ThaiPublica > คนในข่าว > “ภากร ปีตธวัชชัย” ลุย Digital Transformation สู่ Capital Market Platform ชู ESG เชื่อมลงทุนยั่งยืนทั่วโลก

“ภากร ปีตธวัชชัย” ลุย Digital Transformation สู่ Capital Market Platform ชู ESG เชื่อมลงทุนยั่งยืนทั่วโลก

5 ตุลาคม 2020


เทคโนโลยีดิจิทัล เป็นศูนย์กลางการพัฒนาเศรษฐกิจในปัจจุบัน และมีผลให้การลงทุนในตลาดทุนเปลี่ยนแปลงมีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว ในช่วง 6 เดือนที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เทคโนโลยีดิจิทัลมีความสำคัญต่อการลงทุนอย่างมาก โดยตลาดหลักทรัพย์หลายแห่งทั่วโลกยังสามารถรองรับการลงทุนของนักลงทุนได้ต่อเนื่อง

สำหรับตลาดหลักทรัพย์ฯของไทย ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรองรับการลงทุนให้ก้าวหน้ามาค่อนข้างมาก ตั้งแต่ก่อนการระบาด ส่งผลให้ตลาดทุนเติบโตขึ้นเป็นลำดับ

ข้อมูล ณ วันที่ 17 มิถุนายน 2563 จะเห็นว่าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์มีการเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าตลาดในปี 2563 อยู่ที่ 14.8 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2553 ที่มีมูลค่าตลาดอยู่เพียง 6.4 ล้านล้านบาท โดยจำแนกเป็นกลุ่มธุรกิจบริการ 27% กลุ่มทรัพยากร 23% กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง 14% การเงินและประกันภัย 14% เทคโนโลยี 10% เกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร 7% สินค้าอุตสาหกรรม 4% สินค้าอุปโภคและบริโภค 1% ตามลำดับ

ขณะเดียวกันการลงทุนแบบเดิมไม่อาจตอบโจทย์นักลงทุนทั่วโลกที่ให้ความสนใจกับความยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อม(Environment) สังคม(Social) และการกำกับดูแลกิจการที่ดี(Governance) มากขึ้นได้ โดยเฉพาะหลังจากระบาดของโควิด-19 ที่โลกเข้าสู่ยุค New Normal ยิ่งตอกย้ำว่า แนวทางการลงทุนบนหลักการ ESG จะกลายเป็นกระแสการลงทุนหลักในอีกหลายปีข้างหน้า

“ดร.ภากร ปีตธวัชชัย” กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยคนที่ 13 ซึ่งเข้ารับตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2561 จึงมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและแพลตฟอร์มกลางของตลาดทุนที่ถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนตลาดทุนไทยในโลกยุคดิจิทัล พร้อมกับส่งเสริมตลาดทุนไทยบนหลักการความยั่งยืนจากรากฐานที่ได้วางไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1999 จนกลายเป็นจุดแข็งบริษัทจดทะเบียนไทย เพื่อยกระดับตลาดทุนไทยไปสู่ capital market platform ที่เชื่อมต่อการลงทุนยั่งยืนได้จากทั่วโลก

ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนโดยยึดหลักความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการเติบโตด้านธุรกิจ และมองหาโอกาสใหม่ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน โดยมีแผนจะยกระดับตลาดทุนไทยไปสู่ “capital market platform” ซึ่งบทบาทของตลาดทุนไทยนับจากนี้ไปจะไม่ได้มีเพียงหุ้นกับตราสารอนุพันธ์ (derivatives) เท่านั้น แต่จะมีทุกเรื่องทุกอย่างที่คนในตลาดทุนต้องการ และพร้อมให้บริการด้านตลาดทุนเชื่อมต่อทั่วโลก

“ในอดีตเราคือ traditional exchange แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว เราคือ capital market platform แล้วไม่ได้ดูเพียงหุ้นกับ derivatives แต่จะมองดูทุกอย่างที่คนในตลาดทุนเขาอยากใช้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโอนเงิน เปิดบัญชี ซึ่งปัจจุบันนักลงทุนสามารถเปิดบัญชีได้โดยไม่ต้องเห็นหน้า ผ่านระบบ Settrade มีระบบ e-KYC, e-Suitability ทำเทรดดิง ทำเคลียริง ดูข้อมูล ทำ analysis และต่อไปที่ ตลท. จะทำต่อคือเรื่อง summary consolidated investment report โดยจะต้องได้รับการยินยอมจากนักลงทุนให้ ตลท. เข้าไปเก็บข้อมูลแล้วมาทำรีพอร์ต ซึ่งหากทำได้ในอนาคต นักลงทุนไม่ต้องมานั่งดูว่าพันธบัตรกองทุนรวมอยู่ที่ไหนบ้าง มาดูรายงานที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำที่เดียว”

รูปแบบแพลตฟอร์มของตลาดทุนจะคล้ายกับโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (nation e-payment) ซึ่งเกี่ยวกับการโอนเงิน แต่ของตลาดทุนคือ การโอนหลักทรัพย์ (securities) และเงิน ซึ่งทับซ้อนกันอยู่ จึงต้องหาแนวทางให้ทั้ง 2 อย่างนี้เชื่อมต่อกันได้ในอนาคต

