่ายมาเป็นแผนกลยุทธ์ ที่สำคัญเรารู้เรื่องเงินขององค์กรดีที่สุด ถ้าเรามีข้อมูลเรื่องเงินมาสนับสนุน การตัดสินใจหรือจัดกิจกรรมจะดูถูกต้องเหมาะสมเป็นรูปธรรมมากขึ้น”

นางสาววรัญรัชต์ ทิ้งท้ายว่า การนำข้อมูลทางการเงินเข้ามาทำให้สามารถประเมินได้ว่า ท่ามกลางประเด็นที่สัมพันธ์กับผลกำไรระยะยาว อะไรควรเลือกทำก่อนหลัง นอกจากนี้ ในอนาคตข้อมูลด้าน ESG จะทวีความสำคัญเทียบเท่าข้อมูลทางการเงินในอนาคต

“Sustainability Data และ Financial Data ในองค์กรเป็นเรื่องสำคัญ ต้องทำและเร่งทำ ซีเอฟโอถูกมองมาโดยตลอดว่าเป็นอุปสรรคต่อโครงการด้าน ESG แต่วันนี้เรามาช่วยกันเปลี่ยนภาพลักษณ์ตรงนี้ และเป็นผู้ริเริ่มผลักดันไปด้วยกัน”

ดร. ศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาธิการ กองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการ

กบข. เผย นักลงทุนยึดหลัก ESG ในการตัดสินใจ

ดร. ศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาธิการ กองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการ กล่าวในหัวข้อ “Riding the Wave of Sustainable Investing, How Fast and Further?” ว่า ความยั่งยืนในองค์กรต้องเกิดจาก Tone from the Top จากข้างบนไหลไปข้างล่าง และผู้บริหารต้องมี Commitment ว่าจะผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง

ดร. ศรีกัญญา กล่าวในมุมนักลงทุนว่า หลังจากขั้นตอน Tone from the Top แล้ว บริษัทต้องหา internal champion และชูมาเป็นจุดเด่น จากนั้นนักลงทุนจะเข้าไปคุย และมองหากลไกเพื่อดูว่าบริษัทนั้นใช้วิธีการใดไปสู่ความยั่งยืน

ที่สำคัญคือ ทุกการลงทุน ต้องเอา Responsible Investment (ESG & Human Rights) มาวางเป็นฐานและกำหนดเป็นนโยบายการลงทุนสำหรับนักลงทุนด้วย

“ในฐานะที่ กบข. เป็นนักลงทุนสถาบัน เราต้องมั่นใจว่าบริษัทเราลงทุนไม่ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ บริษัทไหนที่ไม่ดีจริงตั้งแต่แรก เขาอาจจะสร้างผลตอบแทนในช่วงต้น แต่ไม่สามารถรักษาระยะยาวได้ กบข. เชื่อว่า ทุกอย่างต้องทำเพื่อ คน (people) ผลกำไร (profit) และเพื่อโลก (planet)”

ในด้านการตรวจสอบ ดร. ศรีกัญญา อธิบายว่า การคุยต้องตั้งคำถามอย่างมีเหตุมีผล ซึ่งมีทั้งการโทรไปคุยส่วนตัวและนัดคุยแบบเป็นกิจลักษณะ อย่างไรก็ตาม เมื่อพบว่าบริษัทที่ลงทุนมีปัญหาหรือมีข่าวด้านลบ กบข. จะมีหลักการหลังจากพูดคุยว่า ความผิดพลาดเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าฟังแล้วเห็นว่าบริษัทยังมีความตั้งใจไปสู่ความยั่งยืนและมีพันธสัญญาว่าจะมุ่งมั่นทำต่อ กบข. จะรอดูสถานการณ์และยังไม่ถอนการลงทุนทันที แต่ถ้าพูดคุยแล้วไม่มีความชัดเจนก็จะยุติการลงทุน

“กบข. จะตัดสินใจพูดคุยจริงๆ เมื่อบริษัทเป็นข่าว เราจะเริ่มโทรหา แต่ไม่ได้มองหาคนผิดคนถูก เขาอาจจะพลาด แต่เราต้องการเข้าใจว่าคุณจะแก้ปัญหานี้อย่างไร และป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกอย่างไร เราฟังที่คุณพูด ถ้าเป็นไปตามนั้นก็ไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าตกลงกันแล้วไม่ชัดเจนก็คุยกันหนักขึ้น”

“แต่สำหรับนักลงทุนที่เลิกไปเลย อจาเป็นนักลงทุนที่ไม่รับผิดชอบ เพราะโยนปัญหาให้คนอื่นไปลงทุนแทน ปัญหาไม่หายไป ถ้าเป็นนักลงทุนที่รับผิดชอบจะต้องช่วยกันแก้ปัญหา…แต่ไม่ใช่ทุกคนคิดแบบนี้ เพราะนักลงทุนสถาบันในโลกเริ่มยุติการลงทุน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับพลังงานถ่านหิน”

ดร. ศรีกัญญา ยังให้คำแนะนำกับบริษัทที่สนใจ ESG ว่า บริษัทควรนำแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ (SDGs Goal) ของสหประชาชาติมากางดูว่า ความยั่งยืนประเด็นไหนที่บริษัทสามารถทำได้ และให้เลือกเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ที่สำคัญอย่าทำทุกเรื่อง เพราะธุรกิจไม่สามารถทำทุกเรื่องได้ทั้งหมด

ดร. ศรีกัญญา ทิ้งท้ายว่า…

ESG ไม่มีคำตอบสำหรับทุกคน เพราะการสร้างความยั่งยืนไม่มี one size fit all ให้กับทุกธุรกิจ