ThaiPublica > เกาะกระแส > โลกเตรียมรับมือกับสถานการณ์เลวร้ายเมื่อ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ กลับมามีอำนาจครั้งที่ 2

โลกเตรียมรับมือกับสถานการณ์เลวร้ายเมื่อ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ กลับมามีอำนาจครั้งที่ 2

22 สิงหาคม 2023


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://twitter.com/realDonaldTrump

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดนัลด์ ทรัมป์ แสดงความเห็นเรื่องสงครามยูเครนว่า หากได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งหนึ่ง “ผมต้องการให้ทุกฝ่ายไม่มีการเสียชีวิตอีกต่อไป พวกเขากำลังล้มตายลง ทั้งรัสเซียและยูเครน” แม้ทรัมป์จะไม่ได้บอกวิธีการว่า จะยุติสงครามทำอย่างไร แต่คำพูดของทรัมป์ก็มีนัยะว่า สหรัฐฯจะเลิกให้การช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครนและปล่อยให้รัสเซียยึดครองดินแดนบางส่วนของยูเครน

รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ครั้งที่ 2 จะเต็มไปด้วยความโกรธแค้น การทำงานเป็นระบบมากขึ้น และไม่ถูกจำกัดยับยั้งเหมือนกับรัฐบาลสมัยแรก
นโยบายของทรัมป์จะเป็นหายนะภัยของยูเครน ยุโรป และวิกฤติโลกร้อน สหรัฐฯจะถอนตัวจากองค์การ NATO แม้รัฐสภาสหรัฐฯจะคัดค้าน แต่พันธมิตรเป็นเรื่องที่ขึ้นกับความไว้วางใจ เพียงแค่ทรัมป์บอกว่าสหรัฐฯจะไม่ต่อสู้เพื่อพันธมิตร ก็ทำให้พันธมิตร NATO พังลงแล้ว

เยอรมันเตรียมรับมือทรัมป์ 2.0

บทความในเว็บไซต์ Spiegel.de วิเคราะห์เรื่องที่เยอรมันเตรียมตัวรับมือการกลับมามีอำนาจครั้งที่ 2 ของโดนัลด์ ทรัมป์ โดยชนะ โจ ไบเดน ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯปี 2024 ว่า ในการประชุมผู้นำกลุ่ม EU เมื่อเดือนพฤษภาคม 2017 ในการหารือเรื่องการได้เปรียบดุลการค้าของเยอรมัน ทรัมป์ ประกาศต่อที่ประชุมว่า “เยอรมันแย่มาก ๆ รถยนต์หลายล้านคันถูกส่งมาขายในสหรัฐฯ เราจะหยุดยั้งสิ่งนี้”

ในการหยั่งเสียงผู้สมัครประธานาธิบดีของพรรครีพับลิกัน ทรัมป์ มีคะแนนเสียงนำคู่แข่ง รวมทั้งต่อนายรอน ดิซานติส (Ron DeSantis)ผู้ว่ามลรัฐฟลอริดา ที่ได้รับการคาดหมายว่า เป็นผู้สมัครมีโอกาสมากที่สุดที่จะชนะทรัมป์ ในการเลือกตั้งขั้นต้นของพรรครีพับลิกัน ปัจจุบัน ทรัมป์อายุ 76 ปี ยังกระฉับกระเฉง ส่วนโจ ไบเดน หากได้รับเลือกเป็นสมัยที่ 2 จะมีอายุ 82 ปี และเมื่อพ้นจากตำแหน่งจะมีอายุ 86 ปี

นักการเมืองเยอรมันเริ่มมองว่า หากทรัมป์ได้รับเลือกตั้งกลับมาใหม่จะสร้างปัญหาท้าทายแก่เยอรมัน ยุโรป และโลก มากกว่าที่เคยเกิดขึ้นในสมัยแรก ทรัมป์จะบริหารงานแบบคาดการณ์ไม่ได้มากขึ้น มีข้อจำกัดที่จะมายับยั้งน้อยลงและแสดงการก้าวร้าวไม่ฟังเสียงทักท้วงมากขึ้น

ที่มาภาพ : The Manila Times

เจ้าหน้าที่เยอรมันบางคนมองว่า รัฐบาลทรัมป์สมัยที่ 2 จะเป็นหายนะภัยต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ทรัมป์ทำให้สหรัฐฯถอนตัวจากข้อตกลงปารีส เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และยกเลิกนโยบายการปกป้องสิ่งแวดล้อมกว่า 100 นโยบาย ทำให้บริษัทเอกชนสะดวกมากขึ้นในการขุดเจาะก๊าซและน้ำมันในทะเล ทรัมป์แต่งตั้งคนที่มองว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลสภาพอากาศ ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงให้เป็นหัวหน้า หน่วยงานปกดป้องสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ

รัฐบาลทรัมป์สมัยที่ 2 หมายถึงยูเครนจะพ่ายแพ้สงครามกับรัสเซีย ทรัมป์ประกาศว่าหากได้รับเลือกตั้ง จะยุติสงครามยูเครน “ภายใน 24 ชั่วโมง” จะปล่อยให้รัสเซียยึดครองดินแดนยูเครนบางส่วน การเจรจาระหว่างสองฝ่ายจะง่ายมากเพราะตัวทรัมป์เองมีความสัมพันธ์ฉันท์มิตรกับปูติน

John Bolton อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของทรัมป์ ก็ให้สัมภาษณ์ว่าหากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งในปี 2024 สหรัฐฯคงจะถอนตัวจากองค์การ NATO

โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ได้มีความคิดทางการเมืองแบบที่เราเข้าใจกัน เวลาทรัมป์ตัดสินใจ ไม่ได้คิดแบบว่าสอดคล้องกับแนวทางนโยบายหรือไม่ ทรัมป์มองความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับประเทศต่างๆ ในแบบความสัมพันธ์ส่วนตัว

ที่มาภาพ : amazon.com

อาวุธดาบ 4 เล่มของทรัมป์

หนังสือ Trump’s Australia (2023) เขียนไว้ว่า ทรัมป์มีเสาอยู่ 4 เสา ที่เปรียบเหมือนอาวุธดาบ คือ

(1) อเมริกามาก่อน (America First) โดยถือว่าในการตัดสินใจเรื่องต่างประเทศและทางทหาร ผลประโยชน์ของสหรัฐฯมีความสำคัญมากกว่าอย่างอื่น

(2) ลัทธิถอนตัวจากกิจการระหว่างประเทศ (isolationism) ท่าทีพื้นฐานคือยุติบทบาทและพันธกรณีของสหรัฐฯ ที่มีอยู่ในต่างประเทศ
และถอนทหารสหรัฐกลับประเทศ

(3) ลัทธิกีดกันการค้า (protectionism) แสดงออกมาจากการทำสงครามการค้าและการขึ้นภาษีนำเข้าเพื่อให้สหรัฐฯได้เปรียบดุลการค้ากับประเทศคู่ค้า

(4) สนับสนุนคนในประเทศและกีดกันผู้อพยพ (nativism) นโยบายรูปธรรมคือการสร้างกำแพงพรมแดนทางใต้ของสหรัฐฯ และปิดประตูไม่ต้อนรับผู้อพยพ ที่ต้องการแสวงหาความฝันของอเมริกัน

ในสมัยที่ 2 ทรัมป์จะดำเนินนโยบายดังกล่าวอย่างหนักแน่นมากขึ้น ในรัฐบาลสมัยแรก ทรัมป์ได้บทเรียนแล้วว่า ใครในสหรัฐฯและในต่างประเทศคือคนที่ขัดขวางนโยบายของเขา และเอาชนะคนพวกนี้อย่างไร ดังนั้น จะเกิดอะไรขึ้นหากทรัมป์สามารถสร้าง/ทำให้ NATO หรือ UN อ่อนแอลง เริ่มทำสงครามการค้ากับกลุ่ม EU ปรองดองกับปูติน ในเรื่องสงครามยูเครนและถอนทหารกับกองทัพเรือสหรัฐฯ ออกจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ที่มาภาพ : https://twitter.com/realDonaldTrump

อเมริกามาก่อน

หนังสือ Trump’s Australia บอกว่า เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2017 ในสุนทรพจน์เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐฯ ในเวลาต่อมาโลกเราได้เห็นในสิ่งที่ทรัมป์ได้ทำ เหมือนกับที่เขาได้กล่าวในการเข้ารับตำแหน่งทรัมป์กล่าวว่า “เป็นเวลาหลายสิบปีเราสร้างความมั่งคั่งให้กับอุตสาหกรรมของต่างประเทศ โดยแลกกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมของเรา อุดหนุนกองทัพประเทศอื่นขณะที่ปล่อยให้กองทัพเราผุกร่อนลง เราปกป้องพรมแดนประเทศอื่น ขณะที่ปฏิเสธที่จะปกป้องพรมแดนของเราเอง เราใช้เงินล้านล้านดอลลาร์ในต่างประเทศ แต่โครงสร้างพื้นฐานของอเมริกาเสื่อมโทรม สิ่งที่กล่าวมานี้คืออดีต”

นับจากนี้ไปเราจะมองไปข้างหน้า วิสัยทัศน์ใหม่จะมาบริหารประเทศนี้ นับจากวันนี้ไปจะมีเพียงสิ่งที่เรียกว่า อเมริกามาก่อน อเมริการมาก่อน