“เชื่อว่าในอนาคตจะเห็นการเปลี่ยนแปลงอีกมาก คงไม่ใช่รูปแบบที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน แต่จะมีเพียง 3 ฟังก์ชันที่ใหญ่ๆ ที่น่าจะเห็นในตลาดทุนหรือตลาดการเงิน อันแรกคือ originator ผู้ที่ออกหลักทรัพย์ นำสินทรัพย์มาแปลงเป็นหลักทรัพย์ อันที่สองเกี่ยวกับผู้ลงทุน investor ซึ่งอาจจะเป็นกระเป๋าเงินที่ไม่ได้เก็บแค่เงิน แต่เก็บทั้งสินทรัพย์และเงิน หรืออื่นๆ ก็ตาม แต่ตรงกลางเป็นแพลตฟอร์มการซื้อขาย trading platform ที่เกี่ยวเนื่องกับการให้บริการแก่นักลงทุน (investors service) และมีรูปแบบต่างจากปัจจุบัน แม้ขณะนี้ยังไม่สามารถคาดเดาถึงรูปแบบได้”

Digital Transformation รับลงทุนยุค New Normal

ดร.ภากรกล่าวว่า ที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ปรับปรุงเรื่องประสิทธิภาพด้วยการทำให้ขั้นตอนการทำงานต่างๆ ของตลาดทุนก้าวเข้าไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น โดยเฉพาะการรวบรวมข้อมูลความต้องการของลูกค้าเข้ามาอยู่ในระบบข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) เพื่อนำมาวิเคราะห์หาความต้องการของลูกค้ารวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับลูกค้า ขณะเดียวกัน การออกกฎเกณฑ์ต่างๆ ของตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเป็นการวิเคราะห์ด้วยข้อมูลมากขึ้น

ส่วนด้านที่เกี่ยวกับผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทจดทะเบียนต่างๆ ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดรุนแรง ตลท. ได้ปรับรูปแบบการอบรมมาเป็นผ่านระบบดิจิทัล ส่งผลให้รองรับจำนวนผู้เข้ารับการอบบรมได้มากขึ้น เช่น การอบรมเรื่อง นักลงทุนสัมพันธ์ หรือเรื่องการเงินให้กับประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน (CFO) สามารถอบรมได้ครั้งละ 1,200 คน จากเดิมก่อนเกิดโควิด-19 อบรมแบบมาเข้าห้องได้ราว 50-100 คน

นอกจากนี้ยังมียอดนักลงทุนหน้าใหม่ที่เปิดบัญชีผ่านระบบดิจัลในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้อยู่ที่ 200,000 บัญชี เพิ่มขึ้นจากเมื่อก่อนที่มีนักลงทุนหน้าใหม่เข้าเปิดบัญชีแบบต้องเจอตัวไม่ผ่านระบบเฉลี่ยปีละ 100,000-120,000 บัญชี เพราะคนมีความเข้าใจและยอมรับมากขึ้นจากการเห็นว่าเริ่มทำได้จริง

เวลาเราเกิดวิกฤติบางทีเป็นโอกาสทำให้เราเปลี่ยน แล้วทำให้ทุกคนยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้เร็วขึ้น

“ความไม่แน่นอนของโลกที่ซับซ้อนและเชื่อมต่อกันมากขึ้น ทำให้การปรับตัวของ ตลท. เข้าสู่ digital transformation ตรงกับภาวะการณ์และตรงกับเวลามากขึ้น ซึ่งการเกิดวิกฤติ บางทีก็เป็นโอกาสที่ดีทำให้เราเปลี่ยน แล้วทำให้ทุกคนยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้เร็วขึ้น เช่น ตอนที่เราต้องการทำโรดโชว์เป็น two way digital เป็น opp day ผ่านบลูมเบิร์ก กลายเป็นว่าตรงเลย เพราะปัจจุบันด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไม่สามารถเดินทางไปเจอนักลงทุนได้ กลายเป็นว่าเดี๋ยวนี้ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วขึ้น” ดร.ภากรกล่าว

นอกจากนี้ ระบบ SETLink หรือ SET Listed Company Notification and Key Operation ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้พัฒนาไว้เพื่อเป็นแพลตฟอร์มศูนย์รวมบริการให้กับ บจ. ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของข้อมูลข่าวสาร ประกาศ กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง คู่มือ ปฏิทินกิจกรรม และการพัฒนาองค์ความรู้ e-learning อบรม สัมมนาต่างๆ รวมถึงระบบงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ระบบนำส่งสารสนเทศ งานนายทะเบียน ตลอดจนระบบการจัดการประชุมภายในของบริษัท ช่วยเพิ่มความสะดวกให้แก่บริษัทจำกัด (บจ.) และผู้ลงทุนยิ่งขึ้น เพราะเป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการครบทั้งกระบวนการ

“ระบบ SETLink ที่เราทำไว้ เพื่อให้ บจ. จดข้อมูลมาให้เรา เราส่งข้อมูลไปให้เขา เวลาที่เขาอยากจะรายงานต่างๆ เขาก็รายงานออนไลน์หมด เช่น sustainability report ทำให้ ตลท. สามารถให้บริการแก่ บจ. ได้ดียิ่งขึ้น ตัวอย่าง ในช่วงโควิดจะเห็นได้ว่า บจ. ต่างๆ มีปัญหาเรื่องประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปีมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการโหวตต่างๆ ตลท. เลยต่อยอดจาก SETLink จากเมื่อก่อนทำแค่ information reporting ต่อไปเมื่อจะเรียกประชุม หรือจะทำ e-proxy voting, e-voting สามารถใช้ระบบ SETLink นี้ได้เลย เป็นการให้บริการตั้งแต่ต้นจนจบ ทำให้เป็นออนไลน์หมดเลยอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน ในอนาคตเราจะเหมือนเป็นแพลตฟอร์มในการให้บริการด้านตลาดทุน” ดร.ภากรกล่าว

ดร.ภากรกล่าวอีกว่า ตลท. ยังมีแผนจะทำ digital asset platform ซึ่งเป็นความร่วมมือกับสมาคม บล. (บริษัทหลักทรัพย์) และสมาคมธนาคารไทย จะเข้าไปเป็นผู้ดำเนินการสำหรับตัวเชื่อมระบบที่เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มอบหมายให้ตลาดฯ ดำเนินการ โดยในขั้นแรกจะทำสายส่ง และขั้นต่อไปคือเรื่องบริการออกหลักทรัพย์ (issuing service) เพื่อเชื่อมต่อกับบริการซื้อขาย (trading service) และ บริการทะเบียนหุ้น (registrar service) ทั้งนี้ ตลท. มีความพร้อมจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการให้บริการเพราะมีโมดูลพวกนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าในอดีตโมดูลดังกล่าวเป็นโมดูลที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ แต่ในอนาคตจะเป็นโมดูลที่เข้าไปเชื่อมต่อกับระบบอื่นๆ ที่มีหลายคนที่แข่งขันได้ โดย ตลท. เชื่อว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับลูกค้าได้

ส่วนด้านผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนที่ ตลท. หารือกับ ธปท. มาเกือบ 5 ปีจนสำเร็จ ปัจจุบัน ตลท. ได้มีการพัฒนาระบบเพื่อให้รองรับผลิตภัณฑ์ได้ และยังพัฒนาระบบรายงานเพื่อให้ภาครัฐได้นำไปใช้ได้ เนื่องจากกังวลว่าหากมีการปล่อยให้เงินไหลออกไปข้างนอกโดยตรงจะไม่สามารถควบคุมดูแลได้เลย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีระหว่างผู้กำกับดูแลกับผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ค่อยๆ หารือกัน และมีการบอกถึงขอบเขตการทำงานว่าเป็นอย่างไร แล้ว ตลท. ก็เป็นผู้พัฒนาระบบขึ้นมา หากต้องการข้อมูลอะไรเพิ่มเติมก็จะทยอยตามเก็บให้หมด

“เหตุผลที่อยากออกผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนเพราะอยากให้บริษัทหลักทรัพย์ในประเทศ stakeholder ในประเทศสามารถแข่งขันกับคนข้างนอกได้ เมื่อก่อนคนไทยอยากซื้อของต่างประเทศต้องไปเปิดบัญชีที่สิงคโปร์ ถ้าเป็นแบบนี้อีกนานจะทำให้ บล. และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เติบโตได้อย่างไร แต่เมื่อไรที่ดึงของพวกนี้มาอยู่ในกรุงเทพได้แล้ว เวลาจะซื้อ foreign currency ตลท. จะพัฒนาระบบทำให้ง่าย ไม่ว่าจะเก็บเงินเก็บของต่างประเทศจะมีการทำบริการรับฝากหลักทรัพย์ (sub custodian basic) ให้ เพื่อให้ต้นทุนถูกลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บล. และ บลจ. เล็กๆ ทำไมเขาจะแข่งไม่ได้ ที่ผ่านมา ตลท. ต่อ FundConnext ให้เอาของจากกรุงเทพฯ ไปขายต่างประเทศได้ เอาของจากต่างประเทศมาขายกรุงเทพฯ ได้ ทำหน้าที่เปรียบเสมือนตัวกลาง นี่คือสิ่งที่ ตลท. พยายามทำ”

หุ้นไทยติด Top 30 ของโลก วอลุ่มเฉลี่ย 2 พันล้านดอลล์

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะเห็นว่า โครงสร้างรายได้หลักของตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมาจากการซื้อขายสินค้าหุ้น สินค้าอนุพันธ์ เป็นหลัก แต่ในระยะหลังจากการที่ได้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนรวม การโอนเงินผ่านระบบ capital market, national id proxy และเรื่องต่างๆ แล้วทำให้องค์ประกอบหรือโครงสร้างรายได้เริ่มที่จะสมดุลขึ้น เพราะรายได้ในปัจจุบันไม่ได้ผูกกับการซื้อขายอย่างเดียวแล้ว ปัจจุบัน ตลท. มีรายได้ที่เป็น stable income เรียกว่าไม่ขึ้นอยู่กับปริมาณการซื้อขายเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมดของตลาดหลักทรัพย์

“เวลามีคนมาถามว่าตลาดหลักทรัพย์ถูกกระทบเยอะไหมเวลาวอลุม (volume) การซื้อขายขึ้นลง เราบอกว่าอย่างน้อยตัวที่เป็น stable Income สามารถเลี้ยงค่าใช้จ่ายของตลาดหลักทรัพย์ได้เกือบหมดแล้ว เพราะฉะนั้นตลาดหลักทรัพย์ฯ จะต้องปรับปรุงในส่วนอื่นให้ขยายได้มากขึ้นอีก เพื่อทำให้ตลาดอยู่ได้มากขึ้น ซึ่งเป็นจุดที่ตลาดอยากทำให้ผู้ร่วมระบบของเราสามารถขยายธุรกิจได้ ทำให้บจ., บล., บลจ. ไม่ต้องลงทุนในระบบต่างๆ เอง ทั้งระบบงานสนับสนุน back office ระบบกองทุนรวม ระบบ SETtrade ระบบซื้อขายออนไลน์ แต่สามารถใช้ทรัพยากรของเราตรงกลางได้ ถามว่าทำไมถึงอยากจะทำ ทั้งที่เป็นต้นทุน เราบอกว่าพอทำเสร็จเขาทำอย่างอื่นได้มากขึ้น ตลาดก็ได้ประโยชน์มากขึ้น ซึ่งบริการของเราที่พัฒนาขึ้นนั้น จะต้องทำให้ลูกค้าอยู่กับเราได้ โดยไม่เปลี่ยนไปใช้ตลาดหลักทรัพย์อื่น ไม่เปลี่ยนไปใช้นายทะเบียนอื่น” ดร.ภากรกล่าว

ปัจจุบัน ตลาดหุ้นไทยมีมูลค่าซื้อขาย (วอลุม) เฉลี่ยต่อวันราว 2 พันล้านดอลาร์ อยู่ในอันดับ top 30 ของโลก แต่ถ้าเทียบกับตลาดหุ้นในอาเซียนด้วยกัน ตลาดหุ้นไทยครองอันดับ 1 มาโดยตลอด

เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในเอเชีย เช่น เซี่ยงไฮ้ เสิ่นเจิ้น โตเกียว ที่เป็นตลาดขนาดใหญ่มีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยวันละ 8 พันล้านเหรียญสหรัฐดอลลาร์ ปัจจุบันตลาดหุ้นไทยเริ่มมีวอลุมขยับเพิ่มขึ้นมาอยู่ 1 ใน 4 ของตลาดหุ้นเอเชีย (ตั้งแต่แซงตลาดหุ้นสิงคโปร์มาในปี 2012) ซึ่งถือว่าดีขึ้นกว่าในอดีตที่เคยมีวอลุ่มอยู่ 1 ใน 8 ของตลาดหุ้นเอเชีย

นอกจากนี้การระดมทุนก็ปรับตัวดีขึ้นมากเช่นกัน โดยมีจำนวนบริษัทที่เข้ามาเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก หรือ IPO เฉลี่ยทุกปีอย่างน้อย 250,000 ล้านบาท ขณะที่การลงทุนในตลาดรอง หรือ SEO (Secondary offering) เพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่เท่ากันหรือมากกว่าด้วยซ้ำ แตกต่างจากในอดีตที่มียอดขึ้นๆ ลงๆ

ทั้งนี้ เมื่อมองถึงภาคธุรกิจของไทยก็มีความเก่งมากขึ้น ซึ่งไม่ได้เก่งเฉพาะในประเทศไทย แต่สามารถขยายธุรกิจออกไปยังภูมิภาคและขยายเครือข่ายไปทั่วโลกได้เพราะต้องการเงินทุน ซึ่งส่วนใหญ่จะระดมทุนในประเทศไทยเพราะง่าย คนไทยรู้จักดี ดังนั้นในอนาคตจะเริ่มเห็นภาคธุรกิจเข้ามาทำธุรกิจในภูมิภาคมากขึ้น เนื่องจากเริ่มมองเห็นตลาดหุ้นไทยเป็นแหล่งระดมทุนที่ดี มีสภาพคล่องเพียงพอ และมีนักลงทุนที่หลากหลายที่ไม่ใช่เฉพาะคนไทย แต่ประกอบด้วยนักลงทุนต่างชาติ นักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนรายย่อยที่เข้มแข็งมาก ตลาดหุ้นไทยจึงมีความน่าสนใจมากขึ้นเพราะมีความลึกและกว้าง

“กลุ่มอุตสาหกรรมที่มาระดมทุนในประเทศไทยหรืออุตสาหกรรมใหญ่ๆ ในประเทศไทย ปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนไปจาก 10 ปีที่ผ่านมา เช่น เปลี่ยนมาเป็นด้านบริการ, ท่องเที่ยว, เฮลท์แคร์ จากในอดีตที่มีแต่การเกษตร และการผลิต แต่ภายในอีก 10 ปีข้างหน้า จะหาธุรกิจที่อยู่ใน new normal world ได้อย่างไรบ้าง ซึ่งเราอาจจะมีพวกเกษตร ความมั่นคงทางอาหา, ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือโลจิสติกส์ แต่จะทำอย่างไรให้กลุ่มนี้หรือเทคโนโลยีมีมากขึ้นเร็วขึ้น เทคโนโลยี 10 ปีนี้ ไอทีของเรากับ 10 ปีที่แล้ว มาร์เกตแชร์ในมาร์เกตแคปเท่ากันเลยประมาณ 9% ไม่ขยับใหญ่ขึ้นเลย จะทำอย่างไรให้เรามีหุ้นพวกนี้ที่ใหญ่ขึ้นที่เป็น new normal world เป็นสิ่งที่ตลาดอยากจะส่งเสริมให้เกิดขึ้น” ดร.ภากรกล่าว

จุดขายประเทศไทย Sustainability พร้อมผนึกพันธมิตรอาเซียน

ดร.ภากรเชื่อว่า จุดขายของประเทศไทยในอนาคต คือ ESG หรือ sustainability การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงมิติของสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล เพราะเป็นเรื่องที่บริษัทไทยเก่งและทำได้ดี ซึ่งเมื่อย้อนไปดูหลังจากวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 1999 ตลท.ได้วางแนวทางส่งเสริมความยั่งยืนแก่ บจ. มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน (corporate governance center) หรือ CG center ขึ้น แล้วก็มีสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ต่อมาส่งเสริมแนวปฏิบัติด้าน CSR, ESG แล้วก็มีการ บูรณาการทั้งหมดมาสู่ sustainability ในปัจจุบัน