ที่ผ่านมา การตัดสินใจในเรื่องต่างๆของทรัมป์ จะมีลักษณะเป็นประเด็นๆ ทำให้ท่าทีของทรัมป์ในเรื่องต่างประเทศ มีลักษณะสับสนและปั่นป่วน บางครั้ง ทรัมป์ แสดงบทบาทเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เช่น แนะนำคิม จองอุน ผู้นำเกาหลีเหนือ เรื่องการพัฒนาโรงแรมและรีสอร์ต ครั้งหนึ่ง ทรัมป์ ต้องการซื้อเกาะกรีนแลนด์ (Greenland) และบอกว่า เดนมาร์กเป็นพันธมิตรที่ดี แต่ต่อมา นายกรัฐมนตรีเดนมาร์ก็ประกาศว่า เกาะกรีนแลนด์ไม่ได้มีเพื่อขาย

ผลงานที่ไม่มีใครคาดคิดในอดีต

หนังสือ Trump’s Australia เขียนว่า ทรัมป์ มีท่าทีเป็นปรปักษ์กับผู้นำมิตรประเทศ เช่น นางแองเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมัน แต่กลับชื่นชมผู้นำเผด็จการเช่น คิม จองอุน ของเกาหลีเหนือ เมื่อสี จิ้นผิง สามารถยกเลิกระยะเวลาการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของจีน
ทรัมป์ ชมเชยความพยายามนี้ โดยพูดว่า “เดี่ยวนี้ เขาเป็นประธานาธิบดีตลอดชีพแล้วเขาสามารถทำเรื่องนี้ได้ ผมคิดว่ายิ่งใหญ่”

ทรัมป์ชอบก้าวข้าม “เส้นแดง” ในเรื่องความมั่นคงประเทศที่ปรึกษาทรัมป์ ต้องแอบเอาบันทึกออกจากโต๊ะทำงานเพื่อไม่ให้ทรัมป์ลงนามคำสั่งให้สหรัฐฯถอนตัวจากข้อตกลงการค้าเสรีกับเกาหลีใต้เรื่องการให้สหรัฐฯถอนตัวจาก NATO ก็ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับทรัมป์เพราะทรัมป์ไม่คิดว่า NATO เป็นสิ่งที่ดีแก่สหรัฐฯ แต่ตัวทรัมป์ชอบทำเรื่องที่จะส่งผลกระทบไปทั่วโลก เช่น สั่งให้ย้ายสถานทูตสหรัฐฯในอิสราเอล จากเทลอาวีฟไปยังนครเยรูซาเลม

แต่นโยบายที่ชัดเจนเสมอต้นเสมอปลายของทรัมป์ คือ อเมริกามาก่อน ในเรื่องการกีดกันการค้า การถอนตัวจากข้อตกลงนานาชาติและคนอเมริกันในประเทศมาก่อน กับต่อต้านผู้อพยพ หลังจากเป็นประธานาธิบดีได้ 3วัน ทรัมป์สั่งให้สหรัฐฯถอนตัวจากข้อตกลง TPP (Transpacific Partnership) และ 6 เดือนต่อมา สหรัฐฯถอนตัวจากข้อตกลงปารีสเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

นอกจากนี้ ในสมัยทรัมป์ สหรัฐฯถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านถอนตัวองค์การสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ และองค์การ UNESCO เดือนกรกฎาคม 2020 ช่วงที่โควิด-19 ระบาดรุนแรงสหรัฐฯก็ถอนตัวจากองค์การอนามัยโลกและปฏิเสธที่จะเข้าร่วมโครงการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้กับประเทศยากจนทั่วโลก

การถอนตัวจากกิจกรรมนานาชาติ เพราะทรัมป์ต้องการให้สหรัฐฯเอาตัวออกห่างจากพันธกรณี ที่สหรัฐฯต้องรับผิดชอบด้านงบประมาณ ทรัมป์ต้องการรักษา “อำนาจอธิปไตย” ของสหรัฐฯ กันไม่ให้สหรัฐฯต้องมีความรับชอบทางสากล ที่อาจมาจำกัดเสรีภาพของสหรัฐฯ ที่จะดำเนินการในสิ่งที่ตัวเองต้องการ

ดังนั้น รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ครั้งที่ 2 ทรัมป์จะดำเนินนโยบายหนักแน่มากขึ้นในเรื่อง“อเมริกามาก่อน” บรรดาประเทศที่เป็นมิตรกับสหรัฐฯ จะทำอย่างไรในการรับมือกับปัญหาเหล่านี้ เมื่อทรัมป์หวนกลับคืนสู่อำนาจที่ทำเนียบขาว

เอกสารประกอบ
Germany Prepares for Possible Re-Election of Donald Trump, 28b April 2023,
Spiegel.de
Trump’s Australia, Bruce Wolpe, Allen & Unwin, 2023.