ที่ผ่านมา กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์และคณะกรรมการหลายๆ รุ่น ได้วางรากฐานแนวทางการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์อย่างยั่งยืนมาตลอด ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีความเข้มแข็งในเรื่องนี้มาก และในช่วงระยะหลัง ตลท. ได้ที่ปรึกษาจากต่างประเทศมาช่วย ประกอบกับ ESG กับ CG ทำได้ค่อนข้างดี ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ติดอันดับโลก และปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์มี บจ. ที่อยู่ในดัชนี DJSI (Dow Jones Sustainability) เพราะผ่านการประเมินความยั่งยืน ตามตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมระดับโลก จำนวน 20 บริษัท และมี 7 บริษัทใน DJSI ติดบริษัทชั้นนำของโลกในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม ขณะที่ในดัชนี MSCI, ESG ก็มีบริษัทจดทะเบียนของไทยมากที่สุดในอาเซียน

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 จากตลาดหลักทรัพย์ 49 แห่งทั่วโลก ด้านการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนที่โดดเด่นของ บจ. และเป็นตลาดหลักทรัพย์เอเชียเพียงแห่งเดียวที่ติดอันดับ Top 10 จากผลการจัดอันดับในรายงาน “Measuring Sustainability Disclosure 2019” โดย Corporate Knights และ AVIVA สะท้อน บจ. ไทยเห็นความสำคัญในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ยกระดับตลาดทุนได้รับการยอมรับในระดับสากล

“โจทย์ต่อไปในอนาคตจะทำอย่างไรให้เกิดแนวทางปฏิบัติมากขึ้น จะต้องมีการผลักดันส่งเสริมให้ข้อมูลเหล่านี้เข้าไปอยู่ในรายงานประจำปี อยู่ในงบการเงิน แล้วโยงกลับไปที่ SETLink เพื่อที่จะทำเป็น One Report รายงานข้อมูลทุกอย่างอยู่ในระบบ เนื่องจากนักวิเคราะห์ทั่วโลกเริ่มใช้ AI มากขึ้น ดังนั้นจะต้องมีข้อมูลก่อน รู้ว่าข้อมูลอะไรที่สำคัญ ตรงนี้ที่เราต้องช่วย บจ. ว่า คุณรู้ไหมว่าตอนนี้เขาดูคำว่าอะไร ตอนนี้คุณรู้ไหมเขาดูสิ่งที่เกิดจากสิ่งที่คุณทำคืออะไร อะไรคือผลของการดำเนินการของคุณ ต้องมีการรายงานเรื่องพวกนี้อยู่ในระบบเพื่อให้เขาเห็นว่ามีสาระ แล้วเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจของเขาจริงๆ เพื่อที่จะทำให้เกิดการเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืน

ปัจจุบัน การให้ บจ. รายงานข้อมูลความยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ได้ส่งเสริมเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ แต่ได้เริ่มทำในบริษัทเล็กๆ แล้ว ด้วยการให้รายงานข้อมูลออกมาได้ โดยที่ไม่มีค่าใช้จ่ายมากนัก พร้อมกับพยายามเข้าไปดูจากดัชนีหุ้นยั่งยืน THSI ที่มีอยู่ราว 50-60 บริษัท เพราะเห็นว่า

การดำเนินการด้านนี้ไม่ควรทำเฉพาะในประเทศไทย แต่ควรนำแพลตฟอร์มง่ายๆ ไปให้บริษัทรอบๆ ประเทศไทยได้ใช้ด้วย เนื่องจากการใช้แพลตฟอร์มนี้เฉพาะบริษัทในประเทศไทยจะครอบคลุมเพียง 720-750 บริษัท แต่หากทยอยต่อยอดออกไปประเทศเวียดนาม ลาว เมียนมา และประเทศอื่นๆ ได้ทั้งอาเซียน ก็จะกลายเป็นพันธมิตรร่วมมือกัน

แต่การที่จะให้ประเทศในอาเซียนมาร่วมมือเป็นตลาดอันเดียวกันได้ ประการแรกสินค้าหรือผลิตภัณฑ์จะต้องมีการจดทะเบียนข้ามตลาดหรือ cross listing ก่อนโดยมีมาตรฐานเดียวกัน ปัจจุบันได้มีการพูดคุยกับหลายประเทศในอาเซียนมากขึ้น โดยเฉพาะการ cross listing depositary receipt (DR) อย่างน้อยนำบริษัทในประเทศอาเซียนเข้ามาจดทะเบียนในประเทศไทยแล้วขายเป็น DR นักลงทุนไทยซื้อได้ในตลาดไทย นักลงทุนสิงคโปร์ซื้อได้ในตลาดสิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ทำให้ทุกอย่างเริ่มเป็นตลาดร่วม ดังนั้นจะต้องมีข้อมูล มีแพลตฟอร์มในการใช้ข้อมูลร่วมกัน ตลอดจนมีการทำงานร่วมกันของตลาด ถึงจะเรียกว่า sustainable

“ยอมรับว่า ASEAN Exchanges ที่พัฒนามาก่อนหน้านี้ นักลงทุนตอบรับไม่ค่อยเยอะ นี่คือปัญหาเพราะตัวตลาด ผู้กำกับดูแล และผู้เล่นในตลาดยังไม่มองข้ามตลาดเท่าไร โจทย์คือต้องทำให้เขาเห็นว่า การทำงานร่วมกันข้ามตลาดทำได้ ทำได้ถูกด้วย มีคนสนใจด้วย ตอนนี้เราเพิ่งมีสินค้าเดียวคือ DR ของเรา ที่มีสินค้าอ้างอิงหรือ underlying asset เป็นกองทุน ETF จากเวียดนาม (เป็น ETF ที่ลงทุนในหุ้นที่เป็นส่วนประกอบของดัชนี VN30 โดยดัชนี VN30 ประกอบไปด้วยหุ้นใหญ่สุด 30 ตัวของเวียดนาม) ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์ เมื่อมาขายในประเทศไทย ปริมาณการซื้อขายที่โฮจิมินห์ครึ่งหนึ่งมาจากประเทศไทย เราต้องมีโชว์เคสแบบนี้ บล.บัวหลวงทำได้ดีมากๆ ถ้าอยากซื้อหุ้นเวียดนาม วิธีง่ายสุดคือ DR ตัวนี้”

ดร.ภารกรกล่าวว่า สิ่งที่อยากจะทำต่อคือ cross listing กับอินโดนีเซียเพราะเป็นเศรษฐกิจใหม่มีประชาชนกว่า 200 ล้านคน ตลาดขนาดใหญ่ รวมทั้งที่ตลาดเสิ่นเจิ้นของจีน ที่เป็นตลาดไฮเทค ส่วนฮ่องกงก็ต้องการที่จะทำ แต่ฮ่องกงเป็นตลาดที่ใหญ่และมักไม่มองตลาดไทยมากนัก จึงต้องทำให้เห็นประโยชน์ร่วมกัน

“ทั้งหมดเป็นมุมมอง sustainability ของ ตลท. ที่มองว่า น่าจะเป็นจุดขายของประเทศไทย ซึ่งจะทำให้คนที่มาปฏิบัติมีต้นทุนต่ำที่สุด และเหมาะสมกับธุรกิจของเขามากที่สุด ไม่ใช่ไปทำ ESG ที่ไม่เกี่ยวข้องกันไม่มีประโยชน์ จึงต้องเป็นอะไรที่ได้ประโยชน์ร่วมกัน สังคมก็ได้ สิ่งแวดล้อมก็ได้ บริษัทก็ได้ ยอมรับว่าการทำ ESG โดยเฉพาะการทำให้เกิดประโยชน์หรือเกี่ยวข้องกับกลยุทธ์ของบริษัทจริงๆ ไม่ได้ง่ายเลย

“สิ่งที่ อ.กฤษฎา เสกตระกูล ทำ สิ่งที่ท่านประธานกรรมการ ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ คุณจรัมพร โชติกเสถียร และคุณเกศรา มัญชุศรี ทำ เป็นการมองไปข้างหน้ามาก very forward looking กลายเป็นจุดขายประเทศเลยในตอนนี้ ตอนนี้ท่องเที่ยวประเทศไทยไม่เหลือ ส่งออกประเทศไทยไม่เหลือ แต่พอพูดถึง ESG ทุกคนบอกว่าใช่ ประเทศไทยเก่งเรื่อง ESG ทำเรื่องนี้มาโดยตลอด ส่วนตลาดหุ้นไทยก็ติด 1 ใน 10 ของโลกที่มีการรายงานความยั่งยืน โดยจะพยายามเพิ่มขีดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง”

“ถามว่าโควิดเกิดจากอะไรเพราะเราไม่สนใจสิ่งแวดล้อม เราไม่กังวลเรื่องเกี่ยวกับตลาด การทำธุรกิจไม่มีการควบคุมเรื่องโลจิสติกส์ เรื่องขนส่ง เราเห็นชัดเลยว่าในอนาคตโลกเปลี่ยนจริงๆ แล้วผมว่า 10 ปีที่แล้วตลาดหลักทรัพย์มีมูลค่าตลาดประมาณ 7 ล้านล้านบาท และ 10 ปีถัดมาคือปี 2563 ตลาดหลักทรัพย์มีมาร์เกตแคปโตขึ้นมาเป็น 14 ล้านล้านบาท แล้วองค์ประกอบก็เป็นอีกแบบหนึ่ง แล้วถามต่อว่าแล้วอีก 10 ปีข้างหน้า องค์ประกอบหน้าตาจะเป็นอย่างไร ขนาดไม่มีโควิด-19 ก็เปลี่ยนแล้ว แล้วถ้ายิ่งมีโควิด-19 จะยิ่งเปลี่ยนไปอย่างไร”

ดร.ภากรกล่าวต่อว่า ในช่วงที่โควิด-19 ระบาด ตลท. ได้ทำการสำรวจการปรับตัวของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งจากข้อมูลสำรวจทั้งหมดของ ดร.กฤษฎา เสกตระกูล รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ได้ทำรายงานข้อมูลออกมา พบว่า บจ. ส่วนใหญ่จะมีการปรับตัวหลักๆ อยู่ 4-5 ด้าน คือ อันดับแรก efficiency improvement การเพิ่มประสิทธิภาพ เหมือนกับที่ตลาดหลักทรัพย์ฯทำ เรื่องที่สอง liquidity management การบริหารสภาพคล่อง เรื่องที่สามเกี่ยวกับ health concern การดูแลสุขภาพของพนักงาน การดูแลพนักงาน และเรื่องที่สี่ การใช้นวัตกรรมมากขึ้น

“ข้อมูลที่เราทำสำรวจ เราทำตอนช่วงโควิดว่าบริษัทจดทะเบียนเรามีการปรับตัวอย่างไรบ้าง แล้วเรามีเป็น 10 อุตสาหกรรมเลยว่า แต่ละอุตสาหกรรมเขาเน้นเรื่องอะไรบ้าง ทั้งอสังหาริมทรัพย์ บริการ เป็นข้อมูลที่ดีมากเห็นแล้วทันเหตุการณ์ แล้วเราใช้อันนี้ ไปเป็นแบบอย่างให้กับบริษัทเล็กๆ เห็นว่าบริษัทใหญ่ๆ เขาทำแบบนี้แล้วพวกคุณทำอะไร” ดร.ภากรกล่าว

ถอดบทเรียนธุรกิจ ฝ่าวิกฤติโควิด-19

จากตัวอย่างข้อมูลใน 3 ภาคธุรกิจเด่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และมีการปรับตัวรองรับวิถีชีวิตใหม่เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด ได้แก่ กลุ่มธุรกิจบริการ กลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากธุรกิจล็อกดาวน์ โดยสถานที่ให้บริการถูกปิด เช่น สนามบิน โรงแรม โรงภาพยนตร์ ศูนย์การค้า ส่งผลให้ยอดขายตกลง ขณะเดียวกัน ธุรกิจยังแบกภาระของหนี้สินและดอกเบี้ยพุ่ง แต่ค่าใช้จ่ายยังคงที่ นอกจากนี้นักท่องเที่ยวหายเพราะลูกต่างชาติและนักท่องเที่ยวหาย รายได้หดจากการที่ผู้ใช้บริการกลัวติดโควิด-19 จึงงดออกจากบ้าน อย่างไรก็ตาม เมื่องานหดหาย รายได้ลดลง ทำให้พนักงานหมดกำลังใจ สวนทางกับภาระค่าครองชีพและหนี้สิน ธุรกิจให้บริการไม่ได้ขาดรายได้เสริม รวมถึงการที่พนักงานลาออกทำให้ขาดแรงงานฝีมือ เป็นต้น

กลุ่มธุรกิจบริการมีปรับกลยุทธ์รับมือ 4 แนวทาง ประกอบด้วย 1) Service Reform การปรับตัวรับสถานการณ์ โดยปรับรูปแบบบริการรับสถานการณ์ เช่น โรงแรม โรงภาพยนตร์ หันมาขายอาหารแบบเดลิเวอรี ร้าน IT ให้เช่าแลปทอปใช้ทำงานที่บ้าน ส่วนแพทย์ให้การบริการแบบ telemedicine โรงแรมปรับห้องพักสำหรับการกักตัว จับมือให้บริการผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ร่วมกับพันธมิตร นอกจากนี้ยังบริหารสินค้าคงคลังให้มีพอกับความต้องการ และมีการเข้มงวดส่งมอบสินค้าที่สะอาด

2) Customer Focus หรือเพิ่มความใส่ใจลูกค้า โดยเพิ่มการรักษาความสะอาดสถานที่ ให้บริการ, สินค้าและพนักงานให้บริการ มีการให้บริการแบบ social distancing รวมทั้งเพิ่มช่องทางให้ลูกค้าเข้าถึงบริการได้ง่ายและเร็ว เช่น ช่องทางออนไลน์ จัดทำคู่มือใช้บริการหรือให้ลูกค้าโทรหาได้โดยตรง 3. Cash Flow Management การรักษาสภาพคล่อง มีการตรวจสอบและวางแผนกระแสเงินสดอย่างใกล้ชิด มั่นใจว่าจะสามารถจัดการค่าใช้จ่ายได้จนผ่านพ้นวิกฤติ 4. ดูแลห่วงใยพนักงาน (happy employment) โดยร่วมทุกข์ร่วมสุขลดเงินเดือนผู้บริหารมาช่วยพนักงาน มีการสลับทีมให้บริการเพื่อกระจายรายได้ให้พนักงาน ให้ความรู้และจัดหาอุปกรณ์ดูแลสุขภาพ ความปลอดภัย สลับทีมทำงาน work from home เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ตลอดจนปรับหน้าที่งาน ปรับไปช่วยสาขาที่ขาดคนใช้โอกาสนี้ให้พนักงานเรียนรู้ การทำงานแบบออนไลน์

ด้านธุรกิจการเงินและประกันภัย เป็นอีกหนึ่งภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบช่วงโควิด-19 จากเศรษฐกิจที่ทรุดตัวทำให้ยอด NPL พุ่งสูงขึ้นเพราะลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ และมีกำลังซื้อลดลงงดใช้บริการ จากการที่ห้างสรรพสินค้าปิดตัวทำให้ต้องปรับวิธีการให้บริการลูกค้าใหม่ รวมไปถึงการให้บริการที่ติดขัดเมื่อชี้ชัดได้ว่ามีพนักงานติดเชื้อโควิด-19 โดยกลุ่มธุรกิจดังกล่าวได้ปรับตัวสู้วิกฤติ 5 แนวทาง คือ 1) Relief Measures หรือเข้าไปช่วยลูกหนี้ที่มีแรงไปต่อได้ โดยเสริมสภาพคล่องและบรรเทาความเดือดร้อย เช่น การพักชำระเงินต้น ลดอัตราดอกเบี้ย ขยายระยะเวลาผ่อนชำระ มีการให้วงเงินกู้ฉุกเฉินหรือให้สินเชื่อเพื่อฟื้นฟูธุรกิจ ลดภาระลูกค้าประกันภัย คืนเบี้ย ลดเบี้ย ขยายระยะเวลาคุ้มครอง

2) Economic Boost การช่วยให้เศรษฐกิจหมุนเวียน ส่งเสริมมาตรฐานภาครัฐ กระจายเม็ดเงิน บรรเทาความเดือดร้อนและเยียวยาลูกค้า มีการปล่อยสินเชื่อ SME และลูกจ้างรายได้น้อยกระตุ้นเศรษฐกิจ 3) Process Improvement หรือพัฒนากระบวนการ เน้นบริการผ่าน digital platform ลดการมาสาขา 4) Happy Employment ห่วงใยคุณภาพชีวิต มีการจัดการหาหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ มอบประกันโควิด-19 ให้พนักงานทุกคน แบ่งทีมทำงานให้ work from home เน้น social distancing เตรียมระบบและที่นั่งสำรองให้พนักงาน call center พร้อมทั้งพัฒนาทักษะ CRM ให้พนักงานขายได้มากขึ้น และ 5) Innovative Product สร้างสินค้าและบริการใหม่ เป็นสินค้าที่ตอบสนองความต้องการกรมธรรม์คุ้มครองความเจ็บป่วยจากโควิด-19 ให้บริการ e-document เพิ่มความสะดวกลดต้นทุน ทั้งนี้จะเห็นว่า new normal หรือปรากฏการณ์ใหม่ของธุรกิจการเงินและประกันภัย ใช้วิธีอนุมัติสินเชื่อ โดยใช้ข้อมูล forward looking ผ่านAI มุ่งใช้ digital และ insurtech ตอบสนองลูกค้าทำประกันมากขึ้น


ส่วนธุรกิจอุปโภคบริโภค ได้รับผลกระทบจากศูนย์การค้าปิด ร้านปิด สินค้าขายไม่ได้ ทำให้ยอดขายหดตัว แต่ยังต้องจ่ายค่าแรง มีการขาดแคลนแรงงานจากการกลับถิ่นเพราะหวาดกลัวโรคระบาด และเมื่อธุรกิจเกิดการล็อกดาวน์ทำให้ stock คงเหลือ ต้นทุนจม สภาพคล่องชะงัก คู่ค้าขาดสภาพคล่องหยุดการผลิตกระทบห่วงโซ่ธุรกิจ โดยกลุ่มธุรกิจอุปโภคบริโภคสามารถปรับตัวโดยใช้ 5 แนวทางรับมือดังนี้ 1) Product Design ปรับแบบสินค้าเข้าหาดีมานด์ เปลี่ยนจากสินค้าปกติไปผลิตสินค้าจำเป็นตามสถานการณ์ เช่น จากที่เคยผลิตเสื้อผ้า หันมาผลิตหน้ากากอนามัย ชุดคลุม ถุงเท้า หมวกพลาสติกทางการแพทย์ เปลี่ยนขนาดสินค้าให้เล็กลงและราคาย่อมเยามากขึ้น

2) Right Marketing การตลาดใหม่ ใช่เลย หันมาปรับช่องทางการจัดจำหน่ายจากออฟไลน์เป็นออนไลน์มากขึ้น เสริมโปรโมชัน call to action มีการสื่อสารกับผู้บริโภคสร้างความมั่นใจว่าสินค้าจะไม่ขาดแคลน เน้นการสร้างแบรนด์ให้ลูกค้าจดจำ 3) Happy Employee ดูแลกันช่วยให้ปรับตัว โดยสื่อสารกับพนักงานสม่ำเสมอเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ และจัดหาสิ่งของจำเป็นดูแลสุขภาพพนักงาน เปิดรับความคิดพนักงานเพื่อสร้างสินค้าใหม่ที่เข้ากับสถานการณ์ รวมถึงพัฒนาทักษะการใช้สื่อออนไลน์เพื่อจำหน่ายสินค้า จัดส่งและชำระเงิน

4) Strong Partners รอดไปพร้อมกับคู่ค้า เปิดใจคุยกับคู่ค้าช่วยแก้ปัญหา ยึดหลักความแฟร์ ต่างดูแลให้รอดด้วยกัน หาคู่ค้าทางเลือกเพิ่มลดความเสี่ยงวัตถุดิบ

5) Cash Flow Focus การเงินคล่อง ช่องทางอยู่รอด มีการลดค่าใช้จ่าย ปรับแผนการตลาดเหลือเท่าที่จำเป็น พยายามเก็บเงินสด รักษาสภาพคล่องให้นานที่สุด ตั้งทีมคอยติดตามกระแสเงินสดอย่างใกล้ชิด และลดเงินเดือนผู้บริหารจ่ายเงินเดือนพนักงานเหมือนเดิม อย่างไรก็ตามจะเห็นว่า วิถียุค new normal หรือปรากฏการณ์ใหม่ของธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค ได้ทำให้หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์กลายเป็นสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวันที่มีโอกาสต่อยอดธุรกิจระยะยาว และสินค้า innovation ที่ช่วยป้องกันเชื้อโรคได